คนพะเยาร่วมลงแรงซ่อมสร้างบ้านให้ครัวเรือนที่มีฐานะยากจน สภาพบ้านเรือนทรุดโทรม
พะเยา/ คนพะเยาร่วม Kick off ‘บ้านพอเพียงชนบท’ 57 ตำบล 618 หลัง เพื่อซ่อมสร้างบ้านให้ครัวเรือนที่มีฐานะยากจน สภาพบ้านเรือนทรุดโทรม โดย พอช.สนับสนุนงบประมาณหลังละไม่เกิน 20,000 บาท ใช้ช่างชุมชน ช่างจิตอาสาร่วมซ่อมสร้าง มีหน่วยงานในท้องถิ่นร่วมสนับสนุน ด้าน พอช.เสนอสำรวจข้อมูลผู้เดือดร้อนเพื่อบูรณาการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยร่วมกันทั้งจังหวัด ขณะที่ พมจ.พะเยาเตรียมงบสนับสนุนซ่อมบ้านผู้สูงอายุ ผู้พิการ หลังละ 40,000 บาท
การประชุมผ่านระบบซูม และการซ่อมสร้างบ้านในตำบลต่างๆ
วันนี้ (24 มีนาคม) ระหว่างเวลา 9.00-12.00 น. เครือข่ายสร้างบ้านแปงเมืองพะเยา มูลนิธิพะเยาเพื่อการพัฒนาสำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดพะเยา (พมจ.) สภาองค์กรชุมชนตำบลจังหวัดพะเยา และสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) สำนักงานภาคเหนือ ร่วมกันจัดงาน ‘Kick off เวทีสานพลังขับเคลื่อนโครงการบ้านมั่นคงชนบท ปี 2565’ ผ่านระบบการประชุม Zoom โดยมีผู้แทนหน่วยงานต่างๆ เช่น สำนักงานเทศบาลตำบล อบต. ผู้แทนสภาองค์กรชุมชนตำบลในจังหวัดพะเยา กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ผู้บริหารและเจ้าหน้าที่ พอช. เข้าร่วมประชุมประมาณ 70 คน ส่วนในพื้นที่มีการซ่อมสร้างบ้านในตำบลต่างๆ
นางมุกดา อินต๊ะสาร
นางมุกดา อินต๊ะสาร ประธานคณะทำงานเครือข่ายสร้างบ้านแปงเมืองพะเยา ในฐานะภาคประชาสังคมที่มีบทบาทในการสนับสนุนการพัฒนาในจังหวัดพะเยา กล่าวว่า วันนี้ถือเป็นวันดีที่ประชาชน กลุ่ม องค์กรต่างๆ ในจังหวัดพะเยาได้มาร่วมแรงร่วมใจกันสร้างบ้านแปงเมือง โดยจะมีการซ่อมแซมบ้านเรือนให้กับพี่น้องที่มีความเดือดร้อนเรื่องที่อยู่อาศัย สภาพบ้านเรือนทรุดโทรม มีฐานะยากจน เพื่อให้บ้านเรือนมีความมั่นคงแข็งแรง อยู่อาศัยได้อย่างปลอดภัย มีความสุข โดยในจังหวัดพะเยาจะมีการซ่อมแซมบ้านเรือนทั้งหมดจำนวน 618 หลัง ใน 57 ตำบล ได้รับการสนับสนุนงบประมาณหลังละไม่เกิน 20,000 บาทจากสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ
นายวิชัย นะสุวรรณโน ผู้อำนวยการสำนักงานภาคเหนือ สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) หรือ ‘พอช.’ กล่าวว่า ที่ผ่านมา พอช.สำนักงานภาคเหนือกับเครือข่ายสร้างบ้านแปงเมืองพะเยาได้ร่วมกันพัฒนาชุมชนในหลายมิติ ส่วนเรื่องบ้านพอเพียงชนบทนั้น พอช.ได้ดำเนินการทั่วประเทศมาหลายปีแล้ว ซึ่งในปีนี้จังหวัดพะเยาเป็นจังหวัดที่ได้รับการสนับสนุนงบประมาณบ้านพอเพียงชนบทมากที่สุดใน 17 จังหวัดภาคเหนือ ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงความเข้มแข็งของกลไกองค์กรชุมชนในการขับเคลื่อนงานด้านการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัย ขณะเดียวกันก็สะท้อนให้เห็นว่ายังมีพี่น้องในจังหวัดพะเยาที่มีความเดือดร้อนเรื่องที่อยู่อาศัยเป็นจำนวนมาก
นายวิชัย นะสุวรรณโน
“โครงการบ้านพอเพียงชนบทเป็นส่วนหนึ่งของแผนแม่บทการพัฒนาที่อยู่อาศัยระยะ 20 ปี (พ.ศ.2560-2579) ที่กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ และ พอช.ดำเนินการทั่วประเทศ มีเป้าหมายเพื่อให้คนไทยทุกครัวเรือนมีที่อยู่อาศัยที่มั่นคง มีความสุข และมีคุณภาพชีวิตที่ดี เพราะเรื่องนี้เราไม่ได้ทำแล้วจบที่เรื่องบ้าน แต่เราใช้เรื่องบ้านเป็นเครื่องมือนำไปสู่การพัฒนาเรื่องอื่นๆ เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้แก่ชุมชน โดยมีกลไกต่างๆ ในท้องถิ่นมาร่วมกันสนับสนุน เช่น การซ่อมบ้านมีช่างชุมชน มีจิตอาสามาช่วยกันลงแรง มีแม่บ้านมาช่วยกันทำอาหาร และทำร่วมกันทั้งจังหวัด ทำทั้ง 57 ตำบล ทำให้เห็นพลังของชุมชน” นายวิชัยกล่าว
นายวิชัยกล่าวด้วยว่า นอกจากโครงการบ้านพอเพียงชนบทจังหวัดพะเยาในปีนี้แล้ว ตนอยากจะเห็นการร่วมกันแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยในจังหวัดพะเยาร่วมกันทั้งจังหวัด ไม่ใช่เฉพาะ พอช.กับชุมชนเท่านั้น แต่เป็นการผลักดันการแก้ไขปัญหาร่วมกันระหว่างชุมชน ท้องถิ่น หน่วยงานต่างๆ ในจังหวัด เริ่มจากการสำรวจข้อมูลผู้เดือดร้อนด้านที่อยู่อาศัย แล้วนำข้อมูลมาเชื่อมโยงกัน เพื่อนำมาจัดทำแผนงาน 3 - 5 ปี จะได้มีแผนงานและเป้าหมายที่ชัดเจน นำไปสู่การบูรณาการการทำงานและแก้ไขปัญหาร่วมกันระหว่างหน่วยงานต่างๆ เป็นการทำงานหนุนเสริมกัน ไม่ซ้ำซ้อนกัน
สภาองค์กรชุมชนตำบลสบบง อ.ภูซาง ร่วมกับหน่วยงานในท้องถิ่นและชาวบ้านร่วมกันซ่อมสร้างบ้าน
ด้านผู้แทนสำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดพะเยา (พมจ.) กล่าวว่า ปีนี้ พมจ.พะเยามีงบประมาณสนับสนุนการซ่อมแซมบ้านเรือนให้แก่ผู้สูงอายุที่มีฐานะยากจน สภาพบ้านเรือนทรุดโทรม รวมทั้งบ้านเรือนผู้พิการ เพื่อปรับปรุง ซ่อมแซม บ้านเรือนที่อยู่อาศัยให้มีความแข็งแรง มั่นคง ปลอดภัย เหมาะสมแก่การอยู่อาศัย โดย พมจ.พะเยามีงบสนับสนุนครัวเรือนละ 40,000 บาท จึงขอให้กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ส่งรายชื่อผู้ที่ต้องการความช่วยเหลือ รวมทั้งผู้ประสบปัญหาสังคมด้านต่างๆ มาที่ พมจ.พะเยา เพื่อจะให้ความช่วยเหลือต่อไป
นายสมเกียรติ์ ใจงาม เจ้าหน้าที่ปฏิบัติการชุมชนอาวุโส สำนักงานภาคเหนือ สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯกล่าวว่า พอช.สนับสนุนการซ่อมสร้างบ้านครัวเรือนที่มีความเดือดร้อนตามโครงการบ้านพอเพียงชนบทจังหวัดพะเยาปีงบประมาณ 2565 รวมทั้งหมด 618 ครัวเรือน ในพื้นที่ 57 ตำบล งบประมาณซ่อมแซมครัวเรือนหนึ่งไม่เกิน 20,000 บาท รวมงบประมาณทั้งหมด 12,916,200 บาท
ส่วนการดำเนินการนั้น สภาองค์กรชุมชนตำบล (หรือเทศบาล) แต่ละแห่งจะร่วมกับกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน จัดตั้งคณะทำงานขึ้นมา เพื่อสำรวจข้อมูลครอบครัวที่มีความเดือดร้อนเรื่องที่อยู่อาศัย ถอดแบบก่อสร้างว่าแต่ละหลังจะต้องใช้วัสดุอะไรบ้าง ใช้งบประมาณเท่าไหร่ หลังจากนั้นจะนำรายชื่อครอบครัวที่เดือดร้อนมาทำประชาคมในตำบลเพื่อรับรองว่าเป็นผู้ที่มีความเดือดร้อนจริง แล้วเสนอโครงการมายัง พอช.เพื่อขอรับการสนับสนุนงบประมาณ นอกจากนี้ยังมีคณะกรรมการฝ่ายต่างๆ ร่วมกันทำงาน เช่น สืบราคาวัสดุ จัดซื้อ ตรวจสอบ เพื่อให้การทำงานโปร่งใส ผู้เดือดร้อนได้รับการช่วยเหลือจริง
ผู้เดือดร้อนบางครอบครัวมีฐานะยากจน ไม่มีห้องน้ำเป็นของตนเอง ต้องอาศัยเพื่อนบ้าน ได้รับการช่วยเหลือสร้างห้องน้ำ
“ส่วนงบประมาณซ่อมแซมบ้านหลังหนึ่งไม่เกิน 20,000 บาท บางหลังอาจไม่พอ หรือหากต้องรื้อเพื่อก่อสร้างใหม่ เพราะสภาพบ้านเดิมผุพัง ไม่สามารถซ่อมแซมได้ ต้องใช้งบประมาณเพิ่มเติม ทางชุมชนจะช่วยกันระดมทุน มี อบต.หรือเทศบาลช่วยสมทบ ใช้แรงงานจากช่างชุมชนหรือจิตอาสาช่วยกันซ่อมสร้าง ทำให้ประหยัดค่าแรง และซ่อมสร้างบ้านได้เร็ว” นายสมเกียรติ์บอกและว่า การซ่อมสร้างบ้านทั้ง 618 หลังใน 57 ตำบลจะแล้วเสร็จทั้งหมดภายในเดือนสิงหาคมนี้ หลังจากนั้นสภาองค์กรชุมชนตำบลแต่ละแห่งจะต้องจัดทำแผนพัฒนาที่อยู่อาศัยและแผนพัฒนาคุณภาพชีวิต 5 ปี (พ.ศ.2565-2570) เพื่อนำไปขับเคลื่อนต่อไป
ทั้งนี้โครงการบ้านพอเพียงชนบทเป็นส่วนหนึ่งของแผนแม่บทการพัฒนาที่อยู่อาศัยระยะ 20 ปี (พ.ศ.2560-2579) ของกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ดำเนินการโดย พอช. มีเป้าหมายครัวเรือนที่มีรายได้น้อยทั่วประเทศ ประมาณ 1,050,000 ครัวเรือน เพื่อให้ประชาชนมีที่อยู่อาศัยที่มั่นคง มีคุณภาพชีวิตที่ดี โดยที่ผ่านมา พอช.ดำเนินการไปแล้วกว่า 100,000 ครัวเรือน เช่น โครงการบ้านมั่นคงเมืองและชนบท (แก้ไขปัญหาชุมชนแออัด/ชุมชนบุกรุก) การพัฒนาที่อยู่อาศัยชุมชนริมคลองลาดพร้าว คลองเปรมประชากร คนไร้บ้าน บ้านพอเพียงชนบท ฯลฯ
ส่วนในปีงบประมาณ 2565 พอช.มีเป้าหมายดำเนินการ 1.โครงการบ้านมั่นคง จำนวน 3,750 ครัวเรือน (งบประมาณ 309 ล้านบาทเศษ) 2.โครงการบ้านพอเพียงชนบท (ซ่อมแซมปรับปรุง) รวม 24,700 ครัวเรือน 3.ที่อยู่อาศัยชั่วคราว (ไฟไหม้ ไล่รื้อ ภัยพิบัติ) รวม 1,000 ครัวเรือน และ 4.โครงการพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้มีรายได้น้อยในชุมชนเมือง รวม 500 ตำบล/เมือง (งบประมาณ 30 ล้านบาทเศษ) ฯลฯ นอกจากนี้ ในปีนี้ พอช.ยังมีแผนสนับสนุนการแก้ไขปัญหาชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากการพัฒนาระบบรางของการรถไฟแห่งประเทศไทยทั่วประเทศด้วย
สภาองค์กรชุมชนตำบลสันโค้ง อ.ดอกคำใต้ และจิตอาสาช่วยกันลงแรงซ่อมสร้างบ้าน
เรื่อง : สำนักพัฒนานวัตกรรมชุมชนจัดการความรู้และสื่อสาร สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน)
ภาพ : เครือข่ายสร้างบ้านแปงเมืองพะเยา
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ซีพี ออลล์ หารือ พอช. ขับเคลื่อน 4 project ใหญ่ เสริมศักยภาพความเข้มแข็งของชุมชนไทย
สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) หรือ พอช. หารือ บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) ในการประชุมหารือความร่วมมือครั้งสำคัญ โดยมี ดร.กอบศักดิ์ ภูตระกูล ประธานกรรมการสถาบัน เป็นประธานการประชุม พร้อมด้วย นายกฤษดา สมประสงค์ ผู้อำนวยการ พอช. และ คุณชลิกา แสงอุดมเลิศ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ และคณะอนุกรรมการพัฒนาความยั่งยืน ซีพี ออลล์ ณ ห้องประชุมชั้น3 Joy of Life (สีลม ซอย 3)
พอช.: พลังแห่งการเปลี่ยนแปลง สู่ชุมชนเข้มแข็งและการพัฒนาที่ยั่งยืน
ในโลกที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว การสร้างชุมชนที่เข้มแข็งและพึ่งพาตนเองได้ถือเป็นกุญแจสำคัญที่นำไปสู่ความมั่นคงและยั่งยืนของสังคมไทย สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน
รวมพลังคนจนเมืองทั่วประเทศ เปลี่ยนสลัม สู่บ้านมั่นคง บ้านแห่งศักดิ์ศรีที่ทุกคนร่วมสร้าง!
เมื่อความฝันของคนจนไม่บ้านกลายเป็นพลังที่ยิ่งใหญ่ วันนี้พร้อมที่จะก้าวข้ามขีดจำกัด เปลี่ยนแปลงสลัมให้เป็น "บ้านมั่นคง" ที่เต็มไปด้วยศักดิ์ศรีและคุณค่าของความเป็นมนุษย์
ประกาศผล 8 กองทุน เข้ารับรางวัลองค์กรสวัสดิการชุมชนดีเด่น ศาสตราจารย์ ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ประจำปี พ.ศ. 2567
สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน(องค์การมหารชน) หรือ พอช. ร่วมกับ คณะทำงานพิจารณารางวัลองค์กรสวัสดิการชุมชนประจำปี 2567 จัดเวทีพิจารณา รางวัลองค์กรสวัสดิการชุมชน
ชุมชนทั่วประเทศ ระดมข้อเสนอแนวทางแก้ไขปัญหาให้รัฐ ในการประชุม ‘ระดับชาติสภาองค์กรชุมชนตำบล’ ครั้งที่ 16 ปี 2567 เชื่อมั่น “พลังชุมชน พลังประชาชน สามารถเปลี่ยนแปลงประเทศได้”
การประชุมในระดับชาติของสภาองค์กรชุมชนตำบลครั้งที่ 16’ ปี 2567 ผู้แทนสภาองค์กรชุมชน ทั่วประเทศ ระดมข้อเสนอเชิงนโยบายให้รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแก้ไขปัญหาอย่างเป็นระบบ
“16 ปี สภาองค์กรชุมชนตำบล” “พัฒนาประชาธิปไตยฐานราก สร้างพลังชุมชนท้องถิ่นจัดการตนเอง”
‘สภาองค์กรชุมชนตำบล’ จัดตั้งขึ้นมาตาม ‘พ.ร.บ.สภาองค์กรชุมชน พ.ศ.2551’ ปัจจุบันเป็นระยะเวลา 16 ปี มีการจัดตั้งสภาองค์กรชุมชนในระดับตำบล เทศบาล และเขต