การยกเลิกกฎหมายที่หมดความจำเป็นหรือซ้ำซ้อนกับกฎหมายอื่น

สิทธิและเสรีภาพของประชาชนได้รับการรับรองไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย โดยรัฐจะดำเนินการที่กระทบกระเทือนต่อสิทธิเสรีภาพดังกล่าวได้ก็ต่อเมื่อมีกฎหมายให้อำนาจเท่านั้น  กล่าวอีกนัยหนึ่งได้ว่า “กฎหมาย” ส่งผลกระทบต่อสิทธิและเสรีภาพของประชาชนไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง  ดังนั้น การตรากฎหมายจึงควรกระทำอย่างมีคุณภาพและเท่าที่จำเป็น กล่าวคือ เป็นกฎหมายที่เกิดขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์หรือเป้าหมายที่สอดคล้องกับการป้องกันแก้ไขปัญหาหรือส่งเสริมและพัฒนาสังคม และเมื่อบังคับใช้แล้ว เป็นกฎหมายที่ทำงานได้ตามเป้าหมายโดยไม่สร้างภาระให้แก่ผู้ที่ต้องปฏิบัติตามมากจนเกินสมควร สามารถบรรลุวัตถุประสงค์ สร้างผลสัมฤทธิ์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ 

การเก็บสะสมกฎหมายไว้โดยไม่มีการทบทวนแก้ไขให้เหมาะสมกับปัจจุบัน กฎหมายที่เคยว่าดี ก็อาจเกิดผลเป็นโทษ เป็นช่องทางให้เจ้าหน้าที่รัฐใช้เพื่อลิดรอนสิทธิและกีดกันเสรีภาพของประชาชนได้โดยใช่เหตุ  ด้วยเหตุนี้ “คณะกรรมการพัฒนากฎหมาย” สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา จึงได้ดำเนินการรวบรวมกฎหมายที่หมดความจำเป็นหรือซ้ำซ้อนกับกฎหมายอื่นเพื่อเสนอยกเลิกอยู่เป็นประจำตั้งแต่ปี 2546 ในการพิจารณายกเลิกกฎหมาย คณะกรรมการพัฒนากฎหมายจะศึกษาและตัดสินใจจากข้อเท็จจริง 2 ประเด็น คือ

1.ความจำเป็นในการมีกฎหมาย โดยจะพิจารณาว่าวัตถุประสงค์ของกฎหมายยังมีความสอดคล้องกับสภาพการณ์ในปัจจุบันหรือไม่ ตัวอย่างเช่น พระราชบัญญัติการผลิตผลิตภัณฑ์ซีดี พ.ศ. 2548 ซึ่งมีวัตถุประสงค์ในการควบคุมป้องกันไม่ให้เกิดการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาด้วยการกำหนดมาตรการควบคุมการผลิตผลิตภัณฑ์ซีดีอย่างเข้มงวด แต่เมื่อเทคโนโลยีได้พัฒนาเปลี่ยนแปลงไป ผลิตภัณฑ์ซีดีได้กลายเป็นอุปกรณ์ที่ตกยุคและแทบจะไม่มีผู้ใช้งานอีกแล้ว ประกอบกับการป้องกันการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาในปัจจุบันก็มีกฎหมายที่กำกับดูแลโดยตรง คือ พระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 ซึ่งครอบคลุมการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาโดยอาศัยเทคโนโลยี ซึ่งเป็นมาตรการที่เหมาะสมกับสภาพการณ์มากกว่า พระราชบัญญัตินี้จึงหมดความจำเป็นลง

2.ความซ้ำซ้อนกับกฎหมายอื่น จะเกิดขึ้นได้ใน 2 ลักษณะ คือ ความซ้ำซ้อนในวัตถุประสงค์ของการมีกฎหมาย หรือความซ้ำซ้อนในมาตรการที่กำหนดในกฎหมาย เมื่อสังคมพัฒนาเติบโตปัญหาในลักษณะใหม่ ๆ ก็เกิดขึ้นตามไปด้วย ในหลายครั้งที่รัฐเลือกที่จะตรากฎหมายใหม่ขึ้นมาเพื่อรับมือกับสภาพการณ์ที่เป็นอยู่ในขณะนั้น โดยไม่ได้ย้อนกลับไปแก้ไขหรือยกเลิกกฎหมายที่ใช้อยู่ก่อนหน้า ทำให้การกำกับดูแลการกระทำเรื่องหนึ่งต้องปฏิบัติตามกฎหมายหลายฉบับพร้อม ๆ กัน สร้างภาระให้แก่ประชาชนโดยไม่จำเป็น ดังเช่นตัวอย่างที่ได้กล่าวไว้ข้างต้นกรณีการผลิตผลิตภัณฑ์ซีดีซึ่งมีเป้าหมายเพื่อป้องกันการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาที่ซ้ำซ้อนกับพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ฯ ซึ่งมีวัตถุประสงค์และบทบัญญัติที่ให้การคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาได้ครอบคลุมยิ่งกว่า จึงเป็นข้อสังเกตว่าในการพิจารณาว่ากฎหมายฉบับใดยังมีความจำเป็นหรือหมดความจำเป็น จะต้องกระทำควบคู่ไปกับการศึกษาความซ้ำซ้อนของกฎหมายอยู่เสมอ และการเสนอยกเลิกกฎหมายครั้งนี้เป็นการดำเนินการเป็นครั้งที่ 4 โดยคณะกรรมการพัฒนากฎหมายได้เสนอยกเลิกกฎหมายทั้งหมด 7 ฉบับ อาทิ พระราชกำหนดควบคุมและดำเนินงานภารธุระการทำเหมืองแร่ทองคำ พุทธศักราช 2483 พระราชบัญญัติกำหนดวิธีการระงับการค้ากำไรเกินสมควรจากราชการ พ.ศ. 2491 และพระราชบัญญัติการผลิตผลิตภัณฑ์ซีดี พ.ศ. 2548

การดำเนินการเพื่อยกเลิกกฎหมายที่หมดความจำเป็นหรือซ้ำซ้อนกับกฎหมายอื่นดังกล่าว จึงเป็นสิ่งที่ต้องดำเนินการอย่างต่อเนื่องเพื่อเปิดโอกาสให้ภาครัฐได้ทบทวนกฎหมายในความรับผิดชอบ การใช้บังคับกฎหมายจึงจะสามารถก่อให้เกิดประโยชน์แก่สังคมได้อย่างแท้จริงโดยกฎหมายไม่กลายเป็นตัวปัญหาเสียเอง ซึ่งกระบวนการยกเลิกกฎหมายนี้จะบรรลุผลได้อย่างมีประสิทธิภาพจำเป็นต้องได้รับความร่วมมือจากภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน ในการร่วมกันสะท้อนความคิดเห็นและผลกระทบที่ได้รับ  สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาหวังเป็นอย่างยิ่งว่า เราจะร่วมพัฒนากฎหมายเพื่อสังคมที่ดีและน่าอยู่ไปด้วยกัน.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

‘กนก’ สะท้อน ปัญหาความยุติธรรมโดยกฎหมาย บังคับใช้ กม.มากกว่าตัวบทของ กม.

ประเด็นที่เกิดคำถามต่อไป คือกฏหมายมุ่งเน้นบังคับไม่ให้คนกระทำผิด มากกว่าการทำให้คนกระทำผิดเป็นคนดี ใช่หรือไม่

๙๑ ปี สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา “พัฒนากฎหมายที่ดี เพื่อการมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของประชาชน”

ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตรา “พระราชบัญญัติเคาน์ซิลออฟสเตด คือ ที่ปฤกษาราชการแผ่นดิน” ขึ้น เพื่อเป็นองค์กรถวายคำปรึกษาแก่พระองค์ในการบริหารราชการแผ่นดิน

ดร.ณัฏฐ์-นักกม.มหาชน ชี้ 'กฎอัยการศึก' สส.ไทยไม่สามารถยกเลิกได้ แตกต่างจากเกาหลีใต้

“ดร.ณัฏฐ์” มือกฎหมายมหาชน เผย กฎอัยการศึกสถานะเป็นพระราชบัญญัติ การยกเลิกในประเทศเกาหลีใต้กระทำโดยมติสภา แตกต่างจากประเทศไทย สส.ตัวแทนประชาชน ไม่สามารถยับยั้งยกเลิกได้ 

แห่หนุนร่างกฎหมาย 'จัดระเบียบกลาโหม' ฉบับเพื่อไทย ตัดท่ออำนาจเหล่าทัพสกัดยึดอำนาจ

สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ได้เผยแพร่ในส่วนของการรับฟังความเห็นร่างพ.ร.บ.ตามรัฐธรรมนูญ

“สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา Better Regulation for Better Life : โอกาสและความท้าทายในยุคเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI)”

การใช้เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence หรือ AI) ได้เข้ามามีบทบาทสำคัญในชีวิตประจำวันของประชาชนทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็นสิ่งอำนวยความสะดวกในชีวิตประจำวัน