‘บางแสน’ ..ปลอดเหล้า-บุหรี่ ต้นแบบพื้นที่ท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ

ชายหาดบางแสน ณ เทศบาลเมืองแสนสุข จ.ชลบุรี ..แหล่งท่องเที่ยวยอดนิยม จากวันนั้นจนถึงวันนี้ มีภูมิทัศน์และบรรยากาศที่แตกต่างจากรุ่นพ่อรุ่นแม่โดยสิ้นเชิง หลังจากที่มีการขับเคลื่อน "โครงการพัฒนาพื้นที่ชายหาดบางแสนเป็นพื้นที่ท่องเที่ยวต้นแบบ" มาเป็นเวลาติดต่อกัน 2 ปี โดยพลังชุมชนของบางแสน ร่วมด้วย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า)

ผศ.ดร.เกศรา สุกเพชร อาจารย์สาขาอุตสาหกรรมบริการและการท่องเที่ยว คณะจัดการท่องเที่ยว นิด้า กล่าวว่า ชายหาดบางแสนเป็นพื้นที่ท่องเที่ยวที่ได้รับความสนใจจากนักท่องเที่ยวจำนวนมาก เพราะอยู่ไม่ไกลจากกรุงเทพมหานคร มีค่าใช้จ่ายไม่สูง ที่ผ่านมาพบนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยข้อมูลจากกรมการท่องเที่ยว พบแต่ละปีชายหาดบางแสนมีนักท่องเที่ยว 1,800,000 คน โดยปี 2558 มีรายได้เฉลี่ย 5,846 ล้านบาท ขณะที่ปี 2561 มีรายได้เพิ่มเป็น 10,230 ล้านบาท และมีแนวโน้มที่จะมีรายได้มากขึ้นตามสภาพเศรษฐกิจและสถานการณ์โควิด-19 ทำให้ปัญหาการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และยาสูบเป็นประเด็นที่ต้องให้ความสำคัญ จึงต้องร่วมมือและสร้างความเข้าใจจากทุกฝ่าย เพื่อให้ชายหาดบางแสนเป็นพื้นที่ปลอดภัยจากปัจจัยเสี่ยงต่างๆ  ตามเป้าหมายที่ต้องการผลักดันให้เป็นชายหาดต้นแบบปลอดอบายมุข

"Bangsaen No Smoking No Alcohol ถือเป็นงานท้าทาย เพราะชายหาดบางแสนเป็นชายหาดเปิด การได้รับความร่วมมือจากนายกเทศมนตรีเมืองแสนสุข นายณรงค์ชัย คุณปลื้ม  ให้ความสนใจและร่วมมือเต็มที่ ทำให้งานยากลำบากค่อยเป็นค่อยไป โดยที่ความสำเร็จส่วนสำคัญต้องยกให้กับความร่วมมือจากร้านค้า เพราะโดยทั่วไปแล้วนักท่องเที่ยวกว่า 80% ไม่สูบบุหรี่และดื่มเหล้า มีเพียง 20% ที่สูบบุหรี่และดื่มเหล้า นักท่องเที่ยวส่วนใหญ่จะมากันเป็นครอบครัว หากไม่ควบคุมจะทำให้นักท่องเที่ยวได้รับผลกระทบจากบุหรี่มือสอง  งานนี้จึงท้าทาย ที่ทำได้สำเร็จถือว่า win-win ด้วยกันทั้งสองฝ่าย ได้รับผลตอบแทนทางสังคม นักท่องเที่ยวที่เข้ามาไม่ดื่มเหล้าสูบบุหรี่ นั่งดูทะเล เล่นน้ำทะเลกันทุกเสาร์-อาทิตย์เป็นเรื่องปกติ” ผศ.ดร.เกศราเปิดเผย

ปีที่สองของการขับเคลื่อน "โครงการพัฒนาพื้นที่ชายหาดบางแสนเป็นพื้นที่ท่องเที่ยวต้นแบบ" ล่าสุด นางสาวรุ่งอรุณ ลิ้มฬหะภัณ รักษาการผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงหลัก สสส. ได้จัดรวมพลังคนรุ่นใหม่ ทีมอาสาสมัคร พร้อมนักศึกษามหาวิทยาลัยบูรพา มากกว่า 1,000 คน เดินรณรงค์ขับเคลื่อนร่วมดูแล ‘ชายหาดบางแสน’ ปลอดเหล้า-บุหรี่ สู่ต้นแบบพื้นที่ท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ ห่างไกลปัจจัยเสี่ยง สร้างสุขภาวะที่ดี เมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา

"ที่นี่เป็นฟันเฟืองสำคัญที่ส่งต่อความรู้ สร้างความเข้าใจกับนักท่องเที่ยว ปัจจุบันขยายผลไปถึงเครือข่ายเยาวชน นักเรียน นักศึกษามหาวิทยาลัยบูรพากว่า 1,000 คน ให้มาร่วมดูแลชายหาดบางแสน เพื่อส่งเสริมศักยภาพผู้ประกอบการให้มีบทบาทเรื่องการลดปัจจัยเสี่ยงมากขึ้น และสนับสนุนนโยบายพื้นที่ท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ ยกระดับให้ชายหาดบางแสนสามารถลด ละ เลิกปัจจัยเสี่ยงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และยาสูบ หลังผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์โควิด-19 ได้จริง และส่งต่อให้ทุกคนช่วยกันดูแลจากรุ่นสู่รุ่น" นางสาวรุ่งอรุณกล่าว และเปิดเผยอีกว่า

หลังคลายมาตรการควบคุมโควิด-19 พบนักท่องเที่ยวมาเที่ยวชายหาดบางแสนวันธรรมดาและวันหยุดจำนวนมาก คาดว่าเกิดจากความรู้สึกปลอดภัย อากาศสะอาด ไม่มีควันบุหรี่ลอยฟุ้งในอากาศ เพราะมีมาตรการควบคุมให้เป็นพื้นที่ปลอดแอลกอฮอล์และยาสูบ ทำให้กลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่เป็นมิตรกับสุขภาพและสิ่งแวดล้อม ครอบครัวที่พาเด็กๆ มาเที่ยวก็รู้สึกปลอดภัย เพราะลดโอกาสพบผู้ที่เมาแล้วก่อความรำคาญ รวมถึงไม่มีควันบุหรี่รบกวน

"ข้อมูลปี 2564 พบผู้เสียชีวิตจากควันบุหรี่มือสอง 8,278 คนต่อปี และยังพบพบเยาวชนอายุ 15-24 ปี มีอัตราการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ 1.9 ล้านคน ขณะที่พบการดื่มแล้วขับกว่า 30% ทำให้เกิดอุบัติเหตุบนถนน 25% ทำให้ได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิต และมีส่วนทำให้เกิดความรุนแรงในครอบครัว การลงพื้นที่ครั้งนี้ สสส.เน้นไปที่เยาวชน นักเรียน นักศึกษา เพราะเชื่อว่าเป็นกำลังสำคัญในการทำให้เกิดชายหาดปลอดเหล้า บุหรี่ สู่พื้นที่ท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ เพื่อสุขภาวะที่ดีของทุกคนอย่างยั่งยืนได้” นางสาวรุ่งอรุณกล่าว

กิจกรรมหนึ่งที่ดำเนินการสร้างคนรุ่นใหม่ให้มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับเหล้า บุหรี่ เป็นอันตรายต่อสุขภาพ ด้วยการนำนักศึกษามหาวิทยาลัยบูรพาเข้าร่วมกิจกรรม ต่อไปจะเข้าไปทำในพื้นที่ชายหาดชะอำ เพชรบุรี พื้นที่สัตหีบซึ่งเป็นพื้นที่ของทหารเรือ ส่วนพัทยาทำได้ค่อนข้างยาก เพราะมีนักท่องเที่ยวต่างประเทศเป็นจำนวนมาก

นายไพศาล ศรีนาคล้วน ปลัดเทศบาลเมืองแสนสุข กล่าวว่า การรณรงค์ลดเหล้า บุหรี่บริเวณชายหาดบางแสนเป็นเรื่องดีต่อเทศบาลเมืองแสนสุข ทำให้ได้นักท่องเที่ยวมีคุณภาพมากขึ้น ปัญหาการทะเลาะวิวาทลดน้อยลง เกิดความปลอดภัย การแพร่ระบาดของโควิดลดน้อยลง จำนวนนักท่องเที่ยวเข้ามาเที่ยวบางแสนเป็นจำนวนมากขึ้นกว่าเดิม เทศบาลเมืองแสนสุขหวังเป็นอย่างยิ่งว่า ทุกคนจะได้รับประโยชน์จากการมาท่องเที่ยวชายหาดบางแสน

การดำเนินการที่ผ่านมา พบเจ้าหน้าที่เทศบาลเมืองแสนสุข ผู้ประกอบการร้านค้า ให้ความร่วมมือจดทะเบียนกับเทศบาล เพราะเห็นความจำเป็นในการปฏิบัติตามกฎหมายเรื่องการงดขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และบุหรี่มากขึ้น ซึ่งหลังจากภาครัฐได้ผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ จึงเร่งเดินหน้าให้เกิดชายหาดปลอดภัยเพื่อสุขภาวะ ส่งต่อสู่คนรุ่นใหม่ ให้เข้ามามีบทบาทดูแลรักษาชายหาดบางแสนเป็นสถานที่ปลอดภัยให้ได้อย่างแท้จริง

“เป็นเรื่องดีที่เราได้ทำงานร่วมกับนักเรียน นักศึกษามหาวิทยาลัยบูรพากว่า 1,000 คน จะมาร่วมดูแลชายหาดบางแสน เพราะบุคคลกลุ่มนี้บางคนอาจไม่ใช่คนในพื้นที่ทั้งหมด แต่เป็นคนนอกพื้นที่เข้ามาเรียนใน จ.ชลบุรี ทำให้แนวคิดนี้กระจายไปยังพื้นที่อื่นๆ ซึ่งเป็นบ้านเกิดของพวกเขาได้ในอนาคต เพื่อช่วยกันลดปัจจัยเสี่ยง เช่น เหล้า บุหรี่ ที่ผ่านมาพบว่าหลังการรณรงค์ขอความร่วมมืออย่างจริงจัง   พบการฝ่าฝืนสูบนอกพื้นที่อนุญาตประมาณร้อยละ 10-15 พบว่าการแอบดื่มแอลกอฮอล์ช่วงกลางคืนหลังเก็บเตียงและที่นั่งประมาณร้อยละ 20 โดยแอบใช้ภาชนะอื่นๆ เพื่อหลีกเลี่ยงแทน จึงอยากเสนอให้ภาครัฐประชาสัมพันธ์ห้ามดื่มและห้ามสูบในชายหาดทั่วประเทศ” นายไพศาลกล่าว

***

จากใจ..คนชายหาดบางแสน

นายวุฒิชัย ชื่นวจีธรรม วัย 44 ปี เจ้าของแผงอาหารตามสั่ง ล็อก 16 เตียงผ้าใบ ชายหาดบางแสน กล่าวว่า ทำอาชีพนี้มาแล้ว 20 ปี เมื่อเทศบาล สสส. รณรงค์ให้เลิกขายเหล้าและบุหรี่ ก็ให้ความร่วมมืออย่างดี พร้อมทำความเข้าใจกับนักท่องเที่ยวให้เข้าใจกฎเกณฑ์นี้ด้วย แม้ในทางปฏิบัติรายได้จะลดลงบ้าง แต่ก็ขายอาหารได้มากขึ้น ปัญหาการทะเลาะวิวาทเพราะเหตุมึนเมาก็ลดลงมาก นักท่องเที่ยวก็ชอบ ไม่มีกลิ่นเหม็นของควันบุหรี่แต่อย่างใด และส่วนตัวก็ไม่ได้สูบบุหรี่อยู่แล้ว วันนี้ชายหาดบางแสนสะอาดน่าเที่ยว มีความสวยงาม ยิ่งช่วงนี้นักท่องเที่ยวเข้ามาเที่ยวบางแสนมากเหมือนๆ กับก่อนโควิดแล้ว โดยเฉพาะช่วงวันหยุดเสาร์-อาทิตย์ เตียงผ้าใบเต็มเกือบทั้งหมด.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

อึ้ง ! ความเหงา-โดดเดี่ยว ภัยเงียบที่ส่งผลอันตรายต่อสุขภาพเทียบเท่าการสูบบุหรี่วันละ 15 มวน หรือดื่มเหล้าวันละ 6 แก้ว

เวลา 09.00 น. วันที่ 1 พ.ย. 2567 ที่อาคารศูนย์เรียนรู้สุขภาวะ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับธนาคารจิตอาสา ภาคีภาครัฐ และภาคเอกชน จัดงานแถลงข่าวเปิดตัวแคมเปญ “เดือนการฟังแห่งชาติ” หรือ “National Month of Listening” เพื่อกระตุ้นให้สังคมเห็นความสำคัญของการดูแลความสัมพันธ์ด้วย

“รองนายกฯประเสริฐ” มอบนโยบาย สสส.สั่งด่วนยกระดับสร้างความปลอดภัยทางถนนในเด็กและเยาวชน 3 ด้าน “รถบัสปลอดภัย-สวมหมวกนิรภัย-ส่งเสริมวินัยจราจร”

นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) ในฐานะประธานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ กล่าวภายหลังการประชุมคณะกรรมการกองทุนฯ สสส.

“อย่าเพิ่งเชื่อ-อย่าเพิ่งแชร์-อย่าเพิ่งโอน” คาถาป้องกันแก๊ง Call Center

คนไทย 36 ล้านคน ตกเป็นเหยื่อมิจฉาชีพออนไลน์ ถูกหลอกให้ร่วมลงทุน พนันออนไลน์ ด้วยการเปิดบัญชีม้า ซื้อสินค้า-โอนเงิน-กู้เงิน ไตรมาสแรกปี 67

รพ.ศูนย์การแพทย์ ม.วลัยลักษณ์ สานพลัง สสส. ประกาศความร่วมมือเข้มแข็ง ผสานองค์ความรู้-สร้างนวัตกรรมฐานข้อมูล เตรียมพัฒนาหลักสูตรสร้างเสริมสุขภาพ บรรจุในการเรียนการสอน ม.วลัยลักษณ์

ที่วัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร อ.เมือง จ.นครศรีธรรมราช โรงพยาบาลศูนย์การแพทย์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ร่วมกับ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จัดพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือวิชาการ ด้านการสร้างเสริมสุขภาพของประชาชนโดยเฉพาะในจังหวัดนครศรีธรรมราช

ขับเคลื่อน"กระเป๋านักรบ"สร้างสุขภาวะ Life Long Learning...รู้ป้องกันโรค

นับเป็นความเคลื่อนไหวที่น่าสนใจอีกคำรบหนึ่ง ในการขยายเครือข่ายส่งเสริมสนับสนุนการเรียนรู้ของเยาวชน ด้วยการแบ่งปันความรู้ด้านสุขภาวะสร้างวัฒนธรรมการอ่าน

ชู 'อบจ.' ขับเคลื่อนงานฟื้นฟูสมรรถภาพ เชื่อมระบบฟื้นฟูกายใจชุมชนครบวงจร

สสส.ชวน อบจ.เข้าร่วมกองทุนฟื้นฟูฯเกิดขึ้นทั่วประเทศ ขณะที่ นายกสมาคมแพทย์เวชปฏิบัติทั่วไป และ นายกสมาคมกายภาพบำบัดแห่งประเทศไทยชี้ระบบต้องเชื่อม ฟื้นฟู -กาย -ใจ ชุมชนให้ครบวงจร