บ้านมั่นคงหินเหล็กไฟ (ซ้าย) อยู่ใกล้กับบ้านเดี่ยวหลังใหญ่ (บน)
หากใครเคยไปเยี่ยมเยียนพี่น้องชาวบ้านมั่นคงหินเหล็กไฟ หมู่ 14 อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ จะเห็นว่านับจากปากทางเข้าหมู่บ้าน (แยกจากทางหลวงหมายเลข 3218 ห่างจากทะเลหัวหินราว 10 กิโลเมตร) ระยะทางประมาณ 2 กิโลเมตร รายล้อมไปด้วยรีสอร์ท บ้านพักตากอากาศ ร่มรื่นด้วยแมกไม้ สระว่ายน้ำ และหมู่บ้านใหญ่ เป็นบ้านเดี่ยวขนาด 100 ตารางวา ราคาไม่ต่ำกว่าหลังละ 4-5 ล้านบาท ซึ่งมีแต่คนมีฐานะและชาวต่างชาติเข้าอยู่อาศัย
ใครจะไปคิดว่า...ที่นี่ก็มี ‘บ้านของคนจน’ บ้านมั่นคงหินเหล็กไฟ ตั้งอยู่อย่างสง่าผ่าเผย แม้หลังไม่ใหญ่โต แต่ก็ดูสวยงาม น่าอยู่อาศัย
“ถ้าไม่มีสหกรณ์ พวกเราก็ไม่มีบ้าน”
‘พี่แพรว’ สุรภา นิลเพ็ชร ประธานสหกรณ์บ้านมั่นคงหินเหล็กไฟ จำกัด เอ่ยประโยคข้างต้นขึ้นมา...จริงดั่งเธอว่า เพราะนอกจากสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) หรือ ‘พอช.’ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) จะมีหน้าที่ส่งเสริมสนับสนุนให้ชาวชุมชนผู้มีรายได้น้อยทั่วประเทศลุกขึ้นมาแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยของตัวเองแล้ว กรมส่งเสริมสหกรณ์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ก็มีบทบาทที่สำคัญไม่น้อยเช่นกัน โดยเฉพาะสหกรณ์จังหวัด เพราะเป็นหน่วยงานในท้องถิ่นที่อยู่ใกล้ชิดประชาชน
เพราะเมื่อชาวบ้าน คนธรรมดาๆ อยากจะมีบ้านสักหลัง หากไม่มีรายได้ ไม่มีเงินเดือนประจำ ไม่มีหลักทรัพย์ค้ำประกัน ก็เป็นไปไม่ได้ที่จะไปขอกู้เงินจากธนาคารที่ไหนเพื่อซื้อหรือสร้างบ้าน
พี่แพรว ประธานสหกรณ์บ้านมั่นคงหินเหล็กไฟ ฯ
ดังนั้นเมื่อชาวบ้านมีปัญหาความเดือดร้อนเรื่องที่อยู่อาศัยจึงรวมกลุ่มกันจัดทำโครงการ ‘บ้านมั่นคง’ ที่ พอช.สนับสนุน นับตั้งแต่กระบวนการรวมกลุ่มแก้ไขปัญหา การสนับสนุนสินเชื่อเพื่อนำเงินไปซื้อที่ดินหรือสร้างบ้าน การบริหารจัดการโครงการ ฯลฯ
ขณะเดียวกัน ชาวบ้านจะต้องร่วมกันจัดตั้งกลุ่มออมทรัพย์เพื่อระดมคน ระดมทุน และจดทะเบียนเป็นสหกรณ์เพื่อให้มีสถานะเป็นนิติบุคคล เพื่อทำนิติกรรมต่างๆ และบริหารโครงการ เช่น การเสนอแผนงานและงบประมาณ เพื่อขอใช้สินเชื่อจาก พอช. การซื้อที่ดินและก่อสร้างบ้าน ฯลฯ
กรณีชาวบ้านริมทางรถไฟในเขตเทศบาลเมืองหัวหินที่มีความเดือดร้อนเรื่องที่อยู่อาศัย พวกเขาได้รวมตัวกันจัดตั้งกลุ่มออมทรัพย์ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2561 เพื่อออมเงินอย่างน้อยครอบครัวละ 300 บาท และเตรียมพร้อมที่จะจดทะเบียนจัดตั้งเป็นสหกรณ์เคหสถาน
โดยสำนักงานสหกรณ์จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ได้ให้การสนับสนุน ส่งเสริม ให้ความรู้ตั้งแต่ความเข้าใจเรื่องสหกรณ์ อุดมการณ์ วิธีการ ระเบียบ สิทธิและหน้าที่ของสมาชิก การจัดทำบัญชี การจัดประชุม ฯลฯ ใช้เวลาเกือบ 1 ปี จนชาวบ้านสามารถจัดตั้ง ‘สหกรณ์บ้านมั่นคงหินเหล็กไฟ จำกัด’ ได้ในเดือนธันวาคม 2562 และใช้สหกรณ์นี้เป็นเครื่องมือในการบริหารจัดการโครงการ จนสามารถก่อสร้างบ้านมั่นคงได้แล้วเสร็จทั้ง 70 หลัง
บ้านมั่นคงราคาประมาณ 240,000-300,000 บาท ผ่อนเดือนละ 2,600-3,000 บาทต่อเดือน ระยะเวลา 15 ปี
อย่างไรก็ตาม นอกจากสหกรณ์จังหวัดประจวบคีรีขันธ์จะมีบทบาทดังกล่าวแล้ว ยังมีหน่วยงานในท้องถิ่นที่ร่วมสนับสนุนชาวบ้าน โดยมีกลไกที่สำคัญ คือ ‘คณะกรรมการเมือง’ ซึ่งประกอบด้วย อบต.หินเหล็กไฟ พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัด (พมจ.) การประปา การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค สำนักงานที่ดินจังหวัด กำนันผู้ใหญ่บ้านในตำบล สหกรณ์บ้านมั่นคงหินเหล็กไฟฯ พอช. และสำนักงานสหกรณ์จังหวัด ที่ช่วยขับเคลื่อน สนับสนุนให้คนจนเมืองหัวหินได้มีบ้านเป็นของตัวเอง
พลังของคนจน
ในช่วงต้นปี 2563 โควิด-19 ระบาดไปทั่วโลก หัวหินกลายเป็นเมืองปิด ชายหาดเงียบสนิท ส่งผลกระทบกับชาวหินเหล็กไฟที่เตรียมจะขึ้นโครงการบ้านมั่นคงเช่นกัน เพราะหลายครอบครัวต่างตกงาน โดยเฉพาะคนที่มีอาชีพนวดแผนโบราณ
บาหยัน บุญมา รองประธานสหกรณ์ฯ บอกว่า ช่วงโควิดลำบากกันมาก จึงคิดหาอาชีพเสริมมาทำ พอดีมีคนรู้จักอยู่ที่ประจวบฯ เลี้ยงปลานิลในบ่อ จึงลงหุ้นกัน ไปซื้อปลามาขาย เอามาทำปลานิลแดดเดียว และขายเป็นปลาสด ขนาด 3 ตัวโลฯ ราคาโลฯ ละ 30 บาท ได้ปลาแล้วก็เอามาช่วยกันทำ ครั้งหนึ่งประมาณ 10 คน ขายทางออนไลน์และขายให้ชาวบ้านกันเอง ได้กำไรครั้งละ 2,000 บาทก็เอามาแบ่งกันเป็นค่าแรง เหลือก็เอามาทำกับข้าวกิน ช่วยประหยัดเงินได้เยอะ
ซื้อปลามาขายช่วงโควิด
“ทำได้ประมาณ 2 เดือน ปลาเริ่มเหลือน้อย อีกทั้งเจ้าของจะขายแบบเหมายกบ่อ ต้องใช้เงินเยอะ พวกเราไม่มีทุน จึงเลิกทำ ตอนนี้บ้านเสร็จแล้ว จึงมีแผนจะทำให้สหกรณ์เข้มแข็ง มีรายได้ โดยจะทำตู้น้ำดื่ม เพราะชาวบ้านต้องซื้อน้ำกินทุกวัน และจะทำร้านค้าสหกรณ์ คือมีข้าวของจำเป็นต่างๆ ขาย เช่น ข้าวสาร น้ำมัน น้ำปลา นม ไข่ แต่เราจะไม่ซื้อของมาสต็อก ใครอยากจะได้อะไรก็ให้มาลงชื่อ สหกรณ์จะสั่งซื้อมาขาย จะได้ไม่ต้องลงทุนสต็อกของ กำไรก็จะเข้าสหกรณ์ สิ้นปีมีกำไรก็จะนำมาปันผลให้สมาชิก” บาหยันบอกถึงแผนงานต่อไป
นอกจากนี้ชาวชุมชนหินเหล็กไฟยังเตรียมความพร้อมในการอยู่อาศัยร่วมกันทั้ง 70 ครอบครัว ผู้อยู่อาศัยทั้งหมดประมาณ 300 คน เช่น มีกฎกติกาของชุมชน ช่วยกันดูแลความสะอาด ความปลอดภัย ฯลฯ มีระบบกลุ่มย่อยเพื่อบริหารจัดการชุมชน โดยแบ่งเป็น 7 กลุ่มย่อย เพื่อจะได้ช่วยเหลือดูแลกันได้ทั่วถึง และมีตัวแทนแต่ละกลุ่มเข้าไปเป็นกรรมการเพื่อบริหารสหกรณ์
นี่คือตัวอย่างพลังของคนจน จากชาวชุมชนริมทางรถไฟที่เคยถูกตราหน้าว่าเป็นผู้บุกรุก ทำให้เมืองเกิดชุมชนแออัด เกิดแหล่งเสื่อมโทรม...วันนี้พวกเขาช่วยกันสร้างบ้านแปลงเมือง โดยมีหน่วยงานภาคีช่วยหนุนเสริม ทำให้พวกเขามีที่อยู่อาศัยใหม่ที่มั่นคง แม้จะไม่ใหญ่โต่โอ่อ่า แต่พวกเขาก็ภาคภูมิใจ !!
เรื่อง : สำนักพัฒนานวัตกรรมชุมชนจัดการความรู้และสื่อสาร สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน)
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
รวมพลังคนจนเมืองทั่วประเทศ เปลี่ยนสลัม สู่บ้านมั่นคง บ้านแห่งศักดิ์ศรีที่ทุกคนร่วมสร้าง!
เมื่อความฝันของคนจนไม่บ้านกลายเป็นพลังที่ยิ่งใหญ่ วันนี้พร้อมที่จะก้าวข้ามขีดจำกัด เปลี่ยนแปลงสลัมให้เป็น "บ้านมั่นคง" ที่เต็มไปด้วยศักดิ์ศรีและคุณค่าของความเป็นมนุษย์
ประกาศผล 8 กองทุน เข้ารับรางวัลองค์กรสวัสดิการชุมชนดีเด่น ศาสตราจารย์ ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ประจำปี พ.ศ. 2567
สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน(องค์การมหารชน) หรือ พอช. ร่วมกับ คณะทำงานพิจารณารางวัลองค์กรสวัสดิการชุมชนประจำปี 2567 จัดเวทีพิจารณา รางวัลองค์กรสวัสดิการชุมชน
ชุมชนทั่วประเทศ ระดมข้อเสนอแนวทางแก้ไขปัญหาให้รัฐ ในการประชุม ‘ระดับชาติสภาองค์กรชุมชนตำบล’ ครั้งที่ 16 ปี 2567 เชื่อมั่น “พลังชุมชน พลังประชาชน สามารถเปลี่ยนแปลงประเทศได้”
การประชุมในระดับชาติของสภาองค์กรชุมชนตำบลครั้งที่ 16’ ปี 2567 ผู้แทนสภาองค์กรชุมชน ทั่วประเทศ ระดมข้อเสนอเชิงนโยบายให้รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแก้ไขปัญหาอย่างเป็นระบบ
“16 ปี สภาองค์กรชุมชนตำบล” “พัฒนาประชาธิปไตยฐานราก สร้างพลังชุมชนท้องถิ่นจัดการตนเอง”
‘สภาองค์กรชุมชนตำบล’ จัดตั้งขึ้นมาตาม ‘พ.ร.บ.สภาองค์กรชุมชน พ.ศ.2551’ ปัจจุบันเป็นระยะเวลา 16 ปี มีการจัดตั้งสภาองค์กรชุมชนในระดับตำบล เทศบาล และเขต
'ประธานกกต.' เผยปมร้องยุบพรรคการเมืองใกล้ขั้นสุดท้าย 'ทักษิณ' ขู่พรรคร่วมไม่รอด เอามาพิจารณาด้วย
ที่โรงแรมเซ็นทารา ไลฟ์ ศูนย์ราชการและคอนเวนชันเซ็นเตอร์ นายอิทธิพร บุญประคอง ประธานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ให้สั
โค้งสุดท้าย 26 กองทุนฯทั่วไทย ลุ้นรางวัลกองทุนสวัสดิการชุมชนดีเด่น ‘ป๋วย อึ๊งภากรณ์’
กรุงทพฯ/(16 ธ.ค. 67) สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน(องค์การมหารชน) หรือ พอช. ร่วมกับ ภาคีเครือข่าย คณะทำงานพิจารณารางวัลองค์กรสวัสดิการชุมชนประจำปี 2567