“พลเอก ประวิตร” นำทีมแถลงผลสำเร็จแก้แล้งปี 64 พร้อมสั่งเข้ม 13 มาตรการรับมือฤดูฝนปีนี้

พลเอก ประวิตร” นำทีมหน่วยงานด้านน้ำแถลงผลงานการบริหารจัดการน้ำฤดูแล้ง ปี64/65 พอใจผลงานไม่มีประกาศภัยแล้ง พร้อมสั่งเข้มทุกหน่วยปฏิบัติตาม 13 มาตรการรับมือฤดูฝน ปี 65 อย่างเคร่งครัด ให้พร้อมรับสถานการณ์และการเข้าช่วยเหลือประชาชนอย่างทันท่วงที

วันนี้ (6 มิถุนายน 2565) เวลา 10.15 น. พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) และผู้อำนวยการกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) เป็นประธานการแถลงผลงานการบริหารจัดการน้ำฤดูแล้ง ปี 2564/65 และการเตรียมรับมือฤดูฝน ปี 2565 โดยมี ดร.สุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) และผู้แทนทุกหน่วยงานด้านน้ำเข้าร่วม อาทิ กระทรวงมหาดไทย กองบัญชาการกองทัพไทย กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กรมอุตุนิยมวิทยา สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กรมชลประทาน เป็นต้น  ณ ห้องแคทลียา โรงแรมรามาการ์เด้นส์ กรุงเทพฯ

พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ความสำเร็จในการบูรณาการแก้ไขปัญหาในช่วงฤดูแล้งปี 64/65 ผ่านมา ส่งผลให้ประเทศไทยไม่มีการประกาศภัยแล้ง ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ปฏิบัติการตามมาตรการและแผนเชิงรุกเพื่อรับมือภัยแล้งที่วางไว้อย่างเคร่งครัด สามารถลดและบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนจากสถานการณ์ภัยแล้งได้อย่างมีประสิทธิภาพ สำหรับฤดูฝนปี 65 นี้ รัฐบาลได้กำหนด 13 มาตรการรับมือฤดูฝน โดยเพิ่มเติม 3 มาตการ คือ การตั้งศูนย์ส่วนหน้าก่อนเกิดภัย การจัดเตรียมพื้นที่อพยพและซ้อมแผนเผชิญเหตุ รวมถึงการตรวจสอบความมั่นคงของพนังกั้นน้ำ เพื่อเป็นเครื่องมือสำหรับการบริหารจัดการน้ำฤดูฝนนี้ และเพื่อให้การบริหารจัดการน้ำฤดูฝนปีนี้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ดังนั้น ในวันนี้จึงกำชับมอบหมายให้ทุกหน่วยงานปฏิบัติตาม 13 มาตรการรับมือฤดูฝนอย่างเคร่งครัด พร้อมติดตามสถานการณ์และเฝ้าระวังพื้นที่เสี่ยงน้ำหลากอย่างต่อเนื่อง เพื่อดำเนินการตามแผนเผชิญเหตุได้อย่างทันท่วงที รวมถึงวางแผนเก็บกักน้ำสำรองทุกแหล่ง ทั้งน้ำผิวดินและน้ำใต้ดินไว้รองรับฤดูแล้งหน้าด้วย

“ส่วนการบริหารจัดการน้ำในระดับพื้นที่ ได้กำชับให้คณะกรรมการลุ่มน้ำและอนุกรรมการทรัพยากรน้ำจังหวัด เร่งบูรณาการข้อมูลและสนับสนุนการแก้ไขปัญหาด้านทรัพยากรน้ำในเชิงพื้นที่ด้วย สำหรับหน่วยงานที่ได้รับการจัดสรรงบประมาณไปแล้ว ทั้งงบปกติและงบกลางในการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำเพื่อป้องกันการเกิดอุทกภัยและบรรเทาปัญหาภัยแล้ง ขอให้เร่งดำเนินการให้แล้วเสร็จโดยเร็ว รวมถึงให้ทุกหน่วยงานเดินหน้าการสร้างการรับรู้และประชาสัมพันธ์ให้ทุกภาคส่วนได้เข้าถึงข้อมูลด้านทรัพยากรน้ำและเสริมสร้างความเข้มแข็งให้เครือข่ายภาคประชาชน โดยเฉพาะการบริหารจัดการน้ำในชุมชน เพื่อเป็นกำลังสำคัญในการสนับสนุนและขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาเรื่องน้ำของประเทศได้อย่างยั่งยืนต่อไป” รองนายกรัฐมนตรี กล่าว

ด้าน ดร.สุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการ สทนช. ในฐานะรองผู้อำนวยการ กอนช. กล่าวว่า ทุกหน่วยงานได้ร่วมบูรณาการตามกรอบปฏิทินการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำฤดูแล้ง ทั้งก่อนฤดู ระหว่างฤดู และสิ้นสุดฤดู โดยวางแผนบริหารจัดการน้ำ คาดการณ์พื้นที่เสี่ยงภัย กำหนด 9 มาตรการรองรับสถานการณ์ขาดแคลนน้ำฤดูแล้ง ปี 64/65 พร้อมรายงานผลการดำเนินงานตามมาตรการเป็นระยะ อีกทั้ง ครม.ได้มีมติอนุมัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น เพื่อดำเนินโครงการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำเพื่อรองรับสถานการณ์ภัยแล้งและฝนทิ้งช่วง ปี 65 รวม 2,525 โครงการ มีพื้นที่รับประโยชน์ 67,616 ไร่ ปริมาณน้ำเพิ่มขึ้น 33.88 ล้าน ลบ.ม. และประชาชนได้รับประโยชน์ 76,004 ครัวเรือน นอกจากนี้ ทุกหน่วยงานยังได้ร่วมถอดบทเรียนการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำฤดูแล้ง เมื่อวันที่ 31 พ.ค.ที่ผ่านมา เพื่อนำไปปรับปรุงมาตรการรับมือภัยแล้งในปีถัดไปด้วย

สำหรับการบริหารจัดการน้ำฤดูฝน ปี 65 ที่มีปริมาณน้ำต้นทุนของแหล่งน้ำทั่วประเทศ (ณ 1พ.ค.65) รวม 46,660 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็น 57% ซึ่งในภาพรวมมีปริมาณน้ำต้นทุนมากกว่าปี 64 ดังนั้น หนึ่งในมาตรการสำคัญที่ กอนช.ได้ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่องเพื่อป้องกันผลกระทบในช่วงฤดูฝน คือ คาดการณ์พื้นที่เสี่ยงน้ำท่วมรายเดือนตั้งแต่เดือนพ.ค.–ธ.ค.65 ที่มีข้อมูลระบุรายพื้นที่ระดับจังหวัด อำเภอ และตำบล เพื่อให้หน่วยงานได้เตรียมพร้อมแผนปฏิบัติในเชิงพื้นที่ได้อย่างตรงจุด รวมถึงการใช้แผนที่ฝน one map ติดตามสภาพฝนรายภาคในระยะ 3 เดือนนี้อย่างใกล้ชิด (มิ.ย. - ส.ค.) เพื่อเป็นข้อมูลให้หน่วยงานที่รับผิดชอบการบริหารจัดการน้ำในเขื่อนต่าง ๆ นำไปวางแผนเก็บกักน้ำหรือระบายน้ำเกิดความสมดุลมากที่สุด

“เพื่อให้การรับมือวิกฤติน้ำได้อย่างทันท่วงที พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ได้กำชับทุกหน่วยงานปฏิบัติงานตามมาตรการรับมือฤดูฝนอย่างเป็นรูปธรรม โดยเฉพาะการฝึกซ้อมแผนเผชิญเหตุรับมือสถานการณ์อุทกภัย โดย กอนช. ได้ Kick Off การฝึกซ้อมแผนไปแล้วที่ จ.สุราษฎร์ธานี และในวันที่ 24 มิ.ย.นี้ กอนช. เตรียมลงพื้นที่ฝึกซ้อมแผนฯ ณ จ.อุบลราชธานี ที่อยู่ในพื้นที่ลุ่มน้ำโขงตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งครอบคลุมหลายจังหวัดของภาคอีสาน อาทิ เลย หนองคาย อุดรธานี สกลนคร และนครพนม เป็นต้น ซึ่งมักประสบปัญหาอุทกภัยเนื่องจากฝนตกหนักและน้ำหลากเข้าท่วมในพื้นที่ราบลุ่ม โดยการซ้อมแผนฯ กอนช. จะนำผลการจัดทำร่างผังน้ำลุ่มน้ำโขงตะวันออกเฉียงเหนือ มาใช้ประกอบการฝึกซ้อมด้วย เนื่องจาก “ผังน้ำ” เป็นเครื่องมือสำคัญที่ช่วยวางแผนและบริหารจัดการน้ำหลากได้อย่างมีประสิทธิภาพ เชื่อมโยงระบบทางน้ำตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงแหล่งน้ำ ทะเล หรือทางน้ำระหว่างประเทศด้วย” เลขาธิการ สทนช. กล่าว

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ผวา! ไข้หวัดใหญ่พุ่ง ดับแล้ว 1 ราย เร่งฉีดวัคซีน 7 กลุ่มเสี่ยง

ที่สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่ ดร.ทรงยศ คำชัย หัวหน้ากลุ่มงาน ควบคุมโรคติดต่อ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่ เปิดเผยว่า สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเปิดให้ประชาชนกลุ่มเสี่ยง

อย่าตกใจ! ‘หมอยง’ ชี้พบโรคทางเดินหายใจมาก เป็นโรคประจำฤดูกาล จะเริ่มลดหลังเดือนก.ย.

รคทางเดินหายใจ ทั้งเด็กและผู้ใหญ่ โดยเฉพาะเด็กนักเรียน จะพบมากในฤดูฝน ตั้งแต่นักเรียนเปิดเทอม ทั้งโควิด 19 ไข้หวัดใหญ่ และมาเดือนนี้เป็นฤดูกาลของ RSV

รัฐบาลเปิดมาตรการรับมือน้ำท่วม พร้อมแผนเผชิญเหตุตลอดหน้าฝน

นางรัดเกล้า อินทวงศ์ สุวรรณคีรี รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) กระทรวงมหาดไทย (มท.)

สธ. ห่วง ปชช. ช่วงฤดูฝน พร้อมดูแลผู้ป่วยงูพิษกัด ไข้เลือดออกระบาด

น.ส.เกณิกา อุ่นจิตร์ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข และนายสันติ พร้อมพัฒน์ รมช.สาธารณสุข

กนช.ไฟเขียวเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการน้ำฤดูฝน สทนช.รับลูกเร่งหน่วยงานเสนอโครงการภายใน 13 มิ.ย.นี้

กนช.ไฟเขียวโครงการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการน้ำในฤดูฝน และการส่งเสริมความมั่นคงด้านน้ำอุปโภคเพื่อรองรับสภาวะลานีญา สทนช.รับลูกเร่งสร้างความรู้

ครม.รับทราบ 10 มาตรการรับมือฤดูฝน 2567

นางรัดเกล้า อินทวงศ์ สุวรรณคีรี รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติรับทราบมาตรการรับมือฤดูฝน ปี 2567 และโครงการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำในช่วงฤดูฝน ปี 2567