สภาพชุมชนริมคลองลาดพร้าวย่านหลักสี่ก่อนการพัฒนา
คลองลาดพร้าวถือเป็นคลองแห่งแรกที่รัฐบาล (คสช.) มีแนวทาง ‘การจัดระเบียบสิ่งปลูกสร้างรุกล้ำลำคลอง’ เป็นแห่งแรกของประเทศไทย เริ่มในปี 2559 โดยรัฐบาลมอบหมายให้กรุงเทพมหานครก่อสร้างเขื่อนระบายน้ำคอนกรีตและขุดลอกคลอง เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำ ป้องกันน้ำท่วม มีความยาวทั้งสองฝั่งคลองประมาณ 45 กิโลเมตร ขณะนี้อยู่ในระหว่างการดำเนินงาน
ขณะที่กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ โดยสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) หรือ ‘พอช.’ รับผิดชอบการพัฒนาที่อยู่อาศัยของประชาชนที่ปลูกสร้างบ้านเรือนรุกล้ำคลอง ซึ่งเป็นที่ดินราชพัสดุ กรมธนารักษ์ดูแล มีชุมชนที่อยู่ริมคลองลาดพร้าวทั้งหมด 50 ชุมชน รวม 7,069 ครัวเรือน
แนวทางสำคัญของ พอช. คือ ให้ชุมชนที่รุกล้ำลำคลองขยับบ้านเรือนให้พ้นแนวคลองและแนวก่อสร้างเขื่อนระบายน้ำ โดยการปรับผังชุมชนเพื่อก่อสร้างบ้านใหม่ในชุมชนเดิม ส่วนชุมชนที่มีพื้นที่ไม่เพียงพอ จะต้องรวมตัวกันจัดหาที่อยู่อาศัย หรือซื้อที่ดินแปลงใหม่เพื่อปลูกสร้างบ้าน โดย พอช.ให้การสนับสนุนสินเชื่อและงบประมาณก่อสร้างบางส่วน มีเป้าหมายเพื่อให้ประชาชนมีที่อยู่อาศัยใหม่ที่มั่นคง มีสภาพแวดล้อม และคุณภาพชีวิตที่ดี
สภาพบ้านเรือนริมคลอง
การพัฒนาที่อยู่อาศัยชุมชนริมคลองลาดพร้าวนับตั้งแต่ปี 2559 จนถึงปัจจุบัน ถือเป็น ‘แนวทางการพัฒนาที่อยู่อาศัยแนวใหม่’ นั่นคือ “ให้ชุมชนหรือผู้ที่เดือดร้อน รวมกลุ่มกันแก้ไขปัญหา โดยมี พอช.และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้การสนับสนุน”
ทั้งนี้ พอช.มิได้ไปสร้างบ้านให้ชาวบ้าน แต่ใช้หลักการของ ‘โครงการบ้านมั่นคง’ ที่ พอช.ดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2546 โดยให้ชุมชนเป็นแกนหลัก คัดเลือกตัวแทนชุมชนขึ้นมาเป็นคณะทำงาน มีกระบวนการทำงาน 11 ขั้นตอน ดังนี้
1.สร้างความเข้าใจโครงการ โดย พอช.และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะชี้แจงสร้างความเข้าใจกับชาวชุมชน ถึงเป้าหมายของโครงการ การมีส่วนร่วมของชุมชน กระบวนการและขั้นตอนการดำเนินงาน
การจัดประชุมสร้างความเข้าใจ โดยมีตัวแทนชุมชนเป็นคณะทำงาน
2.ร่วมกันสำรวจข้อมูล รับรองข้อมูล พิจารณาสิทธิ์ เพื่อให้ได้ข้อมูลครัวเรือน ผู้อยู่อาศัย ขนาดพื้นที่ของชุมชน และความต้องการที่อยู่อาศัย เพื่อนำข้อมูลมาวางแผนการสร้างบ้านและออกแบบผังชุมชน หลังจากนั้นจะมีการพิจารณาสิทธิ์และรับรองสิทธิ์ เพื่อไม่ให้มีการสวมสิทธิ์
3.ตั้งกลุ่มออมทรัพย์ เพื่อให้ชาวชุมชนได้ร่วมกันจัดตั้งกองทุนสำหรับก่อสร้างบ้าน บางชุมชนกำหนดเงินออมขั้นต่ำ 100 บาทต่อครัวเรือนต่อเดือน บางชุมชนอาจมากกว่า แล้วแต่ข้อตกลงของแต่ละชุมชน หากมีเงินออมมาก ยอดเงินที่จะขอใช้สินเชื่อจาก พอช.ก็จะลดน้อยลง (พอช.กำหนดให้ครัวเรือนและชุมชนที่จะขอใช้สินเชื่อต้องมียอดเงินออมรวมไม่ต่ำกว่า 5 % ของยอดเงินกู้)
4.จดทะเบียนเป็นสหกรณ์เคหสถาน เพื่อให้มีสถานะเป็นนิติบุคคล และบริหารโครงการ เช่น ทำสัญญาเช่าที่ดินกับกรมธนารักษ์ที่ดูแลที่ดินริมคลอง เสนอใช้สินเชื่อและงบสนับสนุนจาก พอช. บริหารการก่อสร้างบ้าน ฯลฯ
5.จัดการเรื่องที่ดิน โดยการแบ่งปันและเสียสละ คนที่เคยมีที่ดินและบ้านหลังใหญ่ จะต้องเสียสละให้คนที่รุกล้ำคลองสามารถขึ้นมาอยู่บนฝั่งได้ โดยเฉลี่ยแปลงที่ดินที่จะสร้างบ้านให้มีขนาดเท่ากัน และ 1 ครอบครัวได้ 1 สิทธิ์ หรือตามข้อตกลงของชุมชน เช่น ครอบครัวที่มีผู้อยู่อาศัยเกิน 5 คน จะได้รับสิทธิ์ขยายเพิ่ม 1 สิทธิ์
ชุมชนริมคลองลาดพร้าวย่านเขตสายไหม รูปแบบบ้านทาวน์เฮ้าส์ริมคลอง เปลี่ยนจากชุมชนบุกรุก เป็นชุมชนอยู่อาศัยอย่างถูกต้องตามกฎหมาย ชาวชุมชนมีสภาพแวดล้อมที่ดี
6.ร่วมกันออกแบบบ้าน ออกแบบผังชุมชน นำข้อมูลที่ได้จากการสำรวจชุมชนและครัวเรือนมาออกแบบผังชุมชนและออกแบบบ้าน โดยมีสถาปนิกและเจ้าหน้าที่ของ พอช.เป็นพี่เลี้ยง เพื่อให้ได้แบบบ้านและผังชุมชนที่ตรงกับความต้องการของชาวบ้าน
7.เสนอโครงการและงบประมาณต่อ พอช. เมื่อผ่านกระบวนการและขั้นตอนต่างๆ ดังกล่าวแล้ว ชุมชนจะต้องยื่นโครงการพัฒนาที่อยู่อาศัยในนามสหกรณ์เคหสถานมายัง พอช.เพื่อพิจารณาอนุมัติ (พอช.สนับสนุนงบประมาณและเงินอุดหนุนการก่อสร้างบ้านครัวเรือนละ 147,000 บาท สินเชื่อก่อสร้างบ้านไม่เกิน 400,000 บาท ฯลฯ)
8.วางแผน ขออนุญาตก่อสร้าง และรื้อย้าย ชุมชนจะร่วมกับเจ้าหน้าที่ พอช. วางแผนการก่อสร้าง-รื้อย้ายหาที่อยู่อาศัยชั่วคราว และจัดเตรียมเอกสารเพื่อขออนุญาตก่อสร้างจากกรมธนารักษ์และสำนักงานเขต
จากคลองลาดพร้าวขยายไปยังคลองเปรมประชากร โดยพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ เป็นประธานพิธียกเสาเอกสร้างบ้านใหม่ชุมชนแรกในปี 2563
9.ทำนิติกรรมสัญญา และเบิกจ่ายงบประมาณ เมื่อ พอช.อนุมัติโครงการแล้ว ชุมชนจะต้องส่งตัวแทนในนามของสหกรณ์เคหสถานที่จดทะเบียนเอาไว้ไปทำนิติกรรมสัญญาเพื่อเบิกจ่ายงบประมาณ
10.กระบวนการก่อสร้างบ้าน เมื่อได้รับงบประมาณสนับสนุนจาก พอช.แล้ว ชุมชนจะคัดเลือกผู้รับเหมา หรือชุมชนใดที่มีช่างก่อสร้างในชุมชน อาจรับงานบางส่วน แบ่งหน้าที่การทำงาน เช่น จัดทำบัญชี สืบราคา ตรวจสอบวัสดุ ตรวจสอบการเงิน ตรวจสอบการก่อสร้าง ฯลฯ
11.พัฒนาคุณภาพชีวิต เมื่อก่อสร้างบ้านเสร็จแล้ว ชุมชนจะร่วมกับ พอช.และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพัฒนาชุมชนในด้านต่างๆ เช่น ส่งเสริมอาชีพ การท่องเที่ยวโดยชุมชน เรือโดยสารในคลอง ตลาดน้ำชุมชน ปรับปรุงสิ่งแวดล้อม ปลูกต้นไม้ ผักสวนครัว บำบัดน้ำเสียในครัวเรือนก่อนปล่อยลงคลอง จัดกิจกรรมเด็กและเยาวชน พัฒนาศักยภาพผู้สูงอายุ ฯลฯ
กระบวนการทั้ง 11 ขั้นตอนนี้ พอช.ได้นำมาใช้ในการพัฒนาชุมชนริมคลองลาดพร้าว คลองเปรมประชากร โดยขณะนี้ พอช.สนับสนุนการก่อสร้างบ้านใหม่ในชุมชนริมคลองทั้งสองแห่งแล้ว 45 ชุมชน สร้างบ้านเสร็จแล้วกว่า 3,500 ครัวเรือน และกำลังนำไปใช้เป็นแนวทางการพัฒนาชุมชนริมคลองแม่ข่า จังหวัดเชียงใหม่ เป้าหมายก็เพื่อให้ ‘คนอยู่ร่วมกับคลองได้’ โดยมีที่อยู่อาศัยใหม่ที่มั่นคง มีสภาพแวดล้อมและคุณภาพชีวิตที่ดี !!
บ้านใหม่ ชุมชนใหม่ ริมคลองเปรมประชากร ดูสวยงาม สะอาด เป็นแนวทางที่ พอช.จะนำไปใช้ที่ชุมชนริมคลองแม่ข่า จ.เชียงใหม่
เรื่องและภาพ : สำนักพัฒนานวัตกรรมชุมชนจัดการความรู้และสื่อสาร สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน)
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
สุราษฎร์ธานี จัดงานวันที่อยู่อาศัยโลกปี67 ย้ำชุมชนต้องเป็นแกนหลักในการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยคนจน
UN – HABITAT หรือ ‘โครงการตั้งถิ่นฐานมนุษย์แห่งสหประชาชาติ’ กำหนดให้วันจันทร์แรกของเดือนตุลาคมทุกปีเป็น ‘วันที่อยู่อาศัยโลก’ หรือ ‘World Habitat Day’
รวมพลังคนจนแก้ปัญหาที่ดิน-ที่อยู่อาศัยทั่วประเทศ วันที่อยู่อาศัยโลก ปี 2567
ปัญหาการขาดแคลนที่อยู่อาศัยหรือมีที่อยู่อาศัยไม่เหมาะสมเป็นปัญหาที่สำคัญของผู้คนทั่วโลก UN-Habitat หรือ ‘โครงการตั้งถิ่นฐานมนุษย์แห่งสหประชาชาติ’
‘21 ปีบ้านมั่นคง’ พอช. แก้ปัญหาที่อยู่อาศัยคนจนทั่วประเทศ กว่า 3 แสนครัวเรือน
รัฐบาลได้มีนโยบายที่จะแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยของผู้มีรายได้น้อย และสร้างความมั่นคงในการอยู่อาศัยแก่คนจนในเมืองที่ ยังไม่มีที่อยู่อาศัยเป็นของตนเอง โดยเฉพาะกลุ่มผู้อยู่อาศัยในชุมชนแออัด
เสียงจากคลองเปรมประชากร…บ้านหลังใหม่ชีวิตใหม่ “คืนสายน้ำให้คนคลอง คืนสายคลองให้คนเมือง”
คลองเปรมประชากร มีประวัติศาสตร์อันยาวนานและมีบทบาทสำคัญในการพัฒนาชุมชนและเศรษฐกิจของกรุงเทพมหานคร ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา คลองนี้ได้ประสบปัญหามากมาย
บอร์ด พอช. มีมติ พักชำระหนี้องค์กรผู้ใช้สินเชื่อในพื้นที่ประสบอุทกภัยทั่วประเทศ
สถานการณ์การเกิดอุทกภัยจากอิทธิพลของพายุยางิ ในระหว่างวันที่ 7 - 8 กันยายน 2567 ส่งผลกระทบต่อประชาชนในจังหวัดเชียงราย จำนวน 7 อำเภอ
รมว.พม. แจ้งตั้งศูนย์พักพิงชั่วคราว 34 แห่ง ใน 13 จว. ช่วยกลุ่มเปราะบาง-ผู้ประสบภัยน้ำท่วมริมแม่น้ำโขง ด้าน พอช. พร้อมอนุมัติงบช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบภัยพิบัติภาคเหนือและอีสาน
จากสถานการณ์น้ำท่วมในหลายพื้นที่ภาคเหนือ ส่งผลกระทบในพื้นที่ 8 จังหวัด 47 อำเภอ 207 ตำบล 22,817 ครัวเรือน โดยเฉพาะในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา