“ปานเทพ” เตือนสติกรณีดราม่า “เด็กถ่ายรูปตุ๊กตากัญชา”, อย่าลืม“กัญชา”สามารถรักษาโรคในเด็กได้ด้วย

3 กรกฎาคม 2565 นายปานเทพ พัวงพงษ์พันธ์ คณบดีสถาบันแพทย์แผนบูรณาการและเวชศาสตร์ชะลอวัย มหาวิทยาลัยรังสิต ในฐานะโฆษกคณะกรรมการสื่อสารและประชาสัมพันธ์การใช้กัญชาอย่างเข้าใจ กระทรวงสาธารณสุข โพสต์เฟซบุ๊ค ส่วนตัว ระบุถึงกรณี “เด็กถ่ายรูปตุ๊กตากัญชา” โดยมีเนื้อหาดังนี้

จากกระแสข่าวการหยิบยกกรณีที่มีภาพนายอนุทิน ชาญวีรกูล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ได้ไปถ่ายภาพในงานกัญชา โดยมีนักเรียนมาถือ “ตุ๊กตาใบกัญชา”ว่ากรณีการนำเด็กมาในงานกัญชาและปรากฏการถ่ายรูปนั้น มีความเหมาะสมหรือไม่ จึงเห็นว่ากรณีศึกษานี้แสดงให้เห็นว่าสังคมไทยยังต้องการข้อมูลและความรู้อย่างถูกต้อง ในการใช้กัญชาอย่างเข้าใจ

เพราะในงานดังกล่าวนั้นไม่ปรากฏว่ามีการส่งเสริมให้เด็กและเยาวชนอายุต่ำกว่า ๒๐ ปีให้ใช้กัญชาเพื่อเป็นอาหาร หรือเพื่อนันทนาการแต่ประการใด แต่ยังคงวัตถุประสงค์เดิมของกระทรวงสาธารณสุขที่ว่าต้องการให้ใช้กัญชาเพื่อประโยชน์ทางการแพทย์ เพื่อสุขภาพ และเพื่อเศรษฐกิจ ส่วนนเด็กเยาวชนควรจะได้รับ “ความรู้”อย่างถูกต้อง มิใช่มีแต่ “ความกลัว” จนมองไม่เห็นคุณค่าในประโยชน์ของกัญชาและกัญชง ที่อาจช่วยแก้เจ็บ แก้จนคนในครอบครัวได้

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง กระทรวงสาธารณสุขจะได้ออกมาตรการการห้ามเข้าถึงกัญชาในเด็กที่อายุต่ำกว่า ๒๐ ปีมาตั้งนานแล้ว แต่ก็ไม่ได้ปิดกั้นประโยชน์ทางการแพทย์ ดังปรากฏตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง สมุนไพรควบคุม (กัญชา) เมื่อวันที่ ๑๖ มิถุนายน ๒๕๖๕ ได้ระบุเอาไว้ว่ามิให้จำหน่ายกัญชาให้เด็กและเยาวชนอายุต่ำกว่า ๒๐ ปี แต่ก็อนุญาตให้ใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ในการจ่ายยาให้กับเด็กได้[๑]

แต่ด้วยเพราะในช่วงที่ประเทศไทย “ขังกัญชา”เอาไว้เป็นยาเสพติดจนแทบไม่ได้วิจัยหรือพัฒนามาหลายสิบปี หรือบางส่วนได้ถูกล้างสมองหรือมีแต่ทัศนะที่ต่างชาติฝังเอาไว้ว่า กัญชาเป็นยาเสพติดร้ายแรง เป็นอันตรายจนไม่สามารถใช้กัญชาในทางการแพทย์ใดๆได้

โดยก่อนหน้าปี ๒๕๖๒ เป็นเวลาหลายสิบปีที่ตำรับยาไทยที่มีกัญชาไทยเป็นส่วนผสมได้ “ถูกยกเลิกไปทั้งหมด” แต่ในทางตรงกันข้ามกัญชาและกัญชงในต่างประเทศกลับได้ถูกพัฒนาเป็นยารักษาโรคในเด็กได้อย่างน่าอัศจรรย์ อีกทั้งบริษัทต่างชาติได้มีการจดสิทธิบัตรยากัญชาในต่างประเทศเอาไว้แล้วจำนวนมากและยังมีความพยายามเข้ามาจดสิทธิบัตรในประเทศไทยเพื่อให้แพทย์แผนปัจจุบันได้จ่ายยาให้คนไข้ในราคายาที่แพงด้วย

แม้จะเป็นเรื่องที่ถูกต้องที่ทุกภาคส่วนจะช่วยกันตอกย้ำว่าเด็กและเยาวชนไม่ควรจะใช้กัญชาเพื่อความมึนเมาหรือเพื่อนันทนาการ จนเด็กๆที่ไม่ได้เจ็บป่วยใดๆควรจะต้องห่างจากกัญชา และจะต้องบังคับใช้กฎหมายลงโทษผู้ที่จำหน่ายหรือให้กัญชากับเด็กที่มีอายุต่ำกว่า ๒๐ ปี แต่ก็ต้องไม่ลืมเสมอว่ากัญชายังมีประโยชน์มหาศาลสำหรับการรักษาโรคในเด็กด้วยเช่นกัน

โดยเฉพาะเด็กที่มีความผิดปกติ เช่น โรคลมชัก ลมบ้าหมู หรือออทิสติก ฯลฯ ที่สร้างความทุกข์ใจให้กับพ่อแม่ผู้ปกครองทั่วโลก แต่กลับพบว่ากัญชามีประโยชน์ในการบรรเทาอาการผิดปกติเหล่านี้ในเด็กด้วย โดยมีราคาที่ไม่แพง (โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรณีที่สามารถพึ่งพาตัวเองได้)

ข้อสำคัญหลายตำรับยาที่จะกล่าวถึงต่อไปนี้ เป็น ตำรับยาที่มีกัญชาเป็นส่วนผสม ปรากฏใน “ตำรับยาแผนไทยของชาติ”ลงประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ ๖ พฤศจิกายน ๒๕๖๐ ลงนามโดย นายแพทย์ปิยสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขเองนั้น ย่อมแสดงให้เห็นว่าตำรับยาที่มีกัญชาเป็นส่วนผสมที่จะกล่าวถึงต่อไปนี้ เป็นตำรับยาที่มีการยอมรับแล้วว่า“มีคุณค่าเป็นพิเศษ” ประกอบไปด้วยทุกตำรับยาใน พระคัมภีร์ประถมจินดา, พระคัมภีร์สรรพคุณ, และพระคัมภีร์ชวดาร[๒]

เพราะการประกาศว่าเป็น “ตำรับยาแผนไทยของชาติ” นั้น มีสถานภาพถูกรับรองโดยกฎหมาย โดยอาศัยพระราชบัญญัติคุ้มครองและส่งเสริมภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทย พ.ศ. ๒๕๔๒ ตามมาตรา ๑๗ ว่าหมายถึง “มีการใช้ประโยชน์หรือมีคุณค่าในทางการแพทย์หรือการสาธารณสุขเป็นพิเศษ”[๓]

โดย “กัญชา” ได้ถูกบันทึกเอาไว้ในพระคัมภีร์พระคัมภีร์ ประถมจินดา ซึ่งเป็นพระคัมภีร์ว่าด้วยการักษาเด็ก ในตำราแพทย์ศาสตร์สงเคราะรัชกาลที่ ๕ โดยได้อธิบายตำรับที่มีการนำกัญชาเข้าเป็นส่วนผสมความว่า

“๏ ยาชื่อไฟอาวุธ ขนานนี้ท่านให้เอา ผลจันทน์ ดอกจันทน์ กระวาน กานพลู โกฐทั้ง ๕ เทียนทั้ง ๕ ชะเอมเทศ “กัญชา” แก่นเแสมทะเล เอาสิ่งละส่วน อุตพิต สมุลแว้ง ดีปลี ใบพิมเสน เอาสิ่งละ ๒ ส่วน รากจิงจ้อ รากส้มกุ้ง รากเปล้าน้อย รากเปล้าใหญ่ รากสะค้าน รากพาดไฉน เอาสิ่งละ ๓ ส่วน หัสคุณเทศ ๔ ส่วน บุกรอ ๙ ส่วน พริกไทย ขิงแห้ง เจตมูล เอาสิ่งละ ๑๖ ส่วน

รวมยา ๓๒ สิ่งนี้ จำเป็นจุณเอาน้ำมะนาวเปนกระสาย บทปั้นแท่งไว้กินแก้ทรางทั้ง ๗ จำพวก แก้ตานโจรทั้ง ๑๒ จำพวก แก้หืดน้ำนมทั้ง ๗ จำพวก แก้ไอผอมเหลือง แลแก้ไส้พองท้องใหญ่ แก้พุงโร แลลมจุกเสียด แลแก้ป้าง แก้ม้าม แลดานเสมหะให้ปวดมวนเสียดแทง แลแก้อุจจาระเป็นเสมหะโลหิต ระคนกัน มักให้ถอยกำลังแลมักให้เป็นไข้ไม่รู้สึกตัว ให้ลงเป็นโลหิตแลไข้เพื่อเสมหะ ลมโหด ถ้าได้กินยาขนานนี้ หายสิ้นทุกประการวิเศษนัก๚”[๔]

นอกจากนั้นยังมีตำรับยาว่าด้วย “ธาตุลม”ในพระคัมภีร์ชวดาน ในการรักษาโรคตานทราง โดเพื่อทำให้เด็กกินข้าวได้ กินนมได้ นอนหลับ โดยนอกจากจะมีกัญชาเป็นส่วนผสมแล้ว บางกรณียังมีฝิ่นเป็นส่วนประกอบด้วย ความว่า

“๏ ยาแก้ทรางกินข้าวมิได้ กินนมมิได้ มิให้นอนหลับ เอา ถั่วพู ๑ โกฐ ๑ กัญชา ๑ น้ำตาลทราย ๑ บดทำแท่งไว้ ละลายน้ำกิน ถ้าลงท้องเอาฝิ่นรำหัดลง แก้พิการ ตานทรางทั้งปวงแล๚”[๕]

ตำรับยาทั้ง ๒ ดังที่กล่าวมาข้างต้นจัดเป็น “ตำรับยา”ในตำรายาหลวงสำหรับเด็ก มีฐานะตามกฎหมายเป็นตำรับยาของชาติ ในตำรายาของชาติ ไม่จำเป็นให้เด็กต้องเป็นศัตรูกับกัญชาเสมอไปโดยเฉพาะสำหรับการรักษาโรคในเด็ก ที่ปรากฏตามประวัติศาสตร์ชาติไทยถ่ายทอดลงมาจากรุ่นสู่รุ่น

สำหรับ “สรรพคุณกัญชา” ได้ถูกเขียนบันทึกเอาไว้ในพระคัมภีร์สรรพคุณเภสัช ตามตำราแพทย์ศาสตร์สงเคราะฆ์ รัชกาลที่ ๕ ความตามช่วงแรกว่า

“๏ กันชา แก้ไข้ผอมเหลืองหากำลังมิได้ ให้ตัวสั่น เสียงสั่นเปนด้วยวาโยธาตุกำเริบ แก้นอนมิหลับ…”[๖]

“วาโยธาตุ” กำเริบนั้น มีความหมายถึง “ธาตุลม” ผิดปกติในทางมากเกินไป ในทางภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทย ที่สรรพสิ่งประกอบด้วยธาตุทั้งสี่ คือ ธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุลม ธาตุไฟ

และคำว่า “ธาตุลม” นั้นหมายถึงธาตุที่เกี่ยวกับ “การเคลื่อนไหว”โดย ได้ปรากฏอยู่ในพจนานุกรมศัพท์และเภสัชกรรมแผนไทย ฉบับราชบัณฑิตยสถานมีความหมายว่า

“ธาตุลม น. สิ่งที่ประกอบขึ้นเป็นร่างกายส่วนที่ทำให้เกิดการเคลื่อนไหวของธาตุทั้ง ๔ ตามอวัยวะต่างๆ ของร่างกาย มี ๖ ชนิดได้แก่ ลมพัดตั้งแต่ปลายเท้าถึงศีรษะ (อุทธังคมาวาตา) ลมพัดตั้งแต่ศีรษะถึงปลายเท้า (อโธคามาวาตา) ลมพัดในท้องแต่พัดนอกไส้ (กุจฉิสยาวาตา) ลมพัดในลำไส้และกระเพาะอาหาร (โกฏฐาสยาวาตา) ลมพัดทั่วสรีระกาย (อังคมังคานุสารีวาตา) และลมหายใจเข้าออก (อัสสาสปัสสาสวาตา, วาโยธาตุ ก็เรียก”[๗]
.
รองศาสตราจารย์ ดร.สมศักดิ์ นวลแก้วคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ได้เขียนตำราเภสัชกรรมแผนไทยประยุกต์ เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๖๓ อธิบายเรื่องธาตุลมเปรียบเทียบวิทยาศาสตร์ในยุคปัจจุบันความว่า

“วาตะ” (ลม) แปลว่า เคลื่อนไหว เปรียบได้กับ “ลมประสาท (nerve impulse)” รับผิดชอบเกี่ยวกับการควบคุมการเคลื่อนไหวของร่างกาย “วาตะเป็นธาตุที่สำคัญที่สุดในตรีธาตุ” เป็นแหล่งกำเนิดของ กำลัง การเคลื่อนไหว และการกระทำต่างๆ”[๘]

“หน้าที่ของวาตะ เป็นแหล่งกำเนิดของกำลัง การเคลื่อนไหว และการกระทำต่างๆ เช่น การพูดจา การเดินของเลือดในร่างกาย ควบคุมการทำงานของอวัยวะและกล้ามเนื้อ ควบคุมจิตใจ ความรู้สึก ความเข้าใจ และรับความรู้สึกของสัมผัสทั้ง ๕ (คล้ายกับระบบประสาท) ส่งเสริมและสนับสนุนการทำงานของอวัยวะร่างกายทุกส่วน ควบคุมจิตใจให้มีสติ ให้มีสมาธิ ทำให้ประสาทสัมผัสทั้ง ๕ รับความรู้สึกถูกต้อง เป็นที่เกิดแก่ความชื่นชมยินดี ร่าเริง เป็นเครื่องกระตุ้นไฟของร่างกาย ช่วยกำจัดโทษของร่างกาย ทำให้เกิดการปฏิสนธิหรือตั้งครรภ์ ช่วยประคับประคองให้ชีวิตมีความปกติ”[๘]

ดังนั้น “ธาตุลม” จึงมีความสำคัญต่อการเคลื่อนไหวทุกสิ่งของร่างกายในมนุษย์ ดังตัวอย่างกิจกรรมของธาตุลมที่เป็นรูปธรรมเช่น

“การควบคุมการเคลื่อนไหวของร่างกาย การยืดหดของกล้ามเนื้อแขนขา การกระพริบตา การไหลเวียนโลหิตและน้ำเหลือง การขับเหงื่อ การควบคุมการพูด การออกกำลัง การเคลื่อนไหวของท่อและต่อมเหงื่อควบคุมความร้อนของร่างกาย ให้ความร้อนแก่ร่างกาย ควบคุมกระเพาะอาหาร ลำไส้เล็ก ช่วยในการย่อยอาหารร่วมกับปิตตะ (หมายถึงระบบความร้อน - ผู้เขียน) และยังทำหน้าที่ควบคุมการผลิตและหลั่งน้ำกาม ขับปัสสาวะ ขับอุจจาระ ขับโลหิตระดูของสตรี และเป็นลมเบ่งในการคลอดลูก”[๘]

แม้ในการแพทย์แผนไทยกับการแพทย์แผนปัจจุบันอาจจะเรียก “สมมุติบัญญัติ” ต่างกัน แต่เชื่อว่าจะต้องมีการสื่อสารในสิ่งที่มีอยู่จริงเหมือนกัน

“Epilepsy” ในภาษาไทยก็มีสมมุติบัญญัติในโรคภาษาไทยว่า “ลมชัก” หรือ “ลมบ้าหมู” ดังนั้นการกำหนด “ธาตุลม” กำเริบนั้นย่อมหมายถึงสิ่งเดียวกัน เพียงแต่คนในยุคโบราณเขาไม่ได้เรียกชื่อฝรั่งว่า Epilepsy เท่านั้น

ซึ่งในช่วง ๑๐ กว่าปีที่ผ่านมา ในต่างประเทศได้มีการจดสิทธิบัตรกัญชาในการรักษาโรคแล้วจำนวนมาก และได้พยายามจดซ้ำในประเทศไทยเพื่อไม่ให้มีใครมาละเมิดได้ รวมถึงโรคลมชักด้วย[๙]

ด้วยเงื่อนไขนี้การจดสิทธิบัตรการใช้กัญชาในส่วนของพืชเต็มส่วนเพื่อรักษาโรคลมชักในประเทศไทย จึงไม่สามารถจะกระทำได้ ด้วยเพราะประเทศไทยมีการใช้สมุนไพรกัญชาเต็มส่วนสามารถรักษาโรคลมชักได้โดยไม่จำเป็นต้องซื้อใช้สารสกัดตัวใดตัวหนึ่งออกมาจดสิทธิบัตรของบริษัทยาข้ามชาติด้วยการรักษาด้วยค่ายาที่แพงแต่ประการใด
.
ในต่างประเทศในครอบครัวที่มีเด็กเป็นโรคลมชักในหลายประเทศ เช่น แคนนาดา สหรัฐอเมริกา หลายครอบครัวเรียนรู้ที่จะปลูกกัญชาเอง รวมถึงการสกัดเบื้องต้นอย่างง่ายในการรักษาเด็กโรคลมชักในครอบครัวเพื่อไม่ต้องจ่ายเงินในราคาที่แพงให้กับยาที่มีสิทธิบัตรของกลุ่มทุนยาแต่เพียงอย่างเดียวอีกด้วย

ดังนั้นขอให้คนไทยได้ตั้งสติ และรู้เท่าทันการใช้กัญชาอย่างเข้าใจ เพราะไม่เพียงกัญชาเท่านั้นที่มีทั้งประโยชน์และโทษ แต่ภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทยเองก็มีความเข้าใจอยู่แล้ว ว่า “ทุกสมุนไพร” มีทั้งสรรพคุณ (ประโยชน์) และ แสลง (โทษ) ดังนั้นจึงอยู่ที่การให้ “ความรู้” ไม่ใช่มีแต่ “ความกลัว”ให้กับสังคม

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'อนุทิน' ท้วงดึงช่อดอกกัญชาเป็นยาเสพติด กระทบผู้ป่วย เกษตรกร วิสาหกิจชุมชน

นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย กล่าวถึงกรณี คณะกรรมการควบคุมยาเสพติดกระทรวงสาธารณสุข มีมติให้กัญชากัญชงกลับไปเป็นยาเสพติดอีกครั้งว่า ภูมิใจไทยไม่สนับสนุนให้ใช้กัญชาทางสันทนาการ

อย่าเอากัญชามาล้างแค้นการเมือง ! “หมอปัตพงษ์” วิเคราะห์ท่าที “สมศักดิ์” หลังเผยไทม์ไลน์นำกัญชากลับเป็นยาเสพติด

รศ.ดร.นพ.ปัตพงษ์ เกษสมบูรณ์ หน่วยเวชศาสตร์ครอบครัว คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ให้ความเห็นภายหลังนายสมศักดิ์ เทพสุทิน

'อนุทิน' โวย 'กูรูไพศาล' ปั่นกันสนุกเลย แต่คนที่ตายคือผม ยืนยันไม่จับมือก้าวไกล

นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรมว.มหาดไทย ในฐานะหัวหน้าพรรคภูมิใจไทย ให้สัมภาษณ์กรณีที่นายไพศาล พืชมงคล อดีตกรรมการผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี (พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี)

‘อนุทิน’ ร้องโอ้โห! ‘ภูมิใจไทย’ โดนโยงเอี่ยวเลือก สว. ลั่นไม่ทำอะไรผิดกม.

’อนุทิน‘ ยินดี ’ลุงชาญ‘ คว้านายก อบจ.ปทุมธานี ยันไม่มีแนวคิดแข่งสนามท้องถิ่น ร้องโอ้โห พูดได้ไงภูมิใจไทยเอี่ยวเลือก สว.