เกษตร แนะชาวสวนมะม่วง ผลิตสินค้าคุณภาพ สอดคล้องกับความต้องการของตลาด พร้อมเชิญชวนผู้บริโภคภายในประเทศ ร่วมกันสนับสนุนพี่น้องเกษตรกรไทย

นายเข้มแข็ง ยุติธรรมดำรง อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า มะม่วงเป็นผลไม้ที่มีผู้นิยมบริโภคทั้งในและต่างประเทศทั้งในลักษณะผลดิบ ผลสุก และผลิตภัณฑ์แปรรูป ประกอบกับสภาพภูมิอากาศของไทยนั้นเหมาะสมเอื้อสำหรับการเพาะปลูกมะม่วงได้แทบทุกภูมิภาคของประเทศ ทำให้มะม่วงเป็นหนึ่งในผลไม้เศรษฐกิจที่ถูกกำหนดไว้ในแนวทางการพัฒนาผลไม้ไทย ปี 2565 – 2570 ตามนโยบายของรัฐบาล โดยมีคณะกรรมการพัฒนาและบริหารจัดการผลไม้ ภายใต้ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีเป็นผู้กำกับดูแล ซึ่งมะม่วงเป็นพืชที่มีจำนวนเกษตรกรผู้ปลูกมากที่สุดโดยปัจจุบันมีครัวเรือนเกษตรกรที่ปลูกมะม่วง 200,830 ครัวเรือน พื้นที่ปลูก 913,788.60 ไร่ เนื้อที่เก็บเกี่ยว 433,474.66 ไร่ ผลผลิตรวมประมาณ 1 ล้านตัน เฉลี่ย 2,082 กิโลกรัมต่อไร่ โดยในช่วงเวลา 5 ปีที่ผ่านมา การผลิตมะม่วงมีอัตราการขยายตัวของพื้นที่และผลผลิตมะม่วงเพิ่มขึ้น

กรมส่งเสริมการเกษตรจึงได้มอบหมายให้สำนักงานเกษตรจังหวัดจัดกิจกรรมเชิญชวนบริโภคมะม่วงภายในประเทศอย่างต่อเนื่อง เพื่อส่งเสริมการบริโภคภายในพื้นที่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงที่ให้ผลผลิตออกสู่ตลาดจำนวนมาก ซึ่งอยู่ในช่วงประมาณเดือนมีนาคมคม-มิถุนายนของทุกปี ซึ่งที่ผ่านมาหลายพื้นที่ประชาชนให้การตอบรับและอุดหนุนเกษตรกรชาวสวนมะม่วงด้วยดีเสมอมา เช่นที่จังหวัดลำพูน ได้จัดแคมเปญ “ลำพูนมหานครแห่งมะม่วง” ขึ้น เพื่อประชาสัมพันธ์และรณรงค์ให้ผู้บริโภคสนับสนุนผลผลิตจากพี่น้องเกษตรกร แนะนำมะม่วงที่มีอยู่หลากหลายสายพันธุ์ให้เป็นที่รู้จักและยอมรับของผู้บริโภค อาทิ มะม่วงเขียวมรกต ซึ่งมีถิ่นกำเนิดอยู่ที่ อำเภอบ้านโฮ่ง จังหวัดลำพูน เกิดจากการกลายพันธุ์โดยธรรมชาติจากการผสมพันธุ์ระหว่างพันธุ์มะม่วงแก้วกับมะม่วงพันธุ์สามปี ผลดิบจะมีสีเขียวมรกต รสชาติมันกรอบ ผลแก่มีสีเขียวเข้ม ผลสุกผิวสีเหลือง เมล็ดลีบ รสหวานหอม มะม่วงมหาชนก เกิดจากการผสมข้ามสายพันธุ์ระหว่างมะม่วงพันธุ์หนังกลางวันและพันธุ์ซันเซท มีลักษณะเด่น คือ ผลยาวขนาดใหญ่ สีแดงแก้มแหม่ม เปลือกหนาเมล็ดแบนลีบ เนื้อมาก รสชาติอร่อย ผลดิบเปรี้ยว ผลสุกกลิ่นหอมรสหวานอมเปรี้ยว มีเส้นใยและเป็นมะม่วงที่มีคุณค่าทางโภชนาการ สามารถนำมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ได้หลายรูปแบบ มะม่วงแดงจักรพรรดิ์ หรือมะม่วงพันธุ์ยู่เหวิน มีถิ่นกำเนิดที่ไต้หวัน รสชาติขณะยังดิบหรือห่ามจะหวานมันปนเปรี้ยวนิด ๆ อร่อยเหมือนกินมะม่วงมันทั่วไป เมื่อผลสุกเนื้อในผลจะเป็นสีเหลืองเข้ม เนื้อไม่เละ ไม่มีเสี้ยน รสชาติหวานหอมชื่นใจมาก มะม่วงอาร์ทูอีทู มีถิ่นกำเนิดอยู่ที่ประเทศออสเตรเลีย ผลมีลักษณะกลม เนื้อแข็ง ผลค่อนข้างใหญ่ น้ำหนักประมาณ 800 กรัม ต่อผล ปริมาณเนื้อผลประมาณ 81.61% เมื่อสุกผิวผลจะมีสีเหลืองอมแดง เนื้อสีเหลืองมะนาว ไม่มีเสี้ยน รสหวานเพียง 18 องศาบริกซ์ เหมาะสำหรับผู้บริโภคที่ต้องการมะม่วงที่ไม่มีรสหวานจัด มะม่วงงาช้างแดง มีถิ่นกำเนิดจากประเทศไต้หวันแล้วกระจายพันธุ์ปลูกในเขตร้อนไปทั่วโลก รวมทั้งประเทศไทย ผลมีขนาดใหญ่ โตเต็มที่มีน้ำหนัก 3.5-4.2 กิโลกรัมต่อผล รูปทรงของผลสวย ปลายผลงอนเหมือนกับงาช้าง ผลอ่อน รสชาติเปรี้ยวกรอบฉ่ำน้ำ ผลแก่จัดยังไม่ถึงสุกมีรส หวานปนมันเหมือนกับเนื้อของมะม่วงเขียวเสวยของไทยทุกอย่าง ผลสุกเนื้อในเป็นสีเหลืองอมส้ม รสชาติหวานหอมเนื้อไม่เละแม้สุกงอม ไม่มีเสี้ยน วัดความหวานของผลสุกได้ประมาณ 15-18 องศาบริกซ์

อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวอีกว่า อย่างไรก็ตามเกษตรกรที่ยังประสบปัญหาการบริหารจัดการผลผลิต เกิดจากผลผลิตยังไม่ได้คุณภาพและมาตรฐานตามที่ตลาดต่างประเทศต้องการ ทำให้การส่งออกไปจำหน่ายยังต่างประเทศค่อนข้างน้อยเมื่อเทียบกับปริมาณผลผลิตทั้งหมดจึงต้องพึ่งพาตลาดภายในประเทศเป็นหลัก นอกจากนี้มะม่วงเป็นผลไม้ที่มีช่วงระยะเวลาการเก็บเกี่ยวสั้น ทำให้ต้องประสบปัญหาด้านราคาในช่วงที่ผลผลิตมะม่วงในฤดูออกสู่ตลาดพร้อม ๆ กันเป็นจำนวนมาก รวมทั้งจำนวนโรงงานแปรรูปผลผลิตที่ตั้งอยู่ใกล้เคียงกับแหล่งผลิตมะม่วงยังมีไม่เพียงพอที่จะรองรับผลผลิตที่เหลือเกินความต้องการของตลาดการบริโภคสดเพื่อนำไปแปรรูป

“กรมส่งเสริมการเกษตรได้ดำเนินการส่งเสริมการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต พัฒนาคุณภาพ พัฒนาการแปรรูปและการตลาด เน้นการรวมกลุ่มเกษตรกรรายย่อยในพื้นที่ วางระบบการผลิตและการบริหารจัดการในแนวทางเดียวกัน เพื่อประหยัดต้นทุนและเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต ผลิตให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาด สร้างสมดุล ระหว่างอุปสงค์และอุปทาน สร้างเสถียรภาพของราคาสินค้าเกษตร จนถึงการเชื่อมโยงตลาด กับภาคเอกชนแบบประชารัฐ โดยดำเนินการภายใต้โครงการระบบส่งเสริมเกษตรแบบแปลงใหญ่ และเกษตรกรชาวสวนมะม่วงซึ่งรวมตัวกันเป็นกลุ่มเกษตรกรผู้ผลิตมะม่วงทั่วประเทศไทย กว่า 70 กลุ่ม มีสมาชิกมากกว่า 400 ราย เกิดเป็นองค์กรระดับประเทศที่มีความเข้มแข็งทั้งด้านการควบคุมคุณภาพมะม่วงให้เป็นไปตามเกณฑ์มาตรฐานการส่งออกและมีอำนาจการต่อรองกับตลาดในชื่อของสมาคมชาวสวนมะม่วงไทย” อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าว

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'ดีป้า' เปิดตัวโครงการ 1 ตำบล 1 ดิจิทัล ยกระดับเกษตรกรชาวสวนทุเรียน

ดีป้า ส่งเสริมเกษตรกรไทยประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพผลผลิต เดินหน้าเปิดตัวโครงการ 1 ตำบล 1 ดิจิทัล (OTOD ทุเรียนดิจิทัล) ขับเคลื่อนการใช้แพลตฟอร์มดิจิทัลผ่านแอปพลิเคชันภาคการเกษตรสำหรับบันทึก จัดเก็บข้อมูล ติดตามย้อนกลับการเพาะปลูก สร้างความเชื่อมั่นผู้บริโภค ทั้งตลาดในประเทศและต่างประเทศ ยกระดับสินค้าเกษตรมูลค่าสูงสู่ตลาดโลก พร้อมพัฒนาทักษะและศักยภาพเกษตรกรไทยสู่เกษตรอัจฉริยะอย่างยั่งยืน

แปลงใหญ่กล้วยน้ำว้า เพชรบุรี วางแผนกู้วิกฤต

นายวีรศักดิ์ บุญเชิญ รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า ผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ตลอดจนอุณหภูมิที่เพิ่มสูงขึ้น ส่งผลต่อผลผลิตทางการเกษตร เช่นเดียวกับเกษตรกรแปลงใหญ่กล้วย หมู่ 2,3,6

กรมส่งเสริมการเกษตร ยกชุมพร “เมืองมะพร้าวคุณภาพ” สร้างมาตรฐานเกิดทั้งจังหวัด

มะพร้าว ยังคงเป็นหนึ่งในพืชเศรษฐกิจสำคัญของประเทศ มีพื้นที่ปลูกโดยรวมทั้งประเทศ 862,718 ไร่ โดยให้ผลผลิตแล้วเนื้อที่ 834,000 ไร่ ผลผลิตออกสู่ตลาด 842,306 ตัน ผลผลิตเฉลี่ย 1,010 กิโลกรัมต่อไร่ สร้างมูลค่ากว่า 6,887 ล้านบาท

กรมส่งเสริมการเกษตร ดัน 'กาแฟบ้านมณีพฤกษ์' สู่แปลงใหญ่ เพิ่มรายได้เกษตรกร

กรมส่งเสริมการเกษตร เข้าพัฒนาศักยภาพวิสาหกิจชุมชนกาแฟบ้านมณีพฤกษ์ สู่แปลงใหญ่กาแฟบ้านมณีพฤกษ์ และมุ่งเป้าพัฒนาสู่เกษตรมูลค่าสูง ภายใต้แนวคิด ตลาดนำ นวัตกรรมเสริม

แปลงใหญ่ผักบ้านบางท่าข้าม สุราษฎร์ธานี ผลิตพืชผักคุณภาพ ปลอดภัย ได้มาตรฐาน สร้างรายได้สู่ชุมชนกว่า 4 ล้านบาทต่อปี

นายวีรศักดิ์ บุญเชิญ รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า ในปี พ.ศ. 2558 กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้มอบนโยบายสำคัญในการจัดตั้งศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร (ศพก.) เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้ของชุมชน กรมส่งเสริมการเกษตร

'สมชัย' ฟันเปรี้ยง! แหล่งที่มาของเงินดิจิทัลวอลเล็ต จาก ธกส. แค่ตัวเลข ก็คว่ำแล้ว

นายสมชัย ศรีสุทธิยากร อดีตคณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.)และอดีตรองประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2566 โพสต์เฟซบุ๊ก ว่า