‘กระท่อม’ จากพืชหัวไร่ปลายนาที่ต้องแอบปลูก ยกระดับสู่งานวิจัยเพื่อสร้างเศรษฐกิจชุมชน

ต้นกระท่อมขนาดใหญ่เกือบ 2 คนโอบ  อายุกว่า 100 ปีที่ อ.บ้านนาสาร  จ.สุราษฎร์ธานี

อำเภอบ้านนาสาร  จังหวัดสุราษฎร์ธานี  ไม่ใช่จะเป็นแหล่งกำเนิด ‘เงาะโรงเรียน’ ที่มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักไปทั่วประเทศเท่านั้น  แต่ที่นี่ยังถือเป็นแหล่งปลูกพืช ‘กระท่อม’ ที่มีคุณภาพสูง  มีต้นกระท่อมยักษ์คู่แฝดที่สูงกว่า 30 เมตร  มีอายุยืนยาวกว่า 100 ปี  และมีเรื่องเล่าขานผ่านวิถีวัฒนธรรมของคนใต้มากกว่าการเป็น ‘พืชเสพติด’ 

ขณะเดียวกันก็เป็นแหล่งเรียนรู้  เป็นพื้นที่ศึกษาวิจัยเกี่ยวกับประโยชน์ทางการแพทย์ของพืชชนิดนี้  รวมทั้งยังเป็นพื้นที่ทดลองการปลูกกระท่อม  เป็น ‘งานวิจัยชาวบ้าน’  มีเป้าหมายเพื่อให้ได้ต้นกระท่อมที่ให้ผลผลิตสูงและมีคุณภาพดี เป็นพืชเศรษฐกิจใหม่ของชุมชน ..!!

กระท่อมยักษ์ อีกหนึ่งตำนานที่บ้านนาสาร

อำเภอบ้านนาสาร  จังหวัดสุราษฎร์ธานี  มีผลิตผลทางการเกษตรที่มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักไปทั่วประเทศ  นั่นคือ เงาะโรงเรียน  ตามประวัติบอกว่า  เมื่อเกือบ 100 ปีก่อน  มีชาวจีนมาเลเซียเข้ามาทำเหมืองแร่ดีบุกและสร้างบ้านพักอยู่ในอำเภอนาสาร  เขานำเงาะจากเมืองปีนังเข้ามากินและปลูกไว้ข้างบ้านพัก 

ต่อมาเงาะต้นนี้เติบโตและมีรสชาติหวานอร่อย  เนื้อกรอบ  แตกต่างไปจากเงาะพันธุ์พื้นเมือง  จนเมื่อเหมืองแร่เลิกกิจการไป  ในปี 2479  ผืนดินบริเวณเหมืองแร่เปลี่ยนเป็นโรงเรียนประชาบาลใช้ชื่อว่า โรงเรียนนาสารและมีชาวบ้านนำพันธุ์เงาะต้นนี้ไปเพาะปลูก  แต่ยังไม่แพร่หลายนัก

ในปี 2512  ในหลวงรัชกาลที่ 9 เสด็จเยี่ยมประชาชนที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี  มีชาวสวนเงาะคนหนึ่งที่นำพันธุ์เงาะจากโรงเรียนแห่งนี้ไปปลูกและได้ผลดี  นำผลเงาะมาทูลเกล้าถวายฯ พร้อมทั้งขอพระราชทานชื่อพันธุ์เงาะ  พระองค์มีพระราชดำรัสว่า “ชื่อเงาะโรงเรียนดีอยู่แล้ว”  นับจากนั้นชื่อเสียงและพันธุ์เงาะโรงเรียนได้แพร่กระจายไปทั่วประเทศ

เงาะโรงเรียนต้นแรกที่โรงเรียนบ้านนาสารยังยืนต้นจนถึงปัจจุบัน  (ข้อมูลบางด้านบอกว่าเงาะต้นนี้เป็นลูกเป็นหลานของแม่พันธุ์ต้นแรก)

เลยจากโรงเรียนบ้านนาสาร  อำเภอนาสาร   ระยะทางไม่กี่กิโลเมตร  ที่บ้านวังหล้อ  เขตเทศบาลเมืองนาสาร  มีต้นกระท่อม  2 ต้นยืนเด่นเป็นสง่าเคียงคู่อยู่ที่นั่น  แต่เดิมกระท่อมคู่นี้ซุกซ่อนตัวเองอย่างสงบเสงี่ยมเจียมตัวอยู่ท้ายสวนมานานนับร้อยปี  เพราะหากทำตัวให้เป็นที่รู้จักก็อาจจะถูกมือกฎหมายโค่นจนเหลือแต่ตอก็เป็นได้  จนเมื่อมีการปลดล็อคกระท่อมออกจากพืชยาเสพติดในปี 2564 ที่ผ่านมา  กระท่อมแฝดจึงค่อยๆ เผยโฉมออกมา

กระท่อมคู่นี้มีความสูงประมาณ 34.5 เมตร  เส้นรอบวงประมาณ 2.5 เมตร  ถือเป็นต้นกระท่อมที่สูงและใหญ่ที่สุดในโลก (เท่าที่มีการบันทึกเอาไว้) เพราะกระท่อมที่พบเห็นในขณะนี้  ส่วนใหญ่จะมีอายุไม่เกิน 20-30 ปี (เนื่องจากถูกจับ-โดนตัดโค่น)  มีความสูงไม่เกิน  20 เมตร  ขนาดเส้นรอบวงไม่เกิน 1 เมตร

กระท่อมแฝดขนาด 2  คนโอบ

เจ้าของคือ นายสุนทร  แซ่เข่า  อายุเฉียด 70 ปี   เล่าว่า  กระท่อมคู่นี้เกิดขึ้นเองในที่ดินของพ่อ  ชาวบ้านในสมัยก่อนเรียกพ่อว่า ก๋งเจียม”  เป็นชาวจีนอพยพเข้ามาทำมาหากินอยู่ที่สุราษฎร์ธานีตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5  หรือเมื่อราว 100 ปีเศษ        

พ่อเคยเล่าให้ฟังว่า  พ่อมีโรคประจำตัวเกี่ยวกับกระเพาะลำไส้  ต้องทรมานเจ็บปวดในท้องอยู่เสมอ  สมัยนั้นหยูกยาก็หายาก  มีชาวบ้านคนหนึ่งแนะนำให้พ่อเอาใบกระท่อมมาต้มน้ำกิน  พ่อทำตาม  โดยเอาใบกระท่อมจากต้นที่ขึ้นอยู่คู่กันในสวนติดกับคลองฉวาง  เอามาต้มกินแทนน้ำชา  ไม่นานอาการเจ็บป่วยดังว่าก็หายราวปลิดทิ้ง 

ต่อมาพ่อได้รับความรู้จากพวกที่ ติดฝิ่นว่า  ใบกระท่อมสามารถใช้แก้ขัดในยามที่ อยากฝิ่น ได้  เนื่องจากฝิ่นมีราคาแพง  พ่อจึงนำใบกระท่อมมาบดเป็นผงแล้วเอาไปขายให้แก่พวกที่ติดฝิ่นแต่มีสตางค์น้อยที่ตลาดบ้านนาสาร   สุนทรในวัยเด็กยังเคยติดตามพ่อไปขายกระท่อมผงด้วย 

ผู้คนในตลาดบ้านนาสารต่างร่ำลือว่ากระท่อมของ ก๋งเจียม มีสรรพคุณทางยาสูงมาก  ชาวบ้านที่รู้จักกับพ่อจึงขอพันธุ์กระท่อมคู่นี้ไปปลูก  บางคนขอเมล็ดแก่ไปเพาะ  แต่เพาะอย่างไรก็ไม่ขึ้น  หรือเพาะขึ้นแต่ได้ผลผลิตที่ไม่ดีเท่า  อาจเป็นเพราะกระท่อมคู่นี้ขึ้นอยู่ในธรรมชาติที่เหมาะสม  ดินดี  น้ำดี  เพราะอยู่ติดกับคลอง  พ่อจึงดูแลกระท่อมแฝดคู่นี้เหมือนกับเป็นสมบัติที่ล้ำค่าของครอบครัว

ในปี พ.ศ.2486  กระท่อมถูกจัดให้เป็นพืชเสพติดตาม ...พืชกระท่อม พ..2486’  มาตรา 5 ห้ามมิให้ผู้ใดเสพ  ปลูก  มี  ซื้อ  ขาย  ให้   หรือแลกเปลี่ยนพืชกระท่อม... ผู้ฝ่าฝืนมีความผิดต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 200 บาท  (หรือทั้งจำทั้งปรับ)  ซึ่งถือว่าเป็นเงินจำนวนที่สูงมากในสมัยนั้น    ชาวบ้านที่กลัวจะมีความผิดจึงโค่นต้นกระท่อมหรือแอบปลูกตามสวนรกร้างที่เจ้าหน้าที่สอดสายตาเข้าไปไม่ถึง          

กระท่อมคู่นี้ที่บ้านวังหล้อก็เช่นกัน  อาศัยที่มันขึ้นอยู่ที่ท้ายสวนรก  ห่างไกลและค่อนข้างมิดชิดจากสายตาผู้คน  ประกอบกับกำนัน  ผู้ใหญ่บ้านในท้องถิ่นซึ่งมีวิถีชีวิตเติบโตมากับกระท่อม  รู้และเข้าใจการใช้ใบกระท่อมของชาวบ้าน  จึงโค่นบ้าง  ปล่อยบ้าง  ประมาณว่า มือหนึ่งใช้พร้าโค่นกระท่อม  อีกมือก็คว้าใบกระท่อมใส่ปากเคี้ยวหยับๆ

เหมือนกับที่ สงคราม  บัวทอง  กำนันตำบลน้ำพุ  อ.บ้านนาสาร  ซึ่งเป็นแหล่งปลูกกระท่อมชั้นดี  และอยู่ไม่ไกลกับบ้านวังหล้อซึ่งเป็นแหล่งกำเนิดของกระท่อมยักษ์  บอกว่า าวบ้านส่วนใหญ่ในตำบลน้ำพุปลูกกระท่อม  ใช้กระท่อมในชีวิตประจำวันอยู่แล้ว  และใช้กันมานานตั้งแต่สมัยบรรพบุรุษ  แต่ก็ไม่มีปัญหาใดๆ เกิดขึ้นจากการใช้กระท่อม  ทั้งเรื่องอาชญากรรม  การลักขโมย  การทะเลาะวิวาท  ที่ผ่านมาตำบลน้ำพุจึงมีการผ่อนปรนเรื่องกระท่อมมาตลอด  

หากผมไปโค่นต้นกระท่อมของชาวบ้านทิ้งก็จะเกิดปัญหาทางการปกครองขึ้นมา  กำนันตำบลน้ำพุบอกเหตุผล

กระท่อมยักษ์อายุกว่า 100 ปี

กระท่อมทั่วไป  อายุประมาณ 10 ปี  มีขนาดเส้นรอบวงประมาณ 50 เซนติเมตร

จากวิถีคนใต้สู่งานวิจัยเพื่อประโยชน์ทางการแพทย์

กระท่อมมีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า  ‘Mitragyna speciosa Korth’  เป็นไม้ยืนต้นขนาดใหญ่ปานกลาง  มีแก่นเป็นไม้เนื้อแข็ง  นำมาทำเครื่องเรือน  สร้างบ้านได้   มีความสูง 10 - 30 เมตร  ใบคล้ายใบกระดังงา  มี  3  สายพันธุ์หลัก  จำแนกตามสีของก้านใบ  คือ  ก้านแดง  ก้านเขียว  และหางกั้ง  (บางท้องถิ่นอาจเรียกแตกต่างกันไป) มีดอกกลมโตขนาดเท่าผลพุทรา    ใบเป็นใบเดี่ยวสีเขียว  เรียงตัวเป็นคู่ตรงข้าม  แผ่นใบขนาดกว้างประมาณ 5 -10 ซม.  ยาวประมาณ 8-14 ซม.  

ดอกมีสีขาวอมเหลืองออกเป็นช่อตุ้มกลมขนาด 3-5 ซม. แหล่งที่พบ  บางจังหวัดของภาคกลาง  เช่น  ปทุมธานี แต่จะพบมากในป่าธรรมชาติบริเวณภาคใต้  เช่น สุราษฎร์ธานี  นครศรีธรรมราช  ตรัง สตูล  พัทลุง  สงขลา  ยะลา  ปัตตานี  นราธิวาส  ตอนบนของประเทศมาเลเซีย  และอินโดนีเซีย

ในสมัยที่ยังไม่มียาฝรั่งหรือการแพทย์แผนปัจจุบัน   หมอพื้นบ้านจะนำใบกระท่อมมาใช้เพื่อแก้ท้องเสีย  ปวดเบ่ง ท้องเฟ้อ  ท้องร่วง  ปวดเมื่อยตามร่างกาย  ทำให้นอนหลับ  และระงับประสาท 

ในภาคใต้ของไทยนิยมใช้ใบกระท่อมเคี้ยวกลืนเพื่อให้ทำงานได้ทนนาน  โดยใช้ใบสดรูดก้านใบออก  เคี้ยวกลืนครั้งละ 1-3 ใบ  ทำให้รู้สึกกระปี้กระเปร่า  มีเรี่ยวแรงทำงานในไร่สวน  งานประมง  และใช้รักษาโรคบางชนิด  เช่น  เบาหวาน  แก้ปวดท้อง  ไอ  เจ็บคอ  แก้ปวดฟัน  แก้โรคตานซางในเด็ก (ผด เผื่อนแดงตามผิวหนัง  มีไข้สูง  ลิ้นเป็นฝ้า)  นอกจากนี้ยังนำมาใช้ในพิธีกรรมตามความเชื่อ  เช่น  ใช้บูชาครูก่อนการตีเหล็ก  ฯลฯ 

ในมาเลเซียใช้ใบกระท่อมตำพอกแผล  และนำใบมาเผาให้ร้อนวางบนท้องรักษาโรคม้ามโต  ฯลฯ

‘บอกบิด’ ใช้ตำใบกระท่อมให้พอหยาบ  สะดวกแก่การเคี้ยว  เหมือนกับครกตำหมาก  งานแฮนด์เมดของคนรักกระท่อม

จากสรรพคุณทางยาหลายชนิดของกระท่อม  สถาบันการศึกษาในประเทศไทยหลายแห่งได้ให้ความสนใจศึกษาและวิจัยเพื่อนำมาใช้ประโยชน์ทางการแพทย์  รวมทั้งเพื่อสร้างความมั่นคงด้านยา  และฟื้นฟูภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทย 

เช่น  มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (ม.อ.) ใช้พื้นที่ในตำบลนำพุ  อ.บ้านนาสาร  จ.สุราษฎร์ธานี  ซึ่งเป็นแหล่งที่มีการปลูกและใช้กระท่อมมายาวนานเป็นพื้นที่ศึกษาวิจัยร่วมกับ ป.ป.ส.  โดยในตำบลน้ำพุมี  6 หมู่บ้าน  จำนวน  1,920  ครัวเรือน   มีครัวเรือนที่ขึ้นทะเบียนปลูกกระท่อม (ได้รับอนุญาตจาก ป.ป.ส.เพื่อการศึกษาวิจัย)  655 ครัวเรือน  ต้นกระท่อมที่สำรวจพบ  1,912  ต้น

ผศ.สมชาย ศรีวิริยะจันทร์  สาขาวิทยาศาสตร์สุขภาพและวิทยาศาสตร์ประยุกต์ (เภสัชวิทยา) คณะวิทยาศาสตร์ ม.อ. กล่าวว่า  คณะวิทยาศาสตร์และคณะเภสัชศาสตร์ ม.อ. ได้วิจัยพืชกระท่อมพัฒนาเป็นเภสัชตำรับมาตั้งแต่ปี 2561  เพื่อนำพืชกระท่อมไปใช้บำบัดผู้เสพยาเสพติดและทดสอบประสิทธิภาพและความปลอดภัยของเภสัชตำรับที่พัฒนา

ผลวิจัยพบว่า   พืชกระท่อมมีสารสำคัญ คือ ไมทราไจนีน (Mitragynine) และ 7-ไฮดรอกซีไมทราไจนีน (7-hydroxymitragynine) มีฤทธิ์ระงับปวด  รักษาอาการท้องเสีย  ลดน้ำหนัก  ต้านการอักเสบ  ต้านอนุมูลอิสระ  รักษาแผลในกระเพาะอาหาร  ต้านอาการซึมเศร้า  คลายกล้ามเนื้อลาย  บำบัดผู้ติดยาเสพติด  สามารถยับยั้งกลุ่มอาการถอนยาจากเอทา นอล  ลดอาการวิตกกังวลจากกลุ่มอาการถอนยากลุ่มสารฝิ่น  ปัจจุบันต่างประเทศได้นำพืชกระท่อมใช้ประโยชน์เพื่อทดแทนสารเสพติด  เช่น  มอร์ฟีน  เฮโรอีน  ไอซ์  และยาบ้า  เพื่อบำบัดผู้เสพยาเสพติด

นอกจากนี้ทีมวิจัยยังได้ศึกษาความสัมพันธ์ของระดับ Mitragynine ในเลือดกับผลกระทบต่อสมรรถภาพสมองในพื้นที่ตำบลน้ำพุ   ในผู้ที่ไม่เคยใช้พืชกระท่อม จำนวน 99 ราย  และผู้ใช้พืชกระท่อมแบบวิถีชุมชนดั้งเดิมประจำกว่า 1 ปี  จำนวน 192 ราย   ผลการทดสอบพบว่า  การใช้พืชกระท่อมแบบวิถีชุมชนดั้งเดิม  โดยเคี้ยวใบสด  หรือต้ม  ชงใบพืชกระท่อมแห้งเป็นประจำ  ไม่ส่งผลกระทบต่อสมรรถภาพด้านความคิดและการรับรู้  การทำงานระบบประสาทอัตโนมัติและการทำงานของสมอง

การวิจัยพืชกระท่อมที่ตำบลน้ำพุ  ติดบาร์โค้ดเพื่อเก็บข้อมูล

ผศ.ดร.นิวัติ  แก้วประดับ  ภาควิชาเภสัชเวทและเภสัชพฤษศาสตร์  คณะเภสัชศาสตร์  มอ. ผู้เขียนบทความเรื่อง ใบกระท่อม  สรรพคุณทางยา  ประโยชน์และโทษ  กล่าวถึงสรรพคุณของกระท่อมว่า  พืชกระท่อมมีสารแอลคะลอยด์ Mitragynine อยู่ในใบ  มีฤทธิ์ระงับอาการปวด  เช่นเดียวกับมอร์ฟีน  โดยมีความแรงต่ำกว่ามอร์ฟีนประมาณ  10  เท่า  แต่มีข้อดีกว่ามอร์ฟีนอยู่หลายประการ   

เช่น   กระท่อมไม่กดระบบทางเดินหายใจ   ไม่ทำให้เกิดอาการคลื่นไส้  อาเจียน   พัฒนาการในการติดยาเกิดช้ากว่ามอร์ฟีนหลายปี  ไม่มีปัญหาเรื่องอาการอยากได้ยา (Craving) จึงไม่มีกรณีผู้ติดกระท่อมก่อเหตุร้ายหรือพัวพันกับอาชญากรรมใดเลย  ใช้บำบัดอาการติดฝิ่นหรือมอร์ฟีนได้  ฯลฯ  นอกจากนี้กระท่อมยังไม่มีสนธิสัญญาที่เป็นข้อตกลงระหว่างประเทศห้ามการปลูกเหมือนฝิ่น

ผลประโยชน์หลังการปลดล็อกพืชกระท่อม

ทั้งนี้ประโยชน์ของพืชกระท่อมดังกล่าวได้นำมาเป็นข้อมูลสนับสนุนนโยบายของรัฐบาลเพื่อปลดล็อกพืชกระท่อมออกจากยาเสพติด  เพื่อนำมาใช้ประโยชน์ทางการแพทย์และอุตสาหกรรมต่างๆ   โดยพืชกระท่อมได้ถูกยกเลิกจากการเป็นยาเสพติดให้โทษประเภท 5  ตั้งแต่วันที่ 24 สิงหาคม 2564  ตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ 8) พ.ศ. 2564  เหตุผลในการประกาศใช้ พ.ร.บ.ฉบับนี้  คือ

 “ในหลายประเทศมิได้กำหนดให้พืชกระท่อมเป็นยาเสพติดให้โทษ  ประกอบกับอนุสัญญาเดี่ยวว่าด้วยยาเสพติดให้โทษ ค..1961  และพิธีสารแก้ไขอนุสัญญาเดี่ยวว่าด้วยยาเสพติดให้โทษ ค.. 1972  มิได้กำหนดให้พืชกระท่อมเป็นยาเสพติดให้โทษ   ดังนั้นเพื่อให้สอดคล้องกับหลักสากลและบริบทของสังคมไทยในบางพื้นที่ที่มีการบริโภคพืชกระท่อมตามวิถีชาวบ้าน  สมควรยกเลิกพืชกระท่อมจากการเป็นยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้

อย่างไรก็ตาม  แม้ว่าการปลดล็อกพืชกระท่อมออกจากยาเสพติดตาม พ.ร.บ.ดังกล่าว  ยังเหลือขั้นตอนการออกกฎหมายลูก (ร่าง  พ.ร.บ.พืชกระท่อม พ.ศ....) เพื่อควบคุมไม่ให้นำพืชกระท่อมไปใช้ในทางที่ผิดก็ตาม  แต่บรรดา สิงห์ปืนไว’  ตั้งแต่รายเล็กยันรายใหญ่ต่างก็กระโจนเข้าสู่ตลาดกระท่อมกันอย่างคึกคัก 

การเก็บเกี่ยวใบกระท่อมในประเทศอินโดนีเซีย  ผู้ส่งออกรายใหญ่ของโลก (ภาพจาก https://www.bloomberg.com/)

ขณะที่รายใหญ่  เช่น  เจ้าพ่อเครื่องดื่มชูกำลังร่วมกับนักวิจัยในสถาบันการศึกษาแห่งหนึ่งกำลังทดลองผลิตเครื่องดื่มผสมสารสกัดจากใบกระท่อมเพื่อจำหน่าย  ยักษ์ใหญ่วงการเกษตรและร้านสะดวกซื้อเร่งปลูกกระท่อมในจังหวัดสงขลาไม่ต่ำกว่า 100 ไร่  เพื่อนำมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ  ไม่รวมกลุ่มผลประโยชน์ทางการเมืองที่กำลังผลักดันโครงการแจก กล้ากระท่อมฟรี 25 ล้านต้นทั่วประเทศ

ขณะที่ข้อมูลจากเว็บไซต์ไทยรัฐออนไลน์ (27 สิงหาคม 2564)  ระบุว่า  สหรัฐอเมริกาเป็นผู้บริโภคกระท่อมรายใหญ่ของโลก  มีผู้บริโภคประมาณ 15 ล้านคน  มีมูลค่าตลาดไม่ต่ำกว่า 30,000 ล้านบาทต่อปี  ขณะที่อินโดนีเซียเป็นประเทศผู้ส่งออกรายใหญ่ของโลก  ประมาณเดือนละ 1,950 ตัน!!

งานวิจัยชาวบ้านที่ตำบลน้ำพุยกระดับสู่ นวัตกรรมชุมชน

ท่ามกลางผลประโยชน์อันหอมหวน  แต่ชาวบ้านที่ตำบลน้ำพุที่เป็นแหล่งปลูกกระท่อมคุณภาพดี  (มีสาร Mitragynine ซึ่งเป็นสารสำคัญในพืชกระท่อมสูง  มีชาวบ้านที่ปลูกกระท่อม 655 ครัวเรือน  ต้นกระท่อมประมาณ 1,912  ต้น)  กลับไม่รีบร้อนที่จะกระโจนเข้าสู่พืชเศรษฐกิจใหม่นี้  พวกเขายังคงทำสวนยางพารา  ปาล์มน้ำมัน  และประกอบอาชีพอื่นๆ ไปตามปกติ

ศุภวัฒน์  กล่อมวิเศษ  วัย 64 ปี  นักวิจัยชาวบ้านตำบลน้ำพุ  (จบรัฐศาสตร์ ม.รามคำแหง)  ในฐานะตัวแทนชาวบ้านเข้าร่วมโครงการวิจัยพืชกระท่อมกับมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (ม.อ.) และ ป.ป.ส. บอกว่า  ชาวบ้านในตำบลน้ำพุก็มีความสนใจที่จะใช้พืชกระท่อมเป็นพืชเศรษฐกิจชนิดใหม่ของชุมชนเพื่อสร้างรายได้  และแก้ไขปัญหาความยากจน  นอกเหนือจากการใช้กระท่อมในชีวิตประจำวัน 

‘ศุภวัฒน์’  นักวิจัยชาวบ้านผู้เชี่ยวชาญเรื่องกระท่อม  โชว์ใบกระท่อมที่มีขนาดเหมาะที่จะนำมาใช้ประโยชน์  ต้องมีความกว้างประมาณ 3 นิ้วคน

ที่ผ่านมาเราทำวิจัยร่วมกับสถาบันการศึกษาและ ป... เพื่อศึกษาผลกระทบการใช้กระท่อมต่อร่างกาย  จิตใจ  และด้านสังคม  ซึ่งได้ผลการศึกษาออกมาแล้ว  แต่หากจะทำให้กระท่อมเป็นพืชเศรษฐกิจของชุมชน  จะต้องมีการศึกษาวิจัย  ทดลองการปลูกกระท่อมในสภาพที่เหมาะสม  เพื่อให้ได้ผลผลิตสูง  มีคุณภาพดี  มีมาตรฐาน  คือต้องใช้ความรู้นำ  ไม่ใช่ปลูกตามยถากรรม  หรือปลูกตามหัวไร่ปลายนาแบบแต่ก่อน”  เขาบอก

ไม่ใช่ดีแต่พูด  แต่เขาลงมือทำด้วย  โดยใช้ที่ดินเนื้อที่ 5 ไร่ในตำบลน้ำพุ  ทำแปลงปลูกกระท่อมขึ้นมาใหม่เมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา  โจทย์สำคัญในแปลงปลูกกระท่อมของเขาคือ

ทำอย่างไรจะปลูกให้ได้ผลผลิตที่มีคุณภาพ  คือ  ได้จำนวนใบกระท่อมต่อต้นในปริมาณมาก  และมีสารไมทราไจนีนสูง ?”

เพื่อตอบโจทย์ดังกล่าว  ศุภวัฒน์จึงทดลองปลูกกระท่อมให้มีระยะห่างระหว่างแถว  150  เซนติเมตร  ระยะห่างระหว่างต้น 50  เซนติเมตร  ดังนั้นในเนื้อที่ 1 ไร่  จะปลูกกระท่อมได้ประมาณ 1,700 - 2,000 ต้น  (กรมวิชาการเกษตรกำลังทดลองปลูกระยะห่างประมาณ 4 X 4 เมตร)

แปลงปลูกกระท่อมต้นแบบของศุภวัฒน์  มีระยะห่างระหว่างต้น  50 ซม.

นอกจากนี้เขาได้ใช้ความรู้เรื่องการปลูกกระท่อมที่เกาะลังกาวี  ประเทศมาเลเซีย  รวมทั้งการปลูกชาและผักเหมียงมาใช้  คือ  เมื่อต้นกระท่อมมีความสูงประมาณ  1.50  เมตร  เขาจะโน้มกิ่งเข้าหากัน  เพื่อให้ต้นกระท่อมมีความสูงไม่มาก    ทำให้เก็บใบกระท่อมได้สะดวก  ไม่ต้องใช้ไม้สอย  หรือปีนบันไดเพื่อเก็บใบกระท่อมที่ต้นสูงเกือบ 10 เมตร

ในฐานะที่เขารู้จักและศึกษาเรื่องพืชกระท่อมมานานกว่าครึ่งชีวิต  เขาได้นำความรู้ดังกล่าวมาเขียนเผยแพร่เป็นความรู้เรื่อง ประสบการณ์เกี่ยวกับพืชกระท่อมในตำบลน้ำพุ  อ.บ้านนาสาร  จ.สุราษฎร์ธานีเผยแพร่ทางอินเตอร์เน็ท  ให้ความรู้ตั้งแต่ลักษณะของลำต้น  กิ่งใบ การปลูก  การให้ปุ๋ย  แสงแดด  ดินและน้ำ   โรคและแมลง  การขยาย-บำรุงพันธ์  การเก็บเกี่ยวใบ  องค์ประกอบที่จะทำให้การปลูกประสบผลสำเร็จ  ฯลฯ  (ผู้สนใจสามารถดาวน์โหลดได้ใน GooGle)

เขาบอกด้วยว่า  กระท่อมเป็นพืชที่ชอบน้ำมากกว่าพืชอื่นประมาณ 3 เท่า  ถ้าได้น้ำเหมาะสม  กระท่อมจะเติบโตได้ดี  มีข้อยาว  แตกใบมาก  และใบมีขนาดใหญ่  หากขาดน้ำใบจะเล็ก  ชอบแสงแดด  ชอบขึ้นอยู่ริมน้ำ  เช่น  กระท่อมคู่ยักษ์อยู่ติดคลองฉวาง (ปัจจุบันคลองเปลี่ยนทางเดินเพราะเกิดอุทกภัย) ชอบดินตะกอน  เพราะมีแร่ธาตุมาก  รากกระท่อมจะแผ่กระจาย  หาอาหารได้ดี  มีสารไมทราไจนีนสูง  และหากมีสารไมทราไจนีนสูงก็จะมีสรรพคุณทางยาสูงตามไปด้วย 

หากปลูกกระท่อมด้วยวิธีการโน้มกิ่ง  จะทำให้ต้นกระท่อมไม่สูง  สามารถเก็บเกี่ยวได้ง่าย  ไม่ต้องปีนบันได

สอดคล้องกับข้อมูลจากงานวิจัยเบื้องต้นของสถาบันการศึกษาแห่งหนึ่งที่ศึกษาปริมาณสารไมทราไจนีนในใบกระท่อมที่ปลูกในภูมิภาคต่างๆ ทั่วประเทศ  พบว่า  กระท่อมที่ปลูกที่ตำบลน้ำพุมีสารดังกล่าวสูงสุดถึง 3.46 %  ขณะที่ภูมิภาคอื่นพบสูงสุดเพียง 2.89 %  และต่ำสุดมีเพียง 0.35 %

กระท่อมถ้าปลูกในที่ดอนจะไม่มีความเหมาะสม  เพราะจะได้ผลผลิตที่มีคุณภาพต่ำ  ถ้าจะปลูกก็จะต้องลงทุนสูงเพื่อปรับปรุงดินและแหล่งน้ำ  ดังนั้นโครงการแจกกล้ากระท่อม 25 ล้านต้นทั่วประเทศเพื่อให้ชาวบ้านปลูกเป็นพืชเศรษฐกิจตัวใหม่  ควรจะมีงานวิจัยรองรับเพื่อให้ความรู้แก่ชาวบ้าน  รวมทั้งรัฐบาลต้องมีแผนยุทธศาสตร์ในการส่งเสริมพืชกระท่อมให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน  เช่น  การปลูกกระท่อมให้มีคุณภาพ  มีสารไมทราไจนีนสูง  มีตลาดทั้งในประเทศและต่างประเทศรองรับ  มีกองทุนเพื่อส่งเสริมเกษตรกร  เหมือนกับกองทุนอ้อยหรือยางพารา  เพราะหากไม่มีแผนยุทธศาสตร์ที่ชัดเจน  กระท่อมก็จะมีปัญหาเหมือนกับพืชตัวอื่นที่เป็นมา ศุภวัฒน์เสนอความเห็น

เขาบอกทิ้งท้ายว่า  แปลงกระท่อมที่เขาทดลองปลูกนี้  จะเริ่มเก็บใบได้เมื่ออายุได้ 1 ปี 6 เดือน  หรือประมาณเดือนพฤษภาคม-มิถุนายน 2566   ระหว่างนี้เขาใช้หลักการปลูกแบบ GAP (การปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีและเหมาะสม)  เพื่อให้ได้ผลผลิตที่มีคุณภาพดีตรงตามมาตรฐานที่กำหนด  ได้ผลผลิตสูง  ปลอดภัยต่อเกษตรกรและผู้บริโภค  ไม่มีสารเคมีตกค้าง  ฯลฯ

และหากได้ผลผลิตตามเป้าหมาย  เขาจะส่งเสริมให้ชาวบ้านในตำบลน้ำพุปลูกกระท่อมตามแบบอย่างเพื่อให้ได้ผลผลิตที่ดี  มีคุณภาพ   และมีแผนจะรวมกลุ่มเป็นวิสาหกิจชุมชน  เพื่อนำใบกระท่อมมาแปรรูปและจำหน่าย    เช่น  นำใบกระท่อมมาทำลูกประคบ  ยาหม่อง  เพราะมีฤทธิ์ระงับอาการปวด  รวมทั้งส่งใบกระท่อมจำหน่ายเพื่อใช้ผลิตในอุตสาหกรรมยาด้วย  เป็นการส่งเสริมพืชเศรษฐกิจชนิดใหม่ให้แก่ชาวบ้านแบบครบวงจร !!

อินโดนีเซียส่งออกใบกระท่อมที่ยังไม่ได้แปรรูป  หากประเทศไทยนำมาแปรรูปหรือนำมาใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ก็จะเพิ่มมูลค่าได้อีกมหาศาล (ภาพจาก https://www.bloomberg.com/)

.........................

เรื่องและภาพโดย สำนักพัฒนานวัตกรรมชุมชนจัดการความรู้และสื่อสาร  สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน)

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

สุราษฎร์ธานี จัดงานวันที่อยู่อาศัยโลกปี67 ย้ำชุมชนต้องเป็นแกนหลักในการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยคนจน

UN – HABITAT หรือ ‘โครงการตั้งถิ่นฐานมนุษย์แห่งสหประชาชาติ’ กำหนดให้วันจันทร์แรกของเดือนตุลาคมทุกปีเป็น ‘วันที่อยู่อาศัยโลก’ หรือ ‘World Habitat Day’

รวมพลังคนจนแก้ปัญหาที่ดิน-ที่อยู่อาศัยทั่วประเทศ วันที่อยู่อาศัยโลก ปี 2567

ปัญหาการขาดแคลนที่อยู่อาศัยหรือมีที่อยู่อาศัยไม่เหมาะสมเป็นปัญหาที่สำคัญของผู้คนทั่วโลก UN-Habitat หรือ ‘โครงการตั้งถิ่นฐานมนุษย์แห่งสหประชาชาติ’

‘21 ปีบ้านมั่นคง’ พอช. แก้ปัญหาที่อยู่อาศัยคนจนทั่วประเทศ กว่า 3 แสนครัวเรือน

รัฐบาลได้มีนโยบายที่จะแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยของผู้มีรายได้น้อย และสร้างความมั่นคงในการอยู่อาศัยแก่คนจนในเมืองที่ ยังไม่มีที่อยู่อาศัยเป็นของตนเอง โดยเฉพาะกลุ่มผู้อยู่อาศัยในชุมชนแออัด

เสียงจากคลองเปรมประชากร…บ้านหลังใหม่ชีวิตใหม่ “คืนสายน้ำให้คนคลอง คืนสายคลองให้คนเมือง”

คลองเปรมประชากร มีประวัติศาสตร์อันยาวนานและมีบทบาทสำคัญในการพัฒนาชุมชนและเศรษฐกิจของกรุงเทพมหานคร ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา คลองนี้ได้ประสบปัญหามากมาย

บอร์ด พอช. มีมติ พักชำระหนี้องค์กรผู้ใช้สินเชื่อในพื้นที่ประสบอุทกภัยทั่วประเทศ

สถานการณ์การเกิดอุทกภัยจากอิทธิพลของพายุยางิ ในระหว่างวันที่ 7 - 8 กันยายน 2567 ส่งผลกระทบต่อประชาชนในจังหวัดเชียงราย จำนวน 7 อำเภอ

รมว.พม. แจ้งตั้งศูนย์พักพิงชั่วคราว 34 แห่ง ใน 13 จว. ช่วยกลุ่มเปราะบาง-ผู้ประสบภัยน้ำท่วมริมแม่น้ำโขง ด้าน พอช. พร้อมอนุมัติงบช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบภัยพิบัติภาคเหนือและอีสาน

จากสถานการณ์น้ำท่วมในหลายพื้นที่ภาคเหนือ ส่งผลกระทบในพื้นที่ 8 จังหวัด 47 อำเภอ 207 ตำบล 22,817 ครัวเรือน โดยเฉพาะในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา