สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดสุราษฎร์ธานี “โครงการพัฒนาและส่งเสริมอุตสาหกรรม โอเลโอเคมีคอล เพื่อสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืนของอุตสาหกรรมปาล์มน้ำมัน” สำเร็จเกินคาด มั่นใจหนุนเสริมเศรษฐกิจมั่นคงยั่งยืน

สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดสุราษฎร์ธานี กระทรวงอุตสาหกรรม จัดทำ โครงการพัฒนาและส่งเสริมอุตสาหกรรมโอเลโอเคมีคอล เพื่อสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืนของอุตสาหกรรมปาล์มน้ำมัน” ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2565 ตามแนวนโยบายของ นายกอบชัย สังสิทธิสวัสดิ์ ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เพื่อยกระดับศักยภาพของผู้ประกอบการ ประสบความสำเร็จสามารถ คัดเลือก10 กิจการ เข้าร่วมโครงการฯ สามารถลดการสูญเสียเปอร์เซ็นต์น้ำมันปาล์ม (Total Loss) ได้ไม่น้อยกว่า 1 เปอร์เซ็นต์ต่อปี ขณะที่แผนงานเร่งด่วนและแผนงานระยะยาว คาดว่าจะสามารถลดค่าใช้จ่ายด้านพลังงานไม่น้อยกว่าร้อยละ 5 ต่อปี เชื่อมั่นสามารถหนุนเสริมฐานความมั่นคงทางเศรษฐกิจของประเทศไทย ให้เกิดความสมดุล และพัฒนาอย่างยั่งยืนต่อไป

นายศักดาพร รัตนสุภา รองผู้ว่าราชการจังหวัดสุราษฎร์ธานี เปิดเผยว่า “จังหวัดสุราษฎร์ธานี เป็นแหล่งปลูกปาล์มน้ำมันที่สำคัญของประเทศ มีเนื้อที่ให้ผลและผลผลิตมากที่สุดในประเทศ โดยในปี 2565 (ข้อมูลจากสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 8 ณ วันที่ 1 พ.ค. 2565) มีเนื้อที่ให้ผล 1.349 ล้านไร่ ผลผลิตประมาณ 4.14 ล้านตัน คิดเป็นร้อยละ 29.88 ของผลผลิตรวมในส่วนของภาคใต้ตอนบน (ชุมพร ระนอง สุราษฎร์ธานี พังงา ภูเก็ต กระบี่ นครศรีธรรมราช) ปัจจุบัน จังหวัดสุราษฎร์ธานี มีโรงงานสกัดน้ำมันปาล์มจำนวน 36 โรง มูลค่าการลงทุนทั้งสิ้น 4,545.63 ล้านบาท ใช้วัตถุดิบ (ปาล์มทลายสด) ปริมาณ 5,872,890 ตัน/ปี กำลังการผลิตที่ได้ (น้ำมันปาล์มดิบ) ปริมาณ 1,101,803 ตัน/ปี”

สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดสุราษฎร์ธานี จึงได้จัดทำโครงการพัฒนาและส่งเสริมอุตสาหกรรมโอเลโอเคมีคอล เพื่อสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืนของอุตสาหกรรมปาล์มน้ำมัน โดยมีวัตถุประสงค์ 1) เพื่อเป็นการพัฒนาและเพิ่มประสิทธิภาพในการสกัดน้ำมันปาล์มของโรงงานให้ได้น้ำมันปาล์มในอัตราส่วนปริมาณที่สูงเมื่อเทียบกับปริมาณวัตถุดิบ และต่อยอดสู่ผลิตภัณฑ์โอเลโอเคมีคอล 2) เพื่อให้สถานประกอบการ ได้รับการปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิต เพื่อเพิ่มศักยภาพในการแข่งขัน ทำให้อุตสาหกรรมมีการขยายตัว และเจริญเติบโตอย่างมีทิศทางและมั่นคง 3. เพื่อเสริมสร้างและพัฒนาบุคลากรให้มีความรู้ความเชี่ยวชาญเชิงปฏิบัติ ตระหนักถึงต้นทุนการผลิตและสามารถเพิ่มประสิทธิภาพและบำรุงรักษาเครื่องจักรได้ รวมทั้ง กระตุ้นให้เกิดการเพิ่มขีดความสามารถและศักยภาพในการแข่งขันสำหรับการส่งออกในเวทีตลาดโลก

นางทัศนีย์ ภักดีประพันธ์ อุตสาหกรรมจังหวัดสุราษฎร์ธานี เปิดเผยถึงที่มาของ “โครงการพัฒนาและส่งเสริมอุตสาหกรรมโอเลโอเคมีคอล เพื่อสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืนของอุตสาหกรรมปาล์มน้ำมัน” ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2565 โดยมีสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดสุราษฎร์ธานี ร่วมกับ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ (มจพ.) เป็นหน่วยงานดำเนินการ มีจุดเริ่มต้นมาจาก ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ยุทธศาสตร์ที่ 2 ด้านการสร้างขีดความสามารถในการแข่งขัน ที่เน้นการเพิ่มผลิตภาพการผลิตทั้งเชิงปริมาณ มูลค่าและความหลากหลายของสินค้าเกษตร เพื่อรักษาฐานรายได้เดิม และสร้างฐานรายได้ใหม่ และการเปลี่ยนแปลงพื้นฐานโครงสร้างอุตสาหกรรมและบริการด้วยนวัตกรรมและเทคโนโลยีแห่งอนาคต แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 ด้านการสร้างความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจและแข่งขันได้อย่างยั่งยืน โดยมุ่งยกระดับการผลิตสินค้าเกษตรและอาหารเข้าสู่ระบบมาตรฐานและต่อยอดความเข้มแข็งของอุตสาหกรรมที่มีศักยภาพปัจจุบัน เพื่อยกระดับไปสู่อุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง

“กระทรวงอุตสาหกรรมจึงได้มีนโยบาย และกำหนดมาตรการพัฒนาอุตสาหกรรมชีวภาพของไทย ปี พ.ศ. 2561 - 2570 ที่เป็นอุตสาหกรรมที่มีศักยภาพในกลุ่ม New S-Curve เพื่อผลักดันให้ประเทศไทยเป็น Bio Hub of ASEAN ซึ่งตอบสนองนโยบายเร่งด่วนของรัฐ คือ วางรากฐานระบบเศรษฐกิจของประเทศสู่อนาคต ด้วยการต่อยอดอุตสาหกรรมเป้าหมาย และวางรากฐานการพัฒนาภายใต้แนวคิดเศรษฐกิจชีวภาพ (Bioeconomy) และเศรษฐกิจสีเขียว (Green economy) รวมถึงรองรับยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ที่จะส่งผลให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางของการลงทุนอุตสาหกรรมชีวภาพในภูมิภาค เกิดการพัฒนาภาคเกษตรที่เชื่อมโยง สู่ภาคอุตสาหกรรม เกิดการสร้างงาน สร้างรายได้กระจายสู่ท้องถิ่น โดยจะช่วยเพิ่มมูลค่าให้แก่สินค้าเกษตร และทำให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มสูงขึ้น ซึ่งจะนำมาสู่ฐานความมั่นคงทางเศรษฐกิจของประเทศไทย รวมถึงเกิดความสมดุลและพัฒนาอย่างยั่งยืนต่อไป”

นางทัศนีย์ กล่าวต่อไปว่า กระบวนการสำคัญของการพัฒนาศักยภาพของอุตสาหกรรมโอเลโอเคมีคอลจากปาล์มน้ำมัน  คือการเพิ่มประสิทธิภาพของกระบวนการผลิต เพื่อการพัฒนาไปสู่ผลิตภัณฑ์โอเลโอเคมีคอลต่อเนื่องอย่างมีคุณภาพ เช่น สารหล่อลื่นชีวภาพ (Bio-lubricant)ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์เป้าหมายที่สำคัญและเป็นทางเลือกหนึ่ง เพื่ออนาคตของปาล์มน้ำมันไทยที่นอกเหนือจากผลิตภัณฑ์โอเลโอเคมีคอลพื้นฐาน

นอกจากนี้ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถด้านการผลิตเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม (Value Added) ให้กับผลิตผลปาล์มน้ำมันและยกระดับการผลิตจากผลิตภัณฑ์อุปโภคบริโภคขั้นต้นไปสู่ผลิตภัณฑ์สารตั้งต้นในภาคอุตสาหกรรมและอุตสาหกรรมต่อเนื่องที่มีมูลค่าสูงต่อไป โดยมีผลการศึกษาแนวทางการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับวัตถุดิบปาล์มน้ำมันมาตั้งแต่ปี 2550 พบว่า การส่งเสริมการผลิตโอเลโอเคมีคอล (การผลิตสารเคมีที่สกัดหรือสังเคราะห์ได้จากกรดไขมันต่างๆ ที่มาจากพืชน้ำมัน หรือจากสัตว์) ภายในประเทศ จะสามารถลดการนำเข้าผลิตภัณฑ์เคมี และยังสามารถส่งเสริมและพัฒนาอุตสาหกรรมขั้นปลายน้ำของโอเลโอเคมีคอลเพื่อเป็นฐานการผลิตที่สำคัญ จึงจำเป็นต้องมีการจัดสรรการใช้ผลผลิตปาล์มน้ำมันได้อย่างมีคุณค่าต่อเศรษฐกิจท้องถิ่นและเศรษฐกิจโลกได้มากที่สุด และกำหนดยุทธศาสตร์ไปสู่แนวทางปฏิบัติในการปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมให้ครอบคลุมถึงการพัฒนาศักยภาพอุตสาหกรรมโอเลโอเคมีคอลจากปาล์มน้ำมันได้อย่างครบวงจร ซึ่งจากผลการคาดการณ์ว่าในปี 2562 ตลาดโอเลโอเคมีคอลที่นอกเหนือจากไบโอดีเซลในตลาดโลกจะมีมูลค่ากว่า 7.5 แสนล้านบาท และคาดการณ์ปี 2570 จะขยายตัวเพิ่มสูงขึ้นเป็น 1.18 ล้านล้านบาท มีปริมาณความต้องการใช้เพิ่มจากปัจจุบัน 18 ล้านตัน เป็น 26 ล้านตัน โดยที่ไบโอดีเซลที่ใช้ในกลุ่มพลังงานที่จะมีความต้องการอีกมหาศาลในภูมิภาคต่างๆ ทั่วโลก

นอกจากนี้ ยังส่งเสริมให้มีผลิตภัณฑ์ที่หลากหลายขึ้น เพิ่มช่องทางการบริโภคและความต้องการ ตลอดจน การสนับสนุนให้เกิดอุตสาหกรรมโอเลเคมีคอลแบบครบวงจร โดยมีกลุ่มเป้าหมายและสาขาอุตสาหกรรม เป็นโรงงานสกัดน้ำมันปาล์ม ผู้ประกอบการและเจ้าหน้าที่ภาคส่วนที่เกี่ยวข้องใน สาขาแปรรูปอุตสาหกรรมการเกษตรที่มี พื้นที่ดำเนินการ ในจังหวัดสุราษฎร์ธานี โดยมีกรอบแนวคิดในการดำเนินโครงการ เป็นระยะเวลา 210 วัน

ทั้งนี้ ได้มีสถานประกอบการสมัครเข้าร่วมโครงการฯ 21 กิจการ มีสถานประกอบการผ่านการคัดเลือกเข้าร่วมโครงการฯ 10 กิจการ ได้แก่ บริษัท กาญจนดิษฐ์น้ำมันปาล์ม จำกัด, บริษัท ท่าฉางสวนปาล์มน้ำมันอุตสาหกรรม จำกัด, บริษัท ท่าชนะน้ำมันปาล์ม จำกัด, บริษัท ไทยทาโลว์แอนด์ออยล์ จำกัด (สาขาไทรขึง), บริษัท ธนาปาล์มโปรดักส์ จำกัด, บริษัท นิว ไบโอดีเซล จำกัด, บริษัท บางสวรรค์ น้ำมันปาล์ม จำกัด, บริษัท ป. พานิเรุ่งเรือง ปาล์มออยล์ จำกัด, บริษัท พี.ซี.ปาล์ม(2550) จำกัด, บริษัท ยูนิปาล์ม อินดัสทรี จำกัด

“ทั้งนี้ การดำเนินโครงการดังกล่าวจะช่วยเพิ่มศักยภาพผู้ประกอบการปาล์มน้ำมัน ลดปริมาณ Oil Loss รวม และค่าใช้จ่ายด้านพลังงาน ได้ตามวัตถุประสงค์โครงการ ” นางทัศนีย์ กล่าว

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ก.อุตฯ ลุยเสริมทักษะเอสเอ็มอีกว่า 200 ราย

'ศศิกานต์' เผย ก.อุตฯ เดินหน้าส่งเสริมเอสเอ็มอีกว่า 200 ราย เสริมทักษะ เพิ่มขีดการแข่งขัน เน้นดิจิทัลและความยั่งยืน คาดดันเศรษฐกิจโตกว่า 62 ล้านบาท

สุราษฎร์ธานี จัดงานวันที่อยู่อาศัยโลกปี67 ย้ำชุมชนต้องเป็นแกนหลักในการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยคนจน

UN – HABITAT หรือ ‘โครงการตั้งถิ่นฐานมนุษย์แห่งสหประชาชาติ’ กำหนดให้วันจันทร์แรกของเดือนตุลาคมทุกปีเป็น ‘วันที่อยู่อาศัยโลก’ หรือ ‘World Habitat Day’