ชาวเกาะลิบง จังหวัดตรัง ใช้นวัตกรรมสร้างความมั่นคงทางอาหาร

‘กุ้งมังกร’ ที่เกาะลิบง  เลี้ยงในกระชัง  ราคาตามขนาด  ไม่ต่ำกว่า กก.ละ 2-3 พันบาท

เกาะลิบง  มิใช่จะมีฐานะเป็นเมืองหลวงของพะยูนเท่านั้น  แต่ท้องทะเลที่นี่ยังอุดมสมบูรณ์ไปด้วยสัตว์น้ำนานาชนิด  เนื่องจากมีแหล่งหญ้าทะเลและปะการัง  ซึ่งเป็นแหล่งอาหารและที่อยู่อาศัยของสัตว์น้ำวัยอ่อนและที่สำคัญยังเป็นแหล่งอาศัยของกุ้งมังกร  ปลิงขาว  ปลิงกาหมาด  หอยชักตีน  และหอยเป๋าฮื้อ  สัตว์น้ำเศรษฐกิจที่มีมูลค่าสูง  

ทว่าก่อนที่ทรัพยากรธรรมชาติเหล่านี้กำลังจะหมดไป  คนลิบงกลุ่มหนึ่งได้ลุกขึ้นมาปกป้องท้องทะเลของพวกเขาเอาไว้  โดยนำนวัตกรรมและเทคโนลียีสมัยใหม่มาใช้  เพื่อฟื้นฟูท้องทะเล  เฝ้าระวังและอนุรักษ์พะยูน  เพาะพันธุ์สัตว์น้ำเศรษฐกิจ  สร้างความมั่นคงทางอาหาร  ส่งเสริมการท่องเที่ยว  ฯลฯ เป็น ‘ลิบงโมเดล’  มีเป้าหมายเพื่อพัฒนาเกาะลิบง อย่างยั่งยืน !!

“ถ้าไม่มีพะยูน  คนลิบงก็อยู่ไม่ได้”

 เกาะลิบง  อ.กันตัง  จ.ตรัง  ตั้งอยู่ในทะเลอันดามัน  มีพื้นที่ประมาณ 45 ตารางกิโลเมตร  มี 4 หมู่บ้านประชากรประมาณ  3,300  คน   เกือบทั้งหมดนับถือศาสนาอิสลาม   ส่วนใหญ่ประกอบอาชีพประมงพื้นบ้าน  ทำสวนยางพารา  ปาล์มน้ำมัน  รับจ้างทั่วไป  ค้าขาย  ฯลฯ

เกาะลิบงเป็นที่รู้จักไปทั่วประเทศในช่วงกลางปี 2562  เมื่อเกิดกรณี ‘มาเรียม’ พะยูนน้อยที่ยังไม่หย่านมพลัดหลงฝูง  เจ้าหน้าที่จึงนำมาฟูมฟักที่เกาะลิบงซึ่งเป็นแหล่งอาศัยของพะยูนฝูงใหญ่ที่สุดในประเทศไทย  ขณะที่สื่อมวลชนแขนงต่างๆ  พร้อมใจกันเสนอข่าว  ทำให้เรื่องราวของมาเรียมที่เกาะลิบงได้รับความสนใจนานหลายเดือน  แต่ในที่สุดพะยูนน้อยต้องจบชีวิตลงเพราะขยะพลาสติกในท้องทะเลที่กลืนเข้าไป  สะท้อนให้เห็นปัญหาหลายอย่างในท้องทะเลไทย

เจ้าหน้าที่ช่วยกันดูแล ‘มาเรียม’ พะยูนน้อยก่อนเสียชีวิต

สุวิทย์  สารสิทธิ์   อาสาสมัครพิทักษ์ดุหยงเกาะลิบง  บอกว่า  พื้นที่บริเวณเกาะลิบงเป็นแหล่งหญ้าทะเลที่สมบูรณ์มีเนื้อที่ประมาณ 20,000 ไร่  มีหญ้าทะเลขึ้นอยู่บริเวณหาดทรายใต้น้ำมากถึง 12 ชนิด  จึงเป็นแหล่งอยู่อาศัยของฝูงพะยูนสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม  หรือ “ดุหยง” ในภาษามลายูท้องถิ่น  

เมื่อหลายสิบปีก่อนฝูงพะยูนมีจำนวนหลายร้อยตัว แต่ได้รับผลกระทบจากการทำประมงแบบล้างผลาญโดยเฉพาะเรืออวนรุนและอวนลากที่ลักลอบเข้ามาทำประมงชายฝั่ง  ทำให้อวนเหล่านี้ลากเอาสัตว์เล็กสัตว์น้อยในท้องทะเล  รวมทั้งพะยูนติดอวนไปด้วย

นอกจากนี้ยังมีการล่าพะยูนโดยตรง  จึงทำให้ฝูงพะยูนลดน้อยลง  คนเกาะลิบงจึงลุกขึ้นมาปกป้องพะยูนเหมือนกับเป็นญาติที่ต้องดูแลกัน เพราะพะยูนเหมือนกับเป็นสัญลักษณ์ของเกาะลิบง  หากชาวลิบงเห็นพะยูนมาเกยตื้นก็จะช่วยกันนำไปปล่อย  หรือแจ้งเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องให้มาดูแล

“ถ้าไม่มีพะยูน  คนเกาะลิบงก็อยู่ไม่ได้   เพราะถ้าที่ไหนมีพะยูน  ท้องทะเลตรงนั้นก็จะแสดงถึงความอุดมสมบูรณ์  คนเกาะลิบงส่วนใหญ่หากินกับท้องทะเล  ทำประมงพื้นบ้าน  มีปลาอินทรีย์  มีหอยต่างๆ  มีปลิงทะเลเป็นสัตว์เศรษฐกิจที่สำคัญ   สร้างอาชีพ  สร้างรายได้  และเป็นแหล่งอาหารของคนเกาะลิบง  พวกเราจึงต้องช่วยกันดูแลสิ่งแวดล้อมและอนุรักษ์ทรัพยากรต่างๆ  รวมทั้งแหล่งหญ้าทะเลที่เป็นอาหารของพะยูนและสัตว์น้ำวัยอ่อน”  อาสาสมัครพิทักษ์ดุหยงเกาะลิบงบอก

ชาวเกาะลิบงได้ร่วมกันดูแลฝูงพะยูน  โดยการจัดตั้ง กลุ่มอาสาสมัครพิทักษ์ดุหยง  ขึ้นมาตั้งแต่ช่วงปี 2554  มีเยาวชนและชาวบ้านในเกาะลิบงร่วมเป็นสมาชิก  มีกิจกรรมต่างๆ  เช่น  ให้ความรู้ด้านการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม  การเฝ้าระวังไม่ทำร้ายพะยูนแก่นักเรียนและชาวประมง  รณรงค์ไม่ทิ้งขยะลงทะเล  ช่วยกันเก็บขยะตามชายหาด  สำรวจแหล่งหญ้าทะเล  ฯลฯ

อิสมาแอน  เบ็ญสะอาด 

อิสมาแอน  เบ็ญสะอาด  ประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชนการท่องเที่ยวและพัฒนาอาชีพเกาะลิบง  บอกว่า  ในปี 2562  กลุ่มวิสาหกิจฯ ได้จัดทำโครงการ ‘การประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อการท่องเที่ยวและการอนุรักษ์เกาะลิบง’ ขึ้นมา  เสนอโครงการไปยังสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (depa)   เพื่อใช้อากาศยานไร้คนขับหรือโดรนถ่ายภาพทางอากาศเพื่อดูแลพะยูนและส่งเสริมการท่องเที่ยว  ได้รับการสนับสนุนโดรนจาก depa  จำนวน 1 เครื่อง (งบประมาณ 240,000 บาทเศษ  โดยชุมชนร่วมออกเงินสมทบ 120,000 บาท)

“เราใช้โดรนขึ้นบินตรวจพื้นที่จุดเสี่ยงที่อาจจะมีเรือประมงต่างถิ่นลักลอบเข้ามาทำประมงผิดกฎหมาย  และอาจเป็นอันตรายต่อพะยูน  นอกจากนี้ยังใช้โดรนบินถ่ายภาพฝูงพะยูนแล้วต่อสัญญาณภาพมาที่จอโทรทัศน์ขนาดใหญ่เพื่อให้นักท่องเที่ยวได้ดู  ไม่ต้องนั่งเรือเข้าไปดูใกล้ๆ  เป็นการรบกวนพะยูน  และอาจทำให้พะยูนได้รับอันตราย  เพราะเมื่อก่อนเคยมีเรือสปีดโบ๊ตพานักท่องเที่ยวมาดูแล้วชนพะยูนตาย”  อิสมาแอนบอกถึงประโยชน์จากโดรน

การใช้โดรนเพื่ออนุรักษ์พะยูนเป็นการบูรณาการการทำงานร่วมกันระหว่าง depa วิสาหกิจชุมชนการท่องเที่ยวและพัฒนาอาชีพเกาะลิบง  และสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน)

ทั้งนี้ผลจากการอนุรักษ์พะยูนโดยใช้โดรนทำให้ชาวเกาะลิบงได้รับรางวัล Prime Minister’s Digital Award 2021 สาขา Digital Community จาก depa   โดยผู้แทนพลเอกประยุทธ์  จันทร์โอชา  นายกรัฐมนตรีเป็นผู้มอบรางวัลเมื่อต้นเดือนเมษายน 2565

นอกจากนี้ยังได้รับรางวัลระดับนานาชาติ United Nations Public Service Awards 2022 (UNPSA 2022) สาขาการส่งเสริมนวัตกรรมเพื่อส่งมอบบริการที่ครอบคลุมและมีความเสมอภาคเป็นธรรม เมื่อวันที่ 22 มิถุนายนที่ผ่านมา

ส่วนข้อมูลล่าสุด  ศูนย์วิจัยทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งอันดามันตอนล่าง  ระบุผลการสำรวจฝูงพะยูนบริเวณเกาะลิบงและหมู่เกาะใกล้เคียง  พบว่า  มีฝูงพะยูนที่อยู่อาศัยในพื้นที่ดังกล่าวประมาณ 140-170 ตัว

‘Sea  Farming  สร้างความมั่นคงทางอาหาร

นอกจากนี้ชาวเกาะลิบงยังได้ร่วมกันอนุรักษ์และเพาะพันธุ์สัตว์น้ำ  เช่น   ธนาคารปูม้า  โดยชาวประมงที่จับปูม้าที่มีไข่นอกกระดองจะนำปูมาฝากเลี้ยงที่ธนาคารจนได้ปูม้าวัยอ่อน  แล้วนำลูกปูจิ๋วไปปล่อยคืนสู่ทะเล  ปูม้าแต่ละตัวจะมีไข่ประมาณ 250,000 – 2 ล้านฟอง (แล้วแต่ขนาดปู)  หากมีอัตรารอดเพียง 1 เปอร์เซ็นต์ก็จะทำให้มีปูม้าเพิ่มขึ้นอย่างน้อย 2,500 ตัวต่อแม่ปู 1 ตัว

การเพาะเลี้ยงปลิงขาว  ปลิงกาหมาด  หอยเป๋าฮื้อ  ในอดีตบริเวณเกาะลิบงจะมีสัตว์น้ำเหล่านี้อยู่ชุกชุม  แต่เนื่องจากเป็นสัตว์เศรษฐกิจที่มีราคาสูง  จึงทำให้ถูกชาวประมงจับไปขายจนแทบจะสูญพันธุ์  อิสมาแอนจึงริเริ่มนำสัตว์น้ำเหล่านี้มาเพาะเลี้ยงในบ่อซีเมนต์และบ่อดิน  รวมทั้งเลี้ยงกุ้งมังกรในกระชัง  โดยได้รับการสนับสนุนด้านความรู้จากสถาบันการศึกษาหลายแห่ง

ปลิงกาหมาดนำมาดองน้ำผึ้งและทำน้ำมันใช้ทารักษาแผลไฟไหม้  บำรุงกล้ามเนื้อ  เส้นเอ็น  ฯลฯ

ปัจจุบันกลุ่มวิสาหกิจชุมชนการท่องเที่ยวและพัฒนาอาชีพเกาะลิบงได้จัดทำโครงการ ‘เขตพัฒนาพิเศษชุมชนต้นแบบ   เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน’ หรือ Sea  Farming  มีเป้าหมายเพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหาร (Food Security)  โดยนำเทคโนโลยีสมัยใหม่มาใช้ในการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ  เพื่อเพิ่มผลผลิต  ลดต้นทุน   เป็นการทำประมงแบบอัจฉริยะ หรือ ‘Smart Farmer’  เช่น  ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลในการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำในกระชัง  มีเครื่องวัดอุณหภูมิน้ำ   คุณภาพน้ำ  มีกล้องวงจรปิดดูแลแทนคนเลี้ยง  และสามารถควบคุมการเลี้ยงผ่านโทรศัพท์มือถือได้

นอกจากนี้จากเดิมที่เคยใช้ไม้มาทำกระชัง  ซึ่งต้องเปลี่ยนไม้ใหม่ทุก 2-3 ปี  ทำให้สิ้นเปลืองทรัพยากรธรรมชาติ  โครงการจึงจะนำร่องมาใช้พลาสติก HDPE (High Density Polyethylene) ซึ่งเป็นพลาสติกที่มีความแข็งแรง  ทนทาน  มีความยืดหยุ่นสูง  อายุการใช้งานประมาณ 15 ปี  ไม่มีปัญหาสารพิษและผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม  และยังสามารถใช้แทนไม้ในการทำเรือประมงได้

โครงการ Sea  Farming  ขณะนี้อยู่ในระหว่างการพัฒนาโครงการ  ได้รับการสนับสนุนจากหน่วยงานต่างๆ  เช่น  จังหวัดตรัง  วัฒนธรรมจังหวัดตรัง  พลังงานจังหวัดตรัง  บริษัทประชารัฐรักสามัคคีตรัง  กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม  กรมประมง  เขตห้ามล่าสัตว์ป่าหมู่เกาะลิบง  อบต.เกาะลิบง  สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ  กองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร  ฯลฯ

“เราจะทำโครงการ Sea  Farming  ให้เป็นโครงการต้นแบบ  เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีของคนเกาะลิบง  โดยการเปลี่ยนแปลง  เปลี่ยนวิธีคิด  จากการทำประมงพื้นบ้านแบบเดิมมาสู่การทำประมงที่ยั่งยืน  โดยการเพาะและเลี้ยงสัตว์น้ำต่างๆ ในกระชังหรือในบ่อร่วมกัน  เช่น  ปลากะพง  ปลาเก๋า  ดุกทะเล  หอย  ปลิง  เพราะปกติสัตว์น้ำพวกนี้ก็อยู่ในทะเลด้วยกันอยู่แล้ว  ถ้าเราเพาะเลี้ยงได้ก็จะช่วยลดต้นทุน  แล้วนำมาแปรรูป  สร้างรายได้  สร้างความมั่นคงทางอาหารขึ้นมา”  อิสมาแอนบอกถึงแผนงานที่ชาวเกาะลิบงจะทำต่อไป

ท่าเรือที่เกาะลิบง

 

เรื่องและภาพ :  สำนักพัฒนานวัตกรรมชุมชนจัดการความรู้และสื่อสาร  สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน)

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

สุราษฎร์ธานี จัดงานวันที่อยู่อาศัยโลกปี67 ย้ำชุมชนต้องเป็นแกนหลักในการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยคนจน

UN – HABITAT หรือ ‘โครงการตั้งถิ่นฐานมนุษย์แห่งสหประชาชาติ’ กำหนดให้วันจันทร์แรกของเดือนตุลาคมทุกปีเป็น ‘วันที่อยู่อาศัยโลก’ หรือ ‘World Habitat Day’

รวมพลังคนจนแก้ปัญหาที่ดิน-ที่อยู่อาศัยทั่วประเทศ วันที่อยู่อาศัยโลก ปี 2567

ปัญหาการขาดแคลนที่อยู่อาศัยหรือมีที่อยู่อาศัยไม่เหมาะสมเป็นปัญหาที่สำคัญของผู้คนทั่วโลก UN-Habitat หรือ ‘โครงการตั้งถิ่นฐานมนุษย์แห่งสหประชาชาติ’

‘21 ปีบ้านมั่นคง’ พอช. แก้ปัญหาที่อยู่อาศัยคนจนทั่วประเทศ กว่า 3 แสนครัวเรือน

รัฐบาลได้มีนโยบายที่จะแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยของผู้มีรายได้น้อย และสร้างความมั่นคงในการอยู่อาศัยแก่คนจนในเมืองที่ ยังไม่มีที่อยู่อาศัยเป็นของตนเอง โดยเฉพาะกลุ่มผู้อยู่อาศัยในชุมชนแออัด

เสียงจากคลองเปรมประชากร…บ้านหลังใหม่ชีวิตใหม่ “คืนสายน้ำให้คนคลอง คืนสายคลองให้คนเมือง”

คลองเปรมประชากร มีประวัติศาสตร์อันยาวนานและมีบทบาทสำคัญในการพัฒนาชุมชนและเศรษฐกิจของกรุงเทพมหานคร ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา คลองนี้ได้ประสบปัญหามากมาย

บอร์ด พอช. มีมติ พักชำระหนี้องค์กรผู้ใช้สินเชื่อในพื้นที่ประสบอุทกภัยทั่วประเทศ

สถานการณ์การเกิดอุทกภัยจากอิทธิพลของพายุยางิ ในระหว่างวันที่ 7 - 8 กันยายน 2567 ส่งผลกระทบต่อประชาชนในจังหวัดเชียงราย จำนวน 7 อำเภอ

รมว.พม. แจ้งตั้งศูนย์พักพิงชั่วคราว 34 แห่ง ใน 13 จว. ช่วยกลุ่มเปราะบาง-ผู้ประสบภัยน้ำท่วมริมแม่น้ำโขง ด้าน พอช. พร้อมอนุมัติงบช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบภัยพิบัติภาคเหนือและอีสาน

จากสถานการณ์น้ำท่วมในหลายพื้นที่ภาคเหนือ ส่งผลกระทบในพื้นที่ 8 จังหวัด 47 อำเภอ 207 ตำบล 22,817 ครัวเรือน โดยเฉพาะในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา