สสว. แถลงความสำเร็จโครงการ SME Coach ประจำปี 2565 ปั้นโค้ชอาสาเพิ่มอีก 1,800 ราย รุกให้คำปรึกษาทั้ง ออนไลน์-ออนไซต์ ครอบคลุมทั่วไทย ส่งผล SME สร้างยอดเกิน 150 ล้าน/ราย

สสว. แถลงความสำเร็จโครงการ SME Coach ประจำปี 2565 กิจกรรมพัฒนาโครงสร้างฐานข้อมูลที่ปรึกษาและระบบ Coach Online ทั้งออนไลน์และออนไซต์ ปั้นโค้ชอาสา เพิ่มอีก 1,800 ราย รวมมากว่า 5,000 ราย ส่งผล SME ที่ร่วมโครงการกว่า 1,000 ราย สามารถสร้างยอดได้มากกว่า 150 ล้านบาท/ราย

นายวีระพงศ์ มาลัย ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) เผยถึงที่มาโครงการ SME Coach และผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นว่า เป็นโครงการที่พัฒนาต่อยอดมาจากโครงการ Train the Coach 2564 โดยมีวัตถุประสงค์ที่มุ่งเน้นให้โค้ชเข้าไปช่วยให้คำปรึกษาแนะนำกับผู้ประกอบการ เพื่อช่วยแก้ไขปัญหาธุรกิจให้สามารถดำเนินกิจการต่อไปได้ “โลกของการดำเนินธุรกิจมีการเปลี่ยนแปลงตลอด ผู้ประกอบการต้องก้าวให้ทันสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป ซึ่งการก้าวเดินไปอย่างถูกวิธีจำเป็นต้องมีโค้ชเข้ามาช่วยชี้แนะแนวทาง เพื่อมุ่งสู่ผลลัพธ์ที่ตรงตามเป้าหมาย ก่อให้เกิดประโยชน์อย่างแท้จริง โดย สสว. ไม่ได้จำกัดเพียงพัฒนาผู้ประกอบการ เรายังเห็นความสำคัญของโค้ชที่จะต้องมีทักษะ ความรู้ความชำนาญเพื่อแนะนำผู้ประกอบการได้ จึงได้ดำเนินการพัฒนาที่ครอบคลุมทุกด้าน”

นายวีระพงศ์ กล่าวว่า การพัฒนาโค้ชที่อยู่ในระบบฐานข้อมูลของ สสว. ปัจจุบันมีอยู่มากกว่า 5,000 ราย โดยได้มีการเสริมสร้างองค์ความรู้ต่างๆ ให้กับโค้ชด้วยหลักสูตรการอบรมออนไลน์ที่สร้างขึ้นในปีนี้อีก 6 หลักสูตรที่สอดรับกับสภาพความเปลี่ยนแปลง เช่น ดิจิทัล การพลิกฟื้นของธุรกิจ หรือกฎหมายใหม่ส่งผลต่อทุกคนอย่างไร รวมกับหลักสูตรที่มีอยู่เดิมเป็นจำนวนรวมกว่า 35 หลักสูตร ซึ่งพบว่าโค้ชเหล่านั้นมีความสามารถที่สูงขึ้นมากอย่างเห็นได้ชัด สามารถให้คำปรึกษาแนะนำที่ตรงเป้าหมายมากขึ้น และก่อให้ผลทางปฏิบัติที่สูงมากขึ้นแก่ผู้ประกอบการ มีการพัฒนาตัวผู้ประกอบการซึ่งโค้ชได้เข้าไปทำการวิเคราะห์และประเมินว่า ควรจะปรับปรุง แก้ไขด้านใดให้ธุรกิจหลังสถานการณ์โควิดผ่านพ้นไปสามารถดำเนินต่อไปอย่างยั่งยืน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการลดต้น เพิ่มยอดขาย การเข้าถึงแหล่งเงินทุน นอกจากนี้ยังได้ดำเนินการพัฒนาระบบการให้คำปรึกษาแนะนำอย่างต่อเนื่อง เพื่อรองรับการให้บริการที่ดีขึ้น จึงได้ปรับระบบฐานข้อมูลของที่ปรึกษาโดยเพิ่มช่องทางการติดต่อสื่อสารระหว่างโค้ชกับเอสเอ็มอีให้สะดวกมากขึ้น จากเดิมที่ต้องเข้าใช้บริการผ่านเว็บไซต์ ก็ได้ขยายการให้บริการไปสู่ระบบ Line OA ปรึกษา แนะนำ ถามตอบ บน Line OA ที่ปฏิบัติการบนสมาร์ตโฟนซึ่งทุกคนมีความคุ้นเคยโดยธรรมชาติอยู่แล้ว เพื่อให้การเข้าถึงบริการปรึกษาแนะนำระหว่างโค้ชและเอสเอ็มอีสะดวกรวดเร็วขึ้น

ผอ.สสว. กล่าวด้วยว่า ภายใต้สถานการณ์โควิด-19 ที่ผ่านมาทำให้การติดต่อสื่อสารขอคำปรึกษาแนะนำระหว่างโค้ชกับเอสเอ็มอีทำได้ยาก แต่ปัญหาของเอสเอ็มอีไม่สามารถหยุดได้ จึงจำเป็นต้องมีโค้ชเข้าไปช่วยแนะนำแก้ปัญหาให้กับเอสเอ็มอี สสว.จึงได้เริ่มนำวิธีการให้คำปรึกษาแนะนำทางออนไลน์ (Coaching online) มาใช้ โดยที่ผ่านมาพบว่า ปีแรก ทั้งผู้ประกอบการและโค้ช มีจำนวนไม่น้อยที่ยังไม่คุ้นเคย มีโค้ชบางคนที่ต้องเอาตัวเองเข้าไปพบกับผู้ประกอบการเพราะเกรงจะเกิดความเข้าใจผิดหรือกลัวไม่บรรลุผล

“ในปีนี้เป็นปีที่สอง ที่เราใช้ระบบ Coaching Online ถึง 100 เปอร์เซ็นต์ พบว่า ทั้งผู้ประกอบการจำนวน 1,000 ราย และโค้ชผู้รับผิดชอบสามารถปรับตัวได้ดีขึ้น และสามารถใช้ระบบออนไลน์ในการให้คำปรึกษาแนะนำทั้งในการโค้ช การตรวจสอบวิเคราะห์ข้อมูล และการส่งมอบงานที่ได้ผลสูงมาก โดยในปีที่แล้ว โครงการได้ให้คำปรึกษาแนะนำแก่ผู้ประกอบการทั่วประเทศได้ถึง 64 จังหวัด และในปีนี้ได้ขยายการให้คำปรึกษาแนะนำแก่ผู้ประกอบการไปทั่ว 77 จังหวัด กล่าวได้ว่าโครงการสามารถให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการได้ครอบคลุมมากขึ้น”

ผอ.สสว. ยืนยันว่าระบบการให้คำปรึกษาแนะนำ ณ สถานประกอบการ หรือออนไซต์ยังต้องมีเหมือนเดิมเพราะปัญหาที่พบมีความซับซ้อนสูงมาก จึงยังคงจำเป็นที่จะต้องมีการให้คำปรึกษาหน้างานอยู่ เช่น การปรับปรุงเครื่องจักร หรือการเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานที่เกี่ยวกับหลายฝ่าย หรือมีความละเอียดสูง โค้ชยังจำเป็นที่จะต้องพินิจพิเคราะห์จากสถานที่จริง อย่างไรก็ตามการ Coaching Online ก่อนที่จะลงให้คำปรึกษาหน้างานช่วยให้การปฏิบัติงานของโค้ชแม่นยำขึ้น และประหยัดเวลาขึ้นมาก

“ปีนี้มีเรามีโค้ชอาสาสมัครที่มีความพร้อมจะช่วยเหลือผู้ประกอบการเพิ่มเข้ามาจากเดิมอีกด้วย ซึ่งอาสาสมัครส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม หรือ อสสว. เกิดจากผู้เชี่ยวชาญหรือผู้ทรงคุณวุฒิในสาขาอาชีพต่างๆ ที่อาสาเข้าร่วมกิจกรรมเพื่อการส่งเสริมและสนับสนุนผู้ประกอบการ SME ในพื้นที่ต่างๆ โดยขณะนี้มีเพิ่มมากกว่า 1,800 คน อสสว. เหล่านี้จะสามารถช่วยเหลือผู้ประกอบการได้อีกแรงหนึ่ง

“เอสเอ็มอีจำนวน 1,000 ราย ที่เข้ารับการให้คำปรึกษาแนะนำ เราพบว่าผลรวมของยอดขายทั้งหมดของแต่ละรายมีเกินกว่าปีละ 150 ล้านบาท หากยังคงดำเนินธุรกิจได้ต่อไป และจะมากยิ่งขึ้น หลังจากการปรับปรุงตามข้อแนะนำของโค้ช  ซึ่งเงินจำนวนนี้ ก็จะถูกจับจ่ายออกไปทั้งในรูปของการซื้อวัตถุดิบจากผู้ประกอบการด้วยกัน การนำไปจ่ายค่าแรง การจ่ายค่าขนส่ง ค่าโสหุ้ยต่างๆ ฯลฯ และสุดท้ายก็คือการจ่ายกลับไปในรูปของภาษีให้กับประเทศ” นายวีระพงศ์ กล่าวทิ้งท้าย

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

สสว. ยกศักยภาพ SME จัดกิจกรรมเชื่อมแหล่งเงินทุน เพิ่มโอกาสผู้ประกอบการในพื้นที่ EEC และพื้นที่ต่อเนื่อง

สสว. มุ่งมั่นยกศักยภาพผู้ประกอบการ จัดกิจกรรมเชื่อมแหล่งเงินทุนให้กับผู้ประกอบการที่ยกระดับนวัตกรรมในธุรกิจได้ ภายใต้กิจกรรมส่งเสริมและพัฒนาการเริ่มต้นเป็นผู้ประกอบการที่มีศักยภาพในพื้นที่

พิษน้ำท่วม SME ยังไม่คลายกังวล ฉุดดัชนีความเชื่อมั่นต่ำกว่าฐานต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3

ผลกระทบน้ำท่วม สภาวะเศรษฐกิจทรงตัว การท่องเที่ยวชะลอตัวตามฤดูกาล ส่งผลดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการ SMESI ก.ย. 67 ต่ำกว่าระดับค่าฐานต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 แม้เริ่มเห็นสัญญาณการกลับมาของกำลังซื้อในระยะสั้น แต่ค่าคาดการณ์ในอีก 3 เดือนข้างหน้า เพิ่มขึ้นจากฤดูกาลท่องเที่ยวช่วงปลายปีและเทศกาลเฉลิมฉลองต่าง ๆ จะสามารถดึงความเชื่อมั่นผู้ประกอบการ SME กลับมาได้

‘สสว.’ จับมือ ‘INET’ เปิดพื้นที่ขาย ผ่าน Nex Gen Commerce Platform ช่วย SME

สสว. และบริษัท อินเทอร์เน็ตประเทศไทย จำกัด (มหาชน) ลงนาม MOU ให้สิทธิประโยชน์ผู้ประกอบการที่ลงทะเบียน SMEs ผู้รับบริการภาครัฐ เปิดพื้นที่ขาย ผ่าน Nex Gen Commerce Platform “พร้อมฟรี E-Tax Invoice และ E-Factoring”

สสว. แถลงข่าว “SME Privilege Club” เดินหน้าผนึกพันธมิตร เสริมแกร่งผู้ประกอบการ

สสว. แถลงข่าวความสำเร็จงานพัฒนาสิทธิประโยชน์ “SME Privilege Club คลับพิเศษสำหรับ SME” โครงการที่เพิ่มความร่วมมือพันธมิตร 3 ด้าน ทั้งเพิ่มผลิตภาพ/ลดต้นทุน ขยายช่องทางการตลาด เชื่อมโยงแหล่งเงินทุน

สสว. ผนึก LINE ผลักดันสิทธิประโยชน์ เสริมแกร่ง UPSKILL SME

สสว. ลงนามความร่วมมือ เดินหน้าพัฒนาสิทธิประโยชน์เพิ่มผลิตภาพ/ลดต้นทุน ภายใต้ “SME Privilege Club คลับพิเศษสำหรับ SME” จัดสัมมนา UPSKILL SME “ยอดขายโตทั่วไทย ด้วยโซลูชันจาก LINE”