ภูเก็ต / ภาคประชาชนจัดงาน 'สมัชชาสวัสดิการชุมชนจังหวัดภูเก็ตครั้งที่ 13' มีเป้าหมายเพื่อขับเคลื่อนกองทุนสวัสดิการชุมชนในจังหวัดให้ก้าวไปสู่ 'กองทุนสวัสดิการชุมชนยุคใหม่ ใส่ใจธรรมาภิบาล ก้าวสู่การบริหารจัดการที่ยั่งยืน' เผยภูเก็ตจัดตั้งกองทุนสวัสดิการฯ แล้ว 18 กองทุน มีสมาชิกรวมกันกว่า 16,600 คน เงินกองทุนสะสมกว่า 85 ล้านบาท ช่วยเหลือสมาชิกไปแล้ว 45 ล้านบาท ด้าน ‘อภิสิทธิ์’ อดีตนายกฯ แนะรัฐปลดล็อกสมทบเงินเข้ากองทุนสวัสดิการได้มากกว่า 3 รอบ ส่วนกองทุนทั่วประเทศต้องปรับปรุงให้เข้มแข็งเพื่อเป็นที่พึ่งของสังคม
วันนี้ (26 สิงหาคม) ระหว่างเวลา 9.00-16.00 น. เครือข่ายสวัสดิการชุมชนจังหวัดภูเก็ต จัดงาน 'สมัชชาสวัสดิการชุมชนจังหวัดภูเก็ตครั้งที่ 13' ที่โรงแรมโบ้ทลากูน เพื่อทบทวนการทำงานในรอบ 1 ปีที่ผ่านมา และกำหนดทิศทางในการขับเคลื่อนกองทุนสวัสดิการชุมชนในจังหวัดภูเก็ตให้ก้าวไปสู่เป้าหมาย 'กองทุนสวัสดิการชุมชนยุคใหม่ ใส่ใจธรรมาภิบาล ก้าวสู่การบริหารจัดการที่ยั่งยืน'
โดยมีนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี เป็นประธานในพิธี มีนายณรงค์ วุ่นซิ้ว ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต นายเรวัต อารีรอบ นายก.อบจ.ภูเก็ต นายกฤษดา สมประสงค์ ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) นายอนุกูล ปีดแก้ว อธิบดีกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ พร้อมด้วยผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และสมาชิกเครือข่ายสวัสดิการชุมชนในจังหวัดภูเก็ตเข้าร่วมงานประมาณ 500 คน ทั้งนี้นายอนุกูล อธิบดีกรมพัฒนาสังคมฯ ได้มอบทุนสนับสนุนครอบครัวผู้ด้อยโอกาสในชุมชนต่างๆ จำนวน 100 ทุนๆ ละ 3,000 บาท รวมเป็นเงิน 300,000 บาท
นายอนุกูล อธิบดีกรมพัฒนาสังคมฯ มอบทุนสนับสนุนครอบครัวผู้ด้อยโอกาส
17 ปีจัดตั้งกองทุนสวัสดิการชุมชนทั่วประเทศแล้ว 5,509 กองทุน
กองทุนสวัสดิการชุมชนเริ่มจัดตั้งอย่างเป็นทางการในปี 2548 โดยกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ และสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ สนับสนุนให้ประชาชนรวมตัวกันจัดตั้งกองทุนสวัสดิการชุมชนในระดับตำบลหรือเทศบาลขึ้นมาทั่วประเทศ มีกองทุนสวัสดิการชุมชนนำร่องทั่วประเทศจำนวน 99 กองทุนในปีนั้น มีหลักการสำคัญ คือ สมาชิกจะต้องสมทบเงินเข้ากองทุนวันละ 1 บาท หรือปีละ 365 บาท เพื่อเป็นกองทุนดูแลช่วยเหลือสมาชิกในยามที่เดือดร้อนจำเป็น เจ็บป่วย หรือเสียชีวิต
ในปี 2553 รัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ มีนโยบายสนับสนุนกองทุนสวัสดิการชุมชน โดยรัฐบาลได้สมทบงบประมาณผ่านสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ เข้าสู่กองทุนสวัสดิการชุมชนทั่วประเทศ รวมทั้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) สามารถสมทบงบประมาณเข้ากองทุนได้เช่นกัน ในอัตรากองทุน 1 ส่วน : รัฐบาล 1 ส่วน : อปท. 1 ส่วน เพื่อให้กองทุนเติบโต ช่วยเหลือสมาชิกได้อย่างทั่วถึง
นับแต่ก่อตั้งกองทุนสวัสดิการชุมชนในปี 2548 จนถึงปัจจุบันเป็นระยะเวลา 17 ปี มีการจัดตั้งกองทุนสวัสดิการชุมชนในระดับตำบล/เทศบาลทั่วประเทศ จำนวน 5,509 กองทุน สมาชิกรวม 6,166,928 คน เงินกองทุนสะสมรวมกัน 19,148,079,027 บาท (เฉลี่ยมีเงินกองทุนละ 3.7 ล้านบาทเศษ)
ภูเก็ตจัดตั้งแล้ว 18 กองทุน มีเงินสะสมกว่า 85 ล้านบาท
นางวารุณี สกุลรัตนธารา ประธานเครือข่ายสวัสดิการชุมชนจังหวัดภุเก็ต กล่าวรายงานว่า การจัดงาน 'สมัชชาสวัสดิการชุมชนจังหวัดภูเก็ตครั้งที่ 13' มีเป้าหมายเพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้การจัดระบบสวัสดิการชุมชน การสร้างธรรมาภิบาลในการบริหารจัดการกองทุน เสริมสร้างความเข้มแข็ง ความสามัคคี และบรูณาการความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ ภาคธุรกิจเอกชน และชุมชน นำไปสู่การขับเคลื่อนกองทุนสวัสดิการชุมชนในจังหวัดภูเก็ตให้ก้าวไปสู่เป้าหมาย 'กองทุนสวัสดิการชุมชนยุคใหม่ ใส่ใจธรรมาภิบาล ก้าวสู่การบริหารจัดการที่ยั่งยืน'
สมาชิกเครือข่ายกองทุนสวัสดิการชุมชนในจังหวัดภูเก็ตเข้าร่วมงานประมาณ 500 คน
โดยในจังหวัดภูเก็ตจัดตั้งกองทุนสวัสดิการฯ แล้ว 18 กองทุน ในพื้นที่ 3 อำเภอ คือ อำเภอเมือง ถลาง และกะทู้ มีสมาชิกรวมกันกว่า 16,652 คน เงินกองทุนสะสมกว่า 85.7 ล้านบาท (ในจำนวนนี้เป็นเงินสมทบจากสมาชิก 41 ล้านบาท อปท. 20 ล้านบาท พอช.และรัฐบาล 17 ล้านบาท) ช่วยเหลือสมาชิกไปแล้ว จำนวน 26,395 คน จำนวนเงินช่วยเหลือรวมกัน 45.1 ล้านบาทเศษ
‘อภิสิทธิ์’ แนะปรับปรุงกองทุนให้เข้มแข็งเป็นที่พึ่งของสังคม
นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี กล่าวปาฐถกาพิเศษเรื่อง “การขับเคลื่อนสวัสดิการชุมชนนำไปสู่ความเข้มแข็งและยั่งยืน” มีใจความสำคัญตอนหนึ่งว่า การขับเคลื่อนกองทุนสวัสดิการชุมชนให้เข้มแข็งเป็นที่พึ่งของสังคมได้นั้น ตนมีข้อแนะนำดังนี้ 1.เรื่องการผลักดันให้มีกฎหมายส่งเสริมระบบสวัสดิการชุมชนนั้น พวกเราคิดว่ากฎหมายจะมาช่วยส่งเสริมสนับสนุน แต่เอาเข้าจริงแล้วกฎหมายอาจจะมาควบคุมการทำงานก็ได้ หรือเมื่อมีกฎหมายแล้วก็ต้องมาแก้ไขใหม่
“ตอนนี้อายุที่เหลือของสภาผู้แทนราษฎรชุดนี้ อาจจะไม่ทันผ่านกฎหมายฉบับนี้ ดังนั้นจึงมีเวลาที่จะทำกฏหมายฉบับนี้ให้ดี และเมื่อเรามีกฎหมายแล้ว ควรจะนำไปเสนอต่อพรรคการเมืองเพื่อให้เป็นสัญญาประชาคมว่า พรรคการเมืองจะต้องทำตามสัญญาที่ให้ไว้” อดีตนายกฯ เสนอความเห็น
2.สมัยเป็นรัฐบาล ตนได้ผลักดันให้รัฐบาลสมทบงบประมาณเข้ากองทุนสวัสดิการชุมชนในอัตรากองทุนสมทบ 1 บาท รัฐบาลสมทบ 1 บาท และไม่ได้จำกัดว่าจะสมทบเงินเข้ากองทุนเพียง 3 ปี พอปีที่ 4 จะไม่สมทบ แต่ที่ผ่านมารัฐบาล โดยสำนักงบประมาณต้องการประหยัดงบ จึงสมทบเงินเข้ากองทุนเพียง 3 ปี ตนจึงขอเสนอให้ปลดล็อก โดยให้รัฐบาลสนับสนุนกองทุนสวัสดิการ โดยสมทบเงินเข้ากองทุนได้ตลอดช่วงอายุการเป็นสมาชิก
3.นอกจากรัฐบาลจะสมทบเงินเข้ากองทุนสวัสดิการชุมชนแล้ว องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ได้ร่วมสมทบเงินเข้ากองทุนด้วย ในอัตรากองทุน 1 ส่วน รัฐบาล 1 ส่วน และ อปท. 1 ส่วน แต่เท่าที่ทราบมีเพียง อปท.เพียงครึ่งหนึ่งของ อปท.ทั่วประเทศเท่านั้นที่ร่วมสมทบ ดังนั้นหากมีการจัดทำกฎหมายส่งเสริมระบบสวัสดิการชุมชน จะต้องให้ อปท.ร่วมสมทบด้วย
และ 4.หากมีมาตรการลดหย่อนภาษีให้ภาคเอกชน หรือวิสาหกิจเพื่อสังคมที่ต้องการสนับสนุนกองทุนสวัสดิการชุมชน จะทำให้มีภาคเอกชนเข้ามาสนับสนุนกองทุนสวัสดิการชุมชนมากขึ้น
ในช่วงท้ายนายอภิสิทธิ์กล่าวว่า การเลือกตั้งครั้งหน้าตนเชื่อว่า พรรคการเมืองต่างๆ จะเสนอนโยบายเรื่องบำนาญประชาชนและเรื่องสวัสดิการ เพราะต่อไปข้างหน้าปัญหาเรื่องความเหลื่อมล้ำทางสังคมจะเพิ่มมากขึ้น ความเสี่ยงเรื่องอาชีพและรายได้ของประชาชนจะมีมากขึ้น
“ดังนั้นกองทุนสวัสดิการชุมชนจึงไม่ใช่เป็นแค่กองเงิน แต่จะเป็นทุนทางสังคม และเป็นที่พึ่งของสังคม แต่เราจะต้องช่วยกันปรับปรุงกองทุนให้เข้มแข็ง มีประสิทธิภาพ เพื่อเป็นความหวังของสังคมไทย” นายอภิสิทธิ์กล่าวในตอนท้าย
แนวทางการขับเคลื่อนสวัสดิการแนวใหม่
นายกฤษดา สมประสงค์ ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ กล่าวว่า สวัสดิการชุมชนเป็นเรื่องที่ชุมชนทำเอง โดยชุมชนลุกขึ้นมารวมตัวกัน นำเงินมาสมทบร่วมกัน และเมื่อชุมชนทำไปแล้ว รัฐเห็นดีจึงนำเงินมาร่วมสมทบ ถือเป็นภูมิคุ้มกันของชุมชน และต่อมา อปท.จึงร่วมสมทบด้วย เป็นสวัสดิการ 3 ขา แต่ภายหลังมีหน่วยงานรัฐมาตรวจสอบ เพราะมีเงินของรัฐ ของท้องถิ่นมาสมทบ เช่น สตง. แต่เรื่องที่ประชาชนทำเป็นเรื่องที่สุจริตอยู่แล้ว เพราะเป็นเงินของประชาชนเอง
นายกฤษดา ผอ.สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ (กลาง)
“สิ่งที่ตนอยากฝากเรื่องธรรมาภิบาลของกองทุนสวัสดิการชุมชน คือ ให้ยึดหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของในหลวงรัชกาลที่ 9 ซึ่งเป็นทางรอดของประชาชนชาวไทย และเป็นสิ่งที่กองทุนสวัสดิการนำมาเป็นหลักปฏิบัติอยู่แล้ว เช่น ความพอประมาณ ความมีเหตุผล ซื่อสัตย์สุจริต มีศีลธรรม ถ้าเรายึดมั่นสิ่งเหล่านี้ ความเป็นธรรมาภิบาลก็เกิดขึ้นแล้ว ไม่ต้องเอาหลักกฎหมายมาจับ และทำไม่ซ้ำซ้อนกับหน่วยงานรัฐ เติมเต็มในสิ่งที่รัฐยังขาด เช่น การดูแลคนป่วย และต้องทำงานให้เปิดเผย โปร่งใส ทั้งกรรมการและสมาชิก และต้องดูแลกองทุนสวัสดิการที่โตขึ้น ดูแลพี่น้องให้ครอบคลุมทั่วถึง ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะเป็นภูมิคุ้มกันตัวเอง” ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ ยกตัวอย่าง
นอกจากนี้นายกฤษดายังกล่าวถึงประเด็นการส่งเสริมให้กองทุนสวัสดิการชุมชนทั่วประเทศเติบโตด้วยว่า การปลดล็อกเรื่องการสมทบเงินเข้ากองทุนสวัสดิการชุมชนจากรัฐให้สมทบได้มากกว่า 3 รอบนั้น ขณะนี้กรรมการสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ ได้เห็นชอบและจะทำเรื่องเพื่อเสนอต่อสำนักงบประมาณต่อไป รวมทั้งเรื่องการพูดคุยกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กระทรวงการคลัง เรื่องการลดหย่อนภาษีของภาคธุรกิจเอกชนให้มาสนับสนุนกองทุน หากสามารถนำไปลดหย่อนภาษีได้ จะเป็นเม็ดเงินมหาศาล เช่น นักธุรกิจที่มาลงทุนที่ภูเก็ตก็จะคืนกำไรให้แก่สังคมด้วยการสมทบเงินเข้ากองทุนสวัสดิการ ซึ่งจะทำให้กองทุนเติบโต สามารถช่วยเหลือดูแลคนพิการ เด็ก และคนเปราะบางในสังคมได้อีกมาก
นายแก้ว สังข์ชู
นายแก้ว สังข์ชู ประธานอนุกรรมการสวัสดิการชุมชนระดับชาติ กล่าวถึงการส่งเสริมกองทุนสวัสดิการชุมชนแนวใหม่ว่า ตนมีแนวคิดเรื่องการสมทบเงินของสมาชิกเข้ากองทุนสวัสดิการชุมชน ซึ่งแต่เดิมสมาชิกจะต้องสมทบเป็นเงินวันละ 1 บาท หรือปีละ 365 บาทว่า ต่อไปสมาชิกที่มีรายได้น้อยอาจจะไม่ต้องสมทบเป็นเงินก็ได้ แต่สมทบโดยการทำความดี เช่น การปลูกต้นไม้ในชุมชนแทนการสมทบเงินเข้ากองทุนสวัสดิการ จำนวน 20 ต้น คือต้นไม้จะเป็นของสมาชิก 15 ต้น ของกองทุนสวัสดิการ 5 ต้น
“เมื่อต้นไม้โตขึ้นมา สมาชิกก็จะสามารถนำต้นไม้มาใช้ประโยชน์หรือขายเป็นรายได้ เป็นสวัสดิการให้ตัวเองและครอบครัว ส่วนกองทุนก็จะมีต้นไม้ สามารถนำไปใช้ประโยชน์ หรือถ้ากองทุนใดมีต้นไม้เยอะก็สามารถนำมาทำเรื่องคาร์บอนเครดิตลดโลกร้อน ซึ่งจะมีรายได้จากหน่วยงานรัฐเรื่องการทำคาร์บอนเครดิตมาดูแลกองทุน ส่วนกองทุนในชุมชนเมืองอาจจะทำความดีเรื่องการจัดการขยะ การเก็บขยะ แทนการสมทบเงินเข้ากองทุน รัฐก็ไม่ต้องเสียค่าจัดเก็บขยะ ซึ่งเป็นทิศทางใหม่ที่เราจะส่งเสริมกองทุนสวัสดิการชุมชนทั่วประเทศในปี 2566 นี้” นายแก้วกล่าว
รูปธรรมสวัสดิการชุมชนที่ตำบลป่าคลอกและราไวย์
ชุมชนในเขตเทศบาลตำบลป่าคลอก อำเภอถลาง ส่วนใหญ่เป็นชุมชนมุสลิม มีอาชีพประมงพื้นบ้าน ทำสวนยาง ค้าขาย รับจ้างทั่วไป เริ่มจัดตั้งกองทุนสวัสดิการชุมชนในปี 2549 โดยให้สมาชิกสมทบเงินเป็นรายเดือน ราย 6 เดือน หรือรายปีตามความสะดวก ในอัตราคนละ 365 บาท/ปี ปัจจุบันมีสมาชิกจำนวน 1,633 คน มีเงินกองทุนประมาณ 9,700,000 บาท
มีสวัสดิการช่วยเหลือสมาชิก เช่น คลอดบุตร 500 บาท แม่นอนโรงพยาบาลคืนละ 100-200 บาท เสียชีวิตช่วยเหลือตั้งแต่ 2,500-10,000 บาท (ตามอายุการเป็นสมาชิก) นอกจากนี้ยังมีสวัสดิการด้านอื่นๆ เช่น สมทบช่วยเหลือสมาชิกที่จะไปประกอบพิธีฮัจญ์ที่ประเทศซาอุดิอาระเบีย ฯลฯ
กองทุนสวัสดิการชุมชนตำบลราไวย์ อำเภอเมือง ก่อตั้งในปี 2550 ให้สมาชิกสมทบเป็นรายปีๆ ละ 365 บาท ปัจจุบันมีสมาชิกประมาณ 1,900 คน (ในจำนวนนี้เป็นกลุ่มชาติพันธุ์ชาวเลประมาณ 100 คน) มีเงินกองทุนประมาณ 2,800,000 บาท มีสวัสดิการ เช่น เกิด ช่วยเหลือ 2,000 บาท เจ็บป่วยตั้งแต่ 1,000-6,000 บาท เสียชีวิต 5,000-25,000 บาท เกิดไฟไหม้ภัยพิบัติ ช่วยเหลือตามจริง ไม่เกิน 10,000 บาท นอกจากนี้ในช่วงโควิดตั้งแต่ปี 2563 ช่วยเหลือสมาชิกที่เจ็บป่วยโควิด รวมเป็นเงินประมาณ 700,000 บาท ฯลฯ
นายอภิสิทธิ์มอบโล่ให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่ให้การสนับสนุนกองทุนสวัสดิการชุมชน
เรื่องและภาพ : สำนักพัฒนานวัตกรรมชุมชนจัดการความรู้และสื่อสาร สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน)
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
'ทักษิณ' ยอมรับแล้ว! ดอดพบ 'อันวาร์' บนเรือยอชต์กลางทะเล
นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีกระแสข่าวสะพัดขึ้นเรือยอชต์จาก จ.ภูเก็ต ไปเกาะหลีเป๊ะ จ.สตูล เพื่อพูดคุยกับนายอันวาร์ อิบราฮิม
รวมพลังคนจนเมืองทั่วประเทศ เปลี่ยนสลัม สู่บ้านมั่นคง บ้านแห่งศักดิ์ศรีที่ทุกคนร่วมสร้าง!
เมื่อความฝันของคนจนไม่บ้านกลายเป็นพลังที่ยิ่งใหญ่ วันนี้พร้อมที่จะก้าวข้ามขีดจำกัด เปลี่ยนแปลงสลัมให้เป็น "บ้านมั่นคง" ที่เต็มไปด้วยศักดิ์ศรีและคุณค่าของความเป็นมนุษย์
จับ 'หนุ่มออสเตรีย' ขับเจ็ตสกี ชนนักท่องเที่ยวรัสเซียดับ
เมื่อเวลา 21.30 น. วันที่ 19 ธันวาคมที่ผ่านมา สภ.กะรน เปิดเผยว่า สืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 17 ธ.ค. 2567 เวลาประมาณ 19.00 น. สถานีตำรวจภูธรกะรน
ประกาศผล 8 กองทุน เข้ารับรางวัลองค์กรสวัสดิการชุมชนดีเด่น ศาสตราจารย์ ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ประจำปี พ.ศ. 2567
สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน(องค์การมหารชน) หรือ พอช. ร่วมกับ คณะทำงานพิจารณารางวัลองค์กรสวัสดิการชุมชนประจำปี 2567 จัดเวทีพิจารณา รางวัลองค์กรสวัสดิการชุมชน