‘บ้านหลักแสน วิวหลักล้าน’ ชุมชนหลัง ว.ค.จันทรเกษมหรือสยามเวนิสและเรือพร้อมรับนักท่องเที่ยว เดิมมีสภาพเป็นชุมชนแออัด สร้างบ้านใหม่ 2-3 ชั้น ร่มรื่นด้วยต้นไม้
“เมื่อก่อนชุมชนอยู่กันอย่างไม่เป็นระเบียบ บ้านก็ผุๆ พังๆ เอาบ้านหันหลังลงคลอง ส้วมก็ลงในคลอง เด็กๆ ไม่กล้าพาเพื่อนมาเที่ยวที่บ้านเพราะอาย...แต่เดี๋ยวนี้เปลี่ยนไป ชุมชนดูสวยงาม ช่วยกันปลูกต้นไม้หน้าบ้าน มีห้องสมุดให้เด็ก หน่วยงานต่างๆ ก็เข้ามาส่งเสริมเรื่องอาชีพ เรื่องท่องเที่ยวชุมชน มีกระเป๋าถือสวยๆ ขาย เป็นงานแฮนด์เมดของชุมชน” ประภัสสร ชูทอง ประธานชุมชนหลัง ว.ค.จันทรเกษม กรุงเทพฯ บอก
ชุมชนหลัง ว.ค.จันทรเกษม (ปัจจุบันคือมหาวิทยาลัยราชภัฏจันทรเกษม) ตั้งอยู่ริมคลองลาดพร้าว เขตจตุจักร เป็นตัวอย่างหนึ่งของชุมชนริมคลองลาดพร้าวที่แต่เดิมมีสภาพเป็นชุมชนบุกรุกพื้นที่ริมคลอง สภาพบ้านเรือนทรุดโทรม ชาวบ้านแทบจะไม่ได้ใช้ประโยชน์จากคลอง เพราะน้ำในคลองดำเน่า กุ้ง ปลา หายไปนานหลายสิบปี คลองจึงเป็นเสมือนท่อรองรับสารพัดน้ำโสโครกและขยะจากอาคารบ้านเรือนและสถานประกอบการต่างๆ
สภาพบ้านเรือนชุมชนริมคลองลาดพร้าวที่ยังไม่ได้รื้อย้าย-สร้างใหม่
ฟื้นฟูคลองลาดพร้าว-เปรมประชากร
ปี 2554 เกิดเหตการณ์น้ำท่วมใหญ่ในกรุงเทพฯ และปริมณฑล สาเหตุส่วนหนึ่งมาจากการระบายน้ำในลำคลองสายหลักในกรุงเทพฯ ไม่มีประสิทธิภาพ เนื่องจากมีบ้านเรือนและสิ่งปลูกสร้างรุกล้ำลำคลองและกีดขวางทางไหลของน้ำ แต่รัฐบาลในขณะนั้นยังไม่ได้ดำเนินการใดๆ
ในยุครัฐบาล คสช. ‘คณะรักษาความสงบแห่งชาติ’ มีโครงการ ‘จัดระเบียบสิ่งปลูกสร้างรุกล้ำลำคลอง’ โดยการรื้อย้ายสิ่งปลูกสร้างและบ้านเรือนที่รุกล้ำลำคลอง เพื่อก่อสร้างเขื่อนระบายน้ำคอนกรีต และขุดลอกคลองให้ลึกกว่าเดิมเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำในคลอง ช่วยป้องกันน้ำท่วม
เริ่มดำเนินการในช่วงปี 2559 เป็นต้นมา ที่คลองลาดพร้าวเป็นแห่งแรก (ตามแผนงานจะดำเนินการในคลองสายหลัก 9 คลองในกรุงเทพฯ) โดยรัฐบาลมอบหมายให้กรุงเทพมหานครรับผิดชอบการสร้างเขื่อนระบายน้ำคอนกรีตในคลองลาดพร้าวสองฝั่งคลอง
ความยาวทั้งสองฝั่งคลองประมาณ 45 กิโลเมตร และขุดลอกคลองให้ลึกประมาณ 3 เมตร จากปากคลองลาดพร้าว (เชื่อมต่อกับคลองแสนแสบ บริเวณอุโมงค์ระบายน้ำพระราม 9) เขตวังทองหลาง ไปจนถึงประตูระบายน้ำคลองสองสายใต้ เขตสายไหม โดยบริษัทริเวอร์เอนจิเนียริ่ง จำกัด ประมูลงานได้ในวงเงิน 1,645 ล้านบาท
ชุมชนริมคลองลาดพร้าวย่านบางบัว เขตหลักสี่
กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ โดยสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) หรือ ‘พอช.’ รับผิดชอบการพัฒนาที่อยู่อาศัยและคุณภาพชีวิตชาวชุมชนริมคลองลาดพร้าวที่ต้องรื้อย้ายบ้านเรือนออกจากแนวคลองและแนวก่อสร้างเขื่อนระบายน้ำ ในพื้นที่ 8 เขต (จากเขตวังทองหลาง-สายไหม) รวมทั้งหมด 50 ชุมชน จำนวน 7,069 ครัวเรือน เริ่มดำเนินการในปี 2559
โดย พอช.สนับสนุนงบประมาณ (บางส่วน) สินเชื่อเพื่อก่อสร้างบ้าน และสนับสนุนกระบวนการรวมกลุ่มของชุมชน เพื่อให้ชุมชนเป็นแกนหลักในการพัฒนาที่อยู่อาศัย ส่วน พอช.และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเป็นฝ่ายสนับสนุน ถือเป็น ‘การพัฒนาที่อยู่อาศัยแนวใหม่’ ที่ประชาชนผู้เดือดร้อนรวมตัวกันแก้ไขปัญหา
จากนั้นในปี 2562 รัฐบาลได้ขยายไปดำเนินการในคลองเปรมประชากร ที่มีสภาพปัญหาการรุกล้ำลำคลองไม่ต่างจากคลองลาดพร้าว โดย กทม.รับผิดชอบสร้างเขื่อนระบายน้ำและระบบบำบัดน้ำเสียในพื้นที่เขตจตุจักร หลักสี่ และดอนเมือง ความยาวทั้งสองฝั่ง 26 กิโลเมตรเศษ และกรมโยธาธิการและผังเมือง กระทรวงมหาดไทย ดำเนินการในพื้นที่จังหวัดปทุมธานี
ส่วน พอช.รับผิดชอบการพัฒนาที่อยู่อาศัยและคุณภาพชีวิตชาวชุมชนริมคลองเปรมประชากรในเขตกรุงเทพฯ และปทุมธานี รวม 38 ชุมชน จำนวน 6,386 ครัวเรือน
ชุมชนริมคลองเปรมประชากร ย่านหลักสี่
บ้านใหม่ ชีวิตใหม่ชาวชุมชนริมคลอง
ส่วนความคืบหน้าการก่อสร้างเขื่อนระบายน้ำในคลองลาดพร้าว ขณะนี้บริษัทรับเหมาก่อสร้างส่งมอบพื้นที่ให้ กทม.ได้ 26,008 เมตร คิดเป็น 63.70% ยังไม่ส่งมอบพื้นที่ 14,802 เมตร คิดเป็น 36.3% ตอกเสาเข็มแล้ว 24,030 เมตร อยู่ระหว่างดำเนินการ 1,978 เมตร ตอกเสาเข็มได้ 32,320 ต้น คิดเป็น 92.4% ของพื้นที่ที่ส่งมอบ
ด้านการพัฒนาที่อยู่อาศัยชุมชนริมคลองลาดพร้าว จากชุมชนริมคลองทั้งหมด 50 ชุมชน จำนวน 7,069 ครัวเรือน ขณะนี้ พอช.สนับสนุนการสร้างบ้านใหม่ จำนวน 35 ชุมชน สร้างบ้านเสร็จแล้ว 3,106 หลัง กำลังสร้าง 432 หลัง ส่วนที่เหลืออยู่ระหว่างการดำเนินการ
ส่วนใหญ่ชาวบ้านสามารถอยู่อาศัยในชุมชนเดิมได้ โดยชุมชนทำสัญญาเช่าที่ดินในอัตราผ่อนปรนกับกรมธนารักษ์ หน่วยงานที่ดูแลที่ดินราชพัสดุริมคลอง ระยะเวลา 30 ปี (ช่วงแรก) เปลี่ยนสถานะจาก ‘ชุมชนบุกรุก’ เป็นผู้อยู่อาศัยถูกต้องตามกฎหมาย
บ้านใหม่ของชาวชุมชนริมคลองย่านเขตสายไหม ส่วนใหญ่ก่อสร้างเป็นบ้านแถวขนาด 2 ชั้น ราคาไม่เกิน 4 แสนบาท ผ่อนชำระประมาณเดือนละ 3 พันบาทเศษ ระยะเวลา 20 ปี
ส่วนรูปแบบบ้าน ส่วนใหญ่เป็นบ้านแถวแบบทาวน์เฮ้าส์ 2 ชั้น ขนาด 4X7 - 4X8 ตารางเมตร หรือตามสภาพพื้นที่แต่ละชุมชน โดย พอช. สนับสนุนงบประมาณด้านสาธารณูปโภคส่วนกลาง เงินอุดหนุนสร้างบ้าน ครัวเรือนละ 147,000 บาท และสินเชื่อก่อสร้างบ้านไม่เกิน 400,000 บาท ผ่อนชำระคืนภายในเวลา 20 ปี อัตราดอกเบี้ย 4 % ต่อปี
ส่วนคลองเปรมประชากรดำเนินการเช่นเดียวกับคลองลาดพร้าว ขณะนี้รื้อย้ายและสร้างบ้านใหม่แล้วใน 10 ชุมชน สร้างบ้านเสร็จ 447 หลัง กำลังสร้าง 509 หลัง จากเป้าหมายทั้งหมด 38 ชุมชน รวม 6,386 หลัง
อวยชัย สุดประเสริฐ ประธานชุมชนศาลเจ้าพ่อสมบุญ เขตสายไหม (ตรงข้ามตลาดยิ่งเจริญ สะพานใหม่) ซึ่งเป็นชุมชนริมคลองลาดพร้าวแห่งแรกที่เข้าร่วมการพัฒนาที่อยู่อาศัยชุมชนริมคลองตั้งแต่ปี 2559 และสร้างบ้านเสร็จในช่วงต้นปี 2560 รวม 65 หลัง ในจำนวนนี้ชาวบ้านได้ร่วมกันลงทุน ลงแรง สร้างบ้านกลางให้ผู้ด้อยโอกาสในชุมชนได้อยู่อาศัยฟรี 1 หลัง
ชุมชนศาลเจ้าพ่อสมบุญก่อนการพัฒนา
อวยชัยบอกว่า ก่อนการก่อสร้างบ้านใหม่ ชาวบ้านส่วนใหญ่ยังไม่เชื่อว่ารัฐบาลและหน่วยงานต่างๆ จะเข้ามาสนับสนุนโครงการนี้อย่างจริงจัง เพราะชาวบ้านบุกรุกที่ดินริมคลองปลูกสร้างบ้านมานานหลายสิบปี จึงกลัวว่าจะถูกไล่ที่ แต่ทุกคนก็อยากจะได้บ้านใหม่และอยู่อาศัยอย่างถูกต้อง เพราะบ้านเรือนส่วนใหญ่เก่าและผุพัง เมื่อเจ้าหน้าที่ พอช.เข้ามาให้คำแนะนำการรวมกลุ่ม การจัดตั้งกลุ่มออมทรัพย์ จึงร่วมกันออมทรัพย์เป็นทุนสร้างบ้าน ครอบครัวละ 500 -600 บาทต่อเดือน
“ตอนนี้ชุมชนของเราเปลี่ยนจากหน้ามือเป็นหลังมือ แต่เดิมบ้านส่วนใหญ่จะทรุดโทรมเพราะสร้างกันมานาน สะพานไม้ก็ผุพัง เด็กๆ ไม่มีที่วิ่งเล่น ขยะก็ทิ้งลงในคลอง น้ำก็เน่าเหม็น พอเริ่มสร้างบ้านใหม่เป็นชุมชนนำร่อง เราก็ต้องรื้อบ้านที่ปลูกล้ำคลองออกมา หน่วยงานต่างๆ ก็เข้ามาสนับสนุน ช่วยสร้างสนามเด็กเล่น มีเครื่องออกกำลังกาย มีถังบำบัดน้ำเสียรวม ช่วยกันปลูกต้นไม้ริมคลอง ชุมชนของเราตอนนี้จึงดูสวยงาม ไม่เป็นชุมชนแออัดเหมือนแต่ก่อน” อวยชัยบอกถึงความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น
ความเปลี่ยนแปลงที่ชุมชนศาลเจ้าพ่อสมบุญ
‘สยามเวนิส’ - ฟื้นการเดินเรือคลองลาดพร้าว
เช่นเดียวกับ ‘ชุมชนหลัง ว.ค.จันทรเกษม’ ที่เรียกชื่อใหม่เป็น ‘สยามเวนิสจันทรเกษม’ โดย ประภัสสร ชูทอง ประธานชุมชน บอกว่า นอกจากชาวบ้านจะร่วมกันเปลี่ยนแปลงสภาพชุมชนเดิมที่ทรุดโทรมแออัด จนเด็กนักเรียนในชุมชนไม่กล้าพาเพื่อนที่โรงเรียนมาเที่ยวที่บ้าน ให้เป็นบ้านใหม่ริมคลอง ทาสีขาวสวยงามสะอาดตาแล้ว
ชาวบ้านยังมีเป้าหมายพัฒนาชุมชนให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวริมคลองเหมือนกับเมือง ‘เวนิส’ ประเทศอิตาลีที่มีเรือพานักท่องเที่ยวชมบ้านเรือนริมคลอง โดยที่ผ่านมาชุมชนได้รับการสนับสนุนจากหลายหน่วยงาน เช่น กรมการค้าภายใน จัดกิจกรรม ‘หมู่บ้านทำมาค้าขาย’ มีอาหาร ขนม สินค้าชุมชนจำหน่าย เช่น กระเป๋าสานจากเส้นพลาสติกรูปทรงสวยงามทันสมัย วางขายทั้งในชุมชน งานออกบูธ และทางออนไลน์ สร้างอาชีพ รายได้ให้แก่ชุมชน (ดูข้อมูลเพิ่มเติมที่เฟซบุ๊กสยามเวนิส)
ส่วนหนึ่งของผลิตภัณฑ์ชุมชน ราคาตั้งแต่ 390-690 บาท (ติดต่อโทร 064-6286185)
นอกจากนี้ยังเชื่อมโยงเส้นทางท่องเที่ยวชุมชนริมคลองลาดพร้าวกับชุมชนชนต่างๆ โดยกลุ่มวิสาหกิจชุมชนเรือคลองลาดพร้าวซึ่งเป็นกลุ่มแกนนำชาวบ้านได้ร่วมกันจัดการท่องเที่ยวทางเรือในคลองลาดพร้าว และฟื้นฟูการใช้คลองให้เป็นเส้นทางคมนาคมทางน้ำเหมือนในอดีต
จำรัส กลิ่นอุบล ผู้นำชุมชนซอยลาดพร้าว 45 บอกว่า เมื่อก่อนในคลองลาดพร้าวชาวบ้านยังใช้เรือพายไปมาหาสู่กัน เวลามีงานจะพายเรือไปทำบุญที่วัดลาดพร้าว ตอนหลังถนนหนทางสะดวกขึ้น ชาวบ้านจึงเลิกใช้เรือ พวกตนจึงเริ่มฟื้นฟูคลองลาดพร้าวขึ้นมา โดยล่องเรือไปทอดกฐินทำบุญที่วัดลาดพร้าว จัดงานลอยกระทง ปลูกแฝกเพื่อกรองน้ำเสียในคลองบางซื่อที่เชื่อมกับคลองลาดพร้าว ฯลฯ
ปัจจุบันจดทะเบียนเป็น ‘วิสาหกิจชุมชนเรือคลองลาดพร้าว’ มีเรือจำนวน 5 ลำ (มูลนิธิพุทธรักษาสนับสนุนเรือ 3 ลำ) รองรับนักท่องเที่ยวได้ลำละ 10-20 คน มีเส้นทางท่องเที่ยวจากท่าเรือใกล้วัดพระราม 9 เขตห้วยขวางไปวัดลาดพร้าว ทำบุญไหว้พระ สักการะท้าวเวสสุวรรณ – ชุมชนสยามเวนิส ชมสินค้าชุมชน กระเป๋าถือ รับประทานอาหาร - วัดบางบัว ฯลฯ (สอบถามบริการที่เฟซบุ๊กวิสาหกิจชุมชนเรือคลองลาดพร้าว)
ผู้ว่าฯ กทม. ‘ชัชชาติ’ ลงเรือของวิสาหกิจชุมชนเรือคลองลาดพร้าวเมื่อเร็วๆ นี้
“ที่ผ่านมาจะมีกลุ่มมาล่องเรือเพื่อศึกษาดูงานการพัฒนาชุมชนในคลองลาดพร้าวอาทิตย์หนึ่งประมาณ 2 ครั้ง นอกจากนี้เราได้พูดคุยกับทางผู้บริหารตลาดยิ่งเจริญสะพานใหม่ ซึ่งกำลังจะปรับปรุงตลาดที่ตั้งอยู่ริมคลองลาดพร้าวเพื่อสร้างท่าเรือที่ตลาด หากท่าเรือแล้วเสร็จก็จะช่วยเชื่อมโยงการเดินเรือในคลองลาดพร้าวได้ และเชื่อมโยงกับรถไฟฟ้า BTS ด้วย เพราะมีสถานีรถไฟฟ้าอยู่หน้าตลาดยิ่งเจริญ” จำรัสในฐานะประธานวิสาหกิจชุมชนเรือคลองลาดพร้าวบอกถึงแผนการเชื่อมโยงเส้นทางคมนาคม ‘เรือ-ราง (รถไฟฟ้า)-รถ’
นี่คือตัวอย่างการพัฒนาชุมชนริมคลองลาดพร้าวและคลองเปรมประชากร ซึ่งไม่เพียงแต่จะทำให้ชาวชุมชนมีที่อยู่อาศัยใหม่ที่มั่นคงและมีสภาพแวดล้อมที่ดีกว่าเดิมเท่านั้น แต่ยังเป็นโอกาสให้ชาวชุมชนมีช่องทางในการสร้างอาชีพและรายได้...และจะเป็นต้นแบบที่สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ จะนำไปใช้พัฒนาที่อยู่อาศัยที่ชุมชนริมคลองแม่ข่า จ.เชียงใหม่ ซึ่งมีสภาพปัญหาที่ไม่แตกต่างกัน เพื่อให้คนและคลองอยู่คู่กันได้ !!
บ้านใหม่ ชุมชนใหม่ ริมคลองเปรมประชากร ดูสวยงาม สะอาดตา แนวสันเขื่อนระบายน้ำกว้างประมาณ 2 เมตร มีรั้วกันตก ใช้เป็นทางเดินหรือขี่จักรยานเลียบคลอง
เรื่องและภาพ : สำนักพัฒนานวัตกรรมชุมชนจัดการความรู้และสื่อสาร สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน)
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
สุราษฎร์ธานี จัดงานวันที่อยู่อาศัยโลกปี67 ย้ำชุมชนต้องเป็นแกนหลักในการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยคนจน
UN – HABITAT หรือ ‘โครงการตั้งถิ่นฐานมนุษย์แห่งสหประชาชาติ’ กำหนดให้วันจันทร์แรกของเดือนตุลาคมทุกปีเป็น ‘วันที่อยู่อาศัยโลก’ หรือ ‘World Habitat Day’
รวมพลังคนจนแก้ปัญหาที่ดิน-ที่อยู่อาศัยทั่วประเทศ วันที่อยู่อาศัยโลก ปี 2567
ปัญหาการขาดแคลนที่อยู่อาศัยหรือมีที่อยู่อาศัยไม่เหมาะสมเป็นปัญหาที่สำคัญของผู้คนทั่วโลก UN-Habitat หรือ ‘โครงการตั้งถิ่นฐานมนุษย์แห่งสหประชาชาติ’
‘21 ปีบ้านมั่นคง’ พอช. แก้ปัญหาที่อยู่อาศัยคนจนทั่วประเทศ กว่า 3 แสนครัวเรือน
รัฐบาลได้มีนโยบายที่จะแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยของผู้มีรายได้น้อย และสร้างความมั่นคงในการอยู่อาศัยแก่คนจนในเมืองที่ ยังไม่มีที่อยู่อาศัยเป็นของตนเอง โดยเฉพาะกลุ่มผู้อยู่อาศัยในชุมชนแออัด
เสียงจากคลองเปรมประชากร…บ้านหลังใหม่ชีวิตใหม่ “คืนสายน้ำให้คนคลอง คืนสายคลองให้คนเมือง”
คลองเปรมประชากร มีประวัติศาสตร์อันยาวนานและมีบทบาทสำคัญในการพัฒนาชุมชนและเศรษฐกิจของกรุงเทพมหานคร ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา คลองนี้ได้ประสบปัญหามากมาย
บอร์ด พอช. มีมติ พักชำระหนี้องค์กรผู้ใช้สินเชื่อในพื้นที่ประสบอุทกภัยทั่วประเทศ
สถานการณ์การเกิดอุทกภัยจากอิทธิพลของพายุยางิ ในระหว่างวันที่ 7 - 8 กันยายน 2567 ส่งผลกระทบต่อประชาชนในจังหวัดเชียงราย จำนวน 7 อำเภอ
รมว.พม. แจ้งตั้งศูนย์พักพิงชั่วคราว 34 แห่ง ใน 13 จว. ช่วยกลุ่มเปราะบาง-ผู้ประสบภัยน้ำท่วมริมแม่น้ำโขง ด้าน พอช. พร้อมอนุมัติงบช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบภัยพิบัติภาคเหนือและอีสาน
จากสถานการณ์น้ำท่วมในหลายพื้นที่ภาคเหนือ ส่งผลกระทบในพื้นที่ 8 จังหวัด 47 อำเภอ 207 ตำบล 22,817 ครัวเรือน โดยเฉพาะในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา