คนหนองยาง จ.อุทัยธานี ร่วมสร้างชุมชนเข้มแข็ง ‘ปลูกไม้มีค่า-สร้างสวัสดิการ-ทุนชุมชน-ฌาปนกิจขยะ’

ต้นยางนายักษ์  อายุไม่ต่ำกว่า 70-80 ปี  เส้นรอบวง 352 เซนติเมตร  ราคาประเมินเกือบ 140,000 บาท

คนหนองยาง  อ.หนองฉาง  จ.อุทัยธานี  ร่วมสร้างชุมชนเข้มแข็ง  โดย อบต.หนองยางร่วมกับแกนนำชุมชนและชาวบ้าน  พัฒนาชุมชนในด้านต่างๆ  เช่น  ส่งเสริมการปลูกไม้มีค่าหรือ ธนาคารต้นไม้ใช้เป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันเงินกู้จากธนาคารรัฐ  ตั้งกองทุนสวัสดิการชุมชน  สถาบันการเงิน-ร้านค้าชุมชน  ขยะฌาปนกิจและซ่อมสร้างบ้านพอเพียง  พร้อมทั้งเตรียมเข้าร่วมโครงการ คาร์บอนเครดิตเพิ่มพื้นที่สีเขียวช่วยลดภาวะโลกร้อน

ตำบลหนองยาง  อ.หนองฉาง  อยู่ห่างจากตัวเมืองอุทัยธานีไปทางทิศตะวันตกประมาณ 30 กิโลเมตร มีทั้งหมด 10 หมู่บ้าน  ประชากรประมาณ 4,600  คน  ส่วนใหญ่มีอาชีพเกษตรกรรม  ทำนา  ปลูกข้าวโพด มันสำปะหลัง  เลี้ยงสัตว์  ค้าขาย  และรับจ้างทั่วไป

ด้านการพัฒนาตำบล  ผู้นำชุมชน  ชาวบ้าน  และองค์การบริหารส่วนตำบลหนองยาง  ร่วมกันสนับสนุนการจัดตั้งกลุ่มต่างๆ เพื่อพัฒนาชุมชนมาอย่างต่อเนื่อง  เช่น   มีกองทุนหมู่บ้าน  กลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิต  กลุ่มผลิตข้าว  กลุ่มโรงสีข้าว  กลุ่มผลิตน้ำดื่มชุมชน  กลุ่มอาชีพ  ธนาคารต้นไม้  ฯลฯ  โดยยึดแนวทางพัฒนาแบบเศรษฐกิจพอเพียง  และการดูแลสิ่งแวดล้อม

สร้างสวัสดิการ-ทุนชุมชน

วรชาติ  ลิลา  รองนายก อบต.หนองยาง  บอกว่า   อบต.หนองยางได้สนับสนุนการพัฒนาชุมชนมาอย่างต่อเนื่อง  โดยในปี 2552  อบต. ร่วมกับแกนนำพัฒนาชุมชนและชาวบ้านจัดตั้ง ‘กองทุนสวัสดิการชุมชนตำบลหนองยาง’ ขึ้นมา  กำหนดให้สมาชิกสมทบเงินเข้ากองทุนเป็นรายปี  คนละ 360 บาท  แล้วนำเงินกองทุนนั้นมาช่วยเหลือสมาชิก

มีสวัสดิการช่วยเหลือสมาชิก  เช่น  คลอดบุตรช่วยเหลือ 1,000 บาท  พร้อมทั้งมอบกล้าไม้มีค่าหรือไม้ผลให้สมาชิกนำไปปลูก  เพื่อเป็นการส่งเสริมการปลูกต้นไม้  เมื่อต้นไม้เจริญเติบโตก็จะออกดอกผลหรือมีมูลค่าเพิ่มขึ้นเป็นสวัสดิการระยะยาวให้แก่สมาชิก

เมื่อสมาชิกเสียชีวิต  กองทุนฯ จะช่วยเหลือรายละ 2,500-30,000 บาท  ตามอายุการเป็นสมาชิก โดยที่ผ่านมา  อบต. สมทบงบประมาณสนับสนุนกองทุนสวัสดิการฯ ประมาณปีละ 100,000 บาท  (ปัจจุบันมีสมาชิกกองทุน 1,333 คน  เงินหมุนเวียนประมาณ  760,000 บาท)

วรชาติ  รองนายก อบต.หนองยาง

ทั้งนี้การจัดตั้งกองทุนสวัสดิการชุมชน  ได้รับการสนับสนุนจากกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์  และสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) หรือ ‘พอช.’  สนับสนุนให้ชาวบ้านรวมตัวกันจัดตั้งกองทุนสวัสดิการชุมชนในระดับตำบลหรือเทศบาลขึ้นมาทั่วประเทศ  เริ่มในปี 2548  เพื่อเป็นกองทุนให้สมาชิกในชุมชนได้ดูแลช่วยเหลือกัน  โดยรัฐบาลจะสมทบงบประมาณสนับสนุนกองทุนสวัสดิการชุมชนทั่วประเทศผ่าน พอช.

ในปี 2555  แกนนำพัฒนาในตำบลได้ร่วมกันจัดตั้ง ‘สถาบันการเงินชุมชนตำบลหนองยาง’  ขึ้นมา มีคณะกรรมการ 18 คน  เพื่อเป็นแหล่งทุนของชุมชน  แก้ปัญหาหนี้นอกระบบ  โดยให้สมาชิกกลุ่มกู้ยืมไปประกอบอาชีพ  หรือใช้จ่ายยามจำเป็น  โดยมีสมาชิกจากกลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิตในหมู่บ้าน  กองทุนหมู่บ้าน  กลุ่มอาชีพต่างๆ  และชาวบ้านในตำบลสมัครเป็นสมาชิก 

สถาบันการเงินชุมชนเปิดบริการเหมือนธนาคารพาณิชย์ทั่วไป 

สมาชิกต้องถือหุ้นอย่างน้อย  62 หุ้นๆ ละ 50 บาท  หรือ  3,100 บาท  มีสมาชิกถือหุ้นจำนวน  551 คน  เปิดให้สมาชิกฝาก-กู้-ชำระเงิน  ทุกวันจันทร์-ศุกร์  เวลา 8.30-16.30 น.  สมาชิกกู้ได้ไม่เกินรายละ 50,000 บาท  อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 1 ต่อเดือน  ผ่อนชำระคืนภายใน 18 เดือน

ขณะที่สถาบันการเงินชุมชนได้ทำบันทึกข้อตกลง (MoU.) กับ ธ.ก.ส.จังหวัดอุทัยธานี  เพื่อขอใช้สินเชื่อจำนวน  18 ล้านบาท  นำมาเป็นทุนหมุนเวียนให้สมาชิกกู้ยืม  จัดซื้อที่ดิน  สร้างอาคารที่ทำการสถาบันการเงิน  กองทุนสวัสดิการชุมชน  และเปิดร้านค้าชุมชน ‘CB Mart’  ขึ้นมา

ร้านค้าชุมชน CB Mart  หรือ ‘Community  Bank  Mart’  เปิดดำเนินการพร้อมกับสถาบันการเงินฯ  จำหน่ายสินค้าจำเป็นในชีวิตประจำวัน   เช่น  ข้าวสาร  อาหารแห้ง  นม  เครื่องดื่ม  สบู่  ยาสีฟัน  ฯลฯ  เหมือนกับร้านสะดวกซื้อทั่วไป  มีพนักงานขาย 1 คน  บันทึกการซื้อขายด้วยคอมพิวเตอร์  เปิดทุกวันตั้งแต่เวลา 7 โมงเช้า - 2 ทุ่ม

ร้านค้า CB Mart

ชนภัทร  วงษ์วิทยา  ในฐานะกรรมการดูแลด้านเศรษฐกิจและทุนชุมชนตำบลหนองยาง  บอกว่า  ร้านค้าชุมชน CB Mart   ถือเป็นส่วนหนึ่งของสถาบันการเงินชุมชน  สมาชิกถือหุ้นได้เท่ากับสถาบันการเงินฯ  (หุ้นละ 50 บาท  62  หุ้น  หรือ  3,100 บาท)   และสถาบันการเงินฯ จะออกบัตรสมาชิกเป็นการ์ดแบบบัตร ATM  คือบัตร ‘CB  Mart’ สามารถใช้ทำธุรกรรมกับสถาบันการเงินชุมชน  และใช้เป็นบัตรเครดิตซื้อสินค้าในร้าน CB Mart ได้  วงเงินไม่เกิน 2,000 บาท  แต่หากวงเงินกู้เต็มจำนวนแล้ว  จะใช้บัตรเครดิตซื้อไม่ได้

“ที่พิเศษกว่าร้านค้าทั่วไปก็คือ  สมาชิกสามารถนำสินค้าหรือผลิตภัณฑ์ของตัวเอง  หรือของกลุ่มมาจำหน่ายได้ฟรี  เช่น  ข้าวสาร  ไข่ไก่  ขนมต่างๆ  น้ำยาล้างจานที่ทำเอง  ส่วนสมาชิกที่ซื้อสินค้า  ตอนสิ้นปีก็จะมีเงินปันผลตามผลกำไรและยอดซื้อสินค้า  ปัจจุบันมียอดขายประมาณวันละ 1 หมื่นบาท  เดือนหนึ่งประมาณ 4-5 แสนบาท  ปีที่แล้วมียอดขายรวมประมาณ  5 ล้านบาท  กำไรประมาณ 6 แสนบาท  ปันผลให้สมาชิกหุ้นละ 2 บาท”  ชนภัทรบอกผลประกอบการ

ส่วนสถาบันการเงินชุมชนฯ ปัจจุบันมีสมาชิก 2,014 คน   มีเงินหมุนเวียนประมาณ 24 ล้านบาทเศษ  นอกจากจะเป็นแหล่งทุนของชุมชนแล้ว  สมาชิกธนาคารต้นไม้ในตำบลที่ขึ้นทะเบียนต้นไม้แล้ว  สามารถนำต้นไม้มาค้ำประกันเงินกู้จากสถาบันการเงินชุมชนได้  โดยสถาบันฯ จะให้สินเชื่อจำนวน 10 %  ของราคาประเมินต้นไม้  เช่น  หากต้นไม้มีมูลค่า 1 แสนบาท  จะให้สินเชื่อ 1 หมื่นบาท  ปัจจุบันมีสมาชิกใช้ต้นไม้กู้เงินแล้ว 3 ราย  เงินวงประมาณ 2 หมื่น - 1 แสนบาท 

กลุ่มฌาปนกิจขยะสร้างรายได้ปีละ 7 แสนบาท

วรชาติ  ลิลา  รองนายก อบต.หนองยาง  บอกว่า  ตำบลหนองยางมีขยะรวมกันปีหนึ่งประมาณ  540 ตัน  อบต. ต้องเสียค่าจัดการขยะปีละ 8-9 แสนบาท  จึงร่วมกับแกนนำพัฒนาในตำบลคิดหาวิธีจัดการขยะที่เหมาะสม  ในปี 2562  จึงได้จัดตั้งกลุ่ม ‘กองทุนฌาปนกิจสงเคราะห์ขยะรีไซเคิลตำบลหนองยาง’ ขึ้นมา  มีตัวแทนชาวบ้านหมู่ละ 5 คนร่วมเป็นคณะทำงาน

วิธีการ  คือ  ให้ชาวบ้านสมัครเข้าเป็นสมาชิกกองทุนฌาปนกิจฯ  รวมทั้งวัดและโรงเรียนในตำบลด้วย  จากนั้นให้สมาชิกรวบรวมและคัดแยกขยะในครัวเรือนที่ขายได้  หรือ ‘ขยะรีไซเคิล’  เช่น  ขวดแก้ว  ขวดพลาสติก  เศษโลหะ  ทองเหลือง  ทองแดง  กระดาษ  ฯลฯ  ส่วนขยะเปียกแยกต่างหากเพื่อนำไปทำปุ๋ยอินทรีย์   เป็นการคัดแยกขยะตั้งแต่ต้นทาง

จากนั้นในแต่ละเดือน อบต.จะนำรถออกไปรับซื้อขยะจากสมาชิกในหมู่บ้านต่างๆ  ทั้งตำบล  เพื่อนำมารวบรวมไว้ในโกดังที่ตั้งอยู่ด้านหลังสถาบันการเงินชุมชน  เมื่อขยะมีปริมาณมากจะโทรฯ แจ้งให้ร้านรับซื้อของเก่าเข้ามารับซื้อ  เฉลี่ยเดือนละ 1 ครั้ง

นำรถออกไปรับขยะรีไซเคิลจากสมาชิก 

ส่วนราคารับซื้อ  เช่น  ฝาขวดน้ำอัดลม กก.ละ 1 บาท  กระดาษขาวดำ  กก.ละ 4 บาท   พลาสติกใส กก.ละ 7 บาท  คอมพิวเตอร์เครื่องละ 8 บาท  ทองแดง กก.ละ 200 บาท  ฯลฯ 

นอกจากนี้ขยะอันตรายยังนำมาขายได้  เช่น ถ่ายไฟฉายขนาด AA 2 ก้อนมีค่าเท่ากับ 1 แต้ม  หรือ 50 สตางค์  กระป๋องสเปรย์กำจัดยุง  2 กระป๋อง 1 แต้ม  ฯลฯ  โดย อบต.จะรวบรวมส่งไปกำจัดอย่างถูกวิธีเพื่อไม่ให้มีขยะอันตรายตกค้าง 

“สมาชิกคนไหนนำขยะมาขาย  ได้เงินเท่าไหร่  เจ้าหน้าที่กองทุนฯ จะจดเอาไว้  เมื่อครบ 300 บาท  กองทุนฯ จะจ่ายเป็นเงินสดให้สมาชิก  ส่วนขยะรีไซเคิลที่กองทุนฯ ขายต่อให้ร้านค้าจะมีส่วนต่างหรือผลกำไร  เราจะนำมาเข้ากองทุนฌาปนกิจฯ  เมื่อสมาชิกเสียชีวิต  กองทุนฯ จะให้เงินช่วยเหลือ’ วรชาติบอก

ส่วนเงินช่วยเหลือจะให้ตามจำนวนสมาชิกกลุ่มที่มีอยู่  รายละ 20 บาท  ปัจจุบันมีสมาชิกทั้งหมดประมาณ  600 คน  เมื่อเสียชีวิตจะได้รับเงินช่วยเหลือรายละ 12,000 บาท   ที่ผ่านมามีสมาชิกเสียชีวิต  94 ราย   รวมเงินช่วยเหลือทั้งหมดประมาณ 1 ล้านบาทเศษ

ด้วยวิธีนี้จึงช่วยให้ตำบลหนองยางลดปริมาณขยะ   และนำขยะรีไซเคิลมาขายได้ประมาณปีละ 70 ตัน  เป็นเงินประมาณปีละ 7 แสนบาท  ช่วยกำจัดขยะอันตรายได้ประมาณปีละ 27 ตัน  และขยะเปียกยังนำมาทำปุ๋ยอินทรีย์ได้อีก !!

ช่วยสมาชิกเสียชีวิตจากขยะ

ก้าวย่าง...สู่ชุมชนเข้มแข็งยั่งยืน

นอกจากการพัฒนาชุมชนต่างๆ ดังกล่าว  โดยการนำของแกนนำพัฒนาในตำบลร่วมกับ อบต.หนองยางและชาวบ้านแล้ว  สภาองค์กรชุมชนตำบลหนองยางได้มีบทบาทในการพัฒนาชุมชนไม่น้อยเช่นกัน 

สัภยา  นิ่มพระยา  ประธานสภาองค์กรชุมชนตำบลหนองยาง  บอกว่า  สภาองค์กรชุมชนตำบลหนองยางจัดตั้งในเดือนมีนาคม 2556 (ตาม พ.ร.บ.สภาองค์กรชุมชน พ.ศ.2551) มีคณะทำงานมาจากตัวแทนกลุ่มต่างๆ ในตำบล มีบทบาทในการพัฒนาและแก้ไขปัญหาต่างๆ  เช่น  ปัญหาที่อยู่อาศัยของประชาชนที่มีรายได้น้อย  ตามโครงการ ‘บ้านพอเพียงชนบท’ เพื่อซ่อมสร้างบ้านเรือนให้แก่ครอบครัวที่มีฐานะยากจน  บ้านเรือนทรุดโทรม  ให้มีสภาพดีขึ้น  โดย พอช.สนับสนุนงบประมาณครัวเรือนละ 20,000 บาท  

ขณะที่สภาองค์กรชุมชนฯ ได้ตั้งคณะทำงานขึ้นมา  เพื่อสำรวจครัวเรือนที่เดือดร้อนในตำบล  จากนั้นจะมีการถอดแบบการซ่อมแซมว่าบ้านแต่ละหลังจะซ่อมแซมตรงไหน  ใช้วัสดุอะไร  จำนวนเท่าไหร่   แล้วสั่งซื้อวัสดุมาซ่อมแซม  ใช้การลงแรงช่วยเหลือกัน  โดยตั้งแต่ปี 2561 ถึงปัจจุบัน  ซ่อมสร้างบ้านไปแล้ว  52 ครัวเรือน  และมีแผนในปี 2566 อีก 31  ครัวเรือน

“โครงการบ้านพอเพียงนี้  เราจะให้ครอบครัวที่ได้รับการช่วยเหลือซ่อมบ้าน  สมทบเงินเข้ากองทุนจำนวน 10 เปอร์เซ็นต์ของงบประมาณที่ได้รับการช่วยเหลือ  เช่น  ถ้าได้รับงบ 2 หมื่นบาท  ต้องสมทบเข้ากองทุน 2 พันบาท  แต่ให้ทยอยสมทบเป็นรายเดือนตามกำลังจนกว่าจะครบ  เพื่อนำเงินจากกองทุนนี้ไปช่วยเหลือคนที่เดือดร้อนรายอื่นต่อไป ที่ผ่านมาเราใช้เงินไปช่วยเหลือเพิ่มเติมแล้ว 1 หลัง”  ประธานสภาองค์กรชุมชนฯ บอก

นอกจากนี้ในปีงบประมาณ 2565  สภาองค์กรชุมชนฯ ได้จัดทำโครงการพัฒนาคุณภาพชีวิตชุมชนผู้มีรายได้น้อยชนบทตำบลหนองยาง  ได้รับการสนับสนุนงบประมาณจาก พอช. จำนวน 90,000 บาท  เพื่อสร้างความเข้มแข็งและพัฒนากลุ่มต่างๆ ในตำบล  มีเป้าหมาย 10 หมู่บ้าน  รวม 1,814  ครัวเรือน 

เช่น  1.จัดทำแผนพัฒนาคุณภาพชีวิตชาวบ้านในตำบล  2.ส่งเสริมการปลูกไม้มีค่า  ขยายผลโครงการธนาคารต้นไม้  (เป้าหมาย 189 ครัวเรือน)  3.ส่งเสริมเด็ก เยาวชน  คนรุ่นใหม่  ให้มีส่วนร่วมพัฒนาเครือข่ายธนาคารต้นไม้  (เป้าหมาย  40 คน)  4.พัฒนากลุ่มอาชีพต่างๆ เช่น  กลุ่มโรงสีข้าว  น้ำดื่ม  สถาบันการเงินชุมชน  ร้านค้าชุมชน  ฯลฯ  ขณะนี้อยู่ระหว่างการดำเนินงาน

ทั้งหมดนี้คือรูปธรรมความร่วมมือร่วมใจของคนหนองยาง  อ.หนองฉาง  จ.อุทัยธานี  ที่ร่วมกันพัฒนาชุมชนในทุกมิติ  สร้างสวัสดิการ  ทุนและเศรษฐกิจ  คุณภาพชีวิตและสิ่งแวดล้อม  เพื่อก้าวสู่ชุมชนเข้มแข็งอย่างยั่งยืน !!

ส่วนหนึ่งของชาวบ้านที่เข้าร่วมโครงการพัฒนาคุณภาพชีวิต

 

เรื่องและภาพ : สำนักพัฒนานวัตกรรมชุมชนจัดการความรู้และสื่อสาร  สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน)

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

สุราษฎร์ธานี จัดงานวันที่อยู่อาศัยโลกปี67 ย้ำชุมชนต้องเป็นแกนหลักในการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยคนจน

UN – HABITAT หรือ ‘โครงการตั้งถิ่นฐานมนุษย์แห่งสหประชาชาติ’ กำหนดให้วันจันทร์แรกของเดือนตุลาคมทุกปีเป็น ‘วันที่อยู่อาศัยโลก’ หรือ ‘World Habitat Day’

รวมพลังคนจนแก้ปัญหาที่ดิน-ที่อยู่อาศัยทั่วประเทศ วันที่อยู่อาศัยโลก ปี 2567

ปัญหาการขาดแคลนที่อยู่อาศัยหรือมีที่อยู่อาศัยไม่เหมาะสมเป็นปัญหาที่สำคัญของผู้คนทั่วโลก UN-Habitat หรือ ‘โครงการตั้งถิ่นฐานมนุษย์แห่งสหประชาชาติ’

‘21 ปีบ้านมั่นคง’ พอช. แก้ปัญหาที่อยู่อาศัยคนจนทั่วประเทศ กว่า 3 แสนครัวเรือน

รัฐบาลได้มีนโยบายที่จะแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยของผู้มีรายได้น้อย และสร้างความมั่นคงในการอยู่อาศัยแก่คนจนในเมืองที่ ยังไม่มีที่อยู่อาศัยเป็นของตนเอง โดยเฉพาะกลุ่มผู้อยู่อาศัยในชุมชนแออัด

สภาแต่งดำยืนไว้อาลัยโศกนาฏกรรมบัสทัศนศึกษา

'สภา'แต่งดำยืนไว้อาลัยโศกนาฏกรรมบัสทัศนศึกษามรณะ 'วันนอร์' มอบ 'ภราดร' เป็นเจ้าภาพ เยี่ยมครอบครัวผู้เสียชีวิต -ผู้บาดเจ็บ-โรงเรียน เตรียมเสนอญัตติด่วนด้วยวาจาหาแนวทางป้องกัน

เสียงจากคลองเปรมประชากร…บ้านหลังใหม่ชีวิตใหม่ “คืนสายน้ำให้คนคลอง คืนสายคลองให้คนเมือง”

คลองเปรมประชากร มีประวัติศาสตร์อันยาวนานและมีบทบาทสำคัญในการพัฒนาชุมชนและเศรษฐกิจของกรุงเทพมหานคร ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา คลองนี้ได้ประสบปัญหามากมาย