คนหนองยาง จ.อุทัยธานี ปลูกไม้มีค่า ‘ยางนา’ ต้นละ 1 แสนบาท ร่วมโครงการ ‘คาร์บอนเครดิต’ ลดโลกร้อน

ต้นยางนายักษ์  ไม้มีค่า  พื้นที่ 1 ไร่  ปลูกได้ 400 ต้น  มูลค่าหลายล้านบาท

โครงการ ธนาคารต้น หรือ ปลูกต้นไม้ใช้หนี้เพื่อให้ประชาชนปลูกไม้มีค่าเป็นทรัพย์สิน สามารถนำต้นไม้มาเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันเงินกู้จากธนาคารของรัฐ  รวมทั้งยังเพิ่มพื้นที่สีเขียว  สร้างสมดุลให้กับสิ่งแวดล้อม  ริเริ่มผลักดันโดยผู้นำชุมชนและเครือข่ายธนาคารต้นไม้กลุ่มหนึ่ง  เช่น  จินดา  บุญจันทร์  ผู้นำชุมชนจากจังหวัดชุมพร  ในช่วงปี 2549-2550  ทำให้รัฐบาลในยุคนั้นและยุคต่อมาขานรับ  ส่งผลให้เกษตรกรทั่วประเทศเกิดความตื่นตัว 

ดังตัวอย่างชาวบ้านที่ตำบลหนองยาง  อ.หนองฉาง  จ.อุทัยธานี...

ปลูกต้นไม้ใช้ค้ำประกันเงินกู้

ชนภัทร  วงษ์วิทยา  ประธานธนาคารต้นไม้ตำบลหนองยาง  เล่าว่า  ผู้นำชุมชนตำบลหนองยางเริ่มส่งเสริมให้ชาวบ้านปลูกไม้มีค่าในที่ดินตนเองตั้งแต่ปี 2550  จากนั้นในปี 2552  ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เข้ามาสนับสนุน  เช่น  อบรมให้ความรู้เรื่องไม้มีค่าประเภทต่างๆ  การวัดขนาดต้นไม้  การประเมินมูลค่า  การขึ้นทะเบียนต้นไม้  จับพิกัดต้นไม้ที่ปลูก   โดยใช้เครื่องมือ GIS  (ระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์ที่ใช้เครื่องมือคอมพิวเตอร์แสดงตำแหน่งที่ตั้งและข้อมูลของต้นไม้ที่ขึ้นทะเบียน) ฯลฯ 

ใช้สมาร์ทโฟนบันทึกพิกัดของต้นไม้เพื่อนำไปขึ้นทะเบียนธนาคารต้นไม้

“ตอนแรกมีชาวบ้านสมัครเป็นสมาชิกธนาคารต้นไม้ประมาณ 30 คน  เราให้สมาชิกปลูกไม้มีค่าคนละ 9 ต้น  เช่น  ยางนา  ประดู่  ชิงชัน  มะค่า  เริ่มจากบ้านหนองจิกเป็นหมู่บ้านแรก  ต่อมาจึงขยายไปทั้งตำบล  รวม 10 หมู่บ้าน  ตอนนี้มีสมาชิกทั้งหมดประมาณ 300 คน  มีไม้ที่ขึ้นทะเบียนแล้วประมาณ 3 หมื่นต้น  มีกรรมการ 15 คน  ถ้าสมาชิกคนใดจะขึ้นทะเบียนต้นไม้  กรรมการจะออกไปสำรวจและจับพิกัดต้นไม้เพื่อนำมาขึ้นทะเบียน  และออกโฉนดต้นไม้ให้ด้วยเพื่อเป็นหลักฐานเหมือนกับโฉนดที่ดิน”  ประธานธนาคารต้นไม้บอก

เขาบอกว่า  แต่เดิมชาวบ้านยังปลูกไม้มีค่าไม่มากนัก  เพราะตอนนั้นยังมี พ.ร.บ.ป่าไม้ พ.ศ.2484 ห้ามครอบครองไม้หวงห้าม  เช่น  ไม้สัก ไม้ยาง  ไม้ชิงชัน  ไม้พะยูง  ฯลฯ  แต่ในปี 2562 รัฐบาลได้ยกเลิกกฎหมายดังกล่าว  เพื่อส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกไม้มีค่า 58 ชนิดในที่ดินของตนเองเพื่อเป็นทรัพย์สินหรือสร้างรายได้  จึงทำให้มีชาวบ้านปลูกไม้มีค่าเพิ่มมากขึ้น 

ส่วนไม้ที่จะนำมาค้ำประกันเงินกู้กับ ธ.ก.ส.ได้  ต้องเป็นต้นไม้อายุ 1 ปีขึ้นไป  มีลำต้นตรง 2 เมตรขึ้นไป  ต้องเป็นต้นไม้ที่ปลูกในที่ดินของตนเอง   วัดขนาดเส้นรอบวงของต้นไม้จากพื้นดินขึ้นมา 1.30 เมตร  เพื่อนำมาประเมินมูลค่าตามชนิดของไม้  ขนาดอายุ  เส้นผ่านศูนย์กลาง  เส้นรอบวง  และปริมาตรเนื้อไม้  ตามที่ ธ.ก.ส.กำหนดเอาไว้

การวัดขนาดต้นไม้จะต้องวัดจากพื้นดินขึ้นมา  1.30 เมตร  เพื่อนำมาประเมินมูลค่า

“ที่ผ่านมา  มีสมาชิกธนาคารต้นไม้นำโฉนดต้นไม้ไปค้ำประกันกู้เงินจาก ธ.ก.ส. แล้วจำนวน 3 ราย  วงเงินตั้งแต่ 3 หมื่นถึง 2 แสนบาท  โดย ธ.ก.ส.จะให้เงินกู้ต้นหนึ่งไม่เกิน  50 เปอร์เซ็นต์ของราคาประเมินมูลค่าต้นไม้”  ประธานธนาคารต้นไม้แจงเพิ่มเติม

สมหมาย  บางแบ่ง  อายุ 62 ปี  อาชีพทำนา  บอกว่าที่ดินของครอบครัวปลูกต้นยางนาประมาณ 5 ไร่  มียางนารวมกันประมาณ  800 ต้น  ต้นใหญ่ที่สุดปลูกมาตั้งแต่รุ่นพ่อรุ่นแม่  อายุไม่ต่ำกว่า 70-80 ปี  วัดเส้นรอบวงได้ 352 เซนติเมตร  ราคาประเมินต้นนี้เกือบ 140,000 บาท   แต่จะไม่ตัดขาย  จะเก็บเอาไว้ให้ลูกหลาน  นอกจากนี้ในแปลงยางนายังมีผึ้งหลวงมาทำรัง  ทำให้ได้น้ำผึ้ง  และมีเห็ดต่างๆ ที่กินได้เกิดขึ้น

เจ้าของมรดกต้นยางนาในพื้นที่ 5 ไร่  ประมาณ 800 ต้น  มูลค่ามหาศาล

ส่วนข้อมูลจากกรมพัฒนาธุรกิจการค้า  กระทรวงพาณิชย์  ระบุว่า  ขณะนี้ (ข้อมูลเมื่อเดือนพฤษภาคม 2565)   มีกลุ่มวิสาหกิจชุมชน  เกษตรกรทั่วประเทศ  นำต้นไม้มาเป็นหลักประกันเงินกู้กับธนาคารรัฐ   รวม 146,000 ต้น  เป็นเงินกว่า 137 ล้านบาท  เช่น  ธ.ก.ส. จำนวน 318 ต้น  ยอดเงิน 3 ล้านบาทเศษ   ธนาคารกรุงไทย  จำนวน 23,000 ต้น  ยอดเงิน 128 ล้านบาท  ฯลฯ   ต้นไม้ที่นำมาเป็นหลักประกัน  เช่น  สัก  มะเกลือ  ไม้แดง   ยางนา  เต็ง  ทุเรียน  มะม่วง  ฯลฯ

ขายคาร์บอนเครดิตลดโลกร้อน

ขณะที่ ชนภัทร  วงษ์วิทยา  ประธานธนาคารต้นไม้ตำบลหนองยาง  บอกว่า  ในปีนี้ธนาคารต้นไม้จะร่วมกับสภาองค์กรชุมชนตำบลหนองยาง  ขยายผลโครงการปลูกไม้มีค่าหรือธนาคารต้นไม้   โดยจะให้เด็ก  เยาวชน  คนรุ่นใหม่ในตำบลเข้าร่วมเพื่อขยายเครือข่าย  โดยปลูกต้นไม้เพิ่มเพื่อสร้างพื้นที่สีเขียวให้มากขึ้น  และยังช่วยสร้างอากาศที่สะอาดให้แก่ชุมชนด้วย

ความร่มรื่นในแปลงยางนา  นอกจากจะเป็นไม้มีค่า  ยังช่วยสร้างอากาศสะอาด  ดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์

“เราจะส่งเสริมให้เด็กและเยาวชนปลูกไม้มีค่าตั้งแต่วันนี้  เพราะนอกจากจะมีประโยชน์เรื่องสิ่งแวดล้อมแล้ว      ในอนาคตก็จะเป็นบำนาญให้แก่คนปลูกด้วย  เพราะหากเด็กอายุ 10 ขวบเริ่มปลูกไม้มีค่าตั้งแต่วันนี้  พออายุ 60 ปีก็จะมีรายได้จากต้นไม้เป็นบำนาญ  เช่น  ต้นยางนาอายุ 50 ปี  จะมีเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 147 เซนติเมตร  มีมูลค่าต้นละ 14,900 บาท  ในพื้นที่ 1 ไร่  จะปลูกได้ประมาณ  400 ต้น  คิดเป็นเงินไร่ละเกือบ 6 ล้านบาท  แต่หากปลูกไม้เนื้อแข็ง  เช่น  ประดู่  ชิงชัน  พะยูง  ราคาก็จะสูงกว่านี้”  ประธานธนาคารต้นไม้กางตารางการประเมินมูลค่าต้นไม้พร้อมทั้งยกตัวอย่าง (ดูข้อมูลเพิ่มที่ http://www.treebankthai.com/)

นอกจากนี้ในปี 2566  ตำบลหนองยางจะจัดทำโครงการ ‘คาร์บอนเครดิต’ ซึ่งเป็นโครงการที่ ธ.ก.ส.ส่งเสริมให้ชุมชนเพิ่มพื้นที่สีเขียวเพื่อช่วยดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ซึ่งเป็นก๊าซเรือนกระจกที่ทำให้เกิดภาวะโลกร้อน 

แปลงปลูกยางนาที่ตำบลหนองยาง

ทั้งนี้ในปี 2564 ที่ผ่านมา  ธ.ก.ส. ได้สนับสนุนชุมชนที่เข้าร่วมโครงการคาร์บอนเครดิตไปแล้ว จำนวน 45 ชุมชน (ไม่เกินชุมชนละ 5 หมื่นบาท)  จำนวนต้นไม้ประมาณ 880,000 ต้น  ปริมาณการกักเก็บคาร์บอน 280,000 ตันคาร์บอน  โดย ธ.ก.ส. มอบเงินสนับสนุนชุมชนต่างๆ ไปแล้วเกือบ 2 ล้านบาท

“ธนาคารต้นไม้ของเรา  มีไม้มีค่าที่ขึ้นทะเบียนแล้วประมาณ  30,000 ต้น  และมีพื้นที่ป่าไม้ทั้งตำบลประมาณ 38,000 ไร่  โดย ธ.ก.ส. จะสนับสนุนเงินให้ชุมชนที่เข้าร่วมโครงการเพื่อลดก๊าซเรือนกระจกตันคาร์บอนละ 100  บาทเราจะได้นำงบสนับสนุนมาพัฒนาชุมชนต่อไป”  ชนภัทรบอกทิ้งท้าย

 

เรื่องและภาพ : สำนักพัฒนานวัตกรรมชุมชนจัดการความรู้และสื่อสาร  สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน)

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

รวมพลังคนจนเมืองทั่วประเทศ เปลี่ยนสลัม สู่บ้านมั่นคง บ้านแห่งศักดิ์ศรีที่ทุกคนร่วมสร้าง!

เมื่อความฝันของคนจนไม่บ้านกลายเป็นพลังที่ยิ่งใหญ่ วันนี้พร้อมที่จะก้าวข้ามขีดจำกัด เปลี่ยนแปลงสลัมให้เป็น "บ้านมั่นคง" ที่เต็มไปด้วยศักดิ์ศรีและคุณค่าของความเป็นมนุษย์

ประกาศผล 8 กองทุน เข้ารับรางวัลองค์กรสวัสดิการชุมชนดีเด่น ศาสตราจารย์ ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ประจำปี พ.ศ. 2567

สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน(องค์การมหารชน) หรือ พอช. ร่วมกับ คณะทำงานพิจารณารางวัลองค์กรสวัสดิการชุมชนประจำปี 2567 จัดเวทีพิจารณา รางวัลองค์กรสวัสดิการชุมชน

ชุมชนทั่วประเทศ ระดมข้อเสนอแนวทางแก้ไขปัญหาให้รัฐ ในการประชุม ‘ระดับชาติสภาองค์กรชุมชนตำบล’ ครั้งที่ 16 ปี 2567 เชื่อมั่น “พลังชุมชน พลังประชาชน สามารถเปลี่ยนแปลงประเทศได้”

การประชุมในระดับชาติของสภาองค์กรชุมชนตำบลครั้งที่ 16’ ปี 2567 ผู้แทนสภาองค์กรชุมชน ทั่วประเทศ ระดมข้อเสนอเชิงนโยบายให้รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแก้ไขปัญหาอย่างเป็นระบบ

“16 ปี สภาองค์กรชุมชนตำบล” “พัฒนาประชาธิปไตยฐานราก สร้างพลังชุมชนท้องถิ่นจัดการตนเอง”

‘สภาองค์กรชุมชนตำบล’ จัดตั้งขึ้นมาตาม ‘พ.ร.บ.สภาองค์กรชุมชน พ.ศ.2551’ ปัจจุบันเป็นระยะเวลา 16 ปี มีการจัดตั้งสภาองค์กรชุมชนในระดับตำบล เทศบาล และเขต

โค้งสุดท้าย 26 กองทุนฯทั่วไทย ลุ้นรางวัลกองทุนสวัสดิการชุมชนดีเด่น ‘ป๋วย อึ๊งภากรณ์’

กรุงทพฯ/(16 ธ.ค. 67) สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน(องค์การมหารชน) หรือ พอช. ร่วมกับ ภาคีเครือข่าย คณะทำงานพิจารณารางวัลองค์กรสวัสดิการชุมชนประจำปี 2567

พอช. หนุน “ศูนย์กระจายสินค้าชุมชน” โมเดลสร้างความเข้มแข็งเศรษฐกิจชุมชนฐานราก ที่กาญจนบุรี

สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) หรือ พอช. ร่วมกับ เครือข่ายองค์กรชุมชนจังหวัดกาญจนบุรี จัดพิธีเปิดศูนย์กระจายสินค้าชุมชนตำบลหนองตากยา