การก่อสร้างรถไฟรางคู่สายใต้ช่วงนครปฐม-หัวหิน (ภาพจาก facebook.com/southernlinetrackdoublingproject)
การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) มีแผนพัฒนาระบบรางทั่วประเทศ ขณะนี้อยู่ในระหว่างก่อสร้างรถไฟรางคู่และรถไฟความเร็วสูงในภาคอีสาน ในกรุงเทพฯ กำลังจะเริ่มโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน คือ ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา
ส่วนภาคใต้กำลังก่อสร้างรถไฟรางคู่จากนครปฐม-ชุมพร ระยะทางทั้งหมด 421 กิโลเมตร กำหนดแล้วเสร็จในช่วงปลายปี 2566 หลังจากนั้นจะก่อสร้างต่อไปยังสุราษฎร์ธานี-หาดใหญ่-สงขลา และหาดใหญ่-ปาดังเบซาร์ (มาเลเซีย)
ทั้งนี้การพัฒนาระบบรางของ รฟท. เป็นส่วนหนึ่งของแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาระบบคมนาคมขนส่งระยะ 20 ปี (พ.ศ.2561-2580) ของรัฐบาล เพื่อเพิ่มศักยภาพการขนส่ง รองรับจำนวนผู้โดยสาร และปริมาณสินค้าที่จะเพิ่มขึ้นในอนาคต เนื่องจากการขนส่งทางรถไฟมีต้นทุนต่ำกว่าทางรถยนต์โดยเฉลี่ยเกือบ 2 เท่า คือ รถไฟมีต้นทุน 0.75 บาท/ตัน/กิโลเมตร ขณะที่ทางรถยนต์มีต้นทุน 2.12 บาท/ตัน/กิโลเมตร (ที่มา : วารสารรถไฟสัมพันธ์/ไม่ระบุปีที่ตีพิมพ์)
อย่างไรก็ตาม การพัฒนาระบบรางดังกล่าว โดยเฉพาะการขยายรางรถไฟรางเดี่ยวให้เป็นรางคู่ จะทำรถไฟวิ่งเร็วขึ้น รฟท.จึงยึดหลักเขตความปลอดภัย เช่น ระยะห่างจากแนวกึ่งกลางรางที่ไม่น้อยกว่า 3.75 เมตร นอกจากนี้จะมีการขยายสถานีเพื่อรองรับการให้บริการ รวมทั้งการก่อสร้างย่านเก็บกองและขนถ่ายตู้สินค้าตามแนวรถไฟทางคู่ เพื่อรองรับการขนส่งสินค้า ทำให้ชุมชนที่ปลูกสร้างบ้านเรือนในที่ดินของการรถไฟฯ ทั้งที่ทำสัญญาเช่าโดยถูกต้องและชุมชนบุกรุกจะได้รับผลกระทบจากการพัฒนาระบบรางในครั้งนี้ !!
เส้นทางรถไฟจากหัวหิน-ชายแดนมาเลเซีย หากนับรวมระยะทางจากกรุงเทพฯ-ปาดังเบซาร์ มีความยาวทั้งหมด 1,144 กิโลเมตร เป็นเส้นทางที่ยาวที่สุดในประเทศไทย (ภาพจาก รฟท.)
ชุมชนริมทางรถไฟหัวหินกับผลกระทบจากรถไฟรางคู่
โครงการรถไฟรางคู่สายใต้ช่วงนครปฐม-หัวหิน เริ่มดำเนินการตั้งแต่ช่วงปี 2561 เป็นรูปธรรมที่สะท้อนให้ถึงผลกระทบที่เกิดขึ้น โดยมีชุมชนที่ตั้งอยู่ในที่ดิน รฟท.สองข้างทางในเขตอำเภอหัวหินจำนวน 19 ชุมชน (มีทั้งชุมชนที่เช่าที่ดิน รฟท.อย่างถูกต้องและชุมชนบุกรุก) ประมาณ 1,200 ครัวเรือน ประชากรราว 4,000 คน ต้องรื้อย้ายออกจากที่ดิน รฟท.ภายในช่วงปลายปี 2561
ชาวชุมชนในที่ดิน รฟท.ที่หัวหินยื่นหนังสือถึงผู้ว่า ฯ จ.ประจวบคีรีขันธ์เพื่อร้องเรียนความเดือดร้อนในช่วงปลายปี 2561 แต่ไม่เป็นผล ทางราชการไม่มีแผนรองรับผู้เดือดร้อน
ชาวบ้านในชุมชนต่างๆ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้มีรายได้น้อย ทำงานรับจ้าง บริการ ค้าขายเล็กๆ น้อยๆ ในเมืองท่องเที่ยวแห่งนี้ต้องแตกฉานซ่านเซ็น (บางส่วนถูกฟ้องร้องดำเนินคดี แต่มีการไกล่เกลี่ยยอมความ) คงมีเพียงชาวบ้านประมาณ 70 ครอบครัวเท่านั้นที่รวมตัวกันแก้ไขปัญหา โดยจัดตั้งคณะกรรมการขึ้นมา มีการร่วมกันออมทรัพย์เพื่อเป็นทุน แล้วจัดหาที่ดินเพื่อปลูกสร้างบ้านเรือน สร้างชุมชนใหม่บริเวณตำบลหินเหล็กไฟ อ.หัวหิน ซึ่งเป็นไร่สับปะรดเก่า เนื้อที่ประมาณ 5 ไร่เศษ (ห่างจากที่เดิมประมาณ 10 กิโลเมตร) โดยสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) สนับสนุนกระบวนการรวมกลุ่มของชาวบ้านและสนับสนุนสินเชื่อซื้อที่ดิน สร้างบ้าน สร้างชุมชนใหม่ ใช้ชื่อว่า ‘บ้านมั่นคงหินเหล็กไฟ’
สุรภา นิลเพ็ชร หรือ ‘พี่แพรว’ แกนนำชุมชนบ้านมั่นคงหินเหล็กไฟ บอกว่า ชาวบ้านทั้ง 70 ครอบครัว เริ่มรวมกลุ่มกันออมทรัพย์ตั้งแต่ช่วงปลายปี 2561 เดือนหนึ่งขั้นต่ำ 300 บาท หลังจากนั้นจึงช่วยกันสำรวจหาที่ดิน จนมาได้ที่ดินในตำบลหินเหล็กไฟ จากนั้นจึงมีกระบวนการออกแบบบ้านและผังชุมชน โดยมีสถาปนิกจากสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ หรือ ‘พอช.’ มาให้ความรู้ ให้คำแนะนำแก่ชาวบ้าน เพื่อสร้างบ้านใหม่ให้เหมาะสมกับขนาดที่ดินและจำนวนครอบครัว รวมทั้งในเรื่องงบประมาณ รายได้ของครอบครัวที่ต้องผ่อนชำระสินเชื่อ
เริ่มสร้างบ้านในที่ดินแปลงใหม่ตั้งแต่ต้นปี 2564
นอกจากนี้ยังมีหน่วยงานต่างๆ ให้การสนับสนุน เช่น สำนักงานสหกรณ์จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ส่งเสริมการจัดตั้งสหกรณ์บ้านมั่นคงหินเหล็กไฟ จำกัด เพื่อให้สหกรณ์เกิดความเข้มแข็ง ชาวบ้านสามารถบริหารจัดการเรื่องการเงิน การบัญชีได้ มีการประปา การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค สนับสนุนด้านสาธารณูปโภค หน่วยงานปกครองส่วนท้องถิ่น จนถึงอำเภอ และจังหวัดประจวบคีรีขันธ์สนับสนุนการแก้ไขปัญหาของชาวบ้าน
ส่วนที่ดินแปลงนี้มีเนื้อที่ 5 ไร่ 2 งานเศษ (ราคา 8 ล้านบาทเศษ) แบ่งที่ดินเพื่อปลูกสร้างบ้าน 70 ครอบครัว สร้างที่ทำการสหกรณ์ ถนน ส่วนขนาดบ้านมีตั้งแต่ 4 x 8 ตารางเมตร และ-6 x 8 ตารางเมตร เป็นบ้านชั้นเดียว ราคาประมาณ 230,000-260,000 บาท ผ่อนชำระไม่เกินเดือนละ 3,200 บาท ระยะเวลา 15 ปี (สมาชิกจะชำระสินเชื่อที่ดินและบ้านผ่านสหกรณ์จากนั้นสหกรณ์จะผ่อนชำระคืน พอช.) เริ่มก่อสร้างบ้านใหม่ในเดือนกุมภาพันธ์ 2564 ปัจจุบันการก่อสร้างบ้านเสร็จสมบูรณ์ ชาวบ้านเข้าอยู่อาศัยแล้ว
“เมื่อก่อนตอนถูกฟ้องร้องขับไล่ทุกคนก็เครียด บางคนก็ร้องไห้ เพราะเกิดมาไม่เคยขึ้นศาล ไม่เคยถูกใส่กุญแจมือ ไม่รู้ว่าจะไปอยู่ที่ไหน จะทำมาหากินอะไร เพราะเราอยู่ที่หัวหินมานาน แต่พอเรารวมกลุ่มกันทำบ้านมั่นคงก็เริ่มมีความหวัง มี พอช.และหน่วยงานต่างๆ เข้ามาช่วยเหลือ รองผู้ว่าฯ จังหวัดประจวบฯ ก็มาเป็นประธานยกเสาเอกบ้าน ตอนนี้สร้างบ้านเสร็จแล้วทั้ง 70 หลัง ทุกคนก็ดีใจ เพราะต่อสู้กันมานาน ไม่ต้องย้ายไปไหนอีกแล้ว เพราะเป็นที่ดินของเรา ทำมาหากินที่หัวหินได้เหมือนเดิม” พี่แพรวบอกความรู้สึก
บ้านหลังใหม่ของชาวหินเหล็กไฟ
ชุมชนริมทางรถไฟหาดใหญ่จัดขบวนเตรียมพร้อม
โครงการรถไฟรางคู่สายใต้ แม้ว่าในขณะนี้ยังอยู่ในระหว่างการก่อสร้างเส้นทางช่วงบางสะพานน้อย (ประจวบคีรี ขันธ์) - ชุมพร และจะเริ่มก่อสร้างช่วงชุมพร-สุราษฎร์ธานีในปี 2566 ส่วนเส้นทางสุราษฎร์ธานี-หาดใหญ่-สงขลา และหาดใหญ่-ปาดังเบซาร์ (มาเลเซีย) จะเริ่มก่อสร้างในระยะต่อไปนั้น แต่ข่าวสารความเคลื่อนไหวการก่อสร้างทางรถไฟรางคู่สายใต้ และผลกระทบกับชุมชนริมทางรถไฟดังเช่นที่อำเภอหัวหินก็สร้างความตื่นตัวและหวั่นวิตกให้กับชาวชุมชนไม่น้อย
ธัญญรัตน์ พูลเกิด ประธานชุมชนสถานีอู่ตะเภา อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา บอกว่า เมื่อหลายสิบปีก่อนสถานีอู่ตะเภาเคยเป็นสถานีรถไฟขนาดใหญ่ ต่อมาเกิดปัญหาน้ำจากคลองอู่ตะเภาเอ่อท่วมสถานีรถไฟเป็นประจำ การรถไฟฯ จึงย้ายสถานีไปอยู่ที่ใหม่คือ ‘สถานีหาดใหญ่’ (ห่างจากสถานีอู่ตะเภาประมาณ 3 กิโลเมตร) จนถึงปัจจุบัน สถานีอู่ตะเภาจึงลดความสำคัญลง กลายเป็นเพียงที่หยุดรถ
ต่อมาประมาณปี 2529 การรถไฟฯ ได้ยกเลิกที่หยุดรถแห่งนี้ จากพื้นที่ที่เคยเป็นสถานีรถไฟใหญ่กลายเป็นที่รกร้าง จึงมีชาวบ้านจากพื้นที่ต่างๆ ส่วนใหญ่เป็นคนต่างจังหวัดที่เข้ามาทำมาหากินในหาดใหญ่เข้ามาบุกเบิกปลูกสร้างบ้านเรือนอยู่อาศัยจนกลายเป็นชุมชนขึ้นมาโดยไม่ได้เช่าที่ดินกับการรถไฟฯ และเรียกชุมชนนี้ว่า ‘ชุมชนสถานีอู่ตะเภา’ ปัจจุบันมีจำนวน90 ครอบครัว ประมาณ 200 คน ส่วนใหญ่มีอาชีพรับจ้างทั่วไป และค้าขายเล็กๆ น้อยๆ
สถานีอู่ตะเภาในอดีต ปัจจุบันกลายเป็นชุมชน โดย รฟท.เปลี่ยนไปใช้สถานีชุมทางหาดใหญ่
“ประมาณปี 2560 การรถไฟฯ ได้จัดประชุมตัวแทนชุมชนในที่ดินการรถไฟในอำเภอหาดใหญ่ บอกให้ชุมชนรู้ว่าจะมีโครงการรถไฟรางคู่สายใต้มาที่หาดใหญ่ เพื่อให้ชาวชุมชนต่างๆ เตรียมขยับขยายไปหาที่อยู่ใหม่ เพราะการรถไฟฯ จะใช้พื้นที่ แต่ชาวบ้านก็ยังเฉยๆ เพราะยังไม่รู้ว่าจะไปอยู่ที่ไหน ชาวบ้านบางส่วนก็ยังไม่เชื่อว่าการรถไฟฯ จะทำจริง เพราะเคยมีข่าวมานานว่าการรถไฟจะทำโน่นทำนี่ แต่ไม่เคยทำ พอเดือนกุมภาพันธ์ปีนี้มีชาวบ้านในชุมชนที่ต่อเติมสร้างบ้านใหม่ถูกการรถไฟฟ้องร้องให้รื้อถอนบ้านรวม 7 หลัง ชาวบ้านจึงเริ่มเชื่อแล้วว่าการรถไฟฯ จะทำจริง” ประธานชุมชนสถานีอู่ตะเภาบอก
เธอบอกว่า ขณะนี้ชาวบ้านได้รวมตัวกันเพื่อเตรียมพร้อมแก้ไขปัญหาเรื่องที่อยู่อาศัย มีการจัดประชุมชี้แจงสถานการณ์ โดยมีคณะทำงานเครือข่ายสลัม 4 ภาคมาให้ความรู้ ให้คำแนะนำ เพราะมีประสบการณ์การแก้ไขปัญหาชุมชนในที่ดินรถไฟเมืองสงขลามาก่อน โดยชาวชุมชนจะเริ่มออมทรัพย์รายเดือนเพื่อเป็นทุนในการแก้ไขปัญหา
“ชาวบ้านส่วนใหญ่อยากจะอยู่ที่เดิมเพราะมีอาชีพรับจ้างและค้าขายอยู่ในหาดใหญ่ และหากเป็นไปได้ ชาวบ้านก็ยินยอมจะขยับบ้านเรือนออกมาจากแนวทางรถไฟรัศมี 20 เมตร และจะขอเช่าที่ดินการรถไฟฯ ในส่วนที่เหลือเพื่อปลูกสร้างบ้านใหม่ ทำให้การรถไฟฯ สามารถขยายรางคู่ได้ ชาวบ้านก็จะได้อยู่อาศัยได้อย่างถูกกฎหมายและมั่นคง และพร้อมที่จะเข้าร่วมโครงการบ้านมั่นคงของ พอช.” ประธานชุมชนย้ำ
คุณยายจบ ลักษณะ อายุ 82 ปี ชาวชุมชนสถานีอู่ตะเภาที่เข้าร่วมประชุมรับฟังการชี้แจงสถานการณ์ บอกว่า ยายเป็นคนอำเภอเขาชัยสน จ.พัทลุง เข้ามาทำมาหากินที่หาดใหญ่เมื่อ 30 ปีก่อน เพราะหาดใหญ่เป็นเมืองใหญ่ ทำมาหากินง่าย นั่งรถไฟผ่านเห็นที่ตรงนี้ว่าง เมื่อก่อนยังเป็นป่ารก ยายกับครอบครัวจึงมาปลูกสร้างบ้านอยู่อาศัย ยายมีอาชีพขายผัก ส่วนลูกๆ 6 คน ทำงานรับจ้าง งานก่อสร้าง
“ถ้าชาวบ้านเอายังไง ยายก็เอาด้วย สู้เพื่อให้ลูกหลานได้มีที่อยู่อาศัย ตัวเองตายก็ไม่เป็นไร เพราะแก่แล้ว แต่อยากทำเพื่อลูกหลาน ถ้าทุกคนช่วยกันสู้ก็เชื่อว่าทำได้ แต่ก็อยากให้หน่วยงานเข้ามาช่วยเหลือด้วย เพราะชาวบ้านลำบาก ถ้าเขามาไล่ก็ไม่รู้ว่าจะไปอยู่ที่ไหน” ยายจบบอก
ส่วนหนึ่งของชาวชุมชนสถานีอู่ตะเภา
ปราโมทย์ ดำวงศ์ คณะทำงานแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัย เครือข่ายสลัม 4 ภาค (ประธานโครงการบ้านมั่นคงบ่อนวัวเก่า ตั้งอยู่ในที่ดินเช่า รฟท. อ.เมืองสงขลา ) บอกว่า ขณะนี้อยู่ในระหว่างการสำรวจข้อมูลชุมชนในที่ดินการรถไฟฯ ในอำเภอหาดใหญ่ และชี้แจงสร้างความเข้าใจกับชุมชนที่มีความพร้อมที่จะแก้ไขปัญหา
ข้อมูลเบื้องต้นในเขตอำเภอหาดใหญ่มีชุมชนที่สร้างบ้านเรือนในที่ดินการรถไฟทั้งหมดประมาณ 30 ชุมชน ส่วนใหญ่เป็นชุมชนขนาดใหญ่ อยู่อาศัยกันมานานหลายสิบปี รวมกว่า 10,000 ครัวเรือน ทั้งหมดเป็นชุมชนที่ไม่ได้เช่าที่ดินจากการรถไฟฯ จึงมีความเสี่ยงที่จะถูกไล่รื้อ ดังนั้นชุมชนในที่ดินการรถไฟฯ จึงต้องลุกขึ้นมาเตรียมความพร้อม เช่น จัดตั้งคณะทำงาน สำรวจข้อมูลชุมชน ครัวเรือน จัดตั้งกลุ่มออมทรัพย์เพื่อเป็นทุน ฯลฯ
ประสบการณ์จากชุมชนรถไฟสงขลา
ส่วนในเขตเทศบาลนครสงขลา ปราโมทย์บอกว่า ที่ผ่านมามีชุมชนในที่ดินการรถไฟฯ จำนวน 16 ชุมชนที่ได้ทำสัญญาเช่าที่ดินกับการรถไฟอย่างถูกต้อง ระยะเวลาเช่า 30 ปี โดยชุมชนต่างๆ เริ่มทยอยทำสัญญาเช่าที่ดินตั้งแต่ปี 2547 หลังจากนั้นจึงจัดทำโครงการ ‘บ้านมั่นคง’ เพื่อก่อสร้างบ้านหรือปรับปรุงบ้านใหม่ โดย พอช.สนับสนุนงบประมาณและสินเชื่อ
“ที่ผ่านมาบ้านเรือนส่วนใหญ่ปลูกสร้างกันไปตามมีตามเกิด สภาพบ้านเรือนทรุดโทรม ไม่ได้ปรับปรุงซ่อมแซม เพราะกลัวถูกการรถไฟฯ ไล่ เมื่อได้เช่าที่ดินอย่างถูกต้องแล้วจึงอยากปรับปรุงที่อยู่อาศัยใหม่ มีน้ำประปา ไฟฟ้าเป็นของชุมชน เพราะเมื่อก่อนชุมชนต้องพ่วงจากภายนอกเข้ามาใช้ในราคาแพง เพราะเป็นชุมชนบุกรุก ไม่สามารถขอน้ำ-ไฟอย่างถูกต้องได้” ปราโมทย์บอกและขยายความว่า การปรับปรุงบ้านเรือนและชุมชนเป็นเงื่อนไขหนึ่งที่ชุมชนเช่าที่ดินการรถไฟฯจะต้องปรับปรุงซ่อมแซมบ้านเรือนให้ถูกลักษณะ ไม่ใช่มีสภาพเป็นชุมชนแออัดเหมือนที่ผ่านมา
ปราโมทย์เล่าถึงประสบการณ์การแก้ไขปัญหาชุมชนในที่ดินการรถไฟฯ ในเขตเทศบาลนครสงขลาว่า ส่วนใหญ่เป็นชุมชนบุกรุกที่ปลูกสร้างบ้านเรือนมาตั้งแต่ปี 2521-2522 หลังจากที่เส้นทางรถไฟสายหาดใหญ่-สงขลา (ระยะทาง 29 กม.) หยุดวิ่งในปี 2521 (เนื่องจากการเดินทางด้วยรถยนต์สะดวกกว่า) นับแต่นั้นที่ดินสองข้างทางรถไฟจึงรกร้าง ชาวบ้านจากต่างถิ่นจึงมาปลูกสร้างบ้านเรือน ส่วนใหญ่ทำงานรับจ้าง งานประมง งานก่อสร้าง ในเมืองสงขลา รวมแล้วกว่า 10 ชุมชน กระจายทั่วเมือง
ปราโมทย์ ดำวงศ์ บริเวณสถานีรถไฟสงขลาที่หยุดวิ่งในปี 2521 เพราะมีผู้โดยสารน้อย
ต่อมาในปี 2541 เมื่อการรถไฟฯ มีนโยบายจะนำที่ดิน รฟท.ทั่วประเทศมาให้เอกชนเช่าทำธุรกิจ ชุมชนในที่ดินรถไฟสงขลาได้เข้าร่วมเคลื่อนไหวกับเครือข่ายสลัม 4 ภาคและชุมชนในที่ดินการรถไฟฯ ทั่วประเทศ เพื่อขอเช่าที่ดินอยู่อาศัยอย่างถูกต้องจาก รฟท. ขณะเดียวกันชุมชนก็เตรียมความพร้อม เช่น มีการจัดตั้งกลุ่มออมทรัพย์ขึ้นมาในปีนั้น เพื่อออมเงินเป็นรายเดือน เป็นทุนในการแก้ไขปัญหา
การเรียกร้องของชุมชนในที่ดิน รฟท.ยังดำเนินต่อเนื่อง จนถึงเดือนกันยายน 2543 มีการชุมนุมที่หน้ากระทรวงคมนาคม กรุงเทพฯ มีชาวชุมชนทั่วประเทศมาแสดงพลังกว่า 1,000 คน ชาวสงขลาราว 50 คนได้เหมารถบัสมาร่วมชุมนุมด้วย ในที่สุดคณะกรรมการบริหารการรถไฟแห่งประเทศไทย หรือ ‘บอร์ด รฟท.’ ได้มีมติเห็นชอบเมื่อวันที่ 13 กันยายน 2543 โดยเห็นชอบข้อตกลงตามที่กระทรวงคมนาคมเจรจากับผู้แทนเครือข่ายสลัม 4 ภาค คือ
1.ชุมชนที่อยู่นอกเขตทางรถไฟ 40 เมตร หรือที่ดิน รฟท.ที่เลิกใช้ หรือยังไม่มีแผนใช้ประโยชน์ ให้ชุมชนเช่าอยู่อาศัยระยะยาว 30 ปี 2.ที่ดินที่อยู่ในเขตทางรถไฟรัศมี 40 เมตรจากกึ่งกลางรางรถไฟ ชุมชนสามารถเช่าได้ครั้งละ 3 ปี และต่อสัญญาเช่าได้ครั้งละ 3 ปี หาก รฟท.จะใช้ประโยชน์จะต้องหาที่ดินรองรับในรัศมี 5 กิโลเมตร ระหว่างการเช่า รฟท.ต้องอนุญาตให้หน่วยงานต่างๆ เช่น ประปา ไฟฟ้า เข้ามาบริการชุมชนได้ ส่วนชุมชนจะต้องร่วมมือกับ รฟท.ในการจัดการสภาพพื้นที่ให้เรียบร้อย
3.กรณีชุมชนอยู่ในที่ดิน รฟท.รัศมี 20 เมตร หาก รฟท.เห็นว่าไม่เหมาะสมในการให้เช่าเป็นที่อยู่อาศัยระยะยาว ให้ รฟท.จัดหาที่ดินรองรับในรัศมีไม่เกิน 5 กิโลเมตรจากชุมชนเดิม 4.ให้ตัวแทนเครือข่ายสลัม 4 ภาค มีส่วนร่างสัญญาและกำหนดอัตราค่าเช่าที่ดินร่วมกับ รฟท. ในอัตราที่เหมาะสมและเป็นธรรม...
หลังจากนั้นชุมชนในที่ดินการรถไฟฯ ทั่วประเทศ เช่น กรุงเทพฯ เชียงใหม่ ประจวบคีรีขันธ์ สงขลา ฯลฯ รวมหลายสิบชุมชน ได้ทยอยทำสัญญาเช่าที่ดินกับการรถไฟฯ ตั้งแต่ปี 2547 โดยมีอัตราค่าเช่าตารางเมตรละ 20 บาทต่อปี
แกนนำในชุมชนต่างๆ ที่ร่วมต่อสู้ จนได้เช่าที่ดิน รฟท. ในเขตเทศบาลนครสงขลา รวม 16 ชุมชน
“กว่าจะได้เช่าที่ดิน เลือดตาแทบกระเด็น”
ดรุณี ช่วยนุกูล ประธานโครงการบ้านมั่นคงชุมชนหัวป้อม เทศบาลนครสงขลา ในฐานะตัวแทนเครือข่ายสลัม 4 ภาคที่ได้เข้าร่วมเจรจาเช่าที่ดินกับกระทรวงคมนาคมในปี 2543 บอกว่า ชุมชนในเขตเทศบาลนครสงขลามี 16 ชุมชนที่ทำสัญญาเช่าที่ดินกับการรถไฟฯ และทำโครงการบ้านมั่นคงโดย พอช.สนับสนุน
เช่น ชุมชนหัวป้อม ทำสัญญาเช่าที่ดินกับการรถไฟฯ ในปี 2547 เนื้อที่ประมาณ 4 ไร่เศษ ระยะเวลา 30 ปี และเริ่มทำโครงการบ้านมั่นคงในปี 2550 รวม 74 ครัวเรือน ได้รับสินเชื่อจาก พอช. รวม 12 ล้านบาทเศษ เพื่อก่อสร้างบ้านใหม่ ราคาหลังละ 250,000-300,000 บาท ผ่อนประมาณเดือนละ 1,800 บาท และ พอช. สนับสนุนสาธารณูปโภค ทางเท้า ประปา ไฟฟ้า ทางระบายน้ำ รวม 2.75 ล้านบาท ทำให้ชาวบ้านมีที่อยู่อาศัยที่มั่นคง มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น
“แต่กว่าจะได้เช่าที่ดิน พวกเราต้องต่อสู้เลือดตาแทบกระเด็น พวกที่ไม่เข้าร่วมก็มาด่า โดนดูถูกสารพัด แต่เราก็ไม่ย่อท้อ ร่วมกันต่อสู้กับเครือข่ายสลัม 4 ภาคจนสำเร็จ แล้วมาทำเรื่องบ้านมั่นคง ตอนนี้ชุดแรกที่ใช้สินเชื่อสร้างบ้านจาก พอช. ผ่อนชำระหมดแล้ว
ต่อมาพวกเราก็รวมตัวกันเป็น ‘เครือข่ายบ้านมั่นคงเมืองรถไฟสงขลา’ มีกิจกรรมต่างๆ เพื่อช่วยเหลือกัน เช่น กลุ่มออมทรัพย์ มีเงินให้สมาชิกกู้ยืมหมุนเวียนไปค้าขาย มีทุนการศึกษาเด็ก ช่วงโควิดก็ร่วมกันทำ ‘ตลาดนัดออนไลน์บ้านมั่นคงเมืองสงขลา’ ชุมชนไหน ใครมีฝีมือทำอะไรอร่อยก็เอามาขาย แล้วให้มอเตอร์ไซค์ไปส่ง ทำให้สมาชิกมีรายได้ในช่วงโควิด” ดรุณีบอกถึงเส้นทางการต่อสู้จากอดีตถึงปัจจุบัน
บางชุมชนในที่ดิน รฟท.สงขลา ปลูกสร้างบ้านเรือนอยู่บนรางรถไฟเก่า หาก รฟท.มีโครงการรื้อฟื้นรถไฟสายหาดใหญ่-สงขลา ชุมชนที่ทำสัญญาเช่าที่ดินแล้วก็อาจจะได้รับผลกระทบ
ใช้มติบอร์ด รฟท.และมติ ครม.แก้ปัญหาชุมชนในที่ดิน รฟท.ทั่วประเทศ
ส่วนการเตรียมความพร้อมเพื่อรองรับผลกระทบจากโครงการรถไฟรางคู่ที่จะขยายมาที่หาดใหญ่ ปาดังเบซาร์ รวมทั้งแผนงานการรื้อฟื้นเส้นทางรถไฟสายหาดใหญ่-สงขลานั้น
ปราโมทย์ ดำวงศ์ คณะทำงานแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัย เครือข่ายสลัม 4 ภาค บอกว่า จากข้อมูลเบื้องต้นมีชุมชนในอำเภอหาดใหญ่ที่ยังไม่ได้ทำสัญญาเช่าที่ดินกับการรถไฟใประมาณ 30 ชุมชน ผู้อยู่อาศัยรวมกว่า 10,000 ครอบครัว
เมืองหาดใหญ่เป็นพื้นที่เศรษฐกิจสำคัญของภาคใต้จึงมีชาวบ้านจากพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศเข้ามาอยู่อาศัยเพื่อทำมาหากิน ส่วนหนึ่งอาศัยที่ริมทางรถไฟเป็นที่อยู่อาศัยปลูกสร้างบ้านเรือนมานานไม่ต่ำกว่า 40-50 ปี
ส่วนที่สงขลามีประมาณ 40 ชุมชน ผู้อยู่อาศัยประมาณ 6,000 ครอบครัว รวมทั้ง 16 ชุมชนที่เช่าที่ดินรถไฟในสงขลาแล้ว หากมีการรื้อฟื้นเส้นทางหาดใหญ่-สงขลา ชุมชนเหล่านี้ก็อาจจะได้รับผลกระทบเช่นกัน เพราะชุมชนตั้งอยู่ในแนวรถไฟ บางชุมชนสร้างบ้านทับทางรถไฟเก่า
“ส่วนการแก้ไขปัญหาที่ดินนั้น เราก็จะใช้มติบอร์ดรถไฟฯ ปี 2543 เป็นแนวทางแก้ปัญหา รวมทั้งมติ ครม.ครั้งล่าสุดเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมาด้วย แต่ชุมชนก็ต้องมีความกระตือรือร้น มีความพร้อมที่จะลุกขึ้นมาแก้ไขปัญหาของตัวเองด้วย”
ปราโมทย์บอกด้วยว่า ที่ผ่านมาคณะทำงานแก้ไขปัญหาที่ดิน ได้เคยเจรจากับผู้แทนการรถไฟที่สงขลาเพื่อเตรียมหาที่ดิน รฟท.รองรับหากจะได้รับผลกระทบจากการพัฒนารางรถไฟ เช่น ที่บางดาน ต.พะวง อ.เมืองสงขลา ประมาณ 30 ไร่ และที่ดินหลังโรงเรียนสายพิณ ต.เขารูปช้าง อ.เมืองสงขลา ประมาณ 20 ไร่
ทั้งนี้คณะรัฐมนตรีได้มีมติเกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาชุมชนในที่ดิน รฟท. ทั่วประเทศ เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ตามที่ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (ขปส.) ได้จัดชุมนุมเรียกร้องที่หน้าทำเนียบรัฐบาลเพื่อให้รัฐบาลแก้ไขปัญหาต่างๆ ของประชาชนที่มีความเดือดร้อนทั่วประเทศ
โดยในส่วนของการแก้ไขปัญหาชุมชนในที่ดิน รฟท.นั้น ครม.เห็นชอบในหลักการตามข้อเสนอของ ขปส. โดยมีสาระสำคัญ คือ 1.ให้ รฟท. ใช้มติคณะกรรมการรถไฟแห่งประเทศไทยเมื่อวันที่ 13 กันยายน 2543 มาเป็นนโยบายในการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยชุมชนผู้มีรายได้น้อยในที่ดินของ รฟท.ทั่วประเทศ
2.มีมติให้สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (พอช.) กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ดำเนินการเสนอโครงการแก้ไขปัญหาประชาชนผู้มีรายได้น้อยที่ได้รับผลกระทบจากการพัฒนาระบบรางต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรีในระยะต่อไปโดยเร่งด่วน...
นี่คือแนวทางการแก้ไขปัญหาชุมชนในที่ดินการรถไฟฯ ทั่วประเทศ ไม่เพียงแต่ที่หาดใหญ่และสงขลาเท่านั้น เพราะยังมีชุมชนที่อยู่อาศัยในที่ดิน รฟท.ทั่วประเทศในอีก 36 จังหวัด จำนวน 394 ชุมชน ประมาณ 40,000 หลังคาเรือน เพื่อให้ประชาชนมีที่อยู่อาศัยที่มั่นคง ขณะเดียวกันการรถไฟแห่งประเทศไทยก็สามารถพัฒนาระบบรางได้ตามเป้าหมาย !!
เรื่องและภาพ : สำนักพัฒนานวัตกรรมชุมชนจัดการความรู้และสื่อสาร สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน)
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
รวมพลังคนจนเมืองทั่วประเทศ เปลี่ยนสลัม สู่บ้านมั่นคง บ้านแห่งศักดิ์ศรีที่ทุกคนร่วมสร้าง!
เมื่อความฝันของคนจนไม่บ้านกลายเป็นพลังที่ยิ่งใหญ่ วันนี้พร้อมที่จะก้าวข้ามขีดจำกัด เปลี่ยนแปลงสลัมให้เป็น "บ้านมั่นคง" ที่เต็มไปด้วยศักดิ์ศรีและคุณค่าของความเป็นมนุษย์
ประกาศผล 8 กองทุน เข้ารับรางวัลองค์กรสวัสดิการชุมชนดีเด่น ศาสตราจารย์ ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ประจำปี พ.ศ. 2567
สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน(องค์การมหารชน) หรือ พอช. ร่วมกับ คณะทำงานพิจารณารางวัลองค์กรสวัสดิการชุมชนประจำปี 2567 จัดเวทีพิจารณา รางวัลองค์กรสวัสดิการชุมชน
ชุมชนทั่วประเทศ ระดมข้อเสนอแนวทางแก้ไขปัญหาให้รัฐ ในการประชุม ‘ระดับชาติสภาองค์กรชุมชนตำบล’ ครั้งที่ 16 ปี 2567 เชื่อมั่น “พลังชุมชน พลังประชาชน สามารถเปลี่ยนแปลงประเทศได้”
การประชุมในระดับชาติของสภาองค์กรชุมชนตำบลครั้งที่ 16’ ปี 2567 ผู้แทนสภาองค์กรชุมชน ทั่วประเทศ ระดมข้อเสนอเชิงนโยบายให้รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแก้ไขปัญหาอย่างเป็นระบบ
“16 ปี สภาองค์กรชุมชนตำบล” “พัฒนาประชาธิปไตยฐานราก สร้างพลังชุมชนท้องถิ่นจัดการตนเอง”
‘สภาองค์กรชุมชนตำบล’ จัดตั้งขึ้นมาตาม ‘พ.ร.บ.สภาองค์กรชุมชน พ.ศ.2551’ ปัจจุบันเป็นระยะเวลา 16 ปี มีการจัดตั้งสภาองค์กรชุมชนในระดับตำบล เทศบาล และเขต
โค้งสุดท้าย 26 กองทุนฯทั่วไทย ลุ้นรางวัลกองทุนสวัสดิการชุมชนดีเด่น ‘ป๋วย อึ๊งภากรณ์’
กรุงทพฯ/(16 ธ.ค. 67) สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน(องค์การมหารชน) หรือ พอช. ร่วมกับ ภาคีเครือข่าย คณะทำงานพิจารณารางวัลองค์กรสวัสดิการชุมชนประจำปี 2567
พอช. หนุน “ศูนย์กระจายสินค้าชุมชน” โมเดลสร้างความเข้มแข็งเศรษฐกิจชุมชนฐานราก ที่กาญจนบุรี
สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) หรือ พอช. ร่วมกับ เครือข่ายองค์กรชุมชนจังหวัดกาญจนบุรี จัดพิธีเปิดศูนย์กระจายสินค้าชุมชนตำบลหนองตากยา