เด็กทั่วโลกอ้วนลงพุงสูงถึง340ล้านคน เด็กไทยติดอันดับ2กลุ่มอาเซียน

 

เด็กอ้วนเป็นปัญหาสาธารณสุขระดับโลก เด็กวัย 5-18 ปี มีน้ำหนักเกินพุ่งสูงถึง 340 ล้านคนทั่วโลก  เด็กไทยอ้วนลงพุงติดอันดับแถวหน้าอันดับ 2 กลุ่มประเทศอาเซียน สสส.-สธ.ผนึก 100 ภาคีสุขภาพ  ระดมสมองสร้างกลไกแก้ปัญหาเด็กอ้วน ลุยดันมาตรการบังคับใช้ปกป้องเด็กไทยจากการตลาดอาหาร-เครื่องดื่มที่ส่งผลต่อสุขภาพ เน้นจัดการเทคนิคการทำการตลาดอาหารหวาน มัน เค็ม ลดเสี่ยง NCDs ต้นเหตุการตายก่อนวัยอันควร

นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า เด็กไทยมีภาวะเริ่มอ้วนและอ้วนจากพฤติกรรมการบริโภคอาหารที่ไม่เหมาะสม โดยเฉพาะอาหารที่มีไขมัน น้ำตาล โซเดียมสูง สาเหตุส่วนหนึ่งเกิดจากการทำการตลาดที่กระตุ้นให้เด็กบริโภคอาหารและเครื่องดื่มที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพมากขึ้น ในช่วง 2 ทศวรรษที่ผ่านมา เด็กไทยอ้วนเพิ่มขึ้นกว่า 2 เท่า โดยเด็กเล็ก1-5 ปี เพิ่มเป็น 11.4% และเด็กวัยเรียน 6-14 ปี เพิ่มเป็น 13.7% รวมทั้งเด็กวัยรุ่นพบ 13.1% ซึ่งยังเป็นปัญหาสาธารณสุขไทยที่สำคัญนำไปสู่ความเสี่ยงต่อการเกิดโรค NCDs อาทิ  เบาหวาน ความดันโลหิตสูง หัวใจ มะเร็ง ซึ่งเป็นสาเหตุหลักของการเสียชีวิตก่อนวัยอันควร

“แม้ไทยมีมาตรการแก้ไขปัญหาเด็กอ้วนอย่างต่อเนื่อง  ทั้งการส่งเสริมสุขภาพ สร้างความรอบรู้และสนับสนุนให้มีสิ่งแวดล้อมที่เอื้อต่อการมีสุขภาพที่ดี แต่มาตรการปกป้องเด็กจากการตลาดอาหารและเครื่องดื่มที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพ เป็นมาตรการสำคัญที่ต้องดำเนินการควบคู่กันไป  เนื่องจากกลยุทธ์การตลาดเป็นปัจจัยสำคัญที่มีอิทธิพลต่อการตัดสินใจซื้อและบริโภคของเด็ก โดยเฉพาะวัยที่เริ่มมีกำลังซื้อด้วยตนเอง ที่ผ่านมาไทยมีการควบคุมการตลาดอาหารและเครื่องดื่มบางส่วน แต่ยังไม่ครอบคลุมเทคนิคการทำการตลาด ขาดกลไกการบังคับใช้ ติดตาม และประเมินผลอย่างมีประสิทธิภาพ กรมอนามัยและภาคีเครือข่ายสุขภาพ จึงร่วมกันพัฒนามาตรการทางกฎหมายเพื่อปกป้องเด็กอายุต่ำกว่า 18 ปีจากการตลาดอาหารและเครื่องดื่มที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพ ควบคู่กับการสร้างความรอบรู้ด้านสุขภาพโดยคาดหวังสร้างสิ่งแวดล้อมให้เอื้อต่อสุขภาพของเด็กไทยอย่างยั่งยืน” นพ.สุวรรณชัย กล่าว

ดร.นพ.ไพโรจน์ เสาน่วม ผู้ช่วยผู้จัดการกองทุน สสส. กล่าวว่า นโยบายด้านการตลาดก้าวไกลมาก เพราะทุกวันนี้ผู้ใหญ่ตัดสินใจซื้อสินค้าก็เพราะเชื่อกลเกมในการโฆษณา มีการโปรโมชันลดแลกแจกแถม ถ้าเป็นเด็กย่อมจะลำบากใจ ดังนั้นจำเป็นต้องให้ข้อมูลความรู้อย่างต่อเนื่องด้วยการเฝ้าระวังแนะนำคนใกล้ตัว

สสส.ตระหนักถึงปัญหาภาวะอ้วนในเด็ก จากการมีพฤติกรรมการบริโภคอาหารที่ไม่ถูกหลักโภชนาการ ส่งผลกระทบต่อสุขภาพทั้งด้านร่างกาย จิตใจ สังคม และปัญญา  สสส.ได้ยกระดับความสำคัญของการดำเนินงานประเด็นอาหารให้เป็น 1 ใน 7 เรื่อง ที่กำหนดไว้ในทิศทางและเป้าหมายเชิงยุทธศาสตร์ระยะ 10 ปี (พ.ศ. 2565-2574) สสส. ร่วมกับ กรมอนามัย องค์การอนามัยโลกประจำประเทศไทย องค์การทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติ (UNICEF) ภาคีเครือข่ายด้านสุขภาพ ภาคประชาสังคม สถาบันการศึกษา และหน่วยงานภาครัฐกว่า 100 องค์กร เร่งระดมความคิดเห็นผ่านการประชุมเชิงปฏิบัติการ “ร่วมปกป้องเด็กไทยจากการตลาดอาหารและเครื่องดื่มที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพ” ครั้งนี้ เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ และสร้างกลไกการมีส่วนร่วมจากภาครัฐ  ภาคประชาสังคม และภาควิชาการ เพื่อนำไปพัฒนาปรับปรุงมาตรการการดำเนินงานให้มีประสิทธิภาพและเป็นรูปธรรมในระดับนโยบายต่อไป

พญ.โอลิเวียร์ ไนเวรัส แพทย์ด้านโรคไม่ติดต่อ  องค์การอนามัยโลกประจำประเทศไทย (WHO)  กล่าวว่า ประเทศไทยได้ร่วมรับรองชุดข้อเสนอว่าด้วยเรื่องการทำการตลาดอาหารและเครื่องดื่มที่ไม่มีแอลกอฮอล์ในเด็ก ในที่ประชุมสมัชชาองค์การอนามัยโลกครั้งที่ 63  และแผนปฏิบัติการเพื่อการป้องกันและควบคุม NCDs ระดับโลก พ.ศ.2556-2573 และนอกจากนั้น คณะรัฐมนตรีได้เห็นชอบต่อร่างปฏิญญาทางการเมืองฯ ว่าด้วยการป้องกันและควบคุม NCDs ซึ่งมาตรการการควบคุมการตลาดอาหารและเครื่องดื่มที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพ  เป็นมาตรการที่แนะนำให้ดำเนินการเพื่อการป้องกันและควบคุมโรค NCDs อันอิงอยู่บนหลักฐานเชิงประจักษ์  ทั้งนี้ มาตรการดังกล่าวยังเป็นข้อเสนอแนะของคณะทำงานร่วม ระหว่างหน่วยงานสหประชาชาติว่าด้วยการป้องกันและควบคุมโรคไม่ติดต่อในประเทศไทย (UNIATF  on NCDs) ที่เสนอต่อรัฐบาลไทย นอกจากนี้ พบว่าประเทศที่ใช้กฎหมายควบคุมการตลาดอาหารและเครื่องดื่มที่มีไขมัน น้ำตาล โซเดียมสูง เช่น ชิลี อังกฤษ แคนาดา  (รัฐควิเบก) เกาหลีใต้ สามารถช่วยลดปัจจัยการพบเห็นและลดสิ่งกระตุ้นจากการตลาดอาหารและเครื่องดื่มที่มีผลกระทบต่อสุขภาพเด็กได้ ซึ่งมีประสิทธิผลดีกว่าประเทศที่มีแนวปฏิบัติแบบภาคสมัครใจ

ทพญ.ปิยะดา ประเสริฐสม ผู้จัดการโครงการเครือข่ายเด็กไทยไม่กินหวาน สสส. กล่าวว่า กว่า 20  ปีที่เครือข่ายฯ มุ่งสร้างความรอบรู้ทางด้านสุขภาพ รณรงค์ขับเคลื่อนสังคมเพื่อลดการบริโภคหวาน ส่งเสริมการบริโภคผลิตภัณฑ์อาหารที่ดีต่อสุขภาพ จัดปัจจัยแวดล้อมด้านอาหารเพื่อสุขภาวะ และขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะ โดยเฉพาะในกลุ่มเด็กและเยาวชน ผ่านโครงการโรงเรียนอ่อนหวานที่มีโรงเรียนเข้าร่วมกว่า 700 โรง ใน 25 จังหวัด รวมถึงการผลักดันมาตรการทางภาษีเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของน้ำตาล เพื่อให้คนในประเทศบริโภคหวานน้อยลง ทำให้ไทยได้รับคำชื่นชมในระดับสากล นับเป็นการขับเคลื่อนงานสร้างเสริมสุขภาพเชิงรุก ด้วยหลักการที่สำคัญคือ การจัดสภาพแวดล้อมด้านอาหารที่เอื้อต่อการบริโภคอาหารเพื่อสุขภาวะ และควบคุมปัจจัยที่มากระตุ้น ชักชวน จูงใจให้เอื้อต่อการบริโภคอาหารที่ส่งผลเสียต่อสุขภาพ ดังนั้น หน่วยงานทุกภาคส่วน พ่อแม่ ผู้ปกครอง  และผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง จึงมีส่วนสำคัญอย่างยิ่งในการประสานความร่วมมือ เพื่อสนับสนุนและผลักดันมาตรการควบคุมการตลาดอาหารและเครื่องดื่มที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพเด็กไทยอย่างเร่งด่วน

รศ.ภญ.ดร.วรรณา ศรีวิริยานุภาพ ผู้จัดการแผนงานวิชาการและกลไกคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ  (คคส.) คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย  กล่าวว่า กลยุทธ์ทางการตลาด เทคโนโลยี และการสื่อสารมีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว ส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตของประชาชนผู้บริโภคในหลายๆ ด้าน มีการส่งเสริมการขาย การแสดงข้อมูลบนฉลากอาหาร คำเตือน  การโฆษณา การจูงใจ ลด แลก แจก แถมมาใช้ในกระบวนการจำหน่ายสินค้า เพื่อกระตุ้นพฤติกรรมการซื้อและบริโภคของประชาชน ในขณะที่วัยเด็กส่วนใหญ่ยังมีดุลพินิจไม่สมบูรณ์เท่าผู้ใหญ่ และขาดความรู้ ความเข้าใจในการบริโภคผลิตภัณฑ์อาหารและเครื่องดื่มที่ไม่ดีต่อสุขภาพ เช่น ขนมขบเคี้ยว เครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของน้ำตาล รวมถึงไม่เท่าทันเทคนิคทางการตลาดที่เข้าถึงตัวเด็กง่ายและรวดเร็ว ดังนั้นการผลักดันให้เกิดการบังคับใช้มาตรการการควบคุมการตลาดอาหารและเครื่องดื่มที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพเด็กอย่างเป็นรูปธรรม ร่วมกับมาตรการอื่นๆ จะช่วยส่งเสริม สนับสนุน และกำกับดูแลให้มีการซื้อขายสินค้าหรือบริการที่ถูกต้อง และปกป้องคุ้มครองผู้บริโภคที่ได้รับความเดือดร้อนและเสียหายจากการกระทำของผู้ประกอบธุรกิจอาหารได้อย่างมีประสิทธิภาพ

***

ดร.สุชีรา บันลือสินธุ์ ผู้แทนองค์การอนามัยโลกประจำประเทศไทย (WHO)

เด็กอ้วนเป็นปัญหาสาธารณสุขระดับโลก ในช่วงสิบปีที่ผ่านมาโรคอ้วนในเด็กอยู่ในลำดับต้นๆ ของแต่ละประเทศ โดยเฉพาะประเทศในกลุ่มยุโรป สหรัฐฯ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ส่งผลให้เกิดโรค NCDs ในเด็ก ซึ่งเป็นปัญหาที่จะต้องจัดการในระดับโลก เด็กอายุ 5 ปี-9 ปีมีน้ำหนักเกิน 340 ล้านคนทั่วโลก เพิ่มจำนวนสูงขึ้นกว่า 40 ปีที่ผ่านมา และเด็กกลุ่มนี้เมื่อเติบโตเป็นวัยรุ่นก็จะอ้วนต่อเนื่องจนถึงวัยผู้ใหญ่ และมีความเสี่ยงสูงเป็นโรค NCDs ดังนั้นมาตรการในการจัดการปัญหาเด็กอ้วน ต้องทบทวนการทำตลาดของของบริษัทผู้ผลิตอาหารและเครื่องดื่ม เมื่อเด็กเห็นโฆษณาก็จะรบเร้าพ่อแม่ให้ซื้อขนมขบเคี้ยว เด็กไทยอ้วนก็มีเปอร์เซ็นต์สูงขึ้นติดอันดับ 2-3 ของประเทศในระดับอาเซียน ทั้งๆ ที่มีการรณรงค์ทุกอย่างเพื่อไม่ให้เด็กอ้วน ตั้งแต่การไม่บริโภคไขมัน น้ำตาล โซเดียม คาร์โบไฮเดรตจากอาหารแปรรูปเกินความจำเป็น และขอให้แนะนำให้เป็นผู้พิทักษ์รอบรู้เรื่องสุขภาพ

ขณะนี้ 60 ประเทศดำเนินมาตรการใช้ความสมัครใจในการออก กม.ควบคุมการตลาด ในทวีปอเมริกาเหนือ  กลาง และใต้ 20 ประเทศออก กม.ควบคุมการตลาด 18 ประเทศออกระเบียบควบคุมการตลาดในพื้นที่โรงเรียน  ประเทศนอร์เวย์ห้ามโฆษณาอาหารเครื่องดื่มที่มีโซเดียมสูงทางวิทยุ โทรทัศน์ เมืองควิเบก ประเทศแคนาดา  ประเทศไอร์แลนด์ ตุรกี ห้ามการโฆษณาอาหารและเครื่องดื่มควบคุมที่มีส่วนผสมของน้ำตาล รวมถึงรายการเด็ก อินเดียห้ามทำการตลาดและขายรายรอบบริเวณโรงเรียน ส่งผลต่อพฤติกรรมเด็กลดการบริโภคอาหารและเครื่องดื่มที่ไม่มีประโยชน์ต่อสุขภาพ

ประเทศชิลีประสบความสำเร็จในการออกมาตรการควบคุมการโฆษณาฉลากผลิตภัณฑ์ ควบคุมการตลาด การขายอาหารภายในโรงเรียน ประเมินผลที่เกิดขึ้น เด็กรับชมโฆษณาลดลง โดยเฉพาะไม่ให้ใช้การ์ตูนโฆษณาเพื่อดึงดูดความสนใจเด็ก

***

นายสราวุฒิ บุญสุข รองอธิบดีกรมอนามัย

ภาคีเครือข่าย 60 องค์กรเสนอแนะร่าง พ.ร.บ.ควบคุมการตลาดผลิตภัณฑ์อาหารและเครื่องดื่ม เมื่อสำรวจเด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี การโฆษณาส่งผลให้เด็กบริโภคเกิดโรคอ้วนสูงขึ้นถึง 13.7% ทั้งๆ ที่มีการตั้งเป้าหมายให้เด็กอ้วน 10% จากการสำรวจข้อมูลบริษัทใช้เงินเพื่อโฆษณาสูงถึง 2.6 หมื่นล้านบาท หรือ 27-30% ในการโฆษณาอาหารและเครื่องดื่ม ดังนั้นจะต้องขับเคลื่อนด้วยการออก พ.ร.บ.ควบคุมการโฆษณา ขณะเดียวกันต้องให้ข้อมูลความรอบรู้เรื่องการมีสุขภาพที่ดี ทุกวันนี้ สสส. มูลนิธิคุ้มครองผู้บริโภค ตลอดจนสื่อมวลชนมีบทบาทสูงในการปกป้องสิทธิเด็ก

ขั้นตอนต่อไปจะต้องมีการทำประชาพิจารณ์เพื่อให้ได้ข้อมูล ด้วยการรับฟังจากผู้ประกอบการมาเป็นกรรมการร่วมด้วย การวาง Timeline เพื่อผลักดัน กม.เข้าสภาในเดือน ก.ย. ดึงภาคประชาชนและภาคธุรกิจทำผลิตภัณฑ์ที่ดีต่อสุขภาพภายในปี 2566 บริษัทผู้ผลิตอาหารและเครื่องดื่มที่ต้องการทำ CSR เพื่อสุขภาพเด็กน่าจะมีหนทางออกพบกันครึ่งทาง ขณะเดียวกันการโฆษณาผ่านทางทีวี วิทยุ วิดีโอ และทางออนไลน์จะต้องไม่เกินจริง อยู่ในขอบเขต พ.ร.บ.อยู่ระหว่างการยกร่าง กำหนดบทลงโทษอย่างเหมาะสม มิฉะนั้นจะมีการฝ่าฝืนทำผิดได้ง่าย ถ้าทำให้เด็กบริโภคหวาน มัน เค็มลดลงได้ รับประทานอาหารและเครื่องดื่มที่มีประโยชน์ สุขภาพเด็กก็จะดีขึ้น เมืองไทยตั้งเป้าให้มีเด็กอ้วนได้ 10% แต่ขณะนี้มีเด็กอ้วน 13% รวมทั้งวางแผนว่าเด็กไทยในอีก 19 ปีข้างหน้าจะต้องสูงอย่างสมส่วน ชายสูง 175 ซม. หญิงสูง 165 ซม. เด็กที่อายุ 5 ปี เด็กชายสูง 113 ซม. เด็กหญิงสูง 112 ซม. และยังมีส่วนสัมพันธ์กับผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษา จำเป็นต้องมีบันทึกข้อตกลงร่วมกัน ประเทศไทยจะเป็นประเทศแรกในกลุ่มประเทศอาเซียนที่จะเป็นผู้นำในการผลักดัน พ.ร.บ.เพื่อบรรลุสู่เป้าหมายลดการเกิดโรค NCDs ในกลุ่มเด็กอ้วน ด้วยความเชื่อมั่นทางข้อมูลวิชาการว่า การลดโฆษณาจะส่งผลให้เด็กลดการบริโภคอาหารและเครื่องดื่มที่ไม่จำเป็นต่อสุขภาพลงได้

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ชวนนักดื่ม “ตรวจตับ-เลิกจับขวด” ฟื้นฟูสุขภาพคืนความสุขครอบครัว

"งดเหล้าเข้าพรรษา" ในระยะเวลา 3 เดือน ถือเป็นกิจกรรมหนึ่งในเทศกาลสำคัญ ที่มุ่งเน้นให้ชาวพุทธงดดื่มแอลกอฮอล์ ไม่เพียงเป็นการรักษาประเพณีและศีลธรรมเท่านั้น

“สุรศักดิ์” รมช.ศธ. เดินหน้าขับเคลื่อนรถรับส่งนักเรียนปลอดภัย ชูโมเดล “ศูนย์เรียนรู้รถรับส่งนักเรียนปลอดภัย จ.อยุธยา” ของสสส.

