วิถีชุมชนคนลำไทรโยง จ.บุรีรัมย์ “ฟื้นป่าดอนโจร สร้างแหล่งอาหาร”

สภาพป่าชุมชนในตำบลลำไทรโยงที่เคยเสื่อมโทรมในอดีต  ปัจจุบันกลับมาอุดมสมบูรณ์ เป็นผลมาจากการช่วยกันดูแลและฟื้นฟูของชาวบ้าน  จนได้รับรางวัลด้านการอนุรักษ์ป่ามากมาย (ภาพจากสถาบันลูกโลกสีเขียว)

ตำบลลำไทรโยง  อ.นางรอง  จ.บุรีรัมย์   หากย้อนกลับไปในอดีต  ราว 40-50 ปีที่แล้ว  มองไปทางไหนก็จะเห็นแต่ความแห้งแล้ง  เพราะป่าไม้ถูกทำลาย  ชาวบ้านตัดไม้เอาไปขายโรงเลื่อย  พอไม้ใหญ่หมดไป  เหลือตอไม้และไม้ที่ทำฟืนได้ก็เอามาเผาถ่านขายเป็นอาชีพ  จนป่าไม้ในตำบลแทบจะหมดไป  บางปีฝนฟ้าแห้งแล้ง  ทำนาไม่พอกิน  หนุ่มสาวต้องบากหน้าเข้าไปขายแรงงานในเมือง...

แต่ทุกวันนี้ภาพในอดีตเลือนหายไป  มองไปทางไหนก็เห็นแต่ความร่มรื่นเขียวขจี  เพราะชาวบ้านช่วยกันฟื้นฟูดูแลรักษาป่าและแหล่งน้ำ  ร่วมกันจัดตั้งป่าชุมชนเนื้อที่กว่า 2,800 ไร่  ทำให้มีแหล่งอาหาร  มีเห็ด  ผัก  สมุนไพร  สัตว์เล็ก  สัตว์น้อยเริงร่า  จนป่าชุมชนฟื้นตัว  กลายเป็นแหล่งเรียนรู้  และได้รับรางวัลเกียรติยศด้านการอนุรักษ์ป่าและสิ่งแวดแวดล้อมมากมาย

นอกจากนี้ชาวบ้านยังฟื้นวิถีเกษตรแบบดั้งเดิม  คือ การหาอยู่หากินแบบธรรมชาติ  พึ่งพาตัวเอง   “ปลูกทุกอย่างที่อยากกิน  กินทุกอย่างที่ปลูก”  เพื่อลดรายจ่าย  เหลือจึงขาย  และรวมกลุ่มสร้างอาชีพต่างๆ  เกือบ 20 กลุ่ม  เช่น ‘กลุ่มเลี้ยงวัวเงินล้าน’ เป็นฐานเศรษฐกิจของชุมชน  ทำให้ชาวลำไทรโยงในวันนี้ลืมตาอ้าปากได้ !!

ตำนานหมู่บ้านและ ป่าดอนโจร

ตำบลลำไทรโยงมีพื้นที่ทั้งหมดประมาณ 52,500  ไร่  สภาพเป็นที่ราบลุ่ม  มี  14 หมู่บ้าน  ประชากรเกือบ 6,000 คน ส่วนใหญ่มีอาชีพทำนา (ประมาณ 70 %) รองลงมา คือ ปลูกมันสำปะหลังและอ้อย มีลำน้ำ 2 สายหลัก คือ ลำมาศและลำไทรโยง  เป็นเส้นเลือดหล่อเลี้ยงผู้คนในตำบลมาเนิ่นนาน

ลำไทรโยงอยู่ในเขตอีสานใต้  อยู่ห่างจากตัวอำเภอนางรองประมาณ  10 กิโลเมตรเศษ  มีภาษาถิ่นที่หลากหลาย  ภาษาหลักที่ใช้พูดกันในชีวิตประจำวันคือ ‘ภาษาถิ่นไทยนางรอง’ หรือ ‘ไทยเดิ้ง’  สำเนียงคล้ายภาษาถิ่นโคราช  นอกนั้นเป็นภาษาถิ่นอีสาน  เขมร  ส่วย  ปะปนกันไป  เพราะอำเภอนางรองอยู่ในเส้นทางการค้า-การสงครามมาแต่โบราณ มีผู้คนหลากหลายเผ่าพันธุ์  มีเมืองใหญ่ๆ  อยู่รายรอบ  เช่น  นครราชสีมา  พิมาย  สุรินทร์  และมีเส้นทางตัดช่องเขาไปยังเขมรต่ำหรือกัมพูชา

ราวปี 2445 (สมัยรัชกาลที่ 5) มีคนจากโคราชหรือนครราชสีมากลุ่มหนึ่งอพยพเข้ามาบุกเบิกหักร้างถางดงตั้งเป็นหมู่บ้านเล็กๆ ขึ้นมา  เพราะมีแหล่งน้ำ  มีป่าที่ยังอุดมสมบูรณ์  เป็นป่าเบญจพรรณ  มีไม้ยาง  ไม้เต็ง  มะค่า  ฯลฯ  มีสัตว์เล็กอยู่อาศัย  เช่น  หมูป่า  ฟาน  ไก่ป่า  นก  หนู  กระต่าย  ฯลฯ  หลังจากนั้นจึงมีผู้คนจากที่ต่างๆ เข้ามาสมทบเพิ่มเติม  จนขยายเป็นหมู่บ้านใหญ่แห่งหนึ่ง

ก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 มีโรงเลื่อยมาเปิดกิจการที่อำเภอนางรอง  ชาวบ้านจากที่ต่างๆ พากันมาตัดไม้ที่มีราคาในป่าลำไทรโยงใส่เกวียนเอาไปขาย  ส่วนใหญ่เป็นไม้เต็ง  ไม้มะค่า  เอาไปขายเป็นไม้หมอนรถไฟ  ไม้ใหญ่จึงค่อยๆ หมดไป

ในปี 2483  มีโจรกลุ่มหนึ่งประมาณ 10 คนพร้อมอาวุธครบมือ  มาจากอำเภอหนองหงส์  จ.บุรีรัมย์  บุกเข้ามาปล้นบ้านอดีตกำนัน เมื่อได้ทรัพย์สินเงินทองแล้ว  กลุ่มโจรได้พากำนันและเมียเป็นตัวประกันหนีเข้าป่า  เมื่อไม่มีใครติดตามมา  กลุ่มโจรจึงปล่อยตัวประกัน  ชาวบ้านที่ตามมาช่วยภายหลังพบร่องรอยของกลุ่มโจรที่ทำพิธีบวงสรวงเอาฤกษ์เอาชัยก่อนเข้าปล้นที่บริเวณเนินดินหรือที่ดอนแห่งหนึ่ง  ในเวลาต่อมาชาวบ้านจึงเรียกป่านี้ว่า “ป่าดอนโจร”

บริเวณดอนโจร  ในอดีตกลุ่มโจรใช้เป็นสถานที่บวงสรวงก่อนเข้าปล้น  ปัจจุบันเป็นแหล่งเรียนรู้

สร้างกฎกติกาฟื้นป่าดอนโจร

ตั้งแต่ราวปี 2516  เป็นต้นมา  ตำบลลำไทรโยงและพื้นที่ใกล้เคียงเกิดภาวะฝนแล้ง  ทำนาไม่ได้ผล  ชาวบ้านจึงเข้าป่าไปหาไม้ล้มและตอไม้มาเผาถ่านขายเพื่อเป็นรายได้ประทังชีวิต  จนกลายเป็นอาชีพใหม่ของคนลำไทรโยง  ทำให้ไม้น้อยใหญ่ถูกโค่นเพื่อเอามาเผาถ่าน  ป่าดอนโจรก็แทบจะเหี้ยนเตียนไปด้วย  สัตว์ป่าที่เคยมี  เช่น  หมูป่า  ฟาน (เก้ง) ก็หายไป

ประเทือง  มากชุมแสง  วัย 62 ปี   อดีตครูโรงเรียนประถมศึกษาในตำบลลำไทรโยง  แกนนำฟื้นฟูป่าดอนโจรเล่าว่า  ป่าดอนโจรยังถูกบุกรุกทำลายอย่างต่อเนื่อง  บ้างก็ขยายพื้นที่ทำกินเข้าไปในเขตป่า  ทำให้ป่าหดแคบลง   ตอนนั้นเนื้อที่ป่าดอนโจรน่าจะมีมากกว่า 3,000 ไร่  (ปัจจุบันเหลือ 2,800 ไร่)

ประมาณช่วงหลังปี 2530  ครูประเทืองได้ไปอบรมศึกษาดูงานการพัฒนาชุมชน  การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมที่องค์กรพัฒนาเอกชนแห่งหนึ่งจัดขึ้นที่อำเภอนางรอง  พอกลับมาได้นำกล้าไม้ต่างๆ  มาปลูก  เริ่มจากที่วัดในตำบล  เช่น  พะยูง  สะเดา  คูน  ฯลฯ 

ต่อมาจึงพานักเรียนในชั้นเรียน ป.5- ป.6  ออกจากห้องเรียนไปศึกษาธรรมชาติที่ป่าดอนโจร ซึ่งอยู่ไม่ไกลจากโรงเรียนมากนัก  พาเด็กไปดูไม้ป่าชนิดต่างๆ  บอกสอนว่า  ต้นไหนกินได้  ต้นไหนเอามาใช้ประโยชน์อะไรได้บ้าง  ทำอย่างนี้นานหลายปี  ชาวบ้านที่ไม่เข้าใจก็หาว่าครูประเทืองเพี้ยน  เพราะห้องเรียนมีเอาไว้สอนเด็ก  แต่ครูกลับพาเด็กออกมาเดินป่า

“บางคนก็เรียกผมว่า ‘ครูผีบ้า’  เพราะเห็นผมชอบพาเด็กไปเก็บเห็ด  เก็บผักในป่า  เป็นครูแต่ไม่สอนหนังสือ  แต่นี่คือการสอนเด็กให้รู้จักธรรมชาติและประโยชน์ของป่า  ปลุกจิตสำนึกให้รักป่า  หวงแหนป่า  พาเด็กไปปลูกต้นไม้     ที่บ้านใครมีต้นอะไรก็เอามาเพาะ  แล้วเอาไปปลูกในป่า  บางคนเอาลูกตาล  บางคนเอาไผ่ไปปลูก  ขึ้นบ้าง  ไม่ขึ้นบ้าง   ก็ไม่เป็นไร  เพราะนี่คือการสอนให้รักป่า  ต้องปลูกป่าในใจคนก่อน  เหมือนในหลวงรัชกาลที่ 9 ท่านทรงกล่าวเอาไว้”     ครูประเทืองบอก

จากเด็กนักเรียน  ครูผีบ้าได้ขยายแนวคิดไปยังชาวบ้าน  ผู้ปกครองเด็ก  พระสงฆ์  ผู้ใหญ่บ้านและกำนัน  ขยายไปสู่ อสม. เพราะ อสม.ทำงานใกล้ชิดกับชาวบ้าน  ชาวบ้านให้ความเชื่อถือและเคารพไม่ต่างจากพระหรือครู  จนเกิดแนวร่วมทั้งตำบล  เจ้าหน้าที่ป่าไม้  และอบต.ก็มาส่งเสริมสนับสนุน 

ราวปี 2541 จึงเกิดข้อตกลงร่วมกันในการดูแลรักษาป่าดอนโจร   โดยมีตัวแทนชาวบ้านที่อยู่รอบป่า  5 หมู่บ้านๆ ละ 5 คนร่วมกันจัดตั้งกลุ่มอาสาสมัครพิทักษ์ป่าดอนโจร  เพื่อลาดตระเวน  ดูแล  และสร้างกฎ  กติกา ไม่ให้มีการทำลายป่า  เช่น ห้ามล่าสัตว์  ห้ามจับสัตว์น้ำ ห้ามตัดไม้ทุกชนิด  ห้ามบุกรุกพื้นที่ป่า  ห้ามทิ้งขยะที่ไม่สามารถย่อยสลายได้  กำหนดเวลาเข้า-ออกป่า

เก็บค่าบำรุงรักษาป่าสำหรับผู้ที่เข้าไปหาเห็ด  หาผัก  สมุนไพร  หน่อไม้  ถ้าเป็นชาวบ้านในตำบลเก็บค่าบำรุงครั้งละ 10 บาท  หากเป็นคนต่างถิ่นเก็บครั้งละ 20 บาท  เพื่อเอาเงินมาเป็นค่าน้ำมันรถ  อาหาร-เครื่องดื่มของอาสาสมัครที่ตระเวนดูแลป่า  หากพบผู้ทำผิดจะว่ากล่าวตักเตือน  หรือปรับ  หากลักลอบตัดไม้จะส่งเจ้าหน้าที่ดำเนินคดี

(ภาพจากสำนักจัดการป่าชุมชน  กรมป่าไม้)

รางวัลจากผืนป่า...

ต่อมาในปี 2545  ครูประเทืองและแกนนำในตำบลลำไทรโยงได้ร่วมกันจดแจ้งจัดตั้ง ‘ป่าชุมชนดอนโจร’ ขึ้นมาตามระเบียบของกรมป่าไม้  เพราะพื้นที่ป่าดอนโจรอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติป่าเมืองไผ่  เนื้อที่ทั้งหมดประมาณ 2,800 ไร่เศษ  มีการจัดตั้งคณะกรรมการป่าชุมชนขึ้นมา  มีคณะกรรมการ  5  ฝ่าย  เช่น  ฝ่ายสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า  ฝ่ายส่งเสริมและฟื้นฟูทรัพยากร  ฝ่ายจัดการทรัพยากร  ฝ่ายประชาสัมพันธ์  ฯลฯ  และยังเข้าร่วมโครงการราษฎรอาสาสมัครพิทักษ์ป่า (รสทป.) ตามพระราชปณิธานของสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ 

นอกจากนี้ครูประเทืองยังเป็นแกนนำในการสร้างแหล่งเรียนรู้ในป่าดอนโจร  โดยทำฐานการเรียนรู้ขึ้นมาในป่า  รวมทั้งหมด 12  ฐาน  เช่น  สถานีเห็ดป่า  สถานีขี้ตุ่น  สถานีป่าแต้ว  ฯลฯ  มีป้ายบอกให้รู้ว่าสถานีต่างๆ มีลักษณะพิเศษ  มีพืช  ผัก  มีประโยชน์อย่างไรบ้าง  เพื่อให้นักเรียนในตำบล  ตลอดจนชาวบ้านทั่วไปได้มาศึกษาเรียนรู้

ป่าดอนโจรเป็นแหล่งเรียนรู้ป่าไม้และธรรมชาติต่างๆ

ผลจากการช่วยกันดูแลรักษาป่าดอนโจร  ทำให้ผืนป่ากลับมาอุดมสมบูรณ์เหมือนในอดีต  มีพืชผักต่างๆ  เช่น  ผักหวาน  หน่อไม้  แต้ว  เสม็ด  มันป่า  เห็ดโคน  เห็ดป่าต่างๆ  ที่ชาวบ้านเข้าไปเก็บมาทำอาหาร   มีสมุนไพร  เช่น  โด่ไม่รู้ล้ม  ใช้บำรุงร่างกาย  ต้นนมควาย  ใช้บำรุงน้ำนมให้แม่ที่เพิ่งคลอด  แห้วกระต่าย  แก้หิวน้ำ  ใช้สูดดมแก้หวัด   มีกบ  เขียด  อึ่งอ่าง  แย้  สัตว์เล็ก  เช่น  หมาจิ้งจอก  กระต่าย  กระแต  กระรอก  พังพอน  ไก่ป่า  ฯลฯ 

รวมทั้งชาวบ้านที่เลี้ยงวัวควายก็ใช้ป่าดอนโจรเป็นที่เลี้ยงสัตว์  เพราะในป่าดอนโจรจะแบ่งพื้นที่สาธารณะเพื่อเลี้ยงสัตว์ประมาณ  1,500  ไร่  และยังเป็นการสร้างแนวป้องกันไฟป่าไปในตัว  เพราะวัวควายจะและเล็มหญ้า  และเหยียบย่ำพงหญ้าจนเรียบ  ไม่กลายเป็นเชื้อไฟในช่วงหน้าแล้ง   นอกจากนี้เมื่อวัวควายถ่ายมูลออกมาก็กลายเป็นปุ๋ยบำรุงผืนป่าได้อีก

ในปี 2546  กลุ่มราษฎรอาสาสมัครพิทักษ์ป่า (รสทป.) ตำบลลำไทรโยงได้เข้ารับธงพระราชทาน พิทักษ์ป่า  เพื่อรักษาชีวิต จากสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ  เป็นธงที่พระราชทานให้แก่กลุ่ม รสทป.ที่มีผลงานดีเด่นด้านการอนุรักษ์ดูแลป่า

ปี 2553 ได้รับรางวัลลูกโลกสีเขียวในการประกวดครั้งที่ 12 จากกลุ่มบริษัท ปตท.  ประเภทชุมชนที่มีผลงานการดูแลรักษาทรัพยากรธรรมชาติจากการอนุรักษ์ป่าดอนโจร 

ตัวแทนชาวลำไทรโยงรับรางวัลลูกโลกสีเขียวปี 2553 จากนายอานันท์  ปันยารชุน  อดีตนายกรัฐมนตรี

ปี 2561 ได้รับรางวัลลูกโลกสีเขียวในการประกวดครั้งที่ 18 จากกลุ่มบริษัท ปตท. รางวัล ‘สิปปนนท์  เกตุทัต รางวัลแห่งความยั่งยืน’  จากการดูแลรักษาป่าดอนโจร 

และปี 2562 ได้รับรางวัลรองชนะเลิศจากการประกวดป่าชุมชนระดับประเทศ  โครงการ ‘คนรักษ์ป่า ป่ารักชุมชน  โดยการจัดประกวดของกรมป่าไม้ร่วมกับบริษัท ราช กรุ๊ป จำกัด (มหาชน)

จากปี 2541 ที่ชาวบ้านตำบลลำไทรโยงร่วมกันดูแลรักษาป่า  สร้างกฎ  กติกาของชุมชนขึ้นมา  จนถึงวันนี้เป็นเวลากว่า 20 ปี  เกิดดอกผลมากมาย  จากตำบลที่เคยแห้งแล้งกลายเป็นพื้นที่ต้นแบบแห่งหนึ่งที่ชาวบ้านร่วมกันดูแลและได้ใช้ประโยชน์จากป่า  รวมทั้งขยายอาสาสมัครดูแลป่าจากเดิมที่มีประมาณ 25 คน  เพิ่มเป็น 112 คน  และมี ‘เยาวชนอาสาสมัครพิทักษ์ป่า’ อีกราว 80 คน

ส่วนหนึ่งของอาสาสมัครพิทักษ์ป่าดอนโจร 

สมบูรณ์  จีนประสพ  กำนันตำบลลำไทรโยง  ในฐานะที่สนับสนุนดูแลรักษาป่าดอนโจรร่วมกับครูประเทืองมาแต่ต้น  บอกถึงรายได้อีกด้านจากป่าดอนโจรว่า  บางปีสามารถเก็บค่าบำรุงจากการเข้าไปเก็บหาของป่าจากชาวบ้านได้ประมาณ 10,000 บาทก็จะนำมาเข้ากองทุนเพื่อดูแลป่า 

นอกจากนี้ชาวบ้านยังร่วมกันบริจาคเงินเพื่อสร้างศูนย์เรียนรู้การอนุรักษ์ป่าดอนโจรได้เงินอีกประมาณ  60,000 บาทเศษ  ถือเป็นความร่วมมือร่วมใจของคนลำไทรโยง  นอกเหนือจากการช่วยกันทำกิจกรรมต่างๆ  เช่น  ทำแนวเขตป่าชุมชน  ทำแนวกันไฟรอบป่า  ระยะทางประมาณ  10 กิโลเมตร

ส่วนครูประเทืองที่ครั้งหนึ่งถูกมองว่าเป็น ‘ครูผีบ้า’  บอกว่า... 

“ผมภูมิใจที่ได้ป่ากลับคืนมา  เพราะมีชาวบ้านและเด็กๆ มาช่วยกันดูแล  ช่วยกันเป็นหูเป็นตา  เพราะถ้าชาวบ้านได้ประโยชน์จากป่า  เขาก็จะช่วยกันดูแลรักษา  อีกอย่างป่าดอนโจรมีเนื้อที่กว่า 2,800 ไร่   ต้องช่วยกันดูแลทั้งตำบล  ใครคนเดียวก็ทำไม่ได้หรอก” 

ครูประเทือง (ที่ 3 จากซ้าย)  กำนันสมบูรณ์ (ที่ 5 จากซ้าย)

 

เรื่องและภาพ : สำนักพัฒนานวัตกรรมชุมชนจัดการความรู้และสื่อสาร สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน)

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

‘เนวิน’รวมใจชาวบุรีรัมย์ จัดมิวสิคัลเทิดพระเกียรติ

“เนวิน” รวมใจชาวบุรีรัมย์ จัดเทิดพระเกียรติ 72 พรรษา แสดง แสง สี เสียง มิวสิคัล “ลมหายใจของแผ่นดิน” โดยบุรีรัมย์ออร์เคสตรา แสดงความจงรักภักดี 28-30 ก.ค.2567 สนามช้างอารีนา บุรีรัมย์

“คลองเปรมประชากร…บ้านสวย น้ำใส” ด้วยน้ำพระทัยจากในหลวง ร.10

คลองเปรมประชากรเป็นหนึ่งในคลองสำคัญของกรุงเทพมหานครที่มีประวัติศาสตร์ยาวนานและมีบทบาทสำคัญในการพัฒนาชุมชนและเศรษฐกิจของเมือง

กรมอุตุฯ แจงแล้ว! เหตุบุรีรัมย์แผ่นดินไหว 5 ครั้ง

กองเฝ้าระวังแผ่นดินไหว กรมอุตุนิยมวิทยา กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ออกประกาศ เรื่อง ชี้แจงสถานการณ์เหตุการณ์แผ่นดินไหวที่ อ.ลำปลายมาศ จ.บุรีรัมย์ โดยมีใจความว่า

ปภ. ชี้เป็นกรณีศึกษา แผ่นดินไหวเขย่าบุรีรัมย์ 2 ครั้งในรอบ 3 วัน อยู่นอกเขตรอยเลื่อน

จังหวัดบุรีรัมย์เร่งประสานผู้เชี่ยวชาญ กรมอุตุฯ และกรมทรัพยากรธรณี ตรวจสอบพื้นที่การเกิดแผ่นดินไหวถึง 2 ครั้ง เป็นปรากฏการณ์ที่ยังไม่ทราบสาเหตุชัดเจน เพราะบุรีรัมย์อยู่นอกเขตรอยเลื่อนไม่น่าจะเกิดแผ่นดินไหวได้

ตร.ค้นบ้านมือยิง 4 ศพที่ศรีสะเกษ ผงะ!อาวุธปืน เครื่องกระสุนอื้อ

พ.ต.อ.วิษณุ อาภรณ์พงษ์ ผกก.สภ.ประโคนชัย พ.ต.ท.นิวัฒน์ อาทวัง รอง ผกก.สส.ฯ , พ.ต.ท.นพรัตน์ ลัคษร สว.สส.ฯ, ร.ต.อ.อลงกรณ์ ประจงเศรษฐ์ รอง สวป.ฯ, ร.ต.อ.วัฒนา ปัตตาเขสูง รอง สว.สส.ฯ,

อดีตผอ.ปืนโหดบุกยิง 4 ศพที่ศรีสะเกษ ก่อนปลิดชีพตนเองหนีความผิด!

มีรายงานว่าเมื่อประมาณ 21.30 น. ที่ผ่านมา ที่บ้านพัฒนา ต.หนองไผ่ อ.เมือง จ.ศรีสะเกษ เกิดเหตุคนร้ายบุกมายิงถล่มเสียชีวิต 4 ศพ ผู้เสียชีวิต คือ สามี- ภรรยา แม่ยาย และเพื่อนบ้าน