เป็นเวลาเกือบสองปีแล้วที่ประเทศไทยต้องเผชิญกับปัญหานานัปการจากโรคโควิด-19 ซึ่งกระทบต่อการใช้ชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน ระบบเศรษฐกิจมีปัญหา แต่หากจะมองอีกแง่มุมหนึ่งแล้วโรคร้ายนี้ก็ทำให้ทุกคนต้องหันมาปรับเปลี่ยนการดำเนินชีวิตเพื่อให้สามารถอยู่รอดได้ เช่นเดียวกับระบบราชการ ก็ใช้โอกาสนี้ในการรีเซ็ตระบบราชการเพื่อรองรับการทำงานรูปแบบใหม่
สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ซึ่งเป็นหน่วยงานกลางทางด้านกฎหมายของรัฐบาลมีหน้าที่พิจารณาจัดทำร่างกฎหมายและให้ความเห็นทางกฎหมายแก่รัฐบาลและหน่วยงานของรัฐให้เป็นไปอย่างถูกต้องตามรัฐธรรมนูญและหลักนิติธรรม เพราะกฎหมายเป็นส่วนสำคัญในการบริหารราชการแผ่นดิน และการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ของประเทศ สำนักงานฯ จึงมีหน้าที่สำคัญอีกประการ คือ การพัฒนากฎหมายให้ทันต่อสถานการณ์ปัจจุบันและอำนวยความสะดวกให้แก่ประชาชน ไม่เป็นอุปสรรค หรือสร้างความเดือดร้อนให้แก่ประชาชนในการปฏิบัติตามกฎหมาย ซึ่งเป็นเป้าหมายสำคัญของสำนักงานฯ คือ การทำกฎหมายให้ดีขึ้น เพื่อชีวิตที่ดีขึ้นของประชาชน “Better Regulation for Better Life” โดยในปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 ที่ผ่านมา สำนักงานฯ ได้มีการปรับเปลี่ยนรูปแบบการทำงานเพื่อตอบโจทย์การทำงานในยุค New Normal โดยได้นำเทคโนโลยีดิจิทัลมาประยุกต์ใช้ในการปฏิบัติงานหลายประการ ทั้งในระบบการทำงานภายในสำนักงานฯ เอง โดยทำงานในรูปแบบ Work from Home หรือ Work from Anywhere การจัดประชุมออนไลน์ การใช้อีเมล OCS หรือไลน์ OCS ในการติดต่อสื่อสาร การจัดฝึกอบรมหลักสูตรนักกฎหมายภาครัฐและหลักสูตรอื่น ๆ ผ่านระบบออนไลน์ การรับ-ส่งเอกสารผ่านระบบสารบรรณอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งสำนักงานฯ ได้ร่วมกับสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี สำนักงาน ก.พ. สำนักงาน ก.พ.ร. สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ และสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) จัดทำระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยงานสารบรรณ (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2564 (ระเบียบสารบรรณอิเล็กทรอนิกส์) เพื่อปรับเปลี่ยนให้การปฏิบัติงานสารบรรณภายในหน่วยงานของรัฐ ระหว่างหน่วยงานของรัฐ และระหว่างหน่วยงานของรัฐกับเอกชน สามารถดำเนินการด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์เป็นหลัก เพื่อความรวดเร็ว เพิ่มประสิทธิภาพ และเพิ่มความโปร่งใสในการดำเนินงาน โดยได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา ตั้งแต่วันที่ 25 พฤษภาคม 2564 และมีผลให้หน่วยงานของรัฐต้องใช้อีเมลในการสื่อสารเป็นหลัก ตั้งแต่วันที่ 23 สิงหาคม 2564 เป็นต้นไป ทำให้แม้มีการระบาดของโรคร้ายแรงแต่หน่วยงานของรัฐก็ยังคงปฏิบัติงานต่อไปได้โดยไม่ติดขัด การเร่งพิจารณาจัดทำร่างกฎหมายเพื่อช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โรคระบาดโควิด-19 กว่า 50 ฉบับ อาทิ พระราชกำหนดการให้ความช่วยเหลือและฟื้นฟูผู้ประกอบธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ. 2564 กฎกระทรวงกำหนดอัตราเงินสมทบกองทุนประกันสังคม พ.ศ. 2564 กฎกระทรวงกำหนดอัตราเงินสมทบที่รัฐบาลจ่ายเข้ากองทุนประกันสังคม สำหรับบุคคลซึ่งสมัครเข้าเป็นผู้ประกันตน พ.ศ. 2564 ร่างพระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ. 2558 พ.ศ. ....
นอกจากนี้ ยังได้ปรับปรุงวิธีการเขียนกฎกระทรวงและกฎหมายลำดับรองอื่น ๆ ให้หน่วยงานของรัฐให้บริการแก่ประชาชนโดยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์เป็นหลัก ตามมาตรา 8 และมาตรา 9 แห่งพระราชบัญญัติการอำนวยความสะดวกในการพิจารณาอนุญาตของราชการ พ.ศ. 2558 โดยได้ดำเนินการแล้วเสร็จ จำนวน 80 ฉบับ รวมทั้งยังได้สำรวจตรวจสอบกฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ในปัจจุบันที่เป็นปัญหาและอุปสรรคสำหรับภาคเอกชนที่จะนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ในการดำเนินกิจกรรม และได้ร่วมกับกระทรวงพาณิชย์จัดทำร่างพระราชบัญญัติบริษัทมหาชน จำกัด (ฉบับที่..) พ.ศ. .... (แก้ไขเพิ่มเติมให้ทันสมัย 6 ประเด็น) มีสาระสำคัญเป็นการปรับปรุงให้บริษัทมหาชนจำกัด และคณะกรรมการบริษัทมหาชนจำกัด สามารถดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ ด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ได้ เช่น การใช้โฆษณาทางสื่ออิเล็กทรอนิกส์แทนการโฆษณาทางหนังสือพิมพ์ การส่งหนังสือหรือเอกสารทางอีเมลแทนไปรษณีย์ลงทะเบียน และอยู่ระหว่างดำเนินการพิจารณาปรับปรุงแก้ไขบทบัญญัติของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 3 ลักษณะ 22 หุ้นส่วนบริษัท เพื่อให้ห้างหุ้นส่วนและบริษัทจำกัดสามารถดำเนินงานด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ได้เช่นเดียวกัน และที่สำคัญได้เสนอร่างพระราชบัญญัติการปฏิบัติราชการทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. .... ซึ่งคณะรัฐมนตรีพิจารณาให้ความเห็นชอบแล้ว เพื่อให้การปฏิบัติราชการเป็นไปอย่างคล่องตัว มีประสิทธิภาพ และสามารถให้บริการประชาชนได้อย่างรวดเร็วและทั่วถึง ขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมการประสานงานสภาผู้แทนราษฎร (วิป)
การดำเนินงานที่สำคัญอีกประการคือ สำนักงานฯ ร่วมกับ สำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล จัดทำ “ระบบกลางทางกฎหมาย” (law.go.th) ขึ้นตามมาตรา 77 วรรคหนึ่ง และมาตรา 258 ค. ด้านกฎหมาย (3) ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย และพระราชบัญญัติหลักเกณฑ์การจัดทำร่างกฎหมายและการประเมินผลสัมฤทธิ์ของกฎหมาย พ.ศ. 2562 เพื่อให้เป็นแพลตฟอร์มกลางเกี่ยวกับกฎหมายที่ให้บริการแบบจุดเดียวเบ็ดเสร็จ (one stop service) แก่หน่วยงานของรัฐและประชาชน โดยในขณะนี้ระบบกลางได้เปิดให้บริการในส่วนของการรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับร่างกฎหมาย ข้อมูลรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากกฎหมาย (RIA) และข้อมูลรายงานการประเมินผลสัมฤทธิ์ของกฎหมาย ตั้งแต่วันที่ 2 สิงหาคม 2564 แล้ว สำหรับการดำเนินการระยะถัดไปจะเป็นการขยายการให้บริการข้อมูลกฎหมายทั้งหมดของประเทศ ตั้งแต่รัฐธรรมนูญ พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ พระราชบัญญัติ พระราชกำหนด รวมตลอดถึงกฎหมายลำดับรองต่าง ๆ เช่น พระราชกฤษฎีกา กฎกระทรวง ประกาศ ระเบียบ ข้อบังคับ เทศบัญญัติ และข้อบัญญัติท้องถิ่นต่าง ๆ เพื่ออำนวยความสะดวกในการเข้าถึงข้อมูลกฎหมายและปฏิบัติตามกฎหมาย รวมทั้งเพิ่มความโปร่งใสในการใช้บังคับกฎหมายด้วย โดยมีกำหนดจะแล้วเสร็จสมบูรณ์ภายในเดือนกรกฎาคม 2565
สำนักงานฯ ยังคงมุ่งมั่นที่จะพัฒนาให้การจัดทำกฎหมายเป็นกฎหมายที่ดี ตอบสนองความต้องการของประชาชน และเป็นเครื่องมือในการบริหารราชการแผ่นดิน สนองตอบยุทธศาสตร์ของชาติเพื่อความเจริญก้าวหน้าอย่างยั่งยืนของประเทศต่อไป
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
๙๑ ปี สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา “พัฒนากฎหมายที่ดี เพื่อการมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของประชาชน”
ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตรา “พระราชบัญญัติเคาน์ซิลออฟสเตด คือ ที่ปฤกษาราชการแผ่นดิน” ขึ้น เพื่อเป็นองค์กรถวายคำปรึกษาแก่พระองค์ในการบริหารราชการแผ่นดิน
“สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา Better Regulation for Better Life : โอกาสและความท้าทายในยุคเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI)”
การใช้เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence หรือ AI) ได้เข้ามามีบทบาทสำคัญในชีวิตประจำวันของประชาชนทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็นสิ่งอำนวยความสะดวกในชีวิตประจำวัน
ผลงานจากการพัฒนากฎหมายให้ดีเพื่อให้ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา
“Better Regulation for Better life” หรือพัฒนากฎหมายให้ดีเพื่อให้ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ถือเป็นวิสัยทัศน์ที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาได้วางเป้าหมายในการปฏิบัติงานทั้งในด้านการตรวจพิจารณาและจัดทำร่างกฎหมาย การพิจารณาเสนอความเห็นให้มีการแก้ไข ปรับปรุง หรือยกเลิกกฎหมาย
สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา กับบทบาทในเวทีการประชุม APEC Good Regulatory Practice Conference ครั้งที่ 17
Asia-Pacific Economic Cooperation หรือ APEC เป็นการประชุมความร่วมมือของเขตเศรษฐกิจซึ่งจัดขึ้นในทุกปี มีเนื้อหาครอบคลุมเกือบทุกมิติในทางความร่วมมือทางเศรษฐกิจ
ความเห็นของคณะกรรมการว่าด้วยการปรับเป็นพินัยที่น่าสนใจ เรื่อง การแจ้งคำสั่งปรับเป็นพินัย กรณีผู้กระทำความผิดปรากฏตัวต่อหน้าเจ้าหน้าที่ของรัฐและยินยอมชำระค่าปรับเป็นพินัย
ตั้งแต่พระราชบัญญัติว่าด้วยการปรับเป็นพินัย พ.ศ. ๒๕๖๕ มีผลใช้บังคับ คณะกรรมการว่าด้วยการปรับเป็นพินัยซึ่งมีหน้าที่ให้คำแนะนำและคำปรึกษาเกี่ยวกับการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ของรัฐในการปฏิบัติตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการปรับเป็นพินัยฯ
อึ้ง! ปลัดมหาดไทยแฉ สพร.ยังไม่เชื่อแอป 'ThaiD' กับ 'ทางรัฐ'
มหาดไทยยืนยันแอปพลิเคชัน ThaiD ที่ประชาชนลงทะเบียนใช้บริการแล้วกว่า 17.701 ล้านคน มีฐานข้อมูลการพิสูจน์และยืนยันตัวตน ที่สามารถเชื่อมโยงแอปทางรัฐได้ แต่อยู่ระหว่างรอ สพร.เชื่อมโยงระบบ