วันที่ 18 พ.ย. 2567 ที่ โรงเรียนอยุธยาวิทยาลัย อ.พระนครศรีอยุธยา จ.พระนครศรีอยุธยา นายสุรศักดิ์ พันธ์เจริญวรกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานเปิดศูนย์การเรียนรู้การจัดการรถรับส่งนักเรียนที่ปลอดภัย โรงเรียนอยุธยาวิทยาลัย ภายในงานเวทีสร้างความร่วมมือและแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในการพัฒนาศูนย์เรียนรู้รถรับส่งนั

สสส.สานพลังภาคี ขจัดความเหลื่อล้ำกิจกรรมทางกาย ดึงคนไทยสู่เวอร์ชั่นใหม่

กองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับ ศูนย์พัฒนาองค์ความรู้ด้านกิจกรรมทางกายประเทศไทย (ทีแพค) สถาบันวิจัยประชากรและสังคม

สสส.-สคล. ผนึกภาครัฐ เอกชน จัดแข่งฟุตซอลเยาวชนไม่เกิน 15 ปี ชิงถ้วยกรมสมเด็จพระเทพฯ

สสส. โดยสมาคมเครือข่ายงดเหล้าและปัจจัยเสี่ยงต่อสุขภาพ (สคล.) ร่วมกับ ภาคีเครือข่ายและภาคเอกชน รวม 7 องค์กร ลงนามความร่วมมือ พร้อมจัดแถลงข่าวเปิดตัวโครงการ

"สิทธิในอาหารเพื่อชีวิตที่ดี" ความตระหนักรู้เสริมสุขภาวะ

เด็กทั่วโลกเผชิญปัญหาความเหลื่อมล้ำด้านอาหาร เพราะการบริโภคไม่สมดุล ส่งผลต่อสุขภาวะอ้วนผอม ชาวโลกเผชิญความอดอยากเกือบ 300 ล้านคน

สสส.ชวนคนรักสุขภาพ ร่วม'เมื่อคุณเริ่มวิ่ง หัวใจเต้นแรง' กระตุ้น'นักวิ่งหน้าใหม่'ลงสนาม8ธ.ค.นี้

เมื่อช่วงบ่ายวันที่ 11 พ.ย. 2567 ที่อาคารศูนย์เรียนรู้สุขภาวะ กรุงเทพฯ นพ.พงศ์เทพ วงศ์วัชรไพบูลย์ ผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า สสส. ร่วมกับ สมาพันธ์ชมรมเดิน-วิ่งเพื่อสุขภาพไทย จัดงานแถลงข่าว Thai Health Day Run 2024 วิ่งสู่วิถีชีวิตใหม่ ครั้งที่ 12 ภายใต้แนวคิด “เมื่อคุณเริ่มวิ่ง หัวใจเต้นแรง” ในวันที่ 8 ธ.ค. นี้ ที่สะพานพระราม 8 โดย สสส. มุ่งจุดกระแสกิจกรรมทางกายเพื่อสร้างเสริมสุขภาพ ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมที่ทำให้มีสุขภาพดี ลดความเสี่ยงเกิดโรคไม่ติดต่อ (NCDs) ในอนาคต ซึ่งจากผลสำรวจอายุคาดเฉลี่ยทั่วโลกในปี 2567 ของ www.worldometers.info ระบุว่า ไทยมีอายุคาดเฉลี่ยอยู่ที่ 76.56 ปี อายุยืนเป็นอันดับที่ 78 ของโลก ขณะที่ข้อมูลจากฐานข้อมูลการตาย กองยุทธศาสตร์และแผนงาน กระทรวงสาธารณสุข ปี 2561-2565 พบคนไทยเสียชีวิตก่อนวัยอันควร 164,720 ราย สาเหตุการเสียชีวิตอันดับ 1 คือ ป่วยด้วยกลุ่มโรค NCDs ซึ่งเป็นโรคที่เกี่ยวกับพฤติกรรมและวิถีชีวิต