กระทรวงการพัฒนาสังคมฯ - พอช. ขับเคลื่อนงานที่อยู่อาศัยผู้มีรายได้น้อยกว่า 2 แสนครัวเรือน

โครงการพัฒนาที่อยู่อาศัยของ พอช.เน้นกระบวนการมีส่วนร่วมของชุมชน  โดยให้ชุมชนที่เดือดร้อนรวมตัวกันแก้ไขปัญหา  มีช่างชุมชนหรือช่างจิตอาสามาช่วยก่อสร้างบ้าน  ทำให้ประหยัดงบและก่อสร้างบ้านได้เร็ว      

สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ / กระทรวงการพัฒนาสังคมฯ - พอช.พัฒนาที่อยู่อาศัยชุมชนผู้มีรายได้น้อยทั่วประเทศแล้วกว่า 200,000 ครัวเรือน  ใช้กระบวนการที่ประชาชนมีส่วนร่วม  ตั้งแต่สำรวจข้อมูลปัญหา  จำนวนครัวเรือนที่เดือดร้อน  การจัดทำโครงการ  นำไปสู่การลงแรงร่วมกันซ่อมสร้างบ้าน  ตั้งเป้าปี 2566 ดำเนินการอีก 29,850 ครัวเรือน 

สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน  (องค์การมหาชน) หรือ พอช. สังกัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) เปิดดำเนินการอย่างเป็นทางการในเดือนตุลาคม 2543  มีภารกิจที่สำคัญด้านหนึ่ง  คือ  การพัฒนาและแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยผู้มีรายได้น้อย  เริ่มดำเนินการโครงการบ้านมั่นคงในปี 2546 เพื่อสนับสนุนให้ชาวชุมชนที่เดือดร้อนลุกขึ้นมาแก้ไขปัญหา  โดยมีหลักการที่สำคัญ  คือ  “ชุมชนที่เดือดร้อนเป็นแกนหลักในการแก้ไขปัญหา  พอช.และภาคีที่เกี่ยวข้องเป็นฝ่ายสนับสนุน”

บ้านมั่นคงสวยงามที่ชุมชนหินเหล็กไฟ  อ.หัวหิน  จ.ประจวบคีรีขันธ์  เพิ่งสร้างเสร็จไม่นาน  รวมทั้งหมด 70 หลังชาวบ้านรวมตัวกันแก้ไขปัญหาใช้เวลาเกือบ  4 ปี

19 ปี พอช. ดำเนินการแล้วกว่า 2 แสนครัวเรือน

นายกฤษดา  สมประสงค์  ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ  หรือ พอช. กล่าวว่า  พอช.ภายใต้การสนับสนุนและผลักดันนโยบายของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ นายจุติ ไกรฤกษ์ ดำเนินงานพัฒนาที่อยู่อาศัยผู้มีรายได้น้อยสะสมรวมกันมากกว่า  200,000 ครัวเรือน

โดยในปีงบประมาณ 2565 ดำเนินการจำนวน 29,441 ครัวเรือน และจะดำเนินงานในปี 2566 จำนวน 29,850 ครัวเรือน   นอกจากนี้ยังมีโครงการพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้มีรายได้น้อยจำนวน 500 ตำบล/เมือง  รวมทั้งสนับสนุนการจัดสวัสดิการชุมชนไม่น้อยกว่า 6000,000 คน  ซึ่งการดำเนินงานดังกล่าวจะทำให้ผู้มีรายได้น้อยและประชาชนกลุ่มเป้าหมายมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

นายกฤษดากล่าวถึงผลการดำเนินงานด้านที่อยู่อาศัยในช่วงที่มา  โดยแยกเป็น  1.โครงการบ้านมั่นคง  เป็นโครงการแก้ไขปัญหาชุมชนแออัด  และชุมชนบุกรุก  ทั้งในเมืองและชนบท  ดำเนินการแล้ว  รวม 127,709 ครัวเรือน   2.โครงการพัฒนาที่อยู่อาศัยชุมชนริมคลอง  ดำเนินการในคลองลาดพร้าวและคลองเปรมประชากร  เพื่อแก้ปัญหาสิ่งปลูกสร้างรุกล้ำลำคลอง  ป้องกันน้ำท่วม  ดำเนินรวม 7,809 ครัวเรือน

3.โครงการบ้านพอเพียง  เพื่อสนับสนุนการปรับปรุงซ่อมสร้างบ้านเรือนในชนบทที่ชำรุดทรุดโทรม  มีฐานะยากจน  ให้มีสภาพเหมาะสมกับการอยู่อาศัย  ดำเนินการรวม 103,779  ครัวเรือน  4.ที่อยู่อาศัยชั่วคราว  สำหรับประชาชนที่เดือดร้อนเฉพาะหน้า  เช่น  ถูกไฟไหม้  โดนไล่รื้อ  ดำเนินรวม 5,819 ครัวเรือน  และ 5.คนไร้บ้าน  จัดตั้งศูนย์ฟื้นฟูและพัฒนาศักยภาพคนไร้บ้านที่เชียงใหม่  ขอนแก่น  ปทุมธานี  และกรุงเทพฯ  รวม  698 ครัวเรือน

นายกฤษดา ผอ.พอช. มอบงบประมาณช่วยเหลือกรณีที่อยู่อาศัยชั่วคราวให้ชาวชุมชนบ่อนไก่  กรุงเทพฯ ที่โดนไฟไหม้เมื่อเร็วนี้ๆ  รวม 84 ครอบครัว  เป็นเงินกว่า 1.5 ล้านบาท

นายกฤษดา กล่าวต่อไปว่า  การพัฒนาเรื่องที่อยู่อาศัยชุมชนผู้มีรายได้น้อยของ พอช. สอดคล้องกับแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีของรัฐบาล  โดยรัฐบาลได้มอบหมายให้กระทรวงการพัฒนาสังคมฯ จัดทำ ‘แผนแม่บทการพัฒนาที่อยู่อาศัยระยะ 20 ปี’ พ.ศ.2560-2579  มีเป้าหมายครัวเรือนที่มีรายได้น้อยทั่วประเทศประมาณ 3 ล้านครัวเรือน  โดยการเคหะแห่งชาติรับดำเนินการ 2 ล้านครัวเรือน  และ พอช.ประมาณ 1 ล้านครัวเรือน  โดยมีวิสัยทัศน์คือ “คนไทยทุกคนมีที่อยู่อาศัยถ้วนทั่วและมีคุณภาพชีวิตที่ดีภายในปี 2579”

“บ้านมั่นคง  บ้านที่ทุกคนมีส่วนร่วม”

นายกฤษดา   กล่าวว่า  โครงการบ้านมั่นคง  รวมทั้งการพัฒนาและแก้ไขปัญหาต่างๆ ของพอช.และกระทรวง พม. จะเน้นกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชน  โดยยึดหลักการ “ชุมชนที่เดือดร้อนเป็นแกนหลักในการแก้ไขปัญหา  พอช.และภาคีที่เกี่ยวข้องเป็นฝ่ายสนับสนุน”

มีกระบวนการดำเนินการที่สำคัญ  คือ  1.การชี้แจงสร้างความเข้าใจกับชาวชุมชน  เพื่อให้เกิดความเข้าใจตรงกัน  2.จัดตั้งกลุ่มออมทรัพย์เพื่อเป็นการรวมคน  รวมทุน  สร้างฐานการเงินของชุมชน  เรียนรู้ระบบการจัดการการเงินร่วมกัน   3.การจัดตั้งคณะกรรมการชาวบ้าน ขึ้นมาดำเนินงาน  โดยแบ่งหน้าที่  ความรับผิดชอบ

4.สำรวจข้อมูลชุมชน  ความเดือดร้อน  ความต้องการ  โดยชุมชนหรือองค์กรชุมชนที่มีอยู่  เช่น  สภาองค์กรชุมชนตำบล  กองทุนสวัสดิการชุมชน  เพื่อนำข้อมูลมาวางแผนงาน  5.การจัดระบบสิทธิในที่อยู่อาศัย  เพื่อเป็นข้อตกลงของชุมชนและสร้างความเป็นธรรม  เช่น  ครอบครัวที่มีสมาชิกจำนวนมากกว่า 5 คนอาจให้สิทธิมากกว่า 1 สิทธิ  เจ้าของบ้านเช่าที่มีบ้านเช่าหลายหลังจะได้รับเพียง 1 สิทธิ

ชุมชนริมคลองลาดพร้าวสภาพก่อนการพัฒนา         

6.ร่วมกันออกแบบ  ทำผังชุมชน  แบ่งพื้นที่ใช้ประโยชน์ส่วนกลาง  ออกแบบบ้านตามความต้องการ  โดยมีสถาปนิกชุมชนจาก พอช.เป็นพี่เลี้ยง  7.เสนอโครงการ  งบประมาณ  สินเชื่อที่จะต้องใช้ในการดำเนินการกับ พอช.   8.ดำเนินการก่อสร้างบ้าน และสาธารณูปโภคตามแผนงาน  โดยการบริหารงานของชุมชนหรือสหกรณ์เคหสถานที่จัดตั้งขึ้น  เช่น  การจ้างบริษัทรับเหมาก่อสร้าง  หรือก่อสร้างเองบางส่วน  รวมทั้งมีช่างชุมชนหรือช่างจิตอาสามาช่วยกันลงแรงก่อสร้าง  ช่วยประหยัดงบประมาณและก่อสร้างได้เร็ว

ชุมชนริมคลองลาดพร้าวย่านเขตสายไหม  ขยับบ้านรุกล้ำคลองขึ้นมาสร้างบ้านใหม่

9.พัฒนาคุณภาพชีวิต เมื่อสร้างบ้านเสร็จแล้ว  ชุมชนจะต้องมีแผนพัฒนาชุมชนในด้านต่างๆ  เช่น  ส่งเสริมอาชีพ  สร้างแหล่งอาหารในชุมชน  การจัดการเรื่องสิ่งแวดล้อม  การจัดการขยะ  กิจกรรมเด็กและเยาวชน  จัดสวัสดิการให้สมาชิก  ผู้สูงอายุ  ฯลฯ

“กระบวนการบ้านมั่นคง  รวมทั้งการพัฒนาที่อยู่อาศัยของ พอช.  และกระทรวงการพัฒนาสังคมฯ  เป็นกระบวนการที่ประชาชนมีส่วนร่วม  โดยการสนับสนุนให้ชุมชนผู้ที่เดือดร้อนรวมตัวกันแก้ไขปัญหา  โดย พอช.และหน่วยงานภาคีเป็นฝ่ายสนับสนุน  ถือเป็นการพัฒนาแนวใหม่  ที่ประชาชนมีส่วนร่วมคิด  ร่วมทำ  ร่วมกันบริหารโครงการ  นำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนในทุกมิติ”  ผอ.พอช.กล่าวในตอนท้าย

ชาวชุมชนหลังวัดอ้อมน้อย  อ.กระทุ่มแบน  จ.สมุทรสาคร  โดนไล่ที่  รวมตัวกัน 64 ครอบครัวเตรียมสร้างบ้านสร้างชุมชนใหม่  โดยการสนับสนุนของ พอช.

                                             

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ผู้สูงอายุผิดหวัง มติ ครม. ปรับเบี้ยคนชราแบบขั้นบันได แทนที่จะปรับถ้วนหน้า

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ภายหลังจากคณะรัฐมนตรี (ครม.)สัญจรที่ จ.เชียงใหม่ เมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน ที่ผ่านมา ได้อนุมัติหลักการปรับเพิ่มเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ ตามที่กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.)

พลเอกนิพัทธ์ ทองเล็ก นำทีมช่างชุมชน Kick Off ซ่อมบ้านผู้ประสบภัยพิบัติ ‘แม่ยาวโมเดล’

พอช. หนุนงบกว่า 30 ล้าน ซ่อม สร้าง 6 ตำบล 875 ครัวเรือน สร้างรูปธรรม การจัดการที่ดิน ที่อยู่อาศัย ยกระดับคุณภาพชีวิต พร้อมยื่นข้อเสนอเชิงนโยบายจากชุมชน ถึงรัฐบาล

สุราษฎร์ธานี จัดงานวันที่อยู่อาศัยโลกปี67 ย้ำชุมชนต้องเป็นแกนหลักในการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยคนจน

UN – HABITAT หรือ ‘โครงการตั้งถิ่นฐานมนุษย์แห่งสหประชาชาติ’ กำหนดให้วันจันทร์แรกของเดือนตุลาคมทุกปีเป็น ‘วันที่อยู่อาศัยโลก’ หรือ ‘World Habitat Day’

รวมพลังคนจนแก้ปัญหาที่ดิน-ที่อยู่อาศัยทั่วประเทศ วันที่อยู่อาศัยโลก ปี 2567

ปัญหาการขาดแคลนที่อยู่อาศัยหรือมีที่อยู่อาศัยไม่เหมาะสมเป็นปัญหาที่สำคัญของผู้คนทั่วโลก UN-Habitat หรือ ‘โครงการตั้งถิ่นฐานมนุษย์แห่งสหประชาชาติ’

‘21 ปีบ้านมั่นคง’ พอช. แก้ปัญหาที่อยู่อาศัยคนจนทั่วประเทศ กว่า 3 แสนครัวเรือน

รัฐบาลได้มีนโยบายที่จะแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยของผู้มีรายได้น้อย และสร้างความมั่นคงในการอยู่อาศัยแก่คนจนในเมืองที่ ยังไม่มีที่อยู่อาศัยเป็นของตนเอง โดยเฉพาะกลุ่มผู้อยู่อาศัยในชุมชนแออัด

การเคหะแห่งชาติเข้าร่วมงานวันคล้ายวันสถาปนากระทรวง พม. ครบรอบ 22 ปี

นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เป็นประธานในพิธีสงฆ์และสักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ประจำกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์