“ดีพร้อม” ปักธงยกระดับสินค้าชุมชน – เสริมทักษะ เอสเอ็มอี ประเดิมพื้นที่สุโขทัยแห่งแรก หวังคืนรายได้สู่ท้องถิ่น ภายใต้นโยบาย “ดีพร้อมแคร์”

กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม หรือ ดีพร้อม (DIPROM) เดินหน้าโครงการ “DIPROM ยกระดับสินค้าชุมชน กระตุ้นเศรษฐกิจฐานราก นำรายได้คืนถิ่นชุมชน” โดยเป็นการฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการที่มุ่งเน้นการถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านการพัฒนาสินค้าชุมชนเพื่อเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ เสริมสร้างทักษะด้านกระบวนการผลิตให้แก่ผู้ประกอบการเอสเอ็มอี และเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินธุรกิจ โดยดีพร้อมได้ประเดิมลงพื้นที่จัดกิจกรรมฝึกอบรมในจังหวัดสุโขทัยเป็นแห่งแรก เนื่องจากเป็นพื้นที่ที่มีศักยภาพในการพัฒนาต่อยอด ทั้งด้านการเพิ่มมูลค่าสินค้าในชุมชน การสร้างอัตลักษณ์ควบคู่ไปกับการพัฒนาเศรษฐกิจการท่องเที่ยว ทั้งนี้ โครงการฝึกอบรมดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของนโยบาย “ดีพร้อมแคร์” ซึ่งดีพร้อมได้รับมอบหมายจากนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ให้เร่งช่วยเหลือผู้ประกอบการและประชาชนในท้องถิ่นที่ประสบปัญหาสภาพคล่องทางธุรกิจจากวิกฤติโควิด-19 ปฏิรูปการส่งเสริมผู้ประกอบการให้มีประสิทธิภาพ

ดร.ณัฐพล รังสิตพล อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยเป็นวงกว้าง โดยเฉพาะการจ้างงาน การประกอบอาชีพของประชาชน รวมถึงการดำเนินธุรกิจของผู้ประกอบการ กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม หรือ ดีพร้อม (DIPROM) ในฐานะหน่วยงานที่มีภารกิจในการส่งเสริมและสนับสนุนผู้ประกอบการให้มีขีดความสามารถในการแข่งขันได้ตระหนักถึงสถานการณ์ที่เกิดขึ้น จึงได้จัดทำโครงการฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการ “DIPROM ยกระดับสินค้าชุมชน กระตุ้นเศรษฐกิจฐานราก นำรายได้คืนถิ่นชุมชน” มุ่งเน้นการเสริมสร้างทักษะในการประกอบธุรกิจ เสริมสร้างการเป็นผู้ประกอบการให้ก้าวสู่ธุรกิจสมัยใหม่ รวมถึงการบริหารจัดการขนส่งธุรกิจชุมชนและการเชื่อมโยงเครือข่าย โดยได้ลงพื้นที่จัดโครงการฝึกอบรมในจังหวัดสุโขทัยเป็นแห่งแรก และเตรียมเดินหน้าโครงการอย่างครอบคลุมทั่วทุกภูมิภาค ในการกระจายโอกาสสู่ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีและวิสาหกิจชุมชน เพื่อสร้างความเข้มแข็งของเศรษฐกิจในประเทศ

ดร.ณัฐพล กล่าวต่อว่า การริเริ่มโครงการฝึกอบรมปฏิบัติการที่จังหวัดสุโขทัย เป็นหนึ่งในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ทั้งในแง่การดำเนินธุรกิจของผู้ประกอบการในชุมชน รวมทั้งผลกระทบด้านการท่องเที่ยว อย่างไรก็ตามพื้นที่จังหวัดสุโขทัยมีความพร้อมและมีศักยภาพในการพัฒนาต่อยอดทั้งในด้านการพัฒนาผลิตภัณฑ์สร้างสรรค์มูลค่าสูง เพื่อส่งเสริมเศรษฐกิจการท่องเที่ยวของพื้นที่ ซึ่งมีความโดดเด่นในเรื่องของเมืองมรดกโลก มีอัตลักษณ์ที่ชัดเจน รวมถึงการยกระดับเกษตรปลอดภัย เกษตรอัจฉริยะ อาหารแปรรูปอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ และพืชเศรษฐกิจใหม่ เพื่อให้สอดคล้องกับแผนการพัฒนาจังหวัด ที่ได้มีการกำหนดวิสัยทัศน์ไว้ว่า “รุ่งอรุณแห่งความสุข เมืองมรดกโลกและอารยธรรม เมืองเศรษฐกิจสร้างสรรค์และนวัตกรรม” 

สำหรับโครงการฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการ “DIPROM ยกระดับสินค้าชุมชน กระตุ้นเศรษฐกิจฐานราก นำรายได้คืนถิ่นชุมชน” ที่จัดขึ้นในพื้นที่จังหวัดสุโขทัยนี้ เป็นการต่อยอดความสำเร็จจากโครงการความร่วมมือที่ดีพร้อมร่วมกับกรมราชทัณฑ์ กระทรวงยุติธรรม และหน่วยงานภาคีเครือข่ายในปีที่ผ่านมา โดยในปีนี้ตามนโยบาย “ดีพร้อมแคร์” ได้เดินหน้าลงพื้นที่เพื่อถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านการพัฒนาและเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ การเสริมสร้างทักษะด้านกระบวนการผลิตมุ่งสู่มาตรฐานผลิตภัณฑ์ การเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินธุรกิจ การบริหารวิสาหกิจชุมชนที่เหมาะสม และกระตุ้นให้วิสาหกิจชุมชนสามารถปรับตัว เพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงในสถานการณ์ปัจจุบันได้ นอกจากนี้ ยังมีการจัดฝึกอบรมการสร้างรายได้จากผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ อาทิ การเพาะเห็ดนางฟ้า การทำน้ำพริกจากเห็ด การทำไข่เค็ม การทำเจลแอลกอฮอล์ การทำสบู่ก้อน การทำน้ำยาล้างจาน ซึ่งมีผู้สนใจเข้าร่วมกิจกรรมจำนวน 400 คน

โดยโครงการดังกล่าว จะช่วยให้ผู้ประกอบการในชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ได้เข้าถึงกิจกรรมเพื่อเสริมสร้างทักษะในการประกอบธุรกิจ การแสวงหาโอกาสในการสร้างรายได้จากธุรกิจสมัยใหม่ เพื่อสร้างรายได้กลับคืนสู่ชุมชนก่อให้เกิดการพึ่งพาตัวเองได้ ขณะเดียวกันยังเป็นการตอกย้ำจุดมุ่งหมายที่ต้องการเร่งฟื้นฟูและพัฒนาผู้ประกอบการเอสเอ็มอีหลังจากได้รับผลกระทบด้านเศรษฐกิจที่ผ่านมา ด้วยการลงพื้นที่รับทราบถึงปัญหาและกำหนดแนวทางแก้ปัญหาเชิงลึกได้อย่างตรงจุด พร้อมกับปฏิรูปการส่งเสริมให้เกิดผลสำเร็จที่เป็นรูปธรรม

ทั้งนี้ ในปีที่ผ่านมาดีพร้อมได้มีการบูรณาการความร่วมมือกับกรมราชทัณฑ์ กระทรวงยุติธรรม และกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองในการสร้างรายได้ และคืนโอกาสในการประกอบอาชีพให้กับผู้ต้องขัง เพื่อยกระดับทักษะฝีมือวิชาชีพผู้ต้องขังให้สามารถออกไปประกอบอาชีพได้เมื่อพ้นโทษในอนาคต รวมถึงการถอดรหัสอัตลักษณ์ท้องถิ่นเพื่อการต่อยอดเชิงพาณิชย์ด้วยสมาชิกของกองทุนหมู่บ้านผ่านการออกแบบมาสคอตอัตลักษณ์สุโขทัย โดยการใช้นกคุ้มสัตว์ท้องถิ่นนำมาทำเป็นลวดลายบนผลิตภัณฑ์ของฝากต่าง ๆ พร้อมกับการส่งเสริมผู้นำท้องถิ่น ผ่านโครงการ “กสอ. “คิด” กทบ. “ช่วย” ธุรกิจชุมชน เรียนแล้ว สร้างได้ ขายเป็น” ให้ชุมชนได้เกิดการเรียนรู้ทักษะการทำตลาดแบบ E – commerce นอกจากนี้ ยังมีการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวแบบองค์รวม ด้วยการยกระดับหมู่บ้านอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ดีพร้อม หรือ หมู่บ้าน DIPROM CIV อาทิ บ้านนาต้นจั่น อ.ศรีสัชนาลัย แหล่งท่องเที่ยวชุมชนที่เกิดจากการส่งเสริมและพัฒนาให้ชุมชนมีทักษะการบริหารจัดการแหล่งท่องเที่ยว พร้อมต้อนรับการเดินทางมาของนักท่องเที่ยวได้เป็นอย่างดี อีกทั้ง ยังมีการนำเสนอรูปแบบการท่องเที่ยวเชิงธรรมชาติที่ตอบโจทย์ความต้องการของนักท่องเที่ยวในปัจจุบัน ก่อเกิดรายได้ให้กับคนในพื้นที่สามารถเสริมสร้างความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจในระดับท้องถิ่น นำไปสู่การขับเคลื่อนเศรษฐกิจระดับประเทศต่อไป

สำหรับการเดินหน้าโครงการฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการ “DIPROM ยกระดับสินค้าชุมชน กระตุ้นเศรษฐกิจฐานราก นำรายได้คืนถิ่นชุมชน” ดีพร้อมเตรียมขยายพื้นที่ดำเนินการในอีก 5 จังหวัดทั่วประเทศ โดยตั้งเป้าดึงผู้ประกอบการเอสเอ็มอีและวิสาหกิจชุมชนในท้องถิ่นที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 เข้าร่วมโครงการกว่า 2,000 ราย เพื่อเสริมแกร่งการประกอบอาชีพและการดำเนินธุรกิจในยุคความปกติใหม่ (New Normal) ดร. ณัฐพล กล่าวทิ้งท้าย

ผู้สนใจสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สำนักงานเลขานุการกรม กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม โทรศัพท์ 0 2430 6865-66 ต่อ 4 และติดตามข้อมูลข่าวสารและความเคลื่อนไหวได้ที่ www.facebook.com/dipromindustry หรือ www.diprom.go.th

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'ดีพร้อม' ดันซอฟต์พาวเวอร์ สินค้าแฟชั่นไทย สู่ตลาดโลก

กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม หรือ ดีพร้อม (DIPROM) เดินหน้าผลักดันซอฟต์พาวเวอร์ไทยโดยอาศัย "พลังทางอ้อม" ผ่านอินฟลูเอนเซอร์ ตามนโยบาย “ปฏิรูปอุตสาหกรรม สู่เศรษฐกิจยุคใหม่ ทันสมัย สะอาด สะดวก โปร่งใส”

ปชน. ถอย! ไม่ส่งชิง 'นายก อบจ.สุโขทัย' ปล่อยอดีต สส. ลงแข่งอิสระ

พรรคประชาชนถอย ไม่ส่งคนชิงนายก อบจ.สุโขทัย แต่เปิดทางสมาชิกลงแข่งอิสระได้ "อดีตผู้สมัคร สส.พรรคส้ม" ลั่นสู้เต็มที่ แม้โอกาสน้อยที่จะชนะ

น้ำเต็ม 100% ทุ่งบางระกำโมเดล ระดับน้ำเพิ่มสูง เริ่มกระทบชาวบ้าน-เส้นทางสัญจร

ทุ่งบางระกำโมเดล ในจังหวัดพิษณุโลกและสุโขทัย  รับน้ำเต็มๆมีน้ำอยู่ในทุ่งแล้ว 440 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือคิดเป็นเกือบครึ่งหนึ่งของความจุเขื่อนแควน้อยบำรุงแดน