สงครามข่าวสารผ่านหน้าจอ สื่อจะธำรงเสรีภาพ ความจริง และสันติภาพได้อย่างไร? นี่เป็นคำถามที่เราได้ยินมาตลอด ท่ามกลางข้อเท็จจริงที่ปฏิเสธไม่ได้ว่า ภายใต้สถานการณ์สงครามข้อมูลข่าวสารที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน ความขัดแย้งที่สะสมในสังคมไทย สื่อมวลชนมีบทบาทความสำคัญอย่างยิ่งในการรับและส่งข่าวสารที่ถูกต้องให้สังคม รวมถึงทำหน้าที่เสนอทางออกให้ก้าวพ้นปัญหาอย่างสันติ
เพื่อส่งเสริมการพัฒนาระบบนิเวศสื่อที่สร้างการเปลี่ยนแปลงที่ดีสู่สังคมไทย โคแฟคและสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับพหุภาคี จัดเสวนานักคิดดิจิทัล ครั้งที่ 21 ในวาระวันเสรีภาพสื่อมวลชนโลก ซึ่งตรงกับวันที่ 3 พ.ค. ของทุกปี เปิดพื้นที่ให้ภาคส่วนที่เกี่ยวข้องทั้งคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ตัวแทนสื่อมวลชนไทย นักวิชาการที่มีประสบการณ์มาแลกเปลี่ยนและจุดประกายให้สังคมขับเคลื่อนหาทางออก
ดร.จิรพร วิทยศักดิ์พันธุ์
ดร.จิรพร วิทยศักดิ์พันธุ์ กรรมการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า วันเสรีภาพสื่อมวลชนโลกในปีนี้ ทางองค์การยูเนสโกกำหนดประเด็นความท้าทายเกี่ยวกับบทบาทของสื่อมวลชนในหัวข้อ Journalism under Digital Siege หรือ วารสารศาสตร์ที่ตกอยู่ในวงล้อมดิจิทัล ด้วยเหตุผลว่า การเติบโตของสื่อสังคมออนไลน์ และการที่ทุกคนสามารถเป็นผู้ผลิตเนื้อหาในสื่อได้ ทำให้ข้อมูลข่าวสารเต็มไปด้วยข้อมูลทั้งที่เป็นข้อเท็จจริงและข้อมูลบิดเบือน อีกทั้งความท้าทายจากเทคโนโลยีที่สามารถดัดแปลงข้อความ รูปภาพ และคลิปวิดีโอได้อย่างเสมือนจริงมากขึ้น เกิดปฏิบัติการในการใช้ข้อมูลข่าวสารเพื่อจูงใจผู้คนในมิติทางการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม โดยเฉพาะในยุคที่มีความขัดแย้งทั้งในระดับประเทศและระดับโลก รวมถึงความขัดแย้งด้านเชื้อชาติ ศาสนา และการเมือง ทำให้เกิดสงครามข้อมูลข่าวสารผ่านหน้าจอมือถือ ก่อความสับสน ความเข้าใจผิด ความเกลียดชัง หรือยั่วยุให้เกิดความรุนแรง
“ ท่ามกลางสถานการณ์สงครามข้อมูลข่าวสารที่เกิดขึ้นนี้ สื่อมวลชนในฐานะที่เป็นองค์กรที่สังคมมีความคาดหวังสูงจำเป็นต้องทบทวนว่า จะธำรงบทบาทของตนอย่างไรในภาวะท้าทายนี้ให้สมกับคำประกาศของคณะกรรมการรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพประจำปี ค.ศ. 2021 ที่ระบุเหตุผลในการมอบรางวัลให้แก่สื่อมวลชนคือ Maria Ressa และ Dmitry Muratov ว่า “สำหรับความพยายามที่จะปกปักษ์รักษาเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นซึ่งเป็นเงื่อนไขสำคัญของประชาธิปไตยและสันติภาพที่ยั่งยืน” ถ้าปราศจากเสรีภาพสื่อ ยากที่สื่อจะค้นหาความจริงได้ ขณะเดียวกันการใช้เสรีภาพเสนอข้อมูลเท็จที่ทำให้เกิดความเข้าใจผิดก็ส่งผลร้ายต่อสังคม เป็นคำถามชวนขบคิดว่า สื่อมวลชนจะปฏิบัติหน้าที่อย่างไรในการค้นหาข้อเท็จจริงตามหลักเสรีภาพ และจะกลั่นกรองข้อเท็จจริงอย่างไรให้ผู้รับสารได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง โดยเฉพาะข่าวสารอันละเอียดอ่อนเกี่ยวกับภาวะสงคราม “ ดร.จิรพร กล่าว
รศ.ดร.วิลาสินี พิพิธกุล
กรรมการกองทุน สสส. กล่าวด้วยว่า ภาคประชาชนไม่ควรปล่อยให้เป็นภาระหน้าที่ของสื่อมวลชนในการแสวงหาความจริงและตรวจสอบข้อมูลแต่ฝ่ายเดียว ต้องช่วยหนุนเสริมและกระตุกเตือนให้สื่อมวลชนทำหน้าที่ให้เต็มกำลังโดยการทบทวนว่าการเป็นพลเมืองยุคดิจิทัลควรต้องมีคุณสมบัติอย่างไรเพื่อให้รู้เท่าทันข้อมูลข่าวสาร มีทักษะตรวจสอบข้อเท็จจริง และสามารถรักษาดุลยภาพระหว่างสิทธิ เสรีภาพ ความจริง และสันติภาพได้อย่างเหมาะสม
ด้าน รศ.ดร.วิลาสินี พิพิธกุล ผู้อำนวยการองค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย (ส.ส.ท.) กล่าวว่า เหตุการณ์สงครามรัสเซีย-ยูเครน โดยทั่วไปการนำเสนอข่าวต่างประเทศจะพึ่งพาสำนักข่าวต่างประเทศเพียงไม่กี่สำนัก ซึ่งไม่เพียงพอ คำถาม คือ แล้วจะตรวจสอบกับแหล่งข่าวอื่นๆ ได้อย่างไร สื่อสังคมออนไลน์เป็นอีกแหล่งข่าวสำคัญที่สื่อหลายสำนักใช้กันอยู่ แต่สงครามครั้งนี้มีการทำสงครามบนโลกเสมือน (Virtual Front) กันด้วย คนทำงานสื่อกระแสหลักต้องเข้มงวดกับตนเองมากขึ้น เช่น ในห้องข่าวของไทยพีบีเอสมีกระบวนการทบทวนหลังปฏิบัติงาน (After Action Review-AAR) กันแทบทุกวัน ไม่ได้มีเฉพาะประเด็นสงครามรัสเซีย-ยูเครน แต่ทุกประเด็นที่มีความขัดแย้ง คนทำงานต้องทบทวนตนเองอยู่เสมอ อาทิ ข้อมูลที่ได้มาถูกต้องเพียงใด ได้กลายเป็นผู้เผยแพร่ข้อมูลบิดเบือนบ้างหรือไม่ หากเผยแพร่ไปแล้วจะแก้ไขอย่างไร หรือการตีความสถานการณ์ต่างๆ ใช้มุมมองแบบใด เป็นต้น ต้องให้เวลาทำความเข้าใจประเด็นมากขึ้น โดยเฉพาะเรื่องที่มีความอ่อนไหว
“ ยิ่งเราเข้าใจและรู้เท่าทันที่มาของความขัดแย้งไม่ว่าในระดับชาติหรือระดับโลกได้มากแค่ไหน คนทำงานสื่อจะสามารถรับมือกับความท้าทายและเตรียมตัวป้องกันไม่ให้เกิดผลกระทบรุนแรงที่เราไม่อยากเห็นได้มากขึ้น ” รศ.ดร.วิลาสินี กล่าว
อเล็กซานเดอร์ ดักลาส
ด้าน อเล็กซานเดอร์ ดักลาส จาก Centre for Humanitarian Dialogue (HD) กล่าวว่า มนุษยชาติเผชิญกับความท้าทายสำคัญเกี่ยวกับระบบนิเวศสื่อ ทุกคนสื่อสารตลอดและระบบมีการพัฒนาตลอดเวลา สื่อที่มีหลากหลายประเภท ปัจจุบันมีการเปลี่ยนแปลงอย่างมาก เราได้รับข้อมูลข่าวสารตลอดเวลา การสื่อสารทำให้คนใกล้กันและการส่งผ่านข้อมูลง่ายดาย หากมีข้อมูลผิดพลาดจะกระจายได้อย่างรวดเร็ว ข้อมูลเท็จอาจเตะตาและดึงดูดคน จนเกิดความแบ่งแยก เรียกได้ว่า เป็นขยะของข่าวสาร เสริมความขัดแย้งและความรุนแรงเพิ่มขึ้น สื่อมีบทบาทสำคัญช่วยลดความรุนแรง ไม่บิดเบือนคำพูด หรือแพร่กระจายประทุษวาจา (hate speech) จำเป็นต้องธำรงความจริงและเสรีภาพไว้ การหยุดยั้งข้อมูลเท็จจะลดความขัดแย้ง ไม่รบกวนกระบวนการสันติภาพในโลก
“ ข่าวลวงกลายเป็นอุตสาหกรรมไปแล้ว หากวิเคราะห์ห่วงโซ่อุปทาน การผลิต การแพร่กระจายเนื้อหาผ่านโซเชียลมีเดีย คนบริโภคข้อมูลเกิดการเปลี่ยนความคิดเห็น หากจะแก้ปัญหาขยะข้อมูล องค์กรสื่อควรมีบทบาทและทักษะกลั่นกรองข่าวจริงและข่าวปลอม ค้นหาความจริง รวมถึงแจ้งแพลตฟอร์มต่างๆ เพื่อถอนข่าวลวงออกจากระบบ การธำรงระบบนิเวศสื่อสารเป็นหน้าที่ของทุกคน ช่วยให้เกิดประโยชน์ต่อสังคม ข้อเสนอจากเวทีนี้จะเป็นแนวทางที่เกิดประโยชน์ต่อไป” อเล็กซานเดอร์ กล่าว
ศ.ดร.พิรงรอง รามสูต
การทำข่าวในภาวะสงคราม ศ.ดร.พิรงรอง รามสูต กรรมการ กสทช. กล่าวว่า ข่าวสงครามรัสเซีย-ยูเครนของสื่อไทยเน้นการพัฒนาของเหตุการณ์ ความรุนแรงที่เกิดขึ้นตามมุมมองของสำนักข่าวต่างประเทศ ที่เป็นแหล่งที่มาของข่าว การแสวงหาความจริงจากการตรวจสอบไม่ค่อยปรากฎให้เห็นมาก การเล่าเรื่องเน้นความรุนแรงเหตุการณ์ เทคโนโลยีสู้รบ ความสูญเสียมากกว่าวิเคราะห์สาเหตุและที่มาของปัญหาความขัดแย้ง รวมถึงแนวทางแก้ปัญหาแบบไม่ตอบสนองต่อความรุนแรง ที่เห็นชัดเจนการทำสงครามให้เป็นดราม่า และคนดูให้เป็นผู้ชมเหมือนดูแข่งกีฬามีแพ้ชนะ หรือพระเอก ผู้ร้าย ส่วนข่าวออนไลน์ที่ปรากฏบน Facebook แพลตฟอร์มยอดนิยมของไทย มี 4,500 กว่าโพสต์ ประเด็น 4 อันดับแรก ได้แก่ ผลกระทบ รองลงมาการรายงานสถานการณ์ การวิเคราะห์มิติต่างๆ เกี่ยวกับสงคราม และการอัพเดทสถานการณ์จากหน่วยงานรัสเซีย
“ สื่อมีเสรีภาพในการนำเสนอตามจุดยืนของสำนักข่าวนั้น แต่ควรมีท่าทีและอยู่ในกรอบจริยธรรมสื่อมวลชน อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ที่ข้อมูลข่าวสารท่วมท้น สื่อมวลชนทำงานยากขึ้น มีทางแก้ ทั้งการตรวจสอบข้อมูล การวิเคราะห์ข้อมูล การใช้เทคโนโลยีเอไอตรวจจับข้อมูล แต่สิ่งสำคัญที่สุด คือ การเสริมแรงให้กับสื่อมวลชนที่มีคุณภาพ มีจรรยาบรรณ มีมาตรฐานในการทำงานสามารถอยู่รอดได้ พ.ร.บ.กสทช. วางกรอบทำงานเพื่อประโยชน์สาธารณะ หมายถึง รักษาสิทธิและเสรีภาพของประชาชนในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารและการแสดงออก ส่วนปฏิบัติการข่าวสาร หรือ ไอโอ มีหน่วยงานรัฐหรือกฎหมายกำกับดูแลอยู่แล้ว แต่อนาคตจะต้องมีความร่วมมือมากขึ้นเพื่อให้สื่อปฏิบัติหน้าที่อย่างถูกต้อง “ ศ.ดร.พิรงรอง กล่าว
กวี จงกิจถาวร
ในส่วนของ กวี จงกิจถาวร กรรมการสภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ กล่าวว่า สังคมไทยเผชิญสถานการณ์ข้อมูลที่เยอะ แต่ข้อเท็จจริงน้อย และขาดการคัดกรองข้อเท็จจริง ยิ่งโซเชียลมีเดียเข้ามามีบทบาทในสงครามข่าวสารปัจจุบันมากเท่าไหร่ คนทำข่าวแบบดั้งเดิมต้องรักษาไว้ เพราะเน้นความถูกต้องมากกว่าแข่งความเร็ว
“ สงครามรัสเซีย-ยูเครนมีลักษณะพิเศษ มีการต่อสู้ทุกรูปแบบและทุกวินาที เพราะสองฝ่ายมีขีดความสามารถ เป็นสิ่งท้าทายการทำงานของสื่อ หน้าที่สำคัญของสื่อ คือ อย่าด่วนตัดสินใจข้อมูลที่ได้มาทันที โดยเฉพาะข้อมูลบนออนไลน์ ต้องเปิดรับข้อมูลจากสำนักข่าวที่หลากหลายเพื่อให้ได้ความจริงมากที่สุด เช่นเดียวกับข่าวสถานการณ์ความรุนแรงในภาคใต้ของไทย สื่อมวลชนต้องทำงานด้วยความรับผิดชอบ นอกจากนี้ ถึงเวลาที่ต้องเปลี่ยนหลักสูตรการเรียนการสอนวิชาชีพสื่อมวลชนในมหาวิทยาลัยด้วย และเปิดโอกาสให้สื่อพัฒนาความรู้ความเข้าใจเฉพาะด้าน รวมถึงบรรณาธิการข่าวควรวางแนวทางนำเสนอข่าวสร้างสันติภาพ ไม่ใช่เน้นข่าว ดราม่า” กวี เน้นย้ำบทบาทสื่อ ในวาระวันเสรีภาพสื่อมวลชนโลก
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ตัดวงจรความรุนแรง เลิกให้โอกาสที่ 2
เรื่องราวของจีจี้ - นางสาวสุพิชชา ปรีดาเจริญ เนตไอดอลชื่อดัง ซึ่งถูกคู่รักทำร้ายหลายครั้ง แต่จีจี้ยื่นโอกาสให้กับฝ่ายชาย สุดท้ายเธอต้องจากไปด้วยน้ำมือของคนที่รัก ก่อนแฟนหนุ่มจบชีวิตตัวเองตาม ถูกหยิบยกนำมาเป็นบทเรียนราคาแพงเตือนสติคนในสังคมออกจากความสัมพันธ์
ก.อุตฯ ลุยเสริมทักษะเอสเอ็มอีกว่า 200 ราย
'ศศิกานต์' เผย ก.อุตฯ เดินหน้าส่งเสริมเอสเอ็มอีกว่า 200 ราย เสริมทักษะ เพิ่มขีดการแข่งขัน เน้นดิจิทัลและความยั่งยืน คาดดันเศรษฐกิจโตกว่า 62 ล้านบาท
ชวนนักดื่ม “ตรวจตับ-เลิกจับขวด” ฟื้นฟูสุขภาพคืนความสุขครอบครัว
"งดเหล้าเข้าพรรษา" ในระยะเวลา 3 เดือน ถือเป็นกิจกรรมหนึ่งในเทศกาลสำคัญ ที่มุ่งเน้นให้ชาวพุทธงดดื่มแอลกอฮอล์ ไม่เพียงเป็นการรักษาประเพณีและศีลธรรมเท่านั้น
“สุรศักดิ์” รมช.ศธ. เดินหน้าขับเคลื่อนรถรับส่งนักเรียนปลอดภัย ชูโมเดล “ศูนย์เรียนรู้รถรับส่งนักเรียนปลอดภัย จ.อยุธยา” ของสสส.
วันที่ 18 พ.ย. 2567 ที่ โรงเรียนอยุธยาวิทยาลัย อ.พระนครศรีอยุธยา จ.พระนครศรีอยุธยา นายสุรศักดิ์ พันธ์เจริญวรกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานเปิดศูนย์การเรียนรู้การจัดการรถรับส่งนักเรียนที่ปลอดภัย โรงเรียนอยุธยาวิทยาลัย ภายในงานเวทีสร้างความร่วมมือและแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในการพัฒนาศูนย์เรียนรู้รถรับส่งนั
สสส.สานพลังภาคี ขจัดความเหลื่อล้ำกิจกรรมทางกาย ดึงคนไทยสู่เวอร์ชั่นใหม่
กองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับ ศูนย์พัฒนาองค์ความรู้ด้านกิจกรรมทางกายประเทศไทย (ทีแพค) สถาบันวิจัยประชากรและสังคม