กรุงเทพมหานคร หากโฟกัสลงไปในรายละเอียดแล้ว มิได้มีประชากรเฉพาะเจาะจงผู้มีภูมิลำเนา มีทะเบียนบ้าน หรือมีสิทธิเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร จำนวน 4.4 ล้านคนเท่านั้น แต่หมายรวมถึงคนไทยที่เดินทางเข้ามาพำนักอาศัย ศึกษา ทำงาน ค้าขาย จำนวนมากถึง 38.63 ล้านคน อีกทั้งยังต้องคำนึงถึงแรงงานข้ามชาติอีกจำนวนไม่น้อยกว่า 4.7 ล้านคนที่กระจายอยู่ตามพื้นที่ต่างๆ ด้วย
ด้วยข้อเท็จจริงดังกล่าว หากจะเขียนแผนหรือวางนโยบายใดๆ ที่จะสร้างเสริมสุขภาพของคนในเมืองหลวง จึงมองข้ามประเด็นที่เกี่ยวเนื่องกับปัจจัยสังคมและสิ่งแวดล้อมมิได้ เพราะปัญหาโรคภัยไข้เจ็บ ตลอดจนโรคระบาดต่างๆ นั้น เราตระหนักรับรู้แล้วว่า ไม่มีการแบ่งเชื้อชาติ ภาษา และอาชีพ ที่สำคัญ ปัญหาสุขภาพนั้นไม่ได้เกิดขึ้นเพราะพฤติกรรมส่วนบุคคลเพียงอย่างเดียว หากยังมีเงื่อนไขและปัจจัยทางสังคมที่มีส่วนในการกำหนดสุขภาพให้คนคนนั้นมีสุขภาพเช่นใดด้วย
"การลดความเหลื่อมล้ำและสร้างความเป็นธรรมทางสุขภาพ" จึงเป็นทางออก และจะทำให้กรุงเทพฯ เป็นเมืองคนมีสุขภาพดี ด้วยพื้นฐานในการป้องกันไว้ดีกว่าแก้ เพราะถ้าดูแลส่งเสริมป้องกันก่อนเจ็บป่วย ก็จะช่วยลดค่าใช้จ่ายของระบบหลักประกันสุขภาพได้อย่างดีเยี่ยม
สำนักสนับสนุนสุขภาวะประชากรกลุ่มเฉพาะ (สำนัก 9) สำนักงานสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เล็งเห็นว่า กรุงเทพฯ เมืองสุขภาพดี สามารถเป็นจริงได้ จึงจัดเสวนา “ร่วมสร้างกรุงเทพฯ เมืองสุขภาพดีสำหรับคนในกรุงเทพฯ ทุกคน” ร่วมกับภาคีเครือข่าย ในการ “ลดความเหลื่อมล้ำและสร้างความเป็นธรรมทางสุขภาพ" อาทิ มูลนิธิเพื่อเยาวชนชนบท สำนักสื่อสาธารณะ ไทยพีบีเอส และเครือข่ายองค์กรด้านประชากรข้ามชาติ เมื่อเร็วๆ นี้
ข้อมูลจากงานเสวนา นายสุรสักย์ ธไนศวรรยางกูร นักวิชาการอิสระ ได้บอกเล่าถึงสถานการณ์ด้านสุขภาพในกรุงเทพมหานครว่า จากการทำงานกับกลุ่มแรงงานข้ามชาติในกรุงเทพฯตลอด 2 ปีที่ผ่านมา พบว่าระบบบริการสาธารณสุขจะมี 3 ขั้นคือ 1.ระบบปฐมภูมิ ที่จะให้บริการด้านส่งเสริมป้องกันโรค มีศูนย์สุขภาพชุมชนและศูนย์บริการสาธารณสุข ซึ่งมีอยู่ 69 ศูนย์ใน 50 เขต
2.ระบบทุติยภูมิ เรื่องการรักษาพยาบาล เป็นรพ.สังกัด กทม.และกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) 3.ระบบตติยภูมิ ต้องการผู้เชี่ยวชาญในการรักษา เป็นโรงพยาบาลมหาวิทยาลัย ถ้าระบบเหล่านี้เอื้ออำนวยต่อคนที่อยู่ในกรุงเทพฯ ทั้งคนที่มีภูมิลำเนา ผู้ที่เข้ามาทำงานและผู้ลี้ภัยชาวต่างประเทศ จะทำให้ปัญหาสุขภาพต่างๆ ลดน้อยลง
“เป็นที่สังเกตว่าบรรดาแรงงานข้ามชาติ กลุ่มผู้ลี้ภัยใน กทม. ยังมีอีกหลายคนที่ประสบภาวะการขาดอาหาร ขาดการสุขาภิบาลที่ดี ขาดความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน มีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคต่างๆ อุบัติเหตุ การตั้งครรภ์ก่อนวัยอันควร โรคไม่ติดต่อเรื้อรัง เป็นปัญหาพื้นฐาน และหลายคนมีข้อจำกัดในเรื่องการเข้าการรักษาพยาบาล” สุรสักย์สะท้อนถึงปัญหา ทั้งนี้ ยังได้ให้ข้อเสนอเพื่อให้สนองตอบต่อปัญหาสุขภาพของคนที่อยู่ใน กทม. ตั้งแต่ปรับการทำงานร่วมกันระหว่างหน่วยงานภายใน กทม. ให้สอดคล้องประสานกัน โดยมีตัวกลางในการเชื่อมทำงานร่วมกัน"
นายสุรสักย์มีข้อแนะนำว่า การปรับโครงสร้างหน่วยงานภาครัฐสังกัด กทม.ในระดับปฐมภูมิ จะต้องมีศูนย์สุขภาพชุมชนที่มีส่วนร่วมของพี่น้องแรงงานข้ามชาติ ซึ่งชุมชนใน กทม. มีประมาณ 2,000 ชุมชน แต่อยู่ภายใต้ระเบียบ กทม. ที่ไม่ได้เปิดโอกาสให้ชุมชนแรงงานข้ามชาติจัดตั้งเป็นชุมชนได้ ภายใต้เงื่อนไขของฝ่ายพัฒนาชุมชนและสวัสดิการสังคม ซึ่งหากได้รับการจัดตั้งจะได้รับเงินอุดหนุนในการทำงานร่วมกันในชุมชน จึงต้องแก้ไขระเบียบ เปิดโอกาสให้จัดตั้งชุมชน จะเป็นส่วนที่สนับสนุนระบบบริการปฐมภูมิของพื้นที่ และมีกองทุนสุขภาพชุมชน ช่วยทำแฟ้มบุคคลในครอบครัว เมื่อเกิดโรคระบาดขึ้นมาก็จะสามารถเข้าถึงบริการสาธารณสุขได้ และจะเชื่อมต่อไปสู่การลงทะเบียนเป็นบัตรสุขภาพชุมชน
“ถ้าจัดบริการให้แรงงานข้ามชาติทำงานได้ปลอดภัย คนไทยก็ปลอดภัย ตราบใดไม่ควบคุมป้องกันในแรงงานข้ามชาติ จะไม่สามารถตัดวงจรการแพร่ระบาดของโรคที่อาจจะเกิดขึ้นใหม่ๆ ต่อจากนี้ได้” นายสุรสักย์กล่าว
ขณะที่เสียงสะท้อนจากผู้แทนภาคเครือข่ายภาคประชาสังคมและพี่น้องประชากรกลุ่มเฉพาะ ต่อระบบบริการสุขภาพของ กทม. นั้น วรรณนา แก้วชาติ มูลนิธิพัฒนาที่อยู่อาศัย กล่าวว่า การเข้าถึงระบบบริการสุขภาพใน กทม. พบว่าคนกลุ่มนี้เข้าถึงได้น้อยที่สุด แม้มีหน่วยบริการมากมาย แต่ไม่สามารถเข้าถึงได้ ทั้งคนที่มีทะเบียนบ้านอยู่ต่างจังหวัด หรือการย้ายสิทธิรักษาทำได้ยาก และพี่น้องส่วนหนึ่งไม่มีบัตรประจำตัวประชาชน และแรงงานเพื่อนบ้านที่อาศัยในชุมชนไม่สามารถเข้าถึงบริการด้านสุขภาพได้
การแก้ปัญหาด้านสุขภาพของคน กทม. ข้อเสนอถึงผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครคนใหม่ คือ 1.ผู้ว่าฯ คนใหม่ต้องมีคำสั่งหรือระเบียบของ กทม.ให้มีความคล่องตัว มีนโยบายชัดเจนให้ศูนย์สาธารณสุขชุมชน เข้ามาจัดการปัญหาสุขภาพในเขตตนเอง เช่น ผลักดันให้ศูนย์สาธารณสุขชุมชนหลายแห่งที่มีความพร้อมเป็น รพ. เช่นศูนย์ฯ เขตคลองสามวา ที่ปัจจุบันเป็น รพ.คลองสามวาแล้ว ทำให้คนในพื้นที่เข้าถึงบริการได้ง่ายขึ้น และ 2.ต้องมองว่าคนที่อยู่ในกทม.ทุกคนต้องเข้าถึงสิทธิการรักษาพยาบาลทุกคน เพราะสิทธิทางสุขภาพรอไม่ได้ ผู้ว่าฯ ต้องให้ความสำคัญเรื่องนี้
นายสุจิน รุ่งสว่าง ประธานศูนย์ประสานงานเครือข่ายแรงงานนอกระบบ กล่าวว่า แรงงานนอกระบบทั่วประเทศประมาณ 21.3 ล้านคน ซึ่งส่วนใหญ่มาทำมาหากินใน กทม. แต่ระบบการเข้าถึงด้านสุขภาพลำบาก แม้สามารถย้ายสิทธิได้ปีละ 4 ครั้ง และสามารถใช้สิทธิฉุกเฉินได้ แต่ความฉุกเฉินของแรงงานกับแพทย์มีความแตกต่างกัน เพราะฉะนั้นต้องรับภาระค่าใช้จ่ายเองทั้งหมด กรุงเทพฯ ต้องดูแลคนทุกคนที่อยู่บนผืนแผ่นดินของ กทม. ไม่แยกว่าเป็นคน กทม.เท่านั้นที่ดูแลและคุ้มครอง แม้แต่แรงงานข้ามชาติที่มาช่วยสร้างเศรษฐกิจก็ต้องดูแล เพราะสุขภาพเป็นเรื่องสำคัญ เมื่อเจ็บป่วยไม่สามารถทำงานได้ ถ้าดูแลส่งเสริมป้องกันก่อนเจ็บป่วยจะลดค่าใช้จ่ายของระบบหลักประกันสุขภาพ
“ผู้ว่าฯ กทม.คนใหม่ควรปรับระบบให้ถือบัตรใบเดียวไปรักษาที่โรงพยาบาลใดก็ได้ ไม่ใช่รักษาตรงไหนก็ได้เฉพาะฉุกเฉินเท่านั้น อยากเห็นระบบที่เจ็บป่วยตรงไหนก็เข้ารักษาได้เลย เพราะแรงงานนอกระบบไม่ได้มีงานประจำวัน บางวันอาจจะขายของอยู่ลาดกระบัง อีก 2 เดือนอาจขายของอยู่พระโขนง ถ้าสามารถถือบัตรใบเดียวรักษาได้ทุกที่ ทำให้พี่น้องเข้าถึงระบบสุขภาพได้สะดวกขึ้น ลดค่าใช้จ่ายในการเดินทาง” นายสุจินเสนอแนวทาง
นางวาสนา ลำดี มูลนิธิพิพิธภัณฑ์แรงงานไทย กลุ่มแรงงานไทยย้ายถิ่น กล่าวว่า ใน กทม.นโยบายปกติใช้ไม่ได้ ต้องใช้นโยบายแบบพิเศษในการดูแลคนทุกคนแบบเท่าเทียมกัน ให้มีคุณภาพชีวิตที่ดี ทั้งสุขภาพ การเดินทาง ซึ่งกรุงเทพฯ เป็นเมืองที่คนไหลไปไหลมา ไม่ใช่คนอยู่กับที่ การดูแลจึงไม่ใช่เฉพาะคนกรุงเทพฯ ที่ผู้ว่าฯ ควรดูแล เพราะฉะนั้นผู้ว่าฯ ต้องดูแลคนในกรุงเทพฯ ทุกคนที่เข้ามาพัฒนากรุงเทพฯ ให้มีความเจริญ ไม่ใช่ปล่อยทิ้งขว้าง ให้ใช้ชีวิตตามยถากรรม
“ผู้ว่าฯ กทม. จะต้องมีนโยบายที่ต้องดูแลคนในกรุงเทพฯ ทุกคน และเรื่องสุขภาพของคนในกรุงเทพฯ ไม่ใช่ดูแค่ รพ. หรือระบบหลักประกันสุขภาพ แต่ต้องดูเรื่องระบบสาธารณูปโภคทั้งหมด เรื่องการเดินทางต่างๆ ด้วย และคุณภาพชีวิตทั้งหมด เพื่อสุขภาพจิตสุขภาพกายที่ดีขึ้น” วาสนากล่าว
“กรุงเทพฯ เมืองสุขภาพดีสำหรับคนในกรุงเทพฯ ทุกคน” จึงไม่ใช่แค่เพียงภาพฝัน แต่เป็นสิ่งที่สามารถเกิดขึ้นได้
ประชากรกลุ่มเฉพาะในกรุงเทพมหานคร
คนพิการที่ลงทะเบียน1.9ล้านคน ชาย: 130,175 คน หญิง: 81,462 คน ไม่ได้ลงทะเบียน 2 แสนคน |
ผู้สูงอายุ 10.9 ล้านคน ผู้สูงอายุจำนวน 1 ล้านคนเป็นกลุ่มที่ต้องพึ่งพาบางส่วนหรือพึ่งพาทั้งหมดและต้องการผู้ดูแล ดูแลตัวเองได้ 84.7% พึ่งพาบ้าง (ติดบ้าน) 11.3% พึ่งพา 100% (ติดเตียง) 1.3% |
ผู้สูงวัยและหญิงมุสลิม 3.43 ล้านคน บริโภคบุหรี่ร้อยละ 0.56/เดือน ได้รับบุหรี่มือสองที่บ้านร้อยละ 43.7 |
ผู้มีปัญหาลักษณะบุคคลและประชากรข้ามชาติ 4.7ล้านคน ไม่ได้รับสิทธิขั้นพื้นฐานด้านสาธารณสุข กองทุนหลักประกันสุขภาพ ต้องเสียค่ารักษาพยาบาลเองเต็มจำนวนเป็นค่าใช้จ่ายที่สูง |
ประชากรผู้หญิง 33.3 ล้านคน มีคุณภาพชีวิตด้อยกว่าผู้ชาย เสี่ยงต่อภาวะซึมเศร้า โรคเรื้อรัง พิการยาวนาน ร้อยละ 34.6 ประสบปัญหาความรุนแรง ร้อยละ 82.6 เลือกที่จะเผชิญปัญหาด้วยตัวเองเพราะเป็นเรื่องส่วนตัว |
ผู้ต้องขังหญิง 4.5 หมื่นคน คิดเป็นร้อยละ 14.6 มีอัตราสูงที่สุดในโลก เมื่อเทียบกับสัดส่วนผู้ต้องขังหญิงต่อประชากรแสนคน ปัญหาคนล้นคุก มีสุขภาพจิต ซึมเศร้า จิตตก ร้อยละ 80 มีปัญหาสุขภาพช่องปาก |
วัยแรงงานหญิง 38.3 ล้านคน เป็นแรงงานในระบบร้อยละ 48 แรงงานนอกระบบร้อยละ 52 ไม่มีหลักประกันจากการทำงานและระบบสวัสดิการสังคมรองรับ เข้าไม่ถึงสิทธิด้านแรงงาน กม.คุ้มครองแรงงาน เจ็บป่วยแล้วไม่ได้รับการรักษาพยาบาลที่หน่วยบริการ |
คนไร้บ้าน 3,000 คน มีสาเหตุจากความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ ทางสังคม การเมือง เข้าไม่ถึงบริการสุขภาพและสวัสดิการสังคม มีปัญหาสุขภาพจิตสุขภาพช่องปากและฟัน |
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
โชว์ต้นแบบรถยนต์ไฟฟ้าดัดแปลง ลดฝุ่นอากาศสะอาดทุกลมหายใจ
"อากาศบริสุทธิ์ใน กทม.เป็นจริงได้ ด้วยจุดเปลี่ยนร่วมมือร่วมใจ ให้เป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่ทุกคนต้องได้" ด้วยแนวคิดข้างต้น สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)
ทำความรู้จัก “เชื้อดื้อยา” จากผลงานประกวดภาพวาดการ์ตูนคอมมิค
การสื่อสารในประเด็น “เชื้อดื้อยา”เพื่อให้คนส่วนใหญ่ รับรู้ เข้าใจ ถึงผลกระทบ และร่วมกันป้องกัน เป็นเรื่องที่องค์กรที่ทำงานด้านนี้ได้พยายามทำมาอย่างต่อเนื่อง
โฟกัสเชียงใหม่ต้นแบบความสำเร็จ งดขายเหล้าเทศกาลพร้อมเป็นตาสับปะรด
เชียงใหม่ต้นแบบความสำเร็จ ทุกเทศกาลประกาศงดขายงดดื่มเหล้า ทราบล่วงหน้า 15 วัน ประชุมหน่วยงานเกี่ยวข้องเตรียมพร้อมรับมือ ภาคประชาสังคมพร้อมใจเป็นตาสับปะรดร้องเรียน
'สมศักดิ์' ดึง สสส. ช่วย 'นับคาร์บ' ชวนคนไทยลดโรค NCDs ต้นเหตุคร่าชีวิตคนไทยชั่วโมงละ 45 คน ผจก.สสส.เดินหน้าพัฒนาฐานข้อมูลเชื่อมท้องถิ่นลดเสี่ยง
นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ในฐานะรองประธานกรรมการกองทุน สสส. คนที่ 1 กล่าวในการเป็นประธานประชุมกรรมการกองทุนฯ ครั้งที่ 8/2567 ว่า จากข้อมูลพบว่ามีผู้เสียชีวิตจาก NCDs 400,000 คนต่อปี คิดเป็นชั่วโมงละ 45 คน
‘สมัชชาสุขภาพ ครั้งที่ 17’ ปิดฉากชื่นมื่น บรรลุ 2 นโยบายฯ สร้างเศรษฐกิจยุคใหม่
สมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 17 ปิดฉากลงอย่างชื่นมื่น สมาชิกกว่า 3,000 ชีวิต ให้การรับรอง 2 ระเบียบวาระ “พลิกโฉมกำลังคนเพื่อสังคมสุขภาวะ - การท่องเที่ยวแนวใหม่ สู่สุขภาวะและเศรษฐกิจ
จับตาปลดล็อก..ควบคุมเหล้าเบียร์ กฎหมายใหม่เปิดช่องขายได้ทั่วถึง
รายงานองค์การอนามัยโลก (WHO) ปี 2567 ชี้ว่าแนวโน้มการบริโภคแอลกอฮอล์/หัวประชากร และผลกระทบต่อสุขภาพมีความซับซ้อนและแตกต่างกันตามภูมิภาคต่างๆ ที่น่ากังวลคือ ในภาคพื้นเอเชียตะวันออกเฉียงใต้นั้นมีแนวโน้มจะมีการดื่มที่สูงขึ้น