ที่ผ่านมามักมีการใช้เช็คในการทำธุรกรรมแทนเงินสด เนื่องจากมีความสะดวกและปลอดภัยจากการไม่ต้องพกเงินสดจำนวนมาก แต่ปัญหาหนึ่งที่เกิดขึ้นจากการใช้เช็คคือปัญหา “เช็คเด้ง” หรือการที่เมื่อผู้รับเช็คนำเช็คไปขึ้นเงินแล้ว ผู้ออกเช็คกลับมีเงินในบัญชีไม่เพียงพอที่จะจ่ายเงินตามจำนวนที่ระบุไว้ในเช็คนั้น เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดกรณีเช็คเด้งซึ่งสร้างความเดือดร้อนให้แก่ผู้รับเช็คและส่งเสริมให้มีการใช้เช็คในการทำธุรกรรม จึงมีการออกกฎหมายกำหนดโทษอาญาให้ผู้ซึ่งออกเช็คแล้วมีเงินในบัญชีไม่พอจ่าย ไม่ว่าจะมีเจตนาทุจริตหรือไม่ จะต้องถูกปรับหรือต้องโทษจำคุก เสมือนให้ผู้ออกเช็คนำเสรีภาพของตัวเองมาเป็นประกันว่าเช็คจะไม่เด้ง ซึ่งการกำหนดโทษอาญานี้มีขึ้นตั้งแต่สมัยที่เริ่มมีการนำเช็คมาใช้ในการทำธุรกรรม ซึ่งต้องย้อนกลับไปตั้งแต่ปี พ.ศ. 2497 ที่มีการตราพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็คขึ้นใช้เป็นครั้งแรก ต่อมา เมื่อมีการปรับปรุงกฎหมายและมีการตราพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2534 ซึ่งใช้บังคับอยู่ในปัจจุบัน ขึ้นใช้แทนฉบับเดิม ก็ยังคงหลักการกำหนดโทษอาญาดังกล่าวเอาไว้ เพื่อให้เช็คมีความน่าเชื่อถือ
อย่างไรก็ดี การกำหนดให้ผู้ออกเช็คซึ่งมีเงินไม่พอจ่ายต้องได้รับโทษอาญานั้น ก่อให้เกิดผลประหลาด เนื่องจากหนี้ที่เกิดขึ้นจากการออกเช็คเป็นหนี้เงิน ซึ่งในทางที่ถูกต้อง เจ้าหนี้ควรจะฟ้องเรียกเงินตามเช็คเป็นคดีแพ่งเพื่อให้ลูกหนี้ชำระหนี้คืน เช่นเดียวกับกรณีหนี้เงินอื่น ๆ แต่ในทางปฏิบัติเจ้าหนี้มักเลือกฟ้องเป็นคดีอาญา เพื่อบีบคั้นให้ลูกหนี้ยอมใช้หนี้จะได้ไม่ต้องติดคุก การกระทำดังกล่าวเป็นการนำโทษทางอาญามาใช้บังคับกับการผิดนัดชำระหนี้ทางแพ่ง ซึ่งไม่สอดคล้องกับมาตรา77 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ที่กำหนดให้พึงกำหนดโทษอาญาเฉพาะความผิดร้ายแรงและไม่สอดคล้องกับข้อ 11 ของกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมืองที่กำหนดว่าบุคคลจะถูกจำคุกเพียงเพราะเหตุว่าไม่สามารถปฏิบัติการชำระหนี้ตามสัญญามิได้ ด้วยเหตุนี้ กระทรวงยุติธรรมจึงเล็งเห็นความจำเป็นในการเสนอยกเลิกกฎหมายว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็คโดยเร่งด่วน
การยกเลิกกฎหมายนี้จะก่อให้เกิดผลกระทบต่อผู้เกี่ยวข้องอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ คณะกรรมการพัฒนากฎหมาย สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา จึงได้ปรับปรุงร่างพระราชบัญญัติยกเลิกพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2534 พ.ศ. .... ที่กระทรวงยุติธรรมเสนอในบางมาตรา โดยกำหนดให้กฎหมายมีผลใช้บังคับทันทีตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป แทนการใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนด 120 วัน นับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษา ตามที่กระทรวงยุติธรรมเสนอ เนื่องจากการยกเลิกโทษอาญาจะต้องกำหนดให้มีผลทันทีเพื่อไม่ให้เกิดปัญหาในการบังคับใช้กฎหมาย โดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะต้องดำเนินการเตรียมความพร้อมและเผยแพร่ข้อมูลเพื่อให้ประชาชนทราบและเข้าใจถึงความสำคัญและความจำเป็นของการยกเลิกพระราชบัญญัติดังกล่าว รวมทั้งจัดให้มีมาตรการที่เกี่ยวข้องเพื่อให้เช็คยังคงมีความน่าเชื่อถือต่อไป นอกจากนี้ คณะกรรมการพัฒนากฎหมาย สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ยังได้พิจารณาเพิ่มบทเฉพาะกาลเพื่อรองรับสิทธิและหน้าที่ของเจ้าหนี้และลูกหนี้ ทั้งในกรณีที่ได้มีการตกลงให้มีการผ่อนชำระเงินตามเช็คในกระบวนพิจารณาของศาล ให้ถือว่าข้อตกลงดังกล่าวเป็นสัญญาประนีประนอมยอมความตามกฎหมายที่ศาลสามารถออกคำบังคับได้โดยไม่ต้องฟ้องเป็นคดีใหม่ และในกรณีที่มีการรวมฟ้องคดีแพ่งเรียกเงินตามเช็คต่อศาล ซึ่งมีอำนาจพิจารณาคดีอาญาไปแล้ว ให้ศาลที่อยู่ระหว่างการพิจารณาคดียังคงมีอำนาจพิจารณาและพิพากษาคดีในส่วนแพ่งนั้นต่อไป ซึ่งจะช่วยลดขั้นตอนและระยะเวลาในการดำเนินการทางคดี รวมทั้งได้เพิ่มบทเร่งรัดให้มีการปล่อยตัวผู้ซึ่งต้องคำพิพากษาให้จำคุกในความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค และผู้ซึ่งอยู่ในระหว่างการคุมประพฤติหรือการพักการลงโทษโดยเร็ว
เมื่อร่างพระราชบัญญัติยกเลิกพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2534 พ.ศ. .... มีผลใช้บังคับเป็นกฎหมายแล้ว จะก่อให้เกิดประโยชน์แก่ประชาชนให้ไม่ต้องรับผิดทางอาญาโดยไม่สมควรอีก ซึ่งจะเป็นการสร้างสมดุลและสร้างความเป็นธรรมให้กับประชาชนทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องกับการใช้เช็ค ทั้งนี้ ในกรณีที่มีการผิดนัดชำระหนี้ เจ้าหนี้ก็สามารถฟ้องเป็นคดีแพ่งเพื่อบังคับให้ลูกหนี้ชำระหนี้ได้อยู่เช่นเดิม และหากลูกหนี้ออกเช็คโดยมีเจตนาจะโกงตั้งแต่แรกก็ยังคงต้องรับโทษอาญาในความผิดฐานฉ้อโกงอยู่เช่นเดียวกัน
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา กับบทบาทในเวทีการประชุม APEC Good Regulatory Practice Conference ครั้งที่ 17
Asia-Pacific Economic Cooperation หรือ APEC เป็นการประชุมความร่วมมือของเขตเศรษฐกิจซึ่งจัดขึ้นในทุกปี มีเนื้อหาครอบคลุมเกือบทุกมิติในทางความร่วมมือทางเศรษฐกิจ
'ลิลลี่เหงียน-ลูกหมี' ขึ้นศาลฟ้องลูกหนี้คนดัง ฉ้อโกง-เช็คเด้ง ลั่นคืนเงินจะถอนฟ้อง
น.ส.รัศมี ทองสิริไพรศรี หรือ ลูกหมี อายุ 45 ปี นางแบบชื่อดัง และ ลิลลี่ เหงียน พร้อมด้วยน.ส.อำนวยพร มณีวรรณ์ หรือทนายกุ้ง เดินทางเข้ายื่นฟ้องดำเนินการในข้อหาฉ้อโกง,พระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2534
ความเห็นของคณะกรรมการว่าด้วยการปรับเป็นพินัยที่น่าสนใจ เรื่อง การแจ้งคำสั่งปรับเป็นพินัย กรณีผู้กระทำความผิดปรากฏตัวต่อหน้าเจ้าหน้าที่ของรัฐและยินยอมชำระค่าปรับเป็นพินัย
ตั้งแต่พระราชบัญญัติว่าด้วยการปรับเป็นพินัย พ.ศ. ๒๕๖๕ มีผลใช้บังคับ คณะกรรมการว่าด้วยการปรับเป็นพินัยซึ่งมีหน้าที่ให้คำแนะนำและคำปรึกษาเกี่ยวกับการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ของรัฐในการปฏิบัติตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการปรับเป็นพินัยฯ
บทบาทภารกิจของกองกฎหมายต่างประเทศ สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา
กองกฎหมายต่างประเทศเป็นหน่วยงานภายในสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ที่ดำเนินภารกิจภายใต้วิสัยทัศน์ Better Regulation for Better Life
ภารกิจของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาในการยกเลิกกฎหมายที่หมดความจำเป็นหรือซ้ำซ้อนกับกฎหมายอื่น
กฎหมายคือเครื่องมือของรัฐในการกำหนดกฎเกณฑ์และแนวทางในการอยู่ร่วมกันของบุคคลในสังคม เพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยภายในสังคม
นายกฯ นัดถก ก.ตร. หารือปมกฤษฎีกาตีความคำสั่ง 'บิ๊กโจ๊ก' ออกจากราชการ
นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ นัดประชุมคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ (ก.ตร.)ครั้งที่ 4/2567 ณ ห้องประชุมศรียานนท์ ชั้น 2 อาคาร 1 สำนักงานตำรวจแห่งชาติ