พอช.ร่วมมือกับท้องถิ่น-ชุมชน เดินหน้า ‘โครงการพัฒนาคุณภาพชีวิตสำหรับผู้มีรายได้น้อยในเมืองและชนบทกลุ่มจังหวัดอันดามัน’ 6 จังหวัด คือ ระนอง พังงา ภูเก็ต กระบี่ ตรัง และสตูล ตั้งเป้าดำเนินการปีนี้ 2,000 ครอบครัว ขณะที่ ‘จุรินทร์’ รองนายกฯ เตรียมเสนอ ครม.อนุมัติโครงการเพื่อให้ประชาชนกลุ่มจังหวัดอันดามัน มีที่อยู่อาศัยที่มั่นคงและมีคุณภาพชีวิตที่ดี รวม 14,388 ครอบครัว
ชายฝั่งทะเลอันดามันของประเทศไทย เริ่มจากปากน้ำกระบุรี (พรมแดนไทย-พม่า) จังหวัดระนอง ลงมายังพังงา ภูเก็ต กระบี่ ตรัง และสตูล (พรมแดนไทย-มาเลเซีย) มีความยาวทั้งหมดประมาณ 1,111 กิโลเมตร ข้อมูลจากกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ระบุว่า มีชุมชนต่างๆ ตั้งอยู่ชายฝั่งทะเล 6 จังหวัด ในพื้นที่ 29 อำเภอ 139 ตำบล รวม 14,388 ครัวเรือน
ชุมชนชายฝั่งเหล่านี้ส่วนใหญ่ประกอบอาชีพประมงพื้นบ้าน จับปลา ปู กุ้ง หอย หมึก เลี้ยงสัตว์ ทำสวนยางพารา สวนปาล์ม ฯลฯ มีปัญหาความไม่มั่นคงในที่อยู่อาศัยและการทำมาหากิน เนื่องจากส่วนใหญ่ปลูกสร้างบ้านเรือนอยู่ริมชายฝั่ง พื้นที่ป่าชายเลน ป่าโกงกาง หรืออยู่ในพื้นที่ที่หน่วยงานรัฐประกาศเป็นเขตห้ามล่าสัตว์ป่า เขตอนุรักษ์ป่าสงวนแห่งชาติ อุทยานแห่งชาติ หรือพื้นที่ที่กรมเจ้าท่าดูแลอยู่ ฯลฯ
แม้ชุมชนเหล่านี้จะอยู่อาศัยต่อเนื่องมายาวนาน แต่ก็ไม่ได้รับรองสถานะจากหน่วยงานรัฐ หลายพื้นที่หน่วยงานปกครองในท้องถิ่น เช่น อบต. ไม่สามารถเข้าไปสนับสนุนสาธารณูปโภคที่จำเป็น หรือส่งเสริมการพัฒนาคุณภาพชีวิตชาวชุมชนได้ เพราะถือว่าเป็นชุมชนบุกรุก หากเข้าไปสนับสนุนอาจจะมีความผิดตามกฎหมาย
แม้แต่การซ่อมแซมบ้านเรือนหากชาวบ้านไม่ขออนุญาตจากหน่วยงานเจ้าของที่ดินก็อาจจะมีความผิด เป็นปัญหาที่เรื้อรังมานาน ไม่เฉพาะชุมชนชายฝั่งทะเลเท่านั้น แต่ยังรวมถึงชุมชนที่อยู่ในพื้นที่ป่า พื้นที่สูงทั่วประเทศด้วย
อย่างไรก็ดี ปัญหาและอุปสรรคเหล่านี้ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ริเริ่มแก้ไขปัญหามาตั้งแต่ปี 2545 โดยคณะกรรม การการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (ก.ก.ถ./ ขึ้นอยู่กับสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี) ได้จัดทำแผนปฏิบัติการเพื่อการถ่ายโอนภารกิจด้านโครงสร้างพื้นฐาน ด้านงานส่งเสริมคุณภาพชีวิตให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) มาอย่างต่อเนื่อง เช่น การถ่ายโอนการศึกษาขั้นพื้นฐาน การถ่ายโอนบริการด้านสาธารณะให้ อปท. ฯลฯ
ส่วนการกระจายอำนาจและการถ่ายโอนภารกิจด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมให้ อปท. เพิ่งจะประสบความสำเร็จเมื่อปี 2564 ที่ผ่านมา
6 หน่วยงาน MoU. ปลดล็อกพัฒนาชุมชนในเขตป่า-ชายฝั่งทะเลได้
โดยเมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2564 มีการลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (Memorandum of Understanding) เพื่อสนับสนุนการกระจายอำนาจด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ระหว่างผู้แทน 6 หน่วยงาน คือ กรมอุทยานแห่งชาติ กรมป่าไม้ กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น สำนักงานคณะกรรมการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (ก.ก.ถ.) และสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) โดยมีนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน
บันทึกความร่วมมือในครั้งนี้ มีทั้งหมด 3 ฉบับ คือ 1.ฉบับที่เกี่ยวข้องกับที่ดินในเขตอุทยาน เขตรักษาพันธ์สัตว์ป่า ฯลฯ ที่กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืชดูแล 2.ฉบับที่เกี่ยวข้องกับที่ดินในเขตป่าสงวนแห่งชาติที่กรมป่าไม้ดูแล และ 3.ฉบับที่เกี่ยวกับที่ดินป่าชายเลนที่กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งดูแล
โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อร่วมกันสนับสนุนการอนุรักษ์ ฟื้นฟูป่า ส่งเสริมอาชีพ พัฒนาที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัย พัฒนาคุณภาพชีวิตชาวชุมชนที่อาศัยอยู่ในเขตอุทยานฯ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า เขตป่าสงวนฯ และป่าชายเลน ระยะเวลาความร่วมมือ 5 ปี (พ.ศ.2564-2568)
นายวิษณุ รองนายกฯ (นั่งกลาง) เป็นประธานในพิธีลงนาม มี รมว.กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (นั่งซ้าย) และ รมว. กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (นั่งขวา) ร่วมในพิธี
ผลจากการลงนามในครั้งนี้จะทำให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ หรือ พอช.สามารถเข้าไปสนับสนุนการพัฒนาระบบสาธารณูปโภคพื้นฐานที่จำเป็น การพัฒนาอาชีพ รายได้ ที่อยู่อาศัย ที่ดินทำกิน การดูแลรักษาฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ฯลฯ ซึ่งจะทำให้คุณภาพชีวิตประชาชนและชุมชนที่อยู่อาศัยทำกินในเขตป่าดีขึ้น
ส่วนบทบาทและภารกิจของ พอช. ที่ร่วมลงนามในครั้งนี้ คือ 1.ร่วมสนับสนุนการจัดทำแผนและการดำเนินงานเกี่ยวกับการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชน 2.ร่วมสนับสนุนงบประมาณแก่องค์กรชุมชนในการพัฒนาที่อยู่อาศัย 3.ร่วมสนับสนุนการจัดทำแผนพัฒนาคุณภาพชีวิตและแผนพัฒนาที่อยู่อาศัยของชุมชนที่อาศัยอยู่ในเขตพื้นที่ที่เกี่ยวข้อง เช่น การจัดตั้งกลุ่มออมทรัพย์ การพัฒนาความเข้มแข็งของกลุ่มองค์กรชุมชน
4.ร่วมสนับสนุนกระบวนการออกแบบวางผังการใช้ประโยชน์ที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัยโดยคำนึงถึงระบบนิเวศ การดูแลรักษาทรัพยากรธรรมชาติสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน และ 5.สนับสนุนงบประมาณแก่องค์กรชุมชนในการพัฒนาที่อยู่อาศัย ที่ดินทำกิน ระบบสาธารณูปโภคที่จำเป็น คุณภาพชีวิต การสร้างกระบวนการเรียนรู้ ตลอดจนสินเชื่อที่อยู่อาศัยตามความจำเป็น ฯลฯ
พอช.ต่อยอดพัฒนาชุมชนชายฝั่งทะเลอันดามัน 6 จังหวัด
สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ มีภารกิจในการส่งเสริมสนับสนุนสร้างความเข้มแข็งให้แก่ชุมชน องค์กรชุมชน และภาคีเครือข่ายทั่วประเทศ ผ่านกิจกรรม โครงการต่างๆ เช่น การพัฒนาและแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยตามโครงการ ‘บ้านมั่นคง’ การส่งเสริมอาชีพ สร้างรายได้ พัฒนาคุณภาพชีวิต สิ่งแวดล้อม ส่งเสริมการจัดสวัสดิการชุมชน การจัดตั้งสภาองค์กรชุมชนตำบลเพื่อเป็นเครื่องมือในการพัฒนาชุมชน ฯลฯ
เมื่อมีการปลดล็อคให้ อปท. และหน่วยงานต่างๆ สามารถเข้าไปส่งเสริมการพัฒนาชุมชนในเขตป่าและชายฝั่งทะเลได้ สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ หรือ พอช. ได้จัดทำ ‘โครงการพัฒนาคุณภาพชีวิตและที่อยู่อาศัยพื้นที่กลุ่มจังหวัดอันดามัน’ ขึ้นมาในปี 2564 เพื่อให้ชุมชนชายฝั่งอันดามันได้รับโอกาสในการพัฒนาชุมชน ขณะนี้อยู่ในระหว่างการเริ่มต้นโครงการ
นายธีรพล สุวรรณรุ่งเรือง ผู้อำนวยการ ‘โครงการพัฒนาคุณภาพชีวิตสำหรับผู้มีรายได้น้อยในเมืองและชนบทกลุ่มจังหวัดอันดามัน’ สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ บอกว่า กลุ่มจังหวัดอันดามัน 6 จังหวัด คือ ระนอง พังงา ภูเก็ต ตรัง กระบี่ และสตูล มีชุมชนผู้มีรายได้น้อย ไม่มีความมั่นคงในที่อยู่อาศัยและที่ดินทำกินทั้งในเมืองและชนบทเป็นจำนวนมาก ส่วนใหญ่ประกอบอาชีพประมงพื้นบ้าน ทำสวนยางพารา สวนปาล์ม รับจ้างทั่วไป ฯลฯ
เขาบอกว่า ที่ผ่านมารัฐหรือหน่วยงานที่ดินในเขตป่าและชายฝั่ง รวมทั้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง มีแนวทางการแก้ไขปัญหาและผ่อนปรนการอยู่อาศัยและทำกินของประชาชนในหลายพื้นที่ เช่น การอนุญาตให้อยู่อาศัยและทำกิน การพัฒนาคุณภาพชีวิตชุมชน ควบคู่กับการดูแลอนุรักษ์ทรัพยากรชายฝั่ง ฟื้นฟูระบบนิเวศน์ ดิน น้ำ ป่า สอดคล้องกับวิถีชุมชนดั้งเดิม แต่เมื่อเปรียบเทียบกับพื้นที่ที่ได้ดำเนินการ พบว่ายังมีพื้นที่ที่มีปัญหาอีกจำนวนมาก
“ดังนั้น พอช.จึงจัดทำโครงการนี้ขึ้นมา เพื่อร่วมมือกับองค์กรชุมชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ประชาสังคม ภาคเอกชน ภาคีต่าง ๆ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อจะร่วมมือกันพัฒนาพื้นที่ชุมชนชายฝั่งอันดามันไปสู่ความยั่งยืนทุกมิติ” ผู้อำนวยการโครงการบอกถึงความเป็นมา
โครงการพัฒนาคุณภาพชีวิตฯ กลุ่มจังหวัดอันดามัน เริ่มดำเนินการตั้งแต่ช่วงปลายปี 2564 เป็นต้นมา โดยเริ่มจากชุมชนชาวประมงหรือชายฝั่งทะเลก่อน เพราะสภาพพื้นที่ 6 จังหวัดอันดามันมีชุมชนชายฝั่ง หรือชุมชนในเขตป่าชายเลนจำนวนมาก จากข้อมูลของกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งระบุว่า มีชุมชนเหล่านี้อยู่ในพื้นที่ 29 อำเภอ 139 ตำบล รวม 14,388 ครัวเรือน
ส่วนรูปแบบและวิธีการทำงานนั้น พอช.จะร่วมกับหน่วยงานในท้องถิ่น ภาคีเครือข่าย สถาบันการศึกษา และชุมชน จัดตั้งคณะทำงานขึ้นมา เช่น มีคณะทำงานระดับจังหวัด คณะกรรมการเมือง เพื่อประสานงานด้านนโยบายและสนับสนุนการทำงาน และมีคณะทำงานระดับพื้นที่ตำบล/เทศบาล โดยใช้องค์กรในชุมชนที่มีอยู่แล้วเป็นกลไกในการขับเคลื่อนงานในพื้นที่ เช่น สภาองค์กรชุมชนตำบล กองทุนสวัสดิการชุมชน ฯลฯ
มีกระบวนการทำงาน เช่น 1.การชี้แจงสร้างความเข้าใจกับชาวชุมชน เพื่อให้เกิดความเข้าใจตรงกัน เข้าใจวัตถุประสงค์ เป้าหมาย และวิธีดำเนินการ 2.การจัดตั้งกลุ่มออมทรัพย์เพื่อเป็นการรวมคน รวมเงิน สร้างฐานการเงินเป็นของชุมชน เรียนรู้ระบบการจัดการการเงินร่วมกัน 3.การแบ่งหน้าที่ ความรับผิดชอบในการทำงาน 4.การสำรวจข้อมูลชุมชน ความเดือดร้อน ความต้องการ จัดทำแผนที่ชุมชน 5.นำข้อมูลมาวางแผนการทำงาน-การแก้ไขปัญหา 6.เสนอโครงการ งบประมาณ 7.ปฏิบัติงานตามแผน ฯลฯ
“เราจะใช้กระบวนการขั้นตอนการทำงานตามแนวทางของโครงการ ‘บ้านมั่นคง’ ที่ พอช. ดำเนินงานทั่วประเทศมาเป็นแนวทางสำคัญ เพราะ ‘บ้านมั่นคง’ ไม่เพียงแต่จะแก้ไขปัญหาเรื่องที่ดินและที่อยู่อาศัยเท่านั้น แต่ยังรวมถึงการพัฒนาคุณภาพชีวิต การส่งเสริมอาชีพ รายได้ การแก้ไขปัญหาและการพัฒนาชุมชนในด้านต่างๆ ทุกมิติ ตามที่ชุมชนต้องการ โดยชุมชนต้องเป็นแกนหลักในการแก้ไขปัญหา พอช. และหน่วยงานภายนอกเป็นฝ่ายสนับสนุน ซึ่งแนวทางการพัฒนาแบบนี้จะทำให้ชุมชนเกิดความเข้มแข็ง สามารถพึ่งพาตนเองได้” นายธีรพลบอก
การจัดประชุมชาวบ้านที่อำเภอสิเกา จ.ตรัง
คนสิเกา จ.ตรัง - สุขสำราญ จ.ระนอง พร้อมพัฒนาชุมชน
ส่วนความคืบหน้า ‘โครงการพัฒนาคุณภาพชีวิตสำหรับผู้มีรายได้น้อยในเมืองและชนบทกลุ่มจังหวัดอันดามัน’ นั้น ขณะนี้มีการขับเคลื่อนโครงการแล้วในหลายจังหวัด หลายตำบล เช่น ตำบลบ่อหิน อ.สิเกา จ.ตรัง มีพื้นที่บางส่วนติดป่าชายเลนและฝั่งทะเล มี 9 หมู่บ้าน จำนวน 2,100 ครัวเรือน ประชากรประมาณ 7,000 คน ชาวบ้านส่วนใหญ่มีอาชีพทำสวนยาง ปาล์มน้ำมัน ประมงพื้นบ้าน และรับจ้างทั่วไป
นายภาคภูมิ สมันหลี รองประธานคณะทำงานที่อยู่อาศัยบ้านดุหุน หมู่ที่ 3 บอกว่า ตำบลบ่อหินมีการจัดตั้งสภาองค์กรชุมชนตำบลตั้งแต่ปี 2552 จึงใช้สภาฯ ขับเคลื่อนงาน เริ่มตั้งแต่เดือนมกราคมที่ผ่านมา เช่น ร่วมกับเจ้าหน้าที่ พอช.จัดประชุมชี้แจงสร้างความเข้าใจโครงการกับผู้นำชุมชนและชาวบ้าน จัดตั้งคณะทำงานในแต่ละหมู่บ้านขึ้นมา จัดตั้งกลุ่มออมทรัพย์ ร่วมกันสำรวจข้อมูล ครัวเรือนที่มีความเดือดร้อนเรื่องบ้าน เรื่องที่ดิน และปัญหาต่างๆ ในหมู่บ้าน-ตำบล จัดทำแผนที่ทำมือ ฯลฯ เพื่อนำมาวางแผนงานแก้ไขปัญหาทั้งตำบล เป็นแผนระยะ 3 ปี
ทั้งนี้จากการจัดประชุมคณะทำงานที่อยู่อาศัยบ้านดุหุน ล่าสุดเมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา มีคณะทำงานและตัวแทนชาวบ้านเข้าร่วมประชุมประมาณ 50 คน เพื่อให้ที่ประชุมรวบรวมปัญหาและเสนอแนวทางแก้ไข พบว่า ชาวบ้านมีปัญหาต่างๆ เช่น มีรายได้น้อย มีหนี้สิน มีอาชีพไม่มั่นคง ไม่มีทุนประกอบอาชีพ ไม่ที่ดินปลูกบ้าน อยู่ในที่ดินที่ไม่มีเอกสารสิทธิ์ บ้านเรือนทรุดโทรมคับแคบ ไม่มีบ้านเป็นของตนเอง น้ำประปาไม่พอใช้ ปัญหาขยะ ถนนเป็นดินลูกรัง ฝนตกจะเฉอะแฉะ น้ำท่วมขัง ฯลฯ โดยชาวบ้านต้องการจะแก้ไขปัญหาต่างๆ เหล่านี้
ขณะเดียวกัน ชาวบ้านได้ร่วมกันจัดตั้งกลุ่มออมทรัพย์เพื่อเป็นทุนในการพัฒนาชุมชน มีสมาชิกแรกเข้า 102 ครัวเรือน (บ้านดุหุนมีทั้งหมดประมาณ 250 ครัวเรือน) ร่วมกันออมเงินเข้ากลุ่มตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ครัวเรือนละ 120 บาท แบ่งเป็นออมเพื่อที่อยู่อาศัย 50 บาท เพื่อจัดสวัสดิการช่วยเหลือกัน 30 บาท ออมเพื่อสะสม 20 บาท เป็นค่าบริหารจัดการ 20 บาท และบางกลุ่มยังออมเพื่อเป็นทุนในการประกอบอาชีพด้วย…!!
ชาวบ้านที่ อ.สิเกา จ.ตรัง เสนอแผนการแก้ไขปัญหาต่างๆ ในชุมชน
ชุมชนในเขตเทศบาลตำบลกำพวน อ.สุขสำราญ จ.ระนอง มีทั้งหมด มี 7 หมู่บ้าน จำนวน 1,630 ครัวเรือน ประชากรประมาณ 8,000 คน ในจำนวนนี้มี 463 ครัวเรือนที่ปลูกสร้างบ้านเรือนอยู่ในที่ดินป่าชายเลนและพื้นที่ชายฝั่งที่กรมเจ้าท่าดูแล ส่วนใหญ่ประกอบอาชีพประมงพื้นบ้าน สภาพบ้านเรือนทรุดโทรมเพราะปลูกสร้างมานาน
นายอารีดีน อินตัน นายเทศมนตรีเทศบาลตำบลกำพวน บอกว่า ชาวบ้านส่วนใหญ่ปลูกสร้างบ้านเรือนอยู่ในพื้นที่ป่าชายเลนซึ่งเป็นเขตอุทยานแห่งชาติแหลมสน และบางส่วนเป็นพื้นที่ที่กรมเจ้าท่าดูแลอยู่ แม้ว่าที่ผ่านมาหน่วยงานเจ้าของที่ดินจะอนุญาตให้ชาวบ้านอยู่อาศัยโดยไม่ได้ขับไล่ เพราะชาวบ้านอยู่อาศัยและทำกินมานานหลายสิบปีก่อนการประกาศเขตอุทยานฯ (ประกาศเขตอุทยานปี 2526) แต่ที่ผ่านมา ทางเทศบาลไม่สามารถเข้าไปพัฒนาชุมชนได้อย่างเต็มที่ เนื่องจากติดขัดข้อกฎหมายและงบประมาณมีจำกัด
“เมื่อทางรัฐบาลมีนโยบายให้ อปท.สามารถเข้าไปพัฒนาชุมชนได้ เทศบาลก็จะร่วมกับ พอช. พัฒนาชุมชนในด้านต่างๆ ซึ่งจากการสำรวจข้อมูลพบว่า ชาวบ้านต้องการปรับปรุงซ่อมแซมบ้านเรือนที่ผุพังทรุดโทรม สร้างสะพาน ทางเดินเท้าในชุมชน เพราะเดิมเป็นสะพานไม้เก่าๆ ผุผังแล้ว
นอกจากนี้ก็จะมีแผนการปรับปรุงท่าเรือประมง สร้างลานแกะปู คัดปลา การจัดการขยะ บำบัดน้ำเสียในครัวเรือนและชุมชน รวมทั้งทำเรื่องท่องเที่ยวชุมชนด้วย เพราะในตำบลมีแหล่งท่องเที่ยวที่สวยงามหลายแห่ง เช่น เกาะญี่ปุ่น อ่าวเขาควาย มีหาดทรายสวย น้ำทะเลใส ถ้าปรับปรุงท่าเรือแล้ว นักท่องเที่ยวก็มาลงเรือที่นี่ได้ ชาวบ้านจะได้มีรายได้จากการท่องเที่ยวด้วย” นายกเทศมนตรีเทศบาลตำบลกำพวนบอกถึงแผนงานพัฒนาชุมชน
ส่วนเรื่องที่ดินที่อยู่อาศัยนั้น ทางเทศบาลจะทำเรื่องถึงผู้ว่าราชการจังหวัดระนองและอุทยานแห่งชาติแหลมสนเพื่ออนุญาตให้ชาวบ้านใช้ที่ดินอุทยานฯ เป็นที่อยู่อาศัยอย่างถูกต้องตามแนวทางของ คทช. (คณะอนุกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ) ที่ให้ อปท.ทำเรื่องขอใช้ที่ดินเพื่อการอยู่อาศัยของชุมชนเสนอต่อจังหวัดและหน่วยงานเจ้าของที่ดินได้ (แต่ไม่ให้กรรมสิทธิ์) ซึ่งจะทำให้ชาวบ้านมีความมั่นคงในเรื่องที่ดินที่อยู่อาศัย ไม่ต้องกังวลว่าจะโดนขับไล่
นายกเทศมนตรีเทศบาลตำบลกำพวน อ.สุขสำราญ จ.ระนอง
พอช.ตั้งเป้าเคลื่อนงานพัฒนาชุมชนอันดามันปีนี้ 2,000 ครัวเรือน
นายจิตรกร พยัคโส หัวหน้างานออกแบบและก่อสร้าง สำนักงานบ้านมั่นคงและที่ดิน พอช. บอกว่า ชุมชนชายฝั่งทะเลอันดามัน เช่น ตำบลบ่อหิน อ.สิเกา จ.ตรัง และชุมชนในเขตเทศบาลตำบลกำพวน อ.สุขสำราญ จ.ระนอง เป็นตัวอย่างที่ พอช.เข้าไปสนับสนุนให้หน่วยงานในท้องถิ่นและชาวชุมชนร่วมกันแก้ไขปัญหาและพัฒนาชุมชน
ส่วนงบประมาณสนับสนุนชุมชนนั้น พอช.จะสนับสนุนการซ่อมแซมบ้านเรือนที่มีสภาพทรุดโทรม บ้านเรือนที่มีความคับแคบ หรือเป็นครอบครัวขยาย ตามโครงการบ้านมั่นคงเมือง (ชุมชนที่ตั้งอยู่ในเขตเมือง) ไม่เกินครัวเรือนละ 30,000 บาท และสนับสนุนด้านสาธารณูปโภคส่วนกลาง เช่น ถนน ทางเดิน การจัดการขยะ น้ำเสีย ฯลฯ ไม่เกินครัวเรือนละ 30,000 บาท เช่น ชุมชนบ้านท่ากลาง เทศบาลตำบลกำพวน อ.สุขสำราญ จ.ระนอง เสนอแผนงานระยะเวลา 3 ปี งบประมาณรวม 11.5 ล้านบาท
สภาพชุมชนชาวประมงที่เทศบาลตำบลกำพวน อ.สุขสำราญ จ.ระนอง
ส่วนชุมชนที่ตั้งอยู่ในเขตชนบท พอช. สนับสนุนการซ่อมบ้านไม่เกินครัวเรือนละ 40,000 บาท และสาธารณูปโภคไม่เกินครัวเรือนละ 12,000 บาท
ทั้งนี้ในการซ่อมแซมบ้านเรือนและก่อสร้างสาธารณูปโภคในชุมชนต่างๆ นั้น พอช.จะสนับสนุนให้ชุมชนเข้ามามีส่วนร่วม เช่น ใช้ช่างก่อสร้าง แรงงานในชุมชน หรือจิตอาสา หรือร่วมกับสถาบันฝีมือแรงงานในท้องถิ่นจัดอบรม เพื่อพัฒนาให้ช่างชุมชนยกระดับเป็นช่างฝีมือเพื่อใช้ประกอบอาชีพต่อไปได้
ช่างชุมชนและช่างจิตอาสาจากจังหวัดต่างๆ มาช่วยสร้างบ้านที่ชุมชนชาวประมง เนื่องในโอกาสการจัดงานวันที่อยู่อาศัยโลกที่ จ.กระบี่เมื่อปลายปี 2564
นายธีรพล สุวรรณรุ่งเรือง ผู้อำนวยการโครงการพัฒนาคุณภาพชีวิตสำหรับผู้มีรายได้น้อยในเมืองและชนบทกลุ่มจังหวัดอันดามัน บอกว่า ขณะนี้ พอช.อยู่ในระหว่างการอนุมัติแผนงานและงบประมาณตามที่ชุมชนเสนอมา ในเบื้องต้นจะมีพื้นที่ที่เป็นโครงการนำร่องประมาณ 7 ตำบล ใน 3 จังหวัด คือ ระนอง พังงา และตรัง
โดยในปีนี้มีเป้าหมายครัวเรือนทั้งหมดที่อยู่ในแผนพัฒนาประมาณ 2,000 ครัวเรือน ส่วนเป้าหมายที่เหลือจากชุมชนในเขตป่าชายเลนฝั่งทะเลอันดามัน 6 จังหวัด คือ ระนอง พังงา ภูเก็ต กระบี่ ตรัง และสตูล ในพื้นที่ 29 อำเภอ 139 ตำบล รวม 14,388 ครัวเรือน จะนำเสนอแผนงานเข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการนโยบายที่อยู่อาศัยแห่งชาติที่มี นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน
ขณะที่ นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการนโยบายที่อยู่อาศัยแห่งชาติ ได้กล่าวในพิธีมอบบ้านและงบประมาณที่ พอช.ดำเนินการให้แก่ชาวชุมชนที่มีรายได้น้อยในจังหวัดภูเก็ตเมื่อปลายเดือนเมษายนที่ผ่านมาว่า
“ผมมีแผนที่จะเสนอผลการดำเนินงานและแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาคุณภาพชีวิตและที่อยู่อาศัยของประชาชนในพื้นที่กลุ่มจังหวัดอันดามัน ระยะ 5 ปี (พ.ศ.2565 - 2569) ต่อที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายที่อยู่อาศัยแห่งชาติและคณะรัฐมนตรี เพื่อให้เกิดการสนับสนุนแผนงานและงบประมาณ โดยมีความมุ่งมั่นที่จะขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ตามแผนเพื่อให้พี่น้องประชาชนมีที่อยู่อาศัยที่มั่นคง และมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น !!
..................................
เรื่องและภาพ : สำนักพัฒนานวัตกรรมชุมชนจัดการความรู้และสื่อสาร สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน)
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
สุราษฎร์ธานี จัดงานวันที่อยู่อาศัยโลกปี67 ย้ำชุมชนต้องเป็นแกนหลักในการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยคนจน
UN – HABITAT หรือ ‘โครงการตั้งถิ่นฐานมนุษย์แห่งสหประชาชาติ’ กำหนดให้วันจันทร์แรกของเดือนตุลาคมทุกปีเป็น ‘วันที่อยู่อาศัยโลก’ หรือ ‘World Habitat Day’
รวมพลังคนจนแก้ปัญหาที่ดิน-ที่อยู่อาศัยทั่วประเทศ วันที่อยู่อาศัยโลก ปี 2567
ปัญหาการขาดแคลนที่อยู่อาศัยหรือมีที่อยู่อาศัยไม่เหมาะสมเป็นปัญหาที่สำคัญของผู้คนทั่วโลก UN-Habitat หรือ ‘โครงการตั้งถิ่นฐานมนุษย์แห่งสหประชาชาติ’
‘21 ปีบ้านมั่นคง’ พอช. แก้ปัญหาที่อยู่อาศัยคนจนทั่วประเทศ กว่า 3 แสนครัวเรือน
รัฐบาลได้มีนโยบายที่จะแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยของผู้มีรายได้น้อย และสร้างความมั่นคงในการอยู่อาศัยแก่คนจนในเมืองที่ ยังไม่มีที่อยู่อาศัยเป็นของตนเอง โดยเฉพาะกลุ่มผู้อยู่อาศัยในชุมชนแออัด
เสียงจากคลองเปรมประชากร…บ้านหลังใหม่ชีวิตใหม่ “คืนสายน้ำให้คนคลอง คืนสายคลองให้คนเมือง”
คลองเปรมประชากร มีประวัติศาสตร์อันยาวนานและมีบทบาทสำคัญในการพัฒนาชุมชนและเศรษฐกิจของกรุงเทพมหานคร ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา คลองนี้ได้ประสบปัญหามากมาย
บอร์ด พอช. มีมติ พักชำระหนี้องค์กรผู้ใช้สินเชื่อในพื้นที่ประสบอุทกภัยทั่วประเทศ
สถานการณ์การเกิดอุทกภัยจากอิทธิพลของพายุยางิ ในระหว่างวันที่ 7 - 8 กันยายน 2567 ส่งผลกระทบต่อประชาชนในจังหวัดเชียงราย จำนวน 7 อำเภอ
รมว.พม. แจ้งตั้งศูนย์พักพิงชั่วคราว 34 แห่ง ใน 13 จว. ช่วยกลุ่มเปราะบาง-ผู้ประสบภัยน้ำท่วมริมแม่น้ำโขง ด้าน พอช. พร้อมอนุมัติงบช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบภัยพิบัติภาคเหนือและอีสาน
จากสถานการณ์น้ำท่วมในหลายพื้นที่ภาคเหนือ ส่งผลกระทบในพื้นที่ 8 จังหวัด 47 อำเภอ 207 ตำบล 22,817 ครัวเรือน โดยเฉพาะในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา