"แพ้ไม่ว่า แต่อย่ามากล่าวหาว่าขาดคุณสมบัติ" ! "ซิโน-ไทย" ฮึดสู้กู้ศักดิ์ศรี ปม ถูกจับแพ้ฟาล์วสุดงง ปมประมูลงานขยายโรงประปามหาสวัสดิ์

ความคืบหน้า เรื่องฉาว กรณีการประมูลโครงการประกวดราคาจ้างก่อสร้างขยายกำลังการผลิตน้ำที่โรงงานผลิตน้ำมหาสวัสดิ์ฯ มูลค่าราคากลาง 6,526.97 ล้านบาท เมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2564

ซึ่งบริษัท วงษ์สยามก่อสร้าง จำกัด และบริษัท ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่งแอนด์คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ STEC  ที่เสนอราคาต่ำสุด เป็นอัน 1-2  ถูกตัดสิทธิ์การประมูล โดยให้ผู้ซึ่งเสนอราคาสูงที่สุดชนะการประมูลไปนั้น

คณะกรรมการอ้างว่า ทั้ง 2 บริษัท "ขาดคุณสมบัติ" ตามประกาศประกวดราคาข้อ 11 และเอกสารประกวดราคาจ้าง ข้อ 2.11 ที่ระบุว่า ผู้เข้าร่วมประมูลต้องมีผลงานก่อสร้างระบบผลิตน้ำประปาไม่น้อยกว่า 100,000 ลูกบาศก์เมตร/วัน วงเงินไม่น้อยกว่า 300 ล้านบาท

ซึ่งทางคณะกรรมการแจ้งว่า กำลังการผลิตน้ำประปาข้างต้น หมายถึงกำลังผลิตสุทธิ ต้องไม่นำตัวเลขปริมาณน้ำสูญเสียเข้ามารวมด้วย ต่อมา ทั้ง 2 บริษัท ได้ยื่นหนังสืออุทธรณ์ไปแล้ว

ล่าสุด 21 มีนาคม 2565 นายภาคภูมิ ศรีชำนิ กรรมการผู้จัดการบริษัท ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) กล่าวถึงกรณีดังกล่าวว่า

ทางบริษัท ได้ส่งเรื่องอุทธรณ์ไปเมื่อวันที่ 7 มีนาคมที่ผ่านมา ซึ่งตามเกณฑ์กำหนด ที่การประปานครหลวง( กปน.) จะต้องดำเนินการ คือ  กปน. จะวินัจฉัยเองก่อน ซึ่งใช้เวลา 7 วัน คาดว่าน่าจะวินิจฉัยเสร็จสิ้นไปแล้ว ถ้าเห็นด้วยกับสิ่งที่เราอุทธรณ์ เรื่องจะส่งกลับมาที่บริษัท แต่ถ้าไม่เห็นด้วย เรื่องจะส่งไปที่ กรมบัญชีกลางเพื่อให้คณะกรรมการวินิจฉัย พิจารณา ใช้เวลาพิจารณา 30 วัน โดยสามารถขยายเวลาได้ 2 ครั้ง ถึงตอนนี้ คิดว่าน่าจะอยู่ในชั้นการพิจารณาของคณะกรรมการในชั้นนี้

ประเด็นของเรื่องดังกล่าว คือ โดยปกติการที่เราจะประมูลงาน เราต้องมั่นใจแล้วว่ามีเรามีคุณสมบัติ และผลงานครบถ้วนตรงตาม TOR ส่วนผลการประมูลจะออกมา แพ้ ชนะ นั้นไม่สำคัญ ในวันที่ผลประกาศราคาต่ำสุดออกมาแล้วไม่ใช่เรา เราก็ไม่รู้สึกอะไร เป็นธรรมดาของการประมูลงานที่ถ้าเราไม่ได้ประมูลด้วยราคาที่ต่ำที่สุด ก็จะไม่ได้รับงาน แต่ปัญหาที่เราข้องใจ คือ เมื่อมีการเรียกให้เราเข้าไปชี้แจงคุณสมบัติ ปรากฏมีการแจ้งมาภายหลังว่า บริษัทขาดคุณสมบัติในการเข้าประมูลงาน ซึ่งเราคิดว่าเรามีคุณสมบัติครบถ้วนตามข้อกำหนด TOR ซึ่งแบบนี้เราคิดว่าไม่ถูกต้อง และเราได้ชี้แจงรายละเอียดตามหนังสืออุทธรณ์ไปแล้ว

"มันไม่เกี่ยวกับแพ้ชนะ แต่เราต้องการชี้แจง และอธิบายหลักฐานคุณสมบัติของเรา เพราะอย่าลืมว่า มีบริษัทที่เสนอราคาต่ำกว่าเรา และยื่นอุทธรณ์เช่นกัน เราไม่ได้อุทธรณ์เพื่อต้องการเป็นผู้ชนะการประมูลในครั้งนี้ แต่เราทำเพื่อความถูกต้องและขอความเป็นธรรมเท่านั้น และสิ่งที่เราทำนั้นยังจะสามารถทำให้ภาครัฐ ประหยัดงบประมาณลงได้  อีกทั้งการที่มีการเผยแพร่ไปยังสาธารณชนตามสื่อฯ ต่างๆ อาจทำให้มองดูว่า บริษัทมีเจตนาไม่ดี หรือขาดความเป็นมืออาชีพในการเข้าประมูลงาน ซึ่งไม่ตรงกับข้อเท็จจริง รายละเอียดอยู่ในหนังสืออุทธรณ์ทั้งหมด"

ผู้สื่อข่าวเปิดเผย ปมโต้แย้งต่อ กปน. ในหนังสืออุทธรณ์ของซิโน-ไทย   แบ่งเป็น 4 ประเด็น คือ

ประกอบไปด้วย 1. ตามประกาศประกาดราคาข้อ 11 และเอกสารประกวดราคาจ้าง ข้อ 2.11 ที่ถูกอ้างถึง และถูกถือเป็นหลักเกณฑ์ในการพิจารณาคุณสมบัติของผู้ยื่นข้อเสนอ ไม่ได้มีการกำหนดไว้ถึงเรื่องการ “รวมหรือไม่รวมปริมาณน้ำสูญเสีย” ไว้ด้วยแต่ประการใด

หาก กปน.จะหยิบยกเรื่องการรวมหรือไม่รวมปริมาณน้ำสูญเสีย มาเป็นข้อจำกัดเพิ่มเติมขึ้นอีก เพื่อตีความคุณสมบัติของผู้เสนอราคา ก็ย่อมเป็นการผิดแผกไปจากเนื้อความแห่งประกาศประกวดราคาข้อ 11 และเอกสารประกวดราคาจ้าง ข้อ 2.11 เพราะถือเป็นการตั้งเงื่อนไขขึ้นมาใหม่ โดยที่ไม่ได้มีการกำหนดนิยามไว้ตั้งแต่แรก เพื่อหวังจะตัดสิทธิผู้เข้าประกาดราคาบางราย และเอื้อประโยชน์ให้แก่ผู้หนึ่งผู้ใดโดยมิชอบด้วยกฎหมาย

2.การนำ “กำลังการผลิตสุทธิที่ 800,000 ลูกบาศก์เมตร” อันเป็นความต้องการของงานที่จะจัดจ้าง มาตีความ “ผลงาน 100,000 ลูกนาศก์เมตรต่อวัน” ที่บริษัทฯ ใช้ยื่นเป็นคุณสมบัติ ถือเป็นการหลงประเด็น จากการนำสเปคงานที่ต้องการจัดจ้างในอนาคตของตนเอง มาปะปนกับคุณสมบัติทางด้านประสบการณ์ที่ตนเองตั้งเงื่อนไขไว้อยู่ในปัจจุบัน ซึ่งตามประกาศประกาดราคาข้อ 11 และเอกสารประกวดราคาจ้าง ข้อ 2.11 กำหนดไว้แต่เพียงว่า “มีผลงานก่อสร้าง ขนาดไม่น้อยกว่า 100,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน”

ประเด็นพิจารณาในที่นี้ จึงต้องดูจากประสบการณ์ที่ผ่านมา โดยไม่นำลักษณะความต้องการของผลงานที่จะจัดจ้างมาปะปนกัน การใช้ความต้องการในอนาคตของตนเองมาตีความผลงานที่บริษัทฯ ใช้ยื่นเป็นคุณสมบัติเช่นนี้ จึงไม่ถูกต้องและไม่ตรงกับเกณฑ์การพิจารณาคุณสมบัติเนื้องต้นในเอกสารประกาดราคา เล่ม 3/8 ที่กำหนดเพียงว่า “ขนาดไม่น้อยกว่า 100,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน” เช่นกัน

3.หลังจากรับทราบคำกล่าวอ้างของ กปน. ที่อ้างว่ามีหนังสือจากเทศบาลนครนครราชสีมามาชี้แจงเพิ่มเติมในเรื่องนี้ไว้ บริษัทฯ ได้สืบค้นข้อมูลเพิ่มเติม พบว่าเทศบาลนครนครราชสีมา มีหนังสือแจ้งข้อมูลเรื่องนี้ไว้ 2 ฉบับ ซึ่งทั้งสองฉบับมีเนื้อความไปในทางสนับสนุน ว่า

ผลงานก่อสร้างโครงการแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำอุปโภคบริโภค เทศบาลนครนครราชสีมา ตามสัญญาจ้างเลขที่ 3/2550 ที่ถูกนำมาใช้ยื่นเป็นประสบการณ์มีความสอดคล้องกับประกาศประกวดราคาข้อ 11 และเอกสารประกวดราคาจ้าง ข้อ 2.11 แล้ว

กล่าวคือ หนังสือชี้แจงข้อมูลจากเทศบาลนครนครราชสีมา ที่ นม 52005/418 ลงวันที่ 19 ม.ค.2565 ชี้แจงว่าเป็นปริมาณซึ่ง “มีกำลังการผลิตน้ำที่รวมปริมาณน้ำสูญเสียไว้ด้วยตามข้อกำหนดไว้ในสัญญา” อันหมายความว่า หลังจากผ่านการคิดคำนวณเรื่องน้ำสูญเสียเสร็จแล้ว ปริมาณการผลิตจริงที่ทำได้ ก็ยังเป็น 100,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวันตามหนังสือรับรองผลงานก่อสร้างที่ออกให้

และหนังสือชี้แจงข้อมูลเพิ่มเติมจากเทศนาลนครนครราชสีมา ที่ นม 52005/550 ลงวันที่ 26 ม.ค.2565 ก็ได้แจกแจงเพิ่มเติมว่า “ไม่ปรากฏข้อมูลว่าขนาดกำลังการผลิตน้ำประปา 4,400 ลบ.ม./ชม เป็นขนาดกำลังการผลิตน้ำประปาที่จ่ายออกจวกโรงงานผลิตน้ำประปาหรือกำลังการผลิตน้ำที่รวมปริมาณน้ำสูญเสียไว้ด้วย”

ซึ่งหมายความว่า หากจะวัดกันโดยลงไปดูรายละเอียดถึงหน่วยชั่วโมงตามสัญญา จะสามารถทำได้ถึง 105,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน (มาจาก 4,400 x 24) และตามสัญญาก็ไม่ได้บอกด้วยว่ามีปริมาณน้ำสูญเสียแต่อย่างใด

กปน. ซึ่งมิใช่เจ้าของโครงการงานแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำอุปโภคนริโภคเทศบาลนครนครราชสีมา จึงไม่มีอำนาจบิดเบือนข้อความในเอกสารราชการ หรืออนุมานเอาเองว่า โครงการของเทศบาลนครนครราชสีมาที่ถูกใช้ยื่นเป็นคุณสมบัตินี้ มีปริมาณน้ำสูญเสียเกิดขึ้นเท่าใด

และไม่ว่าจะมีปริมาณน้ำสูญเสียเกิดขึ้นหรือไม่ ก็ต้องรับฟังว่า ผลงานก่อสร้างโครงการของเทศบาลนครนครราชสีมา สามารถทำกำลังผลิตได้ 100,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน ตามหนังสือรับรองผลงาน มิฉะนั้น ก็จะเป็นการตีความที่ผิดแผกไปจากเอกสารโดยสิ้นเชิง

4.ที่ กปน. อ้างว่า ในชั้นออกแบบ ถูกออกแนบให้ผลิตน้ำประปาได้ 4,000 ลูกบาศก์เมตรต่อชั่วโมง (96,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน) เป็นการรับฟังจากเอกสารที่เก่าเก็บ ล้าสมัย เนื่องจากถูกทำขึ้นในช่วงปี พ.ศ.2542 และเป็นเอกสารระหว่างผู้ออกแบบกับกรมโยธาธิการ จึงไม่เกี่ยวข้องโดยตรงกับเทศบาลนครนครราชสีมา ซึ่งเป็นผู้ว่าจ้างตามโครงการที่บริษัทฯ ใช้ยื่นเป็นคุณสมบัติ

โดยโครงการจากเทศบาลนครนครราชสีมานี้ ได้ถูกนำมาทำสัญญาจัดจ้างในปี พ.ศ.2550 และดำเนินการก่อสร้างเสร็จสิ้นในปี พ.ศ.2559 คิดเป็นระยะเวลาห่างจากขั้นตอนออกแบบถึง 17 ปี จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่แบบก่อสร้างจะถูกแก้ไขเปลี่ยนแปลงให้มีปริมาณการผลิตมากขึ้น ซึ่งผู้รับจ้างก็ได้ทำงานอย่างถูกต้องตามสัญญา จนงานมีกำลังการผลิตน้ำประปา 4,400 ลบ.ม./ชม. แล้ว ถึงผ่านการตรวจรับงานแล้วเสร็จมาได้

กปน.จึงต้องรับฟังจากหนังสือรับรองผลงานก่อสร้างของเทศบาลนครนครราชสีมาและเอกสารมาตรฐานการก่อสร้างเล่ม 1/2 โครงการของเทศบาลนครนครราชสีมา ซึ่งเป็นเอกสารจากหน่วยงานของรัฐที่ใหม่กว่า และถูกจัดทำขึ้นภายหลังขั้นตอนการออกแบบแล้วเสร็จ โดยเทศบาลนครนครราชสีมา ซึ่งเป็นเจ้าของโครงการและเป็นผู้เกี่ยวข้องโดยตรงในฐานะผู้ตรวจรับงานก่อสร้างได้จัดทำขึ้นเป็นสำคัญ

นอกจากนี้ ผู้ออกแบบ (บริษัท โปรเกรส เทคโนโลยี คอนซัลแท็นส์ จำกัด) ในโครงการที่บริษัทฯใช้ยื่นเป็นคุณสมบัติ ก็มีการนำเสนอผลงานอยู่บนเว็บไซต์ http://progress.co.th/html.th.MWTP/references_30WTP.html ของตนเอง โดยระบุว่า “ระบบผลิตบ้านใหม่หนองบอน : ระบบกรองเร็ว ขนาดกำลังผลิต 4,4000 ลบ.ม./ชม.”

แสดงให้เห็นว่า โครงการดังกล่าว.ผ่านการปรับปรุงแก้ไขแบบใหม่ เพื่อให้ผลงานก่อสร้างมีความสามารถในการผลิตน้ำมากขึ้นกว่าแบบในช่วงปี พ.ศ. 2542 แล้ว อันส่งผลให้ผลงานที่สร้างแล้วเสร็จและส่งมอบแก่เทศนาลนครนครราชสีมา สามารถทำการผลิตน้ำประปาได้ถึง 105,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน

เมื่อปรากฏข้อเท็จจริงเช่นนี้แล้ว หากการประปานครหลวง ยังคงดึงดันจะรับฟังว่า ผลงานนี้ผลิตน้ำประปาได้ไม่ถึง 100,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน ก็จะขัดแย้งกับบรรดาเอกสารทั้งปวงที่บริษัทฯ ได้นำเสนอให้ท่านได้พิจารณามา ณ ที่นี้ และเป็นการใช้ดุลพินิจที่ไม่ถูกต้องตามกฎหมาย

บริษัทฯ จำต้องขออุทธรณ์ผลการพิจารณาดังกล่าว ขอท่านโปรดดำเนินการพิจารณาเปลี่ยนแปลงคำสั่งทางปกครองที่ไม่ถูกต้องดังกล่าว และแจ้งผลการพิจารณากลับมายังบริษัทฯ ด้วย

ขณะที่ หนังสืออุทธรณ์ของทาง บริษัท วงษ์สยามก่อสร้าง จำกัด  ชี้แจง 2. ประเด็น คือ 1. บริษัทเป็นผู้เสนอราคาที่มีคุณสมบัติ ตามประกาศประกวดราคาจ้างของ กปน. มีผลงานการก่อสร้างระบบประปามาตรฐานของ การประปาส่วนภูมิภาค (กปภ.) ที่มีขนาดตั้งแต่ 500-5,000 ลูกบาศก์เมตร/ชั่วโมง

และผลงานจ้างเหมาก่อสร้างปรับปรุงขยายการประปาส่วนภูมิภาคสาขาสุราษฎร์ธานี ตามสัญญาเลขที่ กจห. 24/2556 ลงวันที่ 11 เม.ย.2556 ซึ่งเป็นผลงานประเภทเดียวกันกับผลงานที่กำหนดไว้ในประกาศประกวดราคาข้อที่ 11 ตามข้อเท็จจริงที่ระบุไว้ในหนังสือรับรอง

โดยทางบริษัทมีข้อสงสัยว่า “ตามระเบียบของกระทรวงการคลัง ว่าด้วยการจัดซื้อจัดจ้าง และการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ.2560 ข้อ 55(2) กำหนดหลักกฎหมายไว้ว่า ในกระบวนการพิจารณาผลการประกวดราคา คณะกรรมการพิจารณาฯ อาจสอบถามข้อเท็จจริงเพิ่มเติมจากผู้ยื่นข้อเสนอรายใดก็ได้ ดังนั้น หาก กปน. พิจารณาเอกสารแล้ว เกิดข้อสงสัย ควรต้องเรียกให้บริษัทฯ นำส่งเอกสารชี้แจงเพิ่มเติม

“ในการประกวดราคาครั้งนี้ มีมูลเหตุอันควรสงสัยที่ กปน. ควรจะต้องเรียกเอกสารชี้แจงเพิ่มเติม เนื่องด้วยบริษัทฯ เป็นผู้เสนอราคาต่ำสุด การที่ไม่ปฏิบัติตามระเบียบกระทรวงการคลังในข้อดังกล่าว เป็นเหตุให้ กปน.เสียประโยชน์จากการที่ไม่ได้ผู้เสอนราคาต่ำสุด และมีคุณสมบัติครบถ้วน”

สำหรับ การประมูลโครงการประกวดราคาจ้างก่อสร้างขยายกำลังการผลิตน้ำที่โรงงานผลิตน้ำมหาสวัสดิ์ฯ ของ กปน. เมื่อวันที่ 15 ธ.ค.2564 มีเอกสารมายื่นเสนอราคา 5 ราย ผลปรากฏว่า บริษัท วงษ์สยามก่อสร้าง จำกัด เสนอราคาต่ำสุด 6,150 ล้านบาท อันดับ 2 บมจ.ซิโน-ไทยฯ เสนอราคา 6,195.3 ล้านบาท และอันดับ 3 ITA Consortium (บมจ.อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ (ITD) และบริษัท อาควาไทย จำกัด) เสนอราคา 6,460 ล้านบาท

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

กฤษฎีกาตีตก! 'กิตติรัตน์' ไม่ผ่านคุณสมบัติประธานบอร์ดแบงก์ชาติ เพราะเป็นที่ปรึกษานายกฯ

นายลวรณ แสงสนิท ปลัดกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตีความว่านายกิตติรัตน์ ณ ระนอง ไม่ผ่านคุ

ผู้สมัคร สว. หนาว! กกต.สมุทรสาครพบขาดคุณสมบัติ จ่อดำเนินคดีหลายราย

นายพงษ์พัชร์ สายช่างทอง ผู้อำนวย กกต.สมุทรสาคร สั่งเข้มตรวจสอบคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของผู้สมัครรับเลือกเป็นสมาชิกวุฒิสภา (สว.)

‘ซิโน-ไทย’ ประกาศปรับโครงสร้างครั้งใหญ่ แตกไลน์ทำธุรกิจพลังงาน - สาธารณูปโภค

‘ซิโน-ไทย’ เดินหน้าปรับโครงสร้างองค์กรครั้งใหญ่ ผุดตั้ง"สเตคอน กรุ๊ป" โชว์แผนแตกไลน์ธุรกิจ ‘พลังงาน-สาธารณูปโภค’หวังลดความเสี่ยงจากธุรกิจก่อสร้าง ตั้งเป้าหมาย 5-10 ปี กำไร 4,000 ล้านบาท และมาร์เก็ตแคปแตะ 1 แสนล้านบาท ปีหน้าลุยประมูลเมกะโปรเจกต์

MEA จับมือ กปน. บูรณาการความร่วมมือด้านเทคโนโลยี ยกระดับงานบริการไฟฟ้า-ประปา

วันนี้ (20 กันยายน 2566) นายวิลาศ เฉลยสัตย์ ผู้ว่าการ MEA หรือการไฟฟ้านครหลวง พร้อมด้วย นายมานิต ปานเอม ผู้ว่าการการประปานครหลวง (กปน.) ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลง (MOU)

กปน. ชูกิจกรรม “ยอดน้ำแอนด์เฟรนด์” ผนึกกำลังสถาบันการศึกษา หนุนเสริมเยาวชนสร้างสรรค์ไอเดียการใช้น้ำอย่างยั่งยืน

การประปานครหลวง (กปน.) เปิดกิจกรรม “ยอดน้ำแอนด์เฟรนด์” ผนึกกำลัง 5 สถาบันการศึกษา จุดประกายไอเดียสร้างสรรค์ผลงานการใช้น้ำอย่างรู้คุณค่า ชิงทุนการศึกษารวมกว่า 60,000 บาท