ชุมชนชายฝั่งทะเลอันดามันส่วนใหญ่เป็นชาวประมงพื้นบ้าน บ้านเรือนปลูกสร้างมานาน สภาพทรุดโทรม
เปิดแผนยุทธศาสตร์ 5 ปี ‘การแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยและพัฒนาคุณภาพชีวิตชุมชนผู้มีรายได้น้อยในพื้นที่ฝั่งทะเลอันดามัน’ 6 จังหวัด คือ ระนอง พังงา ภูเก็ต กระบี่ ตรัง และสตูล โดย พอช.ร่วมกับชุมชนท้องถิ่น ตั้งเป้าดำเนินการปีนี้ 2,000 ครอบครัว ขณะที่ ‘จุรินทร์’ รองนายกฯ เตรียมเสนอ ครม.อนุมัติโครงการเพื่อให้ประชาชนมีที่อยู่อาศัยที่มั่นคงและมีคุณภาพชีวิตที่ดี รวม 14,388 ครัวเรือน
ชายฝั่งทะเลอันดามันของประเทศไทย เริ่มจากปากน้ำกระบุรี (พรมแดนไทย-พม่า) จังหวัดระนอง ลงมายังพังงา ภูเก็ต กระบี่ ตรัง และสตูล (พรมแดนไทย-มาเลเซีย) มีความยาวทั้งหมดประมาณ 1,111 กิโลเมตร มีชุมชนต่างๆ ตั้งอยู่ชายฝั่งทะเล 6 จังหวัด ในพื้นที่ 29 อำเภอ 139 ตำบล รวม 14,388 ครัวเรือน
ชุมชนชายฝั่งเหล่านี้ส่วนใหญ่ประกอบอาชีพประมงพื้นบ้าน จับปลา ปู กุ้ง หอย หมึก เลี้ยงสัตว์ ทำสวนยางพารา สวนปาล์ม ฯลฯ มีปัญหาความไม่มั่นคงในที่อยู่อาศัยและการทำมาหากิน เนื่องจากส่วนใหญ่ปลูกสร้างบ้านเรือนอยู่ริมชายฝั่ง พื้นที่ป่าชายเลน ป่าโกงกาง หรืออยู่ในพื้นที่ที่หน่วยงานรัฐประกาศเป็นเขตห้ามล่าสัตว์ป่า เขตอนุรักษ์ ป่าสงวนแห่งชาติ อุทยานแห่งชาติ หรือพื้นที่ที่กรมเจ้าท่าดูแลอยู่ ฯลฯ
แม้ว่าชุมชนเหล่านี้จะอยู่อาศัยต่อเนื่องมายาวนาน บางพื้นที่อยู่อาศัยมาก่อนการประกาศพื้นที่ของทางราชการ แต่ส่วนใหญ่ไม่มีเอกสารสิทธิ์ครอบครองที่ดิน หลายพื้นที่หน่วยงานปกครองในท้องถิ่น เช่น อบต. ไม่สามารถเข้าไปสนับสนุนสาธารณูปโภคที่จำเป็น หรือส่งเสริมการพัฒนาคุณภาพชีวิตชาวชุมชนได้ เพราะถือว่าเป็นชุมชนบุกรุก หากเข้าไปสนับสนุนอาจจะมีความผิดตามกฎหมาย
6 หน่วยงาน MoU. ปลดล็อกพัฒนาชุมชนในเขตป่า-ชายฝั่งทะเล
อย่างไรก็ดี ปัญหาและอุปสรรคเหล่านี้เริ่มคลี่คลาย โดยเมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2564 มีการลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ MoU. (Memorandum of Understanding) เพื่อสนับสนุนการกระจายอำนาจด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ระหว่างผู้แทน 6 หน่วยงาน
คือ กรมอุทยานแห่งชาติ กรมป่าไม้ กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น สำนักงานคณะกรรมการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (ก.ก.ถ.) และสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) โดยมีนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน
บันทึกความร่วมมือครั้งนี้ มีทั้งหมด 3 ฉบับ คือ 1.ฉบับที่เกี่ยวข้องกับที่ดินในเขตอุทยาน เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า ฯลฯ ที่กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืชดูแล 2.ฉบับที่เกี่ยวข้องกับที่ดินในเขตป่าสงวนแห่งชาติที่กรมป่าไม้ดูแล และ 3.ฉบับที่เกี่ยวกับที่ดินป่าชายเลนที่กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งดูแล
โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อร่วมกันสนับสนุนการอนุรักษ์ ฟื้นฟูป่า ส่งเสริมอาชีพ พัฒนาที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัย พัฒนาคุณภาพชีวิตชาวชุมชนที่อาศัยอยู่ในเขตอุทยานฯ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า เขตป่าสงวนฯ และป่าชายเลน ระยะเวลาความร่วมมือ 5 ปี (พ.ศ.2564-2568)
ผลจากการลงนามในครั้งนี้จะทำให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ หรือ พอช. สามารถเข้าไปสนับสนุนการพัฒนาระบบสาธารณูปโภคพื้นฐานที่จำเป็น การพัฒนาอาชีพ รายได้ ที่อยู่อาศัย ที่ดินทำกิน การดูแลรักษาฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ฯลฯ ซึ่งจะทำให้ประชาชนและชุมชนที่อยู่อาศัยทำกินในพื้นที่ดังกล่าวมีชีวิตความเป็นอยู่ดีขึ้น
การลงนาม MoU. เมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2564
ใช้หลักการ ‘บ้านมั่นคง’ พัฒนาชุมชนชายฝั่งอันดามัน
ธนภณ เมืองเฉลิม ผู้อำนวยการภาค สำนักงานภาคใต้ สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ บอกว่า เมื่อมีการปลดล็อกให้ อปท. และหน่วยงานต่างๆ สามารถเข้าไปส่งเสริมการพัฒนาชุมชนในเขตป่าและชายฝั่งทะเลได้ สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ หรือ พอช. ได้จัดทำ ‘โครงการพัฒนาคุณภาพชีวิตสำหรับผู้มีรายได้น้อยในเมืองและชนบทกลุ่มจังหวัดอันดามัน’ ขึ้นมา
เพราะที่ผ่านมา แม้ว่าหน่วยงานรัฐที่ดูแลที่ดินในเขตป่าและชายฝั่งทะเล จะผ่อนปรนการอยู่อาศัยและทำกินของประชาชน เช่น อนุญาตให้อยู่อาศัยและทำกิน ควบคู่กับการดูแลอนุรักษ์ทรัพยากรชายฝั่ง ฟื้นฟูระบบนิเวศน์ ดิน น้ำ ป่า แต่พบว่ายังมีพื้นที่ที่มีปัญหาอีกจำนวนมาก
“พอช. จัดทำโครงการนี้ขึ้นมา เพื่อร่วมมือกับชุมชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ประชาสังคมภาคเอกชน ภาคีต่าง ๆ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อจะร่วมมือกันสร้างความมั่นคงด้านที่ดินที่อยู่อาศัย ส่งเสริมวิถีชุมชนเพื่อร่วมกันรักษาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม รวมทั้งพัฒนาระบบเศรษฐกิจ สังคม และชุมชนฐานรากอย่างยั่งยืน” ธนภณบอกถึงความเป็นมาของโครงการ
โครงการพัฒนาคุณภาพชีวิตฯ กลุ่มจังหวัดอันดามัน เริ่มดำเนินการตั้งแต่ช่วงปลายปี 2564 เป็นต้นมา โดยจะเริ่มจากชุมชนชาวประมงหรือชายฝั่งทะเลก่อน เพราะสภาพพื้นที่ 6 จังหวัดอันดามันมีชุมชนชายฝั่งหรือชุมชนในเขตป่าชายเลนจำนวนมาก ข้อมูลของกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งระบุว่า มีชุมชนเหล่านี้อยู่ในพื้นที่ 29 อำเภอ 139 ตำบล รวม 14,388 ครัวเรือน
ส่วนรูปแบบและวิธีการทำงานนั้น พอช.จะร่วมกับหน่วยงานในจังหวัด ท้องถิ่น ภาคีเครือข่าย สถาบันการศึกษา และชุมชน จัดตั้งคณะทำงานขึ้นมา เช่น มีคณะทำงานระดับจังหวัด คณะกรรมการเมือง เพื่อประสานงานด้านนโยบายและสนับสนุนการทำงาน มีคณะทำงานระดับพื้นที่ตำบล/เทศบาล โดยใช้องค์กรในชุมชนที่มีอยู่แล้วเป็นกลไกในการขับเคลื่อนงานในพื้นที่ เช่น สภาองค์กรชุมชนตำบล กองทุนสวัสดิการชุมชน ฯลฯ
“เราจะใช้กระบวนการขั้นตอนการทำงานตามแนวทางของโครงการ ‘บ้านมั่นคง’ ที่ พอช. ดำเนินงานทั่วประเทศมาเป็นแนวทางสำคัญ เพราะ ‘บ้านมั่นคง’ ไม่เพียงแต่จะแก้ไขปัญหาเรื่องที่ดินและที่อยู่อาศัยเท่านั้น แต่ยังรวมถึงการพัฒนาคุณภาพชีวิต การส่งเสริมอาชีพ รายได้ และการพัฒนาชุมชนในด้านต่างๆ ทุกมิติ ตามที่ชุมชนต้องการ โดยชุมชนเป็นแกนหลักในการแก้ไขปัญหา พอช.และหน่วยงานภายนอกเป็นฝ่ายสนับสนุน ซึ่งแนวทางการพัฒนาแบบนี้จะทำให้ชุมชนเกิดความเข้มแข็ง สามารถพึ่งพาตนเองได้” ธนภณบอก
บูรณาการทุกภาคส่วนร่วมพัฒนาชุมชน
จีรศักดิ์ พูลสง หัวหน้างานปฏิบัติการชุมชน พอช.ภาคใต้ บอกถึงความคืบหน้าว่า ‘โครงการพัฒนาคุณภาพชีวิตสำหรับผู้มีรายได้น้อยในเมืองและชนบทกลุ่มจังหวัดอันดามัน’ นั้น ขณะนี้มีการขับเคลื่อนโครงการแล้วในหลายจังหวัด โดยมีการจัดประชุมเพื่อสร้างความเข้าใจในระดับนโยบาย และนำไปสู่การจัดตั้งคณะกรรมการระดับจังหวัดขึ้นมา เพื่อเป็นกลไกในการขับเคลื่อนงานและบูรณาการทุกภาคส่วนให้มาทำงานร่วมกัน
เช่น ที่จังหวัดพังงา นายจำเริญ ทิพญพงศ์ธาดา ผู้ว่าราชการจังหวัดพังงา ได้แต่งตั้ง ‘คณะกรรมการขับเคลื่อนการพัฒนาคุณภาพชีวิตและที่อยู่อาศัยชุมชนชายฝั่งจังหวัดพังงา’ เมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา มีผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง สถาบันการศึกษา ภาคประชาสังคม และชุมชน จำนวน 25 คน ร่วมเป็นคณะกรรมการ โดยมี ผวจ.พังงาเป็นประธาน มีอำนาจหน้าที่ในการกำหนดทิศทาง จัดทำแผน และขับเคลื่อนงานให้บรรลุเป้าหมาย
ส่วนการทำงานในระดับพื้นที่จะมีการแต่งตั้งคณะกรรมการเมือง มีคณะทำงานระดับตำบลหรือเทศบาล มีกระบวนการทำงาน เช่น 1.ชี้แจงสร้างความเข้าใจชาวชุมชน เพื่อให้เกิดความเข้าใจตรงกัน 2.จัดตั้งกลุ่มออมทรัพย์เพื่อเป็นการรวมคน รวมเงิน สร้างฐานการเงินของชุมชน เรียนรู้ระบบการจัดการการเงินร่วมกัน 3.แบ่งหน้าที่ ความรับผิดชอบ 4.สำรวจข้อมูลชุมชน ความเดือดร้อน ความต้องการ จัดทำแผนที่ชุมชน 5.นำข้อมูลมาวางแผนการทำงาน-การแก้ไขปัญหา 6.เสนอโครงการและงบประมาณ 7.ปฏิบัติงานตามแผน ฯลฯ
การจัดประชุมผู้นำและชาวชุมชนเพื่อสร้างความเข้าในใจการพัฒนาชุมชนร่วมกัน
นอกจากนี้ยังมีนักวิชาการ อาจารย์จากสถาบันต่างๆ ร่วมสนับสนุนการทำงานในพื้นที่ เช่น คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย จ.ตรัง คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา จ.ชลบุรี ลงพื้นที่สำรวจชุมชน ร่วมแลกเปลี่ยนแนวทางการพัฒนาชุมชน การบำบัดน้ำเสียก่อนลงสู่ทะเล งานฐานราก แลกเปลี่ยนความรู้เรื่องวัสดุและภูมิปัญญาท้องถิ่นเพื่อปรับปรุงหรือก่อสร้างที่อยู่อาศัย รวมทั้งจะช่วยฝึกอบรมช่างชุมชนให้มีความรู้เรื่องการถอดแบบรายการก่อสร้าง ประเมินราคาวัสดุ การตรวจสอบงวดงาน ฯลฯ
“การซ่อมแซมบ้านเรือนและก่อสร้างสาธารณูปโภคในชุมชนต่างๆ นั้น พอช.จะสนับสนุนให้ชุมชนเข้ามามีส่วนร่วม เช่น ใช้ช่างก่อสร้าง แรงงานในชุมชน หรือแรงงานจิตอาสา หรือร่วมกับสถาบันฝีมือแรงงานในท้องถิ่นจัดอบรม เพื่อพัฒนาให้ช่างชุมชนยกระดับเป็นช่างฝีมือเพื่อใช้ประกอบอาชีพต่อไปได้” จีรศักดิ์บอก
รูปธรรมที่ตรังและพังงา
นายภาคภูมิ สมันหลี รองประธานคณะทำงานที่อยู่อาศัยบ้านดุหุน ตำบลบ่อหิน อ.สิเกา จ.ตรัง บอกว่า ตำบลบ่อหินมีการจัดตั้งสภาองค์กรชุมชนตำบลตั้งแต่ปี 2552 จึงใช้สภาฯ ขับเคลื่อนโครงการนี้ เริ่มตั้งแต่เดือนมกราคมที่ผ่านมา เช่น ร่วมกับเจ้าหน้าที่ พอช.จัดประชุมชี้แจงสร้างความเข้าใจโครงการกับผู้นำชุมชนและชาวบ้าน จัดตั้งคณะทำงานในแต่ละหมู่บ้านขึ้นมา ตั้งกลุ่มออมทรัพย์ ร่วมกันสำรวจข้อมูลชุมชน ครัวเรือนที่มีความเดือดร้อนเรื่องบ้าน เรื่องที่ดิน และปัญหาต่างๆ ในหมู่บ้าน-ตำบล จัดทำแผนที่ทำมือ ฯลฯ เพื่อนำมาวางแผนงานแก้ไขปัญหาทั้งตำบล เป็นแผนระยะ 3 ปี
ชาวบ้านที่อำเภอสิเกา จ.ตรัง สำรวจข้อมูลชุมชนเพื่อนำมาทำแผนที่ทำมือและเสนอแนวทางการแก้ไขปัญหา
จากการสำรวจข้อมูลปัญหาและแนวทางแก้ไข พบว่า ชาวบ้านมีปัญหาต่างๆ เช่น มีรายได้น้อย มีหนี้สินอาชีพไม่มั่นคง ไม่มีทุนประกอบอาชีพ ไม่ที่ดินปลูกบ้าน อยู่ในที่ดินที่ไม่มีเอกสารสิทธิ์ บ้านเรือนทรุดโทรมคับแคบ ไม่มีบ้านเป็นของตนเอง น้ำประปาไม่พอใช้ ปัญหาขยะ ถนนเป็นดินลูกรัง ฝนตกจะเฉอะแฉะ น้ำท่วมขัง ฯลฯ โดยชาวบ้านต้องการจะแก้ไขปัญหาต่างๆ เหล่านี้
ขณะเดียวกัน ชาวบ้านได้ร่วมกันจัดตั้งกลุ่มออมทรัพย์เพื่อเป็นทุนในการพัฒนาชุมชน มีสมาชิกแรกเข้า 102 ครัวเรือน (บ้านดุหุนมีทั้งหมดประมาณ 250 ครัวเรือน) ร่วมกันออมเงินเข้ากลุ่มตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ครัวเรือนละ 120 บาท แบ่งเป็นออมเพื่อที่อยู่อาศัย 50 บาท เพื่อจัดสวัสดิการช่วยเหลือกัน 30 บาท ออมเพื่อสะสม 20 บาท ฯลฯ และบางกลุ่มยังออมเพื่อเป็นทุนในการประกอบอาชีพด้วย
อารีดีน อินตัน นายกเทศมนตรีเทศบาลตำบลกำพวน อ.สุขสำราญ จ.ระนอง บอกว่า ชุมชนในเขตเทศบาลมีทั้งหมด 7 หมู่บ้าน จำนวน 1,630 ครัวเรือน ในจำนวนนี้มี 463 ครัวเรือนที่ปลูกสร้างบ้านเรือนอยู่ในที่ดินป่าชายเลนและพื้นที่ชายฝั่งที่กรมเจ้าท่าดูแล ส่วนใหญ่ประกอบอาชีพประมงพื้นบ้าน สภาพบ้านเรือนทรุดโทรมเพราะปลูกสร้างมานาน แต่ที่ผ่านมาทางเทศบาลไม่สามารถเข้าไปพัฒนาชุมชนได้อย่างเต็มที่ เนื่องจากติดขัดข้อกฎหมายและงบประมาณมีจำกัด
“เมื่อทางรัฐบาลมีนโยบายให้ อปท.สามารถเข้าไปพัฒนาชุมชนได้ เทศบาลจึงร่วมกับ พอช. เพื่อจะพัฒนาชุมชนด้านต่างๆ เช่น ปรับปรุงซ่อมแซมบ้านเรือนที่ผุพังทรุดโทรม สร้างสะพาน ทางเดินเท้าในชุมชน ปรับปรุงท่าเรือประมง สร้างลานแกะปู คัดปลา การจัดการขยะ บำบัดน้ำเสียในครัวเรือนและชุมชน รวมทั้งทำเรื่องท่องเที่ยวชุมชนด้วย เพราะในตำบลมีแหล่งท่องเที่ยว มีหาดทรายที่สวยงามหลายแห่ง ถ้าปรับปรุงท่าเรือแล้ว นักท่องเที่ยวก็มาลงเรือที่นี่ได้ ชาวบ้านจะได้มีรายได้จากการท่องเที่ยวด้วย” นายกเทศมนตรีฯ บอกถึงแผนงานพัฒนาชุมชน
ส่วนปัญหาเรื่องที่ดินที่อยู่อาศัยนั้น ทางเทศบาลจะทำหนังสือถึง ผวจ.ระนอง และอุทยานแห่งชาติแหลมสนเพื่ออนุญาตให้ชาวบ้านใช้ที่ดินอุทยานฯ เป็นที่อยู่อาศัยอย่างถูกต้องตามแนวทางของ คทช. (คณะอนุกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ) ที่ให้ อปท.ทำเรื่องขอใช้ที่ดินเพื่อการอยู่อาศัยของชุมชนเสนอต่อจังหวัดและหน่วยงานเจ้าของที่ดินได้ ซึ่งจะทำให้ชาวบ้านมีความมั่นคงในเรื่องที่ดินที่อยู่อาศัยต่อไป
สภาพชุมชนชายฝั่งทะเล
รองนายกฯ จุรินทร์ หนุนแผนพัฒนาชุมชนอันดามัน
ส่วนงบประมาณสนับสนุนชุมชนนั้น พอช.จะสนับสนุนการซ่อมแซมบ้านเรือนที่มีสภาพทรุดโทรม บ้านเรือนที่มีความคับแคบ หรือเป็นครอบครัวขยาย ตามโครงการบ้านมั่นคงเมือง (ชุมชนที่ตั้งอยู่ในเขตเมือง) ไม่เกินครัวเรือนละ 30,000 บาท และสนับสนุนด้านสาธารณูปโภคส่วนกลาง เช่น ถนน ทางเดิน การจัดการขยะ น้ำเสีย ฯลฯ ไม่เกินครัวเรือนละ 30,000 บาท เช่น ชุมชนบ้านท่ากลาง เทศบาลตำบลกำพวน อ.สุขสำราญ จ.ระนอง เสนอแผนงานระยะเวลา 3 ปี งบประมาณรวม 11.5 ล้านบาท
ส่วนชุมชนที่ตั้งอยู่ในเขตชนบท พอช. สนับสนุนการซ่อมบ้านไม่เกินครัวเรือนละ 40,000 บาท และสาธารณูปโภคไม่เกินครัวเรือนละ 12,000 บาท
โดยในปี 2565 มีเป้าหมายจะดำเนินครัวเรือนทั้งหมดที่อยู่ในแผนพัฒนาประมาณ 2,080 ครัวเรือน ส่วนเป้าหมายที่เหลือจะดำเนินการในปีต่อไป ตามแผนระยะ 5 ปี (2565-2569) ในพื้นที่ชุมชนเขตป่าชายเลนฝั่งทะเลอันดามัน 29 อำเภอ 139 ตำบล 6 จังหวัด คือ ระนอง พังงา ภูเก็ต กระบี่ ตรัง และสตูล รวม 14,388 ครัวเรือน โดย พอช. และกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ จะนำเสนอแผนงานเข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการนโยบายที่อยู่อาศัยแห่งชาติที่มีนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ในเร็วๆ นี้
ขณะที่ นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการนโยบายที่อยู่อาศัยแห่งชาติ ได้กล่าวเมื่อไม่นานนี้ว่า
“ผมมีแผนที่จะเสนอผลการดำเนินงานและแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาคุณภาพชีวิตและที่อยู่อาศัยของประชาชนในพื้นที่กลุ่มจังหวัดอันดามันระยะ 5 ปี ต่อที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายที่อยู่อาศัยแห่งชาติและคณะรัฐมนตรี เพื่อให้เกิดการสนับสนุนแผนงานและงบประมาณ โดยมีความมุ่งมั่นที่จะขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ตามแผน เพื่อให้พี่น้องประชาชนมีที่อยู่อาศัยที่มั่นคง และมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น !!
รองนายกฯ จุรินทร์ มอบงบประมาณซ่อมสร้างบ้านให้ชุมชนชาวเล จ.ภูเก็ตเมื่อเร็วๆ นี้
เรื่องและภาพ : สำนักพัฒนานวัตกรรมชุมชนจัดการความรู้และสื่อสาร สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน)
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ประกาศผล 8 กองทุน เข้ารับรางวัลองค์กรสวัสดิการชุมชนดีเด่น ศาสตราจารย์ ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ประจำปี พ.ศ. 2567
สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน(องค์การมหารชน) หรือ พอช. ร่วมกับ คณะทำงานพิจารณารางวัลองค์กรสวัสดิการชุมชนประจำปี 2567 จัดเวทีพิจารณา รางวัลองค์กรสวัสดิการชุมชน
ชุมชนทั่วประเทศ ระดมข้อเสนอแนวทางแก้ไขปัญหาให้รัฐ ในการประชุม ‘ระดับชาติสภาองค์กรชุมชนตำบล’ ครั้งที่ 16 ปี 2567 เชื่อมั่น “พลังชุมชน พลังประชาชน สามารถเปลี่ยนแปลงประเทศได้”
การประชุมในระดับชาติของสภาองค์กรชุมชนตำบลครั้งที่ 16’ ปี 2567 ผู้แทนสภาองค์กรชุมชน ทั่วประเทศ ระดมข้อเสนอเชิงนโยบายให้รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแก้ไขปัญหาอย่างเป็นระบบ
“16 ปี สภาองค์กรชุมชนตำบล” “พัฒนาประชาธิปไตยฐานราก สร้างพลังชุมชนท้องถิ่นจัดการตนเอง”
‘สภาองค์กรชุมชนตำบล’ จัดตั้งขึ้นมาตาม ‘พ.ร.บ.สภาองค์กรชุมชน พ.ศ.2551’ ปัจจุบันเป็นระยะเวลา 16 ปี มีการจัดตั้งสภาองค์กรชุมชนในระดับตำบล เทศบาล และเขต
‘NCDs’ ไม่ใช่ปัญหาระดับบุคคล แต่เกี่ยวโยง ‘สภาพแวดล้อมทุกมิติ’ ปรับ Ecosystem สร้างสุขภาพดีคือทางออก
การขับเคลื่อนเพื่อลดโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) ของประเทศไทยก่อนหน้านี้ โดยมีกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เป็นแม่งานหลัก ดูเหมือนว่
โค้งสุดท้าย 26 กองทุนฯทั่วไทย ลุ้นรางวัลกองทุนสวัสดิการชุมชนดีเด่น ‘ป๋วย อึ๊งภากรณ์’
กรุงทพฯ/(16 ธ.ค. 67) สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน(องค์การมหารชน) หรือ พอช. ร่วมกับ ภาคีเครือข่าย คณะทำงานพิจารณารางวัลองค์กรสวัสดิการชุมชนประจำปี 2567
พอช. หนุน “ศูนย์กระจายสินค้าชุมชน” โมเดลสร้างความเข้มแข็งเศรษฐกิจชุมชนฐานราก ที่กาญจนบุรี
สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) หรือ พอช. ร่วมกับ เครือข่ายองค์กรชุมชนจังหวัดกาญจนบุรี จัดพิธีเปิดศูนย์กระจายสินค้าชุมชนตำบลหนองตากยา