เรื่องเล่า (เหล้า) “17 ปี มหาวิทยาลัยบ้านนอก” บ้านจำรุง จ.ระยอง ฝ่าวิกฤตโควิด-19 ฟื้น ‘ตลาดในสวน’ สร้างเศรษฐกิจชุมชน

ผู้มาศึกษาดูงานที่มหาวิทยาลัยบ้านนอกรับฟังความรู้ในห้องบรรยาย

รถพาชมสวนผลไม้และแหล่งความรู้ต่างๆ

มหาวิทยาลัยบ้านนอก’ ตั้งอยู่ที่บ้านจำรุง  ตำบลเนินฆ้อ  อำเภอแกลง  จังหวัดระยอง  เป็นแหล่งเรียนรู้วิถีชีวิตเกษตรแบบพึ่งพาตนเอง  ถือกำเนิดแบบไม่เป็นทางการตั้งแต่ปี  2547  ปัจจุบันมหาวิทยาลัยบ้านนอกมีอายุ 17 ปี  แม้ไม่มีหน่วยราชการใดมารองรับ  ไม่มีผู้จบการศึกษาในระบบเหมือนกับมหาวิทยาลัยทั่วไป  แต่มหาวิทยาลัยแห่งนี้ก็มีผู้คนทั่วไป   ทุกเพศ  วัย  มาศึกษาเรียนรู้แล้วไม่ต่ำกว่า 1 ล้านคน...

ถือเป็นมหาวิทยาลัยชีวิต  เป็นมหาวิทยาลัยเปิด  หรือเป็นตลาดความรู้ที่แท้จริง  !!

พัฒนาชุมชนที่เริ่มจากวงเล่า (เหล้า)

ชาติชาย  เหลืองเจริญ  วัย 60 ปี  ผู้นำแห่งบ้านจำรุง  ต.เนินฆ้อ  อ.แกลง  หรือที่คนรู้จักเรียกกันติดปากว่า ผู้ใหญ่ตี๋  เล่าว่า  บ้านจำรุงสมัยก่อนยังมีการทำนา  ยังใช้ควายไถนา  แต่ต่อมาเริ่มใช้ควายเหล็ก  เพราะสะดวกกว่า  ไถนาได้เร็วกว่า  ควายตัวสุดท้ายของบ้านจำรุงถูกขายไปเมื่อปี 2519  ที่นาจึงถูกปรับเป็นสวนยางพารา  เป็นสวนผลไม้  ต้องใช้ปุ๋ยเคมี  สารเคมีมาบำรุงสวน

ส่วนการพัฒนาชุมชนนั้น  บ้านจำรุงเริ่มมีการพัฒนาชุมชนตั้งแต่ปี 2529  โดยมีหน่วยราชการต่างๆ เข้ามาส่งเสริม  เช่น  พัฒนาชุมชน  แต่ชาวบ้านก็ยังไม่มีทิศทาง  หรือยังไม่รู้ว่าจะพัฒนาชุมชนไปในแนวทางไหน  ยังคงทำมาหากินไปตามปกติ  อาชีพหลักของชาวบ้านจำรุงก็คือทำสวนยางพารา  สวนผลไม้  ใช้ปุ๋ยเคมี  สารเคมี  หวังจะให้ได้ผลผลิตเยอะๆ  ขายได้เงินมากๆ  

ชาติชาย  เหลืองเจริญ

“ผมเรียนจบมัธยมศึกษาตอนปลาย  จบแล้วก็ไม่ได้ไปทำงานที่ไหน  อยู่ที่บ้านจำรุงมาตลอด  ตอนนั้นยังรุ่นหนุ่ม  เข้ามาช่วยงานในชุมชนเพราะพวกผู้ใหญ่ไม่ถนัดเรื่องการเขียนการอ่าน  ผมก็มาช่วยเรื่องนี้  มาช่วยจด  ช่วยบันทึกเวลามีประชุมหรือมีงานต่างๆ  ช่วงหลังวิกฤตเศรษฐกิจฟองสบู่แตกในปี 2540  มีโครงการฟื้นฟูชุมชนทั่วประเทศ  เช่น  โครงการ SIF บ้านจำรุงก็ได้เรียนรู้งานพัฒนาชุมชนมากขึ้น”  ชาติชายเล่าถึงก้าวแรกในการเข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาหมู่บ้าน  (โครงการ SIF หรือ Social  Investment Found คือ กองทุนเพื่อการลงทุนทางสังคม  โดยรัฐบาลสนับสนุนชุมชนทั่วประเทศให้จัดทำโครงการฟื้นฟูเศรษฐกิจชุมชนขึ้นมาในช่วงปี 2541-2544) 

จากวิกฤตเศรษฐกิจที่มีผลกระทบมาจากการลดค่าเงินบาทของรัฐบาลในปี 2540  ทำให้ธนาคาร  สถาบันการเงินและบริษัทที่กู้เงินจากต่างประเทศต้องมีหนี้สินเพิ่มขึ้นจนถึงขั้นล้มละลาย  ส่งผลกระทบต่อธุรกิจต่างๆ  ทำให้มีการปิดกิจการ  ปิดโรงงาน  ผู้คนตกงานกันทั่วประเทศ  พระราชดำรัสของในหลวงรัชกาลที่ 9 จึงถูกนำมาเผยแพร่กันอย่างกว้างขวาง  โดยเฉพาะในเรื่องของการพึ่งพาตนเอง   เพราะหากพึ่งทุนจากภายนอกมากเกินไป  ชุมชนและประเทศก็อาจล่มสลายได้ดังวิกฤตเศรษฐกิจที่เกิดขึ้น

ที่บ้านจำรุงก็ได้รับผลกระทบเช่นกัน  เพราะจังหวัดระยองอยู่ในพื้นที่พัฒนาชายฝั่งทะเลตะวันออก  หรือ Eastern Seaboard  มีการพัฒนาพื้นที่  มีโครงการก่อสร้างต่างๆ  เช่น  คอนโดมิเนียม  รีสอร์ท  สนามกอล์ฟ   ผุดขึ้นมาราวดอกเห็ดในหน้าฝน   เมื่อเกิดวิกฤตทำให้ธุรกิจในระยองที่กำลังรุ่งเรืองเฟื่องฟูต้องมีสภาพเหมือนฟองสบู่แตก  ส่งผลกระทบเป็นลูกโซ่  ไม่เว้นแม้แต่บ้านจำรุง  หมู่บ้านเล็กๆ ที่มีประมาณ 200 ครัวเรือน  ประชากรไม่ถึง 1,000 คน

ชาติชายเล่าว่า  จากวิกฤตเศรษฐกิจในปี 2540  และพระราชดำรัสของในหลวงรัชกาลที่ 9  เรื่องการพึ่งพาตนเอง   ทำให้แกนนำชุมชนบ้านจำรุงหันกลับมามองตัวเอง  เพราะที่ผ่านมาชาวบ้านส่วนใหญ่แม้จะอยู่ใกล้ทะเล  แต่ก็ต้องซื้อกะปิ  ซื้อน้ำปลา  ซื้ออาหาร  ขนม  ข้าวสาร  ปุ๋ย  ฯลฯ  จากภายนอกเข้ามากินเข้ามาใช้  จึงเริ่มมีแนวคิดในการรวมกลุ่มแปรรูปอาหารและผลิตของใช้ต่างๆ ขึ้นเอง 

แต่กว่าจะเป็นรูปเป็นร่างก็ต้องผ่านการถกเถียง  พูดคุยกันยาวนาน   ราวปี 2543 จากการระดมความคิดจึงนำมาสู่การปฏิบัติ  และพัฒนามาเป็นศูนย์สาธิตการตลาด  กลุ่มแปรรูปผลผลิต  กองทุนยา  ฯลฯ  ประมาณ 10 กิจกรรม  รวมทั้งการจัดทำโครงการเพื่อเสนอรับการสนับสนุนจาก SIF เช่น  การจัดทำฐานข้อมูลชุมชน  การทำบัญชีครัวเรือน  ฯลฯ  เพื่อนำมาวางแผนพัฒนาและแก้ไขปัญหา   ถือเป็นการวางรากฐานการพัฒนาชุมชนอย่างเป็นระบบ  โดยใช้ประโยชน์จากฐานข้อมูลชุมชน

ยางพารา เมื่อก่อนเป็นอาชีพที่เคยทำรายได้ให้กับชาวบ้าน  ปัจจุบันเป็นอาชีพรองจากสวนผลไม้

ในช่วงกลางปี 2545  จากกลุ่มแปรรูปผลผลิตที่เริ่มเมื่อ 2 ปีก่อน  ได้ต่อยอดมาเป็น กลุ่มพัฒนาอาชีพบ้านจำรุง  มีสมาชิก 40 คน  มีเงินทุนเริ่มต้น  5,000 บาท  เพื่อแปรรูปอาหาร  เช่น  ทุเรียนทอด  ขนุนทอด ซื้อข้าวสารมาบรรจุถุงขาย  เอาปลามาหมักทำน้ำปลา  ทำกะปิ   เศษปลาเอามาทำปุ๋ยหมักชีวภาพ  ฯลฯ  ตอนแรกก็ทำใช้เองก่อน  ช่วยให้ประหยัดรายจ่าย            

“เวทีพูดคุยของเราก็มาจากวงเหล้า  วงข้าว  วงกาแฟ  เรามีกองทุนดูแลผู้นำ  เราก็เอาเงินมาซื้อของพวกนี้  เช้ากินกาแฟพูดคุยกัน  ใครหิวก็กินข้าว  ตอนเย็นมีเหล้า  มีโซดา  น้ำแข็งพร้อม  คุยกันไปกินกันไป  เป็นวิถีแบบบ้านนอก  ถกเถียงเรื่องสังคม  เรื่องส่วนรวม  ไม่พูดเรื่องส่วนตัว  แต่ถ้าใครกินแล้วงอแง  ตอนหลังก็จะไม่ให้ร่วมวง  แต่ส่วนใหญ่แล้วเรากินกันแบบผู้ใหญ่  กินกันไม่มาก  ไม่เมามาย  ความคิดดีๆ  ความคิดที่หลากหลายก็ออกมาจากวงเหล้า  หลายๆ  เรื่องก็นำมาใช้จนถึงวันนี้”  ชาติชายบอกถึงการใช้เหล้าเป็นเครื่องมือในการพัฒนาชุมชน

กำเนิดมหาวิทยาลัยบ้านนอก

ความคิดดีๆ ที่ออกมาจากวงพูดคุยดังกล่าว  ยังดำเนินมาต่อเนื่อง  ในช่วงนี้วงพูดคุยเริ่มมองเห็นผลกระทบจากการพัฒนาประเทศ  ซึ่งทำให้ทรัพยากรธรรมชาติถูกทำลายมากขึ้น   กลุ่มแกนนำบ้านจำรุงจึงมีแนวคิดในการฟื้นฟูชุมชนท้องถิ่น  โดยมีแนวคิดพื้นฐานสำคัญ 4 ด้านคือ  1.ฟื้นฟูคน-ความคิด  2.ฟื้นฟูดิน  เพราะชาวบ้านจำรุงส่วนใหญ่มีอาชีพทำสวนยางพารา  สวนผลไม้  ทุเรียน  มังคุด  เงาะ  ลองกอง  สละ ฯลฯ  3.ฟื้นฟูแหล่งน้ำในการทำเกษตร  และ 4.ฟื้นฟูป่า  โดยในช่วงนี้สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ หรือ ‘พอช.’  ได้ส่งเจ้าหน้าที่เข้ามาส่งเสริมแนวคิดการสร้างความเข้มแข็งให้แก่ชุมชนแล้ว

ผลไม้  โดยเฉพาะทุเรียนทำรายได้หลักให้แก่ชาวสวนบ้านจำรุง

“ช่วงปี 2547  เราทำเรื่องการฟื้นฟูชุมชนท้องถิ่น  ทำ 4 เรื่องหลัก  คือ  คน  ดิน  น้ำ  และป่า  พอทำๆ ไป  เริ่มเห็นผล  เริ่มมีคนมาศึกษาดูงาน  มาเรียนรู้  เราจึงจัดตั้งเป็นศูนย์การเรียนรู้  พอมีคนมาถามว่าศูนย์เรียนรู้ที่นี่ชื่อว่าอะไร  เราจึงคิดถึงเรื่องมหาวิทยาลัย  แต่เป็นมหาวิทยาลัยแบบชาวบ้าน  เป็นมหาวิทยาลัยแบบบ้านนอก  จึงตั้งชื่อว่า ‘มหาวิทยาลัยบ้านนอก’ จึงเริ่มใช้ชื่อนี้ตั้งแต่นั้นมา”  ชาติชายบอกถึงความเป็นมาของมหาวิทยาลัยบ้านนอกที่เริ่มในปี 2547

 ลุงสำเริง  ดีนาน  วัย 64  ปี  ประธานศูนย์เรียนรู้เกษตรธรรมชาติ  มหาวิทยาลัยบ้านนอก  ผู้ร่วมวงเหล้าเพื่อการพัฒนา  เล่าเสริมว่า  ก่อนจะเป็นศูนย์การเรียนรู้เกษตรธรรมชาติแบบวันนี้  เมื่อประมาณ 30 ปีก่อน  ลุงได้รับการถ่ายทอดการทำเกษตรแบบธรรมชาติ  ไม่ใช่สารเคมี  มาจากยายอุทัย  หรือ ‘ยายทัย’  ซึ่งเป็นเกษตรกรรุ่นเก่าในหมู่บ้าน  ยายทัยจะทำเกษตร  ปลูกผลไม้  ปลูกผักต่างๆ เอาไว้กินแบบคนโบราณ  ทำปุ๋ยหมักเอาไว้ใช้เอง  ไม่ต้องเสียเงินซื้อ  ไม่ทำลายดิน  ไม่ทำลายแหล่งน้ำเพราะสารเคมีไหลลงไปสะสม  จึงเอาความคิดนี้มาพูดคุยกันในวงเหล้า  และขยายผลจนกลายเป็นศูนย์การเรียนรู้เกษตรธรรมชาติในวันนี้

ลุงสำเริง  ดีนาน

“ที่สำคัญก็คือ  เราได้นำเอาแนวทางการพึ่งพาตัวเอง  หรือแนวคิดแบบเกษตรพอเพียงของในหลวงรัชกาลที่ 9  มาเป็นแนวทาง  ผลิตเพื่อกิน  ที่เหลือจึงขาย  เน้นเรื่องความสุขมากกว่าเป้าหมายเรื่องเงิน  แม้ว่าผลผลิตของเราจะไม่สวย  ขนาดไม่ได้มาตรฐาน  แต่ก็กินอร่อย  ปลอดภัย  ไม่ว่าจะเป็นมังคุด  ทุเรียน  ลูกไหนไม่สวย  เราก็เอามาแปรรูป  และใช้วิธีปลูกครั้งเดียวกินได้ตลอด  เช่น  ข่า  จะมีหัวอยู่ใต้ดิน  พอหน้าแล้งต้นจะแห้ง  แต่พอถึงหน้าฝนก็จะแตกใบขึ้นมาอีก  นอกจากนี้เรายังมีผักพื้นบ้านต่างๆ  ปลูกเอาไว้ไม่ต้องซื้อกิน  พอมาทำเรื่องท่องเที่ยวชุมชน  เราก็เอาผักพวกนี้มาให้นักท่องเที่ยวกิน  มีน้ำพริกกะปิ  มีปลาทู  มีอาหารพื้นบ้านต่างๆ  คนที่ปลูกก็มีรายได้  กระจายกันไป”  ลุงสำเริงบอก

ชาติชาย  เล่าต่อว่า  พอถึงช่วงปี 2550-2551 พอช. และขบวนองค์กรชุมชนได้ร่วมกันผลักดัน ‘พระราชบัญญัติสภาองค์กรชุมชน พ.ศ.2551’ ขึ้นมา  เพื่อส่งเสริมการรวมกลุ่มการพัฒนาชุมชนในระดับตำบลทั่วประเทศ   โดยให้กลุ่ม  องค์กรต่างๆ ในตำบลรวมตัวจัดตั้งสภาองค์กรชุมชนตำบลขึ้นมา  ซึ่ง  ‘มหาวิทยาลัยบ้านนอก’ ก็ได้เข้าร่วมจัดตั้ง ‘สภาองค์กรชุมชนตำบลเนินฆ้อ’ ขึ้นมาด้วย  เพราะมีกฎหมายหรือ พ.ร.บ.รองรับ มิใช่เป็น ‘มหาวิทยาลัยเถื่อน’ แต่เป็นศูนย์เรียนรู้การพึ่งพาตนเองที่ผู้คนทั่วไป  ทุกเพศ  วัย  จากทั่วประเทศอยากมาศึกษาเรียนรู้

 ‘17 ปี  มหาวิทยาลัยบ้านนอก’  และก้าวเดินต่อไปข้างหน้า...

กล่าวได้ว่า  นับแต่มีการจัดตั้งมหาวิทยาลัยบ้านนอกหรือศูนย์เรียนรู้การพึ่งพาตนเองบ้านจำรุงในปี 2547  มหาวิทยาลัยแห่งนี้ได้เติบโตขึ้นเป็นลำดับ  จากกลุ่มแปรรูปผลผลิตต่างๆ  ขยายต่อยอดไปสู่องค์ความรู้ใหม่ๆ  ที่นำมาใช้จริง  เช่น  การทำปุ๋ยหมัก  น้ำหมักชีวภาพ  เผาถ่านใช้เอง  น้ำส้มควันไม้ใช้ไล่แมลง  บำรุงพืช  ธนาคารชุมชน  ธนาคารต้นไม้  ธนาคารขยะ-การจัดการสิ่งแวดล้อม  กลุ่มทำสวนยาง  เกษตรพื้นบ้าน  กลุ่มเลี้ยงตะพาบน้ำ  ตลาดชุมชน-ตลาดสีเขียว  กลุ่มโฮมสเตย์  ฯลฯ  รวมแล้วประมาณ  40 กิจกรรม 

ผู้มาศึกษาดูงานร่วมปล่อยสัตว์น้ำลงสู่ป่าชายเลน

ประกอบกับมีสื่อมวลชนนำเรื่องราวของมหาวิทยาลัยบ้านนอกไปเผยแพร่  เช่น  หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ   เดลินิวส์   มติชน  ฯลฯ  สื่อทีวีต่างๆ ยิ่งทำให้ผู้คนจากทั่วประเทศอยากมาศึกษาเรียนรู้มากขึ้น  เพราะวิถีชีวิตแบบนี้แม้ว่าจะเป็นเรื่องพื้นๆ บ้านๆ  เช่น  การทำปุ๋ย  การเผาถ่าน  ตีมีด  ทำน้ำส้มควันไม้  กรีดยาง  ทำว่าว  ทำกะปิ  น้ำปลา  ทำขนมครก  ฯลฯ  แต่คนในเมือง  คนรุ่นใหม่ไม่เคยเห็น  ไม่เคยทำ  จึงสร้างความตื่นตาตื่นใจ  และยิ่งเมื่อได้มากินผลไม้สดๆ ไร้สารเคมี  กินอาหารพื้นบ้านที่รสชาติเข้มข้น  อร่อยแบบ ‘เชลล์ไม่ต้องมาชิม  แม่ช้อยไม่ต้องมารำ’  ชื่อเสียงของมหาวิทยาลัยบ้านนอกจึงเริ่มเป็นที่รู้จักกันมากขึ้น

นอกจากนี้ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภาฯ (พระองค์ภา) เคยเสด็จมาศึกษาความรู้ต่างๆ  ที่มหาวิทยาลัยบ้านนอกในปี 2553  จึงทำให้มหาวิทยาลัยแห่งนี้เป็นที่กระหายใคร่รู้ของผู้คนทั่วไป   ไม่ว่าจะเป็นนักเรียน   ตั้งแต่ระดับอนุบาล  จนถึงมัธยม  นักศึกษา  นักวิชาการ  ครู  อาจารย์  นักธุรกิจ  ผู้นำชุมชน  พนักงานบริษัท  กลุ่มและองค์กรต่างๆ

“ก่อนช่วงโควิด-19  มหาวิทยาลัยบ้านนอก  มีผู้คนจากทั่วประเทศมาศึกษาดูงาน  ประมาณปีละ 8-9  หมื่นคน  บางปีถึง 1 แสนคน  มาแล้วเราก็มีอาหารต้อนรับ  เป็นอาหารแบบบ้านๆ  มีน้ำพริกกะปิที่อร่อยที่สุด  มีผักสดจากริมรั้ว  ผักที่เราปลูกเอง  เช่น  ดอกอัญชัญ  ถั่วฝักยาว  มะเขือเปราะ  ผักกูด  กินกับปลาทู  ส้มตำ  ผัดเผ็ด  ต้มยำไก่  เป็นอาหารพื้นบ้าน  แต่อร่อย  เพราะเป็นอาหารจากธรรมชาติ  อิ่มแล้วก็นั่งรถดูแหล่งเรียนรู้ต่างๆ  ถ้าเป็นฤดูผลไม้ก็ไปเที่ยวชมสวนทุเรียน  สวนมังคุด  เงาะ  ลองกอง  ขากลับก็ซื้อกะปิ  น้ำปลา  ผลไม้แปรรูป  ปลาเค็ม  ปลาแห้งกลับไป  ทำให้ชุมชนมีรายได้ปีละหลายล้านบาท”  ชาติชายบอกและว่า  นับถึงปัจจุบันเป็นเวลา 17  ปี  มหาวิทยาลัยบ้านนอกได้เปิดประตูต้อนรับผู้มาศึกษาไปแล้วไม่ต่ำกว่า 1   ล้านคน 

อาหารแบบบ้านๆ แต่อร่อยเหาะ

หากคำนวณแบบหยาบๆ  ปีหนึ่งมีคนมาเที่ยวหรือศึกษาดูงานที่มหาวิทยาลัยบ้านนอกประมาณ  70,000 คน  แต่ละคนกินอาหารหรือจับจ่ายซื้อของฝากติดไม้ติดมือกลับบ้านคนละประมาณ 200 บาท  จะทำให้มีรายได้ไหลเข้าชุมชนประมาณปีละ 14 ล้านบาท  รายได้เหล่านี้กระจายไปยังชาวบ้านที่นำพืชผักมาขายให้กลุ่มแม่บ้านที่ร่วมกันทำอาหารรองรับผู้มาเยือน  ผู้ที่มาพักแบบโฮมสเตย์  กลุ่มแปรรูปอาหาร  ทำกะปิ  น้ำปลา  ผลไม้สด  ทุเรียนกวน  ทุเรียนทอด  มังคุดกวน  ของที่ระลึก  เสื้อยืด  ร้านกาแฟ  ฯลฯ 

รายได้เหล่านี้ส่วนหนึ่งชาวบ้านได้นำมาลงหุ้นซื้อที่ดินเพื่อสร้างเป็นศูนย์เรียนรู้  สร้างธนาคารต้นไม้   ฯลฯ  บนเนื้อที่ประมาณ 5 ไร่  สร้างความร่มรื่น  อากาศเย็นสบาย   เพราะเต็มไปด้วยไม้ใหญ่น้อยนับหมื่นๆ ต้น  มีสมุนไพรต่างๆ  ผักพื้นบ้าน  ไม้เศรษฐกิจ  เช่น  ยางนา  พะยูง  มะฮอกกานี   ไม้ไผ่  ฯลฯ  เป็นการปลูกตามแนวพระราชดำริของในหลวงรัชกาลที่ 9  ที่ทรงแนะนำให้ปลูกไม้  3 อย่าง  มีประโยชน์  4 อย่าง  มูลค่าที่ซื้อมาประมาณ 5 ล้านบาท   ปัจจุบันราคาดีดขึ้นไปเกือบ 1 เท่าตัว

กระนั้นก็ตาม  การมาเยือนของโควิด-19 นับแต่ต้นปี 2563 จนถึงปัจจุบัน  เป็นเวลาเกือบ 2 ปี  ทำให้มหาวิทยาลัยบ้านนอกต้องปิดตัวเอง  เพื่อป้องกันการแพร่เชื้อ  ทำให้รายได้ที่ชาวบ้านจำรุงและมหาวิทยาลัยบ้านนอกเคยได้รับต้องหดหายไปด้วย  แต่นั่นไม่ใช่ปัญหาใหญ่   เพราะชาวบ้านยังมีรายได้ที่มาจากสวนผลไม้  สวนยางพารา  ฯลฯ  แม้ว่ารายได้จะลดน้อยลงไปก็ตาม  แต่พวกเขายังมีทุนปัญญา   ทุนทรัพย์สิน  มีที่ดินผืนงาม ที่ลงหุ้นซื้อร่วมกัน  มีกองทุนต่างๆ  เอาไว้ช่วยเหลือกัน  เช่น  กองทุนสวัสดิการชุมชน  ธนาคารชุมชนเอาไว้หยิบยืมในยามเดือดร้อน  และที่สำคัญยังมีพลังใจที่จะร่วมกันพัฒนาชุมชนต่อไป

ชาติชายนำชมธนาคารต้นไม้

17 ปีที่ผ่านมา  เราสร้างมหาวิทยาลัยบ้านนอกให้เป็นแหล่งเรียนรู้  และทำให้แนวคิดของเราแข็งแรง  นั่นคือ ‘พึ่งพาตนเองเป็นหลัก  พึ่งข้างนอกให้น้อย’  เป็นหลักการของในหลวงรัชกาลที่ 9 ที่เราทำมาตลอด  และยึดหลักการทำงาน  5 อย่าง  คือ 1.การผลิตด้วยตัวเอง  2.การแปรรูป  3.มีตลาดสีเขียวรองรับ  4.การท่องเที่ยวเสริม  และ 5.การสื่อสารเรื่องราวของชุมชนของเราออกไปสู่ข้างนอก  ทำให้คนรู้จักและทำให้มหาวิทยาลัยบ้านนอกเติบโต  แม้จะช้า  แต่ก็มั่นคง”  ชาติชายบอกถึงแนวคิดและแนวปฏิบัติในช่วง 17 ปีที่ผ่านมา

ส่วนทิศทางข้างหน้านั้น  เขาบอกว่า ขณะนี้ (เดือนพฤศจิกายน)  หลังประเทศปลดล็อกแล้ว  มหาวิทยาลัยบ้านนอกเตรียมจะที่กลับมาเปิดเป็นแหล่งเรียนรู้อีกครั้งแต่ในช่วงแรกก็จะต้อนรับคนได้ไม่มาก  ประมาณครั้งละไม่เกิน 200 คน  เพื่อไม่ให้เกิดความแออัด  เสี่ยงต่อการแพร่เชื้อ  นอกจากนี้ยังเตรียมพลิกฟื้นตลาดสีเขียวขึ้นมา  แต่จะปรับปรุงให้เป็น ‘ตลาดในสวน’  ใช้พื้นที่ในสวนหรือธนาคารต้นไม้ที่ร่มรื่น  อากาศเย็นสบาย  ให้คนที่มาศึกษาดูงานได้เดินเล่น  พักผ่อน  มีอาหารสด  อาหารแปรรูป  ผลไม้  ของฝาก  ของที่ระลึกให้เลือกซื้อ  ฯลฯ

“ส่วนการพัฒนาชุมชนต่อไปนั้น  เราก็จะทำต่อไป  แต่จะไม่ทำแบบเดิม  ไม่เน้นกลุ่มใหญ่  กลุ่มละ 30-40 คน  แต่จะทำเป็นกลุ่มเล็กๆ ตามกิจกรรม  อาจจะกลุ่มละ 3 – 5 คน  ยังไม่ทิ้งเรื่องการรวมกลุ่ม  เพราะการรวมกลุ่มเป็นหัวใจของการพัฒนา  และเราได้สร้างคนรุ่นใหม่ๆ ขึ้นมาแทนคนรุ่นเก่า  เหมือนกับสร้างไม้ค้ำยัน  พอไม้เก่าผุ  ก็ยังมีไม้ใหม่มาแทน  ถ้าหมดคนรุ่นเก่าก็มีคนอื่นมาทำงาน  และทำกันเป็นทีม  ไม่ยึดติดกับตัวบุคคล”  ชาติชายบอก  และขยายความด้วยว่า  ในยุคการสื่อสารออนไลน์นี้  มหาวิทยาลัยบ้านนอกในนามสภาองค์กรชุมชนตำบลเนินฆ้อก็ยังจัดประชุมแบบตัวเป็นๆ ทุกวันที่ 5 ของเดือน  เพื่อให้สมาชิกได้มาพบปะพูดคุยกัน  หากมีเรื่องราวข่าวสารอื่นๆ  ก็ใช้ช่องทางไลน์ส่งข่าวถึงกัน  มีสมาชิกประมาณ 60 คน

ส่วน ลุงสำเริง  ดีนาน  ให้แง่คิดสำหรับชุมชนอื่นๆ ที่อยากจะทำศูนย์เรียนรู้หรือส่งเสริมเรื่องการท่องเที่ยวชุมชนว่า  “ต้องเชื่อมั่นในวิถีชุมชน  และเชื่อว่าทุกชุมชนต้องมีของดี  ชุมชนบ้านจำรุง ‘เรามองไกล  แต่เราทำใกล้’  คือทำเรื่องใกล้ตัว  ทำเรื่องอาหาร  ผักพื้นบ้าน  ทำเรื่องบ้านๆ  แต่ทำให้ดีที่สุด  ต้องมีความเอื้อเฟื้อ  แบ่งปันกัน  รวมตัวกัน  คุยกันบ่อยๆ  ว่าจะทำอะไรดี”

ทั้งหมดนี้คือประสบการณ์และก้าวย่างในวัย 17 ปีของมหาวิทยาลัยบ้านนอก  บ้านจำรุง  ซึ่งมีแง่คิดดีๆ ให้ศึกษาและเรียนรู้ได้โดยไม่มีวันสิ้นสุด  โดยเฉพาะคำพูดของลุงสำเริงที่บอกว่า “เรามองไกล  แต่ทำใกล้” ถือเป็นปรัชญาหรือแก่นแท้ของมหาวิทยาลัยบ้านนอกที่มีคุณค่ายิ่ง !!

(หมายเหตุ : ติดต่อศึกษาดูงานได้ที่เฟสบุคส์มหาวิทยาลัยบ้านนอก)

ส่วนหนึ่งของผู้มาศึกษาดูงานก่อนช่วงโควิด  เฉลี่ยปีละ 70,000 คน

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

สุราษฎร์ธานี จัดงานวันที่อยู่อาศัยโลกปี67 ย้ำชุมชนต้องเป็นแกนหลักในการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยคนจน

UN – HABITAT หรือ ‘โครงการตั้งถิ่นฐานมนุษย์แห่งสหประชาชาติ’ กำหนดให้วันจันทร์แรกของเดือนตุลาคมทุกปีเป็น ‘วันที่อยู่อาศัยโลก’ หรือ ‘World Habitat Day’

รวมพลังคนจนแก้ปัญหาที่ดิน-ที่อยู่อาศัยทั่วประเทศ วันที่อยู่อาศัยโลก ปี 2567

ปัญหาการขาดแคลนที่อยู่อาศัยหรือมีที่อยู่อาศัยไม่เหมาะสมเป็นปัญหาที่สำคัญของผู้คนทั่วโลก UN-Habitat หรือ ‘โครงการตั้งถิ่นฐานมนุษย์แห่งสหประชาชาติ’

‘21 ปีบ้านมั่นคง’ พอช. แก้ปัญหาที่อยู่อาศัยคนจนทั่วประเทศ กว่า 3 แสนครัวเรือน

รัฐบาลได้มีนโยบายที่จะแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยของผู้มีรายได้น้อย และสร้างความมั่นคงในการอยู่อาศัยแก่คนจนในเมืองที่ ยังไม่มีที่อยู่อาศัยเป็นของตนเอง โดยเฉพาะกลุ่มผู้อยู่อาศัยในชุมชนแออัด

เสียงจากคลองเปรมประชากร…บ้านหลังใหม่ชีวิตใหม่ “คืนสายน้ำให้คนคลอง คืนสายคลองให้คนเมือง”

คลองเปรมประชากร มีประวัติศาสตร์อันยาวนานและมีบทบาทสำคัญในการพัฒนาชุมชนและเศรษฐกิจของกรุงเทพมหานคร ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา คลองนี้ได้ประสบปัญหามากมาย

บอร์ด พอช. มีมติ พักชำระหนี้องค์กรผู้ใช้สินเชื่อในพื้นที่ประสบอุทกภัยทั่วประเทศ

สถานการณ์การเกิดอุทกภัยจากอิทธิพลของพายุยางิ ในระหว่างวันที่ 7 - 8 กันยายน 2567 ส่งผลกระทบต่อประชาชนในจังหวัดเชียงราย จำนวน 7 อำเภอ

รมว.พม. แจ้งตั้งศูนย์พักพิงชั่วคราว 34 แห่ง ใน 13 จว. ช่วยกลุ่มเปราะบาง-ผู้ประสบภัยน้ำท่วมริมแม่น้ำโขง ด้าน พอช. พร้อมอนุมัติงบช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบภัยพิบัติภาคเหนือและอีสาน

จากสถานการณ์น้ำท่วมในหลายพื้นที่ภาคเหนือ ส่งผลกระทบในพื้นที่ 8 จังหวัด 47 อำเภอ 207 ตำบล 22,817 ครัวเรือน โดยเฉพาะในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา