ยานนาวาโมเดล “คนจนก็อยู่ในเมืองได้” มิติใหม่การแก้ปัญหาที่อยู่อาศัยคนจนในกรุงเทพฯ

ชุมชนเชื้อเพลิง 2  เขตยานนาวา  สร้างบ้านมั่นคงเฟสแรกเสร็จแล้ว 40 หลัง  กำลังก่อสร้างเฟสต่อไป

ราคาที่ดินในกรุงเทพฯ ขยับพุ่งแรงทุกปี  ล่าสุดกรมธนารักษ์เตรียมประกาศใช้ราคาประเมินที่ดินใหม่ มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2566  โดยราคาประเมินที่ดินต่ำสุดอยู่ที่ถนนมิตรไมตรี  เขตหนองจอก  ราคาตารางวาละ 16,000 บาท  และสูงสุดไม่พ้นย่านธุรกิจกลางเมือง  คือ  ถนนสีลม  พระราม 1  และวิทยุ  ราคาตารางวาละ 1 ล้านบาท !!

ขณะที่ราคาที่อยู่อาศัยสำหรับประชาชนทั่วไปต่างขยับขึ้นสูงเช่นกัน  เช่น  คอนโดนิเนียมย่านชานเมือง แถบลำลูกกา (จ.ปทุมธานี)  ขนาด  22 ตารางเมตร  ราคาไม่ต่ำกว่า  1.3-1.4 ล้านบาท  แม้แต่ทาวน์เฮ้าส์มือสองขนาด 16 ตารางวา  ย่านหนองจอก  ยังมีราคาไม่ต่ำกว่า 1.5 ล้านบาท  และที่ราคาถูกลงมาก็คือ  บ้านเอื้ออาทรของการเคหะฯ ย่านลาดกระบัง  ขนาด 30 ตารางเมตร  ประมาณ 5 แสนบาท

ที่ดินราคาแพง  คนจนถูกเบียดออกจากเมือง

ราคาที่ดินในกรุงเทพมหานครที่ถีบตัวสูงขึ้นและการพัฒนาเมืองทำให้ที่ดินและที่อยู่อาศัยมีราคาแพงขึ้นเรื่อยๆ  ทำให้เกิดผลกระทบกับประชาชนที่มีรายได้น้อย  โดยเฉพาะคนจนที่ต้องทำมาหากินอยู่ในเมือง  ไม่มีที่ดินที่อยู่อาศัยเป็นของตัวเอง  ต้องเช่าที่ดินเอกชน-ที่วัดปลูกสร้างบ้าน  เช่าหรือบุกรุกที่ดินรัฐ  มีแนวโน้มที่จะโดนไล่ที่ 

(ภาพจากเฟซบุ๊ก chadchartofficial)

เช่น  ชุมชนแออัดในเขตยานนาวา  ในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา  เอกชนเจ้าของที่ดินไม่ต่อสัญญาเช่าที่ดินและไล่รื้อไปแล้วจำนวน 5 ชุมชน   คือ  คลองเสาหิน  จตุรมิตร  เจ้าพระยา  หลังปั๊มเอสโซ่คลองด่าน  และสามัคคีรวมใจ รวมประมาณ 200 ครอบครัว  และมีวัดบางแห่งขยับขึ้นราคาเช่าที่ดิน  ทำให้ชาวบ้านออกมาประท้วงเมื่อเร็วๆ นี้

ชุมชนคลองเตย  ตั้งอยู่ในที่ดินของการท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.)   ข้อมูลจาก กทท. ระบุว่า มีทั้งหมดประมาณ 30 ชุมชน  13,000 ครอบครัว  โดย กทท. มีแผนจะพัฒนาท่าเรือพาณิชย์คลองเตย  พื้นที่รวมประมาณ 2,000 ไร่  เช่น  สร้างศูนย์การค้า  ศูนย์ประชุม  โรงแรม  ฯลฯ  เป็นอภิมหาโปรเจคท์โครงการหนึ่งที่ต้องใช้เงินลงทุนระดับแสนล้านบาท   แต่กระทรวงคมนาคมที่กำกับดูแล กทท. มีการปรับแผนงานและเลื่อนโครงการมาแล้วหลายครั้ง 

ล่าสุดจะเริ่มพัฒนาที่อยู่อาศัยชาวชุมชนคลองเตยเพื่อเปิดพื้นที่โครงการก่อนในปี 2566  โดย กทท. จะสร้างที่อยู่อาศัยใหม่ให้ชาวคลองเตย  ในรูปแบบ Smart Community บนพื้นที่ 58 ไร่  ก่อสร้างเป็นอาคารสูง  หลายอาคาร  รวมประมาณ 6,048  ห้อง  ขนาดห้องละ 33 ตรม.  ในลักษณะให้ชาวชุมชนเช่า  และมีทางเลือกอีก 2 ทาง  คือ 1. ย้ายไปสร้างบ้าน  สร้างชุมชนใหม่ในที่ดิน กทท. ย่านหนองจอก  (ห่างจากคลองเตยประมาณ 40 กิโลเมตร) โดย กทท.จะจัดสรรที่ดินให้ครอบครัวละ 19 ตารางวา  และ 2. รับเงินชดเชยเพื่อกลับภูมิลำเนา

ท่าเรือคลองเตยมีแผนพัฒนาโครงการต่างๆ ในพื้นที่ทั้งหมดประมาณ 2,000 ไร่

คนจน “แรงงานสร้างเมือง”

นิตยา  พร้อมพอชื่นบุญ  แกนนำบ้านมั่นคงชุมชนคลองเตย  บอกว่า  ข้อมูลของชาวบ้านจะต่างจากการท่าเรือฯ  เพราะคนคลองเตยส่วนใหญ่อยู่อาศัยกันเป็นครอบครัวใหญ่  ครอบครัวหนึ่งประมาณ 4 คน  บางบ้านก็มีหลายครอบครัวอยู่รวมกัน  เพราะพื้นที่มีน้อย  แต่จำนวนคนเพิ่มขึ้น  หากรวมครัวเรือนทั้งหมดคงประมาณ  2 หมื่นครอบครัว  ประชากรรวมประมาณ 1 แสนคน   ในจำนวนนี้มีทั้งเช่าที่ดินจากการท่าเรือฯ  และไม่ได้เช่า

หากการท่าเรือฯ จะสร้างคอนโดฯ ให้ชาวบ้านอยู่  ขนาดเนื้อที่  33 ตารางเมตร  คงจะอยู่กันไม่หมด  เพราะเฉลี่ยแล้วครอบครัวหนึ่งจะมี 4 คน  ชาวชุมชนเคยประชุมกันและมีข้อเสนอถึงการท่าเรือฯ แต่ยังไม่เป็นผล   เช่น       ขอแบ่งปันที่ดินเอามาบริหารเอง  จำนวน 300 ไร่  ในลักษณะเช่าที่ดินระยะยาว  เพื่อสร้างบ้าน  สร้างชุมชนใหม่         

มีโรงเรียน  ศูนย์เด็กเล็ก  สวนหย่อม  สนามกีฬา  รูปแบบอาจเป็นบ้านแถว 2-3 ชั้นสำหรับครอบครัวใหญ่   ชั้นล่างค้าขายได้  และอาคารสูงสำหรับครอบครัวเล็กแต่มีพื้นที่เหมาะสม 

ชุมชนคลองเตยในที่ดิน กทท. มีชุมชนต่างๆ ตั้งอยู่ทั้งหมดประมาณ 30 ชุมชน

ส่วนการย้ายไปหนองจอกนั้น  นิตยาบอกว่า  คนคลองเตยส่วนใหญ่ทำมาหากินอยู่ในเมือง  มีรายได้เป็นรายวัน  หรือหาเช้ากินค่ำ  เช่น  ขับมอเตอร์ไซค์รับจ้าง  ส่งอาหาร  ขับแท็กซี่  เป็นกรรมกร  ทำงานก่อสร้าง  ผู้รับเหมารายย่อย  แม่บ้านทำความสะอาดออฟฟิศ  รปภ.  ทำงาน กทม.  เก็บของเก่า  ขายของในตลาด  ขายอาหาร  ฯลฯ 

“ถ้าย้ายไปอยู่หนองจอกจะไปทำอะไรกิน  เพราะแถวนั้นส่วนใหญ่เป็นทุ่งนา  ถ้าไปอยู่ก็ต้องสร้างบ้านใหม่  ไม่ได้อยู่ฟรีๆ  ต้องกู้เงินมาสร้างบ้าน  และถ้าไม่มีรายได้  ชาวบ้านก็ไม่มีเงินส่ง  คงต้องกลับเข้ามาในเมืองอีก   เพราะคนจนต้องหากินอยู่ในเมือง  เป็นแรงงานอยู่ในเมือง  ถ้าย้ายไปอยู่ไกลๆ  ต้องมีค่าเดินทางเพิ่มขึ้นอีก  รถไฟฟ้าคนจนจะขึ้นไหวหรือ”  นิตยาบอก

ชุมชนเชื้อเพลิง2’ เส้นทางสู่บ้านมั่นคง

ไม่เฉพาะชาวคลองเตยที่ต้องอยู่อาศัยและทำมาหากินในเมืองเท่านั้น   แต่ยังมีชุมชนคนจนอื่นๆ ที่พยายามดิ้นรนเพื่ออยู่อาศัยในเมือง  เช่น  ชุมชนแออัดในเขตยานนาวา  แม้ว่าที่ดินในย่านนี้  ราคาประเมินต่ำสุดในปัจจุบันตกตารางวาละ 170,000  บาท   ซึ่งเกินกำลังของคนจน   แต่ก็มีตัวอย่างชุมชนที่ประสบความสำเร็จในการพัฒนาที่อยู่อาศัยในที่ดินเดิม  ทำให้คนจนสามารถอยู่ในเมืองได้ โดยมีหน่วยงานต่างๆ ร่วมสนับสนุน  เช่น  กรมธนารักษ์  สำนักงานเขตยานนาวา  พอช.  ฯลฯ

ศุบุญเยี่ยม  คงกระพันธ์   ประธานสหกรณ์เคหสถานบ้านมั่นคงเชื้อเพลิง 2 ร่วมใจ  จำกัด  (ชุมชนเชื้อเพลิง 2)  บอกว่า  ชุมชนอยู่ในเขตยานนาวา  สภาพเดิมเป็นชุมชนแออัด  มีเกือบ 200  ครอบครัว  ตั้งอยู่ในบึงน้ำครำ  เป็นที่ดินราชพัสดุที่ยังไม่ได้ทำประโยชน์   เมื่อ 40-50 ปีก่อน  ที่ดินในย่านนี้ยังเป็นที่ดินรกร้าง  จึงมีชาวบ้านจากที่ต่างๆ  ทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัดเข้ามาอยู่อาศัยเพื่อทำมาหากิน  เพราะอยู่ไม่ไกลจากตลาดคลองเตย  ท่าเรือคลองเตย  สถานีรถไฟแม่น้ำ (สถานีขนถ่ายสินค้าย่านพระราม 3) ซึ่งเป็นแหล่งงาน

สภาพชุมชนเดิมตั้งอยู่ในบึงน้ำครำ

ต่อมามีการตัดถนน   มีทางด่วน   บ้านเมืองเจริญขึ้น  ชุมชนขยายตัวขึ้น  ชาวบ้านกลัวว่าจะถูกหน่วยงานเจ้าของที่ดินไล่รื้อ  ประมาณปี 2550  จึงรวมตัวกันเตรียมพร้อมเพื่อจะแก้ปัญหาเรื่องที่อยู่อาศัย   เพราะตอนนั้น  พอช. (สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน  องค์การมหาชน) มีโครงการ ‘บ้านมั่นคง’  สนับสนุนการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยชุมชนที่มีรายได้น้อยทั่วประเทศ  (โครงการบ้านมั่นคงเริ่มตั้งแต่ปี 2546  ดูรายละเอียดเพิ่มเติมที่ www.codi.or.th)

ส่วนชุมชนที่บุกรุกที่ดินราชพัสดุที่กรมธนารักษ์ดูแลนั้น  กรมธนารักษ์ได้ทำบันทึกความร่วมมือกับ พอช. เพื่อให้ชุมชนเช่าที่ดินเพื่ออยู่อาศัยอย่างถูกต้องและสร้างบ้านใหม่  เปลี่ยนจากชุมชนแออัดสภาพทรุดโทรมเป็นชุมชนที่มีสภาพแวดล้อมที่ดี   มีสาธารณูปโภค  ไม่ต้องพ่วงน้ำประปา  ไฟฟ้าราคาแพงจากภายนอกมาใช้   โดย พอช. จะสนับสนุนชุมชนในด้านการพัฒนาที่อยู่อาศัย

ชุมชนจึงจัดตั้งกลุ่มออมทรัพย์เพื่อเป็นทุน  มีคณะกรรมการรับผิดชอบ  ให้ชาวบ้านที่เข้าร่วมออมเงินเข้ากลุ่มครอบครัวละ 300-500 บาทต่อเดือน  ต่อมาในปี 2552  จึงจดทะเบียนเป็น ‘สหกรณ์เคหสถานบ้านมั่นคงเชื้อเพลิง 2 ร่วมใจ  จำกัด’  เพื่อให้มีสถานะเป็นนิติบุคคลทำนิติกรรมสัญญาต่างๆ  

ในปี 2555  ชุมชนได้ทำสัญญาเช่าที่ดิน (ที่ดินที่ชาวบ้านอาศัยอยู่เดิม) เนื้อที่ 3 ไร่  3 งานเศษกับกรมธนารักษ์   ในอัตราผ่อนปรน  ระยะเวลาเช่า 30 ปี  (ตามกฎกระทรวงการคลัง  หลังจากนั้นต่อสัญญาได้อีกคราวละ 30ปี)

ชาวชุมชนตั้งคณะทำงานฝ่ายต่างๆ  เช่น  สำรวจข้อมูล

“กว่าจะรวมตัวกันสร้างบ้านได้ก็ถือว่ายากลำบากมาก  เพราะมีคนต่อต้าน  เช่น  เจ้าของบ้านเช่าในชุมชน  เพราะจะเสียผลประโยชน์จากค่าเช่าบ้าน  มีคนที่ไม่อยากจะเข้าร่วม  เขาบอกว่าอยู่มานานแล้ว  ไม่ต้องเสียเงิน  แต่พอจะทำบ้านมั่นคงต้องเสียเงินสร้างบ้านใหม่  คณะกรรมการชุมชนต้องช่วยกันชี้แจงว่า  ที่ดินตรงนี้ไม่ใช่ของเรา  เราบุกรุกที่ดินหลวงอยู่  ถ้าเราเช่าได้มันก็จะได้ถูกกฎหมาย  ไม่ต้องกลัวว่าจะถูกไล่ออกไปอยู่ไกลๆ  ได้สร้างบ้านใหม่ในที่เดิม  ไม่ใช่อยู่บนน้ำครำเน่าเฉอะแฉะ  ลูกหลานจะได้มีบ้านใหม่  ทำมาหากินก็สะดวกเพราะอยู่ในเมือง”   ศุบุญเยี่ยมบอก

ส่วนกระบวนการทำงานนั้น  ศุบุญเยี่ยมบอกว่า  มีการตั้งคณะกรรมการฝ่ายต่างๆ ขึ้นมาเพื่อช่วยกันดำเนินการ  เช่น  ฝ่ายสำรวจข้อมูล  ลงไปสำรวจข้อมูลครัวเรือน  ผู้ที่มีสิทธิ์  เช่น  ถ้าเป็นบ้านเช่าต้องอาศัยอยู่เกิน 5 ปี   การออมเงินต้องสม่ำเสมอ  ไม่ยุ่งเกี่ยวกับยาเสพติด  ฯลฯ   สำรวจรายได้  รายจ่าย  ความสามารถในการผ่อนชำระ  ฯลฯ  เพื่อเอาข้อมูลมาจัดทำโครงการ

ฝ่ายประชาสัมพันธ์  ชี้แจงสร้างความเข้าใจ  จัดประชุมกันทุกเดือน  พาชาวบ้านไปดูโครงการบ้านมั่นคงในชุมชนต่างๆ ที่สร้างเสร็จแล้ว  ให้เห็นตัวอย่างบ้านเรือนที่สวยงาม  มีทางเดินคอนกรีต  ไม่ใช่สะพานไม้ผุๆ พังๆ      มีสวนหย่อม  มีที่ว่างให้ลูกหลาน  คนแก่ได้ออกกำลังกาย   จนคนส่วนใหญ่เห็นดีด้วย 

ชาวบ้านมีส่วนร่วมในกระบวนการสร้างบ้านมั่นคง  เช่น  การออกแบบที่อยู่อาศัยเพื่อให้ตรงกับความต้องการของชาวชุมชน  สภาพเศรษฐกิจครัวเรือน  และขนาดพื้นที่ของชุมชน  โดยมีสถาปนิกชุมชนจาก พอช.เป็นพี่เลี้ยง

ยานนาวาโมเดล “คนจนก็อยู่ในเมืองได้” ถ้ารัฐสนับสนุน

โครงการบ้านมั่นคง ‘สหกรณ์เคหสถานบ้านมั่นคงเชื้อเพลิง 2 ร่วมใจ  จำกัด’  เริ่มดำเนินการในช่วงกลางปี 2562  โดยสหกรณ์ฯ ได้จ้างบริษัทรับเหมาก่อสร้างบ้านเฟสแรก 40 หลัง  จากทั้งหมด 145  หลัง  เป็นบ้านแถว 2 ชั้น  ขนาด 4 X 6  ตารางเมตร  ราคาก่อสร้างประมาณหลังละ 3 แสนบาท  โดย พอช.สนับสนุนงบสาธารณูปโภคและอุดหนุนงบก่อสร้างที่อยู่อาศัยบางส่วน   

ส่วนชาวบ้านใช้เงินออมสมทบในการก่อสร้าง  และใช้สินเชื่อระยะยาวจาก พอช.  ผ่อนชำระประมาณเดือนละ    2 พันบาทเศษ  ระยะเวลา 15 ปี   โดยมีคณะกรรมการสหกรณ์ติดตามตรวจสอบการก่อสร้าง  ปัจจุบันก่อสร้างบ้านเฟสแรก 40 หลังแล้วเสร็จ  ชาวบ้านเข้าอยู่อาศัยแล้ว  ขณะนี้กำลังก่อสร้างเฟสที่ 2 จำนวน  30 หลัง  จะแล้วเสร็จในช่วงปลายปีนี้  ส่วนที่เหลือจะทยอยสร้างต่อไป

บ้านเฟสแรกชุมชนเชื้อเพลิง 2  จำนวน 40 หลังแรกสร้างเสร็จแล้ว  ชาวบ้านมีที่อยู่อาศัยใหม่ที่มั่นคง

สำลี  ศรีระพุก  ผู้นำชุมชนเย็นอากาศ 2  เขตยานนาวา  บอกว่า  ชุมชนตั้งอยู่ในที่ดินกรมธนารักษ์เหมือนกับชุมชนเชื้อเพลิง  2  มีเนื้อที่ประมาณ 9 ไร่เศษ  มีบ้าน  364 หลัง  ชาวบ้านส่วนใหญ่มีอาชีพรับจ้างทั่วไป  ขับมอเตอร์ไซค์รับจ้าง  แม่บ้านทำความสะอาด  รปภ.  ลูกจ้างบริษัทเอกชน  ค้าขายรายย่อย  ขายข้าวแกง  ก๋วยเตี๋ยว  ฯลฯ  ตอนนี้กำลังจัดทำโครงการบ้านมั่นคงที่ พอช.สนับสนุน  จะเริ่มก่อสร้างภายในปีนี้  

โดยชุมชนเตรียมทำสัญญาเช่าที่ดินจากกรมธนารักษ์  ระยะแรก 2 ไร่ 3 งานเศษ (ค่าเช่าอัตราผ่อนปรน  ประมาณตารางวาละ 13 บาทต่อเดือน  สัญญาเช่าช่วงแรกระยะเวลา 30 ปี) และทำเรื่องขออนุญาตก่อสร้างบ้านจากสำนักงานเขตยานนาวา   โดยจะสร้างบ้านให้แก่ครอบครัวที่โดนไฟไหม้ก่อน (ไฟไหม้เดือนสิงหาคม 2564)  จำนวน 13 หลัง  เป็นบ้านแถว 2 ชั้นขนาด 4 X 6 ตร.ม. หลังจากนั้นจะทยอยสร้าง  รวมทั้งหมด 262 หลัง  (มีอาคารสูงบางส่วน) ราคาก่อสร้างหลังละ 390,000 บาท  โดยชาวบ้านใช้เงินออมรายเดือน    ส่วนที่เหลือจะใช้สินเชื่อและงบสนับสนุนบางส่วนจาก พอช.

“ในเขตยานนาวา  มีชุมชนแออัดทั้งหมด 22 ชุมชน  กว่า  3 พันครอบครัว  โดนไล่ที่ไปแล้ว 5 ชุมชน  กำลังทำบ้านมั่นคง 2 ชุมชน  คือที่ชุมชนเชื้อเพลิง 2 และเย็นอากาศ 2  และปีหน้าจะทำบ้านมั่นคงอีก 1 ชุมชน  คือ  ชุมชนเชื้อเพลิงพัฒนา  ประมาณ  600 กว่าครัวเรือน    แต่ยังมีอีกหลายชุมชนที่อาจจะถูกไล่ที่เพราะเป็นที่ดินเช่าเอกชน   ลำพังคนจนคงจะซื้อที่ดินไม่ได้  เพราะที่ดินในเมืองมีราคาแพง  แต่ถ้ามีหน่วยงานรัฐมาสนับสนุน  เช่น  กรมธนารักษ์ให้เช่าที่ดิน  เอาที่ดินที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์มาให้ชุมชนเช่าสร้างบ้าน  คนจนก็จะอยู่ในเมืองได้”  สำลีบอก

บ้าน 40 หลังแรกชุมชนเชื้อเพลิง 2  โดยมีอีก 2 ชุมชนที่กำลังจะก่อสร้างตามมา  เป็น ‘ยานนาวาโมเดล’ ที่คนจนสามารถอยู่ในเมืองได้  หากมีหน่วยงานต่างๆ สนับสนุน

เสียงจากคนจนเมือง

ธาราศานต์  ทองฟัก  ผู้ช่วยผู้อำนวยการ  สำนักงานภาคกรุงเทพฯ  ปริมณฑลและตะวันออก  พอช.  บอกว่า  นอกจากการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยชุมชนผู้มีรายได้น้อยในกรุงเทพฯ ที่เขตยานนาวา  คือที่ชุมชนเชื้อเพลิง 2  และกำลังจะดำเนินการที่ชุมชนเย็นอากาศ 2  และเชื้อเพลิงพัฒนาแล้ว  ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา พอช. ได้สนับสนุนการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยชุมชนผู้มีรายได้น้อยในกรุงเทพฯ  ตามโครงการบ้านมั่นคงไปแล้ว  รวม 185 ชุมชน  จำนวน 20,358 ครัวเรือน   ในพื้นที่ 39 เขต

“แต่ในกรุงเทพฯ มีทั้งหมด 50  เขต  มีชุมชนที่เดือดร้อนเรื่องที่อยู่อาศัยทั้งหมด 1,337 ชุมชน  พอช.แก้ไขปัญหาไปได้  185  ชุมชน  หรือประมาณ 15 เปอร์เซ็นต์  ส่วนที่เหลืออีกประมาณ 85 เปอร์เซ็นต์ยังอยูในระหว่างการดำเนินการ  เพราะที่ดินที่ชาวบ้านอยู่อาศัยมีหลายประเภท  มีทั้งที่ดินเอกชน  ที่ดินรัฐที่มีหลายหน่วยงานเป็นเจ้าของ  เช่น  กรมธนารักษ์  สำนักงานทรัพย์สินฯ  การรถไฟฯ  การท่าเรือ  ที่ดินวัด  นอกจากนี้ยังติดข้อกฎหมายที่ยังไม่เอื้อต่อการแก้ไขปัญหา”  ธาราศานต์แจงรายละเอียด

ผู้บริหาร พอช.  และเครือข่ายชาวชุมชนศึกษาดูงานการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยที่ชุมชนเชื้อเพลิง 2

อย่างไรก็ดี  ที่ผ่านมามีความพยายามแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยคนจนในกรุงเทพฯ  แบบทั้งเมืองหรือทั้งเขต    ไม่ใช่แก้ปัญหาเป็นรายชุมชนหรือเป็นหย่อมๆ  เหมือนแต่ก่อน  เช่น  มีการจัดตั้ง ‘คณะกรรมการเมือง’ เพื่อเป็นกลไกการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยชุมชนผู้มีรายได้น้อยในกรุงเทพฯ 

คณะกรรมการประกอบด้วย  กรุงเทพมหานคร  สำนักงานเขต  หน่วยงานเจ้าของที่ดิน  หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง (การประปา  การไฟฟ้า ฯลฯ)  ภาคเอกชน  ภาคประชาชน  ชุมชนที่เดือดร้อน  เพื่อร่วมกันแก้ไขปัญหา  โดยขณะนี้มีการจัดตั้งคณะกรรมการเมืองแล้วในพื้นที่  27 เขต  จากทั้งหมด 50  เขตในกรุงเทพฯ

ขณะเดียวชุมชนที่มีความเดือดร้อนได้รวมกลุ่มกันจัดตั้งกลุ่มออมทรัพย์ในชุมชน  เพื่อเป็นการระดมคน  ระดมทุนในการแก้ไขปัญหาและพัฒนาที่อยู่อาศัย  โดยมีการจัดตั้งกลุ่มออมทรัพย์แล้ว  52 กลุ่ม  รวม 6,507 ครัวเรือน  ในพื้นที่ 20 เขต

นอกจากนี้ตัวแทนชุมชนที่มีความเดือดร้อนเร่งด่วน  กรณีชุมชนในพื้นที่ลำรางสาธารณะที่ กทม.ดูแล  และโดนสำนักงานเขตปิดหมายแจ้งไล่รื้อ  เช่น  ชุมชนคลองเป้งลีลานุช  ชุมชนลีลา  เขตวัฒนา  ได้ยื่นข้อเสนอขออยู่อาศัยในที่ดินเดิม  โดยยินยอมคืนพื้นที่บางส่วนให้ กทม. เพื่อปรับปรุงลำรางระบายน้ำ  ส่วนชุมชนขอแบ่งปันพื้นที่เพื่อสร้างบ้านใหม่ในที่ดินเดิม  เนื่องจากยังไม่มีที่ดินรองรับ

รวมทั้งยังมีข้อเสนออื่นๆ  จากชุมชนคนจนเมือง  เช่น  1.คณะกรรมการเมืองที่มีตัวแทนหลายฝ่าย  ควรจะให้สำนักงานเขตในพื้นที่ที่ชุมชนมีความเดือดร้อนเรื่องที่อยู่อาศัยเป็นเจ้าภาพในการแก้ไขปัญหา  2.ให้สำนักงานเขตเป็นกลไกลกลางเชื่อมโยงหาที่ดินรัฐในพื้นที่เพื่อใช้แก้ปัญหาที่อยู่อาศัย  3.ให้สำนักงานเขตสนับสนุนงบประมาณก่อสร้างสาธารณูปโภค  ถนนสาธารณะในชุมชน

4.ด้านผังเมือง  กฎหมายที่บังคับใช้ปัจจุบัน  ในเขตที่มีผังเมืองสีเขียว  กำหนดให้สร้างที่อยู่อาศัยได้เฉพาะบ้านเดี่ยว  ทำให้มีต้นทุนสูง  ชุมชนไม่สามารถก่อสร้างบ้านแถวได้  ขณะที่ผังเมืองรวมกรุงเทพมหานคร  พ.ศ. 2549  อนุญาตให้ พอช. ดำเนินการเพื่อเป็นที่อยู่อาศัยสำหรับประชาชนที่มีรายได้น้อยได้  จึงขอให้นำข้อยกเว้นในปี 2549 กลับมาใช้     5.ให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการจัดทำ  แก้ไข  ร่างผังเมือง  และระเบียบที่เกี่ยวข้อง  เพื่อสนับสนุนการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยของคนจน  ฯลฯ

ขณะที่กรุงเทพมหานคร  โดย ชัชชาติ สิทธิพันธุ์  ผู้ว่าฯ กทม. คนใหม่  มีนโยบาย ‘เมืองน่าอยู่สำหรับทุกคน’  มีเป้าหมายเพื่อให้ทุกคนในเมืองมีคุณภาพชีวิตที่ดี  มีที่อยู่อาศัย  มีการจัดการขยะที่ดี  น้ำไม่ท่วม  ฯลฯ โดยเมื่อเร็วๆ นี้  ผู้ว่าฯ กทม. ได้ลงมาดูพื้นที่ชุมชนริมคลองเปรมประชากรที่มีโครงการบ้านมั่นคงที่ กทม.ก่อสร้างเขื่อนคอนกรีตเพื่อระบายน้ำในคลอง  และประชาชนได้รื้อย้ายบ้านเรือนออกจากพื้นที่รุกล้ำแนวคลอง  แล้วก่อสร้างบ้านใหม่ในชุมชนเดิม  โดย พอช.สนับสนุนตามแนวทาง ‘บ้านมั่นคง’  รวมทั้งผู้ว่าฯ กทม.ยังไปเยี่ยมประชาชนในชุมชนต่างๆ เพื่อรับฟังปัญหาด้วย

นอกจากนี้ ศานนท์  หวังสร้างบุญ  รองผู้ว่าฯ กทม.ได้ประชุมร่วมกับทีมงานบ้านมั่นคงของ พอช. เมื่อไม่นานมานี้  เพื่อหาแนวทางแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยชุมชนผู้มีรายได้น้อยใน กทม.  โดยขณะนี้  กทม.กับ พอช. ได้ร่วมกันจัดทำข้อมูลชุมชนที่มีความเดือดร้อนเรื่องที่อยู่อาศัยให้เป็นปัจจุบัน  เพื่อหาแนวทางแก้ไขปัญหาร่วมกันต่อไป

ทั้งหมดนี้...คือย่างก้าวและมิติใหม่ของการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยคนจนในกรุงเทพมหานคร  โดยการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน  ทั้งชาวบ้าน  ชุมชนที่เดือดร้อน  และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง... มีเป้าหมายเพื่อให้คนจนที่เป็นแรงงานสร้างเมือง  ขับเคลื่อนเมือง  สามารถอยู่อาศัยในเมืองได้...!!

ผู้ว่าฯ กทม. ชัชชาติ  เยี่ยมชาวชุมชนคลองเตย (ภาพจากเฟซบุ๊ก chadchartofficial)

เรื่องและภาพ  :  สำนักพัฒนานวัตกรรมชุมชนจัดการความรู้และสื่อสาร  สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน)

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

มท.2 คิ๊กออฟปล่อยคาราวานโครงการเดินสำรวจออกโฉนดที่ดินในพื้นที่ 69 จังหวัด

วันที่ 11 พฤศจิกายน 2567 ณ บริเวณอาคารรังวัดและทำแผนที่ กรมที่ดิน อำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี นายทรงศักดิ์ ทองศรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย (มท.2) พร้อมด้วย นายสมเกียรติ กิจเจริญ คณะทำงานฯ

สุราษฎร์ธานี จัดงานวันที่อยู่อาศัยโลกปี67 ย้ำชุมชนต้องเป็นแกนหลักในการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยคนจน

UN – HABITAT หรือ ‘โครงการตั้งถิ่นฐานมนุษย์แห่งสหประชาชาติ’ กำหนดให้วันจันทร์แรกของเดือนตุลาคมทุกปีเป็น ‘วันที่อยู่อาศัยโลก’ หรือ ‘World Habitat Day’

รวมพลังคนจนแก้ปัญหาที่ดิน-ที่อยู่อาศัยทั่วประเทศ วันที่อยู่อาศัยโลก ปี 2567

ปัญหาการขาดแคลนที่อยู่อาศัยหรือมีที่อยู่อาศัยไม่เหมาะสมเป็นปัญหาที่สำคัญของผู้คนทั่วโลก UN-Habitat หรือ ‘โครงการตั้งถิ่นฐานมนุษย์แห่งสหประชาชาติ’

‘21 ปีบ้านมั่นคง’ พอช. แก้ปัญหาที่อยู่อาศัยคนจนทั่วประเทศ กว่า 3 แสนครัวเรือน

รัฐบาลได้มีนโยบายที่จะแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยของผู้มีรายได้น้อย และสร้างความมั่นคงในการอยู่อาศัยแก่คนจนในเมืองที่ ยังไม่มีที่อยู่อาศัยเป็นของตนเอง โดยเฉพาะกลุ่มผู้อยู่อาศัยในชุมชนแออัด

เสียงจากคลองเปรมประชากร…บ้านหลังใหม่ชีวิตใหม่ “คืนสายน้ำให้คนคลอง คืนสายคลองให้คนเมือง”

คลองเปรมประชากร มีประวัติศาสตร์อันยาวนานและมีบทบาทสำคัญในการพัฒนาชุมชนและเศรษฐกิจของกรุงเทพมหานคร ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา คลองนี้ได้ประสบปัญหามากมาย

บอร์ด พอช. มีมติ พักชำระหนี้องค์กรผู้ใช้สินเชื่อในพื้นที่ประสบอุทกภัยทั่วประเทศ

สถานการณ์การเกิดอุทกภัยจากอิทธิพลของพายุยางิ ในระหว่างวันที่ 7 - 8 กันยายน 2567 ส่งผลกระทบต่อประชาชนในจังหวัดเชียงราย จำนวน 7 อำเภอ