ฝันของเกษตรกรรุ่นใหญ่...แต่หัวใจไม่แก่ สร้าง ‘ไร่เปลี่ยนวิถี-เปลี่ยนชีวิต’

สมาชิกไร่เปลี่ยนวิถีและเพื่อนร่วมทาง

 ห่างจากตัวอำเภอลานสัก  จ.อุทัยธานี  ไปทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ประมาณ 7 กิโลเมตร  ‘ไร่เปลี่ยนวิถี 3 ชู’ ซุกซ่อนตัวเองอยู่เงียบๆ  มันไม่สวยงาม  ไม่ดกดื่นไปด้วยดอกไม้หลากสี  และไม่มีชายหนุ่มรูปงามที่รอคอยหญิงสาวบุกป่าฝ่าดงมาเคียงใกล้เหมือนกับหนังรักโรแมนติก  เพราะพวกเขา 3-4 คนที่ขลุกอยู่ในไร่  ล้วนอยู่ในวัยเกินกึ่งศตวรรษ  แต่งตัวง่ายๆ ไม่เท่เหมือนคาวบอยตะวันตก  แถมบางคนหนวดเครายังยาวรกเฟื้อยราวกับฤาษีชีไพร  หรือไม่ก็ถูกมองว่าเป็นพวก ‘สายเขียว’ ไปโน่น !!

ช่างเถอะ ! นั่นเป็นเพียงรูปลักษณ์ภายนอก  เพราะเรื่องราวสำคัญอยู่ที่เส้นชีวิตของพวกเขา  บางคนเคยเป็นผู้รับเหมางานก่อสร้าง  เคยหยิบจับเงินล้าน  บางคนเคยทำงานเป็นนักอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและสัตว์ป่าในองค์กรชื่อดัง  แต่วันนี้พวกเขาเปลี่ยนมาจับจอบเสียม  เป็นเกษตรกรหน้าใหม่ที่วัย (เริ่ม) ชรา  และกำลังพลิกฟื้นผืนดินให้เป็นแปลงเกษตรอินทรีย์  เป็นสวนสมุนไพร  มีเงินเดือนเงินดาวอยู่ในผืนดิน  อยู่ในต้นไม้ที่พวกเขาเฝ้าฟูมฟัก  มีโบนัสเป็นรวงข้าวเหลืองอร่ามในช่วงปลายปี

 ทำไมต้อง  “เปลี่ยนวิถี ?” 

“เมื่อก่อนผมทำงานรับเหมาก่อสร้าง  สร้างหมู่บ้านดังๆ ในกรุงเทพฯ  รวมทั้งรับงานติดตั้งระบบโซล่าร์เซลล์ด้วย  ตอนที่เศรษฐกิจดีๆ  ผมมีลูกน้องประมาณ 80 คน   วีกหนึ่ง (15 วัน) ต้องจ่ายเงินให้ลูกน้องประมาณ  1 ล้านบาท  ตระเวนรับงานไปทั่วประเทศ   มีเงินแต่ไม่ค่อยมีรอยยิ้ม  เพราะงานมันเครียด  ต้องรับผิดชอบเยอะ”  ไวพจน์  ชูมา  วัย 53 ปี  ผู้อาวุโสแห่งไร่เปลี่ยนวิถีขยับปากพูดเป็นคนแรก

ไวพจน์  ชูมา

“เมื่อก่อนผมก็ทำงานรับเหมากับไวพจน์นี่แหละ  ตะลอนด้วยกันไปทั่วประเทศ  ตอนหลังอิ่มตัว  อยากจะหยุด  จึงมาทำเกษตรอินทรีย์  เริ่มได้ 3-4 ปี  ถือว่าเป็นเกษตรกรมือใหม่  ผิดตรงไหนเราก็ปรับปรุงแก้ไข  ทำไปเรียนรู้ไป”    สันติ  นัยเนตร  หนุ่มใหญ่วัยมากกว่าไวพจน์เล็กน้อยพูดผ่านเรียวหนวดงาม

สันติ  นัยเนตร

“ผมปลูกทุเรียนหมอนทอง 20 ต้น  เพราะอยากจะกิน  เมื่อก่อนซื้อหมอนทองลูกหนึ่ง 500 บาท  ไม่พอกินทั้งครอบครัว   จึงเริ่มปลูกเมื่อ 6-7 ปีที่แล้ว  ปีนี้ได้ผลปีแรก  ประมาณ 80 ลูก  กินกันจนหายอยาก  ใครอยากกินก็มาซื้อที่สวนผม  ผมขายโลละ 150 บาท”  เสน่ห์  อุทัยสิริ  หนุ่มกะเหรี่ยง  เพื่อนร่วมแนวคิดของชาวไร่เปลี่ยนวิถีบอก  และว่า  ปีแรกขายทุเรียนในฤดูที่ผ่านมา  ได้เงินประมาณ  20,000 บาท

เสน่ห์  อุทัยสิริ

“ไร่เปลี่ยนวิถี  ก็คือการเปลี่ยนวิธีคิด  ไม่ต้องร่ำรวย  แต่ทำแล้วมีความสุข  ได้อยู่กับธรรมชาติ  ทำเกษตรแบบอินทรีย์  ไม่ใช้สารเคมี  แล้วชวนคนอื่นๆ ในตำบลมาทำ  แต่เราต้องทำให้เขาเห็นเป็นตัวอย่างก่อน  เขาจึงจะเชื่อ”  สมบัติ  ชูมา  น้องเล็กวัย 50 ปี  เจ้าของแนวคิดไร่เปลี่ยนวิถี  พูดสั้นๆ  แต่ได้ใจความ

สมบัติ  ชูมา

วิถีของเกษตรกรมือใหม่

สมบัติ  ชูมา  เล่าว่า  ‘ไร่เปลี่ยนวิถี 3 ชู’  เป็นของครอบครัวเขา  มีเนื้อที่ทั้งหมดประมาณ 28 ไร่  เขาเรียนทางด้านศิลปะที่สถาบันการศึกษาแห่งหนึ่งในกรุงเทพฯ  แต่สนใจงานด้านอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและสัตว์ป่า  จึงเข้าทำงานในองค์กรพัฒนาเอกชนด้านนี้   มีพื้นที่ทำงานรอบป่าห้วยขาแข้ง  นานหลายปี   จนราวปี 2550  จึงลาออกมาทำงานอิสระ  และก่อตั้ง ‘สถาบันธรรมชาติพัฒนาจังหวัดอุทัยธานี’ ขึ้นมา  เพื่อหนุนเสริมชาวบ้านด้านการอนุรักษ์วิถีวัฒนธรรม  ภูมิปัญญาท้องถิ่น  การแพทย์แผนไทย  การจัดการที่ดินและป่าไม้  การอนุรักษ์สัตว์ป่าในผืนป่าตะวันตก  ส่งเสริมวนเกษตร  และเกษตรอินทรีย์

“ช่วง 3-4   ปีหลังมานี้  ผมจึงเริ่มหันกลับมาดูแลไร่ของครอบครัว  เพื่อทำวนเกษตร  ปลูกพืชผสมผสาน  ไม่ใช้สารเคมี  เน้นทำเกษตรอินทรีย์  เป้าหมายก็เพื่อทำแปลงเกษตรให้เป็นพื้นที่ตัวอย่าง  เป็นแหล่งเรียนรู้  และขยายผลไปยังชาวบ้านรายอื่นๆ  เพราะแถวนี้ยังปลูกพืชเชิงเดี่ยว  คือข้าวโพดและมันสำปะหลังกันเยอะ  แต่พืชพวกนี้  ยิ่งทำก็ยิ่งเป็นหนี้  ต้องกู้เงินจาก ธกส.มาลงทุน  นานวันดินก็เสื่อม  หนี้ก็เพิ่ม  ผมจึงอยากจะเปลี่ยนวิธีคิด จึงมาทำ ‘ไร่เปลี่ยนวิถี’ ให้ชาวบ้านเห็นเป็นตัวอย่าง”  เขาขยายความ

สมบัติกับรถยนต์คู่ใจขับตระเวนไปทั่วผืนป่าตะวันตกของไทย

‘ไร่เปลี่ยนวิถี 3 ชู’  มาจากพี่น้อง  3 คนในตระกูล ‘ชูมา’  คือ  พี่ชาย  พี่สาว  และเขา  แปลงที่ดินด้านหน้าที่ติดกับถนนใหญ่  มีต้นสักใหญ่    โตพอที่จะทำเสาเรือนได้ประมาณ  300 ต้น  ครอบครัวของเขาปลูกเมื่อราว 30 ปีก่อน   และยางนาขนาดพอๆ กันอีก 90 ต้น   ส่วนแปลงเกษตรด้านล่าง  มีสมุนไพรต่างๆ  ที่สำคัญ  คือ ‘ฟ้าทะลายโจร’  ที่เพาะเอาไว้ก่อนสถานการณ์โควิด-19 จะเข้มข้นในปีนี้  ประมาณ  3,000 ต้น   เขาขายกล้าฟ้าทะลายโจรไปแล้วกว่า 1,000 ต้น  ในราคาเพียงกล้าละ 10 บาท  ขณะที่ราคาขายทั่วไปไม่ต่ำกว่า 20-50 บาท

นอกจากนั้นก็มีผักที่ปลูกเพื่อกินและขาย  เช่น  ผักกาด  คะน้าฮ่องกง  ผักสลัด  ฟัก  แฟง  น้ำเต้า  บวบ  มะระขี้นก  แตงกวา  ฟักทอง  ผักกูด    ไผ่  หน่อไม้  กระทือ  ขิง  ข่า  พริกขี้หนู  มะนาว   ตะไคร้   มีไม้ผล   เช่น  กล้วยน้ำว้า  มะละกอ  ส้มโอ  ทุเรียน  มะยงชิด  ลำไย   แก้วมังกร  มะขามยักษ์  สับปะรด  และแปลงนาที่พี่สาวของเขาปลูกข้าวเอาไว้กินเนื้อที่ 1 ไร่เศษ  ราวปลายปีนี้จะเป็นช่วงเก็บเกี่ยว  ถือเป็นโบนัสที่พวกเขาจะได้รับการแบ่งปันในฐานะที่ช่วยดูแล

นั่นเป็นอาหารบนพื้นดิน  ส่วนในน้ำก็มีปลาดุก  ปลานิลที่เลี้ยงในบ่อ  อยากจะกินเมื่อไหร่ก็แค่เอาสวิงมาตัก  จะปิ้งย่าง  ต้ม   แกง  ก็กินได้สนิทปาก  เพราะเลี้ยงแบบธรรมชาติ  ไม่มีหัวอาหารหรือสารเคมีไปเร่งให้โต  มีเป็ด  ไก่พื้นบ้านหลายสายพันธุ์   มีหอยขมที่เลี้ยงในตาข่ายไนล่อน  30  ตาข่าย  เอาทางมะพร้าวใส่ลงไปเพื่อให้เป็นบ้านหอย  มัดปากถุงแล้วแช่ลงในบ่อ  หอยขมจะกินเศษซากพืชที่เน่าเปื่อย  ราวๆ  3  เดือนก็จับมากินหรือขายได้  ราคาขายกิโลกรัมละ  40-50 บาท  เอามาแกงคั่วยิ่งเหมาะ !!

หอยขมที่เลี้ยงในถุงตาข่าย 

“เรื่องรายได้ไม่แน่นอน  เพราะเราเพิ่งจะกลับมาฟื้นฟูไร่เปลี่ยนวิถี  ตอนนี้เพิ่งจะลงต้นโกโก้  อีก 2-3 ปีจึงจะให้ผล  แต่ผมมองว่าเรื่องรายได้เป็นเรื่องประกอบ  เพราะเรามีอาหารกินอยู่แล้ว  ไม่ต้องซื้อหา  ยกเว้นพวกกะปิ  น้ำปลา  น้ำมัน  น้ำตาล  ข้าวไม่พอเราก็ต้องซื้อ  แต่ที่สำคัญคือเราได้กินอาหารที่เราปลูกเอง  เป็นอาหารจากธรรมชาติ   ได้อยู่กับธรรมชาติ  เน้นความสุขมากกว่าเรื่องเงิน”  สมบัติบอก

ไวพจน์  พี่ใหญ่เกษตรกรมือใหม่  เสริมว่า  “ตอนมาทำเกษตรครั้งแรก  ผมทำข้าวโพดน้ำหยดในพื้นที่ 10 ไร่  ต่อท่อวางระบบน้ำหยดเข้าไปในแปลง  หวังจะได้เงินแสน  แต่ปีนั้นน้ำแล้ง  ไม่มีน้ำให้สูบเข้าแปลง  ข้าวโพดก็ตาย  พอมาทำแตงกวา  มะระ...ก็เจ๊งอีก  หมดเงินไปเยอะอยู่  จึงมาเปลี่ยนวิธีคิด เปลี่ยนวิถี  ไม่เน้นเรื่องรายได้  แม้ว่าเงินจะไม่ดีเหมือนกับตอนทำงานรับเหมาก่อสร้าง  แต่พอมาทำเกษตรแล้วสบายใจกว่า  สุขภาพก็ดี   เพราะได้อยู่กับที่  ไม่ต้องตะลอนไปตามไซต์งาน  อยู่ที่นี่อาหารการกินก็มีพร้อม  เป็ด  ไก่  เราก็มี  อากาศก็ดี  ไม่มีฝุ่นควันเหมือนงานก่อสร้าง”

เขาบอกด้วยว่า  จากประสบการณ์ในการทำงานช่าง  เขาได้นำความรู้มาใช้ในแปลงเกษตรด้วย  เช่น  จัดวางผังแปลงแบ่งที่ดินเป็นล็อกๆ  ว่าแปลงไหนจะปลูกอะไร  วางระบบท่อน้ำ  โดยใช้ระบบแอร์แว (Air Pressure Accumulators)  โดยใช้อุปกรณ์มาติดตั้งแล้วต่อท่อ PVC ด้านหลังเครื่องสูบน้ำให้เป็นแนวดิ่ง  ดึงน้ำขึ้นสู่ท่อ  ระบบแอร์แวจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของเครื่องสูบน้ำ  ประหยัดแรงปั้ม  เพิ่มแรงดันน้ำให้ไกลขึ้น   และช่วยรักษาแรงดันน้ำปลายทางให้คงที่  สามารถส่งน้ำได้ทั่วถึงทั้งแปลง

ไวพจน์กับแอร์แว  ระบบดึงน้ำขึ้นสู่ท่อ  เพิ่มแรงดันน้ำเข้าสู่แปลงเกษตร

ฝันของเกษตรกรรุ่นใหญ่หัวใจไม่แก่

แม้ว่าอายุของพวกเขาจะเลยกึ่งศตวรรษไปแล้ว  แต่ความฝันไม่เคยมอดดับ  มันเต้นระริกราวกับพวกเขาเพิ่งแตกเนื้อหนุ่ม  นอกจากนี้แนวคิดของไร่เปลี่ยนวิถียังแพร่ขยายไปยังเพื่อนบ้านใกล้เคียงอย่างน้อย  2-3 ครอบครัว   ดังเช่น  เสน่ห์  อุทัยสิริ  หนุ่มกะเหรี่ยง  ซึ่งมีพื้นที่ทำกินเพียง 1 ไร่  และอยู่ห่างจากไร่เปลี่ยนวิถีเพียง 1 กิโลเมตร

เสน่ห์  บอกว่า  จากแนวคิดที่อยากปลูกทุเรียนกินเอง  เพราะเสียดายเงิน 500 บาท  ซื้อทุเรียนหมอนทองได้เพียง 1 ลูก  แต่ไม่พอกินทั้งครอบครัว  ตอนนี้เขาใช้พื้นที่  1 ไร่  ทำเกษตรผสมผสานตามแนวทางของไร่เปลี่ยนวิถี  เช่น  ปลูกมะยงชิด  มะพร้าวน้ำหอม  ทุเรียนหมอนทอง  เลี้ยงปลาหมอชุมพร (ตัวโตเนื้ออร่อย) 1 บ่อซีเมนต์ (บ่อวง)  และปลาดุก 3 บ่อ  เอาไว้กินและขาย  น้ำจากบ่อเลี้ยงปลาที่มีมูลปลาและเศษอาหารก็จะนำมาใช้รดต้นทุเรียน  เป็นปุ๋ยชั้นดี  ไม่ต้องใช้สารเคมี

“ผมตั้งเป้าว่า  พื้นที่ 1 ไร่  ปีนึงจะทำเงินให้ได้ 1 แสนบาท  แม้จะไม่มาก  แต่ก็ทำให้ครอบครัวเราอยู่ได้  อยากจะกินอะไรก็ปลูกหรือเลี้ยงเอาเอง  หน้าฝนช่วงนี้ก็จะเข้าป่าไปเก็บเห็ดโคน  เอามากิน  ถ้ามีมากก็เอาไปขาย  โลละหลายร้อยบาท  ทุเรียนเพิ่งออกปีนี้  ขายได้เงินประมาณ 2 หมื่นบาท   มะยงชิดก็เพิ่งออก  ปีนี้ได้ 10 กว่าโล  เพราะไม่ได้ใช้สารเคมีเร่ง  ขายได้โลละ 80 บาท  ปีหน้าคงจะได้มากกว่านี้”  หนุ่มกะเหรี่ยงตั้งเป้าหมาย

สันติ  นัยเนตร  ซึ่งถือเป็นสมาชิกคนหนึ่งของไร่เปลี่ยนวิถี  บอกว่า  เขามีแนวคิดที่ได้รับมาจากสมบัติ  ชูมา  ก็คือ  การทำเกษตรแบบพอเพียง 

คือแม้จะมีรายได้น้อย  แต่ก็จะไม่ทำเกษตรแบบมีหนี้สิน  หรือต้องกู้เงินมาลงทุน  จะปลูกพืชที่ทำเงินเป็นรายวัน  รายเดือน  เช่น  ผักต่างๆ หรือพืชรายปี  เช่น  มันสำปะหลัง  แต่จะไม่ใช้ปุ๋ยและสารเคมี  จะใช้ปุ๋ยอินทรีย์  น้ำหมักชีวภาพที่ทำเอง

ด้านหลังเป็นแปลงปลูกต้นโกโก้อีกประมาณ  3 ปีจึงจะเริ่มให้ผลผลิต

ส่วน ไวพจน์ และ สมบัติ  2 พี่น้องตระกูลชู  มีความฝันไม่ต่างกัน  เขาตั้งความหวังว่า  ไม่กี่ปีต่อจากนี้  เมื่อพืชไร่ต่างๆ  เติบโต  ร่มรื่น  เขาจะทำไร่เปลี่ยนวิถีให้เป็น ‘ฟาร์มสเตย์’  เป็นพื้นที่สำหรับคนรักธรรมชาติได้มาพักผ่อน  เก็บพืชผักมาทำอาหาร  มีลานสำหรับกางเต๊นท์   จัดกิจกรรม  เช่น  ดนตรี  แคมป์ไฟ  (อาจเริ่มจัดครั้งแรกในช่วงปลายปีนี้)

“พื้นที่ด้านหน้าที่ติดถับถนนใหญ่  มีแปลงไม้สักที่ปลูกเอาไว้  และต้นพญาเสือโคร่ง  เราปลูกเป็นแนวริมถนน  อีก 2-3 ปีจะออกดอก  เวลาดอกบานพร้อมกันก็จะสวยงาม เหมือนดอกซากุระ  ตั้งใจว่าจะทำเป็นตลาดชุมชน  ให้ชาวบ้านเอาสินค้า  เอาพืชผัก  ผลไม้ต่างๆ  มาวางขาย  เพราะที่นี่ปลูกผลไม้ได้เหมือนกับทางตะวันออก  มีทุเรียน  เงาะ  ลำไย  ลองกอง 

ยามว่างจากงานในไร่ก็คือเสียงดนตรี  พวกเขามีวงเล็กๆ เอาไปช่วยเล่นเวลามีกิจกรรมในชุมชนหรือโรงเรียนต่างๆ  ไม่มีค่าตัว  แถมยังต้องออกค่าเดินทางเอง

นอกจากนี้ก็มีแตงโม  แก้วมังกร  มันญี่ปุ่น  หน่อไม้  จะมีร้านกาแฟคั่วมือ  แล้วเอาโกโก้ที่เราปลูกมาทำเป็นเครื่องดื่ม  ทำขนม   ส่วนชาวบ้านที่จะมาขาย  มาร่วมโครงการ  เราจะเน้นให้ปลูกแบบอินทรีย์  มีการไปตรวจแปลงปลูก  เพื่อออกใบรับรองผลผลิตว่าเป็นผลผลิตอินทรีย์  จะทำพื้นที่ตรงนี้ให้เป็นแลนด์มาร์คของอำเภอลานสัก  คนที่มาเที่ยวชมธรรมชาติที่ห้วยขาแข้งก็มาเที่ยวที่นี่ได้”  สมบัติบอกถึงแผนงานและเป้าหมายที่วางเอาไว้

นี่คือความฝันของเกษตรกรรุ่นใหญ่...แต่หัวใจไม่แก่ !!

 

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

กระทรวงเกษตรฯ เคาะช่วยชาวนาไร่ละ 1,000 บาท ไม่เกิน 10 ไร่! วงเงิน 3.8 หมื่นล้าน

ผู้สื่อข่าวรายงานจากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จากกรณีมติของที่ประชุมคณะอนุกรรมการนโยบายและบริหารข้าวแห่งชาติด้านการผลิตครั้งที่

กษ.คิกออฟโครงการเพิ่มประสิทธิภาพ การบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ลุ่มต่ำ

นายอัครา พรหมเผ่า รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังเป็นประธาน Kick Off “โครงการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการน้ำในพื้

ชาวนาเฮ! กนช. เตรียมประกาศพื้นที่ทำนาปรังรวม 12 ล้านไร่ เกษตรกรได้ปลูกข้าวเพิ่ม

นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รองนายกรัฐมนตรี และรมว.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) ครั้งที่ 5/2567

'นฤมล' เผยข่าวดีครม.อนุมัติงบ 2.57 พันล้านบาท ฟื้นฟูอาชีพให้เกษตรกรที่ประสบอุทกภัย

นางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผย ถึงข่าวดีของเกษตรกรว่า ปีนี้อ่างกักเก็บน้ำขนาดใหญ่ ทั่วประเทศ

ครม.อนุมัติงบกลาง 2.5 พันล้าน ฟื้นฟูเกษตรกรผู้ประสบอุทกภัย

นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า ครม.มีมติอนุมัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น เพื่อดำเนินแผนงาน

โชว์ศักยภาพภาคเกษตรไทยด้านความมั่นคงอาหาร ในฐานะครัวของโลก

นายฉันทานนท์ วรรณเขจร เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังเข้าร่วมการประชุมคณะกรรมการความมั่นคงอาหารโลก