เครือข่ายครูเพื่อโรงเรียนปลอดบุหรี่ มูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ โดยการสนับสนุนของสํานักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จัดงานเวทีเชิดชูเกียรติ 10 โรงเรียนต้นแบบปลอดบุหรี่และแอลกอฮอล์ พื้นที่กรุงเทพฯ ณ ห้องราชเทวี 2 โรงแรมเอเชีย เมื่อเร็วๆ นี้ โดยมีสาระที่น่าสนใจ และสมควรแก่การปรบมือ เพราะหลังจากขับเคลื่อนงานโรงเรียนปลอดบุหรี่ต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2548 นั้น ตัวเลขของเด็กและเยาวชน ตลอดจนผู้ปกครอง ที่ตระหนักถึงโทษภัยของบุหรี่และแอลกอฮอล์นั้น มีนัยสำคัญลดลงตามเป้าประสงค์ นอกจากนั้นยังมีการส่งต่อ "โมเดล" โรงเรียนปลอดบุหรี่ด้วยการเผยแพร่แนวทางต่างๆ อย่างกว้างขวาง
ศ.เกียรติคุณ นพ.ประกิต วาทีสาธกกิจ ประธานมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ กล่าวว่า หากเปรียบเทียบข้อมูลอัตราการสูบบุหรี่ในกลุ่มเยาวชนอายุ 15-19 ปี จากสำนักงานสถิติแห่งชาติในปี พ.ศ.2564 อัตราการสูบบุหรี่เป็นร้อยละ 6.2 ซึ่งลดลงจากปี พ.ศ.2560 ที่มีอัตราการสูบบุหรี่เป็นร้อยละ 9.7 ขณะที่จำนวนนักสูบหน้าใหม่เมื่อปี พ.ศ.2560 เท่ากับ 447,084 คน
ในปี พ.ศ.2564 จำนวนนักสูบหน้าใหม่ลดลงเหลือเท่ากับ 155,813 คน ซึ่งคุณครูทุกท่านมีส่วนที่ทำให้ภาพรวมอัตราการสูบบุหรี่ของเยาวชนเราลดลงไป และหากทุกโรงเรียนทั่วประเทศกำหนดนโยบายการติดตามและประเมินผลการดำเนินงานตามแนวทาง 7 มาตรการเพื่อสถานศึกษาปลอดบุหรี่ เพื่อเพิ่มประสิทธิผลในการป้องกันนักสูบหน้าใหม่ในกลุ่มเด็กและเยาวชนในสถานศึกษา ร่วมกับการพัฒนาและปรับปรุงหลักสูตรการเรียนการสอนและกิจกรรมนอกหลักสูตร เกี่ยวกับความรู้เรื่องโทษ พิษภัยของบุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้า รวมถึงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อย่างต่อเนื่อง หากโรงเรียนในสังกัดกรุงเทพมหานครและโรงเรียนภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงศึกษาธิการ สนับสนุนและเผยแพร่ข้อมูลที่ถูกต้องให้แก่สังคมเกี่ยวกับ 9 เหตุผลที่ประเทศไทยต้องคงมาตรการห้ามนำเข้าและจำหน่ายบุหรี่ไฟฟ้า ตลอดทั้งสร้างการรับรู้ที่ถูกต้องให้แก่ผู้บริหารสถานศึกษา ครู บุคลากรทางการศึกษา และนักเรียน มีความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับโทษ พิษภัย อันตรายและผลกระทบของการสูบบุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้า ร่วมกับการรู้เท่าทันกลยุทธ์ทางการตลาดของธุรกิจยาสูบ ก็จะทำให้อัตราการสูบบุหรี่ของเด็กและเยาวชนลดลงได้
ข้อควรรู้เกี่ยวกับบุหรี่ มีสารเคมี 7,000 ชนิด มีสารก่อมะเร็ง 70 ชนิด เป็นสาเหตุให้เกิดโรคร้ายแรง เป็นภัยร้ายสำหรับเยาวชนที่เป็นนักสูบหน้าใหม่ โรงเรียนเป็นบ้านหลังที่ 2 ของเยาวชนช่วยกันสร้างสังคมปลอดบุหรี่ จุดเริ่มต้นของมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ ร่วมมือกับโรงเรียน สร้างโรงเรียนปลอดบุหรี่ในปี 2548 ปี 2563 ขยายพื้นที่โรงเรียนปลอดบุหรี่ใน 9 จังหวัดทั่วประเทศ สถิติคนไทย 70% เลิกบุหรี่ไม่ได้ตลอดชีวิต คนไทย 30% เลิกสูบบุหรี่ได้แต่ต้องใช้เวลาถึง 21 ปี เด็กอายุ 20 ปีขึ้นไปไม่ได้สูบบุหรี่ โอกาสสูบบุหรี่น้อยลง ดังนั้นโรงเรียนต้องจัดกิจกรรมเพื่อให้เด็กมีส่วนร่วมกับกิจกรรม เพื่อจะไม่สนใจทดลองสูบบุหรี่กลายเป็นสิงห์อมควันหน้าใหม่ โรงเรียนต้องมีกิจกรรมเชื่อมโยงผู้ปกครองมีส่วนร่วมรับผิดชอบเพื่อไม่ให้เด็กติดบุหรี่
สอดคล้องกับข้อมูลของ รศ.ดร.จักรพันธ์ เพ็ชรภูมิ อาจารย์คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร ที่เผยผลการสำรวจจากการวิจัยเรื่อง ผลการสำรวจโอกาสเสี่ยงในการสูบบุหรี่ของนักเรียนในภูมิภาคของประเทศไทย (Susceptibility to smoking and determinants among never-smoking high school students : A representative nationwide study in Thailand) ที่ทำร่วมกับคณะ สนับสนุนโดยศูนย์วิจัยและจัดการความรู้เพื่อการควบคุมยาสูบ (ศจย.) เปิดเผยว่า การสำรวจนักเรียนระดับชั้น ม.2 จาก 12 จังหวัดทุกภูมิภาคของไทย จำนวน 3,156 คน พบว่ามีนักเรียน 72.4% ระบุว่าเรียนอยู่ในโรงเรียนที่จัดกิจกรรมรณรงค์ไม่สูบบุหรี่แบบเป็นประจำ ในขณะที่เหลืออีก 27.6% ระบุว่าเรียนอยู่ในโรงเรียนที่จัดกิจกรรมรณรงค์ไม่สูบบุหรี่แบบนานๆ ครั้ง โดยโรงเรียนที่จัดกิจกรรมรณรงค์ไม่สูบบุหรี่แบบเป็นประจำมีนักเรียนที่อยากทดลองสูบบุหรี่ 13.6% ในขณะที่โรงเรียนที่จัดกิจกรรมรณรงค์ไม่สูบบุหรี่แบบนานๆ ครั้งมีนักเรียนที่อยากทดลองสูบบุหรี่ 23.9% สรุปได้ว่า โรงเรียนที่จัดกิจกรรมรณรงค์ไม่สูบบุหรี่แบบเป็นประจำมีนักเรียนที่อยากทดลองสูบบุหรี่น้อยกว่าโรงเรียนที่จัดกิจกรรมแบบนานๆ ครั้งเกือบ 2 เท่า เช่นเดียวกับการได้รับข้อความรณรงค์ไม่สูบบุหรี่ทางโทรทัศน์ หรืออินเทอร์เน็ต ที่พบว่านักเรียนในกลุ่มที่พบเห็นข้อความรณรงค์ไม่สูบบุหรี่แบบเป็นประจำมีสัดส่วนของคนที่อยากทดลองสูบบุหรี่น้อยกว่านักเรียนในกลุ่มที่พบเห็นข้อความรณรงค์ไม่สูบบุหรี่แบบนานๆ ครั้งเกือบ 2 เท่า
สำหรับโรงเรียนต้นแบบปลอดบุหรี่และเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ 10 แห่งสังกัดกรุงเทพมหานคร
ได้แก่ 1.โรงเรียนวัดปากบ่อ สำนักงานเขตสวนหลวง มีผลงานเด่นคือ มีนวัตกรรมเรื่องบุหรี่ที่เกิดจากการสอดแทรกในการเรียนการสอนและมีการทดลองใช้กับผู้สูบบุหรี่ ได้แก่ นวัตกรรมชาโปร่งฟ้าบอกลาบุหรี่ และคุกกี้ anti-smoking 2.โรงเรียนวัดพระเชตุพน สำนักงานเขตพระนคร มีผลงานเด่นคือฤๅษีดัดตน ช่วยแก้อาการอยากสูบบุหรี่ สมุนไพรช่วยเลิกบุหรี่ ซึ่งได้สอนให้แก่นักเรียนและได้ไปถ่ายทอดให้กับผู้ปกครองที่สูบบุหรี่ และมีการสอนนวดกดจุดเลิกบุหรี่ โดยให้นักเรียนไปนวดให้ผู้ปกครองที่สูบบุหรี่ 3.โรงเรียนวัดสุวรรณคีรี สำนักงานเขตบางกอกน้อย มีผลงานเด่นคือ มีการสอนหลักสูตรเกราะป้องกันชีวิต ใช้สอนให้นักเรียนรู้จักการปฏิเสธหรือหน้าที่ของคำว่า “ไม่” เป็นวิธีสำคัญที่สุดวิธีหนึ่งที่จะช่วยป้องกันนักเรียนจากภัยรูปแบบต่างๆ ซึ่งบุหรี่เป็นภัยใกล้ตัวที่นักเรียนพบเจอทั้งในบ้านและชุมชน 4.โรงเรียนวัดอัมพวา สำนักงานเขตบางกอกน้อย มีผลงานเด่นคือ บรรยากาศปลอดบุหรี่ ณ โรงเรียนวัดอัมพวา
สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษากรุงเทพมหานคร เขต 1 ได้แก่ 1.โรงเรียนจันทร์ประดิษฐารามวิทยาคม มีผลงานเด่นคือ ส่งเสริมให้นักเรียนทำกิจกรรมรณรงค์อย่างต่อเนื่อง 2.โรงเรียนทวีธาภิเศก มีผลงานเด่นคือ โครงการตาสับปะรด แจ้งเบาะแส เฝ้าระวังพฤติกรรมการสูบบุหรี่ ด้วยการนำ QR แจ้งเบาะแสไปติดในชุมชน เพื่อให้ผู้ปกครองและชุมชนมีส่วนร่วมในการดูแลและเฝ้าระวังพฤติกรรมการสูบบุหรี่ของนักเรียน 3.โรงเรียนนวมินทราชินูทิศ สตรีวิทยา พุทธมณฑล มีผลงานเด่นคือ นักเรียนแกนนำกลุ่ม We care ถ่ายทอดการทำงานรณรงค์ไม่สูบบุหรี่ส่งต่อรุ่นสู่รุ่น 4.โรงเรียนมัธยมวัดหนองแขม มีผลงานเด่นคือ นักเรียนแกนนำที่สามารถจัดกิจกรรมสร้างกระแสรณรงค์ในโลกออนไลน์ แม้อยู่ภายใต้สถานการณ์โควิดและสามารถเป็นวิทยากรถ่ายทอดความรู้เรื่องบุหรี่แก่น้องนักเรียนใหม่ 5.โรงเรียนศรีอยุธยาในพระอุปถัมภ์ฯ มีผลงานเด่นคือ การดูแลช่วยเหลือนักเรียนให้เลิกบุหรี่ แบบ Case Conference : ให้คำปรึกษาแก่นักเรียนที่ต้องการเลิกสูบบุหรี่ทางระบบออนไลน์ (ภายใต้สถานการณ์โควิดที่เด็กเรียนออนไลน์ 100%)
6.โรงเรียนศีลาจารพิพัฒน์ มีผลงานเด่นคือ นักเรียนแต่งเพลงรณรงค์ไม่สูบบุหรี่และยาเสพติด โดยมีครูเป็นพี่เลี้ยง
สำหรับโรงเรียนที่ต้องการข้อมูลเกี่ยวกับการเคลื่อนการทำงานโรงเรียนปลอดบุหรี่ โดยใช้ 7 มาตรการเพื่อโรงเรียนปลอดบุหรี่สามารถเข้าไปดูรายละเอียดได้ที่ http://www.smokefreeschool.net/ หรือติดตามความเคลื่อนไหว และกิจกรรมต่างๆ ได้ที่เพจ https://www.facebook.com/smokefreeschool และหากต้องการขอสื่อรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ เพื่อใช้จัดกิจกรรมในโรงเรียนสามารถขอรับสื่อฟรีได้ที่ www.smokefreezone.or.th หรือติดต่อที่โทรศัพท์หมายเลข 0-2278-1828.
***
ด.ช.กวิน ช้างคำ นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 รร.วัดปากบ่อย ย่านสวนหลวง ร.9 หัวหน้าทีม
ในฐานะผู้นำนักเรียนร่วมกับเพื่อนๆผู้หญิงที่เป็นแกนนำนักเรียน ชักชวนเพื่อนๆ ใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์ไม่ให้สูบบุหรี่ ลดจำนวนนักสูบหน้าใหม่ มิฉะนั้นจะกลายเป็นสิงห์อมควันในอนาคต เริ่มต้นด้วยการรณรงค์ให้ออกกำลังกาย เล่นกีฬา ให้ข้อมูลกับชุมชนได้รู้ถึงพิษภัยของบุหรี่ ทั้งยังจัดเป็นซุ้มเพื่อให้ชิมชาโปร่งฟ้า คุกกี้ พร้อมอธิบายว่า ชาโปร่งฟ้ามีสารคาบาโซนช่วยลดบุหรี่ได้ อีกทั้งยังช่วยต้านมะเร็ง ลดน้ำตาลในกระแสเลือด ขณะนี้ที่ รร.ทำแปลงเกษตรปลูกต้นชาโปร่งฟ้า ขณะนี้ทำเพื่อการทดลองเป็นเวลา 3 เดือนมาแล้ว ได้ผลเป็นที่น่าพอใจ ยังไม่ได้จำหน่ายแต่อย่างใด ในคุกกี้มีสารสกัดหญ้าดอกขาวทำให้ไม่อยากบุหรี่.
***
ด.ญ.สะลินดา แก้วประเสิด นักเรียนชั้นประถมปีที่ 3 รร.วัดพระเชตุพน
ต่อยอดความรู้จาก รร.สอนนวดเขตวัน เพื่อสาธิตการแสดงท่าฤาษีดัดตนจำนวน 4 ท่า ท่าขี้ (เกียจ) แก้วิงเวียนศีรษะ แก้ลมในแขน แก้เข่าขัด นักเรียนจดจำได้แล้วนำไปสอนพ่อแม่ที่บ้าน ถือว่าเป็นบูรณาการนอกหลักสูตร
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ตัดวงจรความรุนแรง เลิกให้โอกาสที่ 2
เรื่องราวของจีจี้ - นางสาวสุพิชชา ปรีดาเจริญ เนตไอดอลชื่อดัง ซึ่งถูกคู่รักทำร้ายหลายครั้ง แต่จีจี้ยื่นโอกาสให้กับฝ่ายชาย สุดท้ายเธอต้องจากไปด้วยน้ำมือของคนที่รัก ก่อนแฟนหนุ่มจบชีวิตตัวเองตาม ถูกหยิบยกนำมาเป็นบทเรียนราคาแพงเตือนสติคนในสังคมออกจากความสัมพันธ์
ชวนนักดื่ม “ตรวจตับ-เลิกจับขวด” ฟื้นฟูสุขภาพคืนความสุขครอบครัว
"งดเหล้าเข้าพรรษา" ในระยะเวลา 3 เดือน ถือเป็นกิจกรรมหนึ่งในเทศกาลสำคัญ ที่มุ่งเน้นให้ชาวพุทธงดดื่มแอลกอฮอล์ ไม่เพียงเป็นการรักษาประเพณีและศีลธรรมเท่านั้น
“สุรศักดิ์” รมช.ศธ. เดินหน้าขับเคลื่อนรถรับส่งนักเรียนปลอดภัย ชูโมเดล “ศูนย์เรียนรู้รถรับส่งนักเรียนปลอดภัย จ.อยุธยา” ของสสส.
วันที่ 18 พ.ย. 2567 ที่ โรงเรียนอยุธยาวิทยาลัย อ.พระนครศรีอยุธยา จ.พระนครศรีอยุธยา นายสุรศักดิ์ พันธ์เจริญวรกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานเปิดศูนย์การเรียนรู้การจัดการรถรับส่งนักเรียนที่ปลอดภัย โรงเรียนอยุธยาวิทยาลัย ภายในงานเวทีสร้างความร่วมมือและแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในการพัฒนาศูนย์เรียนรู้รถรับส่งนั
สสส.สานพลังภาคี ขจัดความเหลื่อล้ำกิจกรรมทางกาย ดึงคนไทยสู่เวอร์ชั่นใหม่
กองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับ ศูนย์พัฒนาองค์ความรู้ด้านกิจกรรมทางกายประเทศไทย (ทีแพค) สถาบันวิจัยประชากรและสังคม
สสส.-สคล. ผนึกภาครัฐ เอกชน จัดแข่งฟุตซอลเยาวชนไม่เกิน 15 ปี ชิงถ้วยกรมสมเด็จพระเทพฯ
สสส. โดยสมาคมเครือข่ายงดเหล้าและปัจจัยเสี่ยงต่อสุขภาพ (สคล.) ร่วมกับ ภาคีเครือข่ายและภาคเอกชน รวม 7 องค์กร ลงนามความร่วมมือ พร้อมจัดแถลงข่าวเปิดตัวโครงการ
"สิทธิในอาหารเพื่อชีวิตที่ดี" ความตระหนักรู้เสริมสุขภาวะ
เด็กทั่วโลกเผชิญปัญหาความเหลื่อมล้ำด้านอาหาร เพราะการบริโภคไม่สมดุล ส่งผลต่อสุขภาวะอ้วนผอม ชาวโลกเผชิญความอดอยากเกือบ 300 ล้านคน