‘อุทัยธานีโมเดล’ พอช.จับมือท้องถิ่นซ่อมบ้านแปลงเมือง พัฒนาคุณภาพชีวิตชุมชนผู้มีรายได้น้อย-เรือนแพแห่งสุดท้ายของประเทศ

อุทัยธานี / ‘อุทัยธานีโมเดล’  พอช.จับมือหน่วยงานในท้องถิ่น  ผู้นำชุมชน  สนับสนุนการพัฒนาที่อยู่อาศัยและพัฒนาคุณภาพชีวิตชาวชุมชนเมืองและชนบท จ.อุทัยธานี  ในอำเภอห้วยคต 3 ตำบล  และชุมชนรอบเขาสะแกกรัง  อ.เมือง  รวม 1,183  ครัวเรือน  ใช้งบประมาณ 60 ล้านบาท  เริ่มพฤศจิกายนนี้  โดยมีแผนงานต่างๆ ตามสภาพปัญหาของชุมชน  เช่น  การซ่อม-สร้างบ้านสำหรับครัวเรือนที่ยากจน  การส่งเสริมอาชีพ  การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม  สร้างพื้นที่สีเขียว  ส่งเสริมวิถีชีวิตวัฒนธรรมชาวกะเหรี่ยง  ฯลฯ นอกจากนี้ยังส่งเสริมการฟื้นฟูวิถีชีวิตชาวแพริมแม่น้ำสะแกกรังทั้งลำน้ำ 122 หลัง  เพื่อให้ชุมชนชาวแพแห่งสุดท้ายของประเทศกลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง

สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) หรือ ‘พอช.’ มีภารกิจสำคัญประการหนึ่ง  คือ  การส่งเสริมการแก้ไขปัญหาและพัฒนาที่อยู่อาศัยของชุมชนผู้มีรายได้น้อยทั่วประเทศ  โครงการที่สำคัญคือ โครงการบ้านมั่นคง’  นอกจากนี้ยังส่งเสริมการพัฒนาคุณภาพชีวิตชาวชุมชนให้ดีขึ้น  ส่งเสริมเรื่องอาชีพ  สร้างรายได้  การดูแลสิ่งแวดล้อม  ฯลฯ 

ในจังหวัดอุทัยธานี  พอช.สนับสนุนโครงการบ้านมั่นคงตั้งแต่ปี 2553  ดำเนินการในพื้นที่ตำบลสะแกกรัง  อ.เมือง  รวม  70  ครัวเรือน  ใช้งบประมาณ 5.4 ล้านบาท  ปี 2560-2561  สนับสนุนการพัฒนาที่อยู่อาศัยและคุณภาพชีวิตในที่ดิน ส.ป.ก.ตำบลระบำ  อ.ลานสัก  รวม 356 ครัวเรือน  ใช้งบ  16 ล้านบาทเศษ   ปี 2563  ดำเนินการในชุมชนชาวแพริมแม่น้ำสะแกกรัง  รวม 122 แพ/ครัวเรือน  ใช้งบ 8.8 ล้านบาทเศษ  และในปี 2564 กำลังดำเนินการในอำเภอห้วยคต 3 ตำบล  และชุมชนรอบเขาสะแกกรัง  อ.เมือง  รวม 1,183 ครัวเรือน  ใช้งบ 60 ล้านบาทเศษ

ห้วยคตพัฒนาทั้งอำเภอ  3 ตำบล  หนุนวิถีกะเหรี่ยงบ้านภูเหม็น

อำเภอห้วยคต อยู่ห่างจากตัวจังหวัดอุทัยธานีไปทางทิศตะวันตกประมาณ 45 กิโลเมตร   มี 3 ตำบล  31   หมู่บ้าน  คือ  ตำบลห้วยคต  สุขฤทัย  และทองหลาง  สภาพพื้นที่สวนใหญ่เป็นที่ราบ  ชาวบ้านส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรม  เช่น  ปลูกอ้อย  ข้าวโพด  มันสำปะหลัง  ทำนา  ฯลฯ  ส่วนใหญ่มีฐานะปานกลางถึงยากจน   มีปัญหาเรื่องที่ดินทำกิน  ที่อยู่อาศัยมีสภาพทรุดโทรม  รายได้น้อย  แหล่งน้ำอุปโภคบริโภคไม่เพียงพอ ฯลฯ 

ในเดือนมกราคม  2564 นายอำเภอห้วยคตได้แต่งตั้ง คณะทำงานแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยและที่ดินทำกินของผู้มีรายได้น้อยอำเภอห้วยคต’ มีนายอำเภอห้วยคตเป็นประธาน  คณะทำงานประกอบด้วยผู้แทนหน่วยงานต่างๆ  ในท้องถิ่น  กำนัน  ผู้ใหญ่บ้าน  นายก อบต.  เจ้าหน้าที่ พอช.  ฯลฯ  เพื่อบูรณาการการทำงานร่วมกัน  มีการสำรวจข้อมูลผู้เดือดร้อนทั้ง 3 ตำบล  ความต้องการของชุมชน  เพื่อนำไปสู่การวางแผนพัฒนาและแก้ไขปัญหาต่างๆ   โดย พอช. สนับสนุนกระบวนการรวมกลุ่มของชุมชนเพื่อเป็นเครื่องมือทำงาน  และสนับสนุนงบประมาณการดำเนินโครงการ

ชาวบ้านร่วมประชุมเพื่อสร้างความเข้าใจการแก้ปัญหาร่วมกันในช่วงต้นปี 2564

ทั้งนี้ในปี 2564-2565  พอช. ได้อนุมัติงบประมาณโครงการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยและที่ดินทำกินของผู้มีรายได้น้อยอำเภอห้วยคต  3 ตำบล  รวม  791 ครัวเรือน  งบประมาณรวม 37.1 ล้านบาทเศษ  แยกเป็นตำบลห้วยคต  12.9 ล้านบาท  โครงการที่สำคัญ  เช่น  ซ่อมสร้างบ้าน (154  ครัวเรือน  งบ 4 ล้านบาทเศษ)  เจาะบ่อบาดาล  ส่งเสริมอาชีพปลูกไม้ผล  เลี้ยงเป็ด  ไก่   ปลูกป่าพื้นที่ป่าต้นน้ำ,  ตำบลสุขฤทัย  12.9  ล้านบาท  มีโครงการสำคัญ  เช่น  ซ่อมแซมบ้าน  ขุดบ่อบาดาลและระบบสูบน้ำโซล่าร์เซลล์  ส่งเสริมการปลูกกล้วย  ผักสวนครัว  อาชีพ   และตำบลทองหลาง  11.3 ล้านบาทเศษ  ซ่อมแซมบ้าน  (219  ครัวเรือน  งบ 6.4 ล้านบาท) ส่งเสริมอาชีพ  ศูนย์กระจายสินค้าชุมชน   วิถีชีวิตวัฒนธรรมชาวกะเหรี่ยง  ฯลฯ

นายสมบัติ  ชูมา   ผู้อำนวยการสถาบันธรรมชาติพัฒนา  ในฐานะคณะทำงานโครงการฯ  และที่ปรึกษาชุมชนชาวกะเหรี่ยงบ้านภูเหม็น  ตำบลทองหลาง   กล่าวว่า  การแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยและที่ดินทำกินของผู้มีรายได้น้อยอำเภอห้วยคตทั้ง 3 ตำบลกำลังจะเริ่มดำเนินการภายในเดือนพฤศจิกายนนี้  โดยที่บ้านภูเหม็น  ตำบลทองหลาง  ซึ่งเป็นชุมชนชาวกะเหรี่ยง  มีโครงการที่น่าสนใจ  เช่น  การจัดตั้งโรงเรียนสอนภาษากะเหรี่ยงให้แก่กลุ่มแม่บ้านและเยาวชน  คนรุ่นใหม่  เน้นการสอนภาษาเขียน  เพราะชาวกะเหรี่ยงแม้ว่าจะพูดภาษาของตนเองได้  แต่ไม่สามารถอ่านหรือเขียนภาษากะเหรี่ยงได้   จึงมีโครงการให้ปราชญ์ในหมู่บ้านสอนการเขียน-อ่าน  เพื่ออนุรักษ์ภาษากะเหรี่ยงเอาไว้

“นอกจากนี้ยังมีโครงการจัดสร้างพิพิธภัณฑ์ชาวกะเหรี่ยง   เพื่อแสดงข้าวของ  เครื่องใช้  เสื้อผ้า   การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม  เช่น  ฟื้นฟูวังปลาในลำห้วยภูเหม็น  เพื่อให้เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ปลา  ห้ามจับปลา  แต่สามารถจับปลาในในแหล่งอื่นได้  การสร้างพื้นที่สีเขียว  ปลูกป่า  สร้างธนาคารต้นไม้  ปลูกไม้เศรษฐกิจสร้างรายได้  ระบบประปาภูเขาต่อน้ำเข้าสู่หมู่บ้าน  ส่งเสริมการท่องเที่ยววิถีวัฒนธรรมชาวกะเหรี่ยง”  นายสมบัติยกตัวอย่างโครงการพัฒนาในชุมชนกะเหรี่ยง

นอกจากนี้ในระหว่างวันที่ 7-9 ธันวาคมนี้  จะมีการจัดงานครบรอบ 1 ปี  การสถาปนาพื้นที่คุ้มครองทางวัฒนธรรมกะเหรี่ยงบ้านภูเหม็น (ตามมติ ครม. 3   สิงหาคม 2553) เพื่อสรุปบทเรียน  ทบทวน  และผลักดันให้มีการเสนอร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองกลุ่มชาติพันธุ์ซึ่งเป็นกลุ่มเปราะบาง  และได้รับผลกระทบจากกฎหมายต่างๆ  เช่น  กฎหมายป่าไม้  ทำให้กลุ่มชนที่อยู่กับป่ามานานตั้งแต่ครั้งบรรพบุรุษถูกจับกุม  กลายเป็นผู้บุกรุกป่า  ฯลฯ

ชาวกะเหรี่ยงบ้านภูเหม็น  ตำบลทองหลาง

พัฒนาที่อยู่อาศัยชุมชนผู้มีรายได้น้อยรอบเขาสะแกกรัง

เขาสะแกกรังอยู่ในเขตอำเภอเมืองอุทัยธานี  ถือเป็นแลนด์มาร์คของจังหวัด  บนยอดเขาเป็นจุดชมทิวทัศน์เมืองอุทัยธานี  และเป็นที่ตั้งของวัดสังกัสรัตนคีรี  วัดเก่าแก่ที่สร้างมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2443  ขณะเดียวกันบริเวณรอบวัดก็มีชุมชนผู้มีรายได้น้อยตั้งอยู่  รวม 3   ชุมชน  คือ  ชุมชนหน้าเขาสะแกกรัง  ชุมชนหลังเขา  และชุมชนหน้าวัด  จากการสำรวจข้อมูล  พบผู้เดือดร้อนทั้งหมด 392  ครัวเรือน  เพราะสภาพบ้านเรือนทรุดโทรม  ไม่มีความมั่นคงในที่ดิน  เนื่องจากอาศัยอยู่ในที่ดินวัด (ประมาณ 5.76 ไร่) และที่ดินรัฐอื่นๆ (ประมาณ 59 ไร่) 

ส่วนกระบวนการแก้ไขปัญหานั้น  พอช. ร่วมกับจังหวัดอุทัยธานี  เทศบาลเมืองอุทัยธานี  และหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง  รวม 40 หน่วยงาน  เช่น  ที่ดินจังหวัด  ธนารักษ์จังหวัด  พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดอุทัยธานี  (พมจ.)  ลงนามบันทึกข้อตกลง ‘การแก้ไขปัญหาที่ดินและที่อยู่อาศัย   รวมทั้งการพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้มีรายได้น้อยจังหวัดอุทัยธานี’  เมื่อวันที่ 28 มิถุนายน  2564  ที่สำนักงานเทศบาลเมืองอุทัยธานี  เพื่อแก้ไขปัญหาชุมชนรอบเขาสะแกกรัง  (รวมทั้งพื้นที่ 3 ตำบลในอำเภอห้วยคต)

พิธีลงนามบันทึกความตกลงและมอบงบประมาณสนับสนุนชุมชนเมื่อ 28 มิถุนายน 2564

ทั้งนี้ที่ผ่านมา  พอช.ร่วมกับหน่วยงานในท้องถิ่น  เช่น  เทศบาลเมืองอุทัยธานี  พมจ. ฯลฯ  สร้างกระบวนการมีส่วนร่วมในการทำงานร่วมกับชาวชุมชน  เช่น  สร้างความเข้าใจกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและชุมชน  สำรวจข้อมูลผู้เดือดร้อน  จัดทำแผนที่  วิเคราะห์ผังชุมชน  ส่งเสริมให้ชุมชนรวมตัวกันตั้งกลุ่มออมทรัพย์  จัดทำแผนการพัฒนาที่อยู่อาศัย  สาธารณูปโภค  สิ่งแวดล้อม  ทำแนวกันไฟ  พัฒนาคุณภาพชีวิต  และเชื่อมโยงการทำงานร่วมกับกรรมการเมืองและคณะทำงานขับเคลื่อนที่อยู่อาศัยจังหวัดอุทัยธานี  เพื่อพัฒนาชุมชนรอบเขาสะแกกรังทั้งหมด 3 ชุมชน  รวม 392 ครัวเรือน  

ส่วนการพัฒนาชุมชนจะมีรูปแบบการพัฒนาต่างๆ  เช่น   ปรับผังชุมชนและรื้อสร้างบ้านใหม่  ซ่อมสร้างในที่ดินเดิม   ปรับภูมิทัศน์  สร้างพื้นที่สีเขียว  ทำสัญญาเช่าที่ดินหรือขอใช้ที่ดินเพื่อพัฒนาที่อยู่อาศัยกับหน่วยงานเจ้าของที่ดินอย่างถูกต้อง  เพื่อให้เกิดความมั่นคงเรื่องที่ดิน  (ที่ผ่านมา พอช. ได้ทำบันทึกความร่วมมือกับเจ้าอาวาสวัดสังกัสรัตนคีรีแล้ว)  โดย พอช.สนับสนุนการพัฒนาที่อยู่อาศัย  พัฒนาสาธารณูปโภค  สิ่งแวดล้อม  และพัฒนาคุณภาพชีวิต  บริหารจัดการ  ฯลฯ   รวมทั้งหมด 392  ครัวเรือน  รวมงบประมาณ  24 ล้านบาทเศษ  (เฉลี่ยครัวเรือนละ 60,000 บาท)  ตามแผนงานจะเริ่มภายในเดือนพฤศจิกายนนี้เช่นกัน  คาดว่าจะใช้เวลา 2-3   ปี  ทำให้ชุมชนรอบเขาสะแกกรังมีสภาพบ้านเรือน  คุณภาพชีวิต  และสิ่งแวดล้อมดีขึ้น

สภาพชุมชนรอบเขาสะแกกรัง

นางกาญจนี  ปรีดารัตน์  กรรมการชุมชนหลังเขาสะแกกรัง  บอกว่า  ชาวชุมชนส่วนใหญ่เป็นผู้มีรายได้น้อย  ทำงานรับจ้างทั่วไปในเมืองอุทัยธานี  ไม่มีที่ดินเป็นของตัวเอง  ต้องอยู่อาศัยในที่ดินสาธารณะและที่ดินวัดสังกัสรัตนคีรีมานานหลายสิบปี  ที่ผ่านมามีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในจังหวัดมาติดประกาศห้ามบุกรุกที่ดิน  ทำให้ชาวบ้านเกิดความกังวล  เพราะไม่รู้ว่าจะถูกขับไล่ในวันใด  เมื่อมีโครงการพัฒนาที่อยู่อาศัยชุมชนรอบเขาสะแกกรัง  ทำให้ชาวบ้านเกิดความสบายใจ  และจะร่วมกันพัฒนาที่อยู่อาศัยที่ทรุดโทรมให้มีความแข็งแรง  ปลอดภัย  มีสภาพแวดล้อมที่ดี  ลูกหลานก็จะเติบโตขึ้นมาในชุมชนที่ดี

ฟื้นฟูชุมชนชาวแพแห่งสุดท้ายของประเทศ

นายวิชัย  นะสุวรรณโน  ผู้อำนวยการสำนักงานภาคเหนือ  พอช.  กล่าวว่า พอช.เริ่มสนับสนุนการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยของชาวชุมชนเรือนแพในแม่น้ำสะแกกรังตั้งแต่ต้นปี 2563   โดยนายจุติ  ไกรฤกษ์  รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ได้รับทราบปัญหาความเดือดร้อนของชุมชนชาวแพในแม่น้ำสะแกกรังในเรื่องที่อยู่อาศัยทรุดโทรมและคุณภาพชีวิต  จึงได้มอบหมายให้ พอช.ร่วมกับหน่วยงานในท้องถิ่นบรูณาการการแก้ไขปัญหาร่วมกัน  

โดยมีการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยชุมชนชาวแพทั้งหมด 122 หลัง (แพ)  รวมทั้งการพัฒนาคุณภาพชีวิต  ส่งเสริมอาชีพ  การท่องเที่ยว  การดูแลสิ่งแวดล้อม  การปรับภูมิทัศน์ชุมชนชาวแพและพื้นที่ริมตลิ่ง  ฯลฯ ใช้งบประมาณรวม 8.8 ล้านบาทเศษ  (งบซ่อมแพไม่เกินหลังละ 40,000 บาท)  ขณะนี้ (พฤศจิกายน 2564) ดำเนินการไปแล้วเกือบหมดแล้ว  (เหลือประมาณ 4 หลัง)  นอกจากนี้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง  เช่น  กรมชลประทานกำลังขุดลอกแม่น้ำสะแกกรังเพื่อไม่ให้ตื้นเขิน  น้ำเน่าเสีย  เทศบาลเมืองอุทัยธานีทำถนนเลียบแม่น้ำ  ปรับภูมิทัศน์พื้นที่ริมตลิ่ง  ฯลฯ

นางนุชนาถ  บุญมั่น  ชาวชุมชนเรือนแพสะแกกรัง  บอกว่า  นอกจากการสนับสนุนการซ่อมแพที่ชำรุดทรุดโทรมให้มีสภาพมั่นคงแข็งแรงแล้ว  ชาวชุมชนยังได้รับงบประมาณพัฒนาคุณภาพชีวิต  และส่งเสริมอาชีพจำนวน 80,000 บาท  จึงนำมาทำกลุ่มอาชีพแปรรูปปลาจากแม่น้ำสะแกกรัง  เริ่มตั้งแต่เมื่อเดือนตุลาคมที่ผ่านมา  โดยกลุ่มจะซื้อปลาสดจากกระชังและปลาแม่น้ำนำมาทำปลาแห้ง  ปลารมควัน  น้ำพริกปลาแห้ง  ปลาป่น  ใช้ปลาต่างๆ  เช่น  ปลาสร้อย  ปลาสวาย  ฯลฯ  นำมาขายในตลาดริมแม่น้ำสะแกกรัง  แต่เนื่องจากช่วงนี้น้ำในแม่น้ำสะแกกรังและเจ้าพระยาเอ่อล้นเข้ามาท่วมเมืองอุทัยฯ  ทำให้การทำมาหากินและการสัญจรไปมาลำบาก  จึงต้องหยุดทำปลาช่วงนี้ก่อน

ปลาแม่น้ำสะแกกรังแปรรูป

“ถ้าหมดปัญหาเรื่องน้ำท่วมแล้ว  กลุ่มจะกลับมาทำปลาขายอีก  และจะจัดอบรมให้เพื่อนชาวแพที่สนใจเข้ามาเป็นสมาชิก  มาทำปลาแปรรูปเพื่อขายเป็นอาชีพ  มีแพจำหน่ายสินค้าจากปลาและสินค้าชุมชน  เพราะปลาและชุมชนชาวแพถือเป็นเอกลักษณ์ของจังหวัด  ที่ผ่านมาเราทำปลาแปรรูปใช้ชื่อว่า ‘ปลาย่างปลากระชังลุ่มน้ำสะแกกรัง’  ขายไม่แพง  3 ไม้ 100 บาท  ปลาป่นกระปุกละ 50 บาท  น้ำพริกก็อร่อย  ใครชิมก็ติดใจ”  นุชนาถโฆษณาสินค้าของกลุ่มชาวแพ

ปัจจุบันชุมชนชาวแพในแม่น้ำสะแกกรัง   ถือเป็นชุมชนชาวแพแห่งสุดท้ายของประเทศไทย  อยู่อาศัยกันมาตั้งแต่ครั้งบรรพบุรุษ  ยาวนานหลายร้อยปี  พระพุทธเจ้าหลวง  รัชกาลที่ 5  เคยเสด็จมาในปี  2444  หรือเมื่อ 120 ปีที่แล้ว  ชาวเรือนแพบอกว่าเมื่อ 50-60 ปีก่อน  มีเรือนแพในแม่น้ำสะแกกรังประมาณ 600-700 แพ  แต่ปัจจุบันเหลือไม่ถึง 200 แพ  เพราะคนรุ่นใหม่เข้าไปทำงานในเมือง  ไม่ได้ใช้ชีวิตพึ่งพิงแม่น้ำ 

ภาพถ่ายชุมชนชาวแพแม่น้ำสะแกกรัง  ครั้งรัชกาลที่ 5 เสด็จมาเมื่อ 120 ปีก่อน  ด้านซ้ายปัจจุบันคือตลาดเทศบาลริมน้ำ  ด้านขวาบนคือวัดอุโปสถาราม

ประกอบกับแพที่สร้างมานาน  ลูกบวบไม้ไผ่ที่ใช้พยุงแพจะชำรุดเสียหาย  3-4 ปีจะต้องซ่อมแซม  ถ้าเปลี่ยนทั้งแพต้องใช้เงินไม่ต่ำกว่า  50,000 บาท  สภาพชุมชนชาวแพจึงค่อนข้างทรุดโทรม  นอกจากนี้ยังมีปัญหาน้ำแล้งทำให้แพเกยตื้น  ลูกบวบเสียหาย  รวมทั้งปัญหาน้ำในแม่น้ำสะแกกรังเน่าเสียในช่วงหน้าแล้ง  แต่เมื่อมีการปรับปรุงซ่อมแซมเรือนแพ  ขุดลอกแม่น้ำ  และส่งเสริมการท่องเที่ยวแล้ว  พวกเขาเชื่อว่า  ชุมชนชาวแพสะแกกรังจะกลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง !!

วิถีชาวแพจะกลับมาคึกคักอีกครั้ง

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

สุราษฎร์ธานี จัดงานวันที่อยู่อาศัยโลกปี67 ย้ำชุมชนต้องเป็นแกนหลักในการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยคนจน

UN – HABITAT หรือ ‘โครงการตั้งถิ่นฐานมนุษย์แห่งสหประชาชาติ’ กำหนดให้วันจันทร์แรกของเดือนตุลาคมทุกปีเป็น ‘วันที่อยู่อาศัยโลก’ หรือ ‘World Habitat Day’

รวมพลังคนจนแก้ปัญหาที่ดิน-ที่อยู่อาศัยทั่วประเทศ วันที่อยู่อาศัยโลก ปี 2567

ปัญหาการขาดแคลนที่อยู่อาศัยหรือมีที่อยู่อาศัยไม่เหมาะสมเป็นปัญหาที่สำคัญของผู้คนทั่วโลก UN-Habitat หรือ ‘โครงการตั้งถิ่นฐานมนุษย์แห่งสหประชาชาติ’

‘21 ปีบ้านมั่นคง’ พอช. แก้ปัญหาที่อยู่อาศัยคนจนทั่วประเทศ กว่า 3 แสนครัวเรือน

รัฐบาลได้มีนโยบายที่จะแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยของผู้มีรายได้น้อย และสร้างความมั่นคงในการอยู่อาศัยแก่คนจนในเมืองที่ ยังไม่มีที่อยู่อาศัยเป็นของตนเอง โดยเฉพาะกลุ่มผู้อยู่อาศัยในชุมชนแออัด

เสียงจากคลองเปรมประชากร…บ้านหลังใหม่ชีวิตใหม่ “คืนสายน้ำให้คนคลอง คืนสายคลองให้คนเมือง”

คลองเปรมประชากร มีประวัติศาสตร์อันยาวนานและมีบทบาทสำคัญในการพัฒนาชุมชนและเศรษฐกิจของกรุงเทพมหานคร ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา คลองนี้ได้ประสบปัญหามากมาย

บอร์ด พอช. มีมติ พักชำระหนี้องค์กรผู้ใช้สินเชื่อในพื้นที่ประสบอุทกภัยทั่วประเทศ

สถานการณ์การเกิดอุทกภัยจากอิทธิพลของพายุยางิ ในระหว่างวันที่ 7 - 8 กันยายน 2567 ส่งผลกระทบต่อประชาชนในจังหวัดเชียงราย จำนวน 7 อำเภอ

รมว.พม. แจ้งตั้งศูนย์พักพิงชั่วคราว 34 แห่ง ใน 13 จว. ช่วยกลุ่มเปราะบาง-ผู้ประสบภัยน้ำท่วมริมแม่น้ำโขง ด้าน พอช. พร้อมอนุมัติงบช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบภัยพิบัติภาคเหนือและอีสาน

จากสถานการณ์น้ำท่วมในหลายพื้นที่ภาคเหนือ ส่งผลกระทบในพื้นที่ 8 จังหวัด 47 อำเภอ 207 ตำบล 22,817 ครัวเรือน โดยเฉพาะในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา