“ชุมชนคือฐานรากของสังคม หากชุมชนเข้มแข็ง ประเทศชาติก็จะมั่นคงแข็งแรง”
นี่คือคำกล่าวที่ไม่เกินจริง ดังที่ นพ.ประเวศ วะสี ปราชญ์ของสังคมไทย เคยกล่าวเอาไว้ในประเด็นการพัฒนาสังคมและประเทศ มีใจความตอนหนึ่งว่า...
“การส่งเสริมความเข้มแข็งเศรษฐกิจฐานราก ได้สร้างจุดเปลี่ยนใหญ่ของประเทศไทยหลายเรื่อง ที่สำคัญคือ การเปลี่ยนทิศทางการพัฒนา จากเดิมเราพัฒนาแต่ข้างบน แต่เมื่อข้างบนไม่มีฐานรองรับก็พังลงๆ เหมือนเจดีย์ที่แข็งแกร่งต้องสร้างบนฐานที่ใหญ่และแข็งแรง ซึ่งฐานรากในที่นี้คือสังคม หากเราสร้างความเข้มแข็งตรงนี้ ประเทศจะมั่นคงและแก้ปัญหาต่างๆ ได้”
สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) หรือ ‘พอช.’ หน่วยงานในสังกัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ได้ยึดแนวทางการพัฒนาสังคมจากฐานรากนับแต่การก่อตั้งสถาบันฯ ในปี 2543 โดยมีเป้าหมายเพื่อส่งเสริมให้ชุมชนท้องถิ่นมีความเข้มแข็งพึ่งพาตนเองได้ ผ่านโครงการและกิจกรรมต่างๆ
โครงการ ‘บ้านมั่นคง’ ของ พอช. สนับสนุนให้ชาวชุมชนที่มีรายได้น้อยทั่วประเทศลุกขึ้นมาแก้ไขปัญหา เพื่อให้ประชาชนมีที่อยู่อาศัยใหม่ที่มั่นคง โดยชุมชนเป็นแกนหลัก ปัจจุบันดำเนินการแล้วกว่า 2 แสนครัวเรือนทั่วประเทศ
เช่น การแก้ไขปัญหาที่ดินและที่อยู่อาศัยตามโครงการ ‘บ้านมั่นคง’ ทั้งในเมืองและชนบท การส่งเสริมอาชีพและรายได้ ส่งเสริมเศรษฐกิจและทุนชุมชน ส่งเสริมการพัฒนาคุณภาพชีวิต การจัดตั้งกองทุนสวัสดิการชุมชน ส่งเสริมการอนุรักษ์และดูแลสิ่งแวดล้อม ส่งเสริมประชาธิปไตยจากฐานราก ในรูปแบบของ’ ‘สภาองค์กรชุมชนตำบล’ ฯลฯ
ระหว่างวันที่ 12-13 กันยายนนี้ สถาบันฯ ร่วมกับเครือข่ายขบวนองค์กรชุมชนทั่วภูมิภาคจัดงาน ‘ตลาดนัดความรู้ชุมชนเข้มแข็ง’ ที่สถาบันฯ ถนนนวมินทร์ เขตบางกะปิ กรุงเทพฯ มีเป้าหมายหลัก เพื่อนำเสนอรูปธรรม ความสำเร็จของเครือข่ายองค์กรชุมชนที่จะนำไปสู่ตำบลนวัตกรรมเข้มแข็ง ชุมชนสามารถพึ่งพาตนเองได้ รวมทั้งเพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ สามารถนำความรู้ไปใช้พัฒนาชุมชนท้องถิ่นต่อไปได้ (ผู้ที่สนใจสามารถติดตามข่าวสารได้ทางเว็บไซต์และเฟซบุ๊ก...สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน หรือ codi.or.th)
และนี่คือตัวอย่างการพัฒนาชุมชนสู่ความเข้มแข็งในด้านต่างๆ จากรูปธรรมตำบลเข้มแข็งหลายพันแห่งทั่วประเทศ !!
‘ชาวกะเหรี่ยงภูเหม็น’ จังหวัดอุทัยธานี จากความขัดแย้งสู่การพัฒนาที่ไม่ทิ้งรากเหง้า
‘พุเม้ยง์’ หรือ ‘ดอกเข้าพรรษา’ มีสีเหลือง เป็นพืชล้มลุกตระกูลขิง ในอดีตจะพบเห็นได้ทั่วไปในชุมชนชาวกะเหรี่ยงแห่งนี้ จึงนำมาตั้งเป็นชื่อหมู่บ้าน แต่คนภายนอกออกเสียงเป็น “ภูเหม็น” และเรียกชื่อตามนั้น ปัจจุบันมีชาวกะเหรี่ยงอยู่อาศัยประมาณ 200 ครัวเรือน ราว 800 คน
ดอก ‘พุเม้ยง์’ หรือ ‘ดอกเข้าพรรษา’
ชุมชนชาวกะเหรี่ยงภูเหม็นซุกซ่อนตัวเองอยู่พงไพร ในตำบลทองหลาง อำเภอห้วยคต จังหวัดอุทัยธานี มีหลักฐานว่าพวกเขาอยู่อาศัยต่อเนื่องกันมานานไม่ต่ำกว่า 150 ปี โดยทางราชการได้แต่งตั้งผู้ใหญ่บ้านคนแรกในปี 2415 (สมัยรัชกาลที่ 5)
แต่กฎหมายที่เดินทางมาถึงทีหลังได้ประกาศเขตพื้นที่ป่าต่างๆ ทับที่อยู่อาศัยและทำกินของชาวภูเหม็นตั้งแต่ปี 2528 ทำให้พวกเขาทำมาหากินลำบาก การปลูกพืชไร่แบบหมุนเวียน การเข้าป่าหาน้ำผึ้งเป็นเรื่องที่ผิดกฎหมาย ชาวกะเหรี่ยงถูกจับกุมในผืนดินที่พวกเขาอยู่อาศัยมาก่อน ความขัดแย้งระหว่างอำนาจรัฐกับชุมชนชาวกะเหรี่ยงจึงดำรงต่อเนื่องมานานปี
ทว่าฟ้ายังมีตา การต่อสู้เพื่อปกป้องสิทธิในที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัยของชาวกะเหรี่ยงภูเหม็นดำเนินไปนานหลายปี โดยมีหน่วยงานต่างๆ ร่วมให้การสนับสนุน จนในที่สุด ในปี 2562 พวกเขาได้รับอนุญาตจากหน่วยงานป่าไม้กันพื้นที่ป่าออกจากเขตอุทยานห้วยคต เนื้อที่ประมาณ 1,000 ไร่เศษ เพื่อให้ชาวกะเหรี่ยงเข้าไปทำมาหากิน ปลูกข้าวไร่ และพืชผักต่างๆ เพื่อเลี้ยงครอบครัวได้
ชาวกะเหรี่ยงมีวิถีชีวิตที่ผูกพันกับป่าและธรรมชาติ
ในช่วงปลายปี 2563 พวกเขาได้ร่วมกันจัดตั้ง ‘เขตคุ้มครองทางวัฒนธรรมกะเหรี่ยง’ ขึ้นมา ตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อ 3 สิงหาคม 2553 เรื่อง ‘แนวนโยบายในการฟื้นฟูวิถีชีวิตชาวกะเหรี่ยง’ (อ่านรายละเอียดได้ใน https://web.codi.or.th/20220201-30740/ เรากะเหรี่ยงบ้านภูเหม็น) เพื่อดำรงวิถีชีวิตของชาวกะเหรี่ยง ทั้งด้านการทำมาหากิน การปลูกข้าวไร่ ทำไร่หมุนเวียน รักษาและสิบทอดประเพณีและวัฒนธรรม ฯลฯ
ลุงอังคาร คลองแห้ง ผู้นำชุมชนกะเหรี่ยงบ้านภูเหม็น อธิบายว่า เขตคุ้มครองทางวัฒนธรรมของชาวกะเหรี่ยงก็คือ การดำรงวิถีชีวิตตามปกติของชาวกะเหรี่ยงนั่นเอง คือ มีการทำไร่หมุนเวียนเพื่อปลูกข้าวและอาหารเอาไว้กิน มีประเพณี มีวัฒนธรรมอย่างไร เราก็ปฏิบัติไปตามนั้น ไม่ใช่เป็นเรื่องใหม่หรือเป็นเรื่องพิเศษแต่อย่างใด แต่ที่ผ่านมาเราไม่ได้ยอมรับในเรื่องสิทธิที่ดินที่พวกเราอยู่มาก่อน เราจึงต้องเรียกร้องเรื่องเขตคุ้มครองทางวัฒนธรรมขึ้นมา และเพื่อให้ลูกหลานได้สืบทอดอยู่อาศัยและทำกินต่อไป
