สสส. – สธ. ผนึก 100 ภาคีสุขภาพ ระดมสมองสร้างกลไกแก้ปัญหาเด็กอ้วน ลุย ดันมาตรการบังคับใช้ปกป้องเด็กไทยจากการตลาดอาหาร-เครื่องดื่มที่ส่งผลต่อสุขภาพ เน้นจัดการเทคนิคการทำการตลาดอาหารหวาน มัน เค็ม ลดเสี่ยง NCDs ต้นเหตุการตายก่อนวัยอันควร

นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า เด็กไทยมีภาวะเริ่มอ้วนและอ้วนจากพฤติกรรมการบริโภคอาหารที่ไม่เหมาะสม โดยเฉพาะอาหารที่มีไขมัน น้ำตาล โซเดียมสูง สาเหตุส่วนหนึ่งเกิดจากการทำการตลาดที่กระตุ้นให้เด็กบริโภคอาหารและเครื่องดื่มที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพมากขึ้น ในช่วง 2 ทศวรรษที่ผ่านมา เด็กไทยอ้วนเพิ่มขึ้นกว่า 2 เท่า โดยเด็กเล็ก 1-5 ปี เพิ่มเป็น 11.4% และเด็กวัยเรียน 6-14 ปี เพิ่มเป็น 13.7% รวมทั้งเด็กวัยรุ่น พบ 13.1% ซึ่งยังเป็นปัญหาสาธารณสุขไทยที่สำคัญ นำไปสู่ความเสี่ยงต่อการเกิดโรค NCDs ซึ่งเป็นสาเหตุหลักของการเสียชีวิตก่อนวัยอันควร

“แม้ไทยมีมาตรการแก้ไขปัญหาเด็กอ้วนอย่างต่อเนื่อง ทั้งการส่งเสริมสุขภาพ สร้างความรอบรู้และสนับสนุนให้มีสิ่งแวดล้อมที่เอื้อต่อการมีสุขภาพที่ดี แต่มาตรการปกป้องเด็กจากการตลาดอาหารและเครื่องดื่มที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพเป็นมาตรการสำคัญที่ต้องดำเนินการควบคู่กันไป เนื่องจากกลยุทธ์การตลาดเป็นปัจจัยสำคัญที่มีอิทธิพลต่อการตัดสินใจซื้อและบริโภคของเด็ก โดยเฉพาะวัยที่เริ่มมีกำลังซื้อด้วยตนเอง ที่ผ่านมา ไทยมีการควบคุมการตลาดอาหารและเครื่องดื่มบางส่วน แต่ยังไม่ครอบคลุมเทคนิคการทำการตลาด ขาดกลไกการบังคับใช้ ติดตาม และประเมินผลอย่างมีประสิทธิภาพ กรมอนามัยและภาคีเครือข่ายสุขภาพ จึงร่วมกันพัฒนามาตรการทางกฎหมายเพื่อปกป้องเด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี จากการตลาดอาหารและเครื่องดื่มที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพ ควบคู่กับการสร้างควมรอบรู้ด้านสุขภาพโดยคาดหวังสร้างสิ่งแวดล้อมให้เอื้อต่อสุขภาพของเด็กไทยอย่างยั่งยืน” นพ.สุวรรณชัย กล่าว

ดร.นพ.ไพโรจน์ เสาน่วม ผู้ช่วยผู้จัดการกองทุน สสส. กล่าวว่า สสส. ตระหนักถึงปัญหาภาวะอ้วนในเด็ก จากการมีพฤติกรรมการบริโภคอาหารที่ไม่ถูกหลักโภชนาการ  ส่งผลกระทบต่อสุขภาพทั้งด้านร่างกาย จิตใจ สังคม และปัญญา สสส. ได้ยกระดับความสำคัญของการดำเนินงานประเด็นอาหารให้เป็น 1 ใน 7 เรื่อง ที่กำหนดไว้ในทิศทางและเป้าหมายเชิงยุทธศาสตร์ระยะ 10 ปี (พ.ศ. 2565-2574) สสส. ร่วมกับ กรมอนามัย องค์การอนามัยโลก ประจำประเทศไทย องค์การทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติ (UNICEF) ภาคีเครือข่ายด้านสุขภาพ ภาคประชาสังคม สถาบันการศึกษา และหน่วยงานภาครัฐ กว่า 100 องค์กร เร่งระดมความคิดเห็นผ่านการประชุมเชิงปฏิบัติการ “ร่วมปกป้องเด็กไทยจากการตลาดอาหารและเครื่องดื่มที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพ” ครั้งนี้ เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ และสร้างกลไกการมีส่วนร่วมจากภาครัฐ ภาคประชาสังคม และภาควิชาการ เพื่อนำไปพัฒนาปรับปรุงมาตรการการดำเนินงานให้มีประสิทธิภาพและเป็นรูปธรรมในระดับนโยบายต่อไป

พญ.โอลิเวียร์ ไนเวรัส แพทย์ด้านโรคไม่ติดต่อ องค์การอนามัยโลกประจำประเทศไทย (WHO) กล่าวว่า ประเทศไทยได้ร่วมรับรองชุดข้อเสนอว่าด้วยเรื่องการทำการตลาดอาหารและเครื่องดื่มที่ไม่มีแอลกอฮอล์ในเด็กในที่ประชุมสมัชชาองค์การอนามัยโลกครั้งที่ 63 และแผนปฏิบัติการเพื่อการป้องกันและควบคุม NCDs ระดับโลก พ.ศ. 2556-2573 และนอกจากนั้นคณะรัฐมนตรี ได้เห็นชอบต่อร่างปฏิญญาทางการเมืองฯ ว่าด้วยการป้องกันและควบคุม NCDs ซึ่งมาตรการการควบคุมการตลาดอาหารและเครื่องดื่มที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพ เป็นมาตรการที่แนะนำให้ดำเนินการเพื่อการป้องกันและควบคุมโรค NCDs อันอิงอยู่บนหลักฐานเชิงประจักษ์ ทั้งนี้มาตรการการดังกล่าว ยังเป็นข้อเสนอแนะของคณะทำงานร่วมระหว่างหน่วยงานสหประชาชาติว่าด้วยการป้องกันและควบคุมโรคไม่ติดต่อในประเทศไทย (UNIATF on NCDs) ที่เสนอต่อรัฐบาลไทย นอกจากนี้พบว่าประเทศที่ใช้กฎหมายควบคุมการตลาดอาหารและเครื่องดื่มที่มีไขมัน น้ำตาล โซเดียมสูง เช่น ชิลี อังกฤษ แคนาดา (รัฐควิเบก) เกาหลีใต้ สามารถช่วยลดปัจจัยการพบเห็นและลดสิ่งกระตุ้นจากการตลาดอาหารและเครื่องดื่มที่มีผลกระทบต่อสุขภาพเด็กได้ ซึ่งมีประสิทธิผลดีกว่าประเทศที่มีแนวปฏิบัติแบบภาคสมัครใจ

ทพญ.ปิยะดา ประเสริฐสม ผู้จัดการโครงการเครือข่ายเด็กไทยไม่กินหวาน สสส. กล่าวว่า กว่า 20 ปีที่เครือข่ายฯ มุ่งสร้างความรอบรู้ทางด้านสุขภาพ รณรงค์ขับเคลื่อนสังคมเพื่อลดการบริโภคหวาน ส่งเสริมการบริโภคผลิตภัณฑ์อาหารที่ดีต่อสุขภาพ จัดปัจจัยแวดล้อมด้านอาหารเพื่อสุขภาวะ และขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะ โดยเฉพาะในกลุ่มเด็กและเยาวชน ผ่านโครงการโรงเรียนอ่อนหวานที่มีโรงเรียนเข้าร่วมกว่า 700 โรง ใน 25 จังหวัด รวมถึงการผลักดันมาตรการทางภาษีเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของน้ำตาล เพื่อให้คนในประเทศบริโภคหวานน้อยลง ทำให้ไทยได้รับคำชื่นชมในระดับสากล นับเป็นการขับเคลื่อนงานสร้างเสริมสุขภาพเชิงรุก ด้วยหลักการที่สำคัญคือ การจัดสภาพแวดล้อมด้านอาหารที่เอื้อต่อการบริโภคอาหารเพื่อสุขภาวะ และควบคุมปัจจัยที่มากระตุ้น ชักชวน จูงใจให้เอื้อต่อการบริโภคอาหารที่ส่งผลเสียต่อสุขภาพ ดังนั้นหน่วยงานทุกภาคส่วน พ่อแม่ ผู้ปกครอง และผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง จึงมีส่วนสำคัญอย่างยิ่งในการประสานความร่วมมือ เพื่อสนับสนุนและผลักดันมาตรการควบคุมการตลาดอาหารและเครื่องดื่มที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพเด็กไทยอย่างเร่งด่วน

รศ.ภญ.ดร.วรรณา ศรีวิริยานุภาพ ผู้จัดการแผนงานวิชาการและกลไกคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ (คคส.) คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า กลยุทธ์ทางการตลาด เทคโนโลยี และการสื่อสารมีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว ส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตของประชาชนผู้บริโภคในหลายๆ ด้าน มีการส่งเสริมการขาย การแสดงข้อมูลบนฉลากอาหาร คำเตือน การโฆษณา การจูงใจ ลด แลก แจก แถมมาใช้ในกระบวนการจำหน่ายสินค้าเพื่อกระตุ้นพฤติกรรมการซื้อและบริโภคของประชาชน ในขณะที่วัยเด็กส่วนใหญ่ยังมีดุลพินิจไม่สมบูรณ์เท่าผู้ใหญ่ และขาดความรู้ ความเข้าใจในการบริโภคผลิตภัณฑ์อาหารและเครื่องดื่มที่ไม่ดีต่อสุขภาพ เช่น ขนมขบเคี้ยว เครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของน้ำตาล รวมถึงไม่เท่าทันเทคนิคทางการตลาดที่เข้าถึงตัวเด็กง่ายและรวดเร็ว ดังนั้นการผลักดันให้เกิดการบังคับใช้มาตรการการควบคุมการตลาดอาหารและเครื่องดื่มที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพเด็กอย่างเป็นรูปธรรม ร่วมกับมาตรการอื่นๆ จะช่วยส่งเสริม สนับสนุน และกำกับดูแลให้มีการซื้อขายสินค้าหรือบริการที่ถูกต้อง และปกป้องคุ้มครองผู้บริโภคที่ได้รับความเดือดร้อนและเสียหายจาการกระทำของผู้ประกอบธุรกิจอาหารได้อย่างมีประสิทธิภาพ

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

เด็กไทยป่วยซึมเศร้าทะลุ 2,200 คน ต่อประชากรแสนคน เสี่ยงทำร้ายตัวเอง 17.4% ซ้ำเข้าไม่ถึงบริการสุขภาพจิต

ที่อาคารศูนย์เรียนรู้สุขภาวะ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) สานพลังภาคีเครือข่ายขับเคลื่อนงานสุขภาวะเด็กและเยาวชน จัดกิจกรรม “ดูแลวัยเด็กด้วยศิลปะด้านใน เนื่องในวันเด็กแห่งชาติ ปี 2568” ภายใต้โครงการโมเดลวิทยากรต้นแบบศิลปะด้านในเชิงลึกเพื่อขยายชุมชนการเรียนรู้และพัฒนาสุขภาวะเด็กก่อนวัยรุ่น เปิดพื้นที่ให้เด็ก เยาวชน พ่อแม่

กรมกิจการเด็กและเยาวชน จับมือ มูลนิธิเด็ก เยาวชน และครอบครัว-สสส. จัดเสวนาสะท้อนปัญหาความรุนแรงในครอบครัว เนื่องในวันเด็กแห่งชาติ 68 เสริมแกร่งความรู้ความเข้าใจด้านสิทธิเด็ก

เมื่อเวลา 13.30 น. วันที่ 8 ม.ค. 2568 ที่โรงแรมแมนดาริน กรมกิจการเด็กและเยาวชน (ดย.) กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) พร้อมด้วยมูลนิธิเด็ก เยาวชน และครอบครัว สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)

ชี้คนไทย"พร่อง"กิจกรรมทางกาย สสส.รณรงค์สร้างสุขกระฉับกระเฉง

โรคไม่ติดต่อ (NCDs) เป็นสาเหตุของการเสียชีวิตสูงเป็นอันดับ 1 เฉลี่ย 3 แสนคนต่อปี คิดเป็น 75% ของสาเหตุการตายทั้งหมด ส่งผลให้เกิดความสูญเสียทางเศรษฐกิจสูง

รณรงค์ "กินให้หมดจาน" 50ร้านต้นแบบช่วยลดขยะ

รู้หรือไม่?!?..... มีสถิติระบุว่า ขยะอาหารโลกพุ่งกว่า 1 พันล้านตัน ภาพขยะกองสูงเป็นภูเขาที่รอฝังกลบ กว่าครึ่งคือขยะอาหาร คนไทยเพียงคนเดียวผลิตขยะสูงลิ่ว 146 กก./คน/ปี

'สมศักดิ์' ฟุ้งปีหน้า 'รัฐบาลอิ๊งค์' ฉลุย อีก 2 ปีครึ่ง พท. กลับมายิ่งใหญ่

'สมศักดิ์' มองทิศทางการเมืองปี 68 มั่นใจรัฐบาลแพทองธาร เดินไปได้ไร้ปัญหาสะดุดล้ม พรรคร่วมไม่ถึงขั้นแตกหัก ฟุ้งอีก 2 ปีครึ่ง เพื่อไทยกลับมายิ่งใหญ่

โควิดพุ่ง! ติดเชื้อใหม่รอบสัปดาห์ 3,039 ราย ดับ 1 คน 'เชียงใหม่' ป่วยสูงสุด

กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข รายงานสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 รายสัปดาห์ว่า ระหว่างวันที่ 22 - 28 ธันวาคม 2567 มีผู้ติดเชื้อรายใหม่