นายไมตรี อินทุสุต ประธานกรรมการสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ หรือ พอช. (นั่งที่ 2 จากซ้าย) นายกฤษดา สมประสงค์ ว่าที่ ผอ.พอช.คนใหม่ (นั่งที่ 3 จากซ้าย) ในพิธีลงนามสัญญาจ้าง
พอช./ วันนี้ (24 มิถุนายน) เวลา 9.00 น. ที่ห้องประชุมไพบูลย์วัฒนธรรมศิริธรรม สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) ถนนนวมินทร์ เขตบางกะปิ กรุงเทพฯ มีพิธีลงนามสัญญาจ้างผู้อำนวยการสถาบันฯ ระหว่างคณะกรรมการสถาบันฯ กับนายกฤษดา สมประสงค์ โดยมีนายไมตรี อินทุสุต ประธานกรรมการสถาบันฯ เป็นผู้แทนสถาบันฯ ในการลงนาม นายวิชล มนัสเอื้อศิริ ที่ปรึกษาคณะกรรมการสถาบันฯ และนายไพโรจน์ สุวรรณหงส์ กรรมการสถาบันฯ ร่วมเป็นสักขีพยานการลงนาม โดยมีผู้บริหารและเจ้าหน้าที่สถาบันฯ เข้าร่วมในพิธีประมาณ 100 คน
ตามที่สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เปิดรับสมัครเพื่อสรรหาผู้อำนวยการคนใหม่แทนนายสมชาติ ภาระสุวรรณ ที่หมดวาระลง โดยมีการเปิดรับสมัครและแสดงวิสัยทัศน์ผู้สมัครตั้งแต่เดือนมีนาคมที่ผ่านมา โดยมีขั้นตอนการสรรหาตามพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) พ.ศ.2543 จนในที่สุดคณะกรรมการสรรหาได้คัดเลือกให้นายกฤษดา สมประสงค์ เข้าดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการสถาบันฯ คนใหม่ โดยมีการลงนามสัญญาจ้างในวันนี้ ทั้งนี้นายกฤษดาจะเริ่มรับหน้าที่ในวันที่ 1 กรกฎาคม 2565 นี้ (มีวาระอยู่ในตำแหน่งคราวละ 4 ปี และอาจได้รับแต่งตั้งอีกได้ แต่ไม่เกินสองวาระติดต่อกัน)
นายไมตรี อินทุสุต ประธานกรรมการสถาบันฯ
นายไมตรี อินทุสุต ประธานกรรมการสถาบันฯ กล่าวแสดงความยินดีต่อผู้อำนวยการ พอช.คนใหม่ และว่า พอช.เป็นหน่วยงานที่ทำงานใกล้ชิดกับประชาชน ขบวนองค์กรชุมชน ภาคประชาสังคม และภาคีเครือข่าย มีวิธีการทำงานที่หลากหลาย ส่วนบทบาทของผู้อำนวยการ พอช. ต้องประสานการทำงานกับหลายฝ่าย รวมทั้งเป็นข้อต่อระหว่างคณะกรรมการสถาบันฯ กับฝ่ายการเมือง จึงต้องมีคุณสมบัติต่างๆ เช่น
1.มีศักยภาพ มีความแหลมคม ปราดเปรื่อง 2.คุณภาพต้องคับแก้ว ทั้งการบริการ และการบริหาร 3.มีประสิทธิภาพ มีทักษณะ ความชำนาญ 4.มีเอกภาพ ต้องรวมขบวน เครือข่ายฯ ให้มีความสามัคคี ปรองดอง 5.มีบูรณภาพ 6.มีพลานุภาพ เพราะต้องทำงานอยู่กับแดดกับดิน 7.มีสัมพันธภาพที่ดี เพราะต้องทำงานกับผู้คนหลากหลายระดับ 8.มีบุคลิกภาพที่ดี 9.มีภาพลักษณ์ที่ดีว่านี่คือ “ พอช.”
นายกฤษดา สมประสงค์ ว่าที่ผู้อำนวยการสถาบันฯ
นายกฤษดา สมประสงค์ ว่าที่ ผู้อำนวยการ พอช. กล่าวว่า พอช.เป็นหน่วยงานของรัฐที่มีศักยภาพมากที่สุดในการส่งเสริมชุมชนฐานรากให้มีความเข้มแข็ง ซึ่งตนเคยทำงานร่วมกับ พอช.ตั้งแต่สมัยยังเป็น พชม. (สำนักพัฒนาชุมชนเมือง) มีสำนักงานอยู่ที่ถนนเพชรบุรีตัดใหม่ เมื่อประมาณ 20 ปีก่อน และเมื่อ พอช.ย้ายมาอยู่ที่นี่ ตนก็ได้มาร่วมงานเปิด พอช.ด้วย และมีความตั้งใจที่จะมาทำงานเป็นผู้อำนวยการสถาบันฯ อย่างไรก็ตาม เมื่อตนทำงานที่กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นก็ได้สนับสนุนการทำงานของ พอช.และขบวนองค์กรชุมชนมาตลอด
“ผมขอขอบคุณประธานกรรมการสถาบันฯ ที่ให้โอกาสและเสนอแนวทางการทำงานเพื่อให้การทำงานบรรลุเป้าหมาย ซึ่งผมไม่สามารถจะทำงานคนเดียวได้ จะต้องมีเพื่อนๆ พี่น้อง พอช. มาร่วมกันทำงาน ให้คำแนะนำ เพื่อเดินไปด้วยกัน โดยมีเป้าหมายเพื่อให้พี่น้องประชาชนมีความเข้มแข็งเต็มแผ่นดิน” นายกฤษฎากล่าว
ผู้ร่วมในพิธีลงนามสัญญาจ้างแสดงความยินดีกับว่าที่ ผอ.พอช.คนใหม่
ประวัติว่าที่ ผอ.พอช.คนใหม่
นายกฤษดา สมประสงค์ ปัจจุบันอายุ 58 ปี เกิดเมื่อวันที่ 26 มิถุนายน 2507 จบปริญญาตรีคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง เมื่อปี 2529 (ปริญญาโท สาขาพัฒนาสังคม สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์) เริ่มรับราชการตำแหน่งปลัดอำเภอวังสะพุง จ.เลย ในปี 2532 จากนั้นย้ายเข้ามารับราชการส่วนกลางที่กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย
ปี 2545 เริ่มรับราชการที่กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น และเติบโตตามลำดับขั้น ตำแหน่งสุดท้ายคือ ผู้อำนวยการกลุ่มงานส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม และพัฒนาคุณภาพชีวิต กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น จนถึงวันที่ 25 พฤษภาคม 2565
นายกฤษดา สักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ในสถาบันฯ
ทั้งนี้ในการแสดงวิสัยทัศน์เพื่อสมัครเข้ารับการคัดเลือกเป็นผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ เมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา นายกฤษดาได้แสดงวิสัยทัศน์ตอนหนึ่งว่า
“ผมพร้อมบริหารสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ ด้วยประสบการณ์ 4 ประการ คือ 1.ทำหน้าที่เป็นกลไกจัดสรรงบประมาณให้กับ อปท. เพื่อพัฒนาพื้นที่ของตนเองประมาณปีละ 1 แสนล้านบาทในฐานะกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น 2.เป็นผู้มีประสบการณ์บริหารหน่วยงานราชการ โดยดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการกลุ่มงานส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม และพัฒนาคุณภาพชีวิต กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น 3.เป็นสภาปฏิรูปแห่งชาติ เพื่อกำหนดนโยบายสาธารณะระดับประเทศ โดยทำหน้าที่อนุกรรมาธิการเสริมสร้างชุมชนเข้มแข็ง และ 4.ถือว่ารู้จักและเข้าใจสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ พอสมควร โดยเป็นอนุกรรมการสนับสนุนสภาองค์กรชุมชน และอนุกรรมการส่งเสริมสวัสดิการชุมชนของสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ”
ผู้บริหารและเจ้าหน้าที่สถาบันฯ ถ่ายภาพร่วมกับนายกฤษดา
‘พอช.’ ยึดหลักการพัฒนาแบบองค์รวม มุ่งสร้างชุมชนเข้มแข็ง
สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ เริ่มดำเนินงานอย่างเป็นทางการในเดือนตุลาคม 2534 วัตถุประสงค์ในการดำเนินงานของ พอช. คือ 1.สนับสนุนและให้การช่วยเหลือแก่องค์กรชุมชนและเครือข่ายองค์กรชุมชนเกี่ยวกับการประกอบอาชีพ การพัฒนาอาชีพ การเพิ่มรายได้ การพัฒนาที่อยู่อาศัยและสิ่งแวดล้อมและการพัฒนาชีวิตความเป็นอยู่ของสมาชิกในชุมชนทั้งในเมืองและชนบท โดยยึดหลักการพัฒนาแบบองค์รวม หรือบูรณาการและหลักการพัฒนาที่สมาชิกชุมชนมีส่วนร่วมเป็นแนวทางสำคัญ ทั้งนี้เพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งของชุมชนและประชาสังคม
2.สนับสนุนและให้การช่วยเหลือทางการเงินแก่องค์กรชุมชนและเครือข่ายองค์กรชุมชน 3.สนับสนุนและให้การช่วยเหลือเพื่อการพัฒนาองค์กรชุมชนและเครือข่ายองค์กรชุมชน ตลอดจนประสานงานการสนับสนุนและให้การช่วยเหลือดังกล่าวจากหน่วยงานต่าง ๆ ทั้งภาครัฐและภาคเอกชน และ 4.ส่งเสริมและสนับสนุนและสร้างความร่วมมือขององค์กรชุมชนและเครือข่ายองค์กรชุมชนทั้งในระดับท้องถิ่น ระดับจังหวัด และระดับประเทศ
ผลการดำเนินงานที่ผ่านมา เช่น สนับสนุนการพัฒนาและแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยผู้มีรายได้น้อยทั้งในเมืองและชนบท ตามโครงการ ‘บ้านมั่นคง’ การพัฒนาที่อยู่อาศัยชุมชนริมคลองลาดพร้าว คลองเปรมประชากร คนไร้บ้าน สนับสนุนการซ่อมแซมบ้านเรือนที่มีฐานะยากจน โดยยึดหลักให้ชุมชนและผู้ที่มีความเดือดร้อนรวมกลุ่มกันแก้ไขปัญหา เป็นการพัฒนาที่อยู่อาศัย “แนวใหม่” โดยให้ชุมชนและผู้เดือดร้อนเป็นแกนหลัก และมีส่วนร่วมในกระบวนการแก้ไขปัญหา พอช.และภาคีเครือข่ายร่วมสนับสนุน
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
สุราษฎร์ธานี จัดงานวันที่อยู่อาศัยโลกปี67 ย้ำชุมชนต้องเป็นแกนหลักในการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยคนจน
UN – HABITAT หรือ ‘โครงการตั้งถิ่นฐานมนุษย์แห่งสหประชาชาติ’ กำหนดให้วันจันทร์แรกของเดือนตุลาคมทุกปีเป็น ‘วันที่อยู่อาศัยโลก’ หรือ ‘World Habitat Day’
รวมพลังคนจนแก้ปัญหาที่ดิน-ที่อยู่อาศัยทั่วประเทศ วันที่อยู่อาศัยโลก ปี 2567
ปัญหาการขาดแคลนที่อยู่อาศัยหรือมีที่อยู่อาศัยไม่เหมาะสมเป็นปัญหาที่สำคัญของผู้คนทั่วโลก UN-Habitat หรือ ‘โครงการตั้งถิ่นฐานมนุษย์แห่งสหประชาชาติ’
‘21 ปีบ้านมั่นคง’ พอช. แก้ปัญหาที่อยู่อาศัยคนจนทั่วประเทศ กว่า 3 แสนครัวเรือน
รัฐบาลได้มีนโยบายที่จะแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยของผู้มีรายได้น้อย และสร้างความมั่นคงในการอยู่อาศัยแก่คนจนในเมืองที่ ยังไม่มีที่อยู่อาศัยเป็นของตนเอง โดยเฉพาะกลุ่มผู้อยู่อาศัยในชุมชนแออัด
เสียงจากคลองเปรมประชากร…บ้านหลังใหม่ชีวิตใหม่ “คืนสายน้ำให้คนคลอง คืนสายคลองให้คนเมือง”
คลองเปรมประชากร มีประวัติศาสตร์อันยาวนานและมีบทบาทสำคัญในการพัฒนาชุมชนและเศรษฐกิจของกรุงเทพมหานคร ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา คลองนี้ได้ประสบปัญหามากมาย
บอร์ด พอช. มีมติ พักชำระหนี้องค์กรผู้ใช้สินเชื่อในพื้นที่ประสบอุทกภัยทั่วประเทศ
สถานการณ์การเกิดอุทกภัยจากอิทธิพลของพายุยางิ ในระหว่างวันที่ 7 - 8 กันยายน 2567 ส่งผลกระทบต่อประชาชนในจังหวัดเชียงราย จำนวน 7 อำเภอ
รมว.พม. แจ้งตั้งศูนย์พักพิงชั่วคราว 34 แห่ง ใน 13 จว. ช่วยกลุ่มเปราะบาง-ผู้ประสบภัยน้ำท่วมริมแม่น้ำโขง ด้าน พอช. พร้อมอนุมัติงบช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบภัยพิบัติภาคเหนือและอีสาน
จากสถานการณ์น้ำท่วมในหลายพื้นที่ภาคเหนือ ส่งผลกระทบในพื้นที่ 8 จังหวัด 47 อำเภอ 207 ตำบล 22,817 ครัวเรือน โดยเฉพาะในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา