‘สปสช.-HITAP’ เปิดตัวเว็บไซต์ ucbp.nhso.go.th ช่องทางใหม่เสนอเพิ่มสิทธิบัตรทอง

สปสช.จับมือ HITAP เปิดตัวเว็บไซต์ ucbp.nhso.go.th  เป็นช่องทางใหม่ให้กลุ่มผู้มีส่วนได้เสียและประชาชนทั่วไปเสนอความคิดเห็นในการพัฒนาปรับปรุงสิทธิประโยชน์บัตรทอง  โดยเลขาธิการ สปสช. แนะประชาชนเสนอความคิดเห็นเข้ามาเยอะๆ อย่ามองว่าเป็นเรื่องไกลตัวหรือเสนอมาแล้วคงไม่ถูกนำไปพิจารณา ยกตัวอย่างระบบ Home Isolation ก็มาจากข้อเสนอแนะของประชาชนที่มีส่วนร่วม

เมื่อวันที่ 1 พ.ย. 2564 ที่ผ่านมา สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ร่วมกับ โครงการประเมินเทคโนโลยีและนโยบายด้านสุขภาพ (HITAP) จัดงานเปิดตัวเว็บไซต์ http://ucbp.nhso.go.th ซึ่งจะเป็นแหล่งรวบรวมหัวข้อที่อยู่ในกระบวนการพิจารณาเพิ่มสิทธิประโยชน์ใหม่ การขยายขอบเขตสิทธิประโยชน์เดิม รวมทั้งเป็นช่องทางเสนอหัวข้อการเพิ่มสิทธิประโยชน์สำหรับกลุ่มผู้มีส่วนได้เสียและประชาชนทั่วไป

ทั้งนี้เว็บไซต์ http://ucbp.nhso.go.th จะมีทั้งคอลัมน์แนะนำที่มาของการพัฒนาสิทธิประโยชน์บัตรทองและบทความอื่นๆที่น่าสนใจ เมนูการค้นหาสถานะหัวข้อปัญหา หัวข้อที่ถูกบรรจุเป็นสิทธิประโยชน์ล่าสุด และเมนูสำหรับให้ประชาชนและผู้มีส่วนได้เสียเสนอหัวข้อปัญหาเพื่อการปรับปรุงพัฒนาสิทธิประโยชน์บัตรทอง

นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.)  กล่าวว่า แต่ละปี สปสช.มีการปรับปรุงสิทธิประโยชน์ ทั้งเพิ่มสิทธิการรักษาโรคใหม่ๆ เช่น โควิด-19 หรือวิธีการรักษาแบบใหม่ เช่น ผ่าตัดส่องกล้อง ยาใหม่ หรือเทคโนโลยีใหม่ ซึ่งในอดีตจะใช้วิธีการจัดเวทีรับฟังความคิดเห็น แต่ในปัจจุบัน สปสช.พัฒนาช่องทางต่างๆ ทั้งเว็บไซต์ http://ucbp.nhso.go.th ไลน์ @nhso หรือแม้แต่โทรมาที่สายด่วน 1330 ก็ได้ ทุกข้อเสนอ ทาง สปสช.จะรับฟังและนำไปประมวลว่าจะนำไปสู่การปรับปรุงระบบบัตรทองให้ดีขึ้นได้อย่างไร

"อยากให้ประชาชนสนใจเรื่องสิทธิประโยชน์และเสนอความคิดเห็นเข้ามาเยอะๆ อย่าคิดว่าข้อเสนอของตัวเองคงไม่ได้รับฟังหรือถูกนำไปพิจารณา ผมยกตัวอย่างโควิด-19 ช่วงต้นปีมีประชาชนส่งข้อมูลมาว่าที่ประเทศอังกฤษเขาให้ประชาชนรักษาตัวที่บ้าน เรารับฟังแล้วให้เจ้าหน้าที่หาข้อมูล แล้วก็นำไปหารือกับกรมการแพทย์ จนมีการพัฒนาการจนมาเป็นระบบ Home Isolation ดังนั้นอย่าคิดว่าการเสนอหัวข้อพัฒนาสิทธิประโยชน์บัตรทองเป็นเรื่องไกลตัว วันนี้เรามีช่องทางหลายช่องทาง ผู้มีส่วนได้เสียและประชาชนทุกคนสามารถเสนอเข้ามาได้เลย"นพ.จเด็จ กล่าว

 

ด้าน นพ.สุวิทย์ วิบุลผลประเสริฐ ประธานคณะทำงานด้านเศรษฐศาสตร์สาธารณสุขในการกำหนดประเภทและขอบเขตบริการด้านสาธารณสุข กล่าวว่า ชุดสิทธิประโยชน์ คือบริการสาธารณสุขพื้นฐานที่ทุกคนต้องได้รับอย่างเท่าเทียมกัน การพิจารณาเพิ่มสิทธิประโยชน์ จะใช้หลักการ SAFE คือ Sustainable มีความยั่งยืน Adequate มีเงินเพียงพอที่จะจัดบริการ Fair มีความเสมอภาค เท่าเทียมและเป็นธรรม และ Efficient ใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่าและมีประสิทธิภาพ โดยมีหลักเกณฑ์คือ

1.ต้องมีความคุ้มค่า เช่น ถ้ามีเทคโนโลยีใหม่ที่ช่วยให้ผู้ป่วยมีชีวิตยืนยาวขึ้น 1 ปี จะต้องลงทุนมากน้อยเท่าใด สมมุติว่าความสามารถในการจ่ายของประชาชนเพื่อให้มีชีวิตต่อไป 1 ปีอยู่ที่ 1.2-1.4 แสนบาท หากยาหรือเทคโนโลยีใหม่มีต้นทุนไม่เกินนี้ถือว่าคุ้มค่า เป็นต้น

2.มีความเป็นไปได้ในเชิงงบประมาณ ต้องพิจารณาความสามารถในการจัดงบประมาณสนับสนุนในระยะยาว

3.มีความเป็นธรรม เช่น หากประชากรใน อ.อุ้มผางเข้าไม่ถึงบริการ แต่คนในกทม.เข้าถึงได้ แบบนี้ไม่เป็นธรรม และ

4.การให้คุณค่าทางสังคม ตัวอย่างเช่น ในกรณีที่เทคโนโลยีใหม่มีราคาแพง ไม่มีความคุ้มค่า อาทิ การบำบัดทดแทนด้วยเครื่องไตเทียม การปลูกถ่ายไต หรือการรักษาโรคหายากบางโรค บริการเหล่านี้มีค่าใช้จ่ายสูง ไม่มีความคุ้มค่า แต่ถ้าไม่จัดบริการให้ ประชาชนอาจต้องล้มละลายจากการรักษาตัว สปสช.ก็จะพิจารณาจัดเป็นสิทธิประโยชน์ให้ครอบคลุมด้วยเพื่อป้องกันการล้มละลายของครัวเรือน

"กระบวนการทั้งหมดนี้คือการมีส่วนร่วม ภาคประชาสังคมและผู้ให้บริการบอกว่าอยากได้อะไร ส่วนภาครัฐพร้อมสนับสนุนงบประมาณหรือไม่ ภาควิชาการต้องศึกษาความคุ้มค่าผลประทบต่องบประมาณ ความเสมอภาค มันรวมกันทั้งหมด ดังนั้นจึงเป็นเรื่องสำคัญมากที่ต้องดึงทุกภาคส่วนมาทำงานร่วมกัน" นพ.สุวิทย์ กล่าว

ขณะที่ รศ.นพ.เชิดชัย นพมณีจํารัสเลิศ ประธานคณะทำงานคัดเลือกหัวข้อ กล่าวว่า เมื่อมีงบประมาณจำกัด การจะคัดเลือกเทคโนโลยีหรือการรักษาใหม่มาเพิ่มเป็นสิทธิประโยชน์ต้องมีความคุ้มค่า ความคุ้มค่าในที่นี้ไม่ได้หมายความว่าต้องราคาถูกอย่างเดียว เช่น ยาบางตัวราคาถูกแล้วต้องรักษาต่อเนื่องนาน แต่ยาอีกตัวราคาแพงแต่หายเร็ว คำนวนความคุ้มค่าแล้วอาจจะถูกกว่า ซึ่งกระบวนการเหล่านี้จะมีนักวิชาการมาคำนวนและเสนอให้คณะอนุกรรมการพิจารณา

"หัวข้อที่มีการเสนอเข้ามา เราแบ่งเป็น 3 ประเภท

1. การรักษา

2. การป้องกันโรค

3. โรคหายาก

เมื่อมีผู้เสนอหัวข้อมาแล้ว เราจะมีทีมวิชาการประเมินเบื้องต้นก่อนว่าหัวข้อไหนที่ควรนำไปศึกษาอย่างละเอียดเพื่อให้ได้ชุดสิทธิประโยชน์ใหม่  โดยใช้เกณฑ์ 5 ข้อ คือ

1.เทคโนโลยีนั้นสามารถใช้กับโรคที่ประชาชนได้รับผลกระทบจำนวนมาก

2.มีหลักฐานว่าให้ผลการรักษาที่ดีมาก เช่น ลดอัตราการเสียชีวิตหรือพิการ ทำให้คุณภาพชีวิตดีขึ้น

3.ความเท่าเทียม เช่น หากข้าราชการ ประกันสังคม มีสิทธิการรักษาบางอย่างแล้วบัตรทองยังไม่มี ก็จะมีโอกาสถูกพิจารณาสูง

4.ภาระต่อเศรษฐกิจครัวเรือน หากเทคโนโลยีใหม่ให้ผลการรักษาที่ดีมากแต่ราคาแพงจนอาจกระทบกับเศรษฐกิจครัวเรือน ก็มีโอกาสสูงที่จะนำมาพิจารณา และ

5.จริยธรรม คุณธรรม เช่น กลุ่มเปราะบางหรือเป็นโรคหายากที่มีจำนวนผู้ป่วยน้อย แต่ให้คนกลุ่มนี้มีโอกาสได้รับการดูแล ก็จะมีการพิจารณาด้วยเช่นกัน" รศ.นพ.เชิดชัย กล่าว

 

สำหรับข้อเสนอแนะจากประชาชนทุกคนอย่ามองว่าเป็นเรื่องไกลตัวหรือเสนอมาแล้วคงไม่ถูกนำไปพิจารณา เพราะนี้คือโอกาสที่ทุกท่านจะสามารถนำเสนอเรื่องสิทธิประโยชน์และเสนอความคิดเห็นได้ สามารถหาข้อมูลเพิ่มเติมเว็บไซต์ http://ucbp.nhso.go.th

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ขบวนการแพทย์ชนบท : การเกิดขึ้นและดำรงอยู่ของหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า

นพ.ชูชัย ศุภวงศ์ ประธานกรรมการมูลนิธิแพทย์ชนบทและอดีตเลขาธิการแพทยสภา นพ.ประทีป ธนกิจเจริญ อดีตรองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เผยแพร่บทความ เรื่อง ขบวนการแพทย์ชนบท : การเกิดขึ้นและดำรงอยู่ของหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า มีเนื้อหาดังนี้