เยือนถิ่นละว้าบ้านกกเชียง จ.สุพรรณบุรี ฟื้นฟู ‘พิพิธภัณฑ์มีชีวิต’ ที่กำลังจะหมดลมหายใจ !!

ชาวละว้าบ้านกกเชียง  ตำบลห้วยขมิ้น  อ.ด่านช้าง  จ.สุพรรณบุรี   ปัจจุบันเหลืออยู่ไม่กี่ครอบครัว (ภาพจากศูนย์เรียนรู้ภาษาละว้า)

จังหวัดสุพรรณบุรีเป็นส่วนหนึ่งของเส้นทางเดินทัพในสมัยสงครามกรุงศรีอยุธยา-พม่า  และยาวนานต่อเนื่องมาจนถึงต้นกรุงรัตนโกสินทร์  จึงมีร่องรอยทางประวัติศาสตร์ตกค้างและสืบทอดมาจนถึงปัจจุบัน  โดยเฉพาะผู้คนหลากหลายเผ่าพันธุ์  บ้างเป็นกลุ่มคนดั้งเดิมที่อยู่อาศัยในพื้นที่แถบนี้มายาวนานหลายร้อยหลายพันปี   เช่น  กะเหรี่ยง  ละว้า  และผู้คนที่ถูกกองทัพสยามกวาดต้อนมาในสมัยต้นรัตนโกสินทร์  เช่น   ลาวพวน  ลาวเวียง  ลาวครั่ง  จากดินแดนล้างช้างหรือประเทศลาวในปัจจุบัน

ในจำนวนผู้คนเหล่านี้  ชาวละว้า’  ดูเหมือนว่าสังคมจะรู้จักพวกเขาน้อยที่สุด  ขณะเดียวกันชาวละว้าในปัจจุบันก็หลงเหลืออยู่ไม่มากนัก  หากไม่แต่งงานผสมกลมกลืนกับกลุ่มชาติพันธุ์อื่นๆ   พวกเขาก็ล้มหายตายจากไปตามกาลเวลา  และหลงเหลือ ชาติพันธุ์ละว้าที่แท้จริง’  อยู่ไม่มากนัก   โดยในจังหวัดสุพรรณบุรี   ชาวละว้าจะตั้งรกรากอยู่ที่อำเภอด่านช้าง  นอกนั้นหลงเหลือเบาบางอยู่ที่กาญจนบุรีและอุทัยธานี

ชาวละว้าบ้านกกเชียง  อ.ด่านช้าง  จ.สุพรรณบุรี

ละว้าคือใคร ?  ใครคือ ละว้า

ชื่อของชาวละว้า  ปรากฏอยู่ในนิราศสุพรรณ  ซึ่งสุนทรภู่กวีเอกในยุคต้นรัตนโกสินทร์แต่งเป็นโคลงขึ้นในราวปี พ.ศ. 2379  หรือ 185  ปีก่อน (สมัยรัชกาลที่ 3)  ถือเป็นหลักฐานเก่าแก่ชิ้นหนึ่งที่มีการเอ่ยถึงชาวละว้า   คราวนั้นสุนทรภู่เดินทางมาเมืองสุพรรณบุรีเพื่อจะ เล่นแร่แปรธาตุ’  คือหา ปรอท’ เพื่อจะนำไปทำเป็นยาอายุวัฒนะตามความเชื่อของคนในยุคนั้น   สุนทรภู่มีชาวกะเหรี่ยงนำทางเข้าไปในดินแดนของชาวละว้า  และเอ่ยถึงชาวละว้าหลายครั้ง  เช่น

สาวสาวเหล่าลูกลว้า  หน้าชม
ยิ้มย่องผ่องผิวสม ผูกเกล้า
คิ้วตาน่านวลสม  เสมอฮ่าม งามเอย
แค่งทู่หูเจาะเจ้า  จึ่งต้องหมองศรี ฯ

(ลว้า = ละว้า)

นอกจากนี้ในวรรณคดีเรื่อง ‘ขุนช้างขุนแผน’ ที่กวีหลายคนแต่งขึ้นใหม่ในสมัยรัชกาลที่ 2 และ 3  เรื่องราวส่วนใหญ่อยู่ในสุพรรณบุรี  โดยในตอน ‘ขุนช้างตามนางวันทอง’  (สันนิษฐานว่ารัชกาลที่ 3 ทรงแต่งตอนนี้)  มีเนื้อหาตอนหนึ่งที่ขุนแผนพานางวันทองหนีเข้าไปเขตละว้า...

ครั้นถึงเชิงเขาเข้าเขตไร่               เห็นรอยถางกว้างใกล้ไพรระหง
ที่ตีนเขาเหล่าบ้านละว้าวง             พาวันทองน้องตรงเข้าไร่แตง
พวกละว้าพากันปลูกมันเผือก        รั้วเรือกหลายชั้นกั้นหลายแห่ง
ที่ยอดเขาล้วนเหล่าไร่ฟักแฟง       มะเขือพริกกล้วยแห้งมะแว้งเครือ
พวกละว้าป่าเถินเดินตามกัน          สาวสาวทั้งนั้นล้วนใส่เสื้อ
ทาขมิ้นเหลืองจ้อยลอยผิวเนื้อ       เป็นชาติเชื้อชาวป่าพนาลี

นั่นเป็นหลักฐานทางวรรณคดีที่มีการบันทึกเรื่องราวของชาวละว้าเอาไว้เมื่อเกือบ 200 ปีก่อน   ขณะที่ พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตสถาน พ.ศ.2542  ให้ความหมาย ละว้า’ ว่า “คนชาวเขาตอนเหนือประเทศพวกหนึ่งในตระกูลมอญ-เขมร” แต่ความหมายนี้ดูเหมือนจะไม่ตรงกับชาวละว้าที่สุพรรณบุรีสักเท่าไหร่   เพราะชาวละว้าทางภาคเหนือ  นักวิชาการส่วนใหญ่มักเรียกพวกเขาว่า  “ลัวะ”  มีภาษาพูดอยู่ในตระกูลมอญ-เขมร  ต่างจากชาวละว้าที่มีภาษาพูดอยู่ในตระกูลจีน-ธิเบต  และขนบธรรมเนียมประเพณีก็แตกต่างกัน

ชาวลัวะที่บ้านห้วยขาบ  อ.บ่อเกลือ  จ.น่าน  ต่างจากชาวละว้าที่สุพรรณบุรี

นอกจากนี้นักวิชาการหลายคนที่ศึกษาวิจัยกลุ่มชาติพันธุ์ละว้าในจังหวัดสุพรรณบุรีมานานหลายปี   อธิบายว่า  ชาวละว้าที่คนทั่วไปเรียกกันนั้น  พวกเขาเรียกตัวเองว่า  “อุก๊อง” หรือ “โอก๋อง”  คำว่า  “อุ”  หรือ “โอ”  แปลว่าคน  ส่วน “ก๊อง”  หรือ “ก๋อง”  ยังไม่ทราบความหมายที่แท้จริง  พวกเขามีภาษาพูดเป็นของตัวเอง  อยู่ในตระกูลจีน-ธิเบต  สาขาภาษาโลโล-พม่า  สาขาย่อยก๊อง  แต่ไม่มีภาษาเขียน

สันนิษฐานว่าชาวก๊องนี้เดิมคงจะอาศัยอยู่ในประเทศพม่า  เมื่อเกิดสงครามกับสยามในช่วงต้นรัตนโกสินทร์  ชาวก๊องถูกกองทัพพม่ากวาดต้อนเข้ามาเป็นไพร่พลในกองทัพด้วย  โดยเดินทัพผ่านมาทางด่านเจดีย์สามองค์  สังขละบุรี-กาญจนบุรี  เมื่อเสร็จสงครามแล้ว  ชาวก๊องเหล่านี้ไม่ได้กลับพม่า  พวกเขาตั้งถิ่นฐานอยู่ในจังหวัดกาญจนบุรี  (ปัจจุบันหลงเหลือชาวก๊องหรือละว้าไม่มากนักแถบอำเภอสังขละบุรี)  บางส่วนอพยพมาอยู่ที่สุพรรณบุรีและอุทัยธานีจนถึงปัจจุบัน

นั่นเป็นเรื่องที่ต้องถกเถียงทางวิชาการกันต่อไปว่า  เอาเข้าจริงแล้ว  ควรจะเรียกพวกเขาว่า “อุก๊อง”  หรือ “ละว้า”  แต่ชื่อของละว้าดูจะเป็นที่รู้จักและยอมรับกันมากกว่า อย่างน้อยสุนทรภู่ก็เคยเอ่ยถึงชาวละว้าเมื่อเกือบ 200 ปีก่อน !!

ปัจจุบันยังมีชาวละว้าอาศัยอยู่เป็นกลุ่มป็นก้อนที่ บ้านละว้าวังควาย’ (โรงเรียนและวัดก็ใช้ชื่อละว้าวังควาย) ตั้งอยู่ที่ตำบลวังยาว  อ.ด่านช้าง,  บ้านละว้ากกเชียง’   ตำบลห้วยขมิ้น  จ.สุพรรณบุรี  นอกจากนี้ยังมีชาวละว้าอาศัยอยู่ในอำเภอบ้านไร่และอำเภอห้วยคต  จังหวัดอุทัยธานี  แต่ทุกพื้นที่ก็เหลือชาวละว้าน้อยเต็มที  เพราะมีการแต่งงานข้ามเผ่าพันธุ์  เหลือเชื้อสายละว้าจริงๆ ไม่กี่ครอบครัว

ละว้าบ้านกกเชียง  ต.ห้วยขมิ้น  อ.ด่านช้าง

ตำบลห้วยขมิ้น  อำเภอด่านช้าง  อยู่ห่างจากตัวจังหวัดสุพรรณบุรีไปทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือประมาณ 100 กิโลเมตร  สภาพพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นที่ราบเชิงเขา  มี 16 หมู่บ้าน  ประชากรดั้งเดิมเป็นชาวลาวครั่งหรือลาวคังที่ถูกกองทัพสยามกวาดต้อนครัวเรือนเข้ามาในสมัยต้นรัตนโกสินทร์  นอกจากนี้ยังมีชาวละว้า   ปัจจุบันมีทั้งชาวอีสาน  ชาวสุพรรณบุรี  และจังหวัดใกล้เคียงที่เข้ามาอยู่อาศัย  หรือแต่งงานกับคนในท้องถิ่น  อาชีพส่วนใหญ่คือ  ปลูกอ้อย  ข้าวโพด  มันสำปะหลัง  ฯลฯ   

หมู่บ้านละว้ากกเชียง  มองจากวัด (ละว้า) กกเชียง มีบ้านเรือนสมัยใหม่มากขึ้น     

แพ  แสนเงิน’  คุณยายชาวละว้าวัย 80 ปี   สุขภาพยังแข็งแรง  พูดเสียงดังฟังชัด  พูดได้ทั้งภาษาละว้าผสมกับภาษาลาวและไทย  และยังทอผ้าละว้าเป็นอาชีพเสริมได้  เล่าว่า  ยายเริ่มหัดทอผ้าตั้งแต่เริ่มเป็นเด็กสาว  อายุประมาณ 11-12  ปี  เรียนรู้มาจากแม่  เพราะเมื่อก่อนคนละว้าจะทอผ้าใช้เอง   ยายแต่งงานมีครอบครัวตอนอายุได้ 20 ปี   มีลูก 3 คน  สามีเสียชีวิตแล้ว  พ่อแม่เล่าให้ฟังว่าคนละว้าบ้านกกเชียงอยู่อาศัยที่นี่มานานแล้ว  ตั้งแต่บรรพบุรุษ  ไม่รู้ว่ากี่ร้อยปี  เมื่อก่อนปลูกข้าวไร่เอาไว้กิน  แต่ตอนนี้ปลูกข้าวโพดกับมันสำปะหลังเอาไว้ขายเป็นรายได้  เพราะมีที่ทำกินเพียง 3 ไร่

“เมื่อก่อนที่นี่ไข้ป่าเยอะ  เพราะอยู่ในหุบเขา  เด็กๆ สมัยก่อนไม่ได้เรียนหนังสือหรอก  เพราะไม่มีโรงเรียน   ถ้าจะไปเรียนก็ต้องออกไปนอกหมู่บ้าน  เดินทางลำบาก  อาหารการกินก็จะหาของป่า  พวกแลน   ไก่ป่า  กระรอก  กระแต  หาปลาในห้วย  เอามาแกงใส่หน่อไม้   กินข้าวไร่  ข้าวเจ้า  เมื่อก่อนจะปลูกฝ้าย  เอามาปั่น  ทอผ้าใช้เอง  แต่ตอนนี้ไม่ได้ปลูกฝ้ายแล้ว  ซื้อเส้นด้ายมาทอเอา”  ยายแพเล่าถึงความเปลี่ยนแปลง  และบอกว่าเมื่อก่อนชาวละว้าจะนับถือผี  แต่เดี๋ยวนี้หันมานับถือศาสนาพุทธกันหมด  เพราะมีวัดอยู่ในหมู่บ้าน

ยายแพ  ชาวละว้าที่มีอายุมากที่สุดที่ยังมีชีวิตอยู่

ยายแพลองพูดภาษาละว้าให้ฟังบางคำ  พ่อ = ญึง, แม่ = แมะ, เด็ก = โอแป๊ะ, กิน = ชัว, น้ำ = ที,  ควาย = ดะโว่,  หมา = ครือ, ช้าง = อ้อง  ฯลฯ  แต่ศัพท์บางคำไม่มีในภาษาละว้า  ก็ต้องหยิบยืมทั้งภาษาไทยและลาวมาใช้  เช่น  การนับเลข  ชาวละว้าจะมีเฉพาะหลักหน่วย  และหลักสิบ  พอถึงหลักร้อย  เช่น  100  จะเรียก “หนึ่งร้อย”

ยายแพถือเป็นผู้อาวุโสชาวละว้าที่มีอายุสูงสุดในขณะนี้  ยายทอผ้าเป็นอาชีพเสริม  ทอผ้าต่างๆ   เช่น  ย่ามละว้า  ใช้เวลาทอ 3 วัน  ขายใบละ 300 บาท  เสื้อ  กางเกง  ตัวละ 500 บาท  ผ้าห่ม 500  บาท  หมวก 50 บาท  มีลวดลายต่างๆ  เช่น  ลายดอกคูน  ลายตุ๊กแก  เอาไปขายเวลามีงานออกร้านแสดงวิถีชีวิตของชาวละว้า  งานในอำเภอ  จังหวัด  แม้แต่กรุงเทพฯ  คุณยายก็เคยมา

ยายแพทอผ้า  ยายเปลี่ยนนั่งดู  เป็นพิพิธภัณฑ์มีชีวิตที่ยังเหลืออยู่

ใบหน้าของชาวละว้า

ถัดจากยายแพคือ ยายเปลี่ยน  ขุนณรงค์’  อายุ  74 ปี  ยายเปลี่ยนไม่ได้ทอผ้า  แต่มักจะเดินมาคุยกับยายแพที่บ้านซึ่งอยู่ไม่ไกลกันนัก  นั่งคุยกันเป็นภาษาละว้า  ตำหมากเคี้ยวหยับๆ ไปด้วย  พอให้คลายเหงา  เพราะลูกหลานออกไปทำงานในไร่ 

ลุงแสวง  รังสิมากุล  อายุ 74 ปี  ไม่ใช่ชาวละว้า  แต่เป็นลูกครึ่ง  เพราะมีเชื้อสายลาวครั่งผสมกับอุทัยธานี   แกเคยเป็นผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านหมู่ 10 บ้านละว้ากกเชียง   จึงรู้เรื่องราวของคนในหมู่บ้านเกือบทุกครอบครัว  บอกว่า  บ้านละว้ากกเชียง  มีทั้งหมด 153  ครอบครัว  ประมาณ  630 คน  เมื่อก่อนหมู่บ้านนี้มีชาวละว้าเยอะ  ไม่ต่ำกว่า 20 ครอบครัว  แต่ตอนหลังแต่งงานผสมปนเปกับคนเชื้อสายอื่นๆ  ทั้งลาวครั่ง  คนสุพรรณฯ  อีสาน  จนกลายเป็นลูกครึ่งไปหมด  เหลือคนละว้าแท้ๆ  แค่ 4 ครอบครัว  ประมาณไม่เกิน 20 คน

“ถ้าหมดยายแพกับยายเปลี่ยนแล้ว  บ้านละว้ากกเชียงก็ไม่เหลือใครแล้ว  ลูกหลานก็ไม่ค่อยได้พูดภาษาละว้าแล้ว  บางคนก็อายที่จะพูด  ส่วนเด็กรุ่นใหม่ๆ ก็พูดไม่ได้แล้ว”  ลุงแสวงบอกสิ่งที่กำลังจะสูญหายไป

ลุงแสวงแต่งตัวด้วยชุดหนุ่มละว้างานฝีมือของยายแพ  ถ้าขายจะได้เงินประมาณ 1,300-1,400 บาท

กระนั้นก็ตาม  ชาวละว้ายังมีประเพณีที่สืบทอดมาจนถึงปัจจุบัน  คือ การไหว้ ผีหมู่บ้าน’ ถือเป็นประเพณีที่สำคัญที่สุด  จัดขึ้นในวันอังคาร  เดือนหก  เป็นการไหว้ผีต่างๆ ที่ชาวบ้านนับถือ  ใช้บริเวณศาลบ้านเป็นสถานที่ทำพิธี  สภาพร่มรื่นปกคลุมไปด้วยกอไผ่  ในวันงานจะมี เจ้าจ้ำ’ หรือผู้นำทางจิตวิญญานเป็นผู้ทำพิธี  ชาวละว้าไม่ว่าจะอยู่ใกล้ไกลหรือไปทำงานต่างถิ่นต่างบ้านที่ไหน   เมื่อถึงวันนี้ทุกคนจะกลับมาร่วมพิธี  พร้อมทั้งนำของมาเซ่นไหว้  ที่ขาดไม่ได้คือแต่ละครอบครัวจะต้องเอาไก่เป็นๆ พร้อมทั้งเหล้า 1 ขวด  หลังจากนั้นจะฆ่าไก่และนำไปต้มเพื่อเซ่นผี  เสร็จพิธีแล้วทุกคนจะกินอาหารพร้อมกัน  ถือเป็นงานรวมญาติของชาวละว้าบ้านกกเชียง

สถานที่จัดงานเลี้ยงผีบ้าน  บรรยากาศรอบๆ ดูวิเวก  ขรึมขลัง

ฟื้นฟูพิพิธภัณฑ์มีชีวิตที่กำลังหมดลมหายใจ

ในอดีตบ้านเรือนของชาวละว้าจะสร้างด้วยไม้ไผ่  มุงด้วยหญ้าคาหรือกก  ยกพื้นสูง  มีบันไดไม้หรือไม้ไผ่  แต่ปัจจุบันสร้างด้วยไม้เนื้อแข็ง  บางหลังสร้างด้วยคอนกรีตเหมือนบ้านสมัยใหม่ทั่วไป  เป็นความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น  แต่หน่วยราชการบางแห่งก็พยายามอนุรักษ์วิถีชีวิตของชาวละว้าเอาไว้  เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยว

สมพร  สาลีอ่อน  แกนนำการพัฒนาในตำบลห้วยขมิ้น  เชื้อสายลาวครั่ง  เล่าว่า  ตำบลห้วยขมิ้นมี  16  หมู่บ้าน   ประชากรประมาณ  9,000 คน  ส่วนใหญ่มีเชื้อสายลาวครั่ง    มีสัดส่วนประมาณ 60 %  นอกนั้นก็มีคนสุพรรณฯ  คนอีสานที่มาอยู่ทีหลัง  และมีชาวละว้าอยู่ที่หมู่ 10 บ้านกกเชียง  ด้วยความโดดเด่นของวิถีวัฒนธรรมของชาวละว้า  กรมการพัฒนาชุมชนจึงเข้ามาส่งเสริมให้บ้านกกเชียงเป็น หมู่บ้านท่องเที่ยวนวัตวิถี’  ในช่วงปลายปี 2561  

มีการอบรมให้ความรู้แก่แกนนำในหมู่บ้านเรื่องการผลิตสินค้าชุมชน  สินค้าโอทอป  ด้านอาหารและวัฒนธรรม  การจัดที่พักแบบโฮมสเตย์รองรับนักท่องเที่ยว  นอกจากนี้ยังมีการจัดตั้งศูนย์วัฒนธรรมและศูนย์เรียนรู้ภาษาละว้า  เป็นเสมือนพิพิธภัณฑ์ของหมู่บ้านและตำบล   แต่เนื่องจากอำเภอด่านช้างไม่มีแหล่งท่องเที่ยวที่ดึงดูดนักท่องเที่ยวจากต่างถิ่น  การท่องเที่ยวบ้านละว้ากกเชียงจึงไม่คึกคัก  นานๆ จึงจะมีนักท่องเที่ยวเข้ามา  โดยเฉพาะตั้งแต่สถานการณ์โควิด-19  ในปี 2563 เป็นต้นมา  ดังนั้นแหล่งเรียนรู้วัฒนธรรมของชาวละว้าจึงถูกปล่อยให้ทรุดโทรมผุพัง 

อย่างไรก็ตาม  สมพรบอกว่า  นอกจากความพยายามส่งเสริมการท่องเที่ยวดังกล่าวแล้ว  ตำบลห้วยขมิ้นยังได้จัดทำโครงการบ้านมั่นคงชนบทขึ้นมาตั้งแต่ปี 2563  โดยได้รับการสนับสนุนด้านงบประมาณและความรู้จากสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน)  หรือ ‘พอช.’ ซ่อมสร้างบ้านให้แก่ครอบครัวที่ยากจนทั้งตำบล  รวมทั้งหมด 199 ครอบครัว  ขณะนี้ซ่อมสร้างเสร็จแล้ว  รวม 129 ครอบครัว  ที่เหลืออีก 70 ครอบครัวจะแล้วเสร็จภายในปี 2565

บ้านบางหลังปลูกสร้างด้วยไม้  สภาพทรุดโทรม  รอการซ่อมแซมตามโครงการของ พอช.

“บ้านละว้ากกเชียงซ่อมไปแล้ว 7 หลัง  เหลืออีก 7 หลัง  นอกจากนี้เรายังมีแผนพัฒนาคุณภาพชีวิตทั้งตำบล   โดยจะเสนอ พอช.เพื่อจัดทำโครงการ  เช่น  การส่งเสริมอาชีพ  ส่งเสริมการท่องเที่ยวชุมชน  เพราะนอกจากวิถีชีวิตชาวละว้าและการทอผ้าที่น่าสนใจแล้ว  เรายังมีวิถีชีวิตของชาวลาวครั่ง  แมีประเพณีต่างๆ ที่น่าสนใจ   มีสินค้าชุมชนที่สามารถนำมาแปรรูปเพิ่มมูลค่า  สร้างอาชีพให้ชาวบ้านได้  เช่น  ปลาจากเขื่อนกระเสียว   มีกลุ่มทำน้ำพริก  กลุ่มทอผ้าพื้นเมือง”  สมพรยกตัวอย่างแผนงานในการพัฒนาชุมชนท้องถิ่น

แต่ที่สำคัญก็คือ...มันไม่ใช่เป็นเรื่องการส่งเสริมการท่องเที่ยวหรือหวังจะสร้างรายได้เพียงอย่างเดียว  แต่ยังเป็นการอนุรักษ์  สืบทอดวิถีชีวิต  ประเพณี  วัฒนธรรม  ประวัติศาสตร์ชุมชนท้องถิ่น  เพื่อให้ลูกหลานได้ศึกษาเรียนรู้  ภาคภูมิใจในรากเหง้าของตนเอง  เป็นการฟื้นฟูพิพิธภัณฑ์มีชีวิตที่กำลังจะหมดลมหายใจให้ฟื้นกลับคืนมา...!!

ลุงแสวงลูกครึ่งลาวครั่งกับ 2 คุญยายชาวละว้า  พิพิธภัณฑ์มีชีวิตแห่งบ้านกกเชียง

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

พลเอกนิพัทธ์ ทองเล็ก นำทีมช่างชุมชน Kick Off ซ่อมบ้านผู้ประสบภัยพิบัติ ‘แม่ยาวโมเดล’

พอช. หนุนงบกว่า 30 ล้าน ซ่อม สร้าง 6 ตำบล 875 ครัวเรือน สร้างรูปธรรม การจัดการที่ดิน ที่อยู่อาศัย ยกระดับคุณภาพชีวิต พร้อมยื่นข้อเสนอเชิงนโยบายจากชุมชน ถึงรัฐบาล

สุราษฎร์ธานี จัดงานวันที่อยู่อาศัยโลกปี67 ย้ำชุมชนต้องเป็นแกนหลักในการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยคนจน

UN – HABITAT หรือ ‘โครงการตั้งถิ่นฐานมนุษย์แห่งสหประชาชาติ’ กำหนดให้วันจันทร์แรกของเดือนตุลาคมทุกปีเป็น ‘วันที่อยู่อาศัยโลก’ หรือ ‘World Habitat Day’

รวมพลังคนจนแก้ปัญหาที่ดิน-ที่อยู่อาศัยทั่วประเทศ วันที่อยู่อาศัยโลก ปี 2567

ปัญหาการขาดแคลนที่อยู่อาศัยหรือมีที่อยู่อาศัยไม่เหมาะสมเป็นปัญหาที่สำคัญของผู้คนทั่วโลก UN-Habitat หรือ ‘โครงการตั้งถิ่นฐานมนุษย์แห่งสหประชาชาติ’

‘21 ปีบ้านมั่นคง’ พอช. แก้ปัญหาที่อยู่อาศัยคนจนทั่วประเทศ กว่า 3 แสนครัวเรือน

รัฐบาลได้มีนโยบายที่จะแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยของผู้มีรายได้น้อย และสร้างความมั่นคงในการอยู่อาศัยแก่คนจนในเมืองที่ ยังไม่มีที่อยู่อาศัยเป็นของตนเอง โดยเฉพาะกลุ่มผู้อยู่อาศัยในชุมชนแออัด