ประเทศไทยเข้าสู่ทศวรรษที่ 2 ของความปลอดภัยทางถนน ยังคงเป้าหมายลดการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนให้ได้ครึ่งหนึ่ง ขณะที่รัฐบาลโดยคณะกรรมการนโยบายการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนแห่งชาติกำหนดเป้าหมายลดอัตราการตายจากอุบัติเหตุทางถนนลง 50% ภายในปี พ.ศ. 2573 และไม่เกิน 12 คนต่อประชากรแสนคน ภายในปี 2570 ตามยุทธศาสตร์ชาติ แนวทางการทำงานและเป้าหมายที่ชัดเจนจะช่วยให้ไทยพิชิตหมุดหมายนี้ได้
จากวงสัมมนาวิชาการระดับชาติ เรื่องความปลอดภัยทางถนน ครั้งที่ 15 “ทศวรรษใหม่ วิถีใหม่ ขับขี่ปลอดภัยต้องมาก่อน “ วันที่ 25-26 พ.ค.2565 ณ ศูนย์ประชุมวายุภักษ์ โรงแรมเซ็นทรา บายเซ็นทารา กรุงเทพฯ จัดโดยศูนย์วิชาการเพื่อความปลอดภัยทางถนน (ศวปถ.) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และกองทุนเพื่อความปลอดภัยในการใช้รถใช้ถนน (กปถ.) พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เข้าร่วมสัมมนา เวทีตลอดสองวันนำเสนอแนวทาง มาตรการ การบังคับใช้กฎหมาย และการจัดการความปลอดภัยท่ามกลางความเสี่ยงวิถีใหม่ที่เป็นประโยชน์ต่อทุกภาคส่วนในการสร้างความปลอดภัยทางถนนให้ครบทุกมิติ และสามารถนำไปปฏิบัติได้จริง
ดร.เดชรัตน์ สุขกำเนิด ผู้อำนวยการศูนย์นโยบายเพื่ออนาคต กล่าวว่า เรื่องความปลอดภัยทางถนนในระดับสากล ขณะนี้มีการขับเคลื่อน 6 จุดเน้นพลิกโฉมการสร้างความปลอดภัยในยุควิถีใหม่ ประกอบด้วยงานและเศรษฐกิจ เช่น อาชีพใหม่อย่างไรเดอร์ที่เติบโตในธุรกิจเดลิเวอรี่,การจัดภูมิทัศน์การเรียนรู้ที่ดี ,ดิจิทัลเพื่อการสร้างเสริมสุขภาพ,การคุ้มครองทางสังคม ทั้งระบบสวัสดิการและความคุ้มครองแรงงาน.การสร้างเสริมสุขภาพระดับปฐมภูมิ/ท้องถิ่น และการพัฒนาออกแบบเมือง พื้นที่พิเศษ พื้นที่ชายแดน
จุดเหมาะสมสำหรับการลงทุนเพื่อความปลอดภัยทางถนน ดร.เดชรัตน์ หยิบยกรายการการศึกษาธนาคารโลก พบไทยมีอัตราการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนอยู่ในเกณฑ์สูง ไทยเป็นประเทศที่มีรายได้ปานกลางค่อนข้างสูง มีคนตายจากอุบัติเหตุสูง ส่วนใหญ่เป็นวัยหนุ่มสาว ถ้าไม่ตาย โอกาสสร้างความเติบโตทางเศรษฐกิจมีมาก ทำให้ไทยเป็นประเทศที่เหมาะกับการลงทุนด้านนี้ มีรายงานถ้าลงทุนสร้างถนนใหม่ เพิ่มอัตราการตายจากถนน แต่ถ้าลงทุนระบบมอเตอร์เวย์ ไม่มีทางร่วม ทางแยก อัตราตายลดลง ลงทุนบำรุงรักษาถนนลดอัตราการตายได้ ส่วนงานวิจัยของ มศว. ศึกษาต้นทุนประสิทธิผลของนโยบายความปลอดภัยทางถนนของไทย พบการเพิ่มงบประมาณมีส่วนสำคัญกับผลสัมฤทธิ์เชิงนโยบายเพิ่มขึ้น และลดอัตราตายทางถนน ไทยต้องพัฒนาเรื่องจัดสรรงบประมาณ ส่วนตำรวจเสนอให้พัฒนาระบบฐานข้อมูลวิเคราะห์ความคุ้มค่าในการลงทุนจุดเสี่ยงต่างๆ นำไปสู่การแก้ไข มีผลศึกษาการลงทุนในระบบขนส่งมวลชนช่วยลดอุบัติเหตุและอัตราตายได้ชัดเจน การจราจรคล่องตัว
“ เสนอการลงทุนแบบเน้นผลกระทบในการสร้างความปลอดภัยทางถนน เพิ่มป้องกันมากขึ้น ลดค่าใช้จ่ายเมื่อเกิดเหตุขึ้น ส่วนที่เหลือแบ่งมาลงทุน มีตัวอย่างการลงทุนรณรงค์สวมหมวกนิรภัยในกัมพูชา ตั้งเป้า 60% จากเดิม 20% ผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจจะเพิ่มขึ้น ไทยสามารถมีแนวทางการลงทุนเพื่อความปลอดภัยทางถนนในรูปแบบใหม่ๆ ได้ ปัจจุบันการกำหนดเป้าหมายลดตายรายจังหวัดถ้าพ่วงกับการลงทุนจะสอดคล้องกับระดับจังหวัด จากนั้นชวนภาคีสร้างเสริมสุขภาพทั้ง 6 ด้าน มาร่วมพลิกโฉม ทั้งธุรกิจสอนขับรถ นักวิเคราะห์ข้อมูลดิจิทัล ระบบกล้องCCTV การมีส่วนร่วมกลไก ศปถ.ระดับตำบล “ ดร.เดชรัตน์ กล่าว
ร่างแผนแม่บทความปลอดภัยทางถนน พ.ศ.2565-2570 เป็นอีกเครื่องมือลดสูญเสีย ดร.สุเมธ องกิตติกุล สถาบันเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) กล่าวว่า ร่างแผนแม่บทฯ ฉบับที่ 5 มีจุดเน้นผู้ใช้รถจักรยานยนต์ วัยรุ่นและเยาวชนที่เสียชีวิตสูงสุด การจัดการความเร็ว และการติดตามและประเมินผลอย่างต่อเนื่องทุก 6 เดือน ซึ่งต้องสามารถดำเนินการได้จริง มีกลไกการทำงานในระดับพื้นที่ ระดับจังหวัด กำหนดผู้รับผิดชอบที่ชัดเจนเพื่อลดจุดอ่อน เป้าหมายของแผนฯ มียุทธศาสตร์ลดผู้เสียชีวิตและผู้บาดเจ็บสาหัสระดับประเทศและจังหวัด พัฒนาสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัยและเดินทางที่ยั่งยืนในยุควิถีใหม่ มีหน่วยงานภาคีช่วยติดตามข้อมูลสถิติความเสี่ยง ทุกภาคส่วนร่วมดำเนินการสู่การสัญจรทางถนนที่ปลอดภัยสำหรับทุกคน มีการปรับปรุงกฎหมายและจัดสรรงบประมาณอย่างสร้างสรรค์
เวทีนำเสนอโมเดลรูปธรรมระดับพื้นที่ นพ.ธีรวุฒิ โกมุทบุตร แผนงานสนับสนุนการป้องกันอุบัติเหตุจราจรระดับจังหวัด กล่าวว่า ไทยมีจักรยานยนต์กว่า 21 ล้านคัน แต่อัตราสวมหมวกนิรภัยเพียง 42% ทั้งประเทศเสียชีวิตปีละ 1.3 หมื่นคน กลางวันตายน้อย กลางคืนตายมาก ถ้าสวมหมวกลดตายได้ 2 ใน 3 เป็นแนวทางป้องกันที่คุ้มค่าต่อการลงทุน มีตัวอย่างติดตั้งกล้อง CCTV อัจฉริยะ ตรวจไม่ใส่หมวกนิรภัยใน จ.เชียงใหม่ ภายใน 1 เดือน ใส่เพิ่มขึ้นมากกว่า 20% ทุกจุด ก่อนจับปรับสร้างการรับรู้ไม่ใส่หมวก ใบสั่งปรับถึงบ้าน
“ ปัจจุบัน 5 อำเภอที่อัตราตายสูงในเชียงใหม่สวมหมวกเกิน 80% ลดตายลงครึ่งหนึ่ง กล้องฉลาดสามารถประหยัดชีวิตคนไทยกว่า 6,000 คน ทุกปี ลดตาย 3 ปี ได้ 20,000 คน ใช้เงิน 300 ล้านบาท ถึงเวลาที่ไทยประกาศนโยบายลดตายครึ่งทั่วไทย เป็นการใช้เทคโนโลยีแทนการตั้งด่าน “ นพ.ธีรวุฒิ ย้ำไทยทำได้
การขับเคลื่อนขับขี่ปลอดภัยยังมีต้นแบบที่ อ.เสลภูมิ จ.ร้อยเอ็ด นายสันติ ธรณี นักวิชาการสาธารณสุขชำนาญการ สำนักงานสาธารณสุขอำเภอเสลภูมิ แชร์ประสบการณ์ว่า อำเภอเสลภูมิเป็นอำเภอใหญ่ มีโรงพยาบาล และโรงเรียนมาก เริ่มงานลดอุบัติเหตุทางถนนตั้งแต่ปี 2558 แม้ตัวเลขผู้บาดเจ็บและสถิติอุบัติเหตุลดลง แต่ยังตายเป็นอันดับ 2 ของจังหวัด จากพัฒนาถนนเพิ่มขึ้น ตายจากจักรยานยนต์ 89% ดึงทุกภาคร่วมกลไกแก้ปัญหา มีการปรับพฤติกรรมส่งเสริมสวมหมวกด้วยทักษะเชิงบวก (BBS) กับกลุ่มเยาวชนและประชาชน เน้น 6 พื้นที่อุบัติเหตุสูง จัดตั้งจุดตรวจ”ด่านชุมชน” BBS เน้นสื่อสารความห่วงใย ตักเตือนให้ใส่หมวก ชี้ผลกระทบ และสัญญาขับขี่ครั้งต่อไปใส่หมวก ลดอุบัติเหตุ ส่วนผู้ขับขี่ใส่หมวกสร้างเป็นแนวร่วม เมื่อประเมินพบพฤติกรรมสวมหมวกนิรภัยเพิ่มขึ้นตามลำดับหลังดำเนินงานมา1ปี สเสลภูมิจะขยายผลสู่โรงเรียนมัธยม 6 แห่ง ปลูกฝังพฤติกรรมความปลอดภัยให้วัยรุ่น
“ เวทีระดับชาติครั้งนี้เสนอให้ขยายพื้นที่ BBS แต่งตั้งคณะทำงาน วิทยากร BBS ระดับ ศปถ.อำเภอ ส่งเสริมแนวคิดในพื้นที่ ศปถ.อปท. สร้างเจ้าภาพร่วม เช่น สถานศึกษา สถานประกอบการ วัด การประเมินผล คืนข้อมูลพฤติกรรมความปลอดภัย ด่านครอบครัว ด่านชุมชน หรือปรับใช้หอกระจายข่าว สร้างการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม สร้างแกนนำต้นแบบในพื้นที่ “ นายสันติ เสนอแนะทิ้งท้าย
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
รณรงค์ "กินให้หมดจาน" 50ร้านต้นแบบช่วยลดขยะ
รู้หรือไม่?!?..... มีสถิติระบุว่า ขยะอาหารโลกพุ่งกว่า 1 พันล้านตัน ภาพขยะกองสูงเป็นภูเขาที่รอฝังกลบ กว่าครึ่งคือขยะอาหาร คนไทยเพียงคนเดียวผลิตขยะสูงลิ่ว 146 กก./คน/ปี
“รองนายกฯ ประเสริฐ” สั่งเดินหน้าคุมเข้มลดเจ็บ-ตายปีใหม่ เฝ้าระวัง “นักซิ่งเยาวชน” หลังพบดื่มแล้วขับ “เจ็บ-ตาย” เฉลี่ยชั่วโมงละ 3 คน เล็งเชื่อมข้อมูลทำระบบ “ใบสั่งออนไลน์”
เมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2567 ที่สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) ในฐานะประธานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ
"สิทธิในอาหาร..เพื่อชีวิตที่ดี" ทุกภาคส่วนต้องร่วมผลักดัน
องค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) กำหนดให้วันที่ 16 ต.ค.ของทุกปี เป็นวันอาหารโลก (World Food Day) เพื่อให้ทุกคนตระหนักถึงสิทธิในอาหาร
สสส. ทำถึง กวาด 14 รางวัลสื่อสาร จากแอด พีเพิล อวอร์ส 2567 ผ่าน 5 ผลงาน สื่อสารการตลาดเพื่อสังคม “Walk Stadium” “หมวกกันน็อกคืนชีพ” “แอร์ล้างได้ปอดล้างไม่ได้” “พวงเครื่องปรุงจิ๋ว” “การเดินทางของบุหรี่”
น.ส.สุพัฒนุช สอนดำริห์ ผู้อำนวยการสำนักอาวุโส สำนักสื่อสารการตลาดเพื่อสังคม สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า ผลงานโฆษณาและการสื่อสารการตลาดเพื่อสังคม สสส. ได้รับรางวัลแอด พีเพิล อวอร์ส 2567
ต่อยอด! ติดอาวุธสมองป้องกัน ความเสี่ยงภัยบนโลกไซเบอร์
ผลสำรวจปี 2567 คนไทยใช้อินเทอร์เน็ตมากถึง 88% ของประชากรทั้งหมด และส่วนใหญ่ใช้งานนานเกือบ 8 ชั่วโมงต่อวัน แสดงให้เห็นว่าเราใช้เวลาเกือบ 1 ใน 3 ท่องโลกอินเทอร์เน็ต