องค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลก ชี้การเลี้ยงสัตว์แบบอุตสาหกรรม สร้างปัญหาสิ่งแวดล้อม และความไม่เป็นธรรมทางสังคม ส่งกระทบรุนแรงต่อสุขภาพคนทั่วโลก แนะรัฐตื่นตัว ปฏิรูประบบปศุสัตว์โดยคำนึงถึงคุณภาพชีวิตของประชาชน สวัสดิภาพสัตว์ และการใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืน
องค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลก หรือ World Animal Protection จัดทำรายงานล่าสุด ที่ชื่อว่า “ภัยคุกคามสุขภาพที่ซ่อนไว้ในระบบปศุสัตว์เชิงอุตสาหกรรม ปฏิรูประบบปศุสัตว์เพื่อสุขภาพของคน สัตว์ และสิ่งแวดล้อมที่ดีขึ้น” โดยอธิบายถึงผลกระทบที่เกิดจากการกินเนื้อสัตว์อย่างขนานใหญ่ของมวลมนุษยโลก ว่าส่งผลกระทบเชิงลบต่อสิ่งแวดล้อม สุขภาพ และยังทำให้ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางสังคมรุนแรงยิ่งขึ้น
โดยรายงานระบุว่า ในรอบ 30 ปีมานี้ คนทั่วโลกกินเนื้อสัตว์เพิ่มขึ้นอย่างมาก น่าสังเกตว่า คนที่กินเนื้อสัตว์มากที่สุด คือคนในประเทศร่ำรวย อย่างสหรัฐอเมริกา ออสเตรเลีย อิสราเอล ขณะที่คนในประเทศรายได้ปานกลางถึงต่ำ จากที่เคยกินพืชผักก็เปลี่ยนมากินเนื้อสัตว์กันเพิ่มขึ้น ทำให้เกิด “ฟาร์มอุตสาหกรรม” ซึ่งส่งผลกระทบต่อโลก และคุณภาพชีวิตของทุกคน
ฟาร์มอุตสาหกรรม สร้างวิกฤติโลกร้อน-บ่อนทำลายความมั่นคงทางอาหาร
ฟาร์มปศุสัตว์ขนาดใหญ่ ทำให้เกิดการตัดป่าเพื่อปลูกพืชอาหารสัตว์ เป็นการทำลายที่อยู่อาศัยของสัตว์นานาชนิด ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2513 เป็นต้นมา สัตว์ประเภทต่าง ๆ ทั่วโลกลดจำนวนลงอย่างต่อเนื่อง สัตว์กว่าหนึ่งล้านสายพันธุ์เสี่ยงที่จะสูญพันธุ์ การผลิตเนื้อสัตว์เชิงอุตสาหกรรมยังเป็นแหล่งปล่อยก๊าซที่เป็นองค์ประกอบหลักของก๊าซเรือนกระจก อันเป็นสาเหตุของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ รวมทั้งก่อมลพิษทางน้ำ
พื้นที่ 3 ใน 4 ของโลกซึ่งเคยเป็นแหล่งเพาะปลูกพืชอาหาร ถูกปรับเป็นแปลงปลูกพืชอาหารสัตว์ ขณะที่เนื้อสัตว์และผลิตภัณฑ์จากนมมีราคาสูง ผู้คนทั้งในทวีปแอฟริกา เอเชีย และละตินอเมริกา ไม่สามารถเข้าถึงอาหารที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย ในราคาที่เหมาะสมอย่างในอดีต
ทั้งคนรวยและยากจน รับผลกระทบด้านสุขภาพ
หลังโควิด 19 แพร่ระบาด ผู้คนทั่วโลกเผชิญความอดอยากหิวโหยเพิ่มมากขึ้น คนในประเทศรายได้ต่ำและปานกลางต้องรับมือกับภาวะทุพโภชนาการ และโรคขาดสารอาหาร ขณะเดียวกัน คนอีกจำนวนหนึ่งกลับมีภาวะน้ำหนักเกิน โรคอ้วน และเสี่ยงต่อโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง อย่างเบาหวาน โรคหัวใจ โรคหลอดเลือด มะเร็ง ร้อยละ 70 ของคนทั่วโลกในปัจจุบัน เสียชีวิตจากโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง การกินอาหารจากฟาร์มปศุสัตว์มากเกินไป กินผักผลไม้น้อย เป็นหนึ่งในปัจจัยเสี่ยงหลัก
การที่ผู้ผลิตพยายามลดต้นทุนเนื้อสัตว์ให้ต่ำเพื่อทำกำไร โดยการทำฟาร์มใหญ่ ให้สัตว์อยู่กันอย่างแออัด ใช้สัตว์สายพันธุ์โตไว แต่ต้านทานโรคต่ำ เมื่อสัตว์อ่อนแอก็ต้องใช้ยาปฏิชีวนะเพื่อป้องกันสัตว์เจ็บป่วย การใช้ยาปฏิชีวนะแบบรวมหมู่ อย่างต่อเนื่อง ทำให้ “เชื้อดื้อยา” ปัจจุบัน ฟาร์มสัตว์ถือเป็นแหล่งแพร่เชื้อดื้อยาที่สำคัญ ซึ่งส่งผลกระทบต่อสุขภาพและระบบสาธารณสุขไปทั่วโลก
กลุ่มผู้ใช้แรงงานในอุตสาหกรรมการผลิตเนื้อสัตว์ ยังเป็นกลุ่มที่ไม่ได้รับความเป็นธรรม จากการต้องทำงานในสภาพแวดล้อมที่ย่ำแย่ ค่าแรงต่ำ ทำงานหนัก เสี่ยงต่อการบาดเจ็บจากเครื่องจักร และโรคต่าง ๆ ในช่วงโควิด 19 แพร่ระบาด คนงานในโรงบรรจุภัณฑ์เนื้อสัตว์ในสหรัฐอเมริกา ติดเชื้อโควิดสูงกว่า 300,000 ราย และกลุ่มคนงานแปรรูปเนื้อสัตว์ก็เป็นกลุ่มที่ได้รับบาดเจ็บและล้มป่วยจากการทำงานมากที่สุด
นอกจากนี้ องค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลกยังมีข้อเสนอแนะเชิงนโยบายสำหรับรัฐบาลในทุกประเทศ ที่สำคัญคือภาครัฐต้องตระหนักถึงผลกระทบด้านสาธารณสุข และสิ่งแวดล้อม จากฟาร์มปศุสัตว์เชิงอุตสาหกรรม โดยกำหนดและดำเนินนโยบายอย่างเอาจริงเอาจัง เพื่อปรับเปลี่ยนระบบการผลิตไปสู่เกษตรนิเวศ ที่อยู่บนพื้นฐานของการเคารพสิทธิของประชาชน และปกป้องสวัสดิภาพให้กับสัตว์ที่ถูกนำมาเป็นอาหารไปพร้อมกัน
หมายเหตุ รายงานฉบับเต็ม ภัยคุกคามที่ซ่อนไว้ในระบบปศุสัตว์เชิงอุตสาหกรรม
https://www.worldanimalprotection.or.th/The-hidden-health-impacts-of-factory-farming
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
เผยงานวิจัยล่าสุด : การล่าสัตว์เพื่อรางวัล กำลังฉุดอุตสาหกรรมท่องเที่ยวของแอฟริกาใต้ให้เสียหาย
งานวิจัยล่าสุดเปิดเผยให้เห็นว่าประชาชนในแอฟริกาใต้และนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติต่างต้องการเห็นการยุติการล่าสัตว์เพื่อรางวัลหรือเพื่อนำซากสัตว์มาตกแต่งหรือเป็นของที่ระลึก
ร้องตรวจสอบมาตรฐานสวัสดิภาพ ‘วังช้างอยุธยา แล เพนียด’ เหตุคลิปทำร้ายช้าง
องค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลก World Animal Protection เข้ายื่นหนังสือร้องเรียนต่อคณะกรรมาธิการที่ดิน ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม