กฤษฎีกากับบทบาทภารกิจการเผยแพร่ความรู้ด้านกฎหมาย

สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาในฐานะที่ปรึกษากฎหมายของรัฐมีหน้าที่หลักในการจัดทำกฎหมายและให้ความเห็นทางกฎหมายแก่หน่วยงานของรัฐ โดยมีเป้าหมายเพื่อยกระดับให้เป็นหน่วยงานนำร่องในการปฏิรูปกฎหมายและพัฒนากฎหมายให้ทันสมัย และมีเจตนารมณ์ที่ชัดเจนในการปฏิรูปกฎหมาย ทั้งในแง่กระบวนการจัดทำกฎหมายและการพัฒนาคุณภาพของกฎหมาย เพื่อให้ประเทศไทยมีกฎหมายที่ดีและทำให้ประชาชนมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น (Better Regulation for Better Life) นอกจากบทบาทภารกิจหลักดังกล่าว การเผยแพร่และสร้างความรู้ความเข้าใจทางกฎหมายก็เป็นอีกภารกิจหนึ่งของสำนักงานฯ ซึ่งปัจจุบันได้จัดทำและเผยแพร่วารสารทางกฎหมาย จำนวน ๔ ฉบับ ได้แก่ วารสารกฎหมายปกครอง จุลสารกฤษฎีกาสาร วารสารกฤษฎีกา และวารสารกฎหมายเปรียบเทียบ

สำหรับ “วารสารกฎหมายปกครอง” ซึ่งเป็นวารสารฉบับแรกและเก่าแก่ที่สุดของสำนักงานฯมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นแหล่งความรู้ด้านกฎหมายมหาชนให้แก่นักกฎหมาย คณาจารย์ นักเรียน นักศึกษา และประชาชนผู้สนใจ โดยมีการตีพิมพ์เป็นครั้งแรกในเดือนเมษายน พ.ศ. ๒๕๒๕ ซึ่งตลอดสี่สิบปีที่ผ่านมา วารสารกฎหมายปกครองได้ทำหน้าที่เป็น “เวที” ในการเผยแพร่บทความทางวิชาการของผู้ทรงคุณวุฒิและผู้ปฏิบัติงานด้านกฎหมาย ไม่ว่าจะเป็นกฎหมายรัฐธรรมนูญ กฎหมายปกครอง หรือกฎหมายมหาชนสาขาอื่น ๆ บทความจำนวนมากมีส่วนในการพัฒนาองค์ความรู้ทางด้านกฎหมายมหาชนให้เจริญงอกงามเป็นแหล่งข้อมูลในการศึกษาค้นคว้าและใช้อ้างอิงสำหรับผู้ศึกษาวิชากฎหมาย รวมทั้งมีอิทธิพลต่อการจัดทำกฎหมายปกครองสำคัญ ๆ หลายฉบับ จนกล่าวได้ว่าวารสารกฎหมายปกครองเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาระบบกฎหมายปกครองของประเทศไทย และในปีที่ผ่านมาวารสารกฎหมายปกครองได้ปรับตัวให้เข้ากับยุคสมัยที่เปลี่ยนแปลงไป โดยเฉพาะความก้าวหน้าของเทคโนโลยีสารสนเทศ สำนักงานฯ จึงได้จัดทำวารสารกฎหมายปกครอง “โฉมใหม่” ในรูปแบบวารสารอิเล็กทรอนิกส์          (e-journal) เพื่อที่ผู้สนใจจะได้สามารถเข้าถึงได้อย่างสะดวก รวดเร็ว และไม่เสียค่าใช้จ่าย

วารสารฉบับที่สอง คือ “จุลสารกฤษฎีกาสาร” ซึ่งเผยแพร่ฉบับแรกในวาระคล้ายวันสถาปนาสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ครบ ๗๒ ปี เมื่อวันที่ ๙ ธันวาคม ๒๕๔๘ กฤษฎีกาสารทำหน้าที่เป็นสื่อกลางในการประชาสัมพันธ์เกี่ยวกับภารกิจ ข้อมูลข่าวสาร และผลการดำเนินงานของสำนักงานฯ ตลอดจนสาระสำคัญของกฎหมายและประโยชน์จากร่างกฎหมายต่าง ๆ ความเห็นทางกฎหมาย บทความ และสาระน่ารู้อื่น ๆ ที่เป็นประโยชน์ ซึ่งจัดพิมพ์เผยแพร่แก่หน่วยงานต่าง ๆ และประชาชนทั่วไป รวมทั้งจัดทำในรูปแบบวารสารอิเล็กทรอนิกส์ด้วย

วารสารกฎหมายฉบับที่สามของสำนักงานฯ คือ “วารสารกฤษฎีกา” ซึ่งจัดทำในรูปแบบวารสารอิเล็กทรอนิกส์ และ “เปิดตัว” เป็นครั้งแรกเมื่อเดือนมกราคม พ.ศ. ๒๕๖๔ วารสารฉบับนี้มีวัตถุประสงค์ในการเผยแพร่ความรู้ทางกฎหมายในสาขาอื่นนอกเหนือจากกฎหมายมหาชน โดยมุ่งเน้นประเด็นทางกฎหมายที่กระทบต่อเศรษฐกิจ สังคม และประชาชน ในภาพรวม เช่น การคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล การดำเนินการเพื่อช่วยเหลือประชาชนอันเนื่องมาจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา ๒๐๑๙

วารสารฉบับที่สี่เป็นวารสาร “น้องใหม่” ที่เผยแพร่ฉบับปฐมฤกษ์ไปเมื่อเดือนกันยายน พ.ศ. ๒๕๖๔ คือ “วารสารกฎหมายเปรียบเทียบ” วารสารดังกล่าวมีวัตถุประสงค์ในการเผยแพร่และแลกเปลี่ยนความรู้ทางกฎหมายเปรียบเทียบในมิติหรือสาขาต่าง ๆ ที่น่าสนใจ รวมทั้ง “จุดประกาย” ให้เกิดการศึกษากฎหมายเปรียบเทียบในประเทศไทยมากยิ่งขึ้น โดยเนื้อหาประกอบด้วยบทสัมภาษณ์ของผู้ทรงคุณวุฒิ บทความทางวิชาการ และปกิณกะที่มีสาระน่าติดตาม

นอกจากนี้ สำนักงานฯ ยังได้จัดทำ “กฤษฎีกาโฟกัส” เอกสารอิเล็กทรอนิกส์ซึ่งเผยแพร่เป็นประจำทุกเดือนเพื่ออัปเดตข้อมูลทางกฎหมาย ไม่ว่าจะเป็นความเห็นคณะกรรมการกฤษฎีกาที่น่าสนใจ บทความทางวิชาการ กฎหมายใหม่ที่น่าสนใจ และร่างกฎหมายที่อยู่ระหว่างการพิจารณาของสำนักงานฯ รวมทั้งการจัดทำและเผยแพร่เอกสารอื่น ๆ เพื่อประโยชน์ต่อการปฏิบัติงานด้านกฎหมาย ไม่ว่าจะเป็นแนวทางในการจัดทำร่างกฎหมาย แนวทางในการจัดทำร่างพระราชกฤษฎีกา คู่มือการตรวจพิจารณากฎหมาย เจตนารมณ์กฎหมาย ฯลฯ ทั้งนี้ ผู้ที่สนใจวารสารกฎหมายหรือเอกสารดังกล่าวที่จัดทำโดยสำนักงานฯ สามารถดาวน์โหลดฉบับออนไลน์หรือเข้าศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่เว็บไซต์สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา www.krisdika.go.th และติดตามข้อมูลข่าวสารฉบับอัปเดตได้ที่ Facebook สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา นอกจากนั้น ในส่วนของบทความเกี่ยวกับกฎหมายต่างประเทศ ประชาคมอาเซียน และคำแปลกฎหมาย ซึ่งมีจำนวนกว่า ๒๐๐ เรื่อง สามารถติดตามได้ที่เว็บไซต์ lawforasean.krisdika.go.th

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

“สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา Better Regulation for Better Life : โอกาสและความท้าทายในยุคเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI)”

การใช้เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence หรือ AI) ได้เข้ามามีบทบาทสำคัญในชีวิตประจำวันของประชาชนทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็นสิ่งอำนวยความสะดวกในชีวิตประจำวัน

ผลงานจากการพัฒนากฎหมายให้ดีเพื่อให้ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา

“Better Regulation for Better life” หรือพัฒนากฎหมายให้ดีเพื่อให้ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ถือเป็นวิสัยทัศน์ที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาได้วางเป้าหมายในการปฏิบัติงานทั้งในด้านการตรวจพิจารณาและจัดทำร่างกฎหมาย การพิจารณาเสนอความเห็นให้มีการแก้ไข ปรับปรุง หรือยกเลิกกฎหมาย

นายกฯ แถลงขอโทษคดีตากใบ ถามกฤษฎีกาแล้ว ไม่เข้าเกณฑ์ออกพ.ร.ก.ต่ออายุความ

นายกฯ เสียใจเหตุการณ์คดีตากใบ ขอโทษในนามรัฐบาล ย้ำจะทำให้ดีที่สุดไม่ให้เกิดเหตุการณ์แบบนี้ขึ้นอีก แจงไม่นิ่งเฉยถาม ‘กฤษฎีกา’ ปมออกพ.ร.ก.ขยายอายุความ แต่ไม่เข้าหลักเกณฑ์-เงื่อนไขตาม รธน. รับพร้อมพูดคุยเยียวยาเพิ่มเติม ไม่หวังปาฏิหาริย์ได้ตัวผู้ต้องหา ลั่นขอให้อยู่กับความเป็นจริง

สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา กับบทบาทในเวทีการประชุม APEC Good Regulatory Practice Conference ครั้งที่ 17

Asia-Pacific Economic Cooperation หรือ APEC เป็นการประชุมความร่วมมือของเขตเศรษฐกิจซึ่งจัดขึ้นในทุกปี มีเนื้อหาครอบคลุมเกือบทุกมิติในทางความร่วมมือทางเศรษฐกิจ

ความเห็นของคณะกรรมการว่าด้วยการปรับเป็นพินัยที่น่าสนใจ เรื่อง การแจ้งคำสั่งปรับเป็นพินัย กรณีผู้กระทำความผิดปรากฏตัวต่อหน้าเจ้าหน้าที่ของรัฐและยินยอมชำระค่าปรับเป็นพินัย

ตั้งแต่พระราชบัญญัติว่าด้วยการปรับเป็นพินัย พ.ศ. ๒๕๖๕ มีผลใช้บังคับ คณะกรรมการว่าด้วยการปรับเป็นพินัยซึ่งมีหน้าที่ให้คำแนะนำและคำปรึกษาเกี่ยวกับการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ของรัฐในการปฏิบัติตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการปรับเป็นพินัยฯ

'วิษณุ' แย้มเร่งตรวจกม.ฉบับใหม่ ปิดช่องขรก.รีดใต้โต๊ะ ได้ใช้ปีหน้า

'วิษณุ' เผย 'กฤษฎีกา' กำลังตรวจร่างกฎหมายอำนวยความสะดวก นวัตกรรมป้องปรามโกงยุคดิจิทัล คาดได้ใช้ปี 68 ข้าราชการต้องระวังมากขึ้น