วงเสวนา แกะปม 4 ชีวิต เหยื่อพิษสุรา เผยประสบการณ์เฉียดตาย เพื่อเป็นอุทาหรณ์เตือนใจนักดื่ม สสส. เชิญชวนงดเหล้าช่วงเข้าพรรษา พักตับ 3 เดือน ลดพฤติกรรมเสี่ยงที่ทำลายสุขภาพ เพื่อตนเองและครอบครัว

เมื่อวันที่ 11 ก.ค. 2565 ที่โรงแรมแมนดาริน สามย่าน นางสาวรุ่งอรุณ  ลิ้มฬหะภัณ รักษาการผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงหลัก สสส. กล่าวในเวทีเสวนาเนื่องในโอกาส “วันเข้าพรรษา วันงดดื่มสุราแห่งชาติ” ปี 2565  หัวข้อ “แกะปม 4 ชีวิต...เหยื่อพิษสุรา (รุนแรง)” จัดโดยเครือข่ายผู้ได้รับผลกระทบจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์  ร่วมกับ มูลนิธิเด็กเยาวชนและครอบครัว มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล มูลนิธิสื่อเพื่อสุขภาวะ  สนับสนุนโดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ว่า วันพรรษาของทุกปี ถือเป็น“วันงดดื่มสุราแห่งชาติ” ตามมติคณะรัฐมนตรี ซึ่งในปีนี้ตรงกับวันที่ 14 ก.ค.65 โดยพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีได้มอบคำขวัญไว้ว่า “ปลอดเหล้า ปลอดโรค ปลอดภัย ห่างไกลโควิด 19”  และเป็นที่ทราบกันดีว่าสุรามีส่วนทำลายภูมิคุ้มกันเพิ่มความเสี่ยงติดโควิด 2.9 เท่า และมากกว่าร้อยละ20 ของอุบัติเหตุทางถนนมาจากดื่มแล้วขับ ซึ่งเพิ่มสูงถึงร้อยละ40 ในช่วงเทศกาล  สร้างความสูญเสียมากกว่า 9 หมื่นล้านบาทต่อปี และจากการศึกษาในคนทั่วไปพบว่าร้อยละ 80 ได้รับผลกระทบจากคนที่ดื่ม อาทิ ก่อความรำคาญ การกระทบกระทั่งกันอีกด้วย

​“กิจกรรมในวันนี้มีความสำคัญ นำไปสู่การขับเคลื่อนสังคม กระตุ้นเตือนอันตรายของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ การดื่มไม่ขับ การสกัดนักดื่มหน้าใหม่ และกลุ่มเป้าหมายที่มีแนวโน้มการดื่มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะกลุ่มผู้หญิง กลุ่มผู้ดื่มประจำ กลุ่มผู้ดื่มหนัก และกลุ่มเยาวชน อย่างไรก็ตาม เทศกาลเข้าพรรษาปี2565นี้ สสส.ยังได้ผลิตภาพยนตร์โฆษณารณรงค์งดเหล้าเข้าพรรษา2 เรื่อง ภายใต้แคมเปญ “Mr.พ่อ พอเเล้วเหล้า” สนับสนุนให้พ่อแม่ เป็นผู้นำครอบครัวในการลด ละ เลิก เหล้า และเป็น“ซูเปอร์แม่-พ่อ พอแล้วเหล้าเบียร์” ลด ละ เลิก เหล้า บุหรี่ อบายมุขเพื่อสร้างสุขให้สังคม ตนเอง ครอบครัว และ “ระวังมันมาเล็ง” เพื่อให้เห็นพิษภัยการดื่มที่ไม่ใช่ก่อมะเร็งตับเพียงอย่างเดียว ยังมีมะเร็งกระเพาะอาหาร หลอดอาหาร และเต้านม จึงขอเชิญชวนให้ประชาชนใช้เวลาในช่วงเข้าพรรษาเป็นจุดเริ่มต้นปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ลด ละ เลิกการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และลดพฤติกรรมเสี่ยงที่ทำลายสุขภาพและร่างกาย เพื่อตนเองและครอบครัว” นางสาวรุ่งอรุณ กล่าว

นายเจษฎา  แย้มสบาย ประธานเครือข่ายเหยื่อเมาแล้วขับ กล่าวว่า ตนเองเป็นหนึ่งในเหยื่อผู้สูญเสียจากอุบัติเหตุทางถนน ที่เกิดขึ้นจากความไม่รับผิดชอบต่อสังคม ของผู้ที่เมาแล้วขับ จนต้องกลายมาเป็นบุคคลทุพพลภาพ นั่งวีลแชร์ตลอดชีวิต จากอุบัติเหตุเมื่อประมาณ 22 ปีก่อน ขณะนั้นตนและภรรยาจอดรถจักรยานยนต์รอสัญญาณไฟจราจร หลังเสร็จจากขายของอาชีพประจำ โดยถูกชนจากด้านหลังก่อนจะถูกลากไปไกล15 เมตร จากเสาหลักครอบครัวมีรายได้ประจำ แต่ต้องขายทรัพย์สินทุกอย่าง เพื่อนำเงินมารักษาตัว แม้คู่กรณีจะยินยอมจ่ายเงินเยียวยาในวงเงิน150,000 บาท แต่ได้รับเงินจริงจากคู่กรณี 40,000 บาทในเดือนแรก ก่อนจะลดลงจากหลักพันเป็นหลักร้อย จากนั้นก็ติดต่อคู่กรณีไม่ได้อีกเลย

​“เมื่อต้องนั่งวีลแชร์ ทำให้ไม่อยากมีชีวิตอยู่อีกต่อไป รู้สึกว่าเป็นภาระครอบครัว เคยพยายามฆ่าตัวตายมาแล้วไม่ต่ำกว่า 5 ครั้ง จนวันหนึ่งได้ฮึดสู้อีกครั้งเพื่อลูกสาว และได้มีโอกาสร่วมงานกับมูลนิธิเมาไม่ขับ และเรียนซ่อมโทรศัพท์มือถือ จนสามารถเปิดร้านรับซ่อมที่บ้าน จนมีรายได้เข้ามาบ้าง ปัจจุบันก็ใช้เวลาส่วนหนึ่งสอน     ฟุตซอลให้ เด็ก ๆในชุมชนย่านปทุมวัน และรณรงค์เมาไม่ขับมาต่อเนื่อง ท้ายนี้อยากฝากว่า เมื่อเราจับพวงมาลัยขอให้มีสติอย่าประมาท ดื่มไม่ขับเด็ดขาด ต้องนึกถึงเสมอว่าอาจเป็นต้นเหตุทำร้ายคนอื่นหรือตนเองจนพิการหรืออาจเสียชีวิต”นายเจษฎา กล่าว

​นายจักรพันธ์ กลั่นเรืองแสง ผู้ได้รับผลกระทบจากการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ กล่าวว่า กล่าวว่า อยากฝากถึงคนที่ยังดื่มเหล้าให้เปลี่ยนแปลงตัวเอง หันมารักสุขภาพลดละเลิก ใช้เทศกาลเข้าพรรษานี้เป็นจุดเริ่มต้น เพราะจากประสบการณ์ของตนเองนั้น เริ่มจากอยากสังสรรค์ พอได้มีงานทำยิ่งดื่มหนักขึ้น ทั้งเหล้าสีเหล้าขาว เมื่อดื่มจนติดจึงต้องดื่มทุกเช้า กระทั่งมีอาการ เวียนหัว อาเจียนเป็นเลือด ถ่ายเป็นสีดำ ตาเหลือง หน้าคล้ำ ท้องบวมโต ครอบครัวจึงพาส่งโรงพยาบาล หมอระบุว่าเป็นโรคตับแข็ง ต้องหยุดดื่มเหล้าอย่างเด็ดขาด ได้ยินก็ตกใจและไม่อยากกลับไปดื่มเพราะกลัวตาย  แม้ช่วงแรกจะมีอาการอยากดื่ม แต่ต้องเอาชนะใจตัวเอง มุ่งมั่นและตั้งใจจริง เห็นคุณค่าของชีวิต ผ่านช่วงเวลานั้นทำให้เลิกดื่มเหล้าได้ในที่สุด แม้ปัจจุบันต้องทนทุกข์เพราะเหล้าทำลายชีวิต  เข้าออกโรงพยาบาลรักษาโรคตับทานยาอย่างต่อเนื่อง ทุกวันนี้ก็ไม่สามารถทำงานได้เพราะร่างกายไม่ไหว  กลายเป็นภาระของแม่ที่ต้องมาดูแลเราอีก  จึงอยากขอให้ทุกคนใช้โอกาสเข้าพรรษานี้ลด ละ เลิกจะดีที่สุด

นายชัยพฤกษ์  มีแท่ง อดีตเยาวชนที่เคยก้าวพลาดกลายเป็นเหยื่ออาชญากรรม กล่าวว่า  เริ่มหัดดื่มเหล้าตั้งแต่อายุ14ปี เพราะการดื่มเหล้า สูบบุหรี่ เป็นเรื่องปกติในชุมชน ทั้งจากรุ่นพี่ และผู้ใหญ่ พอเข้าเรียนอาชีวะก็มีเพื่อนมีรุ่นพี่ กินดื่มเหล้า ใช้ความรุนแรง ไม่ว่ารุ่นพี่จะให้ทำอะไรพร้อมทำ ทั้งการปล้นเพื่อหาเงินซื้อเหล้า ตีรันฟันแทง ทะเลาะวิวาทกับเพื่อนต่างสถาบัน เพื่อพิสูจน์ตัวเองว่าแน่ว่าเจ๋ง ว่ารักกันจริงชนิดที่เรียกว่ายอมตายแทนได้  สำหรับจุดเปลี่ยนสำคัญในชีวิต คือวันนั้นนั่งกินเหล้ากัน เข้าใจผิดคิดว่าเป็นคู่อริ จึงใช้ปืนยิง จนถูกตำรวจสกัดจับ ติดคุก ยอมรับว่าหากในช่วงวัยรุ่นตัดสินใจไม่ดื่ม ไม่คึกคะนอง เหตุการณ์เลวร้ายก็คงไม่เกิด แม้วันนี้จะได้รับอิสรภาพ กลับมาใช้ชีวิตกับครอบครัว แต่ตราบาปที่ติดอยู่ในใจคือเราเกือบจะฆ่าลูก ฆ่าพ่อ หรือสามีของครอบครัวคนอื่น หากย้อนเวลากลับได้คงไม่ทำเช่นนั้น ได้แต่หวังว่าจะไม่มีใครก้าวพลาดแบบตน  ศักดิ์ศรีมันไม่มีอยู่จริง เพราะในวันที่เราพลาด เราอยู่ในคุก  เราไม่เหลือใครเลยนอกจากแม่ และครอบครัว  รักเพื่อนได้ต้องรักตัวเองด้วย

​ขณะที่ นางนันทิยา พุ่มสุวรรณ  เหยื่อความรุนแรงในครอบครัว กล่าวว่า เหตุการณ์เลวร้ายผ่านมาหลายปีแล้ว แต่ยังไม่มีวันลืมได้ลง ขณะนั้นอยู่กินกับสามีเก่า ซึ่งติดเหล้า ติดยาเสพติด เกิดอาการหลอน ชอบทำร้ายร่างกาย ขนาดตนกำลังตั้งครรภ์ได้ 2 เดือน ก็ถูกทำร้ายอย่างรุนแรง แต่ก็ให้อภัยมาตลอดเพราะคำว่าครอบครัว พยายามคุยให้เขาปรับตัวใหม่ กลับไม่เป็นผล จนกระทั่งเขาติดคุกเพราะเสพยา เมื่อถูกปล่อยตัวก็ออกมาทำร้ายอีก ถูกทุบตี ครั้งนี้หนักขึ้นใช้มีดแทง และฟันมือจนเส้นเอ็นขาด ทางญาติตามคนมาช่วยจึงรอดมาได้ หลังจากวันนั้นได้แจ้งความเอาผิดและได้รับการช่วยเหลือจากมูลนิธิหญิงชายก้าวไกล ตัดสินใจไม่กลับไปหาเขาอีก  และเริ่มต้นชีวิตใหม่  แต่ชีวิตจริงก็ไม่ง่ายเลย  พอเรามามีครอบครัวใหม่หลังจากนั้นไม่นาน ในช่วงที่ช่วงโควิดระบาด  สามีใหม่ซึ่งเป็นคนชอบดื่มก็มาตกงาน ซ้ำยังไปขับรถชนคนได้รับบาดเจ็บอีก  รายได้ไม่พอรายจ่ายประกอบกับความเครียดอื่น ๆที่สะสม ท้ายที่สุดเขาก็ผูกคอตาย   หลังจากที่ตนเองคลอดลูกได้ไม่กี่เดือนเท่านั้น ตอนนี้ก็อยู่กับลูก ทำงานและคิดแต่เพียงว่าจะทำทุกอย่างเพื่อลูกให้ดีที่สุด  อยากฝากว่า หากครอบครัวไหนมีสิ่งเสพติดมีเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เข้ามาเกี่ยวข้อง ให้ระวัง  มันจะเปลี่ยนจากรักเป็นความรุนแรงได้เลย

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ตัดวงจรความรุนแรง เลิกให้โอกาสที่ 2

เรื่องราวของจีจี้ - นางสาวสุพิชชา ปรีดาเจริญ เนตไอดอลชื่อดัง ซึ่งถูกคู่รักทำร้ายหลายครั้ง แต่จีจี้ยื่นโอกาสให้กับฝ่ายชาย สุดท้ายเธอต้องจากไปด้วยน้ำมือของคนที่รัก ก่อนแฟนหนุ่มจบชีวิตตัวเองตาม  ถูกหยิบยกนำมาเป็นบทเรียนราคาแพงเตือนสติคนในสังคมออกจากความสัมพันธ์

ชวนนักดื่ม “ตรวจตับ-เลิกจับขวด” ฟื้นฟูสุขภาพคืนความสุขครอบครัว

"งดเหล้าเข้าพรรษา" ในระยะเวลา 3 เดือน ถือเป็นกิจกรรมหนึ่งในเทศกาลสำคัญ ที่มุ่งเน้นให้ชาวพุทธงดดื่มแอลกอฮอล์ ไม่เพียงเป็นการรักษาประเพณีและศีลธรรมเท่านั้น

“สุรศักดิ์” รมช.ศธ. เดินหน้าขับเคลื่อนรถรับส่งนักเรียนปลอดภัย ชูโมเดล “ศูนย์เรียนรู้รถรับส่งนักเรียนปลอดภัย จ.อยุธยา” ของสสส.

วันที่ 18 พ.ย. 2567 ที่ โรงเรียนอยุธยาวิทยาลัย อ.พระนครศรีอยุธยา จ.พระนครศรีอยุธยา นายสุรศักดิ์ พันธ์เจริญวรกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานเปิดศูนย์การเรียนรู้การจัดการรถรับส่งนักเรียนที่ปลอดภัย โรงเรียนอยุธยาวิทยาลัย ภายในงานเวทีสร้างความร่วมมือและแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในการพัฒนาศูนย์เรียนรู้รถรับส่งนั

สสส.สานพลังภาคี ขจัดความเหลื่อล้ำกิจกรรมทางกาย ดึงคนไทยสู่เวอร์ชั่นใหม่

กองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับ ศูนย์พัฒนาองค์ความรู้ด้านกิจกรรมทางกายประเทศไทย (ทีแพค) สถาบันวิจัยประชากรและสังคม

สสส.-สคล. ผนึกภาครัฐ เอกชน จัดแข่งฟุตซอลเยาวชนไม่เกิน 15 ปี ชิงถ้วยกรมสมเด็จพระเทพฯ

สสส. โดยสมาคมเครือข่ายงดเหล้าและปัจจัยเสี่ยงต่อสุขภาพ (สคล.) ร่วมกับ ภาคีเครือข่ายและภาคเอกชน รวม 7 องค์กร ลงนามความร่วมมือ พร้อมจัดแถลงข่าวเปิดตัวโครงการ

"สิทธิในอาหารเพื่อชีวิตที่ดี" ความตระหนักรู้เสริมสุขภาวะ

เด็กทั่วโลกเผชิญปัญหาความเหลื่อมล้ำด้านอาหาร เพราะการบริโภคไม่สมดุล ส่งผลต่อสุขภาวะอ้วนผอม ชาวโลกเผชิญความอดอยากเกือบ 300 ล้านคน