หัวหินนอกจากจะเป็นที่นิยมของนักท่องเที่ยวจากทั่วโลกแล้ว ยังเป็นแม่เหล็กที่ดึงดูดผู้คนจากทั่วสารทิศให้เข้ามาทำมาหากินที่นี่
อำเภอหัวหิน อยู่ห่างจากกรุงเทพฯ ประมาณ 195 กิโลเมตร เป็นแหล่งตากอากาศยอดนิยมของคนไทยมายาวนาน ข้อมูลการท่องเที่ยวของจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ระบุว่า ก่อนสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 มีนักท่องเที่ยวมาเยือนหัวหินประมาณปีละ 8 ล้านคน (เป็นคนไทยประมาณ 6 ล้านคน ต่างชาติประมาณ 2 ล้านคน) ชาวต่างชาติส่วนใหญ่เป็นชาวยุโรป และเอเชีย คือ จีน ญี่ปุ่น ทำรายได้เข้าสู่จังหวัดประมาณปีละ 40,000 ล้านบาท
ขณะเดียวกัน การเติบโตจากการท่องเที่ยวในอำเภอหัวหินตลอดช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมา จึงเป็นแม่เหล็กยักษ์ที่ดึงดูดให้ผู้คนจากทั่วทุกสารทิศเข้ามาทำมาหากินในเมืองท่องเที่ยวแห่งนี้ บ้างก็เช่าบ้าน ห้องพัก หรือเช่าที่ดินปลูกสร้างบ้าน แต่ก็ไม่ง่ายนัก เพราะที่ดินมีน้อยและราคาแพง จำนวนไม่น้อยจึงอาศัยที่ดินที่รกร้างของรัฐ เช่น ที่ดินริมทางรถไฟของการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ปลูกสร้างบ้านเรือน นานวันเข้าจึงขยายกลายเป็นชุมชนแออัด
คนจนกับการพัฒนาระบบรางรถไฟ
ข้อมูลจากเทศบาลเมืองหัวหินระบุว่า ในเขตเทศบาลมีเนื้อที่ทั้งหมดประมาณ 86 ตารางกิโลเมตร มีชุมชนต่างๆ ตั้งอยู่ทั้งหมด 39 ชุมชน (ไม่ระบุจำนวนประชากร) ส่วนใหญ่ทำงานรับจ้างทั่วไป และอาชีพที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยว เช่น งานโรงแรม ที่พัก ร้านอาหาร ขับรถ ค้าขาย ฯลฯ
ในจำนวน 39 ชุมชนนี้ มีชุมชนที่ปลูกสร้างบ้านเรือนอยู่ในที่ดิน รฟท. จำนวน 19 ชุมชน ผู้อยู่อาศัยประมาณ 1,200 ครอบครัว ซึ่งมีทั้งชุมชนที่ทำสัญญาเช่าที่ดินกับ รฟท. และไม่ได้ทำสัญญาเช่ากับ รฟท. (ส่วนใหญ่ไม่ได้ทำสัญญาเช่าหรือบุกรุกที่ดินปลูกสร้างบ้าน)
ขณะที่ รฟท. มีแผนการพัฒนาระบบรางรถไฟทั่วประเทศมานานกว่า 10 ปี เช่น รถไฟความเร็วสูง รถไฟรางคู่ ฯลฯ แต่เพิ่งดำเนินการได้ในช่วงปลายปี 2560 โดยที่อำเภอหัวหินซึ่งอยู่ในเส้นทางรถไฟสายใต้ รฟท.มีแผนก่อสร้างระบบรถไฟรางคู่ เส้นทางนครปฐม-ราชบุรี-เพชรบุรี-หัวหิน-ประจวบฯ - ชุมพร (จนถึงสถานีหาดใหญ่ จ.สงขลา) เริ่มดำเนินการในปี 2561
เฉพาะเส้นทางช่วงนครปฐม-หัวหิน ระยะทางประมาณ 169 กิโลเมตร รฟท.ทำสัญญากับบริษัทเอกชนเพื่อก่อสร้างเส้นทางตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2561-มกราคม 2564 ตามแผนงานจะมีการก่อสร้างเส้นทางรถไฟรางคู่และเส้นทางยกระดับผ่านตัวเมืองหัวหิน ความยาวประมาณ 13 กิโลเมตร มีชุมชนต่างๆ ตั้งอยู่ในเขตที่ดิน รฟท. ทั้งหมด 19 ชุมชน และอยู่ในรัศมี 40 เมตรจากสองข้างทางรถไฟที่ รฟท.จะใช้พื้นที่เพื่อโครงการดังกล่าว
คนจนซึ่งแม้จะเป็นแรงงานสร้างเมืองหรือเป็นฟันเฟืองขับเคลื่อนธุรกิจท่องเที่ยวให้เดินหน้า แต่พวกเขาก็เป็นเสมือน ‘แขกที่ไม่ได้รับเชิญ’ ของเมืองท่องเที่ยวแห่งนี้ จึงไม่แคล้วที่จะถูกขับออกไป !!
ชุมชนในเขตเทศบาลเมืองหัวหินตั้งอยู่ริมทางรถไฟ
การรวมตัวเพื่อแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัย
สุรภา นิลเพ็ชร หรือ ‘พี่แพรว’ อายุ 50 ปี แกนนำชุมชนเขาพิทักษ์ ซึ่งเป็น 1 ใน 19 ชุมชนริมทางรถในเขตเทศบาลเมืองหัวหิน เล่าว่า ชุมชนเขาพิทักษ์เป็นชุมชนแออัด มีประมาณ 100 หลังคาเรือน ส่วนใหญ่ปลูกสร้างบ้านในที่ดิน รฟท. โดยไม่ได้เช่าที่ดิน (มีบางส่วนที่มีสัญญาเช่าที่ดิน) อยู่อาศัยกันมานานประมาณ 20-40 ปี ชาวบ้านส่วนใหญ่มีอาชีพรับจ้างหรือทำงานบริการที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยว เช่น นวดแผนโบราณ ลูกจ้างร้านอาหาร โรงแรม ค้าขายเล็กๆ น้อยๆ
พี่แพรวบอกว่า ชาวบ้านรู้ข่าวว่า รฟท. มีโครงการขยายทางรถไฟหัวหินตั้งแต่ปี 2555 แล้ว เพราะตอนนั้นเครือข่ายที่อยู่อาศัยคนจน (สหพันธ์พัฒนาองค์กรชุมชนคนจนเมืองแห่งชาติ หรือ สอช.) มาจัดกิจกรรมรณรงค์แก้ปัญหาที่อยู่อาศัยชุมชนริมทางรถไฟ เนื่องในวันที่อยู่อาศัยโลกที่สถานีรถไฟหัวหิน มีชาวบ้านไปร่วมเดินรณรงค์ประมาณ 200 คน แต่หลังจากนั้นก็ยังไม่ได้ทำอะไรกันต่อ ชาวบ้านคิดว่าการรถไฟฯ คงจะยังไม่ทำอะไร จึงอยู่ต่อมาเรื่อยๆ
“พอขึ้นปี 2561 การรถไฟฯ ส่งคนมาปักป้ายหน้าชุมชน บอกให้ชาวบ้านรื้อย้ายออกไปภายในเดือนพฤศจิกายนปีนั้น เพราะการรถไฟฯ จะให้บริษัทเอกชนเข้ามาก่อสร้างโครงการรถไฟรางคู่ที่หัวหิน คราวนี้ชาวบ้านรู้แล้วว่าการรถไฟฯ คงจะเอาจริงแน่ๆ จึงเริ่มปรึกษาหารือกัน มีชาวบ้านจากเครือข่ายต่างๆ ที่รู้ข่าว และเจ้าหน้าที่จาก พอช. เข้ามาให้คำแนะนำ เพราะชาวบ้านไม่เคยรวมกลุ่มต่อสู้เรื่องที่ดินมาก่อน ส่วนใหญ่ทำมาหากินไปวันๆ”
พี่แพรวเล่าความเป็นมาจุดเริ่มต้นการต่อสู้ และบอกว่า หลังจากนั้นจึงมีตัวแทนชุมชนต่างๆ เข้าร่วมเป็นคณะทำงานเพื่อจะแก้ไขปัญหา และจัดตั้งคณะกรรมการชุมชนเพื่อสำรวจข้อมูลชุมชนและครอบครัวที่เดือดร้อน จัดตั้งกลุ่มออมทรัพย์เพื่อเป็นทุนในการรองรับหาที่อยู่อาศัยใหม่ เตรียมจัดหาที่ดิน รวมทั้งวางแผนเจรจาแก้ไขปัญหาและชะลอการไล่รื้อกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เทศบาลเมืองหัวหิน รฟท. บริษัทเอกชนที่รับเหมาก่อสร้างทางรถไฟ ฯลฯ
แต่การเจรจากับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในช่วงปี 2561 หลายครั้ง ไม่ประสบผลสำเร็จ แม้ว่าจะมีการแต่งตั้งคณะกรรมการพิจารณาการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยริมทางรถไฟอำเภอหัวหินฯ ขึ้นมาในเดือนกรกฎาคม 2561 โดยมีรองผู้ว่าฯ จ.ประจวบคีรีขันธ์เป็นประธาน เพราะข้อเสนอของชาวบ้านไม่ได้รับการตอบรับ
เช่น 1.ชาวบ้านต้องการเช่าที่ดิน รฟท. ระยะยาว จากที่ดินที่เหลือหรือไม่ได้ใช้ประโยชน์จากการก่อสร้างรถไฟรางคู่ที่หัวหิน 2.ให้ รฟท.และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดหาที่ดินแปลงใหม่รองรับผู้ที่ได้รับผลกระทบ 3.จัดที่ดินของรัฐในหัวหินให้เช่าระยะยาวและราคาถูก 4.ผ่อนผันการรื้อถอนเพื่อชาวบ้านจะได้มีเวลาหาที่อยู่ใหม่ 5.ให้ค่ารื้อถอนสิ่งปลูกสร้างตามความเหมาะสมและเป็นธรรมตามค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจริง เพื่อจะได้มีเงินส่วนที่เหลือไปสมทบทุนสร้างที่อยู่อาศัยใหม่ ฯลฯ
ชาวชุมชนในที่ดิน รฟท.หัวหินยื่นหนังสือถึงหน่วยงานต่างๆ ในจังหวัดเพื่อขอความช่วยเหลือ แต่ไม่เป็นผล
เส้นทางสู่บ้านมั่นคง
การรวมตัวต่อสู้เพื่อที่อยู่อาศัยของคนจนริมทางรถไฟเมืองหัวหิน ไม่ใช่เรื่องง่าย แม้จะมีชาวบ้านที่เดือดร้อน 19 ชุมชน ประมาณ 1,200 ครัวเรือน ชาวบ้านประมาณ 4,000 คน แต่เมื่อใกล้เส้นตายที่ รฟท.จะให้ชุมชนต่างๆ รื้อย้ายออกไปภายในเดือนพฤศจิกายน 2561 โดย รฟท.จะจ่ายค่ารื้อถอนสิ่งปลูกสร้าง (ประมาณครัวเรือนละ 2-3 หมื่นบาท) แต่หากไม่ยอมรื้อย้ายก็จะถูกดำเนินคดีในข้อหาบุกรุก
ประกอบกับข้อเรียกร้องต่างๆ ของชาวบ้านไม่ได้รับการตอบสนอง หน่วยงานที่เกี่ยวข้องยืนยันว่าในหัวหินไม่มีที่ดินของรัฐรองรับเรื่องที่อยู่อาศัย จึงทำให้ชุมชนต่างๆ แตกฉานซ่านเซ็น หลายครอบครัวยอมรับเงินค่ารื้อถอนแล้วย้ายกลับไปอยู่ภูมิลำเนาเดิม บ้างย้ายไปอยู่เมืองท่องเที่ยวอื่น เช่น ชะอำ จ.เพชรบุรี บางครอบครัวหาเช่าบ้านหรือห้องพักอยู่ในหัวหินเพื่อทำมาหากินต่อไป
พี่แพรว เล่าต่อไปว่า แม้ว่าการเจรจากับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะไม่ประสบผลสำเร็จ ชาวบ้านส่วนใหญ่ยอมรื้อย้ายออกไปตามกำหนด แต่ครอบครัวของเธอรวมทั้งคนอื่นๆ ไม่มีที่จะไป เพราะต้องทำมาหากินอยู่ที่หัวหิน แต่บ้านเช่าหรือห้องเช่าในหัวหินช่วงนั้นก็หายากและมีราคาแพง เธอและคนอื่นๆ จึงยังไม่รื้อย้าย
เช่นเดียวกับ ‘บาหยัน บุญมา’ ชาวบ้านเขาพิทักษ์ บอกว่า เธอและครอบครัวไม่ได้รื้อย้ายไปอยู่ที่ไหน เนื่องจากไม่มีที่ไป เพราะทำงานรับจ้างหากินอยู่ที่หัวหินมานานกว่า 20 ปี หากจะย้ายไปอยู่ไกลๆ ก็จะต้องไปเริ่มต้นใหม่ แต่ถ้าจะหาบ้านเช่าในหัวหินก็มีราคาแพง ไม่ต่ำกว่าเดือนละ 3,000-4,000 บาท
รถไฟรางคู่กำลังก่อสร้างทางยกระดับช่วงสถานีหัวหิน (ภาพ : การรถไฟแห่งประเทศไทย )
พี่แพรวและบาหยันและชาวบ้านคนอื่นๆ จึงเตรียมจัดทำโครงการ ‘บ้านมั่นคง’ ที่สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) หรือ ‘พอช.’ สนับสนุนการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยของชาวชุมชนผู้มีรายได้น้อยที่มีความเดือดร้อนเรื่องที่อยู่อาศัย
โดยชาวบ้านได้ร่วมกันจัดตั้ง ‘กลุ่มออมทรัพย์เขาพิทักษ์พัฒนา’ ขึ้นมาในเดือนพฤศจิกายน 2561 เพื่อเป็นการรวมคน รวมเงิน เป็นการเตรียมพร้อมเพื่อจัดหาที่ดินรองรับชาวบ้านที่เข้าร่วมโครงการ ช่วงแรกมีสมาชิกกว่า 100 ครอบครัว ให้สมาชิกออมเงินเดือนหนึ่งอย่างต่ำ 300 บาทต่อเดือน ใครมีมากก็ออมมาก
ออมเงินได้ 1 ปีเศษ ในเดือนธันวาคม 2562 ชาวบ้านจึงได้จดทะเบียนจัดตั้ง ‘สหกรณ์บ้านมั่นคงหินเหล็กไฟ จำกัด’ เพื่อให้มีสถานะเป็นนิติบุคคล สำหรับบริหารจัดการโครงการบ้านมั่นคงและขอใช้สินเชื่อจาก พอช. โดยมีพี่แพรว หรือ ‘สุรภา นิลเพ็ชร’ เป็นประธานสหกรณ์ ได้รับการสนับสนุนการจัดตั้ง การให้ความรู้เรื่องสหกรณ์ การทำบัญชี ฯลฯ จากสำนักงานสหกรณ์จังหวัดประจวบคีรีขันธ์
ในระหว่างนี้ ชาวบ้านได้ช่วยกันตระเวนดูที่ดินเอกชนที่มีการประกาศขายในเขตอำเภอหัวหิน เพื่อความสะดวกในการทำมาหากิน เพราะหากอยู่ไกลก็จะมีปัญหาเรื่องการเดินทาง การเล่าเรียนของลูกหลาน ช่วยกันตระเวนหาที่ดินประมาณ 4-5 แปลง ส่วนใหญ่จะมีราคาสูงเกินกำลังคนจน เพราะที่ดินที่เคยเป็นไร่เป็นสวน กลายเป็นบ้านพักตากอากาศ รีสอร์ท สำหรับนักท่องเที่ยว
จนกระทั่งมาเจอที่ดินที่เป็นไร่สับปะรดเก่า อยู่ในตำบลหินเหล็กไฟ อำเภอหัวหิน ห่างจากตัวเมืองหรือชุมชนเก่าประมาณ 10 กิโลเมตรเศษ เนื้อที่ประมาณ 5 ไร่ 2 งาน เจ้าของที่ดินเป็นคนมีเมตตา เมื่อรู้ว่าชาวบ้านกำลังเดือดร้อน จึงลดราคาให้เป็นพิเศษ จากที่ดินราคาไร่ละประมาณ 2 ล้านบาท ทั้งแปลงราคา 10 ล้านบาทเศษ แต่เจ้าของจะขายให้ในราคา 8 ล้านบาทเศษ ชาวบ้านจึงรวบรวมเงินได้ประมาณ 20,000 บาทเอาไปมัดจำที่ดิน
พี่แพรว (ที่ 2 จากซ้าย) มอบของขอบคุณนายประยูร พะมะ สหกรณ์จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ที่สนับสนุนชาวชุมชนมาตลอด
ฟ้าหลังฝนที่หินเหล็กไฟ
ระหว่างปี 2562-2563 ขณะที่ชาวบ้านเตรียมจัดทำโครงการบ้านมั่นคง ซึ่งมีกระบวนการขั้นตอนต่างๆ ตั้งแต่การสำรวจข้อมูลปัญหา การจัดตั้งกลุ่มออมทรัพย์เพื่อเป็นทุน การจัดหาที่ดินรองรับ การจัดตั้งสหกรณ์ การเสนอขอใช้สินเชื่อจาก พอช. เพื่อซื้อที่ดินและก่อสร้างบ้าน ฯลฯ ซึ่งต้องใช้ระยะเวลาดำเนินการ ทำให้ชาวบ้านบางส่วนที่เคยเป็นสมาชิกกลุ่มออมทรัพย์หลายครอบครัวถอนตัวออกไป บางคนไม่เชื่อว่าจะมีโครงการแบบนี้เกิดขึ้นจริง “ใครเขาจะมาช่วยคนจน” บางคนบอกแบบนี้ ท้ายที่สุดจึงเหลือสมาชิกกลุ่มออมทรัพย์ที่จะเข้าร่วมโครงการบ้านมั่นคงจำนวน 70 ครอบครัว
อย่างไรก็ตาม ขณะที่ชาวบ้านยังไม่มีหนทางไป จึงต้องอยู่อาศัยในชุมชนเดิม (ที่ดิน รฟท.) ทนายความของบริษัทเอกชนที่ได้รับสัมปทานสร้างทางรถไฟรางคู่ได้แจ้งความดำเนินคดีทางแพ่งเพื่อขอให้ศาลบังคับให้ชาวบ้านรื้อย้ายออกไป รวมทั้งหมด 19 ราย ส่วนใหญ่เป็นชาวบ้านในชุมชนเขาพิทักษ์ ซึ่งพี่แพรวและบาหยันก็ตกเป็นจำเลยในคดีนี้ด้วย แต่มีทนายความจากมูลนิธิศูนย์ข้อมูลชุมชนมาช่วยไกล่เกลี่ยให้ชาวบ้าน ต้องขึ้นศาลหลายรอบ โดยชาวบ้านขอผ่อนผันจะรื้อย้ายหลังจากซื้อที่ดินแล้ว แต่ไม่นานชาวบ้านทั้ง 19 รายก็โดนแจ้งความดำเนินคดีอีกครั้ง คราวนี้เป็นคดีอาญาข้อหาบุกรุก
“ครั้งนี้พวกเราก็ไปศาลตามนัด เตรียมจะไปผ่อนผันกับศาลว่า ถ้าซื้อที่ดินและเตรียมสร้างบ้านแล้ว ชาวบ้านพร้อมจะย้ายออกไป แต่วันนั้นตำรวจพาพวกเราไปที่ห้องขังใต้ถุนศาล จับใส่กุญแจมือ ทุกคนก็ตกใจ เพราะไม่คิดว่าจะโดนจับใส่กุญแจมืออย่างนี้ พอขึ้นศาล ศาลสั่งปรับคนละ 2 พันบาท ถ้าไม่มีให้ก็จะต้องติดคุกชดใช้ พวกเราก็ต้องหาเงินมาคนละ 2 พันบาท จึงออกมาจากศาลได้ คิดแล้วก็แค้นใจ น้ำตาร่วงเลย ไม่คิดว่าคนจนๆ ไม่มีที่จะอยู่อาศัย มาบุกเบิกที่ดินรกร้าง ต้องมาถูกจับใส่กุญแจมือแบบนี้” พี่แพรวย้อนเหตุการณ์กลับไปในช่วงที่ชาวบ้านตกเป็นจำเลย
แต่ฟ้าหลังฝนย่อมสดใสเสมอ เมื่อพายุร้ายพัดผ่านไป...ในช่วงต้นปี 2563 ชาวบ้านในนามของสหกรณ์บ้านมั่นคงหินเหล็กไฟฯ ได้ซื้อที่ดินแปลงที่วางมัดจำเอาไว้ บริเวณหมู่ 14 ตำบลหินเหล็กไฟ อ.หัวหิน เนื้อที่ 5 ไร่ 2 งาน 14 ตารางวา ขนาดที่ดินกว้างประมาณ 23 เมตร ยาว 300 เมตรเศษ ห่างจากชุมชนเดิมประมาณ 10 กิโลเมตรเศษ ราคาที่ดิน 8,300,000 บาทเศษ โดย พอช.สนับสนุนสินเชื่อจำนวน 7,749,000 บาท ส่วนที่เหลือประมาณ 550,000 บาทเศษ เป็นเงินสมทบจากชาวบ้าน 70 ครอบครัวที่ร่วมกันออมทรัพย์มานานกว่า 1 ปี
จากนั้นจึงเป็นกระบวนการเตรียมก่อสร้างบ้าน โดยมีสถาปนิกจาก พอช. เป็นพี่เลี้ยง ชาวบ้านช่วยกันออกแบบบ้านในฝัน เมื่อตัดพื้นที่ส่วนกลาง เช่น ที่ทำการสหกรณ์ ถนน ระบบบำบัดน้ำเสีย ฯลฯ แต่ละครอบครัวจะได้เนื้อที่เฉลี่ย 22 ตารางวา รวมทั้งหมด 70 หลัง มีแบบบ้านหลายแบบให้ชาวบ้านเลือก เช่น บ้านแฝด บ้านเดี่ยว ขนาดชั้นเดียว เนื้อที่ตั้งแต่ 4X8, 6x7 และ 6x8 ตารางเมตร ราคาค่าก่อสร้างประมาณ 240,000 – 300,000 บาท โดยสหกรณ์จะจัดหาผู้รับเหมามาก่อสร้างบ้าน และบางส่วนจะใช้ผู้รับเหมาและช่างก่อสร้างในชุมชน
ในเดือนพฤศจิกายน 2563 พอช.ได้อนุมัติสินเชื่อเพื่อก่อสร้างบ้านจำนวน 70 หลังให้สหกรณ์ฯ ตามที่เสนอใช้สินเชื่อ จำนวนเงิน 13 ล้านบาทเศษ (รวมงบสนับสนุนการก่อสร้างสาธารณูปโภค การบริหารจัดการ และสินเชื่อซื้อที่ดิน รวม 27.9 ล้านบาท) ต่อมาในเดือนกุมภาพันธ์ 2564 จึงเริ่มก่อสร้างบ้านหลังแรก โดยมีนายพรหมพิริยะ กิจนุสนธิ์ รองผู้ว่าราชการ จ.ประจวบคีรีขันธ์ เป็นประธานในพิธียกเสาเอกสร้างบ้านหลังแรก ท่ามกลางความดีใจและภาคภูมิใจของชาวบ้าน หลายคนหลั่งน้ำตาด้วยความตื้นตันออกมา
ยกเสาเอกก่อสร้างบ้านหลังแรก
เสียงจากคนจน
ลุงประสิทธิ์ ยอดยิ่ง อายุ 70 ปี ชาวชุมชนเขาพิทักษ์ที่เข้าร่วมโครงการบ้านมั่นคงหินเหล็กไฟฯ บอกว่า สมัยหนุ่มๆ เคยทำงานก่อสร้าง และเป็นผู้รับเหมารายย่อย รับสร้างบ้านตั้งแต่งานฐานรากจนถึงหลังคา รวมทั้งงานประปา ไฟฟ้า เมื่อมีการก่อสร้างบ้านมั่นคง จึงอาสารับก่อสร้าง 20 หลัง ใช้ช่างก่อสร้างในชุมชน 6 คน และหาลูกน้องมาเพิ่ม นอกจากนี้ลุงยังเป็นกรรมการตรวจสอบงานสร้างบ้านในโครงการนี้ด้วย
“ตอนแรกที่จะก่อสร้างบ้าน มีบริษัทรับเหมาเข้ามาดูหลายราย แต่พอเห็นราคาค่าก่อสร้างแล้วก็ต้องถอยออกไป เพราะถ้ารับงานแล้วก็จะไม่เหลืออะไร ขาดทุนเปล่าๆ เพราะตอนนั้นวัสดุก่อสร้างหลายอย่างขึ้นราคา เหล็กเส้นจากราคาร้อยกว่าบาท ขึ้นเป็นสองร้อยบาท แต่ที่ผมทำได้ เพราะถือว่าช่วยกัน ช่วยสร้างบ้านให้พี่น้องได้อยู่ ไม่ได้คิดกำไรอะไร ถือว่าเป็นค่าแรง พอบ้านเสร็จก็ภูมิใจ หายเหนื่อย” ลุงประสิทธิ์บอก
ลุงประสิทธิ์ ยอดยิ่ง หัวเรี่ยวหัวแรงคนสำคัญที่ช่วยสร้างบ้านมั่นคงหินเหล็กไฟ ปัจจุบัน (กรกฎาคม 2565) บ้านมั่นคงหินเหล็กไฟ ก่อสร้างเสร็จทั้ง 70 หลัง
ปัจจุบัน (กรกฎาคม 2565) บ้านมั่นคงหินเหล็กไฟ ก่อสร้างเสร็จทั้ง 70 หลังแล้ว ชาวบ้านที่เคยแตกฉานซ่านเซ็นทยอยกันเข้ามาอยู่อาศัยแล้ว หลายคนบอกดีใจที่มีบ้านเป็นของตัวเอง เพราะยังทำงานอยู่ที่หัวหิน หากเช่าบ้านเดือนหนึ่งอย่างต่ำจะต้องจ่ายค่าเช่าไม่ต่ำกว่า 3,000 บาท แต่บ้านมั่นคงผ่อนชำระสินเชื่อคืน พอช. ประมาณเดือนละ 2,600-3,000 บาท ระยะเวลา 15 ปี ชาวบ้านก็จะมีบ้านเป็นของตัวเอง ไม่ต้องกลัวว่าจะต้องถูกขับไล่ หรือเร่ร่อนไปอยู่ที่ไหน
ป้าอัมพร นาถถัต อายุ 65 ปี อาชีพรับจ้างนวดแผนโบราณ บอกว่า บ้านเดิมอยู่อีสาน เข้ามาหากินที่หัวหินตั้งแต่เมื่อ 30 ปีก่อน ได้ค่านวดชั่วโมงละ 110 บาท วันหนึ่งได้นวดไม่กี่ชั่วโมง พอมีรายได้อยู่กินไปวันๆ ต้องเช่าบ้านอยู่มาตลอด พอโดนไล่ที่จึงมาเข้าร่วมกับโครงการบ้านมั่นคง ป้าออมทรัพย์กับสหกรณ์มาตลอด เดือนละ 300 บาท และส่งค่าหุ้นเดือนละ 200 บาท ตอนนี้บ้านเสร็จแล้ว ขนาด 4X8 ตารางเมตร ไม่กว้างใหญ่ แต่ก็พออยู่กับลูกสาว ดีกว่าเช่าบ้านอยู่ เพราะเป็นของตัวเอง ป้าผ่อนเดือนละ 2,600 บาท ยังพอไหว ลูกสาวทำงานแล้วก็ช่วยผ่อนด้วย
ป้าอัมพรกับกับบ้านหลังแรกของตัวเอง ผ่อนเดือนละ 2,600 บาท 15 ปี
ป้าวิไลลักษณ์ สุขสำเภา อายุ 62 ปี อาชีพรับจ้าง อาศัยอยู่กับหลานสาวที่ทำงานแล้ว บอกว่า เมื่อก่อนตอนที่ยังอยู่ที่ชุมชนริมทางรถไฟหัวหิน ไม่มีทะเบียนบ้าน ต้องอาศัยเข้าชื่อใช้ทะเบียนบ้านของคนอื่น พอเวลาจำเป็นต้องใช้ทะเบียนบ้าน เช่น หลานสมัครเรียน สมัครทำงาน ก็ต้องไปรอว่าเจ้าของบ้านจะว่างเมื่อไหร่ เพราะบางทีเจ้าของเขาไปทำงานหรือไปธุระข้างนอกก็ต้องรอนาน
“เมื่อก่อนก็ไม่คิดว่าจะมีบ้านเป็นของตัวเอง เพราะคนจนๆ จะเอาเงินที่ไหนไปซื้อบ้าน ที่หัวหินราคาหลายล้าน แถวนี้ก็มีแต่บ้านฝรั่ง หลังใหญ่ๆ ทั้งนั้น พอบ้านเสร็จ ได้ทะเบียนบ้าน ป้าร้องไห้ดีใจ เพราะมีบ้านและทะเบียนบ้านเป็นของตัวเองแล้ว ไม่ต้องไปอาศัยคนอื่นอีก”
คณะผู้ตรวจราชการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์และสหกรณ์จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เยี่ยมชาวหินเหล็กไฟ
เรื่อง : สำนักพัฒนานวัตกรรมชุมชนจัดการความรู้และสื่อสาร สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน)
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
สุราษฎร์ธานี จัดงานวันที่อยู่อาศัยโลกปี67 ย้ำชุมชนต้องเป็นแกนหลักในการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยคนจน
UN – HABITAT หรือ ‘โครงการตั้งถิ่นฐานมนุษย์แห่งสหประชาชาติ’ กำหนดให้วันจันทร์แรกของเดือนตุลาคมทุกปีเป็น ‘วันที่อยู่อาศัยโลก’ หรือ ‘World Habitat Day’
'รฐนน-สุธีพัทธ์'พร้อมลุย 'แบล็ค เมาน์เทน แชมเปี้ยนชิพ' ที่หัวหินชิง2ล้านเหรียญฯ
รฐนน วรรณศรีจันทร์ และ สุธีพัทธ์ ประทีปเทียนชัย สองโปรชั้นนำของเอเชียนทัวร์ พร้อมลุยศึกอินเตอร์เนชันแนล ซีรีส์ รายการ แบล็คเมาน์เทน แชมเปี้ยนชิพ 2024 หวังให้โปรไทยมีชื่อติดลีดเดอร์บอร์ดที่สนามแบล็คเมาน์เท่น กอล์ฟ คลับ หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ ซึ่งจะเปิดฉากดวลรอบแรกในวันพฤหัสบดีที่ 17 ตุลาคมนี้
รวมพลังคนจนแก้ปัญหาที่ดิน-ที่อยู่อาศัยทั่วประเทศ วันที่อยู่อาศัยโลก ปี 2567
ปัญหาการขาดแคลนที่อยู่อาศัยหรือมีที่อยู่อาศัยไม่เหมาะสมเป็นปัญหาที่สำคัญของผู้คนทั่วโลก UN-Habitat หรือ ‘โครงการตั้งถิ่นฐานมนุษย์แห่งสหประชาชาติ’
‘21 ปีบ้านมั่นคง’ พอช. แก้ปัญหาที่อยู่อาศัยคนจนทั่วประเทศ กว่า 3 แสนครัวเรือน
รัฐบาลได้มีนโยบายที่จะแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยของผู้มีรายได้น้อย และสร้างความมั่นคงในการอยู่อาศัยแก่คนจนในเมืองที่ ยังไม่มีที่อยู่อาศัยเป็นของตนเอง โดยเฉพาะกลุ่มผู้อยู่อาศัยในชุมชนแออัด
บ้านเดียวได้เงินหมื่น 9 คน รวมเกือบแสน เผยซื้อข้าวสารหอมมะลิเป็นสิ่งแรก
ผู้สื่อข่าวลงพื้นที่ที่ อ.พล จ.ขอนแก่น หลังพบว่ามีผู้ที่ได้รับเงินตามโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจ 10,000 บาทผ่านสวัสดิการแห่งรัฐและคนพิการ ครอบครัวเดียวเกือบ 100,000 บาท ตามสิทธิ์ที่ได้รับ
พีคตอนจบ! ลุงดีใจได้เงินหมื่น แวะก๊งเหล้าขาวเมาแอ๋ ตื่นมาหาเงินไม่เจอ โร่ขอตร.ช่วยเหลือ
ลุงชาว อ.เฉลิมพระเกียรติ จ.บุรีรัมย์ ดีใจได้เงินหมื่นแวะก๊งเหล้าขาวเมาแอ๋จำอะไรไม่ได้ ตื่นมาอีกทีหาเงินที่เหลือไม่เจอ โร่แจ้ง ตร.โพสต์ช่วยประชาสัมพันธ์ใครพบเห็นให้นำส่งคืน