เมื่อชาวบ้านลุกขึ้นมาทำแผนธุรกิจเพื่อชุมชน !!

เมื่อก่อนเราเหมือนกับมวยวัด  ชกสะเปะสะปะ  พอได้มาเรียนรู้เรื่องการทำแผนธุรกิจเพื่อชุมชนแล้วเราจึงเอามาปรับใช้   เอามาวิเคราะห์ว่า  ทุนในชุมชนของเรามีอะไรบ้าง ? ...บ้านเรามีต้นตาล  มีลูกตาล  ก็มาคิดว่าจะทำอย่างไร ?  จึงจะเอาของพื้นบ้านพวกนี้มาพัฒนาให้เกิดประโยชน์   เอามาส่งเสริมเรื่องการท่องเที่ยวชุมชน...ตอนนี้ถือว่าเราชกเป็นแล้ว  เป็นมวยอาชีพแล้ว”  

ชัชชัย  นาคสุข  ประธานวิสาหกิจท่องเที่ยวโดยชุมชนบ้านไร่สะท้อนถ้ำรงค์  ต.ถ้ำรงค์  อ.บ้านลาด จ.เพชรบุรี  เกริ่นนำ  เขาบอกว่าตำบลถ้ำรงค์เริ่มทำเรื่องการท่องเที่ยวโดยชุมชนตั้งแต่ปี 2560  โดยมีหน่วยงานต่างๆ เข้ามาสนับสนุน  และเขาเคยผ่านการอบรมให้ความรู้เรื่องการบริหารจัดการท่องเที่ยวโดยชุมชนมาบ้าง  แต่ก็ยังไม่มีทิศทาง  ไม่มี  แนวทางชัดเจนว่าจะพัฒนาการท่องเที่ยวชุมชนไปทางไหน  อย่างไร ?  จนเมื่อได้มาเรียนรู้เรื่องการทำแผนธุรกิจเพื่อชุมชน จึงนำมาปรับใช้  ส่งผลให้ตำบลถ้ำรงค์เป็นที่รู้จักของนักท่องเที่ยวมากขึ้น

ชัชชัยเป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งของผู้แทนชุมชนต่างๆ ทั่วประเทศที่เข้าร่วมอบรมการจัดทำ แผนธุรกิจเพื่อชุมชน หรือ Community Business Model Canvas  (CBMC) ที่สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) หรือ ‘พอช.’ จัดอบรมเชิงปฏิบัติการให้แก่ผู้นำชุมชน  ตัวแทนกลุ่มอาชีพ  วิสาหกิจชุมชน หรือบุคคลทั่วไปที่สนใจ  

แผนธุรกิจเพื่อชุมชน CBMC คืออะไร ?

แผนธุรกิจเพื่อชุมชน  คือ  การออกแบบแผนดำเนินการธุรกิจเพื่อชุมชน   โดยใช้แบบจำลองทางธุรกิจเพื่อชุมชน  หรือ Community Business  Model  Canvas (CBMC)  

โดยในปี 2562  พอช. เริ่มจัดฝึกอบรมการจัดทำแผนธุรกิจเพื่อชุมชนทั่วประเทศ  จำนวน 121 กลุ่ม  รวมทั้งจัดพิมพ์หนังสือ “คู่มือการจัดทำแผนธุรกิจเพื่อชุมชน” ขึ้นมา  เพื่อประกอบการอบรม (สามารถดาวน์โหลดได้ที่ https://web.codi.or.th/printing_media/20200327-12063/)

มีเป้าหมาย  เพื่อให้ผู้เข้าอบรมเกิดความเข้าใจ  และเปลี่ยน “วิธีคิด” การทำธุรกิจชุมชน  จากเดิมที่ชุมชนจะใช้ “เงินเป็นตัวตั้ง” มาเป็นการใช้ “ทุน” เป็นปัจจัยในการผลิตที่สำคัญ  ซึ่งทุนในที่นี้หมายถึง ‘ทุนธรรมชาติ ทุนที่เป็นทุกสิ่งทุกอย่างที่มนุษย์สร้างขึ้น และหนึ่งสมองสองมือ” หรือทุนภายในชุมชน  เช่น  วัตถุดิบ  ผลผลิต  ความรู้  ภูมิปัญญา  ศิลปะ  วัฒนธรรม  แรงงาน  สรรพกำลังที่ชุมชนมีอยู่  ฯลฯ  ซึ่งจะทำให้ชุมชนเกิดความมั่นใจว่า “ชุมชนสามารถจัดการธุรกิจได้ด้วยตนเอง”

 แบบจำลองทางธุรกิจ 9 ขั้นตอน

ทรรศิน สุขโต  ผู้อำนวยการหลักสูตรแผนธุรกิจเพื่อชุมชน หรือ “ครูใหญ่ของผู้เข้ารับการอบรม CBMC จะใช้กระบวนการฝึกอบรม  ซึ่งมี  3 ขั้นตอน  ประกอบด้วย 1.แบบจำลองทางธุรกิจเพื่อชุมชน (Community Business Model Canvas)  2.แผนดำเนินงาน (Operation plan) และ 3. ปฏิทินงาน

1.แบบจำลองทางธุรกิจเพื่อชุมชน  ซึ่งถือเป็นหัวใจของ CBMC  มีกระบวนการ 9 ขั้นตอน  คือ 1.การค้นหาจุดขายเพื่อสร้างแบรนด์  2.ค้นหาลูกค้าที่ชัดเจนและลูกค้าในอนาคต  3.การสื่อสารการตลาด  4.ปิดการขายและบริการหลังการขายเพื่อจูงใจให้ซื้อซ้ำ  5.ช่องทางเพิ่มรายได้  เพิ่มผลิตภัณฑ์  เพิ่มลูกค้า  ลดค่าใช้จ่ายการผลิต  ปรับปรุงการผลิต  การบริการ 

6.แผนการดำเนินงานหรือกิจกรรมหลัก  เพื่อบรรลุผลข้อ 5 4 3 2 1 (การผลิต  การตลาด  การจัดองค์กร) 7.จากข้อ 6  สิ่งใดที่ทำเองได้  8.จากข้อ 6 สิ่งใดที่ทำลำพังไม่ได้  ต้องร่วมมือกับภายนอก  หน่วยงาน  พันธมิตร  และ   9.จากข้อ 6 ใช้เงินเท่าที่จำเป็น

2.แผนดำเนินงาน  หรือกิจกรรมหลักที่จำเป็นที่ต้องทำ  เป็นการวางแผนงานตามขั้นตอนที่ 6  โดยต้องลงรายละเอียดหรือเขียนแผนงานลงในตารางเพื่อให้เกิดความชัดเจน  เช่น  (1) ทำอะไร  (2) ทำอย่างไร  (3) ใครรับผิดชอบ  (4) เสร็จเมื่อไหร่ (ระบุวันเดือนปี)  และ (5) งบประมาณ (ใช้หรือไม่/มาจากไหน)

3.ปฏิทินงาน  คือการกำหนดรายละเอียดลงไปในปฏิทินงาน  เพื่อควบคุมให้งานเดินไปตามแผนและเป้าหมาย  โดยนำแผนดำเนินงานจาก (4) เสร็จเมื่อไหร่  มาลงรายละเอียดเพิ่มเติมในตาราง 

ทั้งนี้กระบวนการฝึกอบรมดังกล่าว  จะใช้เวลา 2-3 วัน  เพื่อให้ผู้เข้ารับการอบรมมีความรู้และเข้าใจกระบวนการออกแบบจำลองแผนธุรกิจเพื่อชุมชน 9 ขั้นตอน  และนำความรู้นั้นมาฝึกออกแบบจำลองแผน  การวางแผนดำเนินงานและจัดทำปฏิทินงาน

นอกจากนี้ยังมีกระบวนติดตามเสริมพลังหลังการฝึกอบรมอีก 2 ขั้นตอน  คือ 1.การถอดบทเรียน  ความรู้ที่ได้หลังการอบรม  และทบทวนการจัดทำแผน CBMC 9  ขั้นตอน  และ 2.การผลิตซ้ำ  ตอกย้ำทางความคิด  โดยให้ผู้เข้าอบรมนำแผน CBMC ไปปฏิบัติการจริงในชุมชนของตนเอง  และแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นจากการปฏิบัติจริง !!

วิถีชีวิตและเสน่ห์จากตาลของคนถ้ำรงค์

ตำบลถ้ำรงค์  อ.บ้านลาด จ.เพชรบุรี  เป็นตำบลหนึ่งของเพชรบุรีที่ชาวบ้านปลูกต้นตาลหรือ ‘ตาลโตนด’ ต่อเนื่องยาวนานตั้งแต่ครั้งบรรพบุรุษ  เรียกว่ามองไปทางไหนก็เห็นแต่ต้นตาล  บางต้นมีอายุเกือบ 200 ปี  ชาวบ้านรู้จักใช้ประโยชน์จากตาลแทบจะทุกส่วน  ตั้งแต่รากที่อยู่ใต้ดินจนถึงยอดใบ  ไม่ต้องพูดถึงความหอมหวานของน้ำตาลเมืองเพชรที่ลือชื่อ  นี่จึงเป็นจุดเริ่มต้นที่คนถ้ำรงค์นำมาทำเรื่องการท่องเที่ยวโดยชุมชนตั้งแต่ปี 2560

ส่วนหนึ่งของนักท่องเที่ยวที่มาชมวิถีตาลที่ถ้ำรงค์ จ.เพชรบุรี

แต่เหมือนอย่างที่ ชัชชัย  นาคสุข  ประธานวิสาหกิจท่องเที่ยวโดยชุมชนบ้านไร่สะท้อนถ้ำรงค์  เกริ่นตั้งแต่แรกว่า   การทำเรื่องท่องเที่ยวชุมชนในช่วงแรกๆ ยังไม่มีทิศทาง  ไม่มีแนวทางชัดเจนว่าจะพัฒนาการท่องเที่ยวชุมชนไปทางไหน  อย่างไร ?  จนเมื่อได้มาเรียนรู้เรื่องการทำแผนธุรกิจเพื่อชุมชน  หรือ BCMC จึงนำมาปรับใช้

“อย่างกระบวนการ 9 ขั้นตอนของ BCMC ข้อแรก  คือ  การค้นหาจุดขายเพื่อสร้างแบรนด์  ก็คือการวิเคราะห์ทุนในพื้นที่  ที่ไม่ได้ใช้เงินเป็นตัวตั้ง  แต่ใช้ทุนที่เรามีอยู่ในตำบล  คือ  ต้นตาลและลูกตาล  เราก็เอามาวิเคราะห์ว่าจะพัฒนาหรือสร้างประโยชน์ต่อไปได้อย่างไร  ค้นหาเสน่ห์ของตาล  ภูมิปัญญาพื้นบ้าน  พ่อแม่ของเราเอาตาลมาทำอะไรบ้าง  เอาไปเชื่อมโยงกับของดี  หรือแหล่งท่องเที่ยวอื่นๆ ที่มีอยู่ในตำบล”  ชัชชัยยกตัวอย่าง

หลังจากนั้นจึงมาค้นหาลูกค้าว่า  ลูกค้าที่จะมาเที่ยวที่ถ้ำรงค์เป็นลูกค้ากลุ่มไหน  เช่น  กลุ่มที่ชอบวิถีชีวิตแบบธรรมชาติ  ชอบวัฒนธรรมท้องถิ่น  และทำอย่างไรจึงจะดึงดูดให้เขาเข้ามาเที่ยว  เข้ามาแล้วมีส่วนร่วม  มีความสนุก จึงคิดโปรแกรมให้มาเรียนรู้และทำน้ำตาล  ขนมตาล  วุ้น  ทำสบู่จากลูกตาล  ทำเครื่องจักสาน 

นักท่องเที่ยวต่างชาติทดลองทำขนมตาล

หากเป็นลูกค้าแบบครอบครัว  มีเด็กๆ มาด้วย  ก็จะให้เรียนรู้การทำว่าว  วิ่งว่าว  ทำขนม  เด็กจะได้ละมือ  ละสายตาจากโทรศัพท์มือถือบ้าง  พ่อแม่ก็ชอบใจที่ได้ทำกิจกรรมร่วมกันทั้งครอบครัว

ส่วนด้านการตลาดและการสื่อสารนั้น  ชัชชัยบอกว่า  ตอนแรกเขาใช้สื่อออนไลน์ไม่เป็น  โทรศัพท์มือถือก็ใช้แค่โทรเข้า-โทรออก  จึงได้เรียนรู้เพิ่มเติมจากการจัดอบรมของ พอช.  เช่น  ฝึกการทำคลิป VDO. จากโทรศัพท์มือถือ  การใช้เฟซบุ๊ก  เพื่อแนะนำโปรแกรมและแหล่งท่องเที่ยว  ฯลฯ 

ปัจจุบันมีคลิป ‘คนรักตาลโตนด’  เผยแพร่ทาง YouTube ประมาณ 10 ตอน  เผยแพร่ความรู้  ภูมิปัญญาจากตาล  แนะนำแหล่งท่องเที่ยวในตำบล  มียอดผู้ชมประมาณ 1 แสนครั้ง  ยอดผู้ติดตามประมาณ 1,300 คน

นอกจากนี้ยังเชื่อมโยงเครือข่ายต่างๆ ในตำบล  เช่น  อบรม ‘มัคคุเทศน์น้อย’ ให้นักเรียนพานักท่องเที่ยวไปชม  แนะนำสถานที่ต่างๆ  ทำให้เด็กใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์  ได้ค่าขนม  นำแม่ครัวจากร้านอาหารในตำบลไปอบรม ‘เชฟกระทะเหล็ก’ เพื่อพัฒนาเมนูอาหารพื้นบ้าน  ขนม  เครื่องดื่มจากลูกตาล  ให้มีความหลากหลาย  มีเมนูเพิ่มมากขึ้น  ให้คนที่มีฝีมือในการทำว่าวสาธิตการทำและนำว่าวมาจำหน่าย  ฯลฯ  เป็นการกระจายรายได้ทั้งตำบล   โดยรายได้จากการท่องเที่ยวโดยชุมชน 10 % จะหักเข้ากองทุนเพื่อนำมาพัฒนาชุมชน

นำภูมิปัญญา  ของเล่นพื้นบ้านต่างๆ เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของการท่องเที่ยวชุมชน  นอกจากจะเป็นการอนุรักษ์  สร้างรายได้  ยังทำให้คนในชุมชนเกิดความภาคภูมิใจในมรดกชุมชน

จากนักเรียนเป็นพี่เลี้ยง CBMC

ปัจจุบันชัชชัยและผู้เข้ารบการอบรม CBMC รุ่นแรกๆ  อีกหลายคน  ได้รวมตัวกันเป็น ‘เครือข่าย CBMC แห่งประเทศไทย’ เพื่อเผยแพร่ความรู้เรื่องการวางแผนธุรกิจเพื่อชุมชนให้แก่ผู้นำชุมชน  กลุ่มเกษตร  กลุ่มวิสาหกิจชุมชน  ประชาชนทั่วไปที่สนใจ  หรือคนรุ่นใหม่ที่อยากจะกลับไปทำธุรกิจเพื่อชุมชนที่ภูมิลำเนาของตน  โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย 

ทั้งนี้ที่ผ่านมาเครือข่ายฯ จัดอบรม ‘หลักสูตรการจัดทำแผนธุรกิจ CBMC’ ทางโปรแกรม  Zoom Meeting เดือนละ 1 ครั้ง  ตั้งแต่ปี 2564  มีผู้เข้าร่วมครั้งละ 400-500 คน  โดยมีชัชชัยและสมาชิกเครือข่าย CBMC เป็นพี่เลี้ยง มี ‘ครูใหญ่’ ทรรศิน  สุขโต ร่วมให้ความรู้  (ครั้งต่อไปจะจัดในช่วงปลายเดือนสิงหาคมนี้  ผู้ที่สนใจเข้าอบรมหรือต้องการศึกษาเรื่องการจัดการท่องเที่ยวโดยชุมชนถ้ำรงค์ ติดต่อได้ที่ชัชชัย  นาคสุข  โทรฯ 099-2469099)

ทั้งหมดนี้  มีเป้าหมายเพื่อให้ชุมชนจัดการธุรกิจได้ด้วยตนเอง  ไม่ใช่เพื่อกอบโกย  แย่งชิง  หรือเน้นแต่ผลกำไร  แต่เป็นธุรกิจที่เอื้อเฟื้อ  แบ่งปัน  มีคุณธรรม  คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม  อนุรักษ์และฟื้นฟูสิ่งดีๆ ในชุมชน  สร้างนวัตกรรมใหม่ๆ  เพื่อให้คนในชุมชนได้ประโยชน์   เป็นธุรกิจเพื่อชุมชนอย่างแท้จริง !!

กลุ่มน้ำพริกเห็ด ‘แม่สร’ ธุรกิจชุมชนเขตบางบอน กรุงเทพฯ  เรียนรู้การวางแผนธุรกิจ CBMC นำมาต่อยอดเพิ่มผลิตภัณฑ์  ผลิตน้ำพริกจากเห็ดนางฟ้าได้ถึง 10 รสชาติ

 

เรื่องและภาพ  : สำนักพัฒนานวัตกรรมชุมชนจัดการความรู้และสื่อสาร  สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน)

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

รวมพลังคนจนเมืองทั่วประเทศ เปลี่ยนสลัม สู่บ้านมั่นคง บ้านแห่งศักดิ์ศรีที่ทุกคนร่วมสร้าง!

เมื่อความฝันของคนจนไม่บ้านกลายเป็นพลังที่ยิ่งใหญ่ วันนี้พร้อมที่จะก้าวข้ามขีดจำกัด เปลี่ยนแปลงสลัมให้เป็น "บ้านมั่นคง" ที่เต็มไปด้วยศักดิ์ศรีและคุณค่าของความเป็นมนุษย์

ประกาศผล 8 กองทุน เข้ารับรางวัลองค์กรสวัสดิการชุมชนดีเด่น ศาสตราจารย์ ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ประจำปี พ.ศ. 2567

สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน(องค์การมหารชน) หรือ พอช. ร่วมกับ คณะทำงานพิจารณารางวัลองค์กรสวัสดิการชุมชนประจำปี 2567 จัดเวทีพิจารณา รางวัลองค์กรสวัสดิการชุมชน

ชุมชนทั่วประเทศ ระดมข้อเสนอแนวทางแก้ไขปัญหาให้รัฐ ในการประชุม ‘ระดับชาติสภาองค์กรชุมชนตำบล’ ครั้งที่ 16 ปี 2567 เชื่อมั่น “พลังชุมชน พลังประชาชน สามารถเปลี่ยนแปลงประเทศได้”

การประชุมในระดับชาติของสภาองค์กรชุมชนตำบลครั้งที่ 16’ ปี 2567 ผู้แทนสภาองค์กรชุมชน ทั่วประเทศ ระดมข้อเสนอเชิงนโยบายให้รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแก้ไขปัญหาอย่างเป็นระบบ

“16 ปี สภาองค์กรชุมชนตำบล” “พัฒนาประชาธิปไตยฐานราก สร้างพลังชุมชนท้องถิ่นจัดการตนเอง”

‘สภาองค์กรชุมชนตำบล’ จัดตั้งขึ้นมาตาม ‘พ.ร.บ.สภาองค์กรชุมชน พ.ศ.2551’ ปัจจุบันเป็นระยะเวลา 16 ปี มีการจัดตั้งสภาองค์กรชุมชนในระดับตำบล เทศบาล และเขต

โค้งสุดท้าย 26 กองทุนฯทั่วไทย ลุ้นรางวัลกองทุนสวัสดิการชุมชนดีเด่น ‘ป๋วย อึ๊งภากรณ์’

กรุงทพฯ/(16 ธ.ค. 67) สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน(องค์การมหารชน) หรือ พอช. ร่วมกับ ภาคีเครือข่าย คณะทำงานพิจารณารางวัลองค์กรสวัสดิการชุมชนประจำปี 2567

พอช. หนุน “ศูนย์กระจายสินค้าชุมชน” โมเดลสร้างความเข้มแข็งเศรษฐกิจชุมชนฐานราก ที่กาญจนบุรี

สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) หรือ พอช. ร่วมกับ เครือข่ายองค์กรชุมชนจังหวัดกาญจนบุรี จัดพิธีเปิดศูนย์กระจายสินค้าชุมชนตำบลหนองตากยา