ฟ้าหลังฝนย่อมสดใสเสมอ ปัจจุบันชาวกะเหรี่ยงบ้านภูเหม็นได้ร่วมกันพัฒนาชุมชนด้านต่างๆ โดยการสนับสนุนของหน่วยงานต่างๆ และสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ เช่น พัฒนาแหล่งน้ำ ประปาภูเขา สร้างฝายชะลอน้ำ กำหนดเขตห้ามจับปลาในลำห้วย สร้างพื้นที่สีเขียว ปลูกไม้ยืนต้น สนับสนุนเศรษฐกิจชุมชน เปิดตลาดกะเหรี่ยง ขายสินค้าพืชไร่ ผ้าทอ ส่งเสริมด้านวัฒนธรรม โรงเรียนสอนภาษากะเหรี่ยง พิพิธภัณฑ์ชุมชน ฯลฯ
เด็กๆ ช่วยกันทำฝายชะลอน้ำและเขตอนุรักษ์พันธุ์สัตว์น้ำ
ลุงอังคารบอกว่า ชาวกะเหรี่ยงบ้านภูเหม็นได้รับการสั่งสอนต่อๆ กันมา ให้ดูแลรักษา ‘ดิน น้ำ ป่า’ เพราะ ดิน คือชีวิต ไม่มีดินก็ไม่มีข้าว ไม่มีข้าวก็ไม่มีชีวิต เหมือนร่างกายคนเราที่ต้องมีเนื้อ มีหนัง มีกระดูก น้ำ คือ เลือดหล่อเลี้ยงร่างกาย เป็นเลือดพ่อเลือดแม่ ทำให้เรามีชีวิต และ ป่า คือ พลังหรือจิตวิญญาณ
“ดิน น้ำ ป่า ต้องพึ่งพาอาศัยกัน เป็นวิถีชีวิตของชาวกะเหรี่ยง หากขาดอะไรไป คนกะเหรี่ยงก็อยู่ไม่ได้ เราจึงต้องรักษาดินน้ำป่าเอาไว้”
ชาวกะเหรี่ยงภูเหม็นจัดตั้งเขตคุ้มครองทางวัฒนธรรมในช่วงปลายปี 2563
‘แพะเงินล้าน’ ที่จังหวัดชัยนาท
ชัยนาท เป็นจังหวัดหนึ่งที่เกษตรกรนิยมเลี้ยงแพะเนื้อ โดยเฉพาะที่อำเภอสรรคบุรี เนื่องจากเป็นสัตว์ที่เลี้ยงง่าย ต้นทุนการเลี้ยงไม่สูง สามารถเลี้ยงแบบปล่อยให้แพะหาหญ้ากินเอง หรือเลี้ยงแบบปิดในโรงเรือนเพื่อความสะดวกในการดูแล ใช้เวลาเลี้ยงเพียง 4 เดือนก็ขายได้ จะมีพ่อค้ามารับซื้อถึงที่ ราคาแพะเป็นทั้งตัวไม่ต่ำกว่ากิโลกรัมละ 105-120 บาท นอกจากนี้มูลแพะยังขายได้ โดยนำมาทำปุ๋ยอินทรีย์ ช่วยบำรุงพืชให้งดงาม โตไว
แพะพันธุ์เนื้อเลี้ยงในฟาร์ม
ขณะเดียวกันการพัฒนาชุมชนในจังหวัดชัยนาทขับเคลื่อนโดย ‘ขบวนองค์กรชุมชนจังหวัดชัยนาท’ ซึ่งเป็นองค์กรภาคประชาชน ร่วมกับสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ และภาคีเครือข่าย สนับสนุนส่งเสริมชุมชนผ่านกิจกรรมและโครงการต่างๆ เช่น การจัดสวัสดิการชุมชน โดยการจัดตั้ง ‘กองทุนสวัสดิการชุมชน’ ในตำบลต่างๆ ขึ้นมา เพื่อช่วยเหลือสมาชิกตั้งแต่เกิดจนถึงตาย จัดตั้ง ‘สภาองค์กรชุมชนตำบล’ เพื่อเป็นเวทีแก้ไขปัญหาและพัฒนาชุมชนในด้านต่างๆ ฯลฯ
ในปี 2563 หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) เข้ามาจัดทำโครงการวิจัยเพื่อพัฒนาพื้นที่เพื่อแก้ไขปัญหาความยากจนที่ตำบลโพงาม อ.สรรคบุรี โดยสนับสนุนให้ชุมชนสำรวจข้อมูลต่างๆ เพื่อนำมาวิเคราะห์และนำไปสู่แก้ไขปัญหา เพราะโพงามเป็นตำบลที่ชาวบ้านมีปัญหาความยากจนมากที่สุดในอำเภอสรรคบุรี แกนนำในตำบลและชาวบ้านได้เข้าร่วมการวิจัยดังกล่าว
พงศ์รัตน์ ยันบัวเงิน ประธานวิสาหกิจชุมชนกลุ่มพัฒนาอาชีพตำบลโพงาม อ.สรรคบุรี บอกว่า นอกจากเลี้ยงแพะแล้ว ชาวบ้านในตำบลส่วนใหญ่มีอาชีพทำนา แต่มีรายได้น้อย เพราะมีต้นทุนค่าปุ๋ยเคมีสูง และมีฟางข้าวเหลือจากการทำนา ส่วนการเลี้ยงแพะมีปัญหาเรื่องกลิ่นจากมูลแพะ การวิจัยดังกล่าวจึงนำไปสู่การแก้ไขปัญหาในตำบล โดยคุยกับสมาชิกกลุ่มวิสาหกิจฯ เรื่องการเอามูลแพะมาทำปุ๋ยเพื่อลดต้นทุนการทำนา ใส่แปลงผักสวนครัว รวมทั้งทำปุ๋ยขายเพื่อเป็นอาชีพเสริม
การเลี้ยงแพะในโรงเรือนจะยกพื้นสูง มูลแพะจะกวาดลงพื้นด้านล่างนำไปทำปุ๋ย
กลางปี 2564 กลุ่มวิสาหกิจฯ จึงเริ่มทำปุ๋ยจากมูลแพะ โดยติดต่อขอซื้อมูลแพะแห้งจากฟาร์มในตำบล ราคากระสอบละ 8 บาท (กระสอบละ 15-20 กก.) แพะ 1 ตัวจะถ่ายมูลออกมาประมาณวันละ 4 กก. หากฟาร์มไหนเลี้ยงแพะ 100 ตัว วันหนึ่งๆ จะได้มูลแพะประมาณ 400 กก. ในอำเภอสรรคบุรีมีคนเลี้ยงแพะกว่า 100 ราย เลี้ยงแบบฟาร์มปิดและไล่ต้อน แต่มูลแพะที่เอามาทำปุ๋ยจะเอามาจากฟาร์ม เพราะเก็บได้ง่าย เอามาทำปุ๋ยได้ตลอดปี
ส่วนวิธีการผลิตปุ๋ยมูลแพะนั้น กลุ่มได้รับความรู้มาจากมหาวิทยาลัยแม่โจ้ จังหวัดเชียงใหม่ เป็นสูตรปุ๋ยหมักไม่กลับกอง หรือ ‘วิศวกรรมแม่โจ้ 1’ อัตราส่วน 1 ต่อ 4 ส่วน (มูลแพะ 1 เข่ง ฟางก้อน 4 เข่ง) กลุ่มจะผลิตครั้งหนึ่งจำนวนกว่า 1 ตัน โดยนำมูลแพะจำนวน 1,500 กก.มาหมักกับฟาง 500 ก้อน นำมาวางกองบนลานสลับกันเป็นชั้นๆ รดน้ำทั้งภายในและภายนอกกองฟาง ใช้เวลา 3 เดือน มูลแพะและฟางภายในกองจะย่อยสลายกลายเป็นปุ๋ย นำมากองให้แห้ง แล้วนำมาร่อนเพื่อเอาสิ่งเจือปนออก ขั้นตอนสุดท้ายคือนำมาบรรจุถุงหรือนำมาทำปุ๋ยอัดเม็ดนำไปใช้หรือจำหน่ายได้
มูลแพะที่ผลิตเป็นปุ๋ยเม็ดแล้วพร้อมบรรจุถุง
มีผลิตภัณฑ์หลัก คือ 1.วัสดุปรับปรุงคุณภาพดินคุณภาพสูง สูตรแม่โจ้ 1 (ปุ๋ยมูลแพะ) สำหรับปลูกผัก ต้นไม้ ทำให้ดินร่วน รากเดินดี พืชเจริญเติบโตไว บรรจุถุงละ 1 กก. ราคา 79 บาท จำหน่ายในเฟซบุ๊กและห้างสรรพสินค้าในกรุงเทพฯ 2.ชุดพร้อมปลูก มีเมล็ดพันธุ์ผัก ปุ๋ยมูลแพะผสมดิน กระถางใยมะพร้าว ชุดละ 129 บาท และ 3.มูลแพะบรรจุถุง กก. ละ 30 บาท จำหน่ายให้แก่สมาชิก เกษตรกรทั่วไป ชาวไร่ ชาวนา เพื่อลดการใช้ปุ๋ยเคมี
“กลุ่มวิสาหกิจของเรามีสมาชิก 112 คน เราให้สมาชิกลงหุ้นๆ ละ 100 บาท คนหนึ่งไม่เกิน 10 หุ้น เพื่อเอามาเป็นทุนในการผลิตปุ๋ย ตอนนี้มีเงินกองทุนประมาณ 1 แสนบาท เวลาทำปุ๋ยเราจะนัดให้สมาชิกมาช่วยกันทำ ครั้งหนึ่งประมาณ 10 คน มีค่าแรงให้คนละ 200-300 บาทต่อวัน ตามสภาพงาน เช่น รวบรวมมูลแพะจากฟาร์ม ทำกองปุ๋ย รดน้ำปุ๋ย ร่อนปุ๋ย บรรจุปุ๋ยใส่ถุง ” ประธานกลุ่มฯ บอก
ช่วยให้สมาชิกมีรายได้เสริม เกษตรกรลดต้นทุนการผลิต เพราะปุ๋ยมูลแพะราคาถูกกว่าปุ๋ยเคมี กก.ละ 10 บาท นอกจากนี้กลุ่มวิสาหกิจฯ มีแผนจะปลูกผักอินทรีย์จำหน่าย โดยใช้ปุ๋ยมูลแพะที่มีอยู่แล้ว
ถือเป็นนวัตกรรมชุมชนที่สามารถนำฟางข้าวที่เหลือจากการทำนา และมูลแพะที่มีปัญหาส่งกลิ่นรบกวนมาสร้างอาชีพ สร้างมูลค่าได้ !!
สมาชิกกลุ่มอาชีพตำบลโพงามผลิตปุ๋ยมูลแพะและชุดผักพร้อมปลูก
เรื่องและภาพ : สำนักพัฒนานวัตกรรมชุมชนจัดการความรู้และสื่อสาร สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน)
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
สุราษฎร์ธานี จัดงานวันที่อยู่อาศัยโลกปี67 ย้ำชุมชนต้องเป็นแกนหลักในการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยคนจน
UN – HABITAT หรือ ‘โครงการตั้งถิ่นฐานมนุษย์แห่งสหประชาชาติ’ กำหนดให้วันจันทร์แรกของเดือนตุลาคมทุกปีเป็น ‘วันที่อยู่อาศัยโลก’ หรือ ‘World Habitat Day’
รวมพลังคนจนแก้ปัญหาที่ดิน-ที่อยู่อาศัยทั่วประเทศ วันที่อยู่อาศัยโลก ปี 2567
ปัญหาการขาดแคลนที่อยู่อาศัยหรือมีที่อยู่อาศัยไม่เหมาะสมเป็นปัญหาที่สำคัญของผู้คนทั่วโลก UN-Habitat หรือ ‘โครงการตั้งถิ่นฐานมนุษย์แห่งสหประชาชาติ’
‘21 ปีบ้านมั่นคง’ พอช. แก้ปัญหาที่อยู่อาศัยคนจนทั่วประเทศ กว่า 3 แสนครัวเรือน
รัฐบาลได้มีนโยบายที่จะแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยของผู้มีรายได้น้อย และสร้างความมั่นคงในการอยู่อาศัยแก่คนจนในเมืองที่ ยังไม่มีที่อยู่อาศัยเป็นของตนเอง โดยเฉพาะกลุ่มผู้อยู่อาศัยในชุมชนแออัด
เสียงจากคลองเปรมประชากร…บ้านหลังใหม่ชีวิตใหม่ “คืนสายน้ำให้คนคลอง คืนสายคลองให้คนเมือง”
คลองเปรมประชากร มีประวัติศาสตร์อันยาวนานและมีบทบาทสำคัญในการพัฒนาชุมชนและเศรษฐกิจของกรุงเทพมหานคร ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา คลองนี้ได้ประสบปัญหามากมาย
บอร์ด พอช. มีมติ พักชำระหนี้องค์กรผู้ใช้สินเชื่อในพื้นที่ประสบอุทกภัยทั่วประเทศ
สถานการณ์การเกิดอุทกภัยจากอิทธิพลของพายุยางิ ในระหว่างวันที่ 7 - 8 กันยายน 2567 ส่งผลกระทบต่อประชาชนในจังหวัดเชียงราย จำนวน 7 อำเภอ
รมว.พม. แจ้งตั้งศูนย์พักพิงชั่วคราว 34 แห่ง ใน 13 จว. ช่วยกลุ่มเปราะบาง-ผู้ประสบภัยน้ำท่วมริมแม่น้ำโขง ด้าน พอช. พร้อมอนุมัติงบช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบภัยพิบัติภาคเหนือและอีสาน
จากสถานการณ์น้ำท่วมในหลายพื้นที่ภาคเหนือ ส่งผลกระทบในพื้นที่ 8 จังหวัด 47 อำเภอ 207 ตำบล 22,817 ครัวเรือน โดยเฉพาะในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา