ส่วนหนึ่งของกลุ่มผู้หญิงตำบลบึงสามัคคีที่ช่วยกันทำธุรกิจข้าวสารชุมชน
“มือก็ไกว ดาบก็แกว่ง” เป็นสำนวนที่ฉายภาพให้เห็นภาระและหน้าที่ของผู้หญิงในอดีต ในยามที่บ้านเมืองมีศึกสงคราม ได้ชัดเจน ทว่าในยุคปัจจุบันเป็นสงครามเศรษฐกิจ แต่บทบาทของผู้หญิงในสังคมไทยก็มิได้ลดน้อยลงแต่อย่างใด โดยเฉพาะในชนบท
และหากเปรียบเทียบครอบครัวเป็นรัฐบาล พวกเธอก็ต้องควบหลายตำแหน่ง เป็นทั้งรัฐมนตรีเกษตร ดูแลการผลิตในไร่นา เป็นรัฐมนตรีเศรษฐกิจและการคลังที่ต้องดูแลการใช้จ่ายในครอบครัว เป็นรัฐมนตรีสาธารณสุข ดูแลครอบครัวยามเจ็บไข้ได้ป่วย และ (เป็น อสม.) ดูแลสุขภาพของเพื่อนบ้าน ฯลฯ
ดังตัวอย่างผู้หญิงที่ตำบลบึงสามัคคี อ.บึงสามัคคี จ.กำแพงเพชร นอกจากจะบริหารและ ‘ว่าการ’ กระทรวงต่างๆ ดังกล่าวแล้ว พวกเธอยังควบตำแหน่งรัฐมนตรีมหาดไทยและกระทรวงการพัฒนาสังคมฯ ที่ต้องบำบัดทุกข์ บำรุงสุข ดูแลชุมชนให้เกิดความเข้มแข็ง พึ่งพาตัวเอง ช่วยเหลือเกื้อกูลกัน รวมทั้งยังเป็น ‘รัฐมนตรีพาณิชย์’ ที่ต้องทำมาค้าขายด้วย !!
สวัสดิการชุมชนช่วยสมาชิก ‘ตั้งแต่เกิด-ตาย’
ตำบลบึงสามัคคี อ.บึงสามัคคี จ.กำแพงเพชร มี 12 หมู่บ้าน ประชากรประมาณ 4,800 คน ส่วนใหญ่มีอาชีพทำไร่อ้อย ปลูกข้าว ข้าวโพด มะม่วง เลี้ยงสัตว์ หมู วัว ไก่ และรับจ้างทั่วไป
ด้านการพัฒนาชุมชน กลุ่มแกนนำในตำบลได้ร่วมกันจัดตั้ง ‘กองทุนสวัสดิการชุมชนตำบลบึงสามัคคี’ ขึ้นมาในปี 2550 โดยสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) หรือ ‘พอช.’ สนับสนุนให้ชาวบ้านรวมตัวกันจัดตั้งกองทุนในระดับตำบลหรือเทศบาลขึ้นมาทั่วประเทศ เพื่อเป็นกองทุนช่วยเหลือสมาชิกในยามเดือดร้อนจำเป็น สมาชิกจะต้องสมทบเงินวันละ 1 บาทหรือปีละ 365 บาทเพื่อเป็นเงินกองทุน มีสมาชิกเริ่มแรกประมาณ 130 คน แต่การดำเนินการในช่วงแรกไม่ค่อยประสบผลสำเร็จ ในปี 2554 จึงมีการเปลี่ยนคณะกรรมการกองทุนชุดใหม่
ปานรดา คล้ายสุบรรณ
ปานรดา คล้ายสุบรรณ รองประธานกองทุนสวัสดิการชุมชนตำบลบึงสามัคคี อาชีพปลูกอ้อย บอกว่า คณะกรรมการชุดใหม่มีทั้งหมด 36 คน ส่วนใหญ่เป็นผู้หญิง มาจากตัวแทนชาวบ้านหมู่ละ 2 คน (12 หมู่บ้าน รวม 24 คน) และมีที่ปรึกษาซึ่งเป็นผู้ทรงคุณวุฒิหรือผู้นำที่ชาวบ้านในตำบลให้ความเชื่อถืออีกจำนวนหนึ่ง
“คณะกรรมการชุดใหม่เกือบทั้งหมดเป็นผู้หญิง มาจากชาวบ้าน ไม่ได้เป็นผู้นำ จึงมีเวลาทำงานให้กองทุนได้เต็มที่ นอกจากนี้กองทุนได้เพิ่มสวัสดิการต่างๆ เพื่อช่วยเหลือสมาชิก และใช้วิธีการประชาสัมพันธ์ต่างๆ เช่น เสียงตามสาย การไปร่วมงานบุญ มอบเงินช่วยเหลือในงานศพ เวลามีการประชุมหมู่บ้านทุกเดือน กรรมการกองทุนในหมู่บ้านก็จะแนะนำ เชิญชวนชาวบ้านให้สมัครเป็นสมาชิก เราช่วยกันประชาสัมพันธ์ทุกวิธี จึงทำให้มีสมาชิกเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ” ปานรดาบอกถึงความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น
ส่วนสวัสดิการช่วยเหลือสมาชิก เช่น คลอดบุตรมอบเงินขวัญถุง 600 บาท เจ็บป่วยนอนโรงพยาบาลช่วยเหลือคืนละ 200 บาท ปีหนึ่งไม่เกิน 10 คืน เด็กนักเรียนเป็นสมาชิกครบ 5 ปีให้ทุนการศึกษา 1,000 บาท สมาชิกอายุครบ 60 ปี เป็นสมาชิกมาแล้วอย่างน้อย 5 ปี จะได้รับเงินบำนาญ 1,200 บาท (เมื่ออายุครบ 65 ปีจะได้รับบำนาญอีกครั้ง) เสียชีวิตช่วยเหลือตั้งแต่ 4,000 – 20,000 บาท ตามอายุการเป็นสมาชิก
แม้ว่าจำนวนเงินช่วยเหลือจะไม่มากนัก แต่ก็เป็นสวัสดิการที่ชาวบ้านไม่เคยได้รับมาก่อน และช่วยเหลือสมาชิกได้ทันท่วงที ไม่มีขั้นตอนยุ่งยาก เพียงนำหลักฐานมาเบิกก็จะได้รับสวัสดิการ ประกอบกับคณะกรรมการกองทุนเป็นชาวบ้านธรรมดาๆ เป็นแม่บ้านที่คลุกคลีอยู่กับเพื่อนบ้านมาตลอด จึงไม่ยากที่จะชักชวนเพื่อนบ้านเข้าเป็นสมาชิก รวมทั้งการบริหารกองทุนที่โปร่งใส กองทุนสวัสดิการชุมชนตำบลบึงสามัคคีจึงเติบโตขึ้นเรื่อยๆ และเป็นที่พึ่งของสมาชิกในยามเดือดร้อนจำเป็น เสมือนเป็นกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ที่คอยดูแลทุกข์สุขของประชาชนในตำบล
กองทุนสวัสดิการชุมชนเป็นเหมือนตาข่ายทางสังคมรองรับผู้เดือดร้อน แต่ละกองทุนอาจจัดสวัสดิการแตกต่างกันไปตามความเหมาะสม บางกองทุนช่วยเหลือผู้เดือดร้อนด้านที่อยู่อาศัย ส่งเสริมอาชีพ หรือทำเรื่องสิ่งแวดล้อม ดูแลป่า ท้องทะเล เป็นแหล่งอาหารหรือสวัสดิการชุมชนระยะยาว
หนุนปลูกข้าว ‘หอมชลสิทธิ์’ เพิ่มผลผลิต
ในปี 2556 คณะกรรมการกองทุนสวัสดิการชุมชนได้ไปศึกษาดูงานตามแหล่งเรียนรู้ต่างๆ เพื่อนำความรู้มาส่งเสริมอาชีพและรายได้ของสมาชิก เช่น เรียนรู้การปลูกข้าวพันธุ์ ‘หอมชลสิทธิ์’ ที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน จ.นครปฐม เป็นข้าวที่มีกลิ่นหอม ให้ผลผลิตสูงประมาณ 900 – 1,000 กิโลกรัม/ไร่ ต้นข้าวทนอยู่ใต้น้ำได้นานถึง 2 สัปดาห์ เหมาะกับภาคกลางที่น้ำท่วมบ่อยๆ และปลูกได้มากกว่าปีละ 1 ครั้ง
ปานรดา รองประธานกองทุนฯ บอกว่า เมื่อกลับจากการศึกษาดูงานแล้ว กองทุนจึงนำเมล็ดพันธุ์ข้าวหอมชลสิทธิ์มาส่งเสริมให้สมาชิกปลูกเพื่อเพิ่มผลผลิต เพราะที่นา 1 ไร่จะได้ข้าวเปลือกประมาณ 900 กก.ต่อไร่ มากกว่าข้าวพันธุ์อื่นที่ชาวบ้านปลูกกันแต่เดิม มีสมาชิกสนใจปลูกประมาณ 20 ราย ที่นารวมกันราว 200 ไร่
“ข้าวหอมชลสิทธิ์ที่กองทุนสวัสดิการฯ ส่งเสริมให้ปลูกนี้ พอเราเริ่มทำธุรกิจข้าวชุมชน เราก็เอาข้าวหอมชลสิทธิ์นี่แหละมาบรรจุถุงขาย เพราะเป็นข้าวที่มีคุณภาพดี มีกลิ่นหอม ราคาถูก มีน้ำตาลน้อย เหมาะกับผู้ที่ต้องดูแลสุขภาพหรือเป็นโรคเบาหวาน” ปานรดาบอกถึงบทบาทของพวกเธอที่เป็นทั้งรัฐมนตรีเกษตรและพาณิชย์
แปลงนาข้าวหอมชลสิทธิ์ที่ปลูกในตำบลบึงสามัคคี
ใช้งานวิจัยชาวบ้านผลิตน้ำดื่มยอดขายเดือนละแสน
ในปี 2561 คณะกรรมการกองทุนฯ มีแนวคิดเรื่องการทำธุรกิจชุมชน จึงไปศึกษาเรียนรู้ที่ตำบลหนองสาหร่าย อ.พนมทวน จ.กาญจนบุรี ซึ่งทำธุรกิจชุมชนหลายอย่างและประสบผลสำเร็จ เช่น น้ำดื่ม มีผลกำไรมาใช้พัฒนาชุมชนโดยไม่ต้องพึ่งหน่วยงานภายนอก
อย่างไรก็ตาม ก่อนจะทำธุรกิจน้ำดื่มชุมชน นายวิรุฬห์ ศิริพันธ์ นายก อบต.บึงสามัคคีในฐานะที่ปรึกษากองทุนสวัสดิการได้จัดทีมลงสำรวจข้อมูลการบริโภคน้ำดื่มในตำบล โดยมีแบบสอบถามความคิดเห็นของชาวบ้าน มีคำถามหลักๆ เช่น “ครอบครัวดื่มน้ำจากไหน....ซื้อน้ำดื่มยี่ห้ออะไร....ราคาเท่าไหร่...ถ้ากองทุนสวัสดิการจะผลิตน้ำดื่มที่สะอาด มีคุณภาพ ได้มาตรฐาน ราคาถูกจะซื้อหรือไม่?” เป็นการวิจัยการตลาดแบบชาวบ้าน...ง่ายๆ แต่ได้ผล
เมื่อได้ข้อมูลมาแล้ว คณะกรรมการกองทุนฯ จึงจัดตั้งโรงงานผลิตน้ำดื่มขึ้นมาในปีนั้น มีคณะกรรมการดำเนินงาน 8 คน (เป็นผู้หญิง 7 คน) ใช้เงินจากกองทุนสวัสดิการลงทุนประมาณ 1.8 ล้านบาท ซื้อเครื่องจักรผลิตน้ำดื่ม กรองน้ำด้วยระบบรีเวอร์สออสโมซิส และฆ่าเชื้อด้วยแสงอุลตร้าไวโอเลต ผ่านการตรวจสอบคุณภาพน้ำดื่ม และได้เครื่องหมาย อย.
ผลิตน้ำดื่มชนิดถังใหญ่ 20 ลิตร วันละ 150 ถัง ราคาขายถังละ 12 บาท ชนิดขวดพลาสติกขนาด 925 มิลลิลิตร วันละ 150 ลัง (ลังละ 20 ขวด) ขายลังละ 25 บาท (ปัจจุบันปรับเป็น 35 บาท) ใช้ชื่อน้ำดื่ม ‘สามัคคี’ ซึ่งมาจากชื่อตำบลบึงสามัคคี และแสดงถึงความสมัครสมานสามัคคีของคนในตำบล
“เราเอาข้อมูลจากการสำรวจความเห็นของชาวบ้านมาใช้ประโยชน์ โดยเฉพาะเรื่องราคาขาย เพราะเรารู้ว่าชาวบ้านส่วนใหญ่ดื่มน้ำชนิดไหน ราคาเท่าไหร่ เราก็ตั้งราคาให้ต่ำกว่า เอากำไรน้อยหน่อย เวลาสมาชิกกองทุนมีงานบุญ งานศพ เราจะเอาน้ำดื่มไปช่วยงาน 20 ถัง เป็นการประชาสัมพันธ์สินค้าไปด้วย บอกชาวบ้านว่า ถ้าซื้อน้ำดื่มของเรา รายได้ก็จะกลับคืนมาที่กองทุน เพื่อเอามาช่วยสวัสดิการสมาชิกต่อไป ธุรกิจน้ำดื่มของเราจึงไปได้ดี”
ปัจจุบันโรงงานผลิตน้ำดื่มมีชาวบ้านช่วยกันผลิต 7 คน มีรายได้คนละ 310 บาท/วัน ด้วยราคาขายที่ถูกกว่าน้ำดื่มทั่วไปประมาณลังละ 10 บาท ทำให้ได้รับความนิยมจากชาวบ้านในตำบล รวมทั้งพื้นที่ข้างเคียง จนต้องซื้อรถยนต์บรรทุก 4 ล้อใหญ่ (ป้ายแดง) เพื่อเอามาส่งน้ำดื่มบริการลูกค้าให้ทั่วถึง มียอดขายประมาณเดือนละ 1 แสนบาท หักต้นทุนแล้วจะเหลือรายได้ประมาณเดือนละ 4 หมื่นบาท แบ่งคืนทุนเข้ากองทุนสวัสดิการ 50 % และเป็นทุนหมุนเวียนผลิตน้ำดื่ม 50 %
โรงงานผลิตน้ำดื่มช่วยสร้างงานในชุมชน
ผลิตข้าวถุง ‘บึงสามัคคี’ ข้าวดีราคาถูก
ในปี 2562 ธุรกิจชุมชนได้ขยายกิจการมาทำข้าวสารบรรจุถุงขาย มีคณะกรรมการรับผิดชอบ 8 คน (เป็นผู้หญิงทั้งหมด) ใช้ชื่อว่า ‘ข้าวหอมบึงสามัคคี’ ได้รับงบสนับสนุนจาก ธ.ก.ส. รับซื้อข้าวเปลือก ‘หอมชลสิทธิ์’ ที่กองทุนสวัสดิการสนับสนุนให้สมาชิกปลูก ตามราคาตลาด แต่กลุ่มจะเพิ่มให้อีกเกวียนละ 300 บาทเพื่อเป็นแรงจูงใจให้สมาชิกปลูก ปีหนึ่งๆ จะรับซื้อข้าวเปลือกประมาณ 100 เกวียน (1 เกวียน = 1,000 กก.)
จากนั้นจะนำข้าวเปลือกไปจ้างโรงสีตากเพื่อเตรียมผลิตเป็นข้าวถุง โรงสีจะคิดค่าตากราคาเกวียนละ 400 บาท แล้วนำข้าวไปเก็บไว้ในโกดัง เมื่อทางกลุ่มต้องการบรรจุถุง โรงสีจะสีข้าวให้โดยไม่คิดค่าสี เพราะโรงสีจะได้รำข้าวและปลายข้าวตอบแทน นำไปขายหรือแปรรูปได้
เมื่อสีเป็นข้าวสารเสร็จแล้ว ทางกลุ่มจะนำข้าวสารมาบรรจุถุงขายเอง โดยสมาชิกจะช่วยกันบรรจุ เมื่อข้าวสารใกล้หมดจึงสั่งสีใหม่ เป็นการผลิตแบบปีต่อปี ข้าวจึงไม่ค้างปี ไม่ต้องอบน้ำยาเคมีกันมอด ผู้บริโภคก็ปลอดภัย เมื่อหุงสุกเมล็ดข้าวจะนิ่ม มีกลิ่นหอม รสชาติอร่อย มีน้ำตาลน้อย เหมาะกับผู้ที่ต้องดูแลสุขภาพหรือเป็นโรคเบาหวาน
ส่วนราคาขาย ถุงละ 5 กิโลกรัม ราคา 120 บาท ขนาด 15 กิโลกรัม ราคา 320 บาท ลูกค้าคือสมาชิกและชาวบ้านในตำบลและพื้นที่ใกล้เคียง โรงพยาบาล โรงเรียน และออกขายตามเทศกาล งานออกบูธในจังหวัด มียอดขายประมาณเดือนละ 1 แสนบาท มีรายได้เข้ากลุ่มประมาณเดือนละ 2 หมื่นบาท
ปานรดา ในฐานะแกนนำกลุ่มผู้หญิงในตำบลบอกว่า ปัจจุบันแม้จะมีปัญหาเรื่องเศรษฐกิจตกต่ำ แต่น้ำดื่มและข้าวสารก็ยังมีความจำเป็นในชีวิตประจำวัน ธุรกิจชุมชนจึงเดินหน้าต่อไปได้ นอกจากนี้ยังทำให้ชาวบ้านได้ซื้อน้ำดื่มและข้าวสารราคาถูก และมีรายได้กลับมาหมุนเวียนทำธุรกิจต่อไป
รวมทั้งยังนำมาช่วยเหลือสมาชิกด้วย เช่น กองทุนสวัสดิการชุมชน ปัจจุบันมีเงินกองทุน (รวมที่นำไปลงทุนในธุรกิจน้ำดื่ม) ประมาณ 2.5 ล้านบาท สามารถช่วยเหลือสมาชิกได้ตั้งแต่เกิดจนตาย มีสมาชิกทั้งตำบลประมาณ 2,800 คน
“เรื่องการทำธุรกิจชุมชนนี้ พวกเราไม่เคยทำมาก่อน เพราะส่วนใหญ่ก็เป็นแม่บ้าน เป็นชาวบ้านธรรมดาๆ แต่เราอาศัยการเรียนรู้จากประสบการณ์ ทำงานแบบจิตอาสา ใช้ความซื่อสัตย์ เวลามีปัญหาก็จะประชุมปรึกษากัน ใช้มติที่ประชุมตัดสิน อย่างการทำเรื่องข้าวถุง เราก็มานั่งคุย นั่งวิเคราะห์กันว่ามันมีความเสี่ยงหรือเปล่า สมควรจะทำหรือไม่ ? เรื่องพวกนี้เราไม่ได้เรียนมาหรอก ใช้ประสบการณ์ล้วนๆ” ปานรดาบอก
นอกจากนี้ในปี 2562 ได้ร่วมกันจัดตั้ง ‘สถาบันการเงินชุมชนตำบลบึงสามัคคี’ ขึ้นมา มีคณะกรรมการ 15 คน (เกือบทั้งหมดเป็นผู้หญิง) เพื่อให้ความช่วยเหลือสมาชิกที่มีความเดือดร้อนด้านการเงิน เช่น เมื่อถึงกำหนดการชำระเงินกู้จาก ธ.ก.ส. หรือกองทุนหมู่บ้าน หากสมาชิกไม่มีเงินชำระตามกำหนด อาจต้องไปกู้เงินนอกระบบที่มีอัตราดอกเบี้ยสูงถึงสัปดาห์ละ 4-5 บาท หรือเดือนละ 16-20 บาท แต่หากสมาชิกมาใช้บริการของสถาบันการเงินชุมชนจะเสียดอกเบี้ยเพียงร้อยละ 1 บาทต่อสัปดาห์ ที่ผ่านมาสถาบันการเงินฯ ได้ช่วยเหลือสมาชิกไปแล้วประมาณ 300 ราย วงเงิน 2-3 หมื่นบาทขึ้นไป
นี่คือบทบาทของกลุ่มผู้หญิงที่ตำบลบึงสามัคคี เป็นผู้หญิงที่ทำหน้าที่ได้หลากหลาย ทั้งภาระในครอบครัว และบทบาทที่เข้มแข็งในการพัฒนาชุมชน ทำให้ชาวบ้านมีสวัสดิการตั้งแต่เกิดจนถึงตาย มีธุรกิจชุมชนที่ช่วยให้ชาวบ้านได้ซื้อน้ำดื่มและข้าวสารราคาถูก รายได้ก็จะกลับมาพัฒนาชุมชน รวมทั้งยังช่วยแบ่งเบาภาระการเงินของชาวบ้านด้วย !!
ธุรกิจน้ำดื่มเติบโตก้าวหน้าจนต้องซื้อรถบรรทุก 4 ล้อเพื่อส่งลูกค้าได้ทั่วถึง
เรื่องและภาพ : สำนักพัฒนานวัตกรรมชุมชนจัดการความรู้และสื่อสาร สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน)
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
สุราษฎร์ธานี จัดงานวันที่อยู่อาศัยโลกปี67 ย้ำชุมชนต้องเป็นแกนหลักในการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยคนจน
UN – HABITAT หรือ ‘โครงการตั้งถิ่นฐานมนุษย์แห่งสหประชาชาติ’ กำหนดให้วันจันทร์แรกของเดือนตุลาคมทุกปีเป็น ‘วันที่อยู่อาศัยโลก’ หรือ ‘World Habitat Day’
รวมพลังคนจนแก้ปัญหาที่ดิน-ที่อยู่อาศัยทั่วประเทศ วันที่อยู่อาศัยโลก ปี 2567
ปัญหาการขาดแคลนที่อยู่อาศัยหรือมีที่อยู่อาศัยไม่เหมาะสมเป็นปัญหาที่สำคัญของผู้คนทั่วโลก UN-Habitat หรือ ‘โครงการตั้งถิ่นฐานมนุษย์แห่งสหประชาชาติ’
‘21 ปีบ้านมั่นคง’ พอช. แก้ปัญหาที่อยู่อาศัยคนจนทั่วประเทศ กว่า 3 แสนครัวเรือน
รัฐบาลได้มีนโยบายที่จะแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยของผู้มีรายได้น้อย และสร้างความมั่นคงในการอยู่อาศัยแก่คนจนในเมืองที่ ยังไม่มีที่อยู่อาศัยเป็นของตนเอง โดยเฉพาะกลุ่มผู้อยู่อาศัยในชุมชนแออัด
เสียงจากคลองเปรมประชากร…บ้านหลังใหม่ชีวิตใหม่ “คืนสายน้ำให้คนคลอง คืนสายคลองให้คนเมือง”
คลองเปรมประชากร มีประวัติศาสตร์อันยาวนานและมีบทบาทสำคัญในการพัฒนาชุมชนและเศรษฐกิจของกรุงเทพมหานคร ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา คลองนี้ได้ประสบปัญหามากมาย
บอร์ด พอช. มีมติ พักชำระหนี้องค์กรผู้ใช้สินเชื่อในพื้นที่ประสบอุทกภัยทั่วประเทศ
สถานการณ์การเกิดอุทกภัยจากอิทธิพลของพายุยางิ ในระหว่างวันที่ 7 - 8 กันยายน 2567 ส่งผลกระทบต่อประชาชนในจังหวัดเชียงราย จำนวน 7 อำเภอ
รมว.พม. แจ้งตั้งศูนย์พักพิงชั่วคราว 34 แห่ง ใน 13 จว. ช่วยกลุ่มเปราะบาง-ผู้ประสบภัยน้ำท่วมริมแม่น้ำโขง ด้าน พอช. พร้อมอนุมัติงบช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบภัยพิบัติภาคเหนือและอีสาน
จากสถานการณ์น้ำท่วมในหลายพื้นที่ภาคเหนือ ส่งผลกระทบในพื้นที่ 8 จังหวัด 47 อำเภอ 207 ตำบล 22,817 ครัวเรือน โดยเฉพาะในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา