การบริหารจัดการน้ำของ สทนช. ในยุค ดร.สุรสีห์ เน้นโปร่งใส รอบคอบ เปิดรับความคิดเห็น รุกผลักดันโครงการเพื่อประชาชน

สทนช. ชี้แจงการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำภายใต้การกำกับของเลขาธิการ ดร.สุรสีห์ กิตติมณฑล เร่งผลักดันโครงการด้านน้ำเพื่อประชาชน โดยต้องพิจารณาอย่างละเอียดรอบคอบ ทั้งให้ความสำคัญในการเปิดรับความเห็นทุกภาคส่วน โดยเน้นย้ำความถูกต้อง โปร่งใส ตรวจสอบได้ พร้อมเรียนรู้ปัญหาอุปสรรคเพื่อพัฒนาอย่างต่อเนื่อง

ดร.สุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เปิดเผยว่า กรณีหนังสือพิมพ์ผู้จัดการรายวัน 360 องศา ได้ตีพิมพ์ข่าว “อนาคตการบริหารจัดการน้ำ ภายใต้แม่ทัพมือใหม่ สทนช.” เมื่อวันที่ 4 ก.ค. 65 ที่ได้กล่าวถึงการดำเนินงานของ สทนช. ในช่วง 9 เดือนที่ผ่านมา ซึ่ง สทนช. วิเคราะห์ข้อคิดเห็นในข่าวดังกล่าวแล้ว พบว่า

มีข้อมูลที่คลาดเคลื่อนไปจากข้อเท็จจริงซึ่งอาจส่งผลให้สาธารณชนเกิดความเข้าใจผิดได้ จึงขอชี้แจงใน 3 ประเด็นหลัก ดังนี้ ประเด็นที่ 1 การขับเคลื่อนโครงการพัฒนาแหล่งน้ำขนาดใหญ่และโครงการสำคัญ สทนช. มีการดำเนินงานตามกระบวนการอย่างต่อเนื่องและละเอียดรอบคอบ เพื่อให้มีความถูกต้องตามระเบียบหลักเกณฑ์ โดยมีการเร่งรัดการดำเนินงานอย่างใกล้ชิดเพื่อไม่ให้เกิดความล่าช้า พร้อมเน้นย้ำกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชนในพื้นที่ผ่านคณะกรรมการลุ่มน้ำ คณะอนุกรรมการทรัพยากรน้ำจังหวัด เพื่อให้การดำเนินงานโครงการสอดคล้องกับความต้องการของแต่ละพื้นที่อย่างแท้จริงอันจะเห็นได้จากความก้าวหน้าอย่างเป็นรูปธรรม อาทิ 1. โครงการเติมน้ำเขื่อนภูมิพล จากกรณีการคัดค้านจากผู้ได้รับผลกระทบและองค์กรต่าง ๆ  สทนช. ได้เข้าร่วมตรวจสอบพื้นที่โครงการ พร้อมร่วมชี้แจงกับคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติและพิจารณาหาทางออกร่วมกันเพื่อลดความขัดแย้ง พร้อมกันนี้ ได้มอบหมายให้กรมชลประทานเร่งรัดการดำเนินการประชาสัมพันธ์และการมีส่วนร่วมของประชาชน เพื่อเสริมสร้างความเข้าใจอันดีและให้บรรลุวัตถุประสงค์โครงการต่อไป ทั้งนี้ โครงการเติมน้ำเขื่อนภูมิพลจะต้องดำเนินการควบคู่กับโครงการสายส่งไฟฟ้าแรงสูงของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย จึงกำหนดให้มีการพิจารณาโครงการไปพร้อมกัน 2. อ่างเก็บน้ำคลองวังโตนด สทนช. ได้มีการประชุมติดตามเร่งรัดเพื่อขับเคลื่อนโครงการอย่างต่อเนื่อง โดยขับเคลื่อนในหลายมิติเพื่อทำให้โครงการสามารถเกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม โดยเฉพาะมิติด้านสิ่งแวดล้อม ปัจจุบันได้ผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณารายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (คชก.) และคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ (กก.วล.) แล้ว ขณะนี้อยู่ระหว่างการขออนุญาตการใช้ประโยชน์ที่ดิน ได้แก่ พื้นที่อุทยานแห่งชาติและพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ ส่วนมิติการขับเคลื่อนเพื่อเตรียมก่อสร้างและของบประมาณ ภายหลังขอความเห็นชอบในการใช้ประโยชน์พื้นที่อุทยานแห่งชาติ จะเสนอต่อคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) ให้ความเห็น และเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อขออนุมัติในหลักการต่อไป ซึ่งตามแผนจะเริ่มการก่อสร้างในปี 67 - 72

3.โครงการศึกษาทบทวนแผนแม่บทน้ำ 20 ปี สทนช. ได้ว่าจ้าง สถาบันการขนส่ง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพื่อทำการปรับปรุงกรอบแนวทางและค่าเป้าหมายแผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ 20 ปี จากการติดตามพบว่า ผลการดำเนินงานมีความล่าช้ากว่าแผน สทนช.จึงได้มีการทำหนังสือเพื่อเร่งรัดการดำเนินงานให้แล้วเสร็จโดยเร็วตามแผน ส่งผลให้สถาบันการขนส่ง จุฬาฯ ได้แจ้งขอปรับเปลี่ยนผู้จัดการโครงการใหม่เพื่อเร่งขับเคลื่อนโครงการฯ พร้อมมอบหมายให้คณะที่ปรึกษาโครงการฯ เข้าประชุมร่วมกับ สทนช. เพื่อรับนโยบายและกำหนดกรอบการศึกษาทบทวนแผนแม่บทน้ำ 20 ปีให้เป็นไปในทิศทางเดียวกันและให้ผลการศึกษาเกิดความก้าวหน้าโดยเร็วที่สุด โดยปัจจุบัน โครงการฯ มีผลการดำเนินงานในภาพรวมร้อยละ 60 ซึ่งประธานกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติได้มีข้อสั่งการให้เร่งรัดดำเนินการให้แล้วเสร็จในเดือน ก.ย. 65 เพื่อประกาศใช้ในปี 66 และให้หน่วยงานใช้เป็นกรอบในการเสนอของบประมาณ ซึ่ง สทนช. จะเร่งรัดให้เสร็จทันภายในระยะเวลาที่กำหนด 4. โครงการบรรเทาอุทกภัยลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนล่าง 9 แผนงาน สทนช. ได้แต่งตั้งคณะทำงานขับเคลื่อนโครงการภายใต้แผนหลักการบรรเทาอุทกภัยในลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนล่าง เพื่อติดตาม พิจารณาแนวทางแก้ไขปัญหาอุปสรรคด้านต่าง ๆ เพื่อให้โครงการต่าง ๆ สามารถดำเนินการก่อสร้างได้ โดยได้พิจารณาแนวทางการแก้ไขปัญหาสิ่งปลูกสร้างรุกล้ำลำน้ำและเขตคลองซึ่งเป็นปัญหาที่สำคัญให้มีความชัดเจนขึ้น เสนอต่อคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนโครงการขนาดใหญ่และโครงการสำคัญ ทั้งนี้ ในช่วงเวลาปี 63 - 65 หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้มีการดำเนินการในโครงการที่มีความพร้อมและสามารถทำได้ก่อน รวมทั้งได้เตรียมความพร้อมของโครงการขนาดใหญ่และโครงการปรับปรุงที่เป็นแพคเกจ โดยในปีงบประมาณ 67 จะสามารถขับเคลื่อนโครงการได้เป็นจำนวนมาก จะเห็นได้ว่าการขับเคลื่อนโครงการที่ผ่านมาเป็นการช่วยผลักดันให้โครงการเดินหน้าต่อไปและเป็นการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมและลดความขัดแย้งได้ในอนาคต

ดร.สุรสีห์ กล่าวต่อว่า สำหรับประเด็นที่ 2 การดำเนินการบริหารจัดการน้ำ โดยกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) ในระยะนี้ กอนช. มีการจัดประชุมมอบหมายหน่วยงานในระดับนโยบายน้อยครั้ง เนื่องด้วยยังไม่มีสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีโอกาสเกิดภัยอย่างรุนแรง อีกทั้งฤดูฝนปี 65 นี้ กอนช. ได้ปรับช่วงเวลาในการเตรียมพร้อมการดำเนินงานให้เร็วยิ่งขึ้นเมื่อเทียบกับปีก่อน ๆ โดยมีการเตรียมการมาตรการรับมือตั้งแต่ช่วงก่อนเข้าฤดูฝนถึง 3 เดือน พร้อมกันนี้ ได้มีการเพิ่มมาตรการใหม่ 3 มาตรการ ประกอบด้วย 1. ตรวจความมั่นคงทำนบ พนังกั้นน้ำ 2. การจัดเตรียมพื้นที่อพยพซักซ้อมแผนเผชิญเหตุ และ 3. การตั้งศูนย์ส่วนหน้าก่อนเกิดภัย และสำหรับการบูรณาการข้อมูลและการแจ้งเตือนภัย ได้ใช้เทคโนโลยีสารสนเทศ เช่น ระบบติดตามสถานการณ์น้ำ (National Thai Water) ระบบทะเบียนแหล่งน้ำ ระบบประชุมทางไกล ประกอบกับการซ้อมแผนเผชิญเหตุ ดังนั้น การประกาศแจ้งเตือนของ กอนช. จึงทำให้หน่วยงานสามารถเตรียมความพร้อมรับมือได้อย่างทันท่วงทีและเกิดผลกระทบกับประชาชนค่อนข้างน้อย และในประเด็นที่ 3 การมีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนงานบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ สทนช. ให้ความสำคัญในการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน รวมไปถึงองค์การนอกภาครัฐ (NGOs)  ในการร่วมกันบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ โดยเล็งเห็นว่าการเปิดรับความคิดเห็นที่หลากหลายโดยไม่ปิดกั้น จะช่วยผลักดันและขับเคลื่อนให้สามารถพัฒนาการดำเนินงานเพื่อตอบสนองความต้องการที่แท้จริงของประชาชนและมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้นต่อไปในอนาคต นอกจากนี้ หากมีหน่วยงาน องค์กร หรือบุคคลใด ต้องการนำข้อมูลความรู้ต่าง ๆ ของ สทนช. ไปเผยแพร่ต่อ อันจะก่อให้เกิดประโยชน์ต่อการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำมากขึ้น โดยไม่ขัดกับกฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับ ที่เกี่ยวข้อง สทนช. ก็ไม่ขัดข้องในการดำเนินการดังกล่าว

               “ปัจจุบัน สทนช. เน้นในเรื่องการทำงานเชิงรุกและเปิดรับความคิดเห็นอย่างกว้างขวาง และได้มีการวิเคราะห์ปัญหา อุปสรรค เพื่อพัฒนาการดำเนินงานอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งให้ความสำคัญกับความถูกต้อง โปร่งใส ตรวจสอบได้ในทุกกระบวนการ โดยได้มีการสร้างระบบติดตามประเมินผลอย่างเข้มข้นเพื่อขับเคลื่อนโครงการขนาดใหญ่ โดย สทนช. จะมีการติดตามขับเคลื่อนการดำเนินงานโครงการขนาดใหญ่ที่ กนช. ให้ความเห็นชอบ ก่อนเสนอ ครม. อนุมัติโครงการ รวมทั้งจะมีการเร่งรัดโครงการขนาดใหญ่ที่อยู่ในแผนการขับเคลื่อนให้เป็นไปตามเป้าหมาย ทั้งนี้ การทำงานของ สทนช. ในปัจจุบันได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดีจากทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยมีแผนแม่บทฯน้ำ 20 ปี และพ.ร.บ.น้ำ พ.ศ. 2561 เป็นเป้าหมายร่วมที่ต้องยึดถือปฏิบัติตาม เพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาทรัพยากรน้ำให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ประชาชนและประเทศชาติ” เลขาธิการ สทนช. กล่าวในตอนท้าย.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

สทนช. เดินหน้า 10 มาตรการรับมือฤดูฝนเต็มกำลัง มั่นใจสถานการณ์น้ำท่วมไม่ซ้ำรอยมหาอุทกภัย ปี 54

สทนช. ผนึกกำลังทุกหน่วยงานขับเคลื่อน 10 มาตรการรับมือฤดูฝน ปี 2567 หลัง ครม. เปิดไฟเขียว มุ่งบริหารจัดการทรัพยากรน้ำที่มีเอกภาพ เน้นวางแผนล่วงหน้าในเชิงรุก

สัตย์สุจริต โปร่งใส! 'ผู้ว่าแบงก์ชาติ' ประกาศ ห้ามคนธปท.รับของขวัญ และของกำนัลทุกชนิด

เว็บไซต์ธนาคารแห่งประเทศไทย เผยแร่ประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย ลงนามโดย นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่า

นายกฯ ห่วงน้ำท่วมกรุงเทพฯ สั่งเดินหน้ามาตรการรับฝน สทนช.รับลูกบูรณาการหน่วยงานวางแผนบริหารจัดการอย่างเป็นระบบ

“นายกรัฐมนตรี” ห่วงฝนตกหนักท่วม กทม. สั่งการทุกหน่วยเร่งเดินหน้า 10 มาตรการรับมือฤดูฝน สทนช.รับลูกผนึกกำลังเร่งบูรณาการวางแผนทั้งระบบ ป้องกันไม่ให้ 3 น้ำคือ น้ำเหนือ น้ำทะเลหนุน น้ำฝน มาบรรจบกัน พร้อมเดินหน้าสร้างกระบวนการรับรู้ภาคประชาชน มั่นใจช่วยลดความเสียหายและสภาวะน้ำท่วมได้มีประสิทธิภาพ

กกต. คิกออฟ 'เลือก สว.' ทำ MOU เผยแพร่ประชาสัมพันธ์

กกต. ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือเผยแพร่ประชาสัมพันธ์การเลือก ส.ว. พร้อมคิกออฟภายใต้แนวคิด '20 กลุ่มอาชีพร่วมใจ ขับเคลื่อนประเทศไทยไปพร้อมกัน'

สทนช. กู้วิกฤติน้ำเค็มรุกคลองประเวศฯสำเร็จ พอใจผลงานบูรณาการแก้ไขปัญหาภายใน 1 เดือน

สทนช.ปิดหน่วยปฏิบัติการจัดการทรัพยากรน้ำชั่วคราวในภาวะวิกฤติ หลังประสบผลสำเร็จในการระดมสรรพกำลังบูรณาการร่วมกันวางแผนแก้ปัญหาน้ำเค็ม