‘จุรินทร์’ รองนายกฯ มอบงบซ่อมบ้านมอแกนภูเก็ต เตรียมแก้ปัญหาที่อยู่อาศัยคนจนทั่วประเทศอีก 1 ล้านครอบครัว ด้าน พอช.เดินหน้าแก้ปัญหาที่อยู่อาศัยชุมชนฝั่งทะเลอันดามัน-ที่ดิน รฟท.

นายจุรินทร์  รองนายกฯ มอบงบประมาณสนับสนุนการซ่อมบ้านให้ชาวมอแกน

ภูเก็ตจุรินทร์  ลักษณวิศิษฏ์  รองนายกฯ  มอบงบกว่า 1 ล้านบาท  ซ่อมบ้านพอเพียงให้ชาวมอแกน .ภูเก็ต 58 ครอบครัว  ตั้งเป้าภายใน 3 ปีสนับสนุนให้ผู้มีรายน้อยได้ทั่วประเทศมีที่อยู่อาศัยที่มั่นคงอีก 1 ล้านครัวเรือน  ด้าน พอช. เดินหน้าแก้ไขปัญหาชุมชนชายฝั่งทะเลอันดามัน  6 จังหวัด  รวม 14,388 ครัวเรือน  นอกจากนี้ยังเตรียมเสนอโครงการแก้ไขปัญหาชุมชนในที่ดิน รฟท.ทั่วประเทศ  ตามมติ ครม.ที่ให้ พอช.ดำเนินการ  เบื้องต้นพบชุมชนในที่ดิน รฟท. 35 จังหวัด  345 ชุมชน  รวม 26,153 ครัวเรือน  หาก ครม.อนุมัติสามารถดำเนินการได้ในปี 2565-2569

ตามที่รัฐบาลมีนโยบายแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยผู้มีรายได้น้อย  โดยให้กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) จัดทำแผนแม่บทการพัฒนาที่อยู่อาศัยระยะ 20 ปี (พ.ศ.2560-2579)  และสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) ดำเนินการแก้ไขปัญหาและพัฒนาที่อยู่อาศัยชุมชนผู้มีรายได้น้อยทั่วประเทศ มีเป้าหมายประมาณ 1,050,000 ครัวเรือน มีโครงการต่างๆ ที่ดำเนินการอยู่ในขณะนี้  เช่น การพัฒนาที่อยู่อาศัยชุมชนริมคลองลาดพร้าว-คลองเปรมประชากร  โครงการบ้านมั่นคง  โครงการบ้านพอเพียง  ฯลฯ

รองนายกฯ จุรินทร์มอบบ้านพอเพียงให้ชาวมอแกนที่ภูเก็ต

วันนี้ (29 พฤษภาคม ) นายจุรินทร์  ลักษณวิศิษฎ์  รองนายกรัฐมนตรี  ในฐานะประธานคณะกรรมการนโยบายที่อยู่อาศัยแห่งชาติ  และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์  ได้เดินทางมาปฏิบัติราชการที่จังหวัดภูเก็ต  และได้เยี่ยมเยียนโครงการพัฒนาที่อยู่อาศัยของผู้ที่มีรายได้น้อยที่ พอช. ดำเนินการในจังหวัดภูเก็ต   โดยนายจุรินทร์ได้เดินทางมาที่ชุมชนชาวมอแกนบ้านแหลมหลา  ตำบลไม้ขาว อำเภอถลาง  โดยมีผู้บริหารกระทรวง พม.  รองผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต   ผู้บริหาร พอช.  ผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง  ตัวแทนพี่น้องขบวนองค์กรชุมชนภาคใต้  และชาวชุมชนมอแกนกว่า 200 คนเข้าร่วมงาน

นายจุรินทร์ กล่าวว่า  รัฐบาลมีนโยบายสนับสนุนการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัย  ที่ดินทำกิน  สร้างชุมชนที่น่าอยู่  รวมทั้งการพัฒนาทักษะอาชีพ  และพัฒนาพื้นที่เมืองแบบองค์รวม  พร้อมที่จะสนับสนุนการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยผู้มีรายได้น้อยอย่างเต็มที่  เช่น   โครงการบ้านมั่นคง   โครงการบ้านพอเพียงอย่างต่อเนื่อง  และอีกหนึ่งโครงการของรัฐบาล  ตามมติคณะรัฐมนตรีสัญจรกลุ่มจังหวัดอันดามัน  เมื่อวันที่ 18 พฤศจิกายน 2564  คือ โครงการพัฒนาคุณภาพชีวิตและที่อยู่อาศัยพื้นที่กลุ่มจังหวัดอันดามัน  โดยมีแนวทางการดำเนินงานที่สำคัญ คือ การทำงานแบบมีส่วนร่วม  ใช้ชุมชนเป็นศูนย์กลาง  การทำงานโดยใช้ฐานข้อมูลเป็นเครื่องมือในการวางแผนอย่างมีประสิทธิภาพ  และสร้างความร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐและเอกชน

โครงการบ้านมั่นคงดำเนินการต่อเนื่องมาทุกรัฐบาล  แต่ในช่วง 3 ปีต่อจากนี้ไป  เราตั้งเป้าหมายอย่างก้าวกระโดด  จะช่วยให้ผู้มีรายได้น้อยทั่วประเทศมีที่อยู่อาศัยเป็นของตนเอง  เช่น  โครงการบ้านมั่นคง  บ้านพอเพียง  การซ่อมแซมบ้านผู้ที่มีรายได้น้อยให้มั่นคงแข็งแรงขึ้น  โดยจะทำเพิ่มเป็น 1 ล้านครัวเรือน  เป็นนโยบายของรัฐบาลเพื่อให้พี่น้องได้อยู่อาศัยในที่ดินถูกกฎหมาย  มีบ้านที่มั่นคงแข็งแรง  มีอนาคตและชีวิตที่ดีกว่าเดิม และที่สำคัญก็คือพี่น้องทุกชุมชนสามารถบริหารจัดการชุมชนของตนเองได้  โดยรัฐบาลจะเข้ามาสนับสนุนเรื่องอาชีพและความเป็นอยู่ของพี่น้องให้ดีขึ้น”  รองนายกฯ กล่าว

รองนายกฯ ร่วมซ่อมบ้านชาวมอแกน

นางจิ้ม วารี ตัวแทนชุมชนมอแกนแหลมหลา   บอกว่า  ครอบครัวของเธอมีอาชีพชาวประมงพื้นบ้าน  อาศัยอยู่กับสามีและลูกรวม 9 คน  สภาพบ้านเดิมชำรุดทรุดโทรม  ฝนตกหลังคารั่ว  หลังคามุงสังกะสีเก่าๆ

รู้สึกดีใจที่ได้บ้านหลังใหม่  ขอขอบคุณทุกหน่วยงานที่มาช่วยกันหางบมาให้   ถึงไม่สวยงามแต่ก็มั่นคงแข็งแรงขึ้น  และขอบคุณคนที่มาช่วยซ่อมบ้านด้วย  เพราะลำพังไม่มีปัญญาที่จะหาเงินมาซ่อมเอง  ครอบครัวมีรายได้พอกินไปวันๆ เท่านั้น”  นางจิ้มบอกความรู้สึก

ชุมชนชาวมอแกนบ้านแหลมหลา  ประกอบด้วยกลุ่มชาติพันธุ์มอแกน  อาศัยอยู่ในที่ดินราชพัสดุ  ส่วนใหญ่ประกอบอาชีพประมงพื้นบ้าน ไม่มีความมั่นคงด้านที่อยู่อาศัย   มีรายได้น้อย  สภาพบ้านเรือนทรุดโทรม  โดย พอช.สนับสนุนงบประมาณเพื่อซ่อมแซมที่อยู่อาศัย  จำนวน 58 ครัวเรือน  ภายใต้โครงการบ้านพอเพียง  (งบประมาณไม่เกินครัวเรือนละ 20,000 บาท) รวมงบประมาณทั้งหมด 1,189,000 บาท

บ้านชาวมอแกนที่กำลังซ่อมแซม-สร้างใหม่

โครงการบ้านพอเพียงชนบท  พอช.สนับสนุนให้ชุมชนที่มีความเดือดร้อน  ครอบครัวที่มีรายได้น้อย  ด้อยโอกาส  สภาพบ้านเรือนทรุดโทรมได้ซ่อมแซมบ้านใหม่  เพื่อให้มีความปลอดภัย  มีความเหมาะสมในการอยู่อาศัย  โดยชุมชนและท้องถิ่นจะใช้กลไกในพื้นที่ที่มีอยู่แล้ว  เช่น  สภาองค์กรชุมชนตำบล  กองทุนสวัสดิการชุมชน  ร่วมกับ  อบต.หรือเทศบาล  สำรวจข้อมูลครัวเรือนที่มีความเดือดร้อนเพื่อซ่อมสร้างบ้าน  ใช้แรงงานจิตอาสาหรือช่างชุมชนที่มีอยู่เพื่อประหยัดงบประมาณ  ส่วน พอช.สนับสนุนงบประมาณเพื่อจัดซื้อวัสดุซ่อมแซมบ้านไม่เกินครัวเรือนละ  20,000 บาท

พอช.แก้ปัญหาที่อยู่อาศัยคนจนทั่วประเทศแล้วกว่า 1 แสนครัวเรือน

ทั้งนี้ตั้งแต่ปี 2546  พอช.ได้สนับสนุนการแก้ไขปัญหาชุมชนผู้มีรายได้น้อยในชุมชนต่างๆ ทั่วประเทศตามโครงการ บ้านมั่นคงไปแล้วกว่า 100,000 ครัวเรือน  โดยมีหลักการ  คือ  ให้ชาวชุมชนที่มีความเดือดร้อน  ไม่มีความมั่นคงในที่ดินและที่อยู่อาศัย  เช่น  เช่าบ้าน  บุกรุก  ฯลฯ ได้รวมกลุ่มกันแก้ไขปัญหาในรูปแบบต่างๆ  เช่น  เช่าหรือซื้อที่ดินเพื่อปลูกสร้างบ้านใหม่  ปรับปรุงซ่อมแซมที่อยู่อาศัยในชุมชนเดิม 

โดย พอช.สนับสนุนกระบวนการรวมกลุ่ม  ให้คำปรึกษา  ให้เงินอุดหนุนบางส่วน เช่น สร้างสาธารณูปโภค  โครงสร้างพื้นฐาน ให้สินเชื่อระยะยาว  ขณะที่ชุมชนที่มีความเดือดร้อนจะต้องตั้งคณะกรรมการขึ้นมาดำเนินการ  มีการออมทรัพย์เพื่อเป็นทุน  จดทะเบียนเป็นสหกรณ์เพื่อบริหารโครงการ  ร่วมกันออกแบบบ้าน-ผังชุมชนให้ตรงกับความต้องการของชุมชน  ฯลฯ

โครงการที่กำลังดำเนินการอยู่  เช่น  การพัฒนาที่อยู่อาศัยชุมชนริมคลองลาดพร้าว  กรุงเทพฯ สร้างบ้านเสร็จแแล้วใน 35 ชุมชน  รวม 3,536  ครัวเรือน  (เป้าหมาย 50 ชุมชน 7,069  ครัวเรือน) คลองเปรมประชากรสร้างบ้านแล้วใน  9 ชุมชน  รวม 858 ครัวเรือน  (เป้าหมาย 38 ชุมชน  6,386 ครัวเรือน) ฯลฯ

การพัฒนาที่อยู่อาศัยชุมชนริมคลองเปรมประชากร  ปัจจุบันก่อสร้างแล้ว 9 ชุมชน  แล้วเสร็จ 858 ครัวเรือน

ส่วนในปี 2565  พอช.มีเป้าหมายดำเนินการ 1.โครงการบ้านมั่นคงทั้งในเมืองและชนบท  รวม 3,750 ครัวเรือน  2.บ้านพอเพียง  รวม 24,700 ครัวเรือน   3.ที่อยู่อาศัยชั่วคราว  กรณีไฟไหม้  ไล่รื้อ  รวม  1,000 ครัวเรือน  และ 4.โครงการพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้มีรายได้น้อยในเมือง  โดยเฉพาะในกรณีผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 เพื่อให้ชุมชนสร้างระบบการช่วยเหลือทางสังคม  ดูแลผู้ป่วย  จัดทำสถานที่รองรับในชุมชน  สร้างแหล่งอาหาร  ปลูกผัก  เพาะเห็ด  เลี้ยงปลา  ไก่   ส่งเสริมอาชีพ  เพื่อให้ชุมชนพึ่งพาตัวเองได้   มีเป้าหมาย 500 ตำบล/เมืองทั่วประเทศ

เดินหน้าโครงการพัฒนาชุมชนชายฝั่งทะเลอันดามัน

นอกจากการสนับสนุนการซ่อมแซมบ้านพอเพียงที่จังหวัดภูเก็ตแล้ว   รองนายกรัฐมนตรีได้กล่าวถึงโครงการพัฒนาคุณภาพชีวิตและที่อยู่อาศัยพื้นที่กลุ่มจังหวัดอันดามัน  โดย พอช.มีโครงการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยและพัฒนาคุณภาพชีวิตชุมชนชายฝั่งทะเลอันดามัน 6 จังหวัด  คือ  ระนอง  พังงา  ภูเก็ต  กระบี่  ตรัง  และสตูล   

นายธนภณ  เมืองเฉลิม    ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ  สำนักงานภาคใต้ กล่าวว่า การดำเนินโครงการดังกล่าว ดำเนินการภายใต้แผนพัฒนากลุ่มจังหวัดภาคใต้ฝั่งอันดามัน หรือ ‘Andaman Go Green’ มีประเด็นการพัฒนา  5 ด้าน ประกอบด้วย 1.ด้านการพัฒนาความเข้มแข็งขององค์กรชุมชน 2.ด้านการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน    3.ด้านการจัดการเศรษฐกิจและทุนชุมชน 4.ด้านการพัฒนาคุณภาพชีวิต   และ 5.ด้านการจัดการที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัยอย่างเท่าเทียมและเป็นธรรม

นายธีรพล  สุวรรณรุ่งเรือง  ผู้อำนวยการโครงการฯ กล่าวว่า  จากข้อมูลเบื้องต้นพบว่า  พื้นที่ชายฝั่งทะเลอันดามัน  ภาคใต้ 6 จังหวัด  คือ  ระนอง  พังงา  กระบี่  ภูเก็ต  ตรัง  กระบี่  และสตูล  มีชุมชนผู้มีรายได้น้อย  ไม่มีความมั่นคงในที่อยู่อาศัยและที่ดินทำกินทั้งในเมืองและชนบทเป็นจำนวนมาก  โดยมีชุมชนที่อาศัยในเขตอุทยานแห่งชาติ  เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า  เขตห้ามล่า  ป่าชายเลน  กรมเจ้าท่า  ที่ดินรัฐ ฯลฯ   ส่วนใหญ่มีอาชีพประมงพื้นบ้าน  ในพื้นที่ 29 อำเภอ  139 ตำบล  รวม 14,388 ครัวเรือน

ที่ผ่านมารัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมีการหาแนวทางการแก้ไขและผ่อนปรนการอยู่อาศัยและทำกินของประชาชน  เกิดแนวทางและรูปธรรมการแก้ไขปัญหาการอยู่อาศัยของประชาชนในหลายพื้นที่  เช่น  อนุญาตให้อยู่อาศัยและทำกิน   พัฒนาคุณภาพชีวิตชุมชน   ควบคู่กับการดูแลอนุรักษ์ทรัพยากรชายฝั่ง  ฟื้นฟูระบบนิเวศน์  ดิน   น้ำ  ป่า  ให้สอดคล้องกับวิถีชุมชนดั้งเดิม  แต่เมื่อเปรียบเทียบกับปริมาณจำนวนที่ได้ดำเนินการ  พบว่ายังมีพื้นที่ที่มีปัญหาอีกจำนวนมาก  ดังนั้น พอช.จึงจัดทำโครงการนี้ขึ้นมา  เพื่อร่วมมือกับองค์กรชุมชน  องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น  ประชาสังคม  ภาคเอกชน  ภาคีต่าง ๆ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง  เพื่อร่วมกันพัฒนาพื้นที่ชุมชนชายฝั่งทะเลอันดามันให้มีความมั่นคงสู่ความยั่งยืนทุกมิติ  นายธีรพลกล่าว  

เขาบอกว่า  โครงการนี้เริ่มต้นตั้งแต่ช่วงปลายปี 2564 ที่ผ่านมา  ซึ่งเป็นผลสืบเนื่องมาจากนโยบายรัฐบาลที่มีการกระจายอำนาจการจัดการทรัพยากรธรรมชาติให้ท้องถิ่นจัดการ (มีการลงนามบันทึกความร่วมมือของ 6 หน่วยงานที่เกี่ยวข้องในเดือนกุมภาพันธ์ 2564)  โดยให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) หน่วยงานเจ้าของที่ดิน  สามารถอนุญาตให้ชุมชนในเขตป่าไม้  ป่าชายเลน  ชายฝั่ง  อยู่อาศัยและทำกินอย่างถูกต้องตามแนวทางของคณะอนุกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ (คทช.)และช่วยกันดูแลทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมได้  ขณะที่ พอช.ก็สามารถเข้าไปสนับสนุนการแก้ไขปัญหาที่ดิน  ที่อยู่อาศัย  และพัฒนาคุณภาพชีวิตชาวชุมชนได้

 โดยขณะนี้  พอช.ร่วมกับชุมชน  ท้องถิ่น  สำรวจข้อมูล  ปัญหาความเดือดร้อนของชุมชน  เพื่อนำมาวางแผนการแก้ไขปัญหา  โดยชุมชนมีส่วนร่วม  เช่น  การจัดทำแผนที่ชุมชน  การออกแบบผังชุมชน  การซ่อมแซม-สร้างบ้านครัวเรือนที่มีสภาพทรุดโทรม  มีฐานะยากจน  ส่งเสริมอาชีพ  ส่งเสริมการจัดตั้งกลุ่มออมทรัพย์  สร้างเศรษฐกิจชุมชน  ปรับปรุงท่าเรือประมงพื้นบ้าน  แพปลา ลานแกะปู  แปรรูปอาหารทะเล  การอนุรักษ์พื้นที่ป่าชายเลน  ปลูกป่าชายเลน  ส่งเสริมการท่องเที่ยวชุมชน  ฯลฯ

โดยมีพื้นที่นำร่อง  เช่น  ตำบลหล่อยูง  อ.ตะกั่วป่า  ตำบลบางเตย  ตำบลตากแดด  อ.เมือง  จ.พังงา  และจะขยายไปในตำบลที่มีความพร้อม  โดยมีเป้าหมายปี 2565  จำนวน  66 ตำบล  ใน 6 พื้นที่จังหวัดอันดามัน

เตรียมเสนอ ครม.แก้ไขปัญหาชุมชนในที่ดินรถไฟทั่วประเทศ

นอกจากโครงการพัฒนาคุณภาพชีวิตและที่อยู่อาศัยพื้นที่กลุ่มจังหวัดอันดามันดังกล่าวแล้ว  พอช.ยังได้รับมอบหมายจากคณะรัฐมนตรีในการประชุมเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2565 ที่ผ่านมา  โดย ครม.มีมติเห็นชอบตามที่ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (ขปส.) ยื่นข้อเสนอเพื่อให้รัฐบาลแก้ไขปัญหาต่างๆ ของประชาชนที่มีความเดือดร้อนทั่วประเทศ

โดยในส่วนของการแก้ไขปัญหาชุมชนในที่ดินการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.)นั้น  ครม.เห็นชอบในหลักการตามข้อเสนอของ ขปส. โดยมีสาระสำคัญ  คือ   1.ให้ รฟท. ใช้มติคณะกรรมการรถไฟแห่งประเทศไทยเมื่อวันที่ 13 กันยายน 2543 มาเป็นนโยบายในการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยชุมชนผู้มีรายได้น้อยในที่ดินของ รฟท.ทั่วประเทศ  2.มีมติให้สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (พอช.) กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์  ดำเนินการเสนอโครงการแก้ไขปัญหาประชาชนผู้มีรายได้น้อยที่ได้รับผลกระทบจากการพัฒนาระบบรางต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรีในระยะต่อไปโดยเร่งด่วน

ชาวชุมชนริมทางรถไฟย่านราชเทวี  กรุงเทพฯ  ได้รับผลกระทบจากโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน

ทั้งนี้ในช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมา  มีประชาชนที่มีรายได้น้อยสร้างบ้านเรือนอยู่ในที่ดิน รฟท.ทั่วประเทศ (มีทั้งเช่าที่ดินโดยถูกต้องและไม่ได้เช่า) เมื่อ รฟท.มีแผนพัฒนาระบบรางทั่วประเทศ  เช่น  โครงการรถไฟรางคู่  รถไฟความเร็วสูง  รถไฟเชื่อม 3 สนามบิน  ซึ่งกำลังดำเนินการอยู่ในขณะนี้   และ รฟท.จะต้องใช้ประโยชน์จากที่ดิน 2 ข้างทาง  จึงมีความจำเป็นต้องรื้อย้ายชุมชนต่างๆ ออกไป  โดย ครม.ให้ พอช.เสนอโครงการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยฯ ตามมติดังกล่าว

โดยล่าสุดในขณะนี้  พอช.ได้สำรวจข้อมูล  และจัดทำโครงการเพื่อเตรียมเสนอ ครม.แล้ว  เบื้องต้นมีข้อมูลว่า  มีชุมชนที่ปลูกสร้างบ้านเรือนในที่ดิน รฟท.ใน 35 จังหวัด  รวม  345  ชุมชน  จำนวน  26,153 ครัวเรือน  ส่วนแนวทางแก้ไขปัญหา พอช.จะดำเนินการตามแนวทางบ้านมั่นคง  เช่น  เช่าที่ดิน รฟท.ที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์เพื่อสร้างบ้าน  สร้างชุมชนใหม่  ปรับปรุงบ้านในที่ดินเดิม  จัดหาที่ดินใหม่  หรือเช่า-ซื้อในโครงการที่มีอยู่แล้ว  เช่น  โครงการของการเคหะแห่งชาติ

โดยชาวชุมชนจะต้องรวมตัวกันและมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหา  เช่น  ตั้งคณะกรรมการมาดำเนินงาน  จัดตั้งกลุ่มออมทรัพย์เพื่อเป็นทุน  จดทะเบียนเป็นสหกรณ์เพื่อบริหารโครงการ  ออกแบบบ้านและผังชุมชนให้ตรงกับความต้องการ  ขณะที่ พอช.จะสนับสนุนงบด้านสาธารณูโภค  โครงสร้างพื้นฐาน  สนับสนุนสินเชื่อระยะยาว ฯลฯ   หาก ครม.อนุมัติโครงการและงบประมาณ  พอช.จะดำเนินการในปี 2565-2569 นี้

ชาวชุมชนริมทางรถหัวหิน  จ.ประจวบคีรีขันธ์  ได้รับผลกระทบจากโครงการรถไฟรางคู่สายใต้  รวมตัวกันจัดหาที่ดินใหม่ปลูกสร้างบ้าน 70 ครอบครัว  โดยได้รับการสนับสนุนจาก พอช. ขณะนี้เข้าอยู่อาศัยแล้ว

 

เรื่องและภาพโดย  สำนักพัฒนานวัตกรรมชุมชนจัดการความรู้และสื่อสาร  สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน)

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

อเมริโก เวสปุชชี เรือสำเภาในตำนานจอดเทียบท่าที่ภูเก็ต กระชับความสัมพันธ์ไทย-อิตาลี

เรือสำเภาอันทรงเกียรติสัญชาติอิตาลีที่ได้ชื่อว่าสวยที่สุดในโลก อเมริโก เวสปุชชี (Amerigo Vespucci) เข้าจอดเทียบท่าที่ภูเก็ตเป็นครั้งแรกระหว่างวันที่ 6-10 พฤศจิกายน ที่ผ่านมา โดย

สุราษฎร์ธานี จัดงานวันที่อยู่อาศัยโลกปี67 ย้ำชุมชนต้องเป็นแกนหลักในการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยคนจน

UN – HABITAT หรือ ‘โครงการตั้งถิ่นฐานมนุษย์แห่งสหประชาชาติ’ กำหนดให้วันจันทร์แรกของเดือนตุลาคมทุกปีเป็น ‘วันที่อยู่อาศัยโลก’ หรือ ‘World Habitat Day’

จับหอยลายเถื่อน! เรือเมียนมา ลักลอบนำเข้าสัตว์น้ำ 4.6 ตัน ปล่อยของกลางคืนสู่ทะเล

ศูนย์อำนวยการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเลภาค 3 (ศรชล.ภาค3) เปิดเผยว่า  ศรชล./ ศูนย์ควบคุมความมั่นคงท่าเรือจังหวัดระนอง (ศคท.จว.รน.) ได้รับแจ้งจากหน่วยป้องกันและปราบปรามประมงทะเลเกาะสุรินทร์ (พังงา)

เร่งแก้ปมเอกชนฟ้องขับไล่ชาวบ้านอาศัยเขตป่าชายเลนตามมติครม.

อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง นำทีมเข้าตรวจสอบสภาพพื้นที่ชุมชนประชาสามัคคี ต.เกาะแก้ว จ.ภูเก็ต ปมข้อพิพาทกับเอกชนชาวบ้านถูกฟ้องขับไล่ออกจากพื้นที่

รวมพลังคนจนแก้ปัญหาที่ดิน-ที่อยู่อาศัยทั่วประเทศ วันที่อยู่อาศัยโลก ปี 2567

ปัญหาการขาดแคลนที่อยู่อาศัยหรือมีที่อยู่อาศัยไม่เหมาะสมเป็นปัญหาที่สำคัญของผู้คนทั่วโลก UN-Habitat หรือ ‘โครงการตั้งถิ่นฐานมนุษย์แห่งสหประชาชาติ’