โชว์พลังศาสตร์และศิลป์ สร้างสรรค์พื้นที่สุขภาวะ

ผลสำรวจจากสำนักงานสถิติแห่งชาติ ปี 2554 ระบุว่า พบกลุ่มเยาวชนอายุ 15-24 ปี มีพฤติกรรมการสูบบุหรี่อยู่ที่ร้อยละ 12.7 พบนักสูบหน้าใหม่ที่สูบบุหรี่เกิน 1 ปีถึง 211,474 คน ในจำนวนนี้ร้อยละ 73.7 เริ่มสูบบุหรี่ในช่วงอายุ 15-19 ปี และยังพบว่ามีนักดื่มหน้าใหม่ 1,381,449 คน อายุเฉลี่ยต่ำสุดที่เริ่มดื่มคือ 8 ปี ปัญหาการพนันในวัยเรียนเป็นอีกปัญหาที่สำคัญ โดยพบว่า เยาวชนอายุระหว่าง 15-25 ปี เล่นพนันถึง 4.3 ล้านคน และมีพฤติกรรมที่เข้าข่ายว่าเป็นปัญหาอยู่ 6 แสนคน ทั้งนี้ นักพนันหน้าใหม่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจาก 6.28 แสนคน ในปี 2560 เป็น 7.95 แสนคน ในปี 2564

นับเป็นภาพสะท้อนที่ฟ้องบอกว่า เด็กและเยาวชนไทยจำนวนไม่น้อยที่ติดในวังวนปัญหาจากปัจจัยเสี่ยง ซึ่งเป็นสัญญาณเตือนว่า เด็กและเยาวชนอยู่ในภาวะภูมิคุ้มกันต่อปัจจัยเสี่ยงบกพร่อง จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องหาวิธีการและสร้างกลไกอย่างเป็นระบบ เพื่อสร้างภูมิคุ้มกัน สร้างความเข้าใจที่ถูกต้อง รู้เท่าทัน และไม่ถลำตัวเข้าสู่พฤติกรรมเสี่ยง ทั้งจากปัจจัยเสี่ยงหลักและปัจจัยเสี่ยงทางสังคม  การเปิดพื้นที่ให้เยาวชนได้มีโอกาสทำกิจกรรมและใช้เวลาให้เกิดประโยชน์ จึงเป็นหนทางหนึ่งที่หลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงเหล่านี้ได้

ด้วยเล็งเห็นปัญหานี้ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จึงได้จัดกิจกรรม "เวทีสาธารณะ พื้นที่สร้างสรรค์ทางสังคม ร่วมกัน...เราทำได้ Together Make it Happen" ภายใต้โครงการศิลปินแห่งชาติ ปราชญ์ ปัญญาชน สร้างพื้นที่สร้างสรรค์สำหรับเยาวชนเพื่อลดปัจจัยเสี่ยง ที่อาคารศูนย์เรียนรู้สุขภาวะ จัดโดย Imagine Thailand Movement ร่วมกับ สสส. เมื่อวันที่ 27 พฤษภาคมที่ผ่านมา โดยชวนศิลปินแห่งชาติ ปราชญ์ ปัญญาชน และเยาวชน ร่วมจุดประกายให้ตระหนักถึงบทบาท ความสำคัญ และเห็นโอกาสที่จะลุกขึ้นมาร่วมสร้างการเปลี่ยนแปลงเชิงบวก เพื่อลดปัจจัยเสี่ยงและสร้างภูมิคุ้มกันให้เยาวชนไทย

นายศรีสุวรรณ ควรขจร รองประธานกรรมการบริหารแผนคณะที่ 1 สสส. ในฐานะประธานการจัดกิจกรรมในครั้งนี้ กล่าวว่า เยาวชนไทยต้องเผชิญปัญหาในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อในการค้นพบตัวเองว่าจะเดินเส้นทางไหนในชีวิต ศิลปินมีความประณีต ถ่ายทอดสิ่งที่เป็นตัวตนในสังคม ปวารณาตัวเป็นสะพานบุญ เพื่อให้งานประสบความสำเร็จขยายออกไปเท่าทันกับสถานการณ์การเปลี่ยนแปลง

"การมีพื้นที่สร้างสรรค์ทางสังคม พื้นที่สุขภาวะ นับเป็นเรื่องที่ สสส.ให้ความสำคัญ เนื่องจากในปัจจุบันเยาวชนถูกรายล้อมไปด้วยปัจจัยเสี่ยงรอบด้าน สสส.จึงสนับสนุนการสร้างพื้นที่สร้างสรรค์สำหรับเยาวชนเพื่อลดปัจจัยเสี่ยง ที่เน้นการปลุกพลังศิลปินแห่งชาติ ศิลปินพื้นบ้าน ปราชญ์ ให้พร้อมใจกันลุกขึ้นมามีบทบาทร่วม และหาแนวทางสร้างเกราะป้องกันเยาวชน โดยประยุกต์ใช้ศิลปศาสตร์ท้องถิ่นร่วมกับทุนของสังคมในพื้นที่ให้กลายเป็นพื้นที่สร้างสรรค์” นายศรีสุวรรณกล่าว 

ดร.อุดม หงส์ชาติกุล ผู้ก่อตั้ง Imagine Thailand Movement ตั้งคำถามเป็นข้อคิดว่าทำไมต้องมีพื้นที่สร้างสรรค์ทางสังคม ด้วยจุดมุ่งหมายคือการสร้างสรรค์สิ่งดีๆ ใหม่ๆ ร่วมกัน Imagine Thailand Movement ชวนคนไทย ผู้นำทุกคนในสังคมลุกมาสร้างการเปลี่ยนแปลงสังคมในแบบที่อยากเห็น ทุกวันนี้สังคมเรามีปัญหาความท้าทายมากมาย สภาพแวดล้อม สภาพเศรษฐกิจทำให้เกิดความเครียด ความเห็นต่าง ความไม่ลงรอยกัน เกิดความขัดแย้ง  การแข่งขันทางธุรกิจ รวมถึงประเด็นด้านอื่นๆ

การสร้างความร่วมมือ คือการสร้างพื้นที่ที่คนอยู่ในสังคมหรือในกลุ่มนั้นๆ สามารถเข้ามาพูดคุย แลกเปลี่ยนกัน โดยพื้นที่นั้นเปิดกว้างเพียงพอ เปิดที่จะรับรู้ในสิ่งที่เราไม่รู้ เปิดที่จะรับรู้ในประเด็นบางอย่างที่บางทีเราไม่อยากจะรู้ จากความร่วมมือของศิลปินแห่งชาติ ปราชญ์ ปัญญาชน ที่เห็นความสำคัญของปัญหาและอยากมีส่วนร่วมสร้างการเปลี่ยนแปลง ทำให้เกิดพื้นที่สร้างสรรค์ทางสังคมขึ้นมาอย่างหลากหลาย ตามบริบท ความถนัด และความเชี่ยวชาญและต้นทุนทางสังคม รวมถึงความพร้อมและเครือข่าย โดยริเริ่มสร้างทำพื้นที่สร้างสรรค์ในทันที เช่น คุณพ่อเสริม คำแปง ปราชญ์เกษตรอินทรีย์ ตำบลเจดีย์ชัย อ.ปัว จ.น่าน ได้ชวนให้ลูกสาวเปิดบ้านเป็นศูนย์เรียนรู้เชื่อมวัย ชวนคนในชุมชนและคนรุ่นใหม่ รวมถึงนักเรียน มาเรียนรู้เทคนิคการเกษตรอินทรีย์ด้วยวิถีทางธรรมชาติ รวมถึงให้หลักคิดในการขยันอย่างฉลาดปราศจากความจน สามารถนำไปใช้ในชีวิตประจำวันได้

ร่วมกัน...เราทำได้ Together Make it Happen จึงนับเป็นทางเลือกทางออกทุกหน่วยในสังคมไทยพึงเข้าถึง เข้าใจ เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันให้กับเยาวชนไทยอย่างยั่งยืนสืบเนื่องตลอดไป.

................................

กีฬาคือลมหายใจแก้ไขด้วยศิลปศาสตร์

"คุณครูเล็ก" ภัทราวดี มีชูธน ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง ผู้ก่อตั้งโรงเรียนภัทราวดีหัวหิน เป็นผู้จุดประกายให้เกิดโครงการศิลปศาสตร์สังคมอายุยืนมาพัฒนาเป็นพื้นที่สร้างสรรค์ กล่าวว่า สสส.มีพื้นที่สร้างสรรค์เยอะมาก แต่ละพื้นที่สร้างเด็กช่างคิด การเรียนมวย 100 คน จะได้แชมป์มวย 1 คน “ดิฉันเรียนลำตัดกับครูหวังเต๊ะ แล้วนำไปประยุกต์ เรียนวรรณคดีเพื่อสอนเด็กแต่งกลอน เมื่อเรียนกลองรำมะนาก็นำมาสอนเด็กเคาะโต๊ะเรียนเป็นจังหวะ ห้องสมุดมีพื้นที่สร้างสรรค์ ทำอย่างไรคนไม่ชอบเข้าห้องสมุด ก็ต้องมีกิจกรรมให้เข้าห้องสมุด”

ครูเล็กเล่าว่า “ดิฉันเข้าเรียนวิชา Art Theraphy เพื่อแก้ไขปัญหาเด็กตีกัน กระทรวงศึกษาธิการให้ทำทัณฑ์บนถึงขั้นไล่ออก ดิฉันเป็นทุกข์ไม่อยากไล่เด็กออก ไปเรียน Art Theraphy เจอเด็กโหดๆ ให้เขาเล่นสเกต เขาไม่ใช่นักกีฬาก็ล้มลุกคลุกคลาน เราก็สร้างลานสเกตเพราะอยากให้เขาเก่ง เข้าไปในคุกเราก็ให้วิชาเขาเพื่อเขาจะได้มีงานทำ นำสเกตมาเล่นเป็นละครทำให้เด็กเหล่านี้มีงานทำมีสตางค์ใช้ สร้างลานสเกตเป็นเวทีละครให้เด็กเล่น ในช่วงโควิดละครหยุดแต่เด็กซ้อมสเกต เปิดให้เด็กมาเล่นสเกตฟรีๆ มีการขายกาแฟ ลูกชายสั่งสเกตมาขาย ขายดีมาก มีกำไรจนได้รถบีเอ็มดับเบิลยูมาขับ ไม่ต้องขอเงินแม่ซื้อ เขากลายเป็นเศรษฐีมหัศจรรย์มาก เพราะไม่งอมืองอเท้า แรกๆคนไม่รู้จักสเกต แต่ตอนนี้เด็กทั้งประเทศรู้จักสเกต เล่นสเกตเป็นแล้ว”

เมื่อเด็กติดยามาเล่นสเกตก็เลิกสูบยาได้  มิฉะนั้นจะล้มหกคะเมน เนื่องจากการเล่นแต่ละครั้งต้องใช้เวลา 5-6 ชั่วโมง เล่นทั้งวันไม่มีเวลาสูบยา ในที่สุดก็เลิกยาได้ “ดิฉันถูกยุจะเกิดไฟจุดประกาย สสส. follow up ประชุมกันจนเกิดไอเดีย ดิฉันยังมีแผนการต่อไป hub หัวหิน hub education อยู่ในเว็บไซต์เดียวกัน เมื่อเข้าไปในเว็บหนึ่งก็จะเชื่อมต่อความรู้ได้ทั้งหมด สสส.จะต้องไปหาทุนมาสนับสนุน เราต้องทำให้เด็กอยากเรียนรู้เพื่อประสบความสำเร็จในชีวิต กีฬาคือลมหายใจแก้ไขด้วยศิลปศาสตร์”

ครูภัทราวดีกล่าวว่า ได้นำความรู้ความเชี่ยวชาญด้านศิลปศาสตร์การแสดงเข้ามาใช้กล่อมเกลา สร้างการเปลี่ยนแปลงให้เยาวชน ซึ่งจากความสำเร็จ ที่ชุมชนเพชรหึงษ์ อ.พระประแดง จ.สมุทรปราการ ให้ก้าวข้ามปัญหายาเสพติด สู่การสร้างชีวิตใหม่ มีการฝึกทักษะกีฬาสเกตจนเชี่ยวชาญ และยังเปิดบ้านเป็นพื้นที่สร้างสรรค์ สอนน้องๆ ในชุมชนเล่นสเกตและกลับไปเรียนหนังสือ และที่ชุมชนเจ็ดเสมียน จ.ราชบุรี เปลี่ยนลานอเนกประสงค์ที่ถูกปล่อยรกร้าง ทำเป็นพื้นที่สร้างสรรค์ของชุมชน ออกแบบเป็นลานสเกตในวัดเป็นแห่งแรกในประเทศไทย นอกจากนี้ยังริเริ่มโปรเจกต์ ละคร เสน่ห์...รอยรั่ว โดยชวนลูกศิษย์เชี่ยวชาญด้านการกำกับการแสดงมาร่วมกันทำละครออนไลน์สร้างสรรค์สังคม เพื่อคนทุกวัยได้เรียนรู้การสื่อสารอย่างสรรค์และการเคารพความเป็นมนุษย์

“ขณะนี้มีพื้นที่สุขภาวะของเยาวชนที่กำลังพัฒนาสู่การเป็นพื้นที่สุขภาวะต้นแบบ 8 แห่ง ได้แก่ 1.ชุมชนคลองมหาสวัสดิ์ จ.นครปฐม 2.ชุมชนวัดโพธิ์เรียง กรุงเทพมหานคร 3.ศูนย์การเรียนรู้เสริมทรัพย์ ต.เจดีย์ชัย จ.น่าน 4.ศูนย์การเรียนรู้ลำตัดหวังเต๊ะ-คุณแม่ศรีนวล ขำอาจ จ.นครปฐม 5.ชุมชนบ้าน ท่ามะพร้าว จ.กระบี่ 6.สวนศิลป์บ้านดิน ชุมชนเจ็ดเสมียน จ.ราชบุรี 7.โรงเรียนภัทราวดี หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ และ 8.ศูนย์การเรียนรู้ชุมชนบ้านหัวอ่าว จ.นครปฐม” คุณครูเล็ก ภัทราวดี กล่าว

“วันที่ 7 มิ.ย. ดูเว็บไซต์ช่องภัทราวดี channel ดูฟรีทุ่มครึ่ง ดูละคร 15 นาที แสดงความคิดเห็นแลกเปลี่ยนกัน คนดูแสดงความคิดเห็นให้คนทำละครได้รับรู้ แทนที่จะคุยกันอยู่ในบ้าน เมื่อดูตัวอย่างละครแล้วให้กด like กด share ทุกวันอังคารและพฤหัสบดี ดูละคร 15 นาที มีทั้งหมด 16ตอน คนดูแสดงความคิดเห็นกับคนทำละคร Nothing is impossible ไม่มีอะไรที่มนุษย์ทำไม่ได้ ถ้าเรามีความมุ่งมั่นให้ประสบความสำเร็จ” ครูเล็กกล่าวตอนท้าย.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ผลักดันกม.ละเมิดในโลกออนไลน์ เยาวชนเผชิญภัยคุกคามพุ่งพรวด

มีความร่วมมือระหว่าง สำนักสร้างเสริมระบบสื่อและสุขภาวะทางปัญญา (สำนัก 11) สสส. กับสำนักงานกิจการยุติธรรม (สกธ.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อพิจารณาร่างบทบัญญัติเกี่ยวกับการกระทำผิดต่อเด็กผ่านสื่อออนไลน์

MRT Healthy Station เดินทางสู่เฟซ 3 สสส. สานพลัง BMN ต่อยอดพื้นที่สาธารณะสื่อสารสุขภาพ เนรมิตอุโมงค์บางซื่อ ให้กลายเป็น Walk Stadium เดินฟาสต์ให้ร่างฟิต

นพ.พงศ์เทพ วงศ์วัชรไพบูล์ ผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า สสส. มุ่งสร้างนวัตกรรมสุขภาพ ลดปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคไม่ติดต่อ (NCDs)

“สมศักดิ์” เห็นชอบตั้ง “ชาญเชาวน์” อดีตปลัดยุติธรรม จับมือหน่วยงานเกี่ยวข้องปราบบุหรี่ไฟฟ้า กวดขัน “ห้ามพกพา-สูบ” ในสถานที่ราชการ สนามบิน

เมื่อวันที่ 17 ก.ค. 2567 ที่กระทรวงสาธารณสุข นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะรองประธานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ คนที่ 1

สุขให้เป็น..ก็เป็นสุข จิตวิทยาเชิงบวก ห่างไกล...ซึมเศร้า

ในงานสัมมนาวิชาการเรื่อง “สุขเป็น:จิตวิทยาเชิงบวกในชุมชนโดยกลไกชุมชน” ภายใต้โครงการสร้างเสริมสุขภาวะทางจิต เด็ก เยาวชน และครอบครัว ที่สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ

สสส. ห่วง "เด็กและเยาวชน" ติดกับดักความสุข เปรียบเทียบภาพความสำเร็จกับคนอื่น

นพ.พงศ์เทพ วงศ์วัชรไพบูลย์ ผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)กล่าวว่า สสส. สนับสนุนภาคีเครือข่าย สร้างนวัตกรรมการเรียนรู้หลายรูปแบบ โดยร่วมกับ Eyedropper Fill กลุ่มนักออกแบบที่เคยร่วมงานจากนิทรรศการ “Homecoming

ระดมความคิด"ถก"กม.โลกร้อน ชี้ทุกประเทศต้องร่วมมือพิทักษ์โลก

การสัมมนารับฟังความคิดเห็นต่อการจัดทำกฎหมายการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศบนฐานสิทธิมนุษยชน ณ ห้อง 201 สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)