ปัจจุบันประเทศไทยอยู่ในสภาวะสังคมผู้สูงอายุ คือมีประชากรที่มีอายุเกิน 60 ปีขึ้นไปมากกว่าร้อยละ 10 ของประชากรทั้งประเทศ เช่นเดียวกับหลายประเทศในโลก โดยเฉพาะประเทศที่พัฒนาแล้ว เนื่องจากประชาชนเข้าถึงระบบการดูแลรักษาสุขภาพมากขึ้น รวมทั้งความเจริญก้าวหน้าทางการแพทย์ และปัจจัยแวดล้อมอื่นๆ ทำให้ประชากรมีอายุยืนยาวขึ้น โดยอายุเฉลี่ยของชายไทยในปัจจุบันอยู่ที่ 73 ปี ส่วนผู้หญิง 77 ปี
สถานการณ์สังคมสูงอายุ
ข้อมูลจากสำนักงานสถิติแห่งชาติระบุว่า จำนวนประชากรไทยเมื่อสิ้นปี 2564 มีทั้งหมด66,171,439 คน ในจำนวนนี้เป็นประชากรสูงอายุ วัยเกิน 60 ปีขึ้นไป จำนวน 12,071,837 คน หรือคิดเป็น 18.21 % ของประชากรทั้งประเทศ และประเทศไทยกำลังย่างเข้าสู่สังคมสูงอายุโดยสมบูรณ์ (Aged Society) ในเร็วๆ นี้ เมื่อประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไปมีจำนวนเกิน 20 % คาดว่าภายในปี 2574 จะมีผู้สูงอายุประมาณ 1 ใน 3 ของประชากรทั้งหมด ถือเป็น ‘สังคมผู้สูงอายุระดับสุดยอด’ (Super-aged Society)
แต่ปัญหาของผู้สูงอายุในสังคมไทยที่แตกต่างกับประเทศที่พัฒนาแล้วก็คือ “คนไทยยิ่งแก่ ยิ่งจน” เพราะส่วนใหญ่มีเงินเก็บออมเอาไว้ใช้ในยามบั้นปลายชีวิตไม่เพียงพอ จำนวนไม่น้อย “จนตั้งแต่เกิดจนแก่” เราจึงเห็นผู้สูงอายุยังต้องดิ้นรนทำมาหากินเลี้ยงปากเลี้ยงท้อง คนที่ไม่มีลูกหลานดูแล ไม่มีที่พักพิง ต้องกลายเป็นคนไร้บ้าน ใช้ชีวิตในที่สาธารณะ !!
ผู้สูงอายุกลายเป็นคนไร้บ้านในช่วงบั้นปลายชีวิต (ริมถนนราชดำเนิน กรุงเทพฯ)
นอกจากนี้ยังมีผลกระทบด้านต่างๆ ตามมา เช่น ประชากรในวัยแรงงานลดลง ส่งผลต่อการจัดเก็บภาษีรายได้ของรัฐ แต่รายจ่ายด้านสุขภาพและสวัสดิการผู้สูงอายุจะเพิ่มมากขึ้น แต่ปัญหาของไทยก็คือเป็นประเทศที่กำลังพัฒนา มิหนำซ้ำยังอยู่ในช่วงภาวะเศรษฐกิจที่ถดถอย จึงไม่สามารถรับมือกับปัญหาสังคมสูงวัยได้
ตอกย้ำด้วยข้อมูลของสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือ ‘สภาพัฒน์’ เมื่อไม่นานมานี้ที่ระบุว่า การจะมีชีวิตสุขสบายในยามชรานั้น ผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไปในเขตเมือง ควรต้องมีเงินออม 4 ล้านบาท ส่วนผู้สูงอายุในเขตชนบทต้องมีเงินออมประมาณ 2.8 ล้านบาท !!
ล่าสุด เว็บไซต์กรุงเทพธุรกิจ (6 มีนาคม 2565) รายงานว่า จินางค์กูร โรจนนันต์ รองเลขาธิการ สศช. เปิดเผยว่า จากโครงสร้างประชากรของประเทศไทยที่เปลี่ยนไป มีจำนวนผู้สูงอายุเพิ่มขึ้น ทำให้อีก 10 ปีข้างหน้า ประชากรในวัยพึ่งพิง (เด็ก - คนแก่) จะเพิ่มสูงขึ้น จากเดิมจะอยู่ที่ 54.8% ในปี 2564 พอถึงปี 2576 จะเพิ่มเป็น 71.3%
ทำให้ภาระค่าใช้จ่ายที่ประชากรวัยแรงงานจะต้องหาเพื่อใช้ในการจับจ่ายในชีวิตประจำวันในครอบครัว รวมทั้งการเก็บออมเพื่อใช้เงินในการดูแลตนเองยามเกษียณอายุ บุพการี บุตรหลานจนกระทั่งบรรลุนิติภาวะ จะต้องมีเงินเก็บสำหรับใช้จ่ายหลังเกษียณอายุไปจนถึงอายุ 90 ปี ประมาณ 7.7 ล้านบาท (ดูรายละเอียดที่ https://www.bangkokbiznews.com/business/991610)
เหลียวมองสวัสดิการผู้สูงอายุ
เว็บไซต์ weforum.org ของสภาเศรษฐกิจโลก รายงานว่า ในปี 2564 ประชากรโลกคาดการณ์ว่าจะมีประมาณ 7,910 ล้านคน และภายในสิ้นปี 2565 หรือภายในเดือนแรกของปี 2566 จำนวนประชากรโลกคาดว่าจะขยับขึ้นไปเป็น 8,000 ล้านคน ขณะที่ตัวเลขผู้สูงอายุในปัจจุบันอยู่ที่ประมาณ 1,000 ล้านคน และจะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ
หันมามองระบบการดูแลผู้สูงอายุกันบ้าง ประเทศที่พัฒนาแล้ว เช่น สวีเดน ซึ่งได้รับการยอมรับว่าเป็นประเทศที่มีระบบรัฐสวัสดิการที่ดีที่สุดของโลก เช่น มีระบบการดูแลสุขภาพ การจัดหาที่พักอาศัยให้แก่ผู้สูงอายุ มีกองทุนผู้สูงอายุ (Old age pension) ฯลฯ โดยผู้สูงอายุหลังเกษียณจะได้รับเงินบำนาญเฉลี่ย 13,000 โครนา หรือ 46,306 บาทต่อเดือน
แต่ประชาชนสวีเดนจะต้องเสียภาษีบุคคลในอัตราสูงเช่นกัน เช่น มีรายได้ 509,300 โครนา หรือราว 1,629,760 บาทต่อปีขึ้นไป จะเสียภาษีร้อยละ 30-35 และภาษีมูลค่าเพิ่มจากการซื้อสินค้าอีกประมาณร้อยละ 25
ในเอเชีย เช่น ญี่ปุ่น มีระบบเงินบำนาญแห่งชาติ โดยให้ประชาชนอายุตั้งแต่ 20-60 ปี สะสมเงินในกองทุนเดือนละ 16,340 เยน หรือ 4,675 บาท เมื่ออายุ 60 – 65 ปี จะได้รับเงินบำนาญเดือนละ 15,866 บาท
สิงคโปร์ รัฐบาลจะส่งเสริมการจ้างงานและสร้างความมั่นคงทางการเงิน โดยผู้สูงอายุยังสามารถหางานทำได้แม้อายุจะมากแล้ว รวมทั้งสนับสนุนการซื้อที่พักอาศัยของรัฐในราคาถูก จะได้ไม่กลายเป็นคนไร้บ้าน ฯลฯ (ดูรายละเอียดเพิ่มได้ที่ https://thematter.co/social/social-welfare-in-other-country/134828)
ส่วน ประเทศไทย มีหน่วยงานที่รับผิดชอบโดยตรง คือ กรมกิจการผู้สูงอายุ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ มีภารกิจหลักในการส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพ การจัดสวัสดิการ พิทักษ์สิทธิผู้สูงอายุ ฯลฯ มีศูนย์พัฒนาการจัดสวัสดิการสังคมผู้สูงอายุทั่วประเทศ จำนวน 12 แห่ง เพื่อเป็นที่พักพิงสำหรับประชาชนอายุ 60 ปีขึ้นไปที่ประสบความเดือดร้อน ฐานะยากจน ไม่มีที่อยู่อาศัย
ที่คุ้นชื่อกันดี คือ ‘สถานสงเคราะห์คนชราบ้านบางแค’ (ปัจจุบันคือศูนย์พัฒนาการจัดสวัสดิการสังคมผู้สูงอายุบ้านบางแค) เป็นสถานสงเคราะห์คนชราแห่งแรกในประเทศไทย ก่อตั้งในปี 2496 สมัยจอมพล ป. ปัจจุบันมีผู้อยู่อาศัยทั้งหญิงชายจำนวน 225 คน
กิจกรรมผู้สูงอายุที่บ้านบางแค มีนักศึกษามาช่วยจัดกิจกรรม (ภาพจาก @BanBangKhae.go.th)
เสนอเพิ่มเบี้ยยังชีพ 3 พันบาท/เดือน
ส่วนระบบบำนาญในยามชรานั้น ประเทศไทยมีกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) สำหรับข้าราชการ และระบบประกันสังคมสำหรับลูกจ้างภาคเอกชน
ส่วนประชาชนทั่วไป แรงงานนอกระบบ ชาวไร่ ชาวนา ผู้ประกอบอาชีพอิสระ ไม่มีระบบบำนาญรองรับในยามชรา มีแต่เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ รัฐบาลเริ่มนำมาใช้ในปี 2536 โดยจะจ่ายเฉพาะผู้สูงอายุที่มีความยากจน หมู่บ้านละ 5 คนๆ ละ 200 บาทต่อเดือน
ในปี 2555 รัฐบาลในขณะนั้นจัดให้มีเบี้ยยังชีพรายเดือนแบบขั้นบันไดให้กับประชาชนไทยอายุ 60 ปีขึ้นไปที่ลงทะเบียนกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (ไม่จำกัดฐานะ) ตั้งแต่ 600-1,000 บาท คือ อายุ 60-69 ปีได้รับ 600 บาท/เดือน อายุ 70-79 ปีได้รับ 700 บาท/เดือน อายุ 80-89 ปีได้รับ 800 บาท/เดือน และอายุ 90 ปีขึ้นไปได้รับ 1,000 บาท/เดือน
ทั้งนี้ตั้งแต่ปี 2555-2564 รัฐบาลได้จ่ายเบี้ยยังชีพให้แก่ผู้สูงอายุทั่วประเทศแล้ว รวมทั้งหมด 655,156 ล้านบาท...!! และมีแนวโน้มสูงขึ้นเรื่อยๆ
ตัวอย่าง ในปีงบประมาณ 2555 รัฐบาลจัดสรรเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุรวม 52,535 ล้านบาทเศษ จำนวนผู้สูงอายุ 6.78 ล้านคน ปี 2564 ที่ผ่านมา รัฐบาลจัดสรรเบี้ยผู้สูงอายุรวม 79,300 ล้านบาทเศษ จำนวนผู้สูงอายุ 10.48 ล้านคน และในปีงบประมาณ 2565 รัฐบาลจัดสรรงบประมาณเพิ่มเป็น 87,000 ล้านบาท จำนวนผู้สูงอายุ 10.58 ล้านคน
ขณะเดียวกัน ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ประชาชนและภาคประชาสังคมมีความเคลื่อนไหวเพื่อขับเคลื่อนประเทศไทยสู่รัฐสวัสดิการ เช่น มีข้อเสนอเรื่องรัฐสวัสดิการถ้วนหน้า ตั้งแต่ครรภ์มารดาถึงเชิงตะกอน การเพิ่มเงินอุดหนุนเด็กเล็กแบบถ้วนหน้า การเพิ่มเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุจากเดิม 600-1,000 บาท เพิ่มเป็นเดือนละ 3,000 บาท เพราะจำนวนเงินเท่าเดิมไม่เพียงพอสำหรับการดำรงชีวิตของผู้สูงอายุ โดยเฉพาะผู้สูงอายุที่อยู่ในภาวะยากจน ไม่มีญาติพี่น้อง
แต่การเพิ่มเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุเดือนละ 3,000 บาทแบบถ้วนหน้า จากการศึกษาของคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เรื่องการจัดตั้งระบบบํานาญแห่งชาติ พบว่า รัฐบาลจะต้องใช้เงินจำนวน 4.5 แสนล้านบาท/ปี และจะเพิ่มเป็น 6 แสนล้านบาท/ปีในอีก 10 ปีข้างหน้า โดยมีข้อเสนอ เช่น การขยายฐานภาษีเพื่อให้รัฐจัดเก็บรายได้มากขึ้น และลดรายจ่ายด้านการทหาร !!
กองทุนสวัสดิการชุมชนเป็นอีกรูปแบบหนึ่งที่ช่วยดูแลผู้สูงอายุในชุมชน (กองทุนคุณธรรมสวัสดิการชุมชนตำบลเมืองแก อ.ท่าตูม จ.สุรินทร์)
กองทุนการออมแห่งชาติรับมือสังคมสูงวัย ?
หากดูตัวเลขจาก สศช.หรือ ‘สภาพัฒน์’ ที่ระบุว่า ผู้สูงอายุ 60 ปีในสังคมไทยจะต้องมีเงินเก็บออมเพื่อให้ใช้ชีวิตในยามชราได้อย่างสุขสบาย ถ้าอยู่ในเขตเมืองควรต้องมีเงินออม 4 ล้านบาท และในเขตชนบทต้องมีเงินออมประมาณ 2.8 ล้านบาทนั้น !!
คงจะมีผู้สูงอายุจำนวนไม่มากนักที่จะมีเงินเก็บขนาดนั้น โดยเฉพาะแรงงานนอกระบบ แรงงานภาคเกษตร และผู้ประกอบอาชีพอิสระที่ไม่มีเงินบำเหน็จบำนาญเหมือนกับข้าราชการทั่วไป เพราะลำพังหาเลี้ยงปากเลี้ยงท้องไปวันๆ เลือดตาก็แทบจะกระเด็นแล้ว
อย่างไรก็ตาม รัฐบาลในช่วงหลายปีที่ผ่านมาได้ให้ความสำคัญกับการออมเพื่อการดำรงชีพยามชราของประชาชน โดยมี พ.ร.บ.กองทุนการออมแห่งชาติ พ.ศ.2554 และมีการจัดตั้ง ‘กองทุนการออมแห่งชาติ’ หรือ ‘กอช.’ (สังกัดกระทรวงการคลัง) เพื่อเป็นเครื่องมือในการออมของประชาชน เปิดรับสมัครสมาชิกกองทุนครั้งแรกในเดือนสิงหาคม 2558 โดยรัฐบาลจะสมทบเงินให้แก่สมาชิกกองทุนผ่าน กอช. ขณะที่ กอช.ก็จะนำเงินกองทุนไปลงทุนเพื่อให้เงินงอกเงย
หลักการสำคัญของ กอช. คือ คนไทยอายุ 15-60 ปีสามารถสมัครเข้าเป็นสมาชิกได้ โดยสมทบเงินขั้นต่ำครั้งละ 50 บาท สูงสุดไม่เกิน 13,200 บาทต่อปี (หรือออมเฉลี่ยเดือนละ 1,100 บาท) โดย กอช.จะสมทบเงินให้สมาชิกตามช่วงวัย ตั้งแต่ 50-100 % ของเงินที่สมาชิกออมแต่ละครั้ง แต่จะสมทบสูงสุดไม่เกินปีละ 1,200 บาท เมื่ออายุครบ 60 ปี กอช.จะจ่ายเงินบำนาญให้สมาชิกเป็นรายเดือน (ไม่จ่ายครั้งเดียว) เพื่อให้สมาชิกกองทุนมีเงินบำนาญใช้ในวัยชรา จนกว่าจะเสียชีวิต (ดูรายละเอียดที่ www.nsf.or.th)
ทั้งนี้หากสมาชิกกองทุนส่งเงินสมทบตั้งแต่อายุ 15-60 ปีเต็มจำนวน คือ13,200 บาทต่อปี ต่อเนื่องทุกเดือนเป็นเวลา 45 ปี เมื่อายุ 60 ปีจะได้รับเงินบำนาญประมาณ 7,000 บาทเศษต่อเดือน
ขณะที่สมาชิกที่สมทบช่วงสุดท้าย อายุ 50-60 ปี ส่งเงินสมทบเต็มจำนวน (13,200 บาทต่อปี) ต่อเนื่องเป็นเวลา 10 ปี จะได้รับเงินบำนาญประมาณ 600 บาทเศษต่อเดือน
ปัจจุบัน (มิถุนายน 2565) กองทุน กอช. มีสมาชิกรวม 2,483,286 คน มีเงินสะสมทั้งหมดประมาณ 10,944 ล้านบาท นำไปลงทุนในธนาคารต่างๆ ประมาณ 6,579 ล้านบาท (ข้อมูลเมื่อกุมภาพันธ์ 2565)
อย่างไรก็ตาม เมื่อคำนวณเงินออมของสมาชิก 1 ราย หากสมัครเป็นสมาชิก กอช. ตั้งแต่อายุ 15 ปี โดยออมสูงสุดตามที่กำหนดไม่เกินปีละ 13,200 บาท เมื่ออายุครบ 60 ปีจะมีเงินสะสมรวม 594,000 บาท และเงินสมทบของรัฐอีกตลอดอายุสมาชิก 54,000 บาท รวมแล้วสมาชิกจะมีเงินในบั้นปลายทั้งหมด 648,000 บาท !!
กอช.จับมือ พอช.หนุนบำนาญประชาชน
ล่าสุด กอช. ร่วมมือกับสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) หรือ ‘พอช.’ ขยายฐานสมาชิกกองทุนการออมแห่งชาติ โดยการจัด ‘โครงการบำนาญประชาชน’ สัญจรไปยังภูมิภาคต่างๆ ทั่วประเทศ เพื่อสร้างการรับรู้ สร้างความเข้าใจกับประชาชนกลุ่มเป้าหมาย เริ่มเวทีแรกที่จังหวัดนครสวรรค์เมื่อวันที่ 18 มิถุนายนที่ผ่านมา
ความสำคัญของการจัดงานครั้งนี้ คือการลงนามบันทึกความร่วมมือ (MoU.) ร่วมกันระหว่าง กอช., พอช. เครือข่ายขบวนองค์กรชุมชน และหน่วยงานในท้องถิ่น เพื่อสนับสนุน ส่งเสริม ให้ประชาชนกลุ่มเป้าหมาย อายุตั้งแต่ 15-60 ปี สมัครเข้าเป็นสมาชิกกองทุน
พิธีเปิดโครงการบำนาญประชาชนที่ จ.นครสวรรค์ เมื่อ 18 มิ.ย.ที่ผ่านมา โดยมีนายไมตรี อินทุสุต ประธานบอร์ด พอช. (ที่ 5 จากซ้าย) และนายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ (ขวาสุด) รมว.คลังร่วมในพิธี
โดย พอช.ที่ทำงานเรื่องที่อยู่อาศัยกับชุมชนที่มีรายได้น้อยทั่วประเทศ ผ่านโครงการ ‘บ้านมั่นคง’ มาตั้งแต่ปี 2546 แก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยไปแล้วประมาณ 130,000 ครอบครัว และเครือข่ายสภาองค์กรชุมชนตำบลที่มีสมาชิกทั่วประเทศประมาณ 1.5 ล้านคน จะส่งเสริมให้สมาชิกเครือข่ายเหล่านี้ สมัครเข้าเป็นสมาชิก กอช.
ขณะเดียวกัน กอช.เตรียมเสนอ ครม.เพื่อให้พิจารณาเพิ่มวงเงินการออมของสมาชิกและเงินสมทบจากรัฐบาล โดยจะให้สมาชิกออมเงินได้ถึง 30,000 บาทต่อปี จากเดิม 13,200 บาท ให้รัฐบาลสมทบเพิ่มเป็น 1,800 บาทต่อปี จากเดิม 1,200 บาท และเปิดรับสมัครสมาชิกอายุตั้งแต่ 7– 65 ปี จากเดิม 15-60 ปี เพื่อให้สมาชิกมีเงินสะสมในยามเกษียณประมาณคนละ 1.5 ล้านบาท
แม้จะยังไม่ถึงจำนวนเงินที่สภาพัฒน์คำนวณเอาไว้ เพื่อให้ใช้ชีวิตในยามชราได้อย่างสุขสบาย (ถ้าอยู่ในเมืองต้องมีเงินออม 4 ล้านบาท ในชนบทต้องมีเงินออม 2.8 ล้านบาท) แต่ก็ยังดีกว่าเป็นคนชราที่อยู่ในสภาพสิ้นไร้ไม้ตอกอย่างแน่นอน !!
สมาชิกเครือข่ายบ้านมั่นคงที่ จ.นครสวรรค์ร่วมเป็นสมาชิก กอช.
เรื่องและภาพ : สำนักพัฒนานวัตกรรมชุมชนจัดการความรู้และสื่อสาร สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน)
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
“เผ่าภูมิ” เปิดงานวันออมแห่งชาติ พร้อมมอบรางวัลส่งเสริมการออมยอดเยี่ยม ประจำปี ๒๕๖๗ ปลุกคนไทย ใส่ใจการออมกับ กอช. รับเงินสบทบ
วันที่ ๓๑ ตุลาคม ที่ศูนย์การค้าสยามพารากอน กองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) จัดกิจกรรม งาน วันออมแห่งชาติ ประจำปี ๒๕๖๗ ในงานได้รับเกียรติจาก ตร.เผ่าภูมิ โรจนสกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการ กระทรวงการคลัง เป็นประธานในพิธี พร้อมกล่าวปาฐกถาพิเศษ ในหัวข้อ
สุราษฎร์ธานี จัดงานวันที่อยู่อาศัยโลกปี67 ย้ำชุมชนต้องเป็นแกนหลักในการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยคนจน
UN – HABITAT หรือ ‘โครงการตั้งถิ่นฐานมนุษย์แห่งสหประชาชาติ’ กำหนดให้วันจันทร์แรกของเดือนตุลาคมทุกปีเป็น ‘วันที่อยู่อาศัยโลก’ หรือ ‘World Habitat Day’
รวมพลังคนจนแก้ปัญหาที่ดิน-ที่อยู่อาศัยทั่วประเทศ วันที่อยู่อาศัยโลก ปี 2567
ปัญหาการขาดแคลนที่อยู่อาศัยหรือมีที่อยู่อาศัยไม่เหมาะสมเป็นปัญหาที่สำคัญของผู้คนทั่วโลก UN-Habitat หรือ ‘โครงการตั้งถิ่นฐานมนุษย์แห่งสหประชาชาติ’
‘21 ปีบ้านมั่นคง’ พอช. แก้ปัญหาที่อยู่อาศัยคนจนทั่วประเทศ กว่า 3 แสนครัวเรือน
รัฐบาลได้มีนโยบายที่จะแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยของผู้มีรายได้น้อย และสร้างความมั่นคงในการอยู่อาศัยแก่คนจนในเมืองที่ ยังไม่มีที่อยู่อาศัยเป็นของตนเอง โดยเฉพาะกลุ่มผู้อยู่อาศัยในชุมชนแออัด
เสียงจากคลองเปรมประชากร…บ้านหลังใหม่ชีวิตใหม่ “คืนสายน้ำให้คนคลอง คืนสายคลองให้คนเมือง”
คลองเปรมประชากร มีประวัติศาสตร์อันยาวนานและมีบทบาทสำคัญในการพัฒนาชุมชนและเศรษฐกิจของกรุงเทพมหานคร ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา คลองนี้ได้ประสบปัญหามากมาย
บอร์ด พอช. มีมติ พักชำระหนี้องค์กรผู้ใช้สินเชื่อในพื้นที่ประสบอุทกภัยทั่วประเทศ
สถานการณ์การเกิดอุทกภัยจากอิทธิพลของพายุยางิ ในระหว่างวันที่ 7 - 8 กันยายน 2567 ส่งผลกระทบต่อประชาชนในจังหวัดเชียงราย จำนวน 7 อำเภอ