‘ศักดิ์สยาม’ ลงพื้นที่ติดตามความคืบหน้าการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและการให้บริการด้านคมนาคมขนส่งในพื้นที่จังหวัดพิจิตร

นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ลงพื้นที่ติดตามความคืบหน้าการพัฒนาด้านโครงสร้างพื้นฐานและการให้บริการด้านคมนาคมขนส่งในพื้นที่จังหวัดพิจิตร พร้อมด้วย นายวิรัช พิมพะนิตย์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม นายชยธรรม์ พรหมศร ปลัดกระทรวงคมนาคม นายสรพงศ์ ไพฑูรย์พงษ์ รองปลัดกระทรวงคมนาคม โดยมี นายชนก มากพันธุ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดพิจิตร และหัวหน้าส่วนราชการในสังกัดกระทรวงคมนาคมในพื้นที่จังหวัดพิจิตร ให้การต้อนรับและบรรยายสรุปการดำเนินงานโครงการสำคัญ เมื่อวันที่ 30 กรกฎาคม 2565

นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า ตามนโยบายรัฐบาล ภายใต้การนำของ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้มีข้อสั่งการให้กระทรวงคมนาคมเร่งรัดพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งอย่างเป็นรูปธรรม ครอบคลุมทุกมิติทั้งทางถนน ทางราง ทางน้ำ และทางอากาศ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจและส่งเสริมการท่องเที่ยวของประเทศ อำนวยความสะดวกด้านการคมนาคมขนส่ง    รวมถึงการแก้ไขปัญหาจราจรติดขัดที่สร้างความเดือดร้อนให้แก่ประชาชน ซึ่งการลงพื้นที่ตรวจราชการจังหวัดพิจิตรครั้งนี้ เพื่อติดตามความก้าวหน้าและเร่งรัดการดำเนินโครงการสำคัญในการขับเคลื่อนการพัฒนาด้านคมนาคมขนส่ง   ในพื้นที่จังหวัดพิจิตร ดังนี้

มิติด้านการพัฒนาทางถนน

การพัฒนาโครงข่ายทางหลวง

1.1 ทางหลวงหมายเลข 11 แยกอินทร์บุรี - อำเภอสากเหล็ก ตอนอำเภอทับคล้อ - อำเภอสากเหล็ก ระยะทาง 30.900 กิโลเมตร (ขยายเป็น 4 ช่องจราจร) ปัจจุบันมีความก้าวหน้าโครงการ ร้อยละ 41.93 คาดว่าจะเปิดให้บริการในปี 2566

1.2 ทางหลวงหมายเลข 11 อำเภออินทร์บุรี - อำเภอสากเหล็ก ตอนไดตาล - เขาทราย ตอน 3 ระยะทาง 19.523 กิโลเมตร (ขยายเป็น 4 ช่องจราจร) ปัจจุบันมีความก้าวหน้าโครงการ ร้อยละ 26.29 คาดว่าจะเปิดให้บริการในปี 2567

1.3 ทางหลวงหมายเลข 115 กำแพงเพชร - พิจิตร ตอนตำบลบึงบัว - บ้านคลองโนน ระยะทาง 9.150 กิโลเมตร (ขยายเป็น 4 ช่องจราจร) ลงนามในสัญญาเมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม 2565 คาดว่า   จะเปิดให้บริการในปี 2567

1.4 ทางหลวงหมายเลข 115 กำแพงเพชร - พิจิตร ตอนบ้านเนินสมอ - สี่แยกสากเหล็ก ระยะทาง 10.860 กิโลเมตร (ขยายเป็น 4 ช่องจราจร) ปัจจุบันมีความก้าวหน้าโครงการ ร้อยละ 25.46 คาดว่าจะเปิดให้บริการในปี 2567

1.5 ทางหลวงหมายเลข 1067 บ้านโพทะเล - สี่แยกโพธิ์ไทรงาม ระยะทาง 11.400 กิโลเมตร (ปรับเป็นมาตรฐานทางชั้น 1) ปัจจุบันมีความก้าวหน้าโครงการ ร้อยละ 1.42 คาดว่าจะเปิดให้บริการในปี 2568

1.6 โครงการก่อสร้างทางหลวงแผ่นดิน ทางหลวงหมายเลข 113 ตอนเขาทราย - ฆะมัง กม.81+400 – 84+600 โดยขยายเป็น 4 ช่องจราจร ระยะทาง 30.200 กิโลเมตร ผลงานก่อสร้าง ร้อยละ 62.55

1.7 โครงการก่อสร้างปรับปรุงแยกทางหลวง ทางหลวงหมายเลข 1070 และทางหลวงหมายเลข 1289 โดยปรับปรุงทางแยกและเพิ่มมาตรฐานชั้นทางหลวง ผลงานก่อสร้าง ร้อยละ 34.68

1.8 โครงการยกระดับความปลอดภัยทางแยกขนาดใหญ่ ทางหลวงหมายเลข 113 กม.81+202 (แยกศิริวัฒน์) โดยก่อสร้างปรับปรุงเปลี่ยนผิวจราจรทางแยกเป็นผิวคอนกรีต ผลงานก่อสร้าง ร้อยละ 82.90

1.9 โครงการยกระดับความปลอดภัยทางแยกขนาดใหญ่ ทางหลวงหมายเลข 115 กม.86+308 (แยกดงชะพู) โดยก่อสร้างปรับปรุงเปลี่ยนผิวจราจรทางแยกเป็นผิวคอนกรีต ผลงานก่อสร้าง ร้อยละ 88.20

  1. การพัฒนาโครงข่ายทางหลวงชนบท

   2.1 โครงการก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำน่าน ตำบลห้วยเกตุ อำเภอตะพานหิน เพื่ออำนวยความสะดวกในการเดินทางของประชาชนสองผั่งแม่น้ำ มีจุดเริ่มต้นจากทางหลวงหมายเลข 1374 บรรจบทางหลวงหมายเลข 113 ผลการก่อสร้างมีความก้าวหน้าร้อยละ 3.10 ตามแผนจะก่อสร้างแล้วเสร็จและเปิดให้สัญจรได้ในปี 2567

   2.2 โครงการก่อสร้างสะพานข้ามแม่นํ้าน่าน ตําบลปากทาง อําเภอเมืองพิจิตร เพื่อเชื่อมโยงชุมชนหมู่ที่ 1 และหมู่ที่ 2 ตําบลปากทาง อำเภอเมืองพิจิตร โดยก่อสร้างเป็นสะพานคอนกรีตเสริมเหล็ก พร้อมถนนเชื่อมต่อ ขนาด 2 ช่องจราจรความกว้าง 8 เมตร ความยาว 360 เมตร ผลการก่อสร้างมีความก้าวหน้าร้อยละ 2.32 ตามแผนจะก่อสร้างแล้วเสร็จและเปิดให้ใช้สัญจรได้ในปี 2567

  1. แผนแม่บท MR-MAP โครงข่ายคมนาคมที่ประกอบไปด้วยถนนมอเตอร์เวย์และทางรถไฟ พัฒนาอยู่ในพื้นที่บริเวณเดียวกันเพื่อเชื่อมโยงการเดินทางในพื้นที่ทุกภาคของประเทศไทยให้สามารถเดินทาง ได้อย่างสะดวกและปลอดภัย ส่งเสริมการขนส่งสินค้าอย่างมีประสิทธิภาพ ลดค่าใช้จ่ายในการขนส่ง จำนวน 10 สายทาง ระยะทางรวมทั้งหมดประมาณ 6,869 กิโลเมตร ปัจจุบันคณะกรรมการจัดการจราจรทางบกได้เห็นชอบแผนแม่บทดังกล่าวแล้ว ซึ่งกรมทางหลวง และการรถไฟแห่งประเทศไทยจะได้ดำเนินการสำรวจและออกแบบในรายโครงการต่อไป

ทั้งนี้มีแนวเส้นทาง MR-MAP ที่พาดผ่านในพื้นที่จังหวัดพิจิตร ได้แก่ แนวเส้นทาง MR1 เชียงราย – นราธิวาส ระยะทางรวมประมาณ 2,125 กิโลเมตร โดยเส้นทางนี้สามารถเชื่อมโยงการเดินทางจากเมียนมา สปป.ลาว ภาคเหนือ ภาคกลาง ภาคใต้ และมาเลเซีย

มิติการพัฒนาทางราง กระทรวงคมนาคมมีแผนพัฒนารถไฟทางคู่ทั่วประเทศ แบ่งออกเป็นแผนพัฒนารถไฟทางคู่ระยะเร่งด่วน (พ.ศ. 2560 - 2564) จำนวน 7 เส้นทาง ระยะทาง 993 และแผนพัฒนารถไฟทางคู่ระยะที่ 2 (พ.ศ. 2565 - 2569) จำนวน 7 เส้นทาง ระยะทาง 1,483 กิโลเมตร ปัจจุบันอยู่ระหว่างขออนุมัติโครงการ และจัดทำรายงาน EIA และยังมีแผนพัฒนารถไฟทางคู่ในระยะถัดไปอีกจำนวน 12 เส้นทาง โดยการพัฒนาเส้นทางรถไฟทางคู่ในพื้นที่ภาคเหนือ ซึ่งเป็นโครงการรถไฟทางคู่ระยะที่ 2 (พ.ศ. 2565 – 2569) เส้นทางปากน้ำโพ - เด่นชัย   อยู่ในพื้นที่ 5 จังหวัด ได้แก่ นครสวรรค์ พิจิตร พิษณุโลก อุตรดิตถ์ และแพร่ ระยะทาง 281 กิโลเมตร มีสถานี 43 แห่ง ย่านกองเก็บตู้สินค้า 3 แห่ง อยู่ระหว่างขออนุมัติโครงการ นอกจากนี้ กระทรวงคมนาคมมีแผนเร่งรัดการพัฒนารถไฟความเร็วสูงทั่วประเทศ ระยะทาง 2,506 กิโลเมตร โดยมีเส้นทางรถไฟความเร็วสูงในพื้นที่ภาคเหนือที่สำคัญ ได้แก่ เส้นทางกรุงเทพฯ – พิษณุโลก ระยะทาง 380 กิโลเมตร และเส้นทางพิษณุโลก – เชียงใหม่ ระยะทาง 288 กิโลเมตร     ปัจจุบันได้ดำเนินการออกแบบกรอบรายละเอียดแล้วเสร็จ คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ได้เห็นชอบรายงาน EIA แล้ว และอยู่ระหว่างการหารือเรื่องรูปแบบการดำเนินโครงการและศึกษาแนวทางการลดต้นทุนเพิ่มเติม

มิติการพัฒนาทางน้ำ มีโครงการเขื่อนป้องกันตลิ่งพัง จังหวัดพิจิตร จำนวน 8 งาน ซึ่งกรมเจ้าท่าดำเนินการแล้วเสร็จ การขุดรอกและบำรุงรักษาร่องน้ำภายในประเทศ และโครงการอนุรักษ์ฟื้นฟูแหล่งน้ำบึงสีไฟ ระยะที่ 1 ดำเนินการแล้วเสร็จเมื่อเดือนกรกฎาคม 2562 และระยะที่ 2 ดำเนินการแล้วเสร็จเมื่อเดือนพฤษภาคม 2565

มิติการพัฒนาทางอากาศ จังหวัดพิจิตรอยู่ห่างจากจังหวัดพิษณุโลกประมาณ 90 กิโลเมตร สามารถเดินทางใช้ท่าอากาศยานพิษณุโลกได้อย่างสะดวก ปัจจุบันกระทรวงคมนาคมมีแผนพัฒนาท่าอากาศยานพิษณุโลก เป็นงานก่อสร้างลานจอดรถยนต์ และปรับปรุงกายภาพท่าอากาศยานพิษณุโลก ซึ่งผลการดำเนินงานเดือนมิถุนายน 2565 มีความก้าวหน้าร้อยละ 33.69

นอกจากนี้ กระทรวงคมนาคมยังมีโครงการเพื่อเชื่อมโยงระบบการขนส่งสาธารณะ จากสถานีขนส่งผู้โดยสารจังหวัดพิจิตร ประกอบด้วย รถหมวด 1 จำนวน 2 เส้นทาง รถหมวด 2 จำนวน 2 เส้นทาง รถหมวด 3 จำนวน 6 เส้นทาง รถหมวด 4 จำนวน 5 เส้นทาง ทั้งนี้ เมื่อโครงการต่าง ๆ ในพื้นที่จังหวัดพิจิตรดำเนินการแล้วเสร็จสมบูรณ์ จะสามารถเพิ่มประสิทธิภาพการคมนาคมขนส่งให้ประชาชนได้รับความสะดวก รวดเร็ว ปลอดภัย รองรับปริมาณการเดินทางและการขนส่งที่เพิ่มขึ้นในอนาคตได้อย่างเพียงพอ ซึ่งจะมีส่วนสำคัญในการส่งเสริม กระตุ้นเศรษฐกิจ และยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนในพื้นที่ได้เป็นอย่างดี

โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ได้มอบนโยบายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องของกระทรวงคมนาคม ดำเนินการดังนี้

1) เร่งรัดการพัฒนาโครงข่ายทางหลวงบริเวณจุดคอขวดเพื่ออำนวยความสะดวกแก่พี่น้องประชาชนในพื้นที่จังหวัดพิจิตร

2) กำชับให้การดำเนินงานก่อสร้างโครงการของทุกหน่วยงานตั้งอยู่บนพื้นฐานของความปลอดภัยเป็นสำคัญ

3) มอบหมายให้กรมทางหลวงและกรมทางหลวงชนบท ร่วมกันจัดทำ Workshop ในพื้นที่จังหวัดพิจิตรกับภาคประชาชนและเอกชน เพื่อบูรณาการการพัฒนาโครงข่ายถนนให้ตอบโจทย์ความต้องการใช้งานของประชาชนในพื้นที่มากที่สุด

4) ให้พัฒนาระบบและวิธีการประชาสัมพันธ์ข้อมูลของกระทรวงคมนาคมให้กระชับ รวดเร็ว ทันสมัย และครอบคลุมทุกกลุ่มเป้าหมาย

5) มอบหมายให้กรมเจ้าท่าบูรณาการกับกรมโยธาธิการและผังเมือง เพื่อไม่ให้เกิดการพัฒนาโครงการเขื่อนป้องกันตลิ่งพังทับซ้อนกัน

ในโอกาสนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ได้ลงพื้นที่ติดตามความก้าวหน้าของโครงการก่อสร้างทางหลวงหมายเลข 115 กำแพงเพชร – พิจิตร ตอนเนินสมอ – สี่แยกสากเหล็ก ในบริเวณพื้นที่ก่อสร้างพร้อมกำชับให้กรมทางหลวงเร่งรัดดำเนินการก่อสร้างให้เป็นไปตามแผนงานต่อไป

เพิ่มเพื่